กรณีศึกษาจากฎีกาที่ 282/2567 คดีประกันภัย ผู้เอาประกันประมาทเลินเล่อธรรมดา ผู้รับประกันยังต้องรับผิดตามกรมธรรม์

กรณีศึกษาจากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 282/2567 ในข้อเท็จจริงตามฎีกาฉบับนี้ โจทก์ได้ลงไปติดต่อซื้อของประมาณ 6 นาที และขณะจอดรถเป็นเวลากลางวัน แม้โจทก์จะวางกุญแจไว้ที่เบาะข้างคนขับด้านหน้า และไม่ล็อกประตู ถือว่าเป็นการประมาทเลินเล่อ แต่จำเลยผู้รับประกันภัยต้องรับผิด แม้โจทก์ผู้ครอบครองรถยนต์ ในฐานะผู้เอาประกันภัยมีส่วนประมาทเลินเล่ออยู่บ้าง แต่ก็ยังถือไม่ได้ว่าเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของ จึงไม่เข้าข้อยกเว้นตามกรมธรรม์ประกันภัยจำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
 –
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 879 วรรคหนึ่ง
ผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิดในเมื่อความวินาศภัยหรือเหตุอื่นซึ่งได้ระบุไว้ในสัญญานั้นได้เกิดขึ้นเพราะความทุจริต หรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์
ฎีกาย่อสั้น
การตีความ ป.พ.พ. มาตรา 879 วรรคหนึ่ง อันเป็นบทยกเว้นความรับผิดของผู้รับประกันภัยนั้น ต้องตีความโดยเคร่งครัด การที่โจทก์ขับรถยนต์ที่ทำประกันภัยไว้กับจำเลยไปจอดที่หน้าร้านค้าอื่นซึ่งตั้งอยู่ริมถนนสาธารณะขนาดใหญ่ มีร้านค้าตั้งอยู่ติด ๆ กัน สภาพที่เกิดเหตุเป็นตลาดย่านการค้า โดยห่างจากร้านค้าที่โจทก์ไปติดต่อประมาณ 5 ถึง 8 เมตร ไม่มีสิ่งใดปิดบังจุดที่จอดรถยนต์อันจะเป็นช่องทางให้คนร้ายสามารถลงมือกระทำความผิดได้โดยง่ายแต่อย่างใด แล้วลงไปติดต่อซื้อของประมาณ 6 นาที ขณะจอดรถเป็นเวลากลางวัน แม้โจทก์จะวางกุญแจไว้ที่เบาะข้างคนขับด้านหน้า และไม่ล็อกประตู ก็ยังอยู่ในวิสัยที่โจทก์สามารถดูแลรักษารถยนต์ได้ การจอดรถในลักษณะดังกล่าวไม่ใช่การละทิ้งความครอบครองชั่วคราว แม้จะพอถือได้ว่าโจทก์มีส่วนประมาทเลินเล่ออยู่บ้าง แต่ก็ยังถือไม่ได้ว่าเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของโจทก์ จึงไม่เข้าข้อยกเว้นตามกรมธรรม์ประกันภัยจำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
ฎีกาย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 150,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงิน 150,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 16 เมษายน 2565) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวถ้ากระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อใดก็ให้ปรับเปลี่ยนไปตามนั้น แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามขอ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นผู้ครอบครองรถยนต์ วันที่ 8 กรกฎาคม 2564 โจทก์ทำสัญญาประกันภัยรถยนต์คันดังกล่าวไว้กับจำเลย มีระยะเวลาคุ้มครอง 1 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 8 กรกฎาคม 2564 และสิ้นสุดวันที่ 8 กรกฎาคม 2565 โดยกรมธรรม์ประกันภัยมีข้อตกลงว่าด้วยกรณีรถยนต์สูญหายหรือไฟไหม้ ผู้รับประกันภัยจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้ 150,000 บาท เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2565 เวลา 10.10 นาฬิกา โจทก์ขับรถยนต์ที่จำเลยรับประกันภัยแล่นไปจอดที่บริเวณหน้าร้านขายแบตเตอรี่ทุ่งสง 99 แล้วมีคนร้ายลักรถยนต์คันดังกล่าวไป ต่อมาวันที่ 26 มกราคม 2565 เจ้าพนักงานตำรวจได้รับแจ้งว่าพบรถยนต์ที่ถูกคนร้ายลักไปถูกเพลิงไหม้ที่ริมถนนสายเพชรเกษมฝั่งขาออกไปจังหวัดตรัง เยื้องโรงเรียนบ้านเหนือ อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ โจทก์แจ้งให้จำเลยซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์แล้ว แต่จำเลยปฏิเสธอ้างว่าเหตุที่รถยนต์สูญหายเป็นเพราะความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของโจทก์
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า การกระทำของโจทก์เป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงหรือไม่ เห็นว่า การที่โจทก์ขับรถยนต์ที่ทำประกันภัยไว้กับจำเลยแล่นไปจอดริมถนนบริเวณหน้าร้านขายแบตเตอรี่ทุ่งสง 99 ซึ่งตั้งอยู่ริมถนนสาธารณะขนาดใหญ่ มีร้านค้าตั้งอยู่ติด ๆ กัน ฝั่งตรงข้ามของถนนก็มีลักษณะเปิดเป็นร้านค้าเช่นเดียวกัน สภาพร้านขายของริมถนนบริเวณที่เกิดเหตุจึงมีลักษณะเป็นตลาดย่านการค้า โจทก์จอดรถเพื่อติดต่อขอซื้อแบตเตอรี่ โดยจอดรถห่างจากร้านประมาณ 5 ถึง 8 เมตร เนื่องจากไม่มีที่จอดรถ เมื่อจอดรถแล้วลงจากรถไปต่อรองราคากับเจ้าของร้านทุ่งสงแบตเตอรี่ 99 ใช้เวลาประมาณ 6 นาที จึงหันหลังกลับมาที่รถยนต์เพื่อให้พนักงานของร้านนำแบตเตอรี่ที่ตกลงซื้อไปส่งให้ แต่รถยนต์หายไปจากที่จอดแล้ว จากข้อเท็จจริงดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าจุดจอดรถยนต์อยู่ใกล้ร้านขายแบตเตอรี่และจุดที่โจทก์ติดต่อขอซื้อแบตเตอรี่กับทางเจ้าของร้านอย่างมาก การติดต่อขอซื้อแบตเตอรี่ก็เป็นที่คาดการณ์ได้ว่าใช้เวลาไม่นาน และจากข้อเท็จจริงก็ได้ความว่าใช้เวลาประมาณ 6 นาทีเท่านั้น ขณะจอดรถเป็นเวลากลางวัน ทั้งข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่ามีสิ่งใดปิดบังจุดที่จอดรถยนต์อันเป็นช่องทางให้คนร้ายสามารถลงมือกระทำความผิดได้โดยง่ายแต่อย่างใด และจุดจอดรถอยู่หน้าร้านค้าหรืออาคารที่พักอาศัยของบุคคลอื่นซึ่งอยู่ติดกับร้านขายแบตเตอรี่ จุดจอดรถจึงอยู่เยื้องจากหน้าร้านขายแบตเตอรี่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น การจอดรถยนต์ของโจทก์ในลักษณะดังกล่าวโดยวางกุญแจไว้ที่เบาะข้างคนขับด้านหน้าไม่ล็อกประตู ก็ยังอยู่ในวิสัยที่โจทก์สามารถดูแลรักษารถยนต์ซึ่งเป็นหน้าที่ของโจทก์ได้ การจอดรถยนต์ของโจทก์ในลักษณะดังกล่าวมิใช่การละทิ้งการครอบครองชั่วคราว รถยนต์ยังอยู่ในความครอบครองของโจทก์ และการตีความตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 879 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า ผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิดเมื่อความวินาศภัยหรือเหตุอื่นซึ่งได้ระบุไว้ในสัญญานั้นได้เกิดขึ้นเพราะความทุจริต หรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ และข้อสัญญาตามกรมธรรม์ประกันภัยซึ่งเป็นบทยกเว้นความรับผิดของผู้รับประกันนั้น ต้องตีความโดยเคร่งครัด ดังนั้นแม้การที่โจทก์จอดรถยนต์ โดยวางกุญแจไว้ที่รถ ไม่นำกุญแจติดตัวไปด้วยและไม่ปิดล็อกรถยนต์จะพอถือได้ว่าโจทก์มีส่วนประมาทเลินเล่ออยู่บ้าง แต่ก็ยังถือไม่ได้ว่าเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของโจทก์ กรณีไม่เข้าข้อยกเว้นความรับผิดตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายและข้อตกลงตามกรมธรรม์ประกันภัยที่จะทำให้จำเลยซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยหลุดพ้นจากความรับผิด จำเลยซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ คำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยอ้างข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น ส่วนฎีกาข้ออื่นของจำเลยไม่ทำให้ผลคำพิพากษาเปลี่ยนแปลง จึงไม่จำต้องวินิจฉัย
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 4,000 บาท แทนโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมอื่นในชั้นฎีกานอกจากนี้ให้เป็นพับ
(พรชัย พุ่มกำพล-ชาญณรงค์ ปราณีจิตต์-ชวลิต อิศรเดช)
แหล่งที่มา – กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

Leave a Reply