กันยายน 7, 2020 In พระราชบัญญัติ

พรบ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดี พ.ศ. 2539

พรบ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีฯพ.ศ. 2539
-
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ และวิธีพิจารณาคดี
ทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539
	พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ
ให้ประกาศว่า
	โดยที่เป็นการสมควรจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ และให้มี
วิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ
	จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของ
รัฐสภา  ดังต่อไปนี้
-
	มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า  “ พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้า
ระหว่างประเทศ และวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 “
	มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
	มาตรา 3 ในพระราชบัญญัตินี้
	“ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ”  หมายความว่า
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง และศาลทรัพย์สินทางปัญญาและ
การค้าระหว่างประเทศภาค
	“คดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ”  หมายความว่า  คดีแพ่งและ
คดีอาญาที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่าง
ประเทศ
	“ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ” หมายความว่า ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษตามกฎหมายว่าด้วย
การจัดตั้งศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ
	“ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ” หมายความว่า ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษตาม
กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ
	“คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม” หมายความว่า คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมตาม
กฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม
	“คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม” หมายความว่า คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมตาม
กฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรม
	*เพิ่มเติมนิยามศัพท์ตั้งแต่ “ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ” ถึง “คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม” 
โดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สิน
ทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558
	มาตรา 4 ให้ประธานศาลฎีการักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
	*มาตรา 4 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ
และวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558
-
	หมวด 1
	ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ
-
	มาตรา 5 ให้จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางขึ้น และจะเปิดทำการ
เมื่อใด ให้ประกาศโดยพระราชกฤษฎีกา
	ให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีเขตตลอดกรุงเทพมหานคร
จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดนครปฐม จังหวัดนนทบุรี และจังหวัดปทุมธานี
แต่บรรดาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นนอกเขตของ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจะยื่นฟ้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญา
และการค้าระหว่างประเทศกลางก็ได้ ทั้งนี้ ให้อยู่ในดุลพินิจของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและ
การค้าระหว่างประเทศกลางที่จะไม่ยอมรับพิจารณาพิพากษาคดีใดคดีหนึ่งที่ยื่นฟ้องเช่นนั้นได้
	มาตรา 6 การจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศภาค   ให้กระทำโดย
พระราชบัญญัติ  ซึ่งจะต้องระบุเขตศาลและกำหนดที่ตั้งศาลนั้นไว้ด้วย
	มาตรา 7 ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ  มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี
ดังต่อไปนี้
	(1)  คดีอาญาเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้า ลิขสิทธิ์ และสิทธิบัตร
	(2)  คดีอาญาเกี่ยวกับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 271 ถึง มาตรา 275
	(3)  คดีแพ่งเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้า ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร และคดีพิพาทตามสัญญา
ถ่ายทอดเทคโนโลยี หรือสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ
	(4)  คดีแพ่งอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 271
ถึง มาตรา 275
	(5)  คดีแพ่งเกี่ยวกับการซื้อขาย แลกเปลี่ยนสินค้า หรือตราสารการเงินระหว่างประเทศ
หรือการให้บริการระหว่างประเทศ  การขนส่งระหว่างประเทศ  การประกันภัยและนิติกรรมอื่น
ที่เกี่ยวเนื่อง
	(6)  คดีแพ่งเกี่ยวกับเลตเตอร์ออฟเครดิต ที่ออกเกี่ยวเนื่องกับกิจกรรมตาม (5) การส่งเงิน
เข้ามาในราชอาณาจักรหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร  ทรัสต์รีซีท  รวมทั้งการประกันเกี่ยวกับ
กิจการดังกล่าว
	(7)  คดีแพ่งเกี่ยวกับการกักเรือ
	(8)  คดีแพ่งเกี่ยวกับการทุ่มตลาด  และการอุดหนุนสินค้า  หรือการให้บริการจาก
ต่างประเทศ
	(9)  คดีแพ่งหรือคดีอาญาที่เกี่ยวกับข้อพิพาทในการออกแบบวงจรรวม  การค้นพบ
ทางวิทยาศาสตร์  ชื่อทางการค้า  ชื่อทางภูมิศาสตร์ที่แสดงถึงแหล่งกำเนิดของสินค้า
ความลับทางการค้าและการคุ้มครองพันธุ์พืช
	(10)  คดีแพ่งหรือคดีอาญาที่มีกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลทรัพย์สิน
ทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ
	(11)  คดีแพ่งเกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการเพื่อระงับข้อพิพาทตาม (3) ถึง (10)
	คดีที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัว ไม่อยู่ในอำนาจของศาลทรัพย์สิน
ทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ
	มาตรา 8 เมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเปิดทำการแล้ว  ห้ามมิให้
ศาลชั้นต้นอื่นรับคดีที่อยู่ในอำนาจศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไว้พิจารณา
พิพากษา
	มาตรา 9 ในกรณีมีปัญหาว่าคดีใดจะอยู่ในอำนาจของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้า
ระหว่างประเทศหรือไม่ ไม่ว่าปัญหานั้นจะเกิดขึ้นในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ
หรือศาลยุติธรรมอื่น ให้ศาลนั้นรอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราวแล้วเสนอปัญหานั้นให้ประธาน
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเป็นผู้วินิจฉัย คำวินิจฉัยของประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษให้เป็นที่สุด 
ในกรณีเช่นว่านี้ ถ้าตามคำวินิจฉัยของประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษจะต้องเปลี่ยนแปลงศาลที่มี
อำนาจพิจารณาพิพากษาคดี ให้ศาลเดิมโอนคดีไปยังศาลดังกล่าว และให้ถือว่ากระบวนพิจารณาที่ได้
ดำเนินการไปแล้วในศาลเดิมก่อนมีคำพิพากษาไม่เสียไป เว้นแต่ศาลที่รับโอนคดีจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม
	*มาตรา 9 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ
และวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558
	มาตรา 10 คดีที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศภาค
คู่ความทุกฝ่ายอาจตกลงกันร้องขอต่อศาลนั้นให้โอนคดีไปพิจารณาพิพากษาในศาลทรัพย์สิน
ทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้ แต่ห้ามมิให้อนุญาตตามคำขอเช่นว่านั้น  เว้นแต่
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจะได้ยินยอมก่อน
	 มาตรา 11 ให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเป็นศาลชั้นต้นตาม
พระธรรมนูญศาลยุติธรรม และให้นำบทบัญญัติแห่งพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาใช้บังคับแก่
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศโดยอนุโลม

	หมวด 2
	ผู้พิพากษาในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ

	มาตรา 12 ในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศทุกศาล ให้มี
ผู้พิพากษาและผู้พิพากษาสมทบตามจำนวนที่คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมกำหนด
	 มาตรา 13 ในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง และ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศภาค ให้มีอธิบดีผู้พิพากษาศาลทรัพย์สิน
ทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง และอธิบดีผู้พิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญา
และการค้าระหว่างประเทศภาคศาลละหนึ่งคน กับให้มีรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลทรัพย์สิน
ทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางและรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญา
และการค้าระหว่างประเทศภาคศาลละหนึ่งคน และในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์
ในทางราชการ คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมโดยความเห็นชอบของประธานศาลฎีกา
จะกำหนดให้มีรองอธิบดีผู้พิพากษาในแต่ละศาลมากกว่าหนึ่งคนแต่ไม่เกินสามคนก็ได้
	*มาตรา 13 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้า
ระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ (ฉบับที่ 2) 
พ.ศ. 2558
	มาตรา 14 ผู้พิพากษาในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ  
จะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากข้าราชการตุลาการตาม กฎหมายว่าด้วยระเบียบ
ข้าราชการฝ่ายตุลาการซึ่งมีความรู้และความเข้าใจในเรื่องเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาหรือ
การค้าระหว่างประเทศ
	 มาตรา 15 ผู้พิพากษาสมทบจะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากบุคคล
ผู้ทรงคุณวุฒิทางทรัพย์สินทางปัญญาหรือการค้าระหว่างประเทศซึ่งคณะกรรมการตุลาการ
ศาลยุติธรรมคัดเลือกตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในระเบียบคณะกรรมการตุลาการ
ศาลยุติธรรม และต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้
	(1) มีสัญชาติไทย
	(2) มีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบปีบริบูรณ์
	(3) ได้รับการอบรมในเรื่องความมุ่งหมายของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้า
ระหว่างประเทศและหน้าที่ตุลาการมาแล้วตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในระเบียบ
คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม
	(4) มีความรู้ความชำนาญทางทรัพย์สินทางปัญญาหรือการค้าระหว่างประเทศ
	(5) ไม่เป็นผู้มีความประพฤติเสื่อมเสีย หรือบกพร่องในศีลธรรมอันดี
	(6) ไม่เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว
	(7) ไม่เคยรับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับ
ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
	(8) ไม่เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ หรือจิตฟั่นเฟือน
ไม่สมประกอบหรือมีกายหรือจิตใจไม่เหมาะสมที่จะเป็นผู้พิพากษาสมทบ หรือเป็นโรคที่ระบุไว้
ในระเบียบคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม
	(9) ไม่เป็นข้าราชการการเมือง กรรมการพรรคการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ในพรรคการเมือง 
สมาชิกรัฐสภา ผู้บริหารหรือสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ผู้บริหารราชการส่วนท้องถิ่นหรือ
สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการอัยการ ข้าราชการตำรวจ หรือทนายความ
	ก่อนเข้ารับหน้าที่  ผู้พิพากษาสมทบต้องปฏิญาณตนต่อหน้าอธิบดีผู้พิพากษา
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ว่าจะปฏิบัติหน้าที่โดยเที่ยงธรรม
และรักษาความลับในราชการ
	*มาตรา 15 วรรคหนึ่ง แก้ไขโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้า
ระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ (ฉบับที่ 2) 
พ.ศ. 2558
	มาตรา 16 ผู้พิพากษาสมทบ พ้นจากตำแหน่ง เมื่อ
	(1)  ออกตามวาระ
	(2)  ตาย
	(3)  ลาออก
	(4)  ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามอย่างใดอย่างหนึ่งตาม มาตรา 15
	(5)  ขาดการปฏิบัติหน้าที่ตามที่กำหนดถึงสามครั้งติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร
	(6)  ประพฤติตนไม่เหมาะสมแก่การเป็นผู้พิพากษาสมทบ
	การพ้นจากตำแหน่งตาม (2) หรือ (3)  ให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงทราบ  ถ้าเป็น
การพ้นจากตำแหน่งตาม (4) (5) หรือ (6)  ต้องได้รับความเห็นชอบของคณะกรรมการตุลาการตาม
กฎหมายว่าด้วยระเบียบราชการฝ่ายตุลาการ  และให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณา
โปรดเกล้าฯ ให้พ้นจากตำแหน่ง
	มาตรา 17 ในกรณีที่ตำแหน่งผู้พิพากษาสมทบว่างลงเพราะเหตุอื่นนอกจากถึงคราวออก
ตามวาระตาม มาตรา 16 (1)  จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งบุคคลซึ่งคณะกรรมการตุลาการ
คัดเลือกขึ้นแทนตำแหน่งที่ว่างก็ได้ เว้นแต่วาระของผู้พิพากษาสมทบเหลือไม่ถึงหนึ่งร้อยแปดสิบวัน
จะไม่แต่งตั้งบุคคลแทนก็ได้ ให้ผู้พิพากษาสมทบซึ่งดำรงตำแหน่งแทนอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระ
ที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งตนดำรงตำแหน่งแทน
	มาตรา 18 ในกรณีที่ยังไม่มีการแต่งตั้งผู้พิพากษาสมทบขึ้นใหม่ หรือมีการแต่งตั้งแล้วแต่ยังไม่ได้
เข้ารับหน้าที่ ให้ผู้พิพากษาสมทบซึ่งออกไปตามวาระคงอยู่ปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อน และให้มี
อำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่ตนได้นั่งพิจารณาไว้ก่อนจนกว่าจะเสร็จคดีนั้น แต่ต้องไม่เกิน
หกสิบวันนับแต่วันครบกำหนดออกตามวาระ
	มาตรา 19 ภายใต้บังคับ มาตรา 20 และ มาตรา 21  ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่าง
ประเทศ ต้องมีผู้พิพากษาไม่น้อยกว่าสองคนและผู้พิพากษาสมทบอีกหนึ่งคนจึงจะเป็นองค์คณะ
พิจารณาพิพากษาคดีได้ ส่วนการทำคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลนั้นจะต้องบังคับตามเสียง
ฝ่ายข้างมาก
	มาตรา 20 ผู้พิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศคนใดคนหนึ่งมีอำนาจ
ดำเนินกระบวนพิจารณาหรือออกคำสั่งใดๆ นอกจากการนั่งพิจารณาและพิพากษาคดีได้
	 มาตรา 21 เมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นเป็นการสมควร 
จะให้ศาลอื่นหรือเจ้าพนักงานศาลทำการสืบพยานหลักฐานส่วนใดส่วนหนึ่งแทนได้  การสืบพยานหลักฐาน
ดังกล่าวจะกระทำในศาลหรือนอกศาลก็ได้
	ในกรณีที่การสืบพยานหลักฐานตามวรรคหนึ่งเป็นการสืบพยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์ใน
คดีอาญาจะกระทำลับหลังจำเลยไม่ได้ ทั้งจะต้องให้จำเลยมีโอกาสถามค้านพยานบุคคลหรือคัดค้านพยาน
หลักฐานอื่นได้อย่างเต็มที่ เว้นแต่จะเป็นกรณีที่อาจสืบพยานหลักฐานลับหลังจำเลยได้ตามประมวลกฎหมาย
วิธีพิจารณาความอาญา
	*มาตรา 21 วรรคสอง  แก้ไขโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้า
ระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ (ฉบับที่ 2) 
พ.ศ. 2558
	มาตรา 22 ให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง หรือ
อธิบดีผู้พิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศภาค แล้วแต่กรณี หรือ
ผู้ทำการแทนในตำแหน่งดังกล่าว กำหนดเวรปฏิบัติการของผู้พิพากษาสมทบซึ่งจะต้องปฏิบัติหน้าที่
	ผู้พิพากษาสมทบ ซึ่งนั่งพิจารณาคดีใดจะต้องพิจารณาคดีนั้นจนเสร็จ  เว้นแต่ไม่อาจ
ปฏิบัติหน้าที่ได้เพราะเจ็บป่วยหรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่น ในกรณีเช่นว่านี้  ให้ผู้มีอำนาจตามวรรค
หนึ่งจัดให้ผู้พิพากษาสมทบคนอื่นปฏิบัติหน้าที่แทน
	ผู้พิพากษาสมทบจะได้รับค่าป่วยการ ค่าพาหนะเดินทาง ค่าเช่าที่พัก และค่าตอบแทน
อย่างอื่นตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา
	มาตรา 23 ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการคัดค้านผู้พิพากษาตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา
ความแพ่ง  มาใช้บังคับแก่การคัดค้านผู้พิพากษาสมทบโดยอนุโลม
	มาตรา 24 ผู้พิพากษาสมทบ เป็นเจ้าพนักงานในตำแหน่งตุลาการตามประมวลกฎหมายอาญา
	มาตรา 25 ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยวินัยและการรักษาวินัยสำหรับข้าราชการตุลาการตาม
กฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ มาใช้บังคับแก่พิพากษาสมทบโดยอนุโลม

	หมวด 3
	วิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ

	มาตรา 26 กระบวนพิจารณาในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ให้เป็นไปตาม
บทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้และข้อกำหนดตาม มาตรา 30  ในกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติและ
ข้อกำหนดดังกล่าว ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง หรือ
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หรือ พระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณา
ความอาญาในศาลแขวง มาใช้บังคับโดยอนุโลม
	 มาตรา 27 ให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศดำเนินการนั่งพิจารณาคดี
ติดต่อกันไปโดยไม่เลื่อนคดีจนกว่าจะเสร็จการพิจารณา เว้นแต่มีเหตุจำเป็นอันมิอาจก้าวล่วงเสียได้
และเมื่อเสร็จการพิจารณาคดี  ให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศรีบทำ
คำพิพากษาหรือคำสั่งโดยเร็ว
	มาตรา 28 ถ้าบุคคลใดเกรงว่า  พยานหลักฐานที่ตนอาจต้องอ้างอิงในภายหน้าจะสูญหายหรือ
ยากแก่การนำมาเมื่อมีคดีทรัพย์สินทางปัญญาหรือการค้าระหว่างประเทศเกิดขึ้น  หรือถ้าคู่ความ
ฝ่ายใดในคดีเกรงว่า พยานหลักฐานที่ตนจำนงจะอ้างอิงจะสูญหายเสียก่อนที่จะนำมาสืบหรือเป็น
การยากที่จะนำมาสืบในภายหลังบุคคลนั้นหรือคู่ความฝ่ายนั้น   อาจยื่นคำขอต่อศาลทรัพย์สิน
ทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศโดยทำเป็นคำร้องขอหรือคำร้องให้ศาลมีคำสั่งให้สืบพยาน
หลักฐานนั้นไว้ทันที
	เมื่อศาลได้รับคำขอเช่นว่านั้น ให้ศาลหมายเรียกผู้ขอและคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุคคล
ภายนอกที่เกี่ยวข้องมาศาล และเมื่อได้ฟังบุคคลเหล่านั้นแล้ว ให้ศาลสั่งคำขอตามที่เห็นสมควร
ถ้าศาลสั่งอนุญาตตามคำขอแล้วให้สืบพยานหลักฐานไปตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย ส่วนรายงาน
และเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการนั้นให้ศาลเก็บรักษาไว้
	มาตรา 29 ในกรณีมีเหตุฉุกเฉิน เมื่อมีการยื่นคำขอตาม มาตรา 28   ผู้ยื่นคำขอจะยื่นคำร้องรวมไป
ด้วยเพื่อให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีคำสั่งหรือออกหมายตามที่ขอโดย
ไม่ชักช้า  และถ้าจำเป็นจะขอให้ศาลมีคำสั่งให้ยึดหรืออายัดเอกสารหรือวัตถุที่จะใช้เป็นพยาน
หลักฐานที่ขอสืบไว้ก่อน โดยมีเงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่ศาลเห็นสมควรก็ได้
	ให้นำ  มาตรา 261  ถึง  มาตรา 263  และ  มาตรา 267  ถึง  มาตรา 269  แห่ง
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาใช้แก่กรณีตามวรรคหนึ่งโดยอนุโลม
	มาตรา 30 เพื่อให้การดำเนินกระบวนพิจารณาเป็นไปโดยสะดวก  รวดเร็ว  และเที่ยงธรรม
อธิบดีผู้พิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางโดยอนุมัติประธาน
ศาลฎีกามีอำนาจออกข้อกำหนดใดๆ เกี่ยวกับการดำเนินกระบวนการพิจารณาและการรับฟังพยาน
หลักฐานใช้บังคับในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศได้ แต่ข้อกำหนดังกล่าว
จะต้องไม่ทำให้สิทธิในการต่อสู้คดีอาญาของจำเลยต้องลดน้อยกว่าที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย
	ข้อกำหนดนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา แล้วให้ใช้บังคับได้
	 มาตรา 31 ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ   อาจขอให้ผู้ทรงคุณวุฒิหรือ
ผู้เชี่ยวชาญมาให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาพิพากษาคดีได้ แต่ต้องให้คู่ความทุกฝ่าย
ทราบและไม่ตัดสิทธิคู่ความในอันที่จะขอให้เรียกผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญฝ่ายตนมาให้
ความเห็นโต้แย้ง หรือเพิ่มเติมความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญดังกล่าว
	มาตรา 32 ผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ
ขอให้มาให้ความเห็นมีสิทธิได้รับค่าป่วยการ ค่าพาหนะเดินทาง และค่าเช่าที่พักตามระเบียบที่
คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมกำหนด
	**มาตรา 32  แก้ไขโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้า
ระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ (ฉบับที่ 2) 
พ.ศ. 2558
	 มาตรา 33 ในคดีแพ่ง คู่ความจะแต่งตั้งบุคคลใดซึ่งมีภูมิลำเนาในเขตศาลทรัพย์สินทางปัญญา
และการค้าระหว่างประเทศเพื่อรับคำคู่ความหรือเอกสารแทนตนก็ได้  โดยให้ยื่นคำขอต่อศาลที่
พิจารณาคดีนั้นเมื่อศาลอนุญาตแล้ว จะส่งคำคู่ความหรือเอกสารแก่บุคคลซึ่งได้รับแต่งตั้งนั้นก็ได้
	ถ้าคู่ความไม่มีภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานในเขตศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้า
ระหว่างประเทศที่พิจารณาคดี ศาลนั้นจะสั่งให้คู่ความแต่งตั้งบุคคลซึ่งมีภูมิลำเนาในเขตศาลนั้น
ซึ่งจะเป็นการสะดวกในการส่งคำคู่ความหรือเอกสารภายในเวลาที่ศาลกำหนดเพื่อรับคำคู่ความ
หรือเอกสารแทนก็ได้
	ถ้าคู่ความไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลตามวรรคสอง การส่งคำคู่ความหรือเอกสารจะกระทำ
โดยวิธีปิดประกาศไว้ ณ ศาลที่พิจารณาคดี แจ้งให้คู่ความมารับคำคู่ความหรือเอกสารนั้นแทนการ
ส่งโดยวิธีอื่นก็ได้  การส่งคำคู่ความหรือเอกสารโดยวิธีเช่นนี้ ให้มีผลใช้ได้เมื่อพ้นสิบห้าวันนับแต่
วันปิดประกาศ
	การส่งคำคู่ความหรือเอกสารแก่บุคคลซึ่งได้รับแต่งตั้ง ให้กระทำได้เช่นเดียวกับ
การส่งคำคู่ความหรือเอกสารแก่คู่ความหรือการส่งโดยวิธีอื่นแทนดังที่บัญญัติไว้ใน
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  การส่งคำคู่ความหรือเอกสารแก่บุคคลซึ่งได้รับ
แต่งตั้งตามความในวรรคนี้ ให้มีผลใช้ได้เมื่อพ้นเจ็ดวันนับแต่วันส่งหรือสิบห้าวันนับแต่
วันที่ได้มีการส่งโดยวิธีอื่นแทน
	มาตรา 34 ในคดีแพ่ง เมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าประเทศแจ้งกำหนดนัดพิจารณาให้
คู่ความฝ่ายใดทราบแล้ว คู่ความฝ่ายนั้นไม่มาศาลตามกำหนดนัด  ให้เป็นหน้าที่ของคู่ความฝ่ายนั้น
มารับทราบกำหนดนัดต่อไปจากศาลเอง หากไม่มารับทราบ  ให้ถือว่าคู่ความฝ่ายนั้นได้ทราบ
กำหนดนัดต่อไปแล้ว
	 มาตรา 35 ในการฟ้องคดีอาญาสำหรับการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมาย
หลายบท และบทใดบทหนึ่งอยู่ในอำนาจของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ
ให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศรับพิจารณาพิพากษาข้อหาความผิดบทอื่นไว้ด้วย
	 มาตรา 36 ในการฟ้องคดีอาญาสำหรับการกระทำอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันในความผิด
ที่เกี่ยวเนื่องกัน  และบางกรรมไม่อยู่ในอำนาจของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่าง
ประเทศ  ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศจะรับพิจารณาพิพากษาทุกกรรม
หรือไม่รับพิจารณาพิพากษาเฉพาะกรรมใดกรรมหนึ่งหรือหลายกรรมที่ไม่อยู่ในอำนาจของศาล
ทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ โดยให้โจทก์แยกฟ้องเป็นคดีใหม่ยังศาลที่มีอำนาจ
ก็ได้  ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงความสะดวกและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมเป็นสำคัญ
	มาตรา 37 ระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือตามที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและ
การค้าระหว่างประเทศกำหนด เมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศพิจารณา
เห็นสมควรหรือเมื่อคู่ความร้องขอ ศาลมีอำนาจย่นหรือขยายได้ตามความจำเป็นและเพื่อประโยชน์
แห่งความยุติธรรม

	หมวด 4
	อุทธรณ์

	หมวด 4
	อุทธรณ์และฎีกา
	มาตรา 38  การอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้า
ระหว่างประเทศ ให้อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษโดยให้นำบทบัญญัติแห่งประมวล
กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งหรือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แล้วแต่กรณี มาใช้บังคับ
โดยอนุโลม
	มาตรา 39  การพิจารณาและการชี้ขาดตัดสินคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่าง
ประเทศในศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษและผลแห่งคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ 
ให้นำบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งหรือประมวล
กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แล้วแต่กรณี มาใช้บังคับโดยอนุโลม
	มาตรา 40  การฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ให้นำ
บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งหรือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 
แล้วแต่กรณี มาใช้บังคับโดยอนุโลม
	การพิจารณาและการชี้ขาดตัดสินคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศใน
ศาลฎีกาให้นำบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งหรือ
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แล้วแต่กรณี มาใช้บังคับโดยอนุโลม
	*หมวด 4 มาตรา 38 - มาตรา 40 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญา
และการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ (ฉบับที่ 2) 
พ.ศ. 2558
	มาตรา 41 - มาตรา 45 ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้า
ระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558

	บทเฉพาะกาล

	มาตรา 46 คดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่าง
ประเทศ ที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลชั้นต้นในวันเปิดทำการของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้า
ระหว่างประเทศที่ได้จัดตั้งขึ้นตาม มาตรา 5 ให้ศาลชั้นต้นนั้นคงพิจารณาพิพากษาต่อไปจนเสร็จ
โดยถือว่าคดีนั้นมิใช่คดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศตามพระราชบัญญัตินี้
แต่ถ้าคู่ความทุกฝ่ายตกลงกันร้องขอให้โอนคดีนั้นไปพิจารณาพิพากษาในศาลทรัพย์สินทางปัญญา
และการค้าระหว่างประเทศที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษา ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเปิดทำการ   ก็ให้ศาลทรัพย์สิน
ทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศนั้นรับคดีไว้พิจารณาพิพากษาต่อไป
	 มาตรา 47 ในระหว่างที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศภาคยังมิได้
เปิดทำการในท้องที่ใด ให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีเขตในท้องที่นั้นด้วย
ในคดีแพ่งโจทก์จะยื่นคำฟ้องต่อศาลจังหวัดที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลหรือต่อศาลจังหวัด
ที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลก็ได้ และในคดีอาญา โจทก์จะยื่นคำฟ้องต่อศาลจังหวัดแห่งท้องที่ที่ความ
ผิดเกิดขึ้น อ้างหรือเชื่อว่าได้เกิดขึ้น หรือจำเลยมีที่อยู่หรือถูกจับได้หรือท้องที่ที่เจ้าพนักงานทำการ
สอบสวนจำเลยก็ได้  ให้ศาลจังหวัดแจ้งไปยังศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ
กลาง   เมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางรับคดีนั้นไว้แล้วจะออกไป
ทำการไต่สวนมูลฟ้อง  นั่งพิจารณาและพิพากษาคดี ณ ศาลจังหวัดแห่งท้องที่นั้น หรือจะกำหนด
ให้ทำการไต่สวนมูลฟ้อง  นั่งพิจารณาและพิพากษาคดี ณ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้า
ระหว่างประเทศกลางก็ได้  ตามที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจะเห็น
สมควร
	ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง อาจขอให้ศาลจังหวัดแห่ง
ท้องที่ที่โจทก์ยื่นคำฟ้องไว้ หรือศาลจังหวัดอื่นใดดำเนินกระบวนพิจารณาใดๆ อันมิใช่เป็นการ
วินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแห่งคดีได้ตามความจำเป็น ในกรณีเช่นนี้ ให้ศาลจังหวัดนำวิธีพิจารณาคดี
ทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศใน หมวด 3 มาใช้บังคับแก่การดำเนินกระบวน
พิจารณาในศาลนั้น
	ให้ศาลจังหวัดที่โจทก์ยื่นฟ้องไว้หรือศาลจังหวัดอื่นตามวรรคสอง มีอำนาจออกหมายขัง
หรือปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยได้
-
	ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
	บรรหาร  ศิลปอาชา
	นายกรัฐมนตรี
-
	ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 113  ตอนที่ 55 ก
	วันที่ 25 ตุลาคม 2539
-
หมายเหตุ
	เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่คดีทรัพย์สินทางปัญญาและ
การค้าระหว่างประเทศเป็นคดีที่มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากคดีอาญาและคดีแพ่งโดยทั่วไป
ซึ่งหากได้รับการพิจารณาโดยผู้พิพากษาซึ่งมีความรู้และความเข้าใจในเรื่องเกี่ยวกับทรัพย์สิน
ทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ โดยมีบุคคลภายนอกซึ่งมีความรู้และความเข้าใจในเรื่อง
ดังกล่าว เข้ามาร่วมพิจารณาและพิพากษาคดีด้วย จะทำให้การพิจารณาคดีเป็นไปโดยรวดเร็วมี
ประสิทธิภาพและเหมาะสมยิ่งขึ้น สมควรจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่าง
ประเทศขึ้นเพื่อพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศโดยเฉพาะโดยมี
วิธีพิจารณาคดีเป็นพิเศษ เพื่อให้เกิดความสะดวกรวดเร็ว และเที่ยงธรรมยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้อง
ตราพระราชบัญญัตินี้
-
พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่าง
ประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558
-
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ได้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์
การอุทธรณ์และฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง โดยให้คดีแพ่งที่ขึ้นสู่ศาลฎีกา
จะต้องได้รับอนุญาตจากศาลฎีกาแต่ระบบการอุทธรณ์คดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่าง
ประเทศในปัจจุบันกฎหมายบัญญัติให้คู่ความมีสิทธิอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกา ซึ่งไม่สอดคล้อง
กับหลักเกณฑ์ที่แก้ไขใหม่ดังกล่าวประกอบกับได้มีการจัดตั้งศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษขึ้น
เพื่อพิจารณาพิพากษาคดีชำนัญพิเศษต่าง ๆ สมควรแก้ไขปรับปรุงหลักเกณฑ์การอุทธรณ์และ
ฎีกาในคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศให้มีความสอดคล้องเป็นระบบเดียวกัน 
รวมทั้งแก้ไขวิธีพิจารณาที่เกี่ยวข้องให้เหมาะสมยิ่งขึ้น  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
-
[1] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 132/ตอนที่ 120 ก/หน้า 16/14 ธันวาคม 2558

Leave a Reply