คดีทางการแพทย์-ปฏิบัติตามมาตรฐานการประกอบวิชาชีพแล้วฯ…ไม่เป็นละเมิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2318/2564

คู่ความ
เด็กชาย ว. โดยนางสาว ศ. ผู้แทนโดยชอบธรรม กับพวก – โจทก์
สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กับพวก – จำเลย

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 ม. 29
พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545

ข้อมูลย่อ
สาเหตุที่ทำให้โจทก์ที่ 1 สมองพิการเกิดจากสาเหตุใด เป็นข้อเท็จจริงที่อยู่ในความรู้เห็นของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ให้บริการทางการแพทย์ ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่จำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 29 พยานจำเลยที่ 1 เบิกความว่าสาเหตุที่ทำให้โจทก์ที่ 1 สมองพิการเสียหายถาวรอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุด้วยกัน แต่ไม่สามารถยืนยันได้ว่าเกิดจากสาเหตุใด ทางนำสืบของจำเลยที่ 1 ยังไม่อาจรับฟังข้อเท็จจริงไปทางหนึ่งทางใดโดยแจ้งชัด จึงต้องถือว่ายังไม่สามารถระบุสาเหตุที่แท้จริงได้ว่าโจทก์ที่ 1 มีอาการสมองพิการเสียหายถาวรช่วยเหลือตนเองไม่ได้เพราะสาเหตุใดแน่ ตรงกันข้ามกับทางนำสืบของโจทก์ทั้งสอง ที่มีโจทก์ที่ 2 และ ส. บิดาโจทก์ที่ 1 เบิกความยืนยันตรงกันว่า หลังเกิดเหตุบุคลากรทางการแพทย์ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ทำการผ่าตัดโจทก์ที่ 1 ได้พูดยอมรับว่า เหตุที่โจทก์ที่ 1 มีอาการดังกล่าวเนื่องจากท่อช่วยหายใจหลุดและขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว ทั้งตามบันทึกการประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาวินิจฉัยคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นของผู้รับบริการ จังหวัดนครราชสีมา ระบุว่า หลังการผ่าตัด เมื่อเกิดปัญหากับโจทก์ที่ 1 วิสัญญีแพทย์ทำการตรวจสอบตำแหน่งท่อช่วยหายใจอีกครั้ง เนื่องจากสงสัยว่ามีเสียงลมรั่วไม่เข้าปอด ซึ่งพบว่าท่อช่วยหายใจไม่ได้อยู่ในตำแหน่งของหลอดลม จึงได้รีบใส่ท่อช่วยหายใจใหม่โดยเพิ่มขนาดจากเบอร์ 4 เป็นเบอร์ 4.5 ตำแหน่งที่ใส่อยู่ที่ 12 เซนติเมตร แม้การจ่ายเงินช่วยเหลือตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 จะเป็นการจ่ายเงินช่วยเหลือตามที่กฎหมายบัญญัติ โดยมิได้พิจารณาว่าบุคลากรทางการแพทย์กระทำโดยประมาทและก่อให้เกิดความเสียหายหรือไม่ก็ตาม แต่รายงานการประชุมดังกล่าวก็ต้องพิจารณาไปตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากการสอบสวน ทั้งคณะอนุกรรมการที่เข้าร่วมพิจารณาก็ล้วนเป็นแพทย์ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิมีความรู้ความเชี่ยวชาญ เมื่อนำมาพิจารณาประกอบกับคำเบิกความของโจทก์ที่ 2 และ ส. ซึ่งไม่มีความรู้ทางการแพทย์ยากที่จะเบิกความปรุงแต่งข้อเท็จจริงที่ตนรับฟังมา พยานหลักฐานโจทก์ทั้งสองมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานจำเลยที่ 1 ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า สาเหตุที่โจทก์ที่ 1 สมองพิการอย่างถาวรเกิดจากท่อช่วยหายใจหลุดหรือเคลื่อนจากหลอดลมภายหลังการผ่าตัด ทำให้สมองขาดออกซิเจนหล่อเลี้ยงเป็นเวลานานจนโจทก์ที่ 1 เกิดอาการดังกล่าวกรณีจะถือว่าการกระทำของบุคลากรทางการแพทย์ของจำเลยที่ 1 เป็นความประมาทเลินเล่อหรือไม่นอกจากต้องพิจารณาจากมาตรฐานการรักษาตามวิชาชีพของแพทย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งระเบียบวิธีปฏิบัติในการรักษาผู้ป่วยแล้ว ยังต้องพิจารณาถึงพฤติการณ์และเหตุผลประการอื่นด้วย เนื่องจากพยาธิสภาพของผู้ป่วยและอาการเจ็บป่วยของผู้ป่วยแต่ละรายนั้นมีความแตกต่างกัน ซึ่งจะมีผลต่อการวินิจฉัยของแพทย์และนำไปสู่วิธีการรักษาที่ไม่เหมือนกันได้ หากข้อเท็จจริงได้ความว่าแพทย์ได้ตรวจรักษาผู้ป่วยโดยปฏิบัติถูกต้องครบถ้วนตามระเบียบวิธีปฏิบัติตามมาตรฐานแห่งวิชาชีพแพทย์เฉพาะทางนั้นด้วยความระมัดระวังรอบคอบ และเหมาะสมกับสภาวการณ์ที่จำเป็นที่ต้องให้การบำบัดรักษาผู้ป่วยโดยเร็วเพื่อให้พ้นจากความเสี่ยงภัยอันตรายต่อชีวิตหรือร่างกายแล้ว แม้ผลการรักษาจะไม่เป็นไปดั่งที่คาดหมาย กรณีย่อมไม่อาจถือว่าบุคลากรทางการแพทย์ผู้นั้นกระทำด้วยความประมาทเลินเล่อ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าบุคลากรทางการแพทย์ของจำเลยที่ 1 ได้ใช้ความระมัดระวังอย่างรอบคอบและเหมาะสมสอดคล้องแก่สภาวการณ์ที่จำเป็นในการรักษาโจทก์ที่ 1 ทุกขั้นตอนโดยถูกต้องตามมาตรฐานการประกอบวิชาชีพอันเหมาะสมแก่สภาวการณ์แล้ว แม้จะเกิดผลท่อช่วยหายใจหลุดหรือเคลื่อนที่ก็ตาม การกระทำของบุคลากรทางการแพทย์ของจำเลยที่ 1 ย่อมไม่เป็นการละเมิด แต่เป็นเหตุสุดวิสัยที่ไม่อาจคาดหมายได้ บุคลากรทางการแพทย์ของจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 1 ในฐานะหน่วยงานของรัฐผู้รับผิดชอบต่อความรับผิดในทางละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วย

รายละเอียด
โจทก์ทั้งสองฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 10,200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายเพื่อการลงโทษ

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฟ้องจำเลยที่ 2 เนื่องจากเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

จำเลยที่ 1 ให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 2,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2560) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ

จำเลยที่ 1 ฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันรับฟังได้ว่า โจทก์ที่ 1 เป็นบุตรโจทก์ที่ 2 กับนายสมาน โจทก์ที่ 1 เกิดเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2558 เป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดชนิดเขียว (TETRALOGY OF FALLOT) เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2559 โจทก์ที่ 1 เข้ารับการติดตามและตรวจอาการของโรคดังกล่าวที่โรงพยาบาล ม. ซึ่งอยู่ในสังกัดของจำเลยที่ 1 ปรากฏว่าโจทก์ที่ 1 มีภาวะอาการเขียวขั้นวิกฤตจนอยู่ในขั้นอาจเป็นอันตรายแก่ชีวิตหากไม่ได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน ทางโรงพยาบาลจึงรับตัวโจทก์ที่ 1 เป็นผู้ป่วยใน วันรุ่งขึ้น คือ วันที่ 1 มีนาคม 2559 โจทก์ที่ 1 ได้รับการผ่าตัดต่อเส้นเลือดเทียมเพื่อให้มีเลือดไปเลี้ยงที่ปอดได้มากขึ้น หลังการผ่าตัดแล้วขณะที่บุคลากรทางการแพทย์นำโจทก์ที่ 1 ไปยังหอผู้ป่วยเด็ก ปรากฏว่าโจทก์ที่ 1 มีอาการเขียวใหม่ ซึ่งทางการแพทย์หมายถึงมีออกซิเจนในเลือดต่ำ มีสัญญาณชีพที่เต้นช้าลง แพทย์และพยาบาลจึงปฏิบัติการกู้ฟื้นคืนชีพ (ซีพีอาร์) และใช้ยาเพื่อกระตุ้นให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น หลังจากนั้นประมาณ 3 นาที โจทก์ที่ 1 ยังมีอาการไม่ดีขึ้น คณะแพทย์จึงเปลี่ยนท่อช่วยหายใจจากขนาดเบอร์ 4 เป็นขนาดเบอร์ 4.5 เพื่อที่จะให้ลมสามารถผ่านเข้าไปที่ปอดได้มากขึ้น ปรากฏว่าโจทก์ที่ 1 กลับมาสัญญาณชีพเป็นปกติ แต่มีอาการสมองพิการอย่างถาวร ต่อมาโจทก์ที่ 2 ขอรับเงินเยียวยาจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ คณะอนุกรรมการพิจารณาวินิจฉัยคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นของผู้รับบริการ จังหวัดนครราชสีมา สรุปข้อมูลแล้วกำหนดให้จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น 280,000 บาท แก่โจทก์ที่ 2 และได้มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา โดยโจทก์ที่ 2 ได้รับเงินจำนวนดังกล่าวแล้ว

มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า การที่โจทก์ที่ 1 สมองพิการเป็นผลจากความประมาทเลินเล่อของบุคลากรทางการแพทย์ของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า ข้อนำสืบของจำเลยที่ 1 ยังไม่อาจรับฟังข้อเท็จจริงไปทางหนึ่งทางใดโดยแจ้งชัด ต้องถือว่ายังไม่สามารถระบุถึงสาเหตุที่แท้จริงว่าเพราะเหตุใดกันแน่ จึงทำให้โจทก์ที่ 1 มีอาการสมองพิการเสียหายถาวรช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายที่มีภาระการพิสูจน์ ตรงกันข้ามตามทางนำสืบของโจทก์ทั้งสองนอกจากโจทก์ที่ 2 และนายสมาน มารดาและบิดาโจทก์ที่ 1 เบิกความยืนยันตรงกันว่าหลังเกิดเหตุบุคลากรทางการแพทย์ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ทำการผ่าตัดโจทก์ที่ 1 ได้พูดยอมรับกับโจทก์ที่ 2 และนายสมานว่า เหตุที่โจทก์ที่ 1 มีอาการดังกล่าวเนื่องจากท่อช่วยหายใจหลุดและขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว และยังได้ความว่า หลังจากนั้นโจทก์ที่ 2 ได้ยื่นคำร้องขอรับเงินจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและก่อนมีการจ่ายเงินให้โจทก์ที่ 2 จำนวน 280,000 บาท ก็มีบันทึกการประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาวินิจฉัยคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นของผู้รับบริการ จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมเป็นคณะอนุกรรมการพิจารณาวินิจฉัยคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นของผู้รับบริการ จังหวัดนครราชสีมา ตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 โดยมีคณะอนุกรรมการผู้เข้าประชุมประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ ตัวแทนผู้ใช้บริการ ตัวแทนหน่วยบริการ ผู้ช่วยนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา หัวหน้ากลุ่มงานประกันสุขภาพ พยาบาลวิชาชีพปฏิบัติการ นักวิเคราะห์นโยบายและแผน ซึ่งผลการประชุมตามบันทึกการประชุมมีข้อความระบุว่า หลังการผ่าตัดเมื่อเกิดปัญหากับโจทก์ที่ 1 วิสัญญีแพทย์ได้ทำการตรวจสอบตำแหน่งของท่อช่วยหายใจอีกครั้ง เนื่องจากสงสัยว่ามีเสียงลมรั่วไม่เข้าปอด ซึ่งพบว่าท่อช่วยหายใจไม่ได้อยู่ในตำแหน่งของหลอดลม จึงได้รีบใส่ท่อช่วยหายใจใหม่โดยเพิ่มขนาดจากเบอร์ 4 เป็นเบอร์ 4.5 ตำแหน่งที่ใส่อยู่ที่ 12 เซนติเมตร ปัจจุบันเด็กมีอาการเกร็งทั้งตัว ไม่รู้สึกตัว ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ให้อาหารทางสายยาง พิจารณาว่าเป็นการให้บริการซึ่งให้โดยตรงเพื่อการรักษาพยาบาลตามความหมายของบริการสาธารณสุขตามมาตรา 3 ของพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 การพิจารณาของคณะอนุกรรมการตามบันทึกการประชุมดังกล่าวเป็นการพิจารณาเพื่อจ่ายเงินช่วยเหลือให้แก่ผู้รับบริการตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ซึ่งการจ่ายเงินช่วยเหลือนั้นแม้จะเป็นการจ่ายเงินช่วยเหลือตามที่กฎหมายบัญญัติโดยมิได้พิจารณาว่าบุคลากรทางการแพทย์กระทำโดยประมาทและก่อให้เกิดความเสียหายหรือไม่ก็ตาม แต่รายงานการประชุมดังกล่าวก็ต้องพิจารณาไปตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากการสอบสวน ทั้งคณะอนุกรรมการที่เข้าร่วมพิจารณาดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นแพทย์ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิมีความรู้เชี่ยวชาญ ดังนั้น การที่คณะอนุกรรมการพิจารณาสรุปไว้ในบันทึกรายงานการประชุมดังกล่าว เมื่อนำมาพิจารณาประกอบกับคำเบิกความของโจทก์ที่ 2 และนายสมาน ซึ่งไม่มีความรู้ทางการแพทย์ยากที่จะมีการเบิกความปรุงแต่งข้อเท็จจริงที่ตนเองรับฟังมาจากนายธีระแล้ว พยานหลักฐานโจทก์ทั้งสองมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า สาเหตุที่โจทก์ที่ 1 สมองพิการอย่างถาวรเกิดจากท่อช่วยหายใจหลุดหรือเคลื่อนที่จากหลอดลมภายหลังการผ่าตัด ทำให้สมองขาดออกซิเจนหล่อเลี้ยงเป็นเวลานานจนโจทก์ที่ 1 เกิดอาการดังกล่าว

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า สาเหตุที่โจทก์ที่ 1 สมองพิการอันเกิดจากท่อช่วยหายใจหลุดหรือเคลื่อนที่จากตำแหน่งที่เหมาะสมนั้นเป็นผลจากความประมาทเลินเล่อของบุคลากรทางการแพทย์ของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า มีลมเข้าไปในปอดทั้งสองข้างเท่ากันดี ทรวงอกขยายทั้งสองข้าง มีพลาสเตอร์เหนียวพันปิดบนริมฝีปากด้านบนและล่างของโจทก์ที่ 1 มีการติดตั้งเครื่องติดตามสัญญาณชีพติดตัวโจทก์ที่ 1 ไปตลอดทาง นางสาวภัทร์วีรยา วิสัญญีพยาบาลเบิกความว่า พยานประเมินโจทก์ที่ 1 ซึ่งขณะนั้นนอนตะแคงข้างซ้ายใส่ท่อช่วยหายใจขนาดเบอร์ 4 ใช้ความลึกขนาด 9 เซนติเมตร มีพลาสเตอร์เหนียวพันปิดบนริมฝีปากด้านบนและล่างเพื่อป้องกันหลุด ตรวจดูสัญญาณชีพของโจทก์ที่ 1 ปกติ ความดันโลหิตอยู่ที่ 70/40 มิลลิเมตรปรอท ชีพจร 142 ครั้ง ต่อนาที ความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือดร้อยละ 86 ถึง 92 ฟังเสียงปอดทั้งสองข้างพบว่ามีลมเข้าปอดทั้งสองข้างเท่ากัน แสดงว่าตำแหน่งของท่อช่วยหายใจอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม หลังผ่าตัดเสร็จปรับเปลี่ยนท่าของโจทก์ที่ 1 จากนอนตะแคงเป็นนอนหงาย พยานทำหน้าที่วิสัญญีพยาบาลตรงด้านหัวเตียง มือข้างหนึ่งจับท่อช่วยหายใจเพื่อป้องกันไม่ให้เลื่อนหลุด ส่วนมืออีกข้างหนึ่งประคองศีรษะในการขยับตัวและเตรียมอุปกรณ์ในการเคลื่อนย้ายเป็นถังออกซิเจน มีการใช้เครื่องช่วยหายใจแบบมือบีบแทนเครื่องช่วยหายใจแบบอัตโนมัติขณะเคลื่อนย้าย ระหว่างนั้นมีการขยับตัวของโจทก์ที่ 1 นางสาวพัชมณจึงให้ยาหย่อนกล้ามเนื้อทำให้โจทก์ที่ 1 อยู่ในภาวะหลับเพื่อป้องกันการขย้อนท่อช่วยหายใจ ขณะนั้นโจทก์ที่ 1 รู้สึกตัวมีเสมหะจำนวนมาก พยานดูดเสมหะของโจทก์ที่ 1 ออกจากท่อช่วยหายใจ นางสาวพัชมณฟังที่ปอดของโจทก์ที่ 1 ทั้งสองข้างพบว่าลมเข้าดีทั้งสองข้างและไม่มีเสมหะค้างที่ปอด แสดงว่าท่อช่วยหายใจอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม ความดันโลหิต ชีพจร และความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือดอยู่ในภาวะปกติ ขณะเคลื่อนย้ายโจทก์ที่ 1 พยานอยู่ทางด้านขวามือของโจทก์ที่ 1 ทำหน้าที่ช่วยหายใจและประเมินสัญญาณชีพตลอดการเคลื่อนย้าย มีถังออกซิเจนแขวนอยู่ที่เปล พยานเปิดถังออกซิเจนและปลดเครื่องช่วยหายใจแบบอัตโนมัติออกเปลี่ยนเป็นเครื่องช่วยหายใจแบบมือบีบซึ่งต่อกับท่อช่วยหายใจ แล้วเปิดถังออกซิเจนใช้มือบีบเครื่องช่วยหายใจแบบมือตลอด ส่วนมืออีกข้างต้องจับท่อช่วยหายใจที่มุมปากโจทก์ที่ 1 เพื่อป้องกันการหลุด ซึ่งการใช้เครื่องช่วยหายใจแบบมือบีบเมื่อบีบจะรู้สึกถึงแรงต้านในทรวงอก บริเวณหน้าอกมีการเคลื่อนยกตามจังหวะของการบีบมือ ระหว่างเคลื่อนย้ายพบว่าอัตราการเต้นของชีพจรโจทก์ที่ 1 ช้าลงและค่าความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือดมีแนวโน้มต่ำแต่ท่อช่วยหายใจยังอยู่ที่เดิม นายธีระเบิกความว่า พยานเป็นแพทย์ผู้ผ่าตัดโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นโรค TETRALOGY OF FALLOT มีภาวะเขียวมากเพิ่งฟื้นจากภาวะติดเชื้อปอดมา ต้องได้รับการผ่าตัดโดยด่วน ก่อนผ่าตัดแจ้งให้โจทก์ที่ 2 ทราบถึงความเสี่ยงในการผ่าตัดฉุกเฉินแล้ว มีการเตรียมความพร้อมในการผ่าตัดโดยบุคลากรทางการแพทย์หลายคนช่วยกันใส่ท่อช่วยหายใจและติดอุปกรณ์ช่วยหายใจในลักษณะใช้มือบีบและต่อจากตัวเครื่องให้แก่โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นหน้าที่ของวิสัญญีแพทย์ การผ่าตัดใช้เวลาประมาณหนึ่งชั่วโมง ช่วงที่พยานเข้ามาที่ห้องผ่าตัดครั้งแรกพบว่าโจทก์ที่ 1 มีออกซิเจนต่ำและมีเสมหะจำนวนมาก เมื่อดูดเสมหะออก ปริมาณออกซิเจนในเลือดก็เพิ่มขึ้นมาระดับหนึ่งแต่ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ เนื่องจากโจทก์ที่ 1 มีภาวะเขียวจากโรคดังกล่าว ระหว่างผ่าตัดชีพจรของโจทก์ที่ 1 อยู่ในภาวะปกติ พยานทำการผ่าตัดต่อหลอดเลือดเทียมแล้วพบว่าโจทก์ที่ 1 มีออกซิเจนในเลือดปริมาณสูงขึ้นกว่าร้อยละ 80 และเมื่อดูดเสมหะออก ปริมาณออกซิเจนบางครั้งสูงถึงร้อยละ 90 ถือว่าเป็นระดับที่เหมาะสม หากใช้หลอดเลือดเทียมขนาดเล็กเกินไปปริมาณออกซิเจนจะไม่เพียงพอ หากใหญ่เกินไปจะทำให้เกิดปริมาณออกซิเจนร้อยเปอร์เซ็นต์เท่าคนปกติ แต่จะมีปัญหาทำให้โจทก์ที่ 1 หัวใจวายได้ หลังผ่าตัดเสร็จพยานตรวจสอบว่าหลอดเลือดเทียมทำงานได้ตามปกติหรือไม่ โดยฟังที่หัวใจปรากฏว่ามีเสียงดังฟู่แสดงว่าทำงานได้ตามปกติ เมื่อฟังเสียงลมที่เข้าปอดทั้งสองข้างปรากฏว่าปอดขยายตัวเท่ากัน แสดงว่าการช่วยหายใจเป็นปกติโดยท่อช่วยหายใจอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องและเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จากคำเบิกความของพยานจำเลยที่ 1 ดังกล่าวต่างเบิกความสอดคล้องยืนยันว่า ก่อนที่จะเคลื่อนย้ายโจทก์ที่ 1 ออกจากห้องผ่าตัดนั้น ท่อช่วยหายใจของโจทก์ที่ 1 อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม อันเป็นการปฏิบัติตามมาตรฐานวิชาชีพของแพทย์ และได้ความจากพยานจำเลยที่ 1 ปากนายสมชาย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากราชวิทยาลัยวิสัญญีแพทย์แห่งประเทศไทยเบิกความว่า วิสัญญีแพทย์ที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาได้ทำถูกต้องตามมาตรฐานแล้ว โดยในการใส่ท่อช่วยหายใจเด็กจะพิจารณาจากอายุและน้ำหนัก ส่วนความลึกจะพิจารณาว่าเมื่อใส่ท่อช่วยหายใจให้เด็กแล้วจะฟังเสียงจากปอดทั้งสองข้างถ้าลมเข้าได้ดีถือว่าอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม เมื่อพิจารณาประกอบกับหลักฐานเกี่ยวกับวิธีการตรวจสอบตำแหน่งของท่อช่วยหายใจตามคู่มือแพทย์เวร หน้าที่ 2 ที่ระบุว่า ในการตรวจสอบตำแหน่งของท่อหายใจจะต้อง 1. การมอง ผู้ใส่ต้องเห็นว่าท่อหายใจผ่านเข้าไปใน vocal cords ตลอดการใส่ท่อหายใจ 2. การฟัง โดยฟังเสียง breath sound ทั้ง 5 ตำแหน่ง ได้แก่ ใต้กระดูก clavicle 2 ข้าง ชายปอด 2 ข้าง และบริเวณลิ้นปี่ 3. การตรวจหาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากลมหายใจออก (end tidal carbon dioxide) 4. การวัดค่าระดับออกซิเจนที่ปลายนิ้วว่าไม่ต่ำลงไปกว่าเดิมและควรมีค่าสูงขึ้นหลังใส่ท่อช่วยหายใจได้สำเร็จ เห็นได้ชัดว่าวิธีปฏิบัติตามคู่มือดังกล่าวสอดคล้องกับแนวทางการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์ของจำเลยที่ 1 ที่ได้ปฏิบัติต่อโจทก์ที่ 1 อย่างครบถ้วนทุกขั้นตอน ย่อมเป็นข้อยืนยันให้เห็นว่าบุคลากรทางการแพทย์ของจำเลยที่ 1 ได้ปฏิบัติหน้าที่ไปตามมาตรฐานวิชาชีพของตนเองแล้ว ส่วนปัญหาที่เกิดจากท่อช่วยหายใจหลุดหรือเคลื่อนที่นั้น ได้ความจากพยานจำเลยที่ 1 ปากนางรุ้งนภา ซึ่งเป็นหัวหน้ากลุ่มงานวิสัญญีวิทยาโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาเบิกความว่า พยานเห็นนางสาวภัทร์วีรยาเคลื่อนย้ายโจทก์ที่ 1 ขณะนั้นนางสาวภัทร์วีรยากำลังบีบเครื่องช่วยหายใจแบบมือบีบ มืออีกข้างหนึ่งจับบริเวณท่อช่วยหายใจอยู่บริเวณมุมปาก จึงสอบถามทำไมเด็กจึงเขียว นางสาวภัทร์วีรยาตอบว่าเป็นเด็กที่มีหัวใจพิการแต่กำเนิด เมื่อพยานเดินผ่าน ได้ยินเสียงนางสาวภัทร์วีรยาถามพยานว่า อาจารย์ทำไมเด็กหัวใจเต้นช้าลง พยานจึงเข้าไปช่วยนวดหัวใจและให้เข็นรถโจทก์ที่ 1 กลับไปที่ห้องผ่าตัด ภายหลังบุคลากรทางการแพทย์ได้ช่วยกันใช้ยากระตุ้นหัวใจจนกระทั่งโจทก์ที่ 1 มีสัญญาณชีพเป็นปกติ จึงเป็นข้อยืนยันได้ว่าในระหว่างเคลื่อนย้ายโจทก์ที่ 1 นางสาวภัทร์วีรยา บุคลากรทางการแพทย์ของจำเลยที่ 1 ได้ปฏิบัติการเคลื่อนย้ายตามวิชาชีพของตนเองและเมื่อพบความผิดปกติของโจทก์ที่ 1 เกิดสัญญาณชีพต่ำลงบุคลากรทางการแพทย์ของจำเลยที่ 1 ได้ระดมให้ความช่วยเหลือโจทก์ที่ 1 อย่างสุดความสามารถและทันท่วงทีจนกระทั่งโจทก์ที่ 1 รอดพ้นภาวะวิกฤตสัญญาณชีพกลับเป็นปกติ ซึ่งกรณีจะถือว่าเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อหรือไม่ นอกจากต้องพิจารณาจากมาตรฐานการรักษาตามวิชาชีพของแพทย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งระเบียบวิธีปฏิบัติในการรักษาผู้ป่วยแล้ว ยังต้องพิจารณาถึงพฤติการณ์แห่งคดีและเหตุผลประการอื่นประกอบด้วย เนื่องจากพยาธิสภาพของผู้ป่วยและอาการเจ็บป่วยของผู้ป่วยแต่ละรายนั้นมีความแตกต่างกัน ซึ่งมีผลโดยตรงต่อการวินิจฉัยของแพทย์และนำไปสู่วิธีการรักษาที่ไม่เหมือนกันได้ หากข้อเท็จจริงปรากฏว่าแพทย์ได้ตรวจรักษาผู้ป่วยโดยปฏิบัติถูกต้องครบถ้วนตามระเบียบวิธีปฏิบัติตามมาตรฐานแห่งวิชาชีพแพทย์เฉพาะทางนั้นด้วยความระมัดระวัง รอบคอบ และเหมาะสมสอดคล้องกับสภาวการณ์จำเป็นที่ต้องให้การบำบัดรักษาผู้ป่วยโดยเร็วเพื่อให้พ้นจากความเสี่ยงภัยอันตรายต่อชีวิตหรือร่างกายด้วยแล้ว แม้ผลการรักษาจะไม่เป็นไปดังที่คาดหมาย กรณีย่อมไม่อาจถือว่าบุคลากรทางการแพทย์ผู้นั้นกระทำด้วยความประมาทเลินเล่อ ได้ความตามเอกสารการพัฒนาแนวปฏิบัติการป้องกันท่อช่วยหายใจหลุด ได้ระบุถึงสาเหตุต่าง ๆ ไว้หลายประการ รวมทั้งผู้ป่วยดิ้นกระสับกระส่าย สะบัดหน้า แอ่นตัว กัดท่อหลอดลมคอ ซึ่งตามบทความการพัฒนาแนวปฏิบัติการป้องกัน ETT (Endotracheal Tube หมายถึง การใส่ท่อช่วยหายใจ) เลื่อนหลุดใน PICU (Pediatric Intensive Care Unit หมายถึง หน่วยดูแลผู้ป่วยเด็กในภาวะวิกฤต) มีข้อมูลในโรงพยาบาลของรัฐแห่งหนึ่ง ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2553 ถึงเดือนมกราคม 2554 พบอุบัติการณ์ท่อช่วยหายใจเลื่อนหลุดโดยไม่ได้วางแผนเกิดขึ้น 120 ราย คิดเป็นร้อยละ 97.82 ของผู้ป่วยทั้งหมดที่รับการรักษาในหอผู้ป่วยวิกฤตเด็ก และมีอุบัติการณ์ท่อช่วยหายใจเลื่อนหลุดโดยไม่ได้วางแผน 31 ราย คิดเป็น 8.68 ครั้ง ต่อ 100 วัน เห็นได้ว่า การใส่ท่อช่วยหายใจแก่เด็กที่มีอาการป่วยในภาวะวิกฤตแล้วเกิดการเคลื่อนหรือหลุดเป็นเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ ขณะเกิดเหตุโจทก์ที่ 1 เป็นทารกอายุเพียง 8 เดือนเศษ ก่อนผ่าตัดมีอาการตัวเขียวขั้นวิกฤตถึงขนาดที่โรงพยาบาลต้องรับตัวเป็นผู้ป่วยในไว้เพื่อทำการผ่าตัดซ่อมแซมหัวใจอย่างเร่งด่วน การเตรียมการก่อนการผ่าตัดโดยเฉพาะการสอดท่อช่วยหายใจให้แก่เด็กทารกย่อมเป็นไปด้วยความยากลำบากตามสภาพร่างกายของเด็กที่มีขนาดเล็ก แต่ก็ไม่พบความผิดปกติในเรื่องนี้ระหว่างการผ่าตัดซึ่งเริ่มตั้งแต่เวลา 15.10 ถึง 16.15 นาฬิกา ภายหลังการผ่าตัดข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า มีการขยับตัวโจทก์ที่ 1 นางสาวภัทร์วีรยาเข้าไปประคองปรับเปลี่ยนท่านอนของโจทก์ที่ 1 ส่วนนางสาวพัชมณให้ยาหย่อนกล้ามเนื้อเพื่อป้องกันการขย้อนท่อช่วยหายใจ เหตุการณ์ตอนนี้เองน่าเชื่อว่าอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ท่อช่วยหายใจหลุดหรือเคลื่อนที่ออกจากตำแหน่งที่เหมาะสม อันเป็นเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้โดยบุคลากรทางการแพทย์ไม่อาจทราบได้เพราะอยู่ภายในร่างกายของโจทก์ที่ 1 ประกอบกับโจทก์ที่ 1 ได้รับยาหย่อนกล้ามเนื้อเพื่อป้องกันการขย้อนท่อช่วยหายใจ จึงไม่ได้แสดงปฏิกิริยาต่อต้านทางร่างกายทันทีที่ได้รับอากาศหายใจไม่เต็มที่ จนกระทั่งเมื่อเคลื่อนย้ายโจทก์ที่ 1 ออกไปที่หน้าห้องผ่าตัดเพียงเล็กน้อย โจทก์ที่ 1 มีอาการตัวเขียวตามพยาธิสภาพที่ขาดอากาศหายใจ นางสาวภัทร์วีรยาและนางรุ้งนภา สังเกตเห็นจึงรีบนำโจทก์ที่ 1 กลับไปกู้ชีพภายในห้องผ่าตัด สอดคล้องกับที่โจทก์ที่ 2 และนายสมาน เห็นเหตุการณ์ดังกล่าว เห็นได้ชัดว่าเมื่อบุคลากรทางการแพทย์ของจำเลยที่ 1 ใช้ความระมัดระวังอย่างรอบคอบ และเหมาะสมสอดคล้องแก่สภาวการณ์ที่จำเป็นในการรักษาโจทก์ที่ 1 ทุกขั้นตอน ตั้งแต่การรับตัวไว้รักษา การเตรียมการผ่าตัดโดยฉุกเฉิน การดูแลภายหลังการผ่าตัด การเตรียมการเคลื่อนย้ายโจทก์ที่ 1 ออกจากห้องผ่าตัดโดยปฏิบัติถูกต้องตามมาตรฐานการประกอบวิชาชีพอันเหมาะสมแก่สภาวการณ์ แม้จะเกิดผลท่อช่วยหายใจหลุดหรือเคลื่อนที่ก็ตาม แต่ผลที่เกิดขึ้นฟังไม่ได้ว่าเกิดจากการกระทำโดยประมาทเลินเล่อของบุคลากรทางการแพทย์ของจำเลยที่ 1 เช่นนี้ การกระทำของบุคลากรทางการแพทย์ของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นการละเมิด แต่เป็นเหตุสุดวิสัยที่ไม่อาจคาดหมายได้ บุคลากรทางการแพทย์ของจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 1 ในฐานะหน่วยงานของรัฐผู้รับผิดชอบต่อความรับผิดในทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองไปด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 1 สำหรับจำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

(สืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล-แรงรณ ปริพนธ์พจนพิสุทธิ์-น้ำเพชร ปานะถึก)

Leave a Reply