คดีทางการแพทย์-ความผิดฐานประกอบโรคศิลปะสาขาเวชกรรมโดยฝ่าฝืนกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 874/2544

คู่ความ
พนักงานอัยการจังหวัดนครศรีธรรมราช – โจทก์
นางสาว นฤมล ขุนบุญจันทร์ กับพวก – จำเลย

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 192
พระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลป พ.ศ.2479 ม. 11, 21

ข้อมูลย่อ
ความผิดฐานประกอบโรคศิลปะสาขาเวชกรรมโดยฝ่าฝืนกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2479 มาตรา 11 มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2511 มาตรา 21 จึงถือว่าความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะพ.ศ. 2479 ในส่วนที่เกี่ยวกับสาขาเวชกรรมถูกยกเลิกแล้วโดยพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2511 การที่โจทก์อ้างกฎหมายที่ถูกยกเลิกแล้วมาขอให้ลงโทษจำเลย มีผลเท่ากับโจทก์ไม่ได้อ้างกฎหมายอันใดมาเลย ไม่ใช่เรื่องอ้างบทกฎหมายผิด ศาลจะพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2479 ไม่ได้

รายละเอียด
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2542 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือจำเลยทั้งสองร่วมกันประกอบโรคศิลปะสาขาเวชกรรม โดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะจากคณะกรรมการควบคุมการประกอบโรคศิลปะ ตามพระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2479 โดยตั้งชื่อร้านว่า “คลีนิคชุมชนการแพทย์”ตั้งอยู่ตึกแถวเลขที่ 25/18-19 ถนนกะโรม ตำบลโพธิ์เสด็จ อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายและจำเลยทั้งสองร่วมกันทำให้นางสาวรัชดา บุญคง หรือนางสาวอัยณีนิสาแล แท้งลูกโดยทำให้ลูกในครรภ์ของนางสาวรัชดาออกมาในลักษณะไม่มีชีวิต โดยนางสาวรัชดาให้ความยินยอมให้จำเลยทั้งสองทำให้แท้งลูกได้เป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยทั้งสองและนางสาวรัชดาได้พร้อมยึดเครื่องมือและอุปกรณ์เคมีภัณฑ์ทางการแพทย์14 รายการ ซึ่งเป็นเครื่องมือเครื่องใช้และอุปกรณ์ที่จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ในการกระทำความผิดเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 33, 83, 91, 302 พระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะพ.ศ. 2479 มาตรา 11, 21 และริบของกลาง

จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 302 วรรคแรก, 83 พระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2479 มาตรา 11(4), 21 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91ฐานประกอบโรคศิลปะโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาต จำคุกคนละ6 เดือน ฐานทำให้หญิงแท้งลูกโดยหญิงนั้นยินยอม จำคุกคนละ 1 ปีรวมจำคุกคนละ 1 ปี 6 เดือน จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุกคนละ 9 เดือน ริบของกลาง

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน

จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่เห็นสมควรวินิจฉัยเสียก่อนว่าศาลจะลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดต่อพระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2479 ได้หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2479มาตรา 11, 21 ข้อหาร่วมกันประกอบโรคศิลปะสาขาเวชกรรมโดยฝ่าฝืนกฎหมาย แต่ขณะจำเลยทั้งสองกระทำผิดพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรมพ.ศ. 2511 ประกาศใช้แล้วซึ่งตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่าบรรดาบทกฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่นในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้แทน ซึ่งมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรมพ.ศ. 2511 บัญญัติว่า ห้ามมิให้ผู้ใดประกอบวิชาชีพเวชกรรมหรือแสดงด้วยวิธีใด ๆ ว่า พร้อมที่จะประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยมิได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมจากคณะกรรมการตามพระราชบัญญัตินี้เว้นแต่ จึงเห็นได้ว่าความผิดข้อหาประกอบโรคศิลปะสาขาเวชกรรมโดยฝ่าฝืนกฎหมายตามพระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2479 มาตรา 11 มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2511 มาตรา 21 จึงถือว่าความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2479 ในส่วนที่เกี่ยวกับเวชกรรมถูกยกเลิกแล้วโดยพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2511 การที่โจทก์อ้างกฎหมายที่ยกเลิกแล้วมาขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองนั้น มีผลเท่ากับโจทก์ไม่ได้อ้างกฎหมายอันใดมาเลยไม่ใช่เรื่องอ้างบทกฎหมายผิดศาลจะพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2479 ไม่ได้ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225”

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ.2479 คงจำคุกจำเลยทั้งสองไว้มีกำหนดคนละ 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8

(สกนธ์ กฤติยาวงศ์-พูนศักดิ์ จงกลนี-ทองหล่อ โฉมงาม)
แหล่งที่มา – เนติบัณฑิตยสภา

Leave a Reply