section119-5

กฎหมายคุ้มครองแรงงาน-การไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างตามมาตรา 119 (5)
-
           *การไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย (พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 (5))
 -
           มาตรา 119 นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใด
 ดังต่อไปนี้
           ..........................................................................................................
           (5) ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตามโดยไม่มี
 เหตุอันสมควร
 -
 กรณีศึกษาจากคำพิพากษาศาลฎีกา
 -
 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15918/2553
           เมื่อโจทก์ทั้งสามละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร จำเลยย่อม
 เลิกจ้างโจทก์ทั้งสามได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (5)
 ไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามมาตรา 17 ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 583 และถือว่า
 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามโดยมีเหตุอันสมควร จึงไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยไม่ต้องจ่ายค่า
 เสียหายแก่โจทก์ทั้งสาม ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49
 -
 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3198/2551
           การที่จำเลยที่ 1 มีคำสั่งให้โจทก์ทั้งแปดสิบสอง ซึ่งเป็นลูกจ้างทำงานอยู่ที่
 จังหวัดปราจีนบุรีไปทำงานที่โรงพยาบาลเปาโล จังหวัดสมุทรปราการ มาจากเหตุที่
 จำเลยที่ 1 หมดสัญญาอนุญาตให้บริการขายอาหารระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2
 ซึ่งจำเลยที่ 1 ก็ได้เสนอให้โจทก์ทั้งแปดสิบสองเลือกไปทำงานในสาขาอื่นของจำเลยที่ 1
 ที่มีอยู่ในจังหวัดสมุทรปราการและกรุงเทพมหานคร โดยจะให้เงินช่วยเหลือเป็นค่า
 เช่าบ้านเดือนละ 1,000 บาท เมื่อโจทก์ทั้งแปดสิบสองไม่เลือกและไม่แสดงความจำนง
 ให้จำเลยที่ 1 ทราบ จำเลยที่ 1 จึงมีความจำเป็นต้องส่งให้โจทก์ทั้งแปดสิบสองไป
 ทำงานที่โรงพยาบาลเปาโล จังหวัดสมุทรปราการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าเดิม เมื่อโจทก์
 ทั้งแปดสิบสองมีหนังสือแจ้งจำเลยที่ 1 ว่าไม่ประสงค์จะไปปฏิบัติงานหน่วยงาน
 แห่งอื่นของจำเลยที่ 1 และไม่ไปปฏิบัติหน้าที่ตามวันเวลาที่จำเลยที่ 1 กำหนด จึง
 เป็นการละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรตาม พ.ร.บ.
 คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 119 (5) และเป็นการละทิ้งการงานไปซึ่งจำเลยที่ 1 จะไล่ออก
 โดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือให้สินไหมทดแทนได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 583
 และการเลิกจ้างด้วยเหตุดังกล่าวเป็นกรณีมีเหตุจำเป็นและสมควร จึงมิใช่การ
 เลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ
 มาตรา 49 จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ทั้งแปดสิบสองได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย สินจ้าง
 แทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
 -
 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4105/2550
           ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยบทที่ 7 ระเบียบวินัย โทษทาง
 วินัย และการทำงานอย่างมีระเบียบข้อ 47 ระบุว่าจำเลยมีสิทธิโอนย้ายลูกจ้าง
 จากหน่วยงานหนึ่งไปยังอีกหน่วยงานหนึ่งของจำเลยได้โดยไม่มีข้อความระบุว่า
 จำเลยต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างในการย้ายก่อน ดังนั้น การที่จำเลย
 มีคำสั่งย้ายโจทก์ทั้งสี่ที่ทำงานอยู่ที่หน่วยงานของจำเลยในจังหวัดเชียงใหม่
 ไปที่งานที่หน่วยงานของจำเลยในจังหวัดอื่น ๆ จึงเป็นการย้ายโดยจำเลยมีสิทธิ
 กระทำได้ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานบทที่ 7 ข้อ 47 แม้การย้ายสถานที่
 ทำงานจะมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวันในครอบครัวของผู้ถูกย้ายก็ถือเป็น
 เรื่องธรรมดา แต่ตำแหน่งใหม่ที่จำเลยสั่งย้ายโจทก์ทั้งสี่ไปทำงานและค่าจ้างที่ได้รับ
 ก็ไม่ต่ำกว่าตำแหน่งเดิม เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยมีการกระทำอื่นที่เป็นการกลั่นแกล้ง
 ย้ายโจทก์ทั้งสี่ คำสั่งย้ายของจำเลยจึงชอบด้วยข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานดังกล่าว
 และชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ทั้งสี่จึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติงานในหน้าที่ ณ หน่วยงาน
 ตามคำสั่งย้าย เมื่อโจทก์ทั้งสี่ไม่ไปปฏิบัติงานในหน้าที่ ณ หน่วยงานตามคำสั่งย้าย
 จึงเป็นการละทิ้งหน้าที่ในตำแหน่งใหม่โดยไม่มีเหตุอันสมควร แม้โจทก์ทั้งสี่จะยังคง
 ปฏิบัติงานตามหน้าที่เดิมที่จังหวัดเชียงใหม่ก็เป็นการละทิ้งหน้าที่ จำเลยให้โจทก์ทั้งสี่
 ไปปฏิบัติงานในหน้าที่ใหม่ในวันที่ 18 เมษายน 2548 แต่โจทก์ทั้งสี่ไม่ไปปฏิบัติ
 งานจนถึงวันที่ 20 เมษายน 2548 จึงเป็นการละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วันทำงาน
 ติดต่อกัน จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสี่ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ. คุ้มครอง
 แรงงานฯ มาตรา 119 (5)
 -
 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 39/2545
           โจทก์ทำหน้าที่เป็นพนักงานขับรถของจำเลยที่ 1 ซึ่งประจำอยู่สำนัก
 งานใหญ่ในกรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 1 สามารถย้ายโจทก์ไปปฏิบัติงานในโครงการ
 ก่อสร้างจังหวัดใกล้เคียงได้ ดังนั้น คำสั่งของจำเลยที่ 1 ที่ให้โจทก์ไปทำงานใน
 โครงการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำ จังหวัดนนทบุรี จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
 การที่โจทก์ไม่ยอมไปทำงานที่โครงการดังกล่าวแม้จะยังคงไปทำงานที่สำนักงานใหญ่
 ทุกวัน ย่อมเป็นการละทิ้งหน้าที่สามวันติดต่อกันโดยไม่มีเหตุสมควร จำเลยที่
 1 เลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฯ
 มาตรา 119 (5)
 -
           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2799/2526
           โจทก์ถูกนายศิริวัฒน์ผู้จัดการฝ่ายขายของบริษัทจำเลยดูหมิ่นว่า โจทก์ได้เสียมีความ
 สัมพันธ์กับชายอื่นซึ่งมีภริยาแล้ว ทำให้โจทก์อับอายโจทก์จึงละทิ้งหน้าที่ไม่มาทำงานเกินสามวัน
 เป็นเหตุให้จำเลยเลิกจ้าง นายศิริวัฒน์จะมีฐานะเป็นนายจ้างหรือไม่ ไม่เป็นข้อสำคัญที่จำเป็นต้อง
 วินิจฉัย พฤติการณ์ที่นายศิริวัฒน์พูดเกี่ยวกับโจทก์นั้น หากเป็นจริง ก็เป็นเรื่องส่วนตัว ถ้าโจทก์ถือว่า
 เป็นการหมิ่นประมาททางอาญาหรือละเมิดทางแพ่ง โจทก์ก็อาจใช้สิทธิทางศาลดำเนินคดีต่อผู้
 กระทำผิดได้ เหตุดังกล่าวเกิดเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2526 ไม่มีเหตุอันสมควรใดๆ ที่โจทก์จะอ้างเป็น
 เหตุละทิ้งหน้าที่การงานไปตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันที่ 13 เดือนเดียวกัน และกรณีก็ไม่จำต้องวินิจฉัยล่วง
 เลยไปถึงว่า การที่นายศิริวัฒน์พูดเช่นนั้นเป็นการกลั่นแกล้งโจทก์หรือไม่ เพราะมิใช่เรื่องกีดกันมิให้
 ลูกจ้างทำงานติดต่อกันเกินเจ็ดวันทำงาน โดยที่ลูกจ้างมิได้กระทำความผิด จึงถือได้ว่าโจทก์ละทิ้ง
 หน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควร จําเลยเลิกจ้างโจทก์ ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการ
 บอกกล่าวล่วงหน้า
 -
           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1110/2527
           การจ้างแรงงานคือสัญญาซึ่งลูกจ้างตกลงจะทำงานให้แก่นายจ้าง และนายจ้างตกลงจะ
 ให้สินจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้ หน้าที่สำคัญของลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานคือต้องทำงานให้แก่
 นายจ้าง การลงเวลาทำงานไม่ใช่สาระสำคัญของการจ้างแรงงาน เพราะเป็นเพียงพยานหลักฐานเบื้อง
 ต้นที่แสดงว่าลูกจ้างจะเข้าทำงานให้แก่นายจ้างในวันนั้นเท่านั้น การที่โจทก์มาเซ็นชื่อในสมุดลง
 เวลามาทำงานของจำเลยในวันที่ 24 สิงหาคม 2526 แล้วกลับไปโดยมิได้ปฏิบัติงานใด ๆ ให้แก่นาย
 จ้าง จึงถือว่าโจทก์ขาดงานในวันนั้นโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร เมื่อโจทก์ขาดงานในวันที่ 23และ 24
 สิงหาคม 2526 โดยมิได้ลาตามระเบียบและไม่ปรากฏเหตุจำเป็น จึงเป็นการละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา
 สามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรกรณีต้องด้วยประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การ
 คุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(4)จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
 -

Leave a Reply