กุมภาพันธ์ 14, 2024 In ข่าวสารประชาสัมพันธ์

แนวปฏิบัติตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2565

ข่าวสารเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2565 ซึ่งมีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2565 (ข่าวจาก นสพ.ไทยรัฐ)

ปัจจุบันอินเตอร์เน็ตและสื่อโซเชียลมีบทบาทมาก ต่อการดำรงชีวิตของคนไทย เพราะทำให้สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่างๆที่เกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลกได้อย่างรวดเร็ว ไม่ตกเทรนด์ ทำให้การใช้ชีวิตประจำวันง่ายขึ้น สะดวกขึ้น คนส่วนใหญ่จึงแทบจะขาดการเชื่อมต่อ หรือ Disconnect ไม่ได้

แต่โลกออนไลน์ก็เปรียบได้กับดาบสองคม เมื่อมีคนบางกลุ่มฉกฉวยโอกาสใช้เป็นช่องทางในการกระทำความผิดได้โดยสะดวก รวดเร็ว ว่องไว และยากต่อการติดตามผู้กระทำผิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกฎหมายไล่ตามเทคโนโลยีไม่ค่อยจะทัน

ยกตัวอย่าง ความผิดกรณีละเมิดลิขสิทธิ์ ล่าสุด กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) เข้าจับกุม 2 ชายชาวจีนขายพัดลมยี่ห้อ “ฮาตาริ” ปลอมบนแพลตฟอร์มออนไลน์ พร้อมยึดของกลางพัดลม 12,500 ชิ้น มูลค่าความเสียหาย 10 ล้านบาท คาโกดังจัดเก็บสินค้าใน จ.สมุทรสาคร เป็น การเข้ามาเหยียบจมูกปลอมสินค้าไทยเพื่อขายในราชอาณาจักรไทย เกาะกระแสความนิยม “พัดลมฮาตาริ” หลัง จุน วนวิทย์ ผู้ก่อตั้งฮาตาริ บริจาคเงินส่วนตัวจำนวน 900 ล้านบาทให้แก่โรงพยาบาลรามาธิบดีเป็นที่ชื่นชมไปทั่ว

เพื่อไล่ตามการละเมิดลิขสิทธิ์ได้อย่างเข้มข้นขึ้น โดยเฉพาะบนโลกออนไลน์ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ได้แก้ไข พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์เพิ่มเติม เพื่อกระชับพื้นที่ป้องกัน ปราบปรามการละเมิดงานอันมีลิขสิทธิ์ เช่น ภาพยนตร์ เพลง ซีรีส์ทีวี เกม การ์ตูน วรรณกรรม บนเครือข่ายอินเตอร์เน็ต หวัง “หยุด” ความเสียหายได้รวดเร็วขึ้น

รวมถึงปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัย สอดคล้องกับกติกาสากล และพฤติกรรมของผู้ประกอบการและผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป

ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2565 พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2565 มีผลบังคับใช้เรียบร้อยแล้ว “ทีมเศรษฐกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์กรมทรัพย์สินทางปัญญา รวมทั้งเจ้าของสิทธิ์ ถึงที่มาที่ไปของการแก้ไขกฎหมายเพื่อหวังยกระดับการจับกุมสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ที่เข้มข้นขึ้น ดังต่อไปนี้

หยุดความเสียหายได้รวดเร็วขึ้น

“น.ส.จิตติมา ศรีถาพร” รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เล่าถึงสาเหตุที่ต้องปรับปรุง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ว่ากฎหมายเดิม เมื่อพบการละเมิดงานลิขสิทธิ์ทั้งของไทยและต่างประเทศบนอินเตอร์เน็ตหรือสื่อสังคมออนไลน์ เจ้าของสิทธิ์ต้องร้องขอต่อศาล เพื่อให้ศาลสั่งให้แพลตฟอร์มที่พบการละเมิด นำงานลิขสิทธิ์ที่ถูกละเมิดออกจากระบบ ส่วนการดำเนินคดีกับผู้ละเมิด ก็ต้องดำเนินการภายในเวลาที่ศาลกำหนด ซึ่งมีความยุ่งยาก ไม่สามารถแก้ปัญหาหรือหยุดความเสียหายของเจ้าของสิทธิ์ ได้อย่างทันท่วงที

แต่หลังกฎหมายฉบับใหม่บังคับใช้ เมื่อพบการละเมิด เจ้าของสิทธิ์สามารถใช้กระบวนการที่เรียกว่า Notice and Takedown (การแจ้งและนำออก) โดยแจ้งแพลตฟอร์มที่พบการละเมิด ให้นำงานลิขสิทธิ์ออกจากระบบได้โดยไม่ชักช้า ไม่ต้องผ่านกระบวนการศาล ช่วยให้ระงับการละเมิดได้ทันท่วงที เช่นเดียวกับหลายประเทศที่มีข้อกำหนดเช่นนี้ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ สิงคโปร์ ออสเตรเลีย

“และหากผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม ให้ความร่วมมือนำงานละเมิดออกจากระบบทันที หลังพิสูจน์แล้วว่าคนแจ้งเป็นเจ้าของสิทธิ์จริง ก็จะได้รับการยกเว้นความผิดจากการละเมิดลิขสิทธิ์บนแพลตฟอร์มของตนเอง (safe harbor) และป้องกันการกลั่นแกล้ง หรือการฟ้องร้องกันในภายหลัง”

นอกจากนี้ยังเป็นการดำเนินการเพื่อให้ไทยเข้าเป็นภาคี “สนธิสัญญาว่าด้วยลิขสิทธิ์ขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก” (WIPO Copyright Treaty : WCT) ที่ให้ความสำคัญกับการยกระดับการคุ้มครองงานอันมีลิขสิทธิ์ในยุคดิจิทัล ที่ผู้คนเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้จากทั่วทุกมุมโลก รวมถึงเป็นการปฏิบัติตามพันธกรณีของความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่กำหนดให้สมาชิกต้องเข้าเป็นภาคี WCT ด้วย

“สรุปง่าย ๆ กฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับใหม่ได้ปรับให้เป็น การอาศัยความร่วมมือระหว่างเจ้าของลิขสิทธิ์กับผู้ให้บริการสื่อออนไลน์ โดยให้ผู้ให้บริการ เช่น Facebook, YouTube นำงานละเมิดลิขสิทธิ์ออกจากระบบโดยไม่ชักช้า เมื่อได้รับการแจ้งจากเจ้าของลิขสิทธิ์ โดยไม่ผ่านกระบวนการทางศาล และผู้ให้บริการที่ให้ความร่วมมือจะได้รับการยกเว้นความรับผิด”

แต่ถ้าเป็นเว็บไซต์เถื่อนที่ละเมิดงานลิขสิทธิ์ จะใช้การปิดเว็บไซต์ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) โดยเจ้าของสิทธิ์แจ้งมาที่กรม จากนั้นกรมจะทำคำร้องผ่านไปยังดีอีเอส เพื่อให้ศาลมีคำสั่งปิดกั้นเว็บหรือยูอาร์แอล (URL)

Source: https://www.thairath.co.th/money/economics/analysis/2484476

และข่าวที่เกี่ยวข้องจาก นสพ.ไทยโพสต์

24 ส.ค. 2565 – นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฉบับใหม่ ได้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 ส.ค.2565 เป็นต้นไป มีสาระสำคัญ คือ สามารถถอดงานละเมิดลิขสิทธิ์ออกจากแพลตฟอร์มออนไลน์ได้ทันที โดยเจ้าของแพลตฟอร์ม เช่น Facebook YouTube สามารถถอดงานละเมิดลิขสิทธิ์ออกจากระบบ เมื่อได้รับการแจ้งจากเจ้าของลิขสิทธิ์ โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการทางศาล มีการขยายอายุความคุ้มครองภาพถ่ายไปตลอดชีวิตผู้สร้างสรรค์และต่อเนื่องไปอีก 50 ปีหลังจากเสียชีวิต ทำให้ศิลปินผู้สร้างสรรค์ชาวไทยรวมถึงทายาทได้รับประโยชน์ และได้เพิ่มบทลงโทษผู้ผลิต ผู้ขายอุปกรณ์ที่ใช้เพื่อละเมิดลิขสิทธิ์

“การปรับปรุงกฎหมายลิขสิทธิ์ดังกล่าว จะช่วยยกระดับการคุ้มครองงานลิขสิทธิ์บนสื่อออนไลน์ เพราะสามารถแก้ไขปัญหาได้ทันทีที่พบการละเมิด มีการขยายอายุการคุ้มครองภาพถ่าย และสอดคล้องกับหลักสากลและรองรับการเข้าเป็นภาคีความตกลงสนธิสัญญาว่าด้วยลิขสิทธิ์ขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WCT) ซึ่งไทยได้ยื่นภาคยานุวัติสารต่อองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลกเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาดังกล่าวแล้ว โดยจะมีผลให้ประเทศไทยได้เป็นสมาชิกลำดับที่ 113 ตั้งแต่วันที่ 13 ต.ค.2565 เป็นต้นไป รวมทั้งเข้มงวดในการจัดการกับผู้ผลิต ผู้ขายอุปกรณ์ที่ใช้ในการละเมิด ถือเป็นการยกระดับการคุ้มครองลิขสิทธิ์ให้เท่าทันการค้ายุคดิจิทัล ยกระดับการคุ้มครองงานลิขสิทธิ์บนสื่อออนไลน์ ตลอดจนสนับสนุนนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐบาล ที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นผู้ประกอบการและนักลงทุน”นายสินิตย์กล่าว

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า กรมฯ ขอขอบคุณหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ตลอดจนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ที่เล็งเห็นความสำคัญและร่วมผลักดัน พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ฉบับนี้ให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี โดยเชื่อมั่นว่ากฎหมายดังกล่าวจะช่วยยกระดับการคุ้มครองงานลิขสิทธิ์ไทยให้ตอบโจทย์ความต้องการของภาคธุรกิจในยุคดิจิทัล รวมทั้งส่งเสริมการสร้างสรรค์ผลงานลิขสิทธิ์ของศิลปินไทย ขับเคลื่อนนโยบายซอฟต์พาวเวอร์อย่างเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ กรมฯ จะเดินหน้าสร้างความตระหนักรู้ โดยจัดให้มีการสัมมนาและเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฉบับใหม่ และประกาศกระทรวงพาณิชย์ที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยศิลปินผู้สร้างสรรค์หรือประชาชนทั่วไป มีข้อสงสัยเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ฉบับใหม่ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กองกฎหมาย กรมทรัพย์สินทางปัญญา โทร. 02-5475191

Source: https://www.thaipost.net/economy-news/206641/

Leave a Reply