section119-4

กฎหมายคุ้มครองแรงงาน-การไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างตามมาตรา 119 (4)
-
           *การไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย (พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 (4))
 -
           มาตรา 119 นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใด
 ดังต่อไปนี้
           ".........................
           (4) ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมาย
 และเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรง นายจ้างไม่จำเป็นต้อง
 ตักเตือน
           หนังสือเตือนให้มีผลบังคับได้ไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ลูกจ้างได้กระทำผิด
 -
 -
 กรณีศึกษาจากคำพิพากษาศาลฎีกา
 -
 กรณีถือว่าเป็นการเลิกจ้างโดยชอบ
 -
 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14433/2557
           โจทก์ซึ่งมีสถานะเป็นผู้บังคับบัญชามีหน้าที่รับผิดชอบ
 โดยตรงเกี่ยวกับการจัดเก็บเศษเหล็ก โจทก์ย่อมต้องปกปักรักษาทรัพย์
 สินและผลประโยชน์ของจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างเป็นสำคัญ การที่จำเลย
 ได้แจ้งความดำเนินคดีกับ ว. ผู้ใต้บังคับบัญชาของโจทก์และพวก ก็
 เนื่องจากจำเลยพบว่ามีการขนย้ายเศษเหล็กออกนอกเส้นทางโดยไม่มี
 การบันทึกเวลาเข้าออก การที่โจทก์นำเอกสารเกี่ยวกับหนังสือโต้ตอบ
 เกี่ยวกับการจัดการเศษซากเพื่อปรับภูมิทัศน์ รายงานการประชุมเพื่อ
 กำหนดแนวทางแก้ไขและป้องกันปัญหาเศษซาก ภาพถ่ายเกี่ยวกับ
 การจัดการเศษซากและสถานที่การจัดเก็บเศษซาก รายงานการ
 จัดการเศษซากและการขนย้ายเศษซาก ซึ่งจำเลยถือว่าเป็นเอกสาร
 ภายในและเป็นความลับของจำเลยไปเก็บไว้ที่บ้านของโจทก์และนำ
 ไปให้แก่ ว. โดยมิได้รับอนุญาตจากจำเลย แม้เป็นการนำไปเพื่อให้ ว.
 ต่อสู้คดีแต่ในการต่อสู้คดี ว. กับพวกสามารถขอให้ศาลหมายเรียก
 เอกสารดังกล่าวเข้ามาได้โดยไม่จำต้องให้โจทก์ลักลอบนำออกไป การ
 ที่โจทก์ลักลอบนำเอกสารซึ่งเป็นเอกสารสำคัญออกไป จึงเป็นการ
 ฝ่าฝืนวินัยการทำงานตามระเบียบข้อบังคับของจำเลย เป็นกรณี
 ร้ายแรง จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่จำต้องจ่ายค่าชดเชยและ
 ไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.
 2541 มาตรา 17 วรรคหนึ่ง 119 (4) ประกอบประมวลกฎหมาย
 แพ่งและพาณิชย์มาตรา 583 ทั้งเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุอันสมควร
 ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
 -
 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1374/2557
           จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องมาจากโจทก์หยิบโทรศัพท์เคลื่อนที่
 ของลูกค้าที่ธนาคาร ท. ซึ่งอยู่ที่ชั้นล่างของอาคารจำเลยไปโดยไม่ได้
 แจ้งให้ธนาคารดังกล่าวทราบและปิดโทรศัพท์เคลื่อนที่เพื่อป้องกันการ
 ติดตามของเจ้าของ รวมทั้งพยายามบอกขายโทรศัพท์เคลื่อนที่แก่ผู้อื่น
 ถือว่าโจทก์มีเจตนาเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยทุจริตอันเป็นความผิด
 ฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา เป็นการประพฤติชั่วอย่าง
 ร้ายแรง แม้เป็นการกระทำต่อผู้อื่นที่มิใช่ลูกค้าหรือผู้มาติดต่องานกับ
 จำเลยและมิได้เกิดในสถานที่ทำงาน แต่ก็ยังคงเป็นความผิดอาญา หา
 เป็นเหตุให้โจทก์หลุดพ้นจากการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงไม่ อีกทั้ง
 การประพฤติชั่วนั้นมิได้หมายถึงเฉพาะความประพฤติในขณะปฏิบัติ
 หน้าที่เท่านั้น ย่อมหมายความรวมถึงความประพฤติที่พึงต้องปฏิบัติ
 โดยทั่วไปด้วย การกระทำของโจทก์เป็นการไม่รักษาเกียรติยศชื่อเสียง
 ของจำเลยตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการว่าจ้างและการทำงาน
 บทที่ 6 วินัยและการลงโทษทางวินัยข้อ 5 เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับ
 เกี่ยวกับการทำงานอย่างร้ายแรงที่เลิกจ้างโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมาย
 และ เป็นธรรม แล้ว
 -
 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 978/2556
           การพักงานที่เป็นโทษทางวินัยตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของ
 จำเลยต้องเป็นการพักงานโดยไม่จ่ายค่าจ้าง การที่จำเลยพักงานโจทก์ 7 วัน และหัก
 ค่าจ้างโจทก์ไว้ร้อยละ 50 โดยให้เหตุผลว่าเพื่อรอการสอบสวนหาข้อเท็จจริงการ
 กระทำผิดของโจทก์จึงไม่ใช่การลงโทษทางวินัย
           ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานระบุว่าพนักงานต้องไม่ทำการทะเลาะวิวาท
 หรือใช้กำลังประทุษร้ายซึ่งกันและกันในบริเวณบริษัท เมื่อข้อเท็จจริงยุติว่าโจทก์ทำ
 ร้ายร่างกาย พ. ผู้บังคับบัญชาของโจทก์ในขณะปฏิบัติงานตามหน้าที่โดยชกที่ใบหน้า
 ปาก และศีรษะ แสดงว่าโจทก์ไม่มีความยำเกรงต่อผู้บังคับบัญชา ไม่เกรงกลัวต่อ
 กฎหมายหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำ
 งานกรณีร้ายแรง
 -
 -
 กรณีถือว่าเป็นการเลิกจ้างโดยไม่ชอบ
 -
 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 868/2548
           จำเลยย้ายโจทก์จากตำแหน่งเลขานุการประจำสำนักงานใหญ่ฝ่ายจัดซื้อ
 รัชดาภิเษก ไปดำรงตำแหน่งพนักงานทั่วไปประจำแผนกผักและผลไม้ของจำเลย
 สาขาสุขาภิบาล 1 แล้วโจทก์ไม่ยอมย้ายไปทำงานในตำแหน่งดังกล่าว จำเลยจึงมี
 หนังสือเตือนให้โจทก์ไปปฏิบัติงานตามตำแหน่งใหม่ แต่โจทก์ก็ไม่ยอมไปทำงาน
 ในตำแหน่งใหม่ตามหนังสือเตือน จำเลยจึงมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์ตามเอกสารหมาย
 จล.4 ลงวันที่ 24 ธันวาคม 2545 อ้างว่า โจทก์จงใจขัดคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมาย
 และเป็นธรรมของจำเลยอันเป็นการกระทำผิดซ้ำหนังสือเตือน เห็นว่า แม้นายจ้าง
 จะมีอำนาจบริหารในการโยกย้ายตำแหน่งงานของลูกจ้าง เพื่อให้เหมาะสมแก่งาน
 เพื่อให้การทำงานของลูกจ้างมีประสิทธิภาพ ซึ่งมิใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง
 ก็ตาม แต่การย้ายนั้นต้องไม่เป็นการลดตำแหน่งหรือค่าจ้างของลูกจ้าง อีกทั้งไม่เป็น
 การกลั่นแกล้งลูกจ้างด้วย การที่จำเลยย้ายโจทก์ในตำแหน่งเลขานุการประจำสำนัก
 งานใหญ่ฝ่ายจัดซื้อ ซึ่งทำงานธุรการในฝ่ายจัดซื้อไปดำรงตำแหน่งพนักงานทั่วไป
 ประจำแผนกผักและผลไม้ สาขาสุขาภิบาล 1 ของจำเลยซึ่งทำหน้าที่จัดเตรียมสินค้า
 และชั่งผลไม้ รวมทั้งทำความสะอาดในบริเวณสถานที่ซึ่งมีลักษณะงานที่ด้อยกว่าเดิม
 อีกทั้งเป็นการย้ายโจทก์จากตำแหน่งเลขานุการ ซึ่งเป็นพนักงานระดับ 4 ไปเป็น
 พนักงานทั่วไปประจำแผนกผักและผลไม้ ซึ่งหัวหน้าแผนกดังกล่าวเป็นพนักงานระดับ 3
 จึงเป็นการย้ายที่ลดตำแหน่งของโจทก์ลง แม้จะจ่ายค่าจ้างเท่าเดิม ก็เป็นคำสั่งย้ายที่ไม่ชอบ
 ด้วยกฎหมายและไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ การที่โจทก์ปฏิเสธไม่ยอมไปทำงานในตำหน่งใหม่
 ที่ต่ำกว่าเดิมนั้น มิใช่เป็นการฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมของนายจ้าง
 จำเลยไม่อาจออกหนังสือเตือนในการกระทำของโจทก์ดังกล่าวได้ การที่โจทก์ปฏิเสธ
 ไม่ยอมไปทำงานในตำแหน่งใหม่จึงมิใช่เป็นการกระทำผิดซ้ำหนังสือเตือนตามพระราช
 บัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4) เมื่อโจทก์ทำงานกับจำเลยครบ 1 ปี
 แต่ยังไม่ครบ 3 ปี จำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุดังกล่าวโดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า
 จึงต้องจ่ายค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายจำนวน 90 วัน เป็นเงิน 47,700 บาท ตาม
 มาตรา 118 (2) และต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามมาตรา 17 วรรคสอง
 และวรรคสี่ ประกอบประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 และการที่จำเลย
 เลิกจ้างโจทก์โดยที่โจทก์มิได้ฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมของนายจ้าง
 จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่มีเหตุอันสมควร ถือเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมต้องจ่ายค่าเสียหาย
 ให้แก่โจทก์ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าว
 ล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมให้แก่โจทก์นั้นชอบแล้ว
           - ข้อสังเกต ในกรณีนี้ศาลเห็นว่า เป็นการออกหนังสือเตือนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
  เมื่อนายจ้างเลิกจ้างจึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่มีเหตุอันสมควร ถือเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
 ต้องจ่ายค่าเสียหายให้แก่ลูกจ้าง
 -
 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9774/2558
           เหตุที่โจทก์ยกขึ้นเป็นข้อเลิกจ้าง ข. ลูกจ้างเพราะกระทำผิดซ้ำคำเตือน
 ในข้อขัดคำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่ได้เตือนเป็นหนังสือแล้ว การเตือนใน
 ครั้งแรกตามหนังสือเตือน ลงวันที่ 8 มิถุนายน 2553 เป็นการเตือน
 เนื่องจาก ข. ขัดคำสั่งและโต้เถียงผู้บังคับบัญชาระดับสูงอันเป็นผลมาจาก
 การที่ ข. ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมในฐานดื่มสุราขณะขับขี่ยานพาหนะ
 และไม่สามารถมาปฏิบัติงานได้ แต่ในการกระทำผิดครั้งหลังเมื่อวันที่ 13
 กรกฎาคม 2553 เป็นเรื่อง ข. ไม่ไปตรวจสอบสถานที่ตามคำสั่งของ
 ผู้บังคับบัญชาแล้วทำรายงานเท็จเสนอต่อโจทก์ว่าตรวจสอบแล้ว ซึ่งเป็น
 คนละกรณีกันไม่ถือว่าเป็นการกระทำผิดซ้ำคำเตือน อันจะมีผลให้นายจ้าง
 ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 (4)
 -

Leave a Reply