กันยายน 7, 2020 In อธิบายกฏหมาย

อธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์-โมฆะกรรมและโมฆียกรรม

อธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์-โมฆะกรรมและโมฆียกรรม
-
 *โมฆะกรรม
 *มาตรา 172
           โมฆะกรรมนั้นไม่อาจให้สัตยาบันแก่กันได้ และผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะยกความ
 เสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมขึ้นกล่าวอ้างก็ได้
           ถ้าจะต้องคืนทรัพย์สินอันเกิดจากโมฆะกรรม ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้แห่ง
 ประมวลกฎหมายนี้มาใช้บังคับ
 
           อธิบาย
           -โมฆะกรรมเป็นเรื่องของผลของการทำนิติกรรมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งกฎหมายบัญญัติไว้
 ให้นิติกรรมนั้นมีผลเป็นโมฆะ เช่น นิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย หรือ
 นิติกรรมที่มิได้ทำตามแบบ เป็นต้น
 
           -นิติกรรมใดเป็นโมฆะ นิติกรรมนั้นย่อมเสียเปล่า ไม่มีผลตามกฎหมายที่จะเรียกร้องให้บังคับกัน
 ได้ตามนิติกรรมนั้น
 
           -โมฆะกรรม มีสาเหตุจาก 6 ประการ คือ
 
           1.เพราะนั้นมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัด
 ต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตามมาตรา 150
 
           ฎีกาที่ 701/2553
           จำเลยที่ 1 และที่ 2 สมคบกันทำสัญญากู้ยืมเงินฉบับลงวันที่ 30 กันยายน 2541 จำนวนเงิน 500,000 บาท
 และฉบับลงวันที่ 30 เมษายน 2542 จำนวนเงิน 200,000 บาท โดยมิได้เป็นหนี้กันจริง แล้วดำเนินคดีและบังคับคดี
 ตามคำพิพากษาตามยอมในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 42/2545 ของศาลชั้นต้นต่อที่ดินโฉนดเลขที่ 47781 พร้อม
 สิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 1 เพื่อมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1142/2544 ของ
 ศาลชั้นต้น บังคับคดีต่อทรัพย์สินดังกล่าวได้ การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการจงใจทำผิดกฎหมาย อันเป็น
 ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350 สัญญากู้ยืมเงินทั้ง 2 ฉบับและสัญญาประนีประนอมยอมความ
 ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 42/2545 ของศาลชั้นต้น จึงมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายและ
 ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ.มาตรา 150 โดยไม่ต้องเพิกถอน
 
           2.เพราะมิได้ทำตามแบบที่กฎหมายบังคับไว้ตามมาตรา 152
 
           ฎีกาที่ 6190/2550
           บทบัญญัติตามมาตรา 68 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ ศ. 2534 กำหนดให้
 สัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อนายทะเบียนสัญญาอนุญาตให้ใช้
 เครื่องหมายการค้าระหว่าง ก. กับโจทก์ที่ยังมิได้จดทะเบียน ย่อมตกเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
 มาตรา 152 โจทก์จึงไม่มีสิทธิตามสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าและไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยว่าละเมิดสิทธิ
 ในเครื่องหมายการค้านั้น
 
           3.เพราะการแสดงเจตนาวิปริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 154 ถึง 156 คือ เกิดจากการะแสดงเจตนาซ่อนเร้น
 เจตนาลวง เจตนาอำพราง การแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม
 
           4.เพราะขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมายตาม มาตรา 187 ถึง 190 คือเงื่อนไขที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นต้น
 
           5.เพราะขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมายตามมาตรา 151
 
           ฎีกาที่ 8211/2547
           พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 10 วรรคสอง บัญญัติว่า "ในกรณีที่นายจ้างเรียก
 หรือรับเงินประกันหรือทำสัญญาประกันกับลูกจ้างเพื่อชดใช้ความเสยหายที่งกจ้างเป็นผู้กระทำ เมื่อนายจ้างเลิกจ้าง
 หรืองกจ้างลาออก หรือสัญญาประกันสิ้นอายุ ให้นายจ้างคืนเงินประกันพร้อมดอกเบี้ย (ถ้ามี) ให้แก่ลูกจ้างภายใน
 เจ็ดวันนับแต่วันที่นายจ้างเลิกจ้าง หรือวันที่งกจ้างลาออก หรือวันที่สัญญาประกันสิ้นอายุ แล้วแต่กรณี" ดังนี้
 ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับ ส. ที่ว่า หาก ส. ลาออกจากงานก่อน 24 เดือนส.ขอสละสิทธิไม่รับเงินประกัน แม้จะ
 ตกลงกันก่อนที่โจทก์จะจ้าง ส.แต่ก็เป็นข้อตกลงที่แตกต่างจากบทบัญญัติข้างต้นซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความ
 สงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงตกเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 151
 
           6.นิติกรรมที่เป็นโมฆียะแล้วถูกบอกล้างโดยชอบตามมาตรา 176
 
           -*ผลของโมฆะกรรม คือ
 
           1. บุคคลผู้มีส่วนได้เสียสามารถยกขึ้นกล่าวอ้างได้ และผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะยกความเสียเปล่า
 แห่งโมฆะกรรมขึ้นกล่าวอ้างได้ ถ้าจะต้องคืนทรัพย์สินอันเกิดจากโมฆะกรรม ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้
 มาใช้บังคับ
 
           *บุคคลผู้มีส่วนได้เสีย หมายถึง ผู้ที่จะได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์จากนิติกรรมนั้น
 
           - บุคคลผู้มีส่วนได้เสียทุกคนสามารถยกเอาความเสียเปล่าขึ้นมากล่าวอ้างได้ โดยไม่จำกัดเฉพาะคู่กรณี
 ในการทำนิติกรรมเท่านั้น ฉะนั้นบุคคลผู้มีส่วนได้เสีย จึงหมายความรวมถึงบุคคลที่จะได้รับประโยชน์หรือ
 เสียประโยชน์ ถ้านิติกรรมนั้นเป็นผลหรือไม่เป็นผลหรือกลับกัน ดังนั้น ผู้มีส่วนได้เสียจึงอาจรวมถึงผู้สืบสิทธิ
 เจ้าหนี้ ลูกหนี้ หรือผู้ค้ำประกันของคู่กรณีด้วย
 
           -ฎีกา 3072/2536 คำว่า "ผู้มีส่วนได้เสีย" ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา133 เดิม
 (มาตรา172ใหม่) หมายถึง ผู้ที่จะได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์หากนิติกรรมที่กล่าวอ้างว่าเป็นโมฆะเป็นผล
 หรือไม่เป็นหรือกลับกันเมื่อโจทก์ทั้งสี่ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาทโดยอ้างว่าบิดาโจทก์ทั้งสี่ซื้อที่ดินพิพาท
 มาจาก ส.ผู้ล้มละลายต่อมาบิดาโจทก์ทั้งสี่ถึงแก่กรรมที่ดินพิพาทเป็นมรดกตกทอดแก่โจทก์ทั้งสี่และจำเลยให้การ
 ต่อสู้ว่าบิดาโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทจากส.ขณะที่ส.เป็นบุคคลล้มละลายนิติกรรมซื้อขายเป็นโมฆะโจทก์ทั้งสี่ไม่มีอำนาจ
 ฟ้องจำเลยดังนี้จำเลยจึงเป็นผู้ที่จะได้ประโยชน์จากที่นิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่าง ส.กับบิดาโจทก์ทั้งสี่
 เป็นโมฆะจำเลยจึงชอบที่จะยกความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมขึ้นอ้างได้
 
           -กำหนดเวลาการกล่าวอ้างความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรม กฎหมายไม่ได้กำหนดว่าจะต้องกล่าวอ้าง
 ขึ้นเมื่อใด ฉะนั้น บุคคลผู้มีส่วนได้เสีย จึงสามารถยกขึ้นมากล่าวอ้างได้เสมอโดยไม่จำกัดเวลา ถ้าหากว่าโมฆะกรรม
 นั้นยังไม่มีการปฏิบัติหรือรับปฏิบัติชำระหนี้ไปตามนิติกรรม
 
           2.โมฆะกรรมไม่อาจให้สัตยาบันได้
 
           -*สัตยาบัน หมายถึง การยืนยันหรือการรับรอง
 
           -โดยทั่วไปการให้สัตยาบันจะทำแต่เฉพาะนิติกรรมที่เป็นโมฆียะกรรม คือ ผู้แสดงเจตนาทำนิติกรรม
 ที่เป็นโมฆียกรรมนั้น ยืนยันหรือรับรองให้นิติกรรมที่เป็นโมฆียกรรมนั้นเป็นนิติกรรมที่สมบูรณ์ ทำให้ไม่อาจบอกล้างได้
 แต่มาตรา 172 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่าโมฆะกรรมไม่อาจให้สัตยาบันแก่กันได้ ฉะนั้น โมฆะกรรมจึงไม่อาจมีการให้
 สัตยาบันได้เพราะไม่สามารถทำให้นิติกรรมที่เป็นโมฆะไปแล้วกลับคืนมาเป็นสิ่งสมบูรณ์ได้และไม่ทำให้เกิดผล
 ในทางกฎหมายแต่อย่างใด
 
           -3.*การคืนทรัพย์สินอันเกิดจากโมฆะกรรม
 
           โมฆะกรรมเป็นการทำนิติกรรมที่เสียเปล่า ไม่ก่อให้เกิดผลทางกฎหมาย คู่กรณีจึงยังคงอยู่ในฐานะเดิม
 เหมือนมิได้มีการทำนิติกรรมกันเลย ดังนั้น การชำระหนี้หรือการปฏิบัติตามโมฆะกรรมจึงเป็นการกระทำโดยปราศจาก
 มูลอันจะอ้างกฎหมายได้ บุคคลผู้ได้ทรัพย์สินไป จึงจำต้องคืนทรัพย์สินให้แก่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งในฐานลาภมิควรได้
 
           -บทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้ อยู่ในมาตรา 407 – 419
 
           -การเรียกคืนทรัพย์ฐานลาภมิควรได้ ต้องตกอยู่ในอายุความการเรียกคืนทรัพย์ในเรื่องลาภมิควรได้
 ตามมาตรา 419 คือ จะต้องเรียกคืนภายใน 1 ปีนับแต่วันที่ผู้เรียกคืนรู้ถึงสิทธิเรียกร้อง หรือภายใน 10 ปี นับแต่เวลา
 ที่สิทธินั้นได้มีขึ้น
 
 *นิติกรรมตกเป็นโมฆะบางส่วน
 *มาตรา 173
           ถ้าส่วนหนึ่งส่วนใดของนิติกรรมเป็นโมฆะ นิติกรรมนั้นย่อมตกเป็นโมฆะทั้งสิ้น เว้นแต่
 จะพึงสันนิษฐานได้โดยพฤติการณ์แห่งกรณีว่า คู่กรณีเจตนาจะให้ส่วนที่ไม่เป็นโมฆะนั้นแยกออก
 จากส่วนที่เป็นโมฆะได้
 
           อธิบาย
           -โดยปกติแล้วถ้าส่วนหนึ่งส่วนใดของนิติกรรมเป็นโมฆะ นิติกรรมนั้นย่อมตกเป็นโมฆะทั้งสิ้น
 เว้นแต่มีกรณีที่พึงสันนิษฐานได้โดยพฤติการณ์แห่งกรณีว่า คู่กรณีเจตนาจะให้ส่วนที่ไม่เป็นโมฆะนั้นแยกออก
 จากส่วนที่เป็นโมฆะได้
 
           -ฎีกา 805/2536
           จำเลยเป็นหนี้เงินกู้โจทก์ 10,000 บาท อีก 13,800 บาทเป็นดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อเดือน
 ซึ่งเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ตกเป็นโมฆะ ปรากฏว่าโจทก์จำเลยทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทกัน
 โดยกำหนดราคาเท่ากับต้นเงินและดอกเบี้ยที่จำเลยค้างชำระดังกล่าว ดังนี้ แม้ราคาที่กำหนดในสัญญา
 จะรวมเอาเงินกู้ที่โจทก์มีสิทธิได้รับจากจำเลยไว้ด้วยกันก็ตาม แต่โจทก์จำเลยไม่ได้เจตนาที่จะแยก
 การซื้อขายที่ดินพิพาทบางส่วนในราคาเงินต้น 10,000 บาท ที่จำเลยค้างชำระออกจากราคาที่ดินอีก
 13,800 บาท ซึ่งเป็นดอกเบี้ยที่เป็นโมฆะนั้น สัญญาซื้อขายจึงเกิดจากหนี้ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
 ย่อมเป็นโมฆะทั้งฉบับตามมาตรา 173
 
           -ฎีกา 1647/2549
           สัญญากู้ยืมเงินส่วนที่เกิน 350, 000 บาท เป็นดอกเบี้ยจากการกู้ยืมเงินที่เกินอัตราที่กฎหมาย
 กำหนด แล้วนำมารวมเข้าเป็นต้นเงินกู้ที่ทำขึ้นใหม่ เป็นดอกเบี้ยต้องห้ามตามประมวลกฎหมาย
 แพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 และพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 มาตรา 3 (ก)
 ส่วนของต้นเงินที่มาจากดอกเบี้ยที่ไม่ชอบทั้งหมดย่อมตกเป็นโมฆะ แต่ไม่ทำให้ส่วนของต้น
 เงินที่ชอบจำนวน 350,000 บาท เสียไปด้วย เพราะพึงสันนิษฐานโดยพฤติการณ์แห่งกรณีได้ว่า
 โจทก์จำเลยเจตนาให้ส่วนที่ไม่เป็นโมฆะแยกออกจากส่วนที่เป็นโมฆะได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่ง
 และพาณิชย์ มาตรา 173 โจทก์จึงคงมีสิทธิเรียกร้องตามสัญญากู้ยืมเงินในส่วนที่ชอบคือต้นเงิน 350, 000 บาท
 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 19 มกราคม 2540 ซึ่งเป็นวันทำสัญญากู้ยืมเงินที่โจทก์นำมา
 เป็นมูลฟ้อง ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 19 มกราคม 2536 ซึ่งเป็นวันที่
 กู้ยืมเงินตามสัญญากู้ยืมเงินฉบับก่อนทั้งที่โจทก์มิได้ฟ้องขอให้บังคับ จึงเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือ
 นอกจากคำฟ้อง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 ประกอบมาตรา 246
 
           -ฎีกา 235/2551
           เมื่อได้ความว่าจำเลยที่ 1 เป็นคู่สัญญาในสัญญาประนีประนอมยอมความ การที่จำเลยที่ 1
 ลงลายมือชื่อในบันทึกข้อตกลงชดใช้ค่าเสียหายไม่ว่าในส่วนใดก็ต้องถือว่าลงลายมือชื่อในฐานะคู่สัญญา
 และแม้ข้อตกลงในส่วนที่โจทก์สละสิทธิในการดำเนินคด ็ไนข้อหาพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจาร
 ซึ่งเป็นความผิดต่อแผ่นดินจะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตกเป็นโมฆะก็ตาม
 ก็เป็นส่วนที่แยกออกจากส่วนที่ไม่เป็นโมฆะได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 173 สัญญาประนีประนอมยอมความ
 ในส่วนที่สมบูรณ์ยังมีผลผูกพันจำเลยที่ 1
 
 *นิติกรรมเป็นโมฆะแต่สมบูรณ์เป็นนิติกรรมอย่างอื่น
 *มาตรา 174
           การใดเป็นโมฆะแต่เข้าลักษณะเป็นนิติกรรมอย่างอื่นซึ่งไม่เป็นโมฆะ ให้ถือตามนิติกรรม
 ซึ่งไม่เป็นโมฆะ ถ้าสันนิษฐานได้โดยพฤติการณ์แห่งกรณีว่า หากคู่กรณีได้รู้ว่าการนั้นเป็นโมฆะแล้ว
 ก็คงจะได้ตั้งใจมาตั้งแต่แรกที่จะทำนิติกรรมอย่างอื่นซึ่งไม่เป็นโมฆะนั้น
 
           อธิบาย
           -นิติกรรมใดเป็นโมฆะ แต่หากเข้าลักษณะเป็นนิติกรรมอย่างอื่นซึ่งไม่เป็นโมฆะ ให้ถือตาม
 นิติกรรมที่ไม่เป็นโมษะ หากสันนิษฐานได้โดยพฤติการณ์แห่งกรณีว่า หากคู่กรณีได้รู้ว่าการนั้นเป็นโมฆะ
 ก็คงจะได้ตั้งใจมาตั้งแต่แรกที่จะทำนิติกรรมอย่างอื่นซึ่งไม่เป็นโมฆะนั้น
           เช่น ทำสัญญาซื้อขายที่ดินมีเพียงสิทธิครอบครอง ไม่ได้ทำตามแบบย่อมตกเป็นโมฆะ แต่
 เมื่อได้ส่งมอบการครอบครองแก่ผู้ซื้อแล้ว แม้สัญญาซื้อขายโมฆะไม่สมบูรณ์แต่ก็ถือว่าเจตนาสมบูรณ์ด้วย
 การส่งมอบการครอบครองแล้ว
           
 *การบอกล้างโมฆียะกรรม, *ผู้มีสิทธิบอกล้างโมฆียะกรรม, *กำหนดเวลาบอกล้างโมฆียะกรรม
 *มาตรา 175
           โมฆียะกรรมนั้น บุคคลต่อไปนี้จะบอกล้างเสียก็ได้
           (1) ผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้เยาว์ซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วแต่ผู้เยาว์จะบอกล้างก่อนที่ตน
 บรรลุนิติภาวะก็ได้ ถ้าได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรม
           (2) บุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ เมื่อ
 บุคคลนั้นพ้นจากการเป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถแล้ว หรือผู้อนุบาล
 หรือผู้พิทักษ์แล้วแต่กรณี แต่คนเสมือนไร้ความสามารถจะบอกล้างก่อนที่ตนจะพ้นจากการเป็น
 คนเสมือนไร้ความสามารถก็ได้ถ้าได้รับความยินยอมของผู้พิทักษ์
           (3) บุคคลผู้แสดงเจตนาเพราะสำคัญผิด หรือถูกกลฉ้อฉล หรือถูกข่มขู่
           (4) บุคคลวิกลจริตผู้กระทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะตาม มาตรา 30 ในขณะที่จริตของ
 บุคคลนั้นไม่วิกลแล้ว
           ถ้าบุคคลผู้ทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะถึงแก่ความตายก่อนมีการบอกล้างโมฆียะกรรม
 ทายาทของบุคคลดังกล่าวอาจบอกล้างโมฆียะกรรมนั้นได้
 
           อธิบาย
           -*บอกล้าง คือ การแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญา ทำลายนิติกรรมให้กลายเป็นโมฆะ
 
           -โมฆียะกรรมเป็นนิติกรรมที่สมบูรณ์ใช้บังคับกันได้ตามกฎหมายตั้งแต่ทำนิติกรรมนั้น
 จนกว่าจะถูกบอกล้าง ซึ่งถ้าหากถูกบอกล้างแล้วก็จะทำให้นิติกรรมนั้นเป็นโมฆะย้อนไปถึงเวลา
 เริ่มแรกที่ได้มีการทำนิติกรรมนั้นขึ้น
 
           -นิติกรรมที่เป็นโมฆียะ อาจเกิดจากความบกพร่องในเรื่องความสามารถของผู้ทำนิติกรรม
 เช่น ผู้เยาว์ คนไร้ความสามารถ คนเสมือนไร้ความสามารถ บุคคลวิกลจริต เป็นต้น หรือความบกพร่อง
 เรื่องการแสดงเจตนา เช่น สำคัญผิดในคุณสมบัติของบุคคลหรือทรัพย์ซึ่งเป็นสาระสำคัญ, ถูกกลฉ้อฉล
 หรือถูกข่มขู่ เป็นต้น
 
           -*ผู้มีสิทธิบอกล้างโมฆียะกรรม ได้แก่
           1.กรณีโมฆียะกรรมได้กระทำขึ้นโดยผู้เยาว์ ได้แก่
                     1.ผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เยาว์ หรือ
                     2.ผู้เยาว์ซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว แต่ผู้เยาว์จะบอกล้างก่อนที่ตนบรรลุนิติภาวะก็ได้
 ถ้าได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรม
           2.กรณีโมฆียะกรรมได้กระทำขึ้นโดยคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ ได้แก่
                     1.ผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์แล้วแต่กรณี
                     2.คนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ เมื่อบุคคลนั้นพ้นจากการเป็น
 คนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถแล้ว แต่คนเสมือนไร้ความสามารถจะบอกล้างก่อนที่ตน
 จะพ้นจากการเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถก็ได้ถ้าได้รับความยินยอมของผู้พิทักษ์
           3.กรณีโมฆียะกรรมได้กระทำขึ้นโดยบุคคลผู้แสดงเจตนาเพราะสำคัญผิด หรือถูกกลฉ้อฉล หรือถูกข่มขู่
 ได้แก่
                     1. ตัวผู้แสดงเจตนาเพราะสำคัญผิด หรือถูกกลฉ้อฉล หรือถูกข่มขู่นั้นเอง เมื่อได้
 เข้าใจถูกต้องแล้ว หรือพ้นจากการข่มขู่แล้ว
           4.กรณีโมฆียะกรรมได้กระทำขึ้นโดยบุคคลวิกลจริต ได้แก่
                     1.ตัวบุคคลวิกลจริตนั้นเอง เมื่อในขณะบอกล้างจริตของบุคคลนั้นไม่วิกลแล้ว
           5-ถ้าบุคคลผู้ทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะถึงแก่ความตายก่อนมีการบอกล้างโมฆียะกรรม
 ทายาทของบุคคลดังกล่าวอาจบอกล้างโมฆียะกรรมนั้นได้
 
           -ฎีกา 119/2519
           การบอกล้างการแสดงเจตนาที่กระทำไปเพราะเหตุกลฉ้อฉลและเป็นโมฆียะนั้น กฎหมายให้สิทธิ
 แต่เฉพาะบุคคลที่ระบุไว้ในมาตรา 175 เท่านั้นที่มีสิทธิบอกล้าง
           จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่ากับโจทก์เพราะถูกกลฉ้อฉลถึงขนาด จำเลยที่ 1 เท่านั้นที่มีสิทธิบอกล้าง
 สัญญาเช่า จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิบอกล้าง เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ได้บอกล้าง จำเลยที่ 2
 ก็ไม่มีสิทธิยกข้อต่อสู้ว่า “จำเลยที่ 1 ถูกโจทก์ใช้กลฉ้อฉล” ขึ้นมาต่อสู้ เพราะจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกัน
 ไม่ใช่ผู้มีสิทธิบอกล้างตามที่มาตรา 175 บัญญัติไว้
 
           -ฎีกา 922/2542 สัญญาประกันชีวิตเป็นหน้าที่ของผู้เอาประกันภัยซึ่งการใช้เงิน
 ย่อมอาศัยการทรงชีพหรือมรณะของตน ต้องเปิดเผยข้อความจริงให้ผู้รับประกันภัยทราบ ท. ผู้เอา
 ประกันชีวิตป่วยเป็นวัณโรคปอด ซึ่งเป็นโรคร้ายแรงและได้รับการรักษาเกี่ยวกับโรคดังกล่าวเป็น
 เวลานาน แต่มิได้แจ้งข้อความจริงให้จำเลยทราบเมื่อขอเอาประกันชีวิต ซึ่งหากจำเลยทราบก็อาจ
 เรียกเบี้ยประกันสูงขึ้นหรือไม่รับประกันชีวิต สัญญาประกันชีวิตจึงเป็นโมฆียะ ผู้รับประกันภัยย่อม
 มีสิทธิบอกล้างนิติกรรมได้โดยมิต้องคำนึงว่าผู้เอาประกันภัยจะถึงแก่ความตายหรือไม่ หรือตาย
 ด้วยเหตุใด เมื่อผู้เอาประกันชีวิตถึงแก่ความตายแล้วจำเลยจะบอกล้างสัญญาประกันชีวิตอันเป็น
 โมฆียะต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาได้ เมื่อจำเลยบอกล้างสัญญาอันเป็นโมฆียะแล้ว
 จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้เงินให้โจทก์
 
           - *กำหนดเวลาบอกล้างโมฆียะกรรม
           1.กำหนดเวลาเริ่มต้นใช้สิทธิบอกล้างโมฆียะกรรม
           ป.พ.พ.ไม่ได้กำหนดเวลาเริ่มต้นใช้สิทธิไว้โดยตรง แต่เมื่อดูจากมาตรา 175 คือ
 โดยทั้งไปผู้มีสิทธิบอกล้างจะใช้สิทธิบอกล้างเมื่อใดก็ได้คือเริ่มใช้สิทธิได้เมื่อตนพ้นจากสภาพหรือสภาวะ
 อันเป็นเหตุให้นิติกรรมตกเป็นโมฆียะแล้ว เช่น เมื่อบรรลุนิติภาวะแล้ว, เมื่อพ้นจากการเป็นคนไร้ความสามารถแล้ว
           2.กำหนดเวลาสิ้นสุดในการใช้สิทธิบอกล้างโมฆียะกรรม (มาตรา 181) บอกล้างไม่ได้เมื่อ
           1) พ้นเวลา 1 ปีนับแต่เวลาที่อาจให้สัตยาบันได้ หรือ
           2) พ้นเวลา 10 ปีนับแต่ได้ทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะ          
 
 *ผลการบอกล้างโมฆียะกรรม
 *มาตรา 176
           โมฆียะกรรมเมื่อบอกล้างแล้ว ให้ถือว่าเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก และให้คู่กรณีกลับ
 คืนสู่ฐานะเดิม ถ้าเป็นการพ้นวิสัยจะให้กลับคืนเช่นนั้นได้ ก็ให้ได้รับค่าเสียหายชดใช้ให้แทน
           ถ้าบุคคลใดได้รู้หรือควรจะได้รู้ว่าการใดเป็นโมฆียะ เมื่อบอกล้างแล้วให้ถือว่าบุคคลนั้น
 ได้รู้ว่าการนั้นเป็นโมฆะนับแต่วันที่ได้รู้หรือควรจะได้รู้ว่าเป็นโมฆียะ
           ห้ามมิให้ใช้สิทธิเรียกร้องอันเกิดแต่การกลับคืนสู่ฐานะเดิมตามวรรคหนึ่งเมื่อพ้นหนึ่งปี
 นับแต่วันบอกล้างโมฆียะกรรม
 
           อธิบาย
           -*ผลของการบอกล้างนิติกรรมอันเป็นโมฆียะกรรม คือ ให้ถือว่านิติกรรมนั้นเป็นโมฆะมาตั้งแต่
 เริ่มแรก และให้คู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิม ถ้าเป็นการพ้นวิสัยจะให้กลับคืนเช่นนั้นได้ ก็ให้ได้รับค่าเสียหาย
 ชดใช้ให้แทน
 
 *การให้สัตยาบัน, *ผู้มีสิทธิให้สัตยาบัน, *กำหนดเวลาให้สัตยาบัน, *ผลของการให้สัตยาบัน
 *มาตรา 177
           ถ้าบุคคลผู้มีสิทธิบอกล้างโมฆียะกรรมตาม มาตรา 175 ผู้หนึ่งผู้ใดได้ให้สัตยาบันแก่
 โมฆียะกรรม ให้ถือว่าการนั้นเป็นอันสมบูรณ์มาแต่เริ่มแรก แต่ทั้งนี้ย่อมไม่กระทบกระเทือนถึง
 สิทธิของบุคคลภายนอก
 
           อธิบาย
           -*การให้สัตยาบัน คือ การให้การรับรองนิติกรรมหรือสัญญาที่ทำซึ่งเป็นโมฆียะให้มีผลสมบูรณ์
 และหมดสิทธิที่จะบอกล้างนิติกรรมนั้นได้อีก
           -ผลของการให้สัตยาบัน คือ ทำให้นิติกรรมนั้นเป็นอันสมบูรณ์มันแต่เริ่มแรก และไม่กระทบ
 กระเทือนถึงสิทธิของบุคคลภายนอก
           -*ผู้มีสิทธิให้สัตยาบันแก่โมฆียะกรรม ก็คือบุคคลผู้มีสิทธิบอกล้างโมฆียะกรรมตามมาตรา 175 นั่นเอง
           -*กำหนดเวลาให้สัตยาบัน แยกเป็น
           1.หลักทั่วไป คือ ผู้มีสิทธิให้สัตยาบันให้สัตยาบันเมื่อใดก็ได้
           2.ข้อยกเว้น กรณีผู้ทำนิติกรรมเป็นเหตุแห่งโมฆียะกรรมนั้น การให้สัตยาบันจะทำได้ก็ต่อเมื่อได้
 กระทำภายหลังเวลาที่มูลเหตุให้โมฆียะกรรมนั้นหมดสิ้นไปแล้ว คือ
            2.1 กรณีผู้เยาว์ ให้สัตยาบันได้เมื่อบรรลุนิติภาวะแล้ว
            2.2 กรณีคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ ให้สัตยาบันได้เมื่อพ้นจาก
 การเป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถแล้วและได้รู้เห็นโมฆียะกรรมนั้นแล้วด้วย
            2.3 กรณีคนวิกลจริต ให้สัตยาบันได้เมื่อจริตของบุคคลนั้นไม่วิกลแล้วและได้รู้เห็นเรื่อง
 โมฆียะกรรมนั้นแล้วด้วย
            2.4 กรณีแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดหรือถูกกลฉ้อฉลหรือถูกข่มขู่ ให้สัตยาบันได้เมื่อได้รู้ความจริง
 หรือพ้นจากการถูกข่มขู่แล้วแต่กรณี
           3.กำหนดเวลาสิ้นสุดในการให้สัตยาบัน ป.พ.พ.ไม่ได้กำหนดไว้
                     
           
 *การบอกล้างโมฆียะกรรม, *การให้สัตยาบัน, *วิธีการให้สัตยาบัน
 *มาตรา 178
           การบอกล้างหรือให้สัตยาบันแก่โมฆียะกรรมย่อมกระทำได้โดยการแสดงเจตนาแก่คู่กรณี
 อีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นบุคคลที่มีตัวกำหนดได้แน่นอน
 
           อธิบาย
           -การบอกล้างหรือให้สัตยาบันแก่โมฆียะกรรม กระทำได้โดยการแสดงเจตนาแก่คู่กรณี
 อีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นบุคคลที่มีตัวกำหนดได้แน่นอน
           -วิธีการบอกล้างหรือให้สัตยาบันกฎหมายไม่ได้กำหนดวิธีการไว้เฉพาะ ดังนั้นจึงอาจกระทำได้
 ด้วยวาจาหรือลายลักษณ์อักษรก็ได้ แต่ต้องกระทำโดยการแสดงเจตนาชัดแจ้งต่อคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง (สำหรับ
 การบอกล้างจะกระทำโดยปริยายไม่ได้ แต่การให้สัตยาบันสามารถให้สัตยาบันโดยปริยายได้ตามมาตรา 180)
           -ผลของการบอกล้างโมฆียะกรรมอยู่ในมาตรา 176 คือ
           1.เมื่อบอกล้างแล้วให้ถือว่านิติกรรมนั้นเป็นโมฆะมาตั้งแต่เริ่มแรก
           2.ให้คู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิม
           3.ถ้าเป็นการพ้นวิสัยจะให้กลับคืนเช่นนั้นได้ ก็ให้ได้รับค่าเสียหายชดใช้ให้แทน
           4.ถ้าบุคคลใดได้รู้หรือควรจะได้รู้ว่าการใดเป็นโมฆียะ เมื่อบอกล้างแล้วให้ถือว่าบุคคลนั้น
 ได้รู้ว่าการนั้นเป็นโมฆะนับแต่วันที่ได้รู้หรือควรจะได้รู้ว่าเป็นโมฆียะ
           5.ห้ามมิให้ใช้สิทธิเรียกร้องอันเกิดแต่การกลับคืนสู่ฐานะเดิม เมื่อพ้น 1 ปีนับแต่วันบอกล้างโมฆียะกรรม
           
 *การให้สัตยาบันของผู้ไร้ความสามารถ
 *มาตรา 179
           การให้สัตยาบันแก่โมฆียะกรรมนั้น จะสมบูรณ์ต่อเมื่อได้กระทำภายหลังเวลาที่มูลเหตุ
 ให้เป็นโมฆียะกรรมนั้นหมดสิ้นไปแล้ว
           บุคคลซึ่งศาลได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ คนเสมือนไร้ความสามารถ หรือบุคคล
 วิกลจริต ผู้กระทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะตาม มาตรา 30 จะให้สัตยาบันแก่โมฆียะกรรมได้ต่อเมื่อ
 ได้รู้เห็นซึ่งโมฆียะกรรมนั้นภายหลังที่บุคคลนั้นพ้นจากการเป็นคนไร้ความสามารถ คนเสมือน
 ไร้ความสามารถ หรือในขณะที่จริตของบุคคลนั้นไม่วิกล แล้วแต่กรณี
           ทายาทของบุคคลผู้ทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะจะให้สัตยาบันแก่โมฆียะกรรมได้นับแต่
 เวลาที่ผู้ทำนิติกรรมนั้นถึงแก่ความตาย เว้นแต่สิทธิที่จะบอกล้างโมฆียะกรรมของผู้ตายนั้นได้สิ้น
 สุดลงแล้ว
           บทบัญญัติวรรคหนึ่งและวรรคสองมิให้ใช้บังคับ ถ้าการให้สัตยาบันแก่โมฆียะกรรม
 กระทำโดยผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาล หรือผู้พิทักษ์
           
 *พฤติการณ์ที่ถือว่าเป็นการให้สัตยาบัน, *ให้สัตยาบันโดยปริยาย
 *มาตรา 180
           ภายหลังเวลาอันพึงให้สัตยาบันได้ตาม มาตรา 179 ถ้ามีพฤติการณ์อย่างหนึ่งอย่างใด
 ดังต่อไปนี้เกิดขึ้นเกี่ยวด้วยโมฆียะกรรม โดยการกระทำของบุคคลซึ่งมีสิทธิบอกล้างโมฆียะกรรม
 ตาม มาตรา 175 ถ้ามิได้สงวนสิทธิไว้แจ้งชัดประการใด ให้ถือว่าเป็นการให้สัตยาบัน
           (1) ได้ปฏิบัติการชำระหนี้แล้วทั้งหมดหรือแต่บางส่วน
           (2) ได้มีการเรียกให้ชำระหนี้นั้นแล้ว
           (3) ได้มีการแปลงหนี้ใหม่
           (4) ได้มีการให้ประกันเพื่อหนี้นั้น
           (5) ได้มีการโอนสิทธิหรือความรับผิดทั้งหมดหรือแต่บางส่วน
           (6) ได้มีการกระทำอย่างอื่นอันแสดงได้ว่าเป็นการให้สัตยาบัน
 
           อธิบาย
           -มาตรานี้ถือเป็นการให้สัตยาบันโดยปริยาย หากมีการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใด
 ตามที่กำหนดใน (1)-(6)
 
           -ฎีกา 6350/2541
           สัญญาจะซื้อขายเป็นนิติกรรมที่ ส. ผู้จะขายเป็นบุคคลวิกลจริตและได้กระทำใน
 ขณะที่จริตวิกลอยู่ ทั้ง จ. ผู้จะซื้อได้รู้แล้วด้วยว่า ส. เป็นคนวิกลจริตนิติกรรมสัญญา
 จะซื้อขายจึงตกเป็นโมฆียะ แต่ผู้ร้องในฐานะผู้อนุบาลซึ่งมีสิทธิบอกล้างนิติกรรมอัน
 เป็นโมฆียะนั้นมิได้บอกล้างต่อผู้จะซื้อทั้งผู้ร้องยังได้แสดงเจตนาขอทำนิติกรรมอันเป็น
 โมฆียะนั้นมิได้บอกล้างต่อผู้จะซื้อ ทั้งผู้ร้องยังได้แสดงเจตนาขอทำนิติกรรมซื้อขาย
 ที่ดินดังกล่าวแทน ส. โดยการไปติดต่อเจ้าหน้าที่ที่สำนักงานที่ดิน และยื่นคำร้องขอ
 ต่อศาลเพื่อขอทำนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินขายแทน ส. ซึ่งผู้รับมอบอำนาจของ จ.
 ผู้จะซื้อได้มาแถลงต่อศาลชั้นต้นว่าประสงค์จะซื้อที่ดินทุกแปลง พฤติการณ์ดังกล่าว
 ถือได้ว่าผู้ร้องได้ให้สัตยาบันแก่สัญญาจะซื้อขายซึ่งเป็นโมฆียะกรรมโดยการแสดง
 เจตนาแก่ จ. ผู้จะซื้อซึ่งเป็นคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 178 สัญญา
 จะซื้อขายจึงเป็นอันสมบูรณ์มาแต่เริ่มแรก ตามมาตรา 177 มีผลผูกพันให้ผู้ร้องต้อง
 ปฏิบัติตามสัญญา
           
 *กำหนดเวลาบอกล้างโมฆียะกรรม
 *มาตรา 181
           โมฆียะกรรมนั้นจะบอกล้างมิได้เมื่อพ้นเวลาหนึ่งปีนับแต่เวลาที่อาจให้สัตยาบันได้ หรือ
 เมื่อพ้นเวลาสิบปีนับแต่ได้ทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะนั้น
 
           อธิบาย
           - *กำหนดเวลาบอกล้างโมฆียะกรรม
           1.กำหนดเวลาเริ่มต้นใช้สิทธิบอกล้างโมฆียะกรรม
           ป.พ.พ.ไม่ได้กำหนดเวลาเริ่มต้นใช้สิทธิไว้โดยตรง แต่เมื่อดูจากมาตรา 175 คือ
 โดยทั้งไปผู้มีสิทธิบอกล้างจะใช้สิทธิบอกล้างเมื่อใดก็ได้คือเริ่มใช้สิทธิได้เมื่อตนพ้นจากสภาพหรือสภาวะ
 อันเป็นเหตุให้นิติกรรมตกเป็นโมฆียะแล้ว เช่น เมื่อบรรลุนิติภาวะแล้ว, เมื่อพ้นจากการเป็นคนไร้ความสามารถแล้ว
           2.กำหนดเวลาสิ้นสุดในการใช้สิทธิบอกล้างโมฆียะกรรม (มาตรา 181) บอกล้างไม่ได้เมื่อ
                     1) พ้นเวลา 1 ปีนับแต่เวลาที่อาจให้สัตยาบันได้ หรือ
                     2) พ้นเวลา 10 ปีนับแต่ได้ทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะ          
           -นับแต่เวลาที่อาจให้สัตยาบันได้ คือ เวลาที่มูลเหตุให้เป็นโมฆียะกรรมนั้นหมดสิ้นไปแล้ว (มาตรา 179)
 
           -ฎีกา 8515/2538
           ระยะเวลาบอกล้างโมฆียกรรมตามมาตรา 181 มี 2 ช่วงระยะเวลา กล่าวคือ ระยะเวลาช่วงแรก
  1 ปี นับแต่เวลาที่อาจให้สัตยาบันได้ กับระยะเวลาอีกช่วงหนึ่ง 10 ปี นับแต่เวลาที่ทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะ
 เป็นเรื่องของกำหนดเวลาไม่ใช่เรื่องของอายุความ ฉะนั้น แม้อีกฝ่ายหนึ่งไม่ยกเอาเรื่องนี้ขึ้นมาต่อสู้ แต่ถ้า
 ได้ความว่ามีการบอกล้างเมื่อพ้นเวลาที่กฎหมายกำหนด 1 ปี หรือ 10 ปี ตามที่กล่าวมานี้ ศาลก็มีอำนาจ
 ยกเอาเรื่องนี้ขึ้นมาวินิจฉัยได้          
 -

Leave a Reply