กรณีศึกษาจากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3782/2542 การฟ้องเรียกค่าเสียหายทางจิตใจ

ข้อสังเกตในคดีนี้
ในเรื่องการฟ้องเรียกค่าเสียหายทางจิตใจ แนวคำพิพากษาเดิมเห็นว่า ค่าเสียหายดังกล่าวไม่เป็นค่าเสียหายตามความเป็นจริงจึงไม่กำหนดให้ ปัจจุบันมีการพัฒนาแนวความคิดว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการกระทำละเมิด การทำร้ายร่างกาย การข่มขืนกระทำชำเรา การรักษาพยาบาลโดยประมาทเลินเล่อ อันส่งผลต่อสภาพจิตใจของผู้เสียหาย จึงมีการกำหนดค่าเสียหายทางจิตใจให้กับผู้เสียหายในหลาย ๆ คดี ในคดีนี้ผู้เสียหายถูกทำร้ายในความผิดเกี่ยวกับเพศ ศาลจึงกำหนดค่าเสียหายทางจิตใจให้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3782/2542 ค่าเสียหายทางจิตใจ

….สำหรับค่าเสียหายทางจิตใจนั้น เห็นว่า ขณะเกิดเหตุโจทก์ดำรงตำแหน่งอาจารย์ ๒ ระดับ ๖ โรงเรียนบางกะปิ ช่วยราชการสำนักงานเลขานุการกรมสามัญศึกษา ปฏิบัติงานเลขานุการรองอธิบดีกรมสามัญศึกษา ในตำแหน่งและฐานะดังกล่าวของโจทก์ซึ่งเป็นหญิงได้รับเลือกให้มาปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวอันเป็นงานซึ่งจะต้องพบปะและประสานงานกับบุคคลต่าง ๆ ที่จะมาติดต่องานกับรองอธิบดีกรมสามัญศึกษา แสดงว่า โจทก์จะต้องเป็นผู้ที่ได้รับความไว้วางใจและเป็นที่น่าเชื่อถือของผู้บังคับบัญชาอย่างยิ่ง จึงได้รับมอบหมายให้ทำงานดังกล่าวนั้น ฉะนั้นตามพฤติการณ์แห่งคดีจึงเชื่อได้ว่า การกระทำละเมิดของจำเลยย่อมจะเป็นผลให้โจทก์ได้รับความเสียหายทางจิตใจอย่างแน่นอน ตามคำเบิกความของนางอุทัยวรรณ พลทรัพย์ พยานของจำเลยที่จำเลยอ้างมาในฎีกานั้น เห็นว่า ไม่มีน้ำหนักพอจะฟังว่าสภาพทางจิตใจของโจทก์เป็นปกติดังที่จำเลยอ้าง เพราะนางอุทัยวรรณเป็นเพียงลูกจ้างประจำ ทำหน้าที่คอยชงกาแฟบริการแขกซึ่งมาพบรองอธิบดีและอธิบดีกรมสามัญศึกษาเท่านั้น หาใช่เป็นแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพของจิตใจแต่อย่างใด และแม้โจทก์เพิ่งจะไปพบจิตแพทย์หลังจากเกิดเหตุแล้วประมาณ ๑ ปี ๗ เดือน ก็หาเป็นการผิดปกติแต่อย่างใดไม่ เพราะอาการดังกล่าวของโจทก์เป็นเรื่องที่เกิดมาจากสภาพภายในทางจิตใจ และตามคำเบิกความของนายแพทย์ปราโมทย์ เชาวศิลป์ พยานโจทก์ซึ่งเป็นจิตแพทย์ผู้ตรวจอาการป่วยของโจทก์นั้น เป็นที่น่าเชื่อถือได้ว่า โจทก์มีอาการป่วยทางจิตโดยมีอาการซึมเศร้า เพราะถูกกระทบกระเทือนทางจิตใจ เมื่อคำนึงถึงสาเหตุที่โจทก์ถูกจำเลยใช้กำลังกายประทุษร้ายเพื่อกระทำอนาจารโจทก์ซึ่งเป็นหญิงสาว โจทก์ย่อมได้รับความกระทบกระเทือนทางจิตใจอย่างแน่นอน และคำเบิกความของนายแพทย์ปราโมทย์ที่ว่า หากโจทก์ไม่รับการรักษาทันทีแล้วโจทก์อาจฆ่าตัวตายได้นั้น ถือว่า เป็นความเห็นทางการแพทย์ หาใช่เป็นการคาดเดาดังที่จำเลยฎีกาไม่ ส่วนที่โจทก์มิได้นำพยานบุคคลและพยานเอกสารมาแสดงต่อศาลว่า โจทก์รับจ้างสอนพิเศษกี่ราย มีใครบ้าง มีรายได้รายละเท่าใดและที่โจทก์อ้างว่า มีรายได้จากการสอนพิเศษเดือนละ ๓,๐๐๐ – ๔,๐๐๐ บาท นั้น ก็หาเป็นข้อสำคัญหรือเป็นการกล่าวอ้างที่เลื่อนลอยแต่อย่างใดไม่ เพราะในฐานะและตำแหน่งของโจทก์เชื่อว่า โจทก์สามารถที่จะทำการสอนพิเศษเพื่อหารายได้ในระดับที่กล่าวอ้างนั้นได้ แต่ถึงอย่างไรก็ตามโจทก์ก็มิได้มุ่งจะกำหนดเอาอัตรารายได้จากการสอนพิเศษดังกล่าวมาเป็นฐานเพื่อคำนวณค่าเสียหายให้จำเลยต้องรับผิดแต่อย่างใด ส่วนความเสียหายเกี่ยวกับชื่อเสียงและเกียรติยศนั้น แม้โจทก์จะมิได้นำคู่รักของโจทก์หรือบุคคลอื่นมาเบิกความเป็นพยานก็ตาม แต่คดีก็ได้ความว่า หลังจากจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์จนจำเลยถูกฟ้องถูกลงโทษทั้งทางอาญาและทางวินัยแล้ว โจทก์ก็มิได้แต่งงานกับคนรักของโจทก์ และน่าเชื่อว่า เมื่อเกิดเหตุคดีนี้ขึ้นมาโจทก์จะต้องได้รับความเสียหายทางเกียรติยศและชื่อเสียง และมีผลกระทบโดยตรงต่อตำแหน่งหน้าที่การงานของโจทก์อย่างแน่นอน และแม้โจทก์จะมิได้นำพยานบุคคลหรือเอกสารมาสืบประกอบว่า ความเสียหายของโจทก์มีจำนวนแน่นอนเท่าใดก็ตาม แต่ศาลก็มีอำนาจกำหนดค่าเสียหายเพื่อความเสียหายที่เกิดขึ้นให้จำเลยชดใช้แก่โจทก์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยชดใช้ความเสียหายทางกายและจิตใจเป็นเงิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท นั้น เห็นว่า สมควรแล้วส่วนที่กำหนดให้จำเลยชดใช้ความเสียหายด้านชื่อเสียงและเกียรติยศเป็นเงิน ๑๐๐,๐๐๐บาท นั้น เห็นว่า สูงเกินไปเห็นสมควรลดลงมาเป็น ๗๕,๐๐๐ บาท รวมเป็นค่าเสียหายที่จำเลยต้องชำระให้โจทก์เป็นเงินทั้งสิ้น ๒๗๕,๐๐๐ บาท


ผู้หมายเหตุ
ดร.พิชัย โชติชัยพร (Notarial Services Attorney)
Tel./Line 0862310999
Advanced Legal Law Office

www.advancedlaw9.com

Leave a Reply