คดีทางการแพทย์-ภาระการพิสูจน์ในคดีผู้บริโภคจะตกอยู่แก่สถานประกอบการ(โรงพยาบาล)

ประเด็นศึกษา – ภาระการพิสูจน์ในคดีผู้บริโภคจะตกอยู่แก่สถานประกอบการ (โรงพยาบาล)
ว่าจำเลยที่ 2 มิได้กระทำโดยประมาทเลินเล่อ
ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 29

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 171/2566

การที่จำเลยที่ 2 ทำการตรวจอัลตราซาวด์ให้แก่โจทก์เป็นการให้บริการทางการแพทย์อย่างหนึ่งอันเป็นข้อเท็จจริงที่อยู่ในความรู้เห็นโดยเฉพาะของคู่ความฝ่ายจำเลยทั้งสอง ภาระการพิสูจน์ในประเด็นดังกล่าวจึงตกอยู่แก่จำเลยทั้งสองว่าจำเลยที่ 2 มิได้กระทำโดยประมาทเลินเล่อ ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 29 ในข้อนี้จำเลยทั้งสองนำสืบโดยมีแพทย์ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงพยาบาล มาเบิกความประกอบการให้ถ้อยคำในชั้นการพิจารณาเรื่องร้องเรียนจำเลยที่ 2 ต่อคณะกรรมการแพทยสภาเกี่ยวกับการแบ่งประเภทผู้ป่วยที่จะเข้ารับการตรวจอัลตราซาวด์ออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 ผู้ป่วยที่ไม่รู้สึกตัวช่วยเหลือตนเองได้น้อย ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการเฝ้าระวังระหว่างการตรวจ หน่วยอัลตราซาวด์จะใช้เตียงที่มีไม้กั้นของหอผู้ป่วยในระหว่างการตรวจ และมีนักรังสีการแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการให้การช่วยเหลือผู้ป่วยขณะทำการตรวจทุกราย กลุ่มที่ 2 ผู้ป่วยที่รู้สึกตัวดี ช่วยเหลือตนเองได้ สามารถปฏิบัติตัวระหว่างการตรวจตามที่รังสีแพทย์สั่งได้ เช่น การพลิกตะแคงตัว หน่วยอัลตราซาวด์จะใช้เตียงตรวจไฟฟ้าของหน่วยงานซึ่งออกแบบเป็นพิเศษเพื่อให้สามารถปรับความสูงต่ำของเตียงได้ (ไม่มีที่กั้นเตียง) เพื่อความสะดวกของแพทย์ในการตรวจ เห็นได้ชัดว่าการแบ่งแยกประเภทผู้ป่วยเป็นเวชปฏิบัติทั่วไปขั้นพื้นฐานเพื่อคัดแยกผู้ป่วยให้เหมาะสมแก่การตรวจและรักษา ลักษณะเป็นข้อมูลวิชาการไม่เอนเอียงเพื่อประโยชน์แก่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ล. นักรังสีการแพทย์พยานจำเลยทั้งสองอีกปากเบิกความว่า มาตรฐานการจัดวางอุปกรณ์ต่าง ๆ ในห้องตรวจอัลตราซาวด์ของโรงพยาบาล จ. จะจัดวางเหมือนกันทุกห้องตามหลักการจัดวางอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใช้ในการตรวจห้องตรวจจะมีลักษณะแยกเดี่ยว 4 ห้อง ภายในห้องตรวจมีเครื่องอัลตราซาวด์และเตียงตรวจ มีผ้าม่านกั้น เตียงตรวจมีขนาดกว้าง ประมาณ 60 เซนติเมตร มีทั้งแบบที่มีและไม่มีที่กั้นเตียง เตียงที่มีที่กั้นจะใช้แก่ผู้ป่วยที่ไม่รู้สึกตัวช่วยตนเองไม่ได้ การจัดวางเตียงไม่ชิดผนังเพื่อความสะดวกของผู้ช่วยระหว่างการตรวจซึ่งเป็นแบบเดียวกันกับในโรงพยาบาลเอกชนที่พยานทำงานนอกเวลา ในวันเกิดเหตุ พยานเรียกโจทก์เข้าห้องตรวจหมายเลข 2 ก่อนเข้าห้องพยานสอบถามโจทก์ว่าเดินได้หรือไม่ โจทก์ตอบว่าเดินได้นิดหน่อย พยานจึงเข็นรถโจทก์ไปใกล้เตียงตรวจเพื่อให้โจทก์ลุกเดินไปยังเตียง จากนั้นพยานและบุตรโจทก์ช่วยกันพยุงโจทก็ให้ลุกขึ้นยืนและขยับตัวไปนั่งแล้วให้นอนหงายบนเตียงนำผ้าห่มมาคลุมตัวเพื่อเตรียมทำการตรวจบริเวณช่องท้อง แล้วพยานแจ้งให้จำเลยที่ 2 มาตรวจโจทก์ ต่อมาพยานได้ยินเสียงจำเลยที่ 2 ตะโกนเรียก พบโจทก์อยู่ข้างเตียงในลักษณะกึ่งหงายกึ่งนั่ง พยานจึงไปขยับเตียงและเครื่องมือแพทย์ออก แล้วพยุงตัวโจทก์ให้นั่งพร้อมกับเรียกเจ้าหน้าที่มาช่วยกันปฐมพยาบาลเบื้องต้น ส่วนเหตุการณ์ในขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ 2 เบิกความว่า เมื่อจำเลยที่ 2 เข้าไปในห้องตรวจ พบโจทก์นอนอยู่บนเตียงเพื่อรอการอัลตราซาวด์ จำเลยที่ 2 ทำการตรวจวินิจฉัยในท่านอนหงาย พบว่าการถ่ายภาพไตด้านขวาของโจทก์ไม่ชัดเจนเนื่องจากมีลมในลำไส้บังและติดชายโครงด้านขวา ตามมาตรฐานท่าที่ใช้ตรวจมีทั้งท่านอนหงายและท่านอนตะแคง จำเลยที่ 2 สอบถามโจทก์ว่าสามารถนอนตะแคงด้วยตนเองได้หรือไม่ โจทก์ตอบว่าทำได้ จำเลยที่ 2 จึงให้โจทก์นอนตะแคงตัวไปทางด้านซ้ายยกทางด้านขวาขึ้น โดยจำเลยที่ 2 ยืนอยู่ทางด้านขวาของโจทก์ตรงหน้าเครื่องตรวจอัลตราซาวด์ จังหวะที่โจทก์กำลังจะนอนตะแคงเกิดพลัดตกเตียง ไหล่และเข่าซ้ายกระแทกพื้น ศีรษะไม่กระแทก รู้สึกตัวดี จำเลยที่ 2 รีบเข้าไปประเมินอาการบาดเจ็บในเบื้องต้นพร้อมเรียกเจ้าหน้าที่ โจทก์มีบาดแผลถลอกหนังเปิดที่เข่าซ้าย 4 เซนติเมตร และเจ็บไหล่ซ้าย แต่สามารถขยับได้ หายใจปกติ ไม่มีการอุดกั้นทางเดินหายใจ จึงทำแผลเบื้องต้นพร้อมสั่งเอกซเรย์กระดูกเชิงกราน สะโพกทั้งสองข้าง กระดูกเข่าซ้ายไหล่ซ้าย และปอด พบว่าไม่มีการแตกหักจึงส่งโจทก์ไปแผนกอุบัติเหตุเพื่อเย็บแผลและให้ยาปฏิชีวนะโดยมีจำเลยที่ 2 ไปด้วย ดังนี้ การนัดหมายโจทก์มาทำการตรวจอัลตราซาวด์ในวันเกิดเหตุ โจทก์เป็นเพียงผู้ป่วยนอก ญ. บุตรโจทก์ก็เบิกความยอมรับว่า ก่อนเกิดเหตุโจทก์สามารถช่วยเหลือตนเองและเดินได้ตามปกติไม่ต้องมีใครช่วยดูแล โจทก์จึงจัดอยู่ในผู้ป่วยกลุ่มที่ 2 กล่าวคือ โจทก์รู้สึกตัวดี สามารถช่วยเหลือตนเองลุกขึ้นเดินไปนั่งและนอนรอจำเลยที่ 2 บนเตียงเพื่อรับการตรวจได้ แม้โจทก์จะต้องนั่งรถเข็นมายังห้องตรวจก็เป็นเพียงการอำนวยความสะดวกให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ป่วยสูงอายุและมีน้ำหนักตัวมาก เมื่อพิจารณาสภาพห้องที่เกิดเหตุตามภาพถ่าย ขนาดความกว้าง ยาวและสูงของเตียง ตลอดจนวิธีการจัดวางไม่ได้แตกต่างไปจากมาตรฐานของโรงพยาบาลเอกชนและโรงพยาบาลรัฐบาลอื่น ประกอบกับเมื่อจำเลยที่ 2 เข้ามาภายในห้องตรวจ โจทก์ขึ้นไปนอนรออยู่บนเตียงแล้ว ไม่มีอาการอื่นใดบ่งชี้ในเวลานั้นที่แสดงให้จำเลยที่ 2 เห็นว่า โจทก์ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ เมื่อจำเลยที่ 2 ทำการตรวจภาพถ่ายไตด้านขวาของโจทก์ไม่ชัดเจน จึงสอบถามโจทก์ว่าสามารถพลิกตะแคงตัวไปด้านซ้ายเพื่อถ่ายภาพใหม่ได้หรือไม่ โจทก์ตอบว่าได้ ดังที่ปรากฎในบันทึกคำให้การของโจทก์ต่อพนักงานสอบสวน หากโจทก์ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ก็น่าจะต้องแจ้งจำเลยที่ 2 เสียตั้งแต่ในขณะนั้น ข้อเท็จจริงได้ความจากบันทึกคำให้การดังกล่าวอีกว่า ขณะเกิดเหตุโจทก์และจำเลยที่ 2 อยู่ภายในห้องเพียงลำพัง ส่วนจำเลยที่ 2 เบิกความว่า ขณะนั้นจำเลยที่ 2 ถือหัวตรวจอัลตราซาวด์ไว้ในมือและต้องเพ่งมองจอภาพเครื่องดังกล่าวซึ่งตั้งอยู่ข้างหัวเตียงด้านขวาของโจทก์ เมื่อโจทก์พลิกตะแคงตัวตามที่จำเลยที่ 2 บอก แม้เตียงมีขนาดกว้างเพียง 60 เซนติเมตร แต่ก็เป็นขนาดมาตรฐานบุคคลทั่วไปในภาวะเช่นจำเลยที่ 2 ย่อมไม่อาจคาดคิดว่าจะเกิดเหตุการณ์ถึงขนาดที่โจทก์จะพลัดตกจากเตียง เพราะการนอนตะแคงตัวใช้พื้นที่ไม่มาก อีกทั้งจำเลยที่ 2 ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรสอบถามโจทก์ก่อนหน้านั้นแล้ว เหตุการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้นจึงเป็นเหตุสุดวิสัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 8 มิใช่การกระทำโดยประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 2

Leave a Reply