คดีทางการแพทย์-หมิ่นประมาทโรงพยาบาล

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1712/2551

คู่ความ
บริษัทศูนย์การแพทย์ไทย จำกัด (มหาชน) – โจทก์
บริษัทเนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กับพวก – จำเลย

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 423, 425
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 172

ข้อมูลย่อ
โจทก์บรรยายฟ้องโดยแจ้งชัดแล้วว่า จำเลยทั้งสามลงพิมพ์ข้อความเป็นข่าวในหนังสือพิมพ์ของจำเลยที่ 1 อันฝ่าฝืนต่อความเป็นจริงและมิใช่เป็นการติชมด้วยความเป็นธรรมเป็นละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ทางทำมาหาได้และทางเจริญในกิจการของโจทก์ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ชื่อเสียงและเกียรติคุณของโจทก์ ส่วนการคิดคำนวณค่าเสียหายอย่างไรนั้น เป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้ มิใช่ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาซึ่งจะต้องบรรยายมาในคำฟ้อง คำฟ้องของโจทก์ในส่วนนี้จึงไม่เคลือบคลุม

จำเลยที่ 2 เขียนข่าวลงในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจสืบเนื่องจาก ว. เพื่อนของจำเลยที่ 2 มาแจ้งให้ทราบว่าได้เข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลของโจทก์ 1 คืน เสียค่ารักษาพยาบาลประมาณ 4,000 บาท แพงกว่าที่โรงพยาบาลประมาณไว้ 3,000 บาท แต่จำเลยที่ 2 ลงข่าวมีข้อความที่หมิ่นประมาทโจทก์อ่านแล้วเป็นที่เข้าใจว่าโรงพยาบาลศรีสยามได้กลายเป็นโรงฆ่าสัตว์ แพทย์ของโรงพยาบาลเป็นโจรในเครื่องแบบสีขาว โรงพยาบาลเป็นโรงทรมานผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษา ซึ่งไม่ได้เป็นข้อความที่เกี่ยวกับโรงพยาบาลคิดค่ารักษาพยาบาลแพงเกินกว่าความเป็นจริงตามที่จำเลยที่ 2 รับทราบมา จึงไม่ใช่ข้อความที่ติชมด้วยความสุจริตเป็นธรรมเพื่อปกปักรักษาประโยชน์สังคมโดยส่วนรวม การที่หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจลงพิมพ์โฆษณาต่อสาธารณชน ย่อมเป็นการไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริงเป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงและเกียรติคุณของโจทก์ จึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 423

จำเลยที่ 3 เป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา ต้องรับผิดชอบในข้อความหรือสิ่งอื่นใดที่ตนคัดเลือกนำมาลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์ทั้งหมด จะอ้างว่าโดยปกติตนจะตรวจข่าวในกรอบพาดหัวหน้า 1 เป็นหลัก ข่าวในส่วนปลีกย่อยจะไม่ให้ความสนใจนั้นไม่ได้ เมื่อข้อความหรือสิ่งอื่นใดที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใดก็จะต้องรับผิดเพราะตนเป็นผู้จัดการไขข่าวให้แพร่หลาย ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องร่วมรับผิดในการทำละเมิดของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในทางการที่จ้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425 ด้วย

รายละเอียด
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด โจทก์ดำเนินกิจการในนามโรงพยาบาลศรีสยาม ประกอบกิจการสถานพยาบาลรักษาผู้ป่วยและป้องกันโรคทั่วไป จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด ประกอบธุรกิจจำหน่ายและออกหนังสือพิมพ์รายวันชื่อหนังสือ กรุงเทพธุรกิจ จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ทำหน้าที่เขียนข่าวกีฬา และจำเลยที่ 3 เป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2541 จำเลยทั้งสามร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์ กล่าวคือ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 ร่วมกันไขข่าวอันเป็นเท็จโดยการเขียนและลงพิมพ์ข่าวให้แพร่หลายในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจว่า “ปล้น ฆ่า ข่มขืน ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับยุคนี้ ยิ่งโรงพยาบาลนับได้ว่ากลายเป็นโรงฆ่าสัตว์ไปทุกขณะ โรงพยาบาลที่ว่าคือโรงพยาบาลศรีสยาม บนถนนนวมินทร์ (สุขาภิบาล 1)” และข้อความว่า “แถมค่าหมอก็แพงหูฉี่ นี่แหละหนา โจรในเครื่องแบบ (สีขาว)” และ “ที่ต้องเอาเรื่องนี้มาร่ายยาว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพื่อผลประโยชน์ของผู้อ่านเองที่จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อโรงทรมานห่วย ๆ โรงนี้กันอีกต่อไป” ซึ่งไม่เป็นความจริงและมิได้เป็นการติชมด้วยความเป็นธรรม ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายแก่ทางทำมาหาได้และทางเจริญในกิจการของโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้สินไหมทดแทนเป็นเงิน 1,000,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยทั้งสามให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะไม่บรรยายฟ้องว่าข้อความตอนใดเป็นความเท็จไม่ตรงกับความเป็นจริง และไม่ได้บรรยายฟ้องว่า โจทก์มีเกณฑ์คิดคำนวณค่าเสียหายอย่างไร จำเลยทั้งสามจึงไม่อาจต่อสู้คดีได้ จำเลยที่ 2 เขียนข้อความตามฟ้องเนื่องจากนางสาววาสนาเข้ารับการรักษาอาการป่วยที่โรงพยาบาลศรีสยามซึ่งเรียกเก็บเงินค่ารักษาพยาบาลสูงเกินกว่าที่ได้ตกลงกันไว้แต่แรก จึงมิใช่ข้อความอันเป็นเท็จแต่เป็นการให้ความจริงเพื่อประโยชน์แก่สังคมส่วนรวม การกระทำของจำเลยทั้งสามไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 700,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 21 สิงหาคม 2541 ซึ่งเป็นวันกระทำละเมิดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี

จำเลยทั้งสามอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 400,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 21 สิงหาคม 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์ 2,000 บาท แทนโจทก์

โจทก์และจำเลยทั้งสามฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยทั้งสามไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีกาฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด ประกอบกิจการโรงพยาบาลเอกชนใช้ชื่อว่าโรงพยาบาลศรีสยามให้การบริการรักษาผู้ป่วยทั่วไป ผู้ป่วยอุบัติเหตุ จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด และเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้สื่อข่าวประจำหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจและจำเลยที่ 3 เป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณาหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ก่อนเกิดเหตุคดีนี้ นางสาววาสนาเพื่อนของจำเลยที่ 2 ได้เข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลศรีสยาม 1 คืน เสียค่ารักษาพยาบาลประมาณ 4,000 บาท แพงกว่าที่โรงพยาบาลศรีสยามประมาณไว้คือ 3,000 บาท นางสาววาสนาบอกให้จำเลยที่ 2 ทราบ จำเลยที่ 2 จึงเขียนข่าวลงในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจฉบับวันที่ 21 สิงหาคม 2541 ในหน้าข่าวกีฬาคอลัมน์ติดขอบสนามว่า “ก่อนอื่นต้องขอกล่าวคำว่า สวัสดียุคไอเอ็มเอฟ ยุคที่คนไทย ห้ามกิน (ให้มาก) ห้ามเจ็บห้ามป่วยเด็ดขาดเพราะเป็นยุคแห่งการขูดรีด กดขี่ ข่มเหงและคอรัปชั่น ปล้น ฆ่า ข่มขืน ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดามากสำหรับยุคนี้ ยิ่งโรงพยาบาลนับได้ว่ากลายเป็นโรงฆ่าสัตว์ไปทุกขณะ โรงพยาบาลที่ว่าก็คือโรงพยาบาลศรีสยามบนถนนนวมินทร์ (สุขาภิบาล 1) ที่มีคุณหมอพิชญาหมอประจำทีมฟุตบอลชาติไทยทำงานอยู่ด้วย คนที่ประสบมาด้วยตนเองคือคนใกล้ตัวผมเอง ซึ่งเช็คเอาท์จากโรงพยาบาลมาหมาด ๆ แค่คำถามคำแรกก่อนเข้าก็เจ็บแสบแล้วว่ามีเงินหรือไม่ เมื่อตอบว่ามีและเช็คอาการดูแล้ว หมอตีราคาไว้ที่ไม่เกิน 3,000 บาท สำหรับห้องรวม 4 เตียง แต่พอวันเช็คเอาท์ กลายเป็น 4,000 กว่าบาท แถมเตียงห้องรวมนั้นราคา 500 บาท เขาเล่นคิดค่าที่นอน ผ้าผ่อน เสื้อผ้า รวมทั้งค่าพยาบาลเข้าไปด้วย รวมเบ็ดเสร็จพันกว่า แพงกว่าห้องพิเศษของอีกหลายโรงพยาบาลที่เกรดเดียวกันแถมค่าหมอก็แพงหูฉี่ นี่แหละหนาโจรในเครื่องแบบ (สีขาว) ด้วยความคารวะ วานท่านรักเกียรติ รมว.สาธารณสุข ช่วยเป็นหูเป็นตาเถอะครับ ยุคนี้คนไทยจะป่วยไม่เป็นกันแล้วนะครับ เพราะยอมตายมันซะเลยดีกว่าสิ้นเรื่องสิ้นราว ครับวันนี้คงต้องขออภัยท่านผู้อ่านที่ต้องเอาเรื่องนี้มาร่ายยาว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพื่อผลประโยชน์ของผู้อ่านเองที่จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อโรงทรมานห่วย ๆ โรงนี้กันอีกต่อไป” ตามสำเนาเอกสารหมาย จ.16 ที่จำเลยทั้งสามฎีกาในประการแรกว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ จำเลยที่ 2 เป็นคอลัมน์นิสต์ จำเลยที่ 3 เป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นนักหนังสือพิมพ์เป็นผู้มีวิชาชีพอิสระมีดุลพินิจในการดำเนินการวิชาชีพแห่งตน แม้จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะได้รับผลตอบแทนเป็นรายเดือนในรูปเงินเดือนจากจำเลยที่ 1 การจ้างงานเป็นลักษณะจ้างทำของ จำเลยที่ 1 มิอาจกำหนดให้นำเสนอข่าวได้ จึงไม่เข้าลักษณะนายจ้างลูกจ้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 1 มิได้ให้การต่อสู้ในประเด็นดังกล่าวไว้ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ทั้งมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่วินิจฉัยให้

มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามในประการต่อไปว่า ฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับค่าเสียหายเคลือบคลุมหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ได้บรรยายฟ้องในส่วนค่าเสียหายว่าข้อความที่จำเลยทั้งสามร่วมกันลงพิมพ์ไม่เป็นความจริง และมิได้เป็นการติชมด้วยความเป็นธรรม การกระทำดังกล่าวของจำเลยทั้งสามที่ร่วมกันลงพิมพ์ข่าวโดยให้ข่าวด้วยข้อความอันฝ่าฝืนต่อความเป็นจริงลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ของจำเลยที่ 1 และจำหน่ายแพร่หลายในหมู่สาธารณชนก่อให้เกิดความเสียหายแก่ชื่อเสียงและเกียรติคุณของโจทก์ที่สั่งสมมานานถึง 4 ปี และเป็นที่เสียหายแก่ธุรกิจทางทำมาหาได้ของสถานพยาบาลโจทก์ กล่าวคือ ทำให้ประชาชนทั่วไปเชื่อว่าโรงพยาบาลโจทก์มีสภาพเป็นโรงฆ่าสัตว์ ไม่รับผิดชอบในการรักษาพยาบาล ค่ารักษาพยาบาลแพงมากเหมือนถูกปล้นจากผู้ทำการรักษาพยาบาล และไม่ควรเข้าไปรับการรักษาพยาบาลเพราะจะตกเป็นเหยื่อให้โจทก์ทรมานและปล้นซ้ำ การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ทางทำมาหาได้และทางเจริญในกิจการของโจทก์ จำเลยทั้งสามต้องร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์เป็นเงิน 1,000,000 บาท คำบรรยายฟ้องของโจทก์ในส่วนนี้ได้บรรยายโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแล้วว่า จำเลยทั้งสามลงพิมพ์ข้อความเป็นข่าวในหนังสือพิมพ์ข้อความเป็นข่าวในหนังสือพิมพ์ของจำเลยที่ 1 อันฝ่าฝืนต่อความเป็นจริงและมิใช่เป็นการติชมด้วยความเป็นธรรมเป็นละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ทางทำมาหาได้และทางเจริญในกิจการของโจทก์ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ชื่อเสียงและเกียรติคุณของโจทก์ที่สั่งสมมานานถึง 4 ปี ส่วนการที่โรงพยาบาลโจทก์จะได้รับความเสียหายโดยโจทก์คิดคำนวณค่าเสียหายอย่างไรนั้น เป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้ หาใช่ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาซึ่งจะต้องบรรยายมาในคำฟ้องไม่ คำฟ้องของโจทก์ในส่วนนี้จึงไม่เคลือบคลุม ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามในประการต่อไปว่า จำเลยที่ 2 กระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ เห็นว่า เหตุที่จำเลยที่ 2 เขียนข่าวลงในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจสืบเนื่องจากนางสาววาสนาเพื่อนของจำเลยที่ 2 มาแจ้งให้ทราบว่าได้เข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลของโจทก์ 1 คืน เสียค่ารักษาพยาบาลประมาณ 4,000 บาท แพงกว่าที่โรงพยาบาลประมาณไว้ 3,000 บาท แต่ปรากฏข้อความที่จำเลยที่ 2 ลงข่าวดังกล่าวแม้จำเลยที่ 2 จะอ้างว่าเป็นภาษาชาวบ้าน แต่ก็เป็นข้อความที่หมิ่นประมาทโจทก์อ่านแล้วเป็นที่เข้าใจว่าโรงพยาบาลศรีสยามได้กลายเป็นโรงฆ่าสัตว์ แพทย์ของโรงพยาบาลศรีสยามเป็นโจรในเครื่องแบบสีขาว โรงพยาบาลศรีสยามเป็นโรงทรมานผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษา ซึ่งไม่ได้เป็นข้อความที่เกี่ยวกับโรงพยาบาลศรีสยามคิดค่ารักษาพยาบาลแพงเกินกว่าความเป็นจริงแต่อย่างใด ตามที่จำเลยที่ 2 รับทราบมา จึงไม่ใช่ข้อความที่ติชมด้วยความสุจริตเป็นธรรมเพื่อปกปักรักษาประโยชน์สังคมโดยส่วนรวมโรงพยาบาลศรีสยามได้รับการรับรองจากกระทรวงสาธารณสุขว่ามีผลงานบริการอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่ดีตามสำเนาหนังสือกระทรวงสาธารณสุขที่ สธ.0204/04/49 ลงวันที่ 4 ธันวา 2540 เอกสารหมาย จ.5 ข้อความที่จำเลยที่ 2 เขียนมานั้นจึงฝ่าฝืนต่อความเป็นจริงการที่หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจลงพิมพ์โฆษณาต่อสาธารณชน ย่อมเป็นการไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริงเป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงและเกียรติคุณของโจทก์ การกระทำของจำเลยที่ 2 ดังกล่าว จึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 423 ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามในประการต่อไปว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 ต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดซึ่งจำเลยที่ 2 ได้กระทำไปดังกล่าวหรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 3 เป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา ต้องรับผิดชอบในข้อความหรือสิ่งอื่นใดที่ตนคัดเลือกนำมาลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์ทั้งหมด จะอ้างว่าโดยปกติตนจะตรวจข่าวในกรอบพาดหัวหน้า 1 เป็นหลัก ข่าวในส่วนปลีกย่อยจะไม่ให้ความสนใจนั้นไม่ได้ เมื่อข้อความหรือสิ่งอื่นใดที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใดก็จะต้องรับผิดเพราะตนเป็นผู้จัดการไขข่าวให้แพร่หลาย ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องร่วมรับผิดในการทำละเมิดของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในทางการที่จ้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425 ด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของโจทก์และจำเลยทั้งสามในประการสุดท้ายว่าโจทก์ควรได้รับค่าเสียหายเพียงใด โจทก์ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำเลยทั้งสามใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์จำนวน 400,000 บาท นั้นต่ำไป ควรเป็น 700,000 บาท ตามที่ศาลชั้นต้นกำหนด ส่วนจำเลยทั้งสามฎีกาว่า ค่าเสียหายที่ศาลอุทธรณ์กำหนดมานั้นสูงเกินไป เห็นว่า โรงพยาบาลของโจทก์มีเงินลงทุนประมาณ 1,000,000,000 บาท ดำเนินการมาแล้ว 4 ปี ได้รับการรับรองจากกระทรวงสาธารณสุขว่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่ดี มีแพทย์ประจำ 10 คน แพทย์ที่ปรึกษา 40 คน พยาบาล 70 คน เภสัชกร 5 คน ทันตแพทย์ 20 คน รักษาผู้ป่วยมาแล้วประมาณ 100,000 ราย ข้อความที่จำเลยทั้งสามร่วมกันลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์เป็นการละเมิดแก่โจทก์นั้น ทำให้แพร่หลายแก่บุคคลทั่ว ๆ ไปก่อให้เกิดความเสียหายแก่ชื่อเสียงทำให้ประชาชนเข้าใจผิดอันเป็นความเสียหายแก่ทางทำมาหาได้และความเจริญของโจทก์ ส่วนที่ศาลอุทธรณ์ฟังว่าจำเลยที่ 2 เขียนข้อความลงในหนังสือพิมพ์หน้ากีฬาคอลัมน์ติดขอบสนามย่อมเป็นที่เห็นได้ว่ามีผู้อ่านให้ความสนใจไม่มากเป็นพฤติการณ์เพื่อกำหนดจำนวนค่าเสียหายนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438 วรรคหนึ่ง ให้อำนาจศาลในการกำหนดค่าสินไหมทดแทนไว้ว่าจะพึงใช้โดยสถานใด เพียงใดนั้น ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด ซึ่งตามกฎหมายดังกล่าวแม้จำเลยทั้งสามไม่ให้การต่อสู้ไว้หรือมิได้กำหนดประเด็นไว้โดยชัดแจ้งในอุทธรณ์ ศาลก็มีอำนาจที่จะหยิบยกพฤติการณ์ดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยได้ ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายลดจากที่ศาลชั้นต้นกำหนด โดยกำหนดให้เพียง 400,000 บาทนั้น เหมาะสมกับพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของโจทก์และจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น

อนึ่ง ศาลอุทธรณ์เพียงแต่พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นลดจำนวนเงินค่าเสียหายและให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์ 2,000 บาท แทนโจทก์โดยมิได้กล่าวด้วยว่านอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น มีผลทำให้คำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนที่สั่งให้จำเลยทั้งสามใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์เป็นอันเพิกถอนไป เป็นการสั่งเกี่ยวกับเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมไม่ถูกต้อง เมื่อคดีขึ้นมาสู่ศาลฎีกาและศาลฎีกาพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ จึงเห็นสมควรสั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์เสียใหม่ให้ถูกต้อง”

พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 12,000 บาท และค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

(มนตรี ยอดปัญญา-สบโชค สุขารมณ์-ม.ล.ฤทธิเทพ เทวกุล)

Leave a Reply