กันยายน 8, 2020 In ประมวลกฎหมาย

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

        บรรพ 3
	เอกเทศสัญญา
	ลักษณะ 1
	ซื้อขาย
	หมวด 1
	สภาพและหลักสำคัญของสัญญาซื้อขาย
	ส่วนที่ 1
	บทเบ็ดเสร็จทั่วไป

	มาตรา 453 อันว่าซื้อขายนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลฝ่ายหนึ่งเรียกว่าผู้ขายโอนกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สิน
ให้แก่บุคคลอีกฝ่ายหนึ่งเรียกว่าผู้ซื้อและผู้ซื้อตกลงว่าจะใช้ราคาทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้ขาย
	มาตรา 454 การที่คู่กรณีฝ่ายหนึ่งให้คำมั่นไว้ก่อนว่าจะซื้อหรือขายนั้นจะมีผลเป็นการซื้อขายต่อเมื่อ
อีกฝ่ายหนึ่งได้บอกกล่าวความจำนงว่าจะทำการซื้อขายนั้นให้สำเร็จตลอดไปและคำบอกกล่าว
เช่นนั้นได้ไปถึงบุคคลผู้ให้คำมั่นแล้ว
	ถ้าในคำมั่นมิได้กำหนดเวลาไว้เพื่อการบอกกล่าวเช่นนั้นไซร้ ท่านว่าบุคคลผู้ให้คำมั่น
จะกำหนดเวลาพอสมควร และบอกกล่าวไปยังคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งให้ตอบมาเป็นแน่นอนภายใน
เวลากำหนดนั้นก็ได้ว่าจะทำการซื้อขายให้สำเร็จตลอดไปหรือไม่  ถ้าและไม่ตอบเป็นแน่นอนภาย
ในกำหนดเวลานั้นไซร้  คำมั่นซึ่งได้ให้ไว้ก่อนนั้นก็เป็นอันไร้ผล
	มาตรา 455 เมื่อกล่าวต่อไปเบื้องหน้าถึงเวลาซื้อขาย ท่านหมายความว่าเวลาซึ่งทำสัญญาซื้อขาย
สำเร็จบริบูรณ์
	มาตรา 456 การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อเจ้าหน้าที่เป็นโมฆะ
วิธีนี้ให้ใช้ถึงซื้อขายเรือมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป ทั้งซื้อขายแพและสัตว์พาหนะด้วย
	สัญญาจะซื้อจะขายหรือจะซื้อ หรือคำมั่นในการซื้อขายทรัพย์สินตามที่ระบุไว้ในวรรคหนึ่ง
ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญ หรือได้วาง
ประจำไว้หรือได้ชำระหนี้บางส่วนแล้ว จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่
	บทบัญญัติที่กล่าวมาในวรรคก่อนนี้ ให้ใช้บังคับถึงสัญญาซื้อขายสังหาริมทรัพย์ซึ่งตกลงกัน
เป็นราคาสองหมื่นบาท หรือกว่านั้นขึ้นไปด้วย
	“แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
(ฉบับที่ 14) พ.ศ.2548”
	มาตรา 457 ค่าฤชาธรรมเนียมทำสัญญาซื้อขายนั้น ผู้ซื้อผู้ขายพึงออกใช้เท่ากันทั้งสองฝ่าย

	ส่วนที่ 2
	การโอนกรรมสิทธิ์

	มาตรา 458 กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ขายนั้น  ย่อมโอนไปยังผู้ซื้อตั้งแต่ขณะเมื่อได้ทำสัญญาซื้อขายกัน
	มาตรา 459 สัญญาซื้อขายมีเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาบังคับไว้  ท่านว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินยังไม่โอนไป
จนกว่าการจะได้เป็นไปตามเงื่อนไข หรือถึงกำหนดเงื่อนเวลานั้น
	มาตรา 460 ในการซื้อขายทรัพย์สินซึ่งมิได้กำหนดลงไว้แน่นอนนั้น ท่านว่ากรรมสิทธิ์ยังไม่โอนไปจน
กว่าจะได้หมาย หรือนับ ชั่ง ตวง วัด หรือคัดเลือก หรือทำโดยวิธีอื่นเพื่อให้บ่งตัวทรัพย์สินนั้นออกเป็นแน่นอนแล้ว
	ในการซื้อขายทรัพย์สินเฉพาะสิ่ง  ถ้าผู้ขายยังจะต้องนับ ชั่ง ตวง วัด หรือทำการอย่างอื่น
หรือทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดอันเกี่ยวแก่ทรัพย์สินเพื่อให้รู้กำหนดราคาทรัพย์สินนั้นแน่นอน ท่านว่ากรรมสิทธิ์
ยังไม่โอนไปยังผู้ซื้อจนกว่าการหรือสิ่งนั้นได้ทำแล้ว

	หมวด 2
	หน้าที่และความรับผิดของผู้ขาย
	ส่วนที่ 1
	การส่งมอบ

	มาตรา 461 ผู้ขายจำต้องส่งมอบทรัพย์สินซึ่งขายนั้นให้แก่ผู้ซื้อ
	มาตรา 462 การส่งมอบนั้นจะทำอย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้ สุดแต่ว่าเป็นผลให้ทรัพย์สินนั้นไปอยู่ใน
เงื้อมมือของผู้ซื้อ
	มาตรา 463 ถ้าในสัญญากำหนดว่าให้ส่งทรัพย์สินซึ่งขายนั้นจากที่แห่งหนึ่งไปถึงอีกแห่งหนึ่งไซร้
ท่านว่าการส่งมอบย่อมสำเร็จ  เมื่อได้ส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้ขนส่ง
	มาตรา 464 ค่าขนส่งทรัพย์สินซึ่งได้ซื้อขายกันไปยังที่แห่งอื่นนอกจากสถานที่อันพึงชำระหนี้นั้น
ผู้ซื้อพึงออกใช้
	มาตรา 465 ในการซื้อขายสังหาริมทรัพย์นั้น
	(1)  หากว่าผู้ขายส่งมอบทรัพย์สินน้อยกว่าที่ได้สัญญาไว้ ท่านว่าผู้ซื้อจะปัดเสียไม่รับ
เอาเลยก็ได้ แต่ถ้าผู้ซื้อรับเอาทรัพย์สินนั้นไว้  ผู้ซื้อก็ต้องใช้ราคาตามส่วน
	(2)  หากว่าผู้ขายส่งมอบทรัพย์สินมากกว่าที่ได้สัญญาไว้ ท่านว่าผู้ซื้อจะรับเอาทรัพย์สิน
นั้นไว้แต่เพียงตามสัญญาและนอกกว่านั้นปัดเสียก็ได้ หรือจะปัดเสียทั้งหมดไม่รับเอาไว้เลยก็ได้
ถ้าผู้ซื้อรับเอาทรัพย์สินอันเขาส่งมอบเช่นนั้นไว้ทั้งหมด  ผู้ซื้อก็ต้องใช้ราคาตามส่วน
	(3)  หากว่าผู้ขายส่งมอบทรัพย์สินตามที่ได้สัญญาไว้ระคนกับทรัพย์สินอย่างอื่นอันมิได้
รวมอยู่ในข้อสัญญาไซร้ ท่านว่าผู้ซื้อจะรับเอาทรัพย์สินไว้แต่ตามสัญญา และนอกกว่านั้นปัดเสีย
ก็ได้ หรือจะปัดเสียทั้งหมดก็ได้
	มาตรา 466 ในการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์นั้น  หากว่าได้ระบุจำนวนเนื้อที่ทั้งหมดไว้  และผู้ขายส่ง
มอบทรัพย์สินน้อยหรือมากไปกว่าที่ได้สัญญาไซร้ ท่านว่าผู้ซื้อจะปัดเสีย หรือจะรับเอาไว้และใช้
ราคาตามส่วนก็ได้ตามแต่จะเลือก
	อนึ่ง ถ้าขาดตกบกพร่องหรือล้ำจำนวนไม่เกินกว่าร้อยละห้าแห่งเนื้อที่ทั้งหมดอันได้ระบุไว้
นั้นไซร้  ท่านว่าผู้ซื้อจำต้องรับเอาและใช้ราคาตามส่วน แต่ว่าผู้ซื้ออาจจะเลิกสัญญาเสียได้ในเมื่อ
ขาดตกบกพร่องหรือล้ำจำนวนถึงขนาดซึ่งหากผู้ซื้อได้ทราบก่อนแล้วคงจะมิได้เข้าทำสัญญานั้น
	มาตรา 467 ในข้อรับผิดเพื่อการที่ทรัพย์ขาดตกบกพร่องหรือล้ำจำนวนนั้น  ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดี
เมื่อพ้นกำหนดปีหนึ่งนับแต่เวลาส่งมอบ
	มาตรา 468 ถ้าในสัญญาไม่มีกำหนดเงื่อนเวลาให้ใช้ราคาไซร้ ผู้ขายชอบที่จะยึดหน่วงทรัพย์สินขาย
ไว้ได้จนกว่าจะใช้ราคา
	มาตรา 469 ถ้าผู้ซื้อล้มละลายก่อนส่งมอบทรัพย์สินก็ดี หรือผู้ซื้อเป็นคนล้มละลายแล้วในเวลาซื้อขาย
โดยผู้ขายไม่รู้ก็ดี  หรือผู้ซื้อกระทำให้หลักทรัพย์ที่ให้ไว้เพื่อประกันการใช้เงินนั้นเสื่อมเสียหรือลด
น้อยลงก็ดี ถึงแม้ในสัญญาจะมีกำหนดเงื่อนเวลาให้ใช้ราคา ผู้ขายก็ชอบที่จะยึดหน่วงทรัพย์สินซึ่ง
ขายไว้ได้  เว้นแต่ผู้ซื้อจะหาประกันที่สมควรให้ได้
	มาตรา 470 ถ้าผู้ซื้อผิดนัด  ผู้ขายซึ่งได้ยึดหน่วงทรัพย์สินไว้ตามมาตราทั้งหลายที่กล่าวมา อาจจะใช้
ทางแก้ต่อไปนี้แทนทางแก้สามัญในการไม่ชำระหนี้ได้  คือมีจดหมายบอกกล่าวไปยังผู้ซื้อให้ใช้
ราคา กับทั้งค่าจับจ่ายเกี่ยวกับการภายในเวลาอันควรซึ่งต้องกำหนดลงไว้ในคำบอกกล่าวนั้นด้วย
	ถ้าผู้ซื้อละเลยเสียไม่ทำตามคำบอกกล่าว ผู้ขายอาจนำทรัพย์สินนั้นออกขายทอดตลาดได้
	มาตรา 471 เมื่อขายทอดตลาดได้เงินเป็นจำนวนสุทธิเท่าใด ให้ผู้ขายหักเอาจำนวนที่ค้างชำระแก่ตน
เพื่อราคาและค่าจับจ่ายเกี่ยวการนั้นไว้ ถ้าและยังมีเงินเหลือ ก็ให้ส่งมอบแก่ผู้ซื้อโดยพลัน

	ส่วนที่ 2
	ความรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่อง
	
	มาตรา 472 ในกรณีที่ทรัพย์สินซึ่งขายนั้นชำรุดบกพร่องอย่างหนึ่งอย่างใดอันเป็นเหตุให้เสื่อมราคา
หรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติก็ดี ประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญาก็ดี
ท่านว่าผู้ขายต้องรับผิด
	ความที่กล่าวมาในมาตรานี้ย่อมใช้ได้ ทั้งที่ผู้ขายรู้อยู่แล้วหรือไม่รู้ว่าความชำรุดบกพร่องมีอยู่
	มาตรา 473 ผู้ขายย่อมไม่ต้องรับผิดในกรณีดั่งจะกล่าวต่อไปนี้  คือ
	(1)  ถ้าผู้ซื้อได้รู้อยู่แล้วแต่ในเวลาซื้อขายว่ามีความชำรุดบกพร่อง หรือควรจะได้รู้เช่นนั้น
หากได้ใช้ความระมัดระวังอันพึงคาดหมายได้แต่วิญญูชน
	(2)  ถ้าความชำรุดบกพร่องนั้นเป็นอันเห็นประจักษ์แล้วในเวลาส่งมอบ และผู้ซื้อรับเอา
ทรัพย์สินนั้นไว้โดยมิได้อิดเอื้อน
	(3)  ถ้าทรัพย์สินนั้นได้ขายทอดตลาด	
	มาตรา 474 ในข้อรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องนั้น  ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นเวลาปีหนึ่งนับแต่เวลาที่
ได้พบเห็นความชำรุดบกพร่อง

	ส่วนที่ 3
	ความรับผิดในการรอนสิทธิ

	มาตรา 475 หากว่ามีบุคคลผู้ใดมาก่อการรบกวนขัดสิทธิของผู้ซื้อในอันจะครองทรัพย์สินโดยปกติสุข
เพราะบุคคลผู้นั้นมีสิทธิเหนือทรัพย์สินที่ได้ซื้อขายกันนั้นอยู่ในเวลาซื้อขายก็ดี เพราะความผิดของ
ผู้ขายก็ดี  ท่านว่าผู้ขายจะต้องรับผิดในผลอันนั้น
	มาตรา 476 ถ้าสิทธิของผู้ก่อการรบกวนนั้น  ผู้ซื้อรู้อยู่แล้วในเวลาซื้อขาย ท่านว่าผู้ขายไม่ต้องรับผิด
	มาตรา 477 เมื่อใดการรบกวนขัดสิทธินั้นเกิดเป็นคดีขึ้นระหว่างผู้ซื้อกับบุคคลภายนอก ผู้ซื้อชอบที่จะ
ขอให้ศาลเรียกผู้ขายเข้าเป็นจำเลยร่วมหรือเป็นโจทก์ร่วมกับผู้ซื้อในคดีนั้นได้  เพื่อศาลจะได้วินิจฉัย
ชี้ขาดข้อพิพาทระหว่างผู้เป็นคู่กรณีทั้งหลายรวมไปเป็นคดีเดียวกัน
	มาตรา 478 ถ้าผู้ขายเห็นเป็นการสมควร จะสอดเข้าไปในคดีเพื่อปฏิเสธการเรียกร้องของบุคคลภาย
นอกก็ชอบที่จะทำได้ด้วย
	มาตรา 479 ถ้าทรัพย์สินซึ่งซื้อขายกันหลุดไปจากผู้ซื้อทั้งหมดหรือแต่บางส่วน เพราะเหตุการรอนสิทธิ
ก็ดี หรือว่าทรัพย์สินนั้นตกอยู่ในบังคับแห่งสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งเป็นเหตุให้เสื่อมราคา หรือ
เสื่อมความเหมาะสมแก่การที่จะใช้ หรือเสื่อมความสะดวกในการใช้สอย หรือเสื่อมประโยชน์
อันจะพึงได้แต่ทรัพย์สินนั้น และซึ่งผู้ซื้อหาได้รู้ในเวลาซื้อขายไม่ก็ดี ท่านว่าผู้ขายต้องรับผิด
	มาตรา 480 ถ้าอสังหาริมทรัพย์ต้องศาลแสดงว่าตกอยู่ในบังคับแห่งภารจำยอมโดยกฎหมายไซร้
ท่านว่าผู้ขายไม่ต้องรับผิด เว้นไว้แต่ผู้ขายจะได้รับรองไว้ในสัญญาว่าทรัพย์สินนั้นปลอดจากภาร
จำยอมอย่างใดๆ ทั้งสิ้น หรือปลอดจากภารจำยอมอันนั้น
	มาตรา 481 ถ้าผู้ขายไม่ได้เป็นคู่ความในคดีเดิม หรือถ้าผู้ซื้อได้ประนีประนอมยอมความกับบุคคล
ภายนอก หรือยอมตามที่บุคคลภายนอกเรียกร้องไซร้ ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีในข้อรับผิดเพื่อการ
รอนสิทธิเมื่อพ้นกำหนดสามเดือนนับแต่วันคำพิพากษาในคดีเดิมถึงที่สุด หรือนับแต่วัน
ประนีประนอมยอมความ หรือวันที่ยอมตามบุคคลภายนอกเรียกร้องนั้น
	มาตรา 482 ผู้ขายไม่ต้องรับผิดในการรอนสิทธิเมื่อกรณีเป็นดั่งกล่าวต่อไปนี้ คือ
	(1)  ถ้าไม่มีการฟ้องคดี และผู้ขายพิสูจน์ได้ว่าสิทธิของผู้ซื้อได้สูญไปโดยความผิดของ
ผู้ซื้อเอง หรือ
	(2)  ถ้าผู้ซื้อไม่ได้เรียกผู้ขายเข้ามาในคดี และผู้ขายพิสูจน์ได้ว่า ถ้าได้เรียกเข้ามา คดี
ฝ่ายผู้ซื้อจะชนะ หรือ
	(3)  ถ้าผู้ขายได้เข้ามาในคดี แต่ศาลได้ยกคำเรียกร้องของผู้ซื้อเสียเพราะความผิดของผู้
ซื้อเอง
	แต่ถึงกรณีจะเป็นอย่างไรก็ดี  ถ้าผู้ขายถูกศาลหมายเรียกให้เข้ามาในคดีและไม่ยอมเข้าว่า
คดีร่วมเป็นจำเลยหรือร่วมเป็นโจทก์กับผู้ซื้อไซร้ ท่านว่าผู้ขายคงต้องรับผิด

	ส่วนที่ 4
	ข้อสัญญาว่าจะไม่ต้องรับผิด

	มาตรา 483 คู่สัญญาซื้อขายจะตกลงกันว่าผู้ขายจะไม่ต้องรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องหรือเพื่อ
การรอนสิทธิก็ได้
	มาตรา 484 ข้อสัญญาว่าจะไม่ต้องรับผิดนั้นย่อมไม่คุ้มผู้ขายให้พ้นจากการต้องส่งเงินคืนตามราคา
เว้นแต่จะได้ระบุไว้เป็นอย่างอื่น
	มาตรา 485 ข้อสัญญาว่าจะไม่ต้องรับผิดนั้นไม่อาจคุ้มความรับผิดของผู้ขายในผลของการอันผู้ขาย
ได้กระทำไปเอง หรือผลแห่งข้อความจริงอันผู้ขายได้รู้อยู่และปกปิดเสีย

	หมวด 3
	หน้าที่ของผู้ซื้อ

	มาตรา 486 ผู้ซื้อจำต้องรับมอบทรัพย์สินที่ตนได้รับซื้อและใช้ราคาตามข้อสัญญาซื้อขาย
	มาตรา 487 อันราคาทรัพย์สินที่ขายนั้นจะกำหนดลงไว้ในสัญญาก็ได้ หรือจะปล่อยไปให้กำหนดกัน
ด้วยวิธีอย่างใดอย่างหนึ่งดั่งได้ตกลงกันไว้ในสัญญานั้นก็ได้ หรือจะถือเอาตามทางการที่คู่สัญญา
ประพฤติต่อกันอยู่นั้นก็ได้
	ถ้าราคามิได้มีกำหนดเด็ดขาดอย่างใดดั่งว่ามานั้นไซร้ ท่านว่าผู้ซื้อจะต้องใช้ราคาตามสมควร
	มาตรา 488 ถ้าผู้ซื้อพบเห็นความชำรุดบกพร่องในทรัพย์สินซึ่งตนได้รับซื้อ ผู้ซื้อชอบที่จะยึดหน่วง
ราคาที่ยังไม่ได้ชำระไว้ได้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน เว้นแต่ผู้ขายจะหาประกันที่สมควรให้ได้
	มาตรา 489 ถ้าผู้ซื้อถูกผู้รับจำนองหรือบุคคลผู้เรียกร้องเอาทรัพย์สินที่ขายนั้นขู่ว่าจะฟ้องเป็นคดีขึ้น
ก็ดี หรือมีเหตุอันควรเชื่อว่าจะถูกขู่เช่นนั้นก็ดี  ผู้ซื้อก็ชอบที่จะยึดหน่วงราคาไว้ทั้งหมดหรือบางส่วน
ได้ดุจกันจนกว่าผู้ขายจะได้บำบัดภัยอันนั้นให้สิ้นไปหรือจนกว่าผู้ขายจะหาประกันที่สมควรให้ได้
	มาตรา 490 ถ้าได้กำหนดกันไว้ว่าให้ส่งมอบทรัพย์สินซึ่งขายนั้นเวลาใด ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า
เวลาอันเดียวกันนั้นเองเป็นเวลากำหนดใช้ราคา

	หมวด 4
	การซื้อขายเฉพาะบางอย่าง
	ส่วนที่ 1
	ขายฝาก

	มาตรา 491 อันว่าขายฝากนั้น คือสัญญาซื้อขายซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตกไปยังผู้ซื้อ โดยมีข้อตก
ลงกันว่าผู้ขายอาจไถ่ทรัพย์นั้นคืนได้
	มาตรา 492 ในกรณีที่มีการไถ่ทรัพย์สินซึ่งขายฝากภายในเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาหรือภายใน
เวลาที่กฎหมายกำหนด หรือผู้ไถ่ได้วางทรัพย์อันเป็นสินไถ่ต่อสำนักงานวางทรัพย์ภายในกำหนด
เวลาไถ่โดยสละสิทธิถอนทรัพย์ที่ได้วางไว้ ให้ทรัพย์สินซึ่งขายฝากตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ไถ่ตั้งแต่
เวลาที่ผู้ไถ่ได้ชำระสินไถ่หรือวางทรัพย์อันเป็นสินไถ่ แล้วแต่กรณี
	ในกรณีที่วางทรัพย์ตามวรรคหนึ่ง ให้เจ้าพนักงานของสำนักงานวางทรัพย์แจ้งให้ผู้รับไถ่
ทราบถึงการวางทรัพย์โดยพลัน โดยผู้ไถ่ไม่ต้องปฏิบัติตาม มาตรา 333 วรรคสาม
	**แก้ไขโดย มาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
(ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2541
	มาตรา 493 ในการขายฝาก คู่สัญญาจะตกลงกันไม่ให้ผู้ซื้อจำหน่ายทรัพย์สินซึ่งขายฝากก็ได้ ถ้าและ
ผู้ซื้อจำหน่ายทรัพย์สินนั้นฝ่าฝืนสัญญาไซร้  ก็ต้องรับผิดต่อผู้ขายในความเสียหายใดๆ อันเกิดแต่การนั้น
	มาตรา 494 ท่านห้ามมิให้ใช้สิทธิไถ่ทรัพย์สินซึ่งขายฝากเมื่อพ้นเวลาดั่งจะกล่าวต่อไปนี้
	(1)  ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์   กำหนดสิบปีนับแต่เวลาซื้อขาย
	(2)  ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์  กำหนดสามปีนับแต่เวลาซื้อขาย
	มาตรา 495 ถ้าในสัญญามีกำหนดเวลาไถ่เกินไปกว่านั้น ท่านให้ลดลงมาเป็นสิบปีและสามปีตาม
ประเภททรัพย์
	มาตรา 496 กำหนดเวลาไถ่นั้น อาจทำสัญญาขยายกำหนดเวลาไถ่ได้ แต่กำหนดเวลาไถ่รวมกันทั้ง
หมด  ถ้าไม่เกินกำหนดเวลาตาม มาตรา 494 ให้ลดลงมาเป็นกำหนดเวลาตาม มาตรา 494
	การขยายกำหนดเวลาไถ่ตามวรรคหนึ่งอย่างน้อยต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อ
ผู้รับไถ่  ถ้าเป็นทรัพย์สินซึ่งการซื้อขายกันจะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้า
ที่  ห้ามมิให้ยกการขยายเวลาขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและ
โดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว เว้นแต่จะได้นำหนังสือหรือหลักฐานเป็นหนังสือดัง
กล่าวไปจดทะเบียนหรือจดแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่
	**แก้ไขโดย มาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
(ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2541	
	มาตรา 497 สิทธิในการไถ่ทรัพย์สินนั้น จะพึงใช้ได้แต่บุคคลเหล่านี้ คือ
	(1)  ผู้ขายเดิม หรือทายาทของผู้ขายเดิม หรือ
	(2)  ผู้รับโอนสิทธินั้น หรือ
	(3)  บุคคลซึ่งในสัญญายอมไว้โดยเฉพาะว่าให้เป็นผู้ไถ่ได้
	มาตรา 498 สิทธิในการไถ่ทรัพย์สินนั้น จะพึงใช้ได้เฉพาะต่อบุคคลเหล่านี้ คือ
	(1)  ผู้ซื้อเดิม หรือทายาทของผู้ซื้อเดิม หรือ
	(2)  ผู้รับโอนทรัพย์สิน หรือรับโอนสิทธิเหนือทรัพย์สินนั้น แต่ในข้อนี้ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์
จะใช้สิทธิได้ต่อเมื่อผู้รับโอนได้รู้ในเวลาโอนว่าทรัพย์สินตกอยู่ในบังคับแห่งสิทธิไถ่คืน
	มาตรา 499 สินไถ่นั้น  ถ้าไม่ได้กำหนดกันไว้ว่าเท่าใดไซร้ ท่านให้ไถ่ตามราคาที่ขายฝาก
	ถ้าปรากฏในเวลาไถ่ว่าสินไถ่หรือราคาขายฝากที่กำหนดไว้สูงกว่าราคาขายฝากที่แท้จริง
เกินอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี ให้ไถ่ได้ตามราคาขายฝากที่แท้จริงรวมประโยชน์ตอบแทนร้อยละสิบห้าต่อปี
	**วรรคสอง เพิ่มเติมโดย มาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่ง
และพาณิชย์ (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2541
	มาตรา 500 ค่าฤชาธรรมเนียมการขายฝากซึ่งผู้ซื้อได้ออกไปนั้น ผู้ไถ่ต้องใช้ให้แก่ผู้ซื้อพร้อมกับสินไถ่
	ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมการไถ่ทรัพย์นั้น  ผู้ไถ่พึงออกใช้
	มาตรา 501 ทรัพย์สินซึ่งไถ่นั้น  ท่านว่าต้องส่งคืนตามสภาพที่เป็นอยู่ในเวลาไถ่ แต่ถ้าหากว่าทรัพย์สิน
นั้นถูกทำลายหรือทำให้เสื่อมเสียไปเพราะความผิดของผู้ซื้อไซร้  ท่านว่าผู้ซื้อจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน
	มาตรา 502 ทรัพย์สินซึ่งไถ่นั้น  ท่านว่าบุคคลผู้ไถ่ย่อมได้รับคืนไปโดยปลอดจากสิทธิใดๆ ซึ่งผู้ซื้อ
เดิม หรือทายาทหรือผู้รับโอนจากผู้ซื้อเดิมก่อให้เกิดขึ้นก่อนเวลาไถ่
	ถ้าว่าเช่าทรัพย์สินที่อยู่ในระหว่างขายฝากอันได้จดทะเบียนเช่าต่อพนักงานเจ้าหน้าที่
แล้วไซร้  ท่านว่าการเช่านั้นหากมิได้ทำขึ้นเพื่อจะให้เสียหายแก่ผู้ขาย  กำหนดเวลาเช่ายังคงมีเหลือ
อยู่อีกเพียงใด ก็ให้คงเป็นอันสมบูรณ์อยู่เพียงนั้น แต่มิให้เกินกว่าปีหนึ่ง

	ส่วนที่ 2
	ขายตามตัวอย่าง ขายตามคำพรรณนา ขายเผื่อชอบ

	มาตรา 503 ในการขายตามตัวอย่างนั้น ผู้ขายต้องส่งมอบทรัพย์สินให้ตรงตามตัวอย่าง
	ในการขายตามคำพรรณนา ผู้ขายจำต้องส่งมอบทรัพย์สินให้ตรงตามคำพรรณนา
	มาตรา 504 ในข้อรับผิดเพื่อการส่งของไม่ตรงตามตัวอย่างหรือไม่ตรงตามคำพรรณนานั้น  ท่านห้าม
มิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดปีหนึ่งนับแต่เวลาส่งมอบ
	มาตรา 505 อันว่าขายเผื่อชอบนั้น คือการซื้อขายกันโดยมีเงื่อนไขว่าให้ผู้ซื้อได้มีโอกาสตรวจดูทรัพย์
สินก่อนรับซื้อ
	มาตรา 506 การตรวจดูทรัพย์สินนั้น  ถ้าไม่ได้กำหนดเวลากันไว้ ผู้ขายอาจกำหนดเวลาอันสมควร
และบอกกล่าวแก่ผู้ซื้อให้ตอบภายในกำหนดนั้นได้ว่าจะรับซื้อหรือไม่
	มาตรา 507 ทรัพย์สินอันผู้ซื้อจะพึงตรวจดูก่อนที่จะส่งมอบแก่กันนั้น ถ้าผู้ซื้อไม่ตรวจรับภายในเวลาที่
กำหนดไว้โดยสัญญา หรือโดยประเพณี หรือโดยคำบอกกล่าวของผู้ขาย  ท่านว่าผู้ขายย่อมไม่มี
ความผูกพันต่อไป
	มาตรา 508 เมื่อทรัพย์สินนั้นได้ส่งมอบแก่ผู้ซื้อเพื่อให้ตรวจดูแล้ว การซื้อขายย่อมเป็นอันบริบูรณ์ใน
กรณีต่อไปนี้ คือ
	(1)  ถ้าผู้ซื้อมิได้บอกกล่าวว่าไม่ยอมรับซื้อภายในเวลาที่กำหนดไว้โดยสัญญา หรือโดย
ประเพณี หรือโดยคำบอกกล่าว หรือ
	(2)  ถ้าผู้ซื้อไม่ส่งทรัพย์สินคืนภายในกำหนดเวลาดั่งกล่าวมานั้น หรือ
	(3)  ถ้าผู้ซื้อใช้ราคาทรัพย์สินนั้นสิ้นเชิง หรือแต่บางส่วน หรือ
	(4)  ถ้าผู้ซื้อจำหน่ายทรัพย์สินนั้น หรือทำประการอื่นอย่างใดอันเป็นปริยายว่ารับซื้อของนั้น

	ส่วนที่ 3
	ขายทอดตลาด

	มาตรา 509 การขายทอดตลาดย่อมบริบูรณ์เมื่อผู้ทอดตลาดแสดงความตกลงด้วยเคาะไม้ หรือด้วย
กิริยาอื่นอย่างใดอย่างหนึ่งตามจารีตประเพณีในการขายทอดตลาด ถ้ายังมิได้แสดงเช่นนั้นอยู่
ตราบใด ท่านว่าผู้สู้ราคาจะถอนคำสู้ราคาของตนเสียก็ยังถอนได้
	มาตรา 510 ผู้ซื้อในการขายทอดตลาดจะต้องทำตามคำโฆษณาบอกขาย และตามความข้ออื่นๆ
ซึ่งผู้ทอดตลาดได้แถลงก่อนเผดิมการสู้ราคาทรัพย์สินเฉพาะรายไป
	มาตรา 511 ท่านห้ามมิให้ผู้ทอดตลาดเข้าสู้ราคา หรือใช้ให้ผู้หนึ่งผู้ใดเข้าสู้ราคาในการทอดตลาดซึ่ง
ตนเป็นผู้อำนวยการเอง
	มาตรา 512 ท่านห้ามมิให้ผู้ขายเข้าสู้ราคาเอง หรือใช้ให้ผู้หนึ่งผู้ใดเข้าสู้ราคา เว้นแต่จะได้แถลงไว้
โดยเฉพาะในคำโฆษณาบอกการทอดตลาดนั้นว่า ผู้ขายถือสิทธิที่จะเข้าสู้ราคาด้วย
	มาตรา 513 เมื่อใดผู้ทอดตลาดเห็นว่าราคาซึ่งมีผู้สู้สูงสุดนั้นยังไม่เพียงพอ ผู้ทอดตลาดอาจถอน
ทรัพย์สินจากการทอดตลาดได้
	มาตรา 514 ผู้สู้ราคาย่อมพ้นความผูกพันในราคาซึ่งตนสู้แต่ขณะเมื่อมีผู้อื่นสู้ราคาสูงขึ้นไป ไม่ว่าการที่
ผู้อื่นสู้นั้นจะสมบูรณ์หรือมิสมบูรณ์ประการใด อีกประการหนึ่งเมื่อใดถอนทรัพย์สินรายนั้นจากการ
ทอดตลาด  ผู้สู้ราคาก็พ้นความผูกพันแต่ขณะที่ถอนนั้นดุจกัน
	มาตรา 515 ผู้สู้ราคาสูงสุดต้องใช้ราคาเป็นเงินสดเมื่อการซื้อขายบริบูรณ์ หรือตามเวลาที่กำหนดไว้
ในคำโฆษณาบอกขาย
	มาตรา 516 ถ้าผู้สู้ราคาสูงสุดละเลยเสียไม่ใช้ราคาไซร้ ท่านให้ผู้ทอดตลาดเอาทรัพย์สินนั้นออกขาย
อีกซ้ำหนึ่ง  ถ้าและได้เงินเป็นจำนวนสุทธิไม่คุ้มราคาและค่าขายทอดตลาดชั้นเดิม  ผู้สู้ราคาเดิม
คนนั้นต้องรับผิดในส่วนที่ขาด
	มาตรา 517 ถ้าเงินรายได้ในการทอดตลาดส่วนหนึ่งส่วนใดค้างชำระอยู่ เพราะเหตุผู้ทอดตลาดละ
เลยไม่บังคับตามบทใน มาตรา 515 หรือ มาตรา 516 ไซร้ ท่านว่าผู้ทอดตลาดจะต้องรับผิด

	ลักษณะ 2
	แลกเปลี่ยน

	มาตรา 518 อันว่าแลกเปลี่ยนนั้นคือสัญญาซึ่งคู่กรณีต่างโอนกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินให้กันและกัน
	มาตรา 519 บทบัญญัติทั้งหลายในลักษณะซื้อขายนั้น  ท่านให้ใช้ถึงการแลกเปลี่ยนด้วย โดยให้ถือ
ว่าผู้เป็นคู่สัญญาแลกเปลี่ยนเป็นผู้ขายในส่วนทรัพย์สินซึ่งตนได้ส่งมอบ และเป็นผู้ซื้อในส่วน
ทรัพย์สินซึ่งตนได้รับในการแลกเปลี่ยนนั้น
	มาตรา 520 ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งในสัญญาแลกเปลี่ยนตกลงจะโอนเงินเพิ่มเข้ากับทรัพย์สินสิ่งอื่นให้
แก่อีกฝ่ายหนึ่งไซร้ บททั้งหลายอันว่าด้วยราคาในลักษณะซื้อขายนั้น ให้ใช้ถึงเงินเช่นว่านั้นด้วย

	ลักษณะ 3
	ให้

	มาตรา 521 อันว่าให้นั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ให้โอน ทรัพย์สินของตนให้โดยเสน่หา
แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้รับ และผู้รับยอมรับเอาทรัพย์สินนั้น
	มาตรา 522 การให้นั้นจะทำด้วยปลดหนี้ให้แก่ผู้รับ หรือด้วยชำระหนี้ซึ่งผู้รับค้างชำระอยู่ก็ได้
	มาตรา 523 การให้นั้น ท่านว่าย่อมสมบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ให้
	มาตรา 524 การให้สิทธิอันมีหนังสือตราสารเป็นสำคัญนั้น ถ้ามิได้ส่งมอบตราสารให้แก่ผู้รับ และมิได้
มีหนังสือบอกกล่าวแก่ลูกหนี้แห่งสิทธินั้น ท่านว่าการให้ย่อมไม่สมบูรณ์
	มาตรา 525 การให้ทรัพย์สินซึ่งถ้าจะซื้อขายกันจะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงาน
เจ้าหน้าที่นั้น  ท่านว่าย่อมสมบูรณ์ต่อเมื่อได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่
ในกรณีเช่นนี้การให้ย่อมเป็นอันสมบูรณ์โดยมิพักต้องส่งมอบ
	มาตรา 526 ถ้าการให้ทรัพย์สินหรือให้คำมั่นว่าจะให้ทรัพย์สินนั้นได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียน
ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว และผู้ให้ไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นแก่ผู้รับไซร้ ท่านว่าผู้รับชอบที่จะเรียก
ให้ส่งมอบตัวทรัพย์สินหรือราคาแทนทรัพย์สินนั้นได้ แต่ไม่ชอบที่จะเรียกค่าสินไหมทดแทนอย่าง
หนึ่งอย่างใดด้วยอีกได้
	มาตรา 527 ถ้าผู้ให้ผูกตนไว้ว่าจะชำระหนี้เป็นคราวๆ ท่านว่าหนี้นั้นเป็นอันระงับสิ้นไปเมื่อผู้ให้หรือ
ผู้รับตาย เว้นแต่จะขัดกับเจตนาอันปรากฏแต่มูลหนี้
	มาตรา 528 ถ้าทรัพย์สินซึ่งให้นั้นมีค่าภารติดพันและผู้รับละเลยเสียไม่ชำระค่าภารติดพันนั้นไซร้
ท่านว่าโดยเงื่อนไขอันระบุไว้ในกรณีสิทธิเลิกสัญญาต่างตอบแทนกันนั้น ผู้ให้จะเรียกให้ส่งทรัพย์
สินที่ให้นั้นคืนตามบทบัญญัติว่าด้วยคืนลาภมิควรได้นั้นก็ได้ เพียงเท่าที่ควรจะเอาทรัพย์นั้นไปใช้
ชำระค่าภารติดพันนั้น
	แต่สิทธิเรียกคืนอันนี้ย่อมเป็นอันขาดไป  ถ้าบุคคลภายนอกเป็นผู้มีสิทธิจะเรียกให้ชำระ
ค่าภารติดพันนั้น
	มาตรา 529 ถ้าทรัพย์สินที่ให้มีราคาไม่พอกับการที่จะชำระค่าภารติดพันไซร้  ท่านว่าผู้รับจะต้องชำระ
แต่เพียงเท่าราคาทรัพย์สินเท่านั้น
	มาตรา 530 ถ้าการให้นั้นมีค่าภารติดพัน  ท่านว่าผู้ให้จะต้องรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องหรือเพื่อ
การรอนสิทธิเช่นเดียวกันกับผู้ขาย แต่ท่านจำกัดไว้ว่าไม่เกินจำนวนค่าภารติดพัน
	มาตรา 531 อันผู้ให้จะเรียกถอนคืนการให้เพราะเหตุผู้รับประพฤติเนรคุณนั้น  ท่านว่าอาจจะเรียกได้
แต่เพียงในกรณีดั่งจะกล่าวต่อไปนี้
	(1)  ถ้าผู้รับได้ประทุษร้ายต่อผู้ให้เป็นความผิดฐานอาญาอย่างร้ายแรงตามประมวล
กฎหมายลักษณะอาญา หรือ
	(2)  ถ้าผู้รับได้ทำให้ผู้ให้เสียชื่อเสียง หรือหมิ่นประมาทผู้ให้อย่างร้ายแรง หรือ
	(3)  ถ้าผู้รับได้บอกปัดไม่ยอมให้สิ่งของจำเป็นเลี้ยงชีวิตแก่ผู้ให้ในเวลาที่ผู้ให้ยากไร้และ
ผู้รับยังสามารถจะให้ได้
	มาตรา 532 ทายาทของผู้ให้อาจเรียกให้ถอนคืนการให้ได้แต่เฉพาะในเหตุที่ผู้รับได้ฆ่าผู้ให้ตายโดย
เจตนาและไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือได้กีดกันผู้ให้ไว้มิให้ถอนคืนการให้
	แต่ว่าผู้ให้ได้ฟ้องคดีไว้แล้วอย่างใดโดยชอบ ทายาทของผู้ให้จะว่าคดีอันนั้นต่อไปก็ได้
	มาตรา 533 เมื่อผู้ให้ได้ให้อภัยแก่ผู้รับในเหตุประพฤติเนรคุณนั้นแล้วก็ดี หรือเมื่อเวลาได้ล่วงไปแล้ว
หกเดือนนับแต่เหตุเช่นนั้นได้ทราบถึงบุคคลผู้ชอบที่จะเรียกถอนคืนการให้ได้นั้นก็ดี ท่านว่าหาอาจ
จะถอนคืนการให้ได้ไม่
	อนึ่ง ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นเวลาสิบปีภายหลังเหตุการณ์เช่นว่านั้น
	มาตรา 534 เมื่อถอนคืนการให้ ท่านให้ส่งคืนทรัพย์สินตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วย
ลาภมิควรได้
	มาตรา 535 การให้อันจะกล่าวต่อไปนี้  ท่านว่าจะถอนคืนเพราะเหตุเนรคุณไม่ได้ คือ
	(1)  ให้เป็นบำเหน็จสินจ้างโดยแท้
	(2)  ให้สิ่งที่มีค่าภารติดพัน
	(3)  ให้โดยหน้าที่ธรรมจรรยา
	(4)  ให้ในการสมรส
	มาตรา 536 การให้อันจะให้เป็นผลต่อเมื่อผู้ให้ตายนั้น ท่านให้บังคับด้วยบทกฎหมายว่าด้วยมรดก
และพินัยกรรม

	ลักษณะ 4
	เช่าทรัพย์
	หมวด 1
	บทเบ็ดเสร็จทั่วไป

	มาตรา 537 อันว่าเช่าทรัพย์สินนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้ให้เช่า ตกลงให้บุคคลอีกคน
หนึ่งเรียกว่าผู้เช่า ได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ในทรัพย์สินอย่างใดอย่างหนึ่งชั่วระยะเวลาอันมีจำกัด
และผู้เช่าตกลงจะให้ค่าเช่าเพื่อการนั้น
	มาตรา 538 เช่าอสังหาริมทรัพย์นั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อ
ฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ ถ้าเช่ามีกำหนดกว่าสามปีขึ้น
ไปหรือกำหนดตลอดอายุของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าไซร้  หากมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อ
พนักงานเจ้าหน้าที่  ท่านว่าการเช่านั้นจะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้แต่เพียงสามปี
	มาตรา 539 ค่าฤชาธรรมเนียมทำสัญญาเช่านั้น คู่สัญญาพึงออกใช้เสมอกันทั้งสองฝ่าย
	มาตรา 540 อันอสังหาริมทรัพย์ ท่านห้ามมิให้เช่ากันเป็นกำหนดเวลาเกินกว่าสามสิบปี  ถ้าได้ทำ
สัญญากันไว้เป็นกำหนดเวลานานกว่านั้น ท่านก็ให้ลดลงมาเป็นสามสิบปี
	อนึ่ง กำหนดเวลาเช่าดั่งกล่าวมานี้เมื่อสิ้นลงแล้วจะต่อสัญญาอีกก็ได้ แต่ต้องอย่าให้เกิน
สามสิบปีนับแต่วันต่อสัญญา
	มาตรา 541 สัญญาเช่านั้นจะทำกันเป็นกำหนดว่าตลอดอายุของผู้ให้เช่าหรือของผู้เช่าก็ให้ทำได้
	มาตรา 542 บุคคลหลายคนเรียกเอาสังหาริมทรัพย์อันเดียวกันอาศัยมูลสัญญาเช่าต่างราย ท่านว่า
ทรัพย์ตกไปอยู่ในครอบครองผู้เช่าคนใดก่อนด้วยสัญญาเช่าทรัพย์นั้น คนนั้นมีสิทธิยิ่งกว่าคนอื่นๆ
	มาตรา 543 บุคคลหลายคนเรียกร้องเอาอสังหาริมทรัพย์อันเดียวกันอาศัยมูลสัญญาเช่าต่างราย
ท่านให้วินิจฉัยดั่งต่อไปนี้
	(1)  ถ้าการเช่านั้นเป็นประเภทซึ่งมิได้บังคับไว้โดยกฎหมายว่าต้องจดทะเบียน ท่านให้
ถือว่าผู้เช่าซึ่งได้ทรัพย์สินไปไว้ในครอบครองก่อนด้วยสัญญาเช่าของตนนั้นมีสิทธิยิ่งกว่าคนอื่นๆ
	(2)  ถ้าการเช่าทุกๆ รายเป็นประเภทซึ่งบังคับไว้โดยกฎหมายว่าต้องจดทะเบียน ท่านให้
ถือว่าผู้เช่าซึ่งได้จดทะเบียนการเช่าของตนก่อนนั้นมีสิทธิยิ่งกว่าคนอื่นๆ
	(3)  ถ้าการเช่ามีทั้งประเภทซึ่งต้องจดทะเบียนและประเภทซึ่งไม่ต้องจดทะเบียนตาม
กฎหมายยันกันอยู่ไซร้ ท่านว่าผู้เช่าคนที่ได้จดทะเบียนการเช่าของตนนั้นมีสิทธิยิ่งกว่า เว้นแต่ผู้เช่า
คนอื่นจะได้ทรัพย์สินนั้นไปไว้ในครอบครองด้วยการเช่าของตนเสียก่อนวันจดทะเบียนนั้นแล้ว
	มาตรา 544 ทรัพย์สินซึ่งเช่านั้น  ผู้เช่าจะให้เช่าช่วงหรือโอนสิทธิของตนอันมีในทรัพย์สินนั้นไม่ว่าทั้ง
หมดหรือแต่บางส่วนให้แก่บุคคลภายนอก  ท่านว่าหาอาจทำได้ไม่ เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้เป็น
อย่างอื่นในสัญญาเช่า
	ถ้าผู้เช่าประพฤติฝ่าฝืนบทบัญญัติอันนี้ ผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้
	มาตรา 545 ถ้าผู้เช่าเอาทรัพย์สินซึ่งตนเช่าไปให้ผู้อื่นเช่าช่วงอีกทอดหนึ่งโดยชอบ ท่านว่าผู้เช่าช่วง
ย่อมต้องรับผิดต่อผู้ให้เช่าเดิมโดยตรง ในกรณีเช่นว่านี้หากผู้เช่าช่วงจะได้ใช้ค่าเช่าให้แก่ผู้เช่าไป
ก่อน ท่านว่าผู้เช่าช่วงหาอาจจะยกขึ้นเป็นข้อการต่อสู้ผู้ให้เช่าได้ไม่
	อนึ่ง บทบัญญัติอันนี้ไม่ห้ามการที่ผู้ให้เช่าจะใช้สิทธิของตนต่อผู้เช่า

	หมวด 2
	หน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ให้เช่า

	มาตรา 546 ผู้ให้เช่าจำต้องส่งมอบทรัพย์สินซึ่งให้เช่านั้นในสภาพอันซ่อมแซมดีแล้ว
	มาตรา 547 ผู้เช่าต้องเสียค่าใช้จ่ายไปโดยความจำเป็นและสมควรเพื่อรักษาทรัพย์สินซึ่งเช่านั้นเท่าใด
ผู้ให้เช่าจำต้องชดใช้ให้แก่ผู้เช่า เว้นแต่ค่าใช้จ่ายเพื่อบำรุงรักษาตามปกติและเพื่อซ่อมแซมเพียง
เล็กน้อย
	มาตรา 548 ถ้าผู้ให้เช่าส่งมอบทรัพย์สินซึ่งเช่านั้นโดยสภาพไม่เหมาะแก่การที่จะใช้เพื่อประโยชน์ที่เช่า
มา  ผู้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้
	มาตรา 549 การส่งมอบทรัพย์สินซึ่งเช่าก็ดี ความรับผิดของผู้ให้เช่าในกรณีชำรุดบกพร่องและรอนสิทธิ
ก็ดี ผลแห่งข้อสัญญาว่าจะไม่ต้องรับผิดก็ดี เหล่านี้ท่านให้บังคับด้วยบทบัญญัติทั้งหลายแห่ง
ประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยการซื้อขายอนุโลมความตามควร
	มาตรา 550 ผู้ให้เช่าย่อมต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องอันเกิดขึ้นในระหว่างเวลาเช่า และผู้ให้เช่า
ต้องจัดการซ่อมแซมทุกอย่างบรรดาซึ่งเป็นการจำเป็นขึ้น เว้นแต่การซ่อมแซมชนิดซึ่งมีกฎหมาย
หรือจารีตประเพณีว่าผู้เช่าจะพึงต้องทำเอง
	มาตรา 551 ถ้าความชำรุดบกพร่องแห่งทรัพย์สินที่เช่านั้นไม่เป็นเหตุถึงแก่ผู้เช่าจะต้องปราศจากการ
ใช้และประโยชน์และผู้ให้เช่ายังแก้ไขได้ไซร้  ผู้เช่าต้องบอกกล่าวแก่ผู้ให้เช่าให้จัดการแก้ไขความ
ชำรุดบกพร่องนั้นก่อน  ถ้าและผู้ให้เช่าไม่จัดทำให้คืนดีภายในเวลาอันสมควร ผู้เช่าจะบอกเลิก
สัญญาเสียก็ได้ หากว่าความชำรุดบกพร่องนั้นร้ายแรงถึงสมควรจะทำเช่นนั้น

	หมวด 3
	หน้าที่และความรับผิดชอบของผู้เช่า

	มาตรา 552 อันผู้เช่าจะใช้ทรัพย์สินที่เช่าเพื่อการอย่างอื่น  นอกจากที่ใช้กันตามประเพณีนิยมปกติ
หรือการดั่งกำหนดไว้ในสัญญานั้น ท่านว่าหาอาจจะทำได้ไม่
	มาตรา 553 ผู้เช่าจำต้องสงวนทรัพย์สินที่เช่านั้นเสมอกับที่วิญญูชนจะพึงสงวนทรัพย์สินของตนเอง
และต้องบำรุงรักษาทั้งทำการซ่อมแซมเล็กน้อยด้วย
	มาตรา 554 ถ้าผู้เช่ากระทำการฝ่าฝืนบทบัญญัติใน มาตรา 552  มาตรา 553 หรือฝ่าฝืนข้อสัญญา
ผู้ให้เช่าจะบอกกล่าวให้ผู้เช่าปฏิบัติให้ถูกต้องตามบทกฎหมายหรือข้อสัญญานั้นๆ ก็ได้  ถ้าและ
ผู้เช่าละเลยเสียไม่ปฏิบัติตาม ท่านว่าผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้
	มาตรา 555 ผู้เช่าจำต้องยอมให้ผู้ให้เช่าหรือตัวแทนของผู้ให้เช่าเข้าตรวจดูทรัพย์สินที่เช่าเป็นครั้งคราว
ในเวลาและระยะอันสมควร
	มาตรา 556 ถ้าในระหว่างเวลาเช่ามีเหตุจะต้องซ่อมแซมทรัพย์สินซึ่งเช่านั้นเป็นการเร่งร้อน และผู้ให้
เช่าประสงค์จะทำการอันจำเป็นเพื่อที่จะซ่อมแซมเช่นว่านั้นไซร้  ท่านว่าผู้เช่าจะไม่ยอมให้ทำนั้น
ไม่ได้ แม้ถึงว่าการนั้นจะเป็นความไม่สะดวกแก่ตน ถ้าการซ่อมแซมเป็นสภาพซึ่งต้องกินเวลานาน
เกินสมควรจนเป็นเหตุให้ทรัพย์สินนั้นไม่เหมาะแก่การที่จะใช้เพื่อประโยชน์ที่เช่ามา ผู้เช่าจะบอก
เลิกสัญญาเสียก็ได้
	มาตรา 557 ในกรณีอย่างใดๆ ดั่งจะกล่าวต่อไปนี้  คือ
	(1) ถ้าทรัพย์สินที่เช่านั้นชำรุดควรที่ผู้ให้เช่าจะต้องซ่อมแซมก็ดี
	(2) ถ้าจะต้องจัดการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อปัดป้องภยันตรายแก่ทรัพย์สินนั้นก็ดี
	(3) ถ้าบุคคลภายนอกรุกล้ำเข้ามาในทรัพย์สินที่เช่าหรือเรียกอ้างสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่ง
เหนือทรัพย์สินนั้นก็ดี
	ในเหตุดั่งกล่าวนั้นให้ผู้เช่าแจ้งเหตุแก่ผู้ให้เช่าโดยพลัน เว้นแต่ผู้ให้เช่าจะได้ทราบเหตุ
นั้นอยู่ก่อนแล้ว
	ถ้าผู้เช่าละเลยเสียไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัตินี้ไซร้ ท่านว่าผู้เช่าจะต้องรับผิดต่อผู้ให้เช่า
ในเมื่อผู้ให้เช่าต้องเสียหายอย่างใดๆ เพราะความละเลยชักช้าของผู้เช่านั้น
	มาตรา 558 อันทรัพย์สินที่เช่านั้น  ถ้ามิได้รับอนุญาตของผู้ให้เช่าก่อน ผู้เช่าจะทำการดัดแปลง หรือ
ต่อเติมอย่างหนึ่งอย่างใดหาได้ไม่ ถ้าและผู้เช่าทำไปโดยมิได้รับอนุญาตของผู้ให้เช่าเช่นนั้นไซร้
เมื่อผู้ให้เช่าเรียกร้อง ผู้เช่าจะต้องทำให้ทรัพย์สินนั้นกลับคืนคงสภาพเดิมทั้งจะต้องรับผิดต่อผู้ให้เช่า
ในความสูญหายหรือบุบสลายอย่างใดๆ อันเกิดแต่การดัดแปลงต่อเติมนั้นด้วย
	มาตรา 559 ถ้าไม่มีกำหนดโดยสัญญาหรือโดยจารีตประเพณีว่าจะพึงชำระค่าเช่า ณ เวลาใด ท่านให้
ชำระเมื่อสิ้นระยะเวลาอันได้ตกลงกำหนดกันไว้ทุกคราวไป กล่าวคือว่าถ้าเช่ากันเป็นรายปีก็พึง
ชำระค่าเช่าเมื่อสิ้นปี ถ้าเช่ากันเป็นรายเดือนก็พึงชำระค่าเช่าเมื่อสิ้นเดือน
	มาตรา 560 ถ้าผู้เช่าไม่ชำระค่าเช่า ผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้
	แต่ถ้าค่าเช่านั้นจะพึงส่งเป็นรายเดือน หรือส่งเป็นระยะเวลายาวกว่ารายเดือนขึ้นไป ผู้
ให้เช่าต้องบอกกล่าวแก่ผู้เช่าก่อนว่าให้ชำระค่าเช่าภายในเวลาใด ซึ่งพึงกำหนดอย่าให้น้อยกว่าสิบห้าวัน
	มาตรา 561 ถ้ามิได้ทำหนังสือลงลายมือชื่อของคู่สัญญาแสดงไว้ต่อกันว่าทรัพย์สินที่ให้เช่ามีสภาพ
เป็นอย่างไร ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้เช่าได้รับทรัพย์สินที่เช่านั้นไปโดยสภาพอันซ่อมแซมดีแล้ว
และเมื่อสัญญาได้เลิกหรือระงับลง ผู้เช่าก็ต้องส่งคืนทรัพย์สินในสภาพเช่นนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่า
ทรัพย์สินนั้นมิได้ซ่อมแซมไว้ดีในขณะที่ส่งมอบ
	มาตรา 562 ผู้เช่าจะต้องรับผิดในความสูญหายหรือบุบสลายอย่างใดๆ อันเกิดขึ้นแก่ทรัพย์สินที่เช่า
เพราะความผิดของผู้เช่าเอง หรือของบุคคลซึ่งอยู่กับผู้เช่า หรือของผู้เช่าช่วง
	แต่ผู้เช่าไม่ต้องรับผิดในความสูญหายหรือบุบสลายอันเกิดแต่การใช้ทรัพย์สินนั้นโดยชอบ
	มาตรา 563 คดีอันผู้ให้เช่าจะฟ้องผู้เช่าเกี่ยวแก่สัญญาเช่านั้น  ท่านห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนดหก
เดือนนับแต่วันส่งคืนทรัพย์สินที่เช่า

	หมวด 4
	ความระงับแห่งสัญญาเช่า

	มาตรา 564 อันสัญญาเช่านั้น ท่านว่าย่อมระงับไปเมื่อสิ้นกำหนดเวลาที่ได้ตกลงกันไว้  มิพักต้อง
บอกกล่าวก่อน
	มาตรา 565 การเช่าถือสวนนั้น ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเช่ากันปีหนึ่ง
	การเช่านาก็ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเช่ากันตลอดฤดูทำนาปีหนึ่ง
	มาตรา 566 ถ้ากำหนดเวลาเช่าไม่ปรากฏในความที่ตกลงกัน หรือไม่พึงสันนิษฐานได้ไซร้ ท่านว่า
คู่สัญญาฝ่ายใดจะบอกเลิกสัญญาเช่าในขณะเมื่อสุดระยะเวลาอันเป็นกำหนดชำระค่าเช่าก็ได้
ทุกระยะ แต่ต้องบอกกล่าวแก่อีกฝ่ายหนึ่งให้รู้ตัวก่อนชั่วกำหนดเวลาชำระค่าเช่าระยะหนึ่งเป็น
อย่างน้อย แต่ไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้ากว่าสองเดือน
	มาตรา 567 ถ้าทรัพย์สินซึ่งให้เช่าสูญหายไปทั้งหมดไซร้ ท่านว่าสัญญาเช่าก็ย่อมระงับไปด้วย
	มาตรา 568 ถ้าทรัพย์สินซึ่งให้เช่าสูญหายไปแต่เพียงบางส่วน และมิได้เป็นเพราะความผิดของผู้เช่า
ท่านว่าผู้เช่าจะเรียกให้ลดค่าเช่าลงตามส่วนที่สูญหายก็ได้
	ในกรณีเช่นนี้  ถ้าผู้เช่าไม่สามารถใช้สอยทรัพย์สินส่วนที่ยังคงเหลืออยู่นั้นสำเร็จ
ประโยชน์ได้ดั่งที่ได้มุ่งหมายเข้าทำสัญญาเช่าไซร้ ท่านว่าผู้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้
	มาตรา 569 อันสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้นย่อมไม่ระงับไปเพราะเหตุโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินซึ่ง
ให้เช่า
	ผู้รับโอนย่อมรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนซึ่งมีต่อผู้เช่านั้นด้วย
	มาตรา 570 ในเมื่อสิ้นกำหนดเวลาเช่าซึ่งได้ตกลงกันไว้นั้น ถ้าผู้เช่ายังคงครองทรัพย์สินอยู่ และ
ผู้ให้เช่ารู้ความนั้นแล้วไม่ทักท้วงไซร้  ท่านให้ถือว่าคู่สัญญาเป็นอันได้ทำสัญญาใหม่ต่อไปไม่มี
กำหนดเวลา
	มาตรา 571 ถ้าสัญญาเช่าที่นาได้เลิกหรือระงับลงเมื่อผู้เช่าได้เพาะปลูกข้าวลงแล้วไซร้ ท่านว่าผู้เช่า
ย่อมมีสิทธิที่จะครองนานั้นต่อไปจนกว่าจะเสร็จการเกี่ยวเก็บ แต่ต้องเสียค่าเช่า

	ลักษณะ 5
	เช่าซื้อ

	มาตรา 572 อันว่าเช่าซื้อนั้น  คือสัญญาซึ่งเจ้าของเอาทรัพย์สินออกให้เช่า และให้คำมั่นว่าจะขาย
ทรัพย์สินนั้น หรือว่าจะให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่าโดยเงื่อนไขที่ผู้เช่าได้ใช้เงินเป็นจำนวน
เท่านั้นเท่านี้คราว
	สัญญาเช่าซื้อนั้นถ้าไม่ทำเป็นหนังสือ  ท่านว่าเป็นโมฆะ
	มาตรา 573 ผู้เช่าจะบอกเลิกสัญญาในเวลาใดเวลาหนึ่งก็ได้ด้วยส่งมอบทรัพย์สินกลับคืนให้แก่
เจ้าของโดยเสียค่าใช้จ่ายของตนเอง
	มาตรา 574 ในกรณีผิดนัดไม่ใช้เงินสองคราวติดๆ กัน หรือกระทำผิดสัญญาในข้อที่เป็นส่วนสำคัญ
เจ้าของทรัพย์สินจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้ ถ้าเช่นนั้นบรรดาเงินที่ได้ใช้มาแล้วแต่ก่อน ให้ริบเป็น
ของเจ้าของทรัพย์สิน และเจ้าของทรัพย์สินชอบที่จะกลับเข้าครองทรัพย์สินนั้นได้ด้วย
	อนึ่ง ในกรณีกระทำผิดสัญญาเพราะผิดนัดไม่ใช้เงินซึ่งเป็นคราวที่สุดนั้น ท่านว่าเจ้าของ
ทรัพย์สินชอบที่จะริบบรรดาเงินที่ได้ใช้มาแล้วแต่ก่อน และกลับเข้าครองทรัพย์สินได้ต่อเมื่อระยะ
เวลาใช้เงินได้พ้นกำหนดไปอีกงวดหนึ่ง

	ลักษณะ 6
	จ้างแรงงาน

	มาตรา 575 อันว่าจ้างแรงงานนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าลูกจ้างตกลงจะทำงานให้แก่
บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่านายจ้าง และนายจ้างตกลงจะให้สินจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้
	มาตรา 576 ถ้าตามพฤติการณ์ไม่อาจจะคาดหมายได้ว่างานนั้นจะพึงทำให้เปล่าไซร้ ท่านย่อมถือ
เอาโดยปริยายมีคำมั่นจะให้สินจ้าง
	มาตรา 577 นายจ้างจะโอนสิทธิของตนให้แก่บุคคลภายนอกก็ได้  เมื่อลูกจ้างยินยอมพร้อมใจด้วย
	ลูกจ้างจะให้บุคคลภายนอกทำงานแทนตนก็ได้  เมื่อนายจ้างยินยอมพร้อมใจด้วย
	ถ้าคู่สัญญาฝ่ายใดทำการฝ่าฝืนบทบัญญัตินี้  คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้
	มาตรา 578 ถ้าลูกจ้างรับรองโดยแสดงออกชัดหรือโดยปริยายว่าตนเป็นผู้มีฝีมือพิเศษ หากมาปรากฏ
ว่าไร้ฝีมือเช่นนั้นไซร้ ท่านว่านายจ้างชอบที่จะบอกเลิกสัญญาเสียได้
	มาตรา 579 การที่ลูกจ้างขาดงานไปโดยเหตุอันสมควรและชั่วระยะเวลาน้อยพอสมควรนั้น ท่านว่า
ไม่ทำให้นายจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้
	มาตรา 580 ถ้าไม่มีกำหนดโดยสัญญาหรือจารีตประเพณีว่าจะพึงจ่ายสินจ้างเมื่อไร ท่านว่าพึงจ่าย
เมื่องานได้ทำแล้วเสร็จ  ถ้าการจ่ายสินจ้างนั้นได้กำหนดกันไว้เป็นระยะเวลา ก็ให้พึงจ่ายเมื่อสุด
ระยะเวลาเช่นนั้นทุกคราวไป
	มาตรา 581 ถ้าระยะเวลาที่ได้ตกลงว่าจ้างกันนั้นสุดสิ้นลงแล้ว ลูกจ้างยังคงทำงานอยู่ต่อไปอีก และ
นายจ้างรู้ดั่งนั้นก็ไม่ทักท้วงไซร้ ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าคู่สัญญาเป็นอันได้ทำสัญญาจ้างกัน
ใหม่โดยความอย่างเดียวกันกับสัญญาเดิม แต่คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจจะเลิกสัญญาเสียได้
ด้วยการบอกกล่าวตามความในมาตราต่อไปนี้
	มาตรา 582 ถ้าคู่สัญญาไม่ได้กำหนดลงไว้ในสัญญาว่าจะจ้างกันนานเท่าไร ท่านว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
จะเลิกสัญญาด้วยการบอกกล่าวล่วงหน้าในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวใด
คราวหนึ่ง เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็อาจทำได้
แต่ไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้ากว่าสามเดือน
	อนึ่ง ในเมื่อบอกกล่าวดั่งว่านี้ นายจ้างจะจ่ายสินจ้างแต่ลูกจ้างเสียให้ครบจำนวนที่จะ
ต้องจ่ายจนถึงเวลาเลิกสัญญาตามกำหนดที่บอกกล่าวนั้นทีเดียว  แล้วปล่อยลูกจ้างจากงานเสีย
ในทันทีก็อาจทำได้
	มาตรา 583 ถ้าลูกจ้างจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายก็ดี  หรือละเลยไม่นำพาต่อ
คำสั่งเช่นว่านั้นเป็นอาจินก็ดี  ละทิ้งการงานไปเสียก็ดี  กระทำความผิดอย่างร้ายแรงก็ดี  หรือทำ
ประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตก็ดี ท่านว่านายจ้าง
จะไล่ออกโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือให้สินไหมทดแทนก็ได้
	มาตรา 584 ถ้าจ้างแรงงานรายใดมีสาระสำคัญอยู่ที่ตัวบุคคลผู้เป็นนายจ้าง  ท่านว่าสัญญาจ้างเช่น
นั้นย่อมระงับไปด้วยมรณะแห่งนายจ้าง
	มาตรา 585 เมื่อการจ้างแรงงานสุดสิ้นลงแล้ว ลูกจ้างชอบที่จะได้รับใบสำคัญแสดงว่าลูกจ้างนั้นได้
ทำงานมานานเท่าไร และงานที่ทำนั้นเป็นงานอย่างไร
	มาตรา 586 ถ้าลูกจ้างเป็นผู้ซึ่งนายจ้างได้จ้างเอามาแต่ต่างถิ่นโดยนายจ้างออกเงินค่าเดินทางให้ไซร้
เมื่อการจ้างแรงงานสุดสิ้นลง และถ้ามิได้กำหนดกันไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญาแล้ว ท่านว่านายจ้าง
จำต้องใช้เงินค่าเดินทางขากลับให้ แต่จะต้องเป็นดั่งต่อไปนี้ คือ
	(1) สัญญามิได้เลิกหรือระงับเพราะการกระทำหรือความผิดของลูกจ้าง และ
	(2) ลูกจ้างกลับไปยังถิ่นที่ได้จ้างเอามาภายในเวลาอันสมควร

	ลักษณะ 7
	จ้างทำของ

	มาตรา 587 อันว่าจ้างทำของนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้รับจ้าง ตกลงจะทำการงาน
สิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อ
ผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น
	มาตรา 588 เครื่องมือต่างๆ สำหรับใช้ทำการงานให้สำเร็จนั้น ผู้รับจ้างเป็นผู้จัดหา
	มาตรา 589 ถ้าสัมภาระสำหรับทำการงานที่กล่าวนั้นผู้รับจ้างเป็นผู้จัดหา ท่านว่าต้องจัดหาชนิดที่ดี
	มาตรา 590 ถ้าสัมภาระนั้นผู้ว่าจ้างเป็นผู้จัดหามาส่ง ท่านให้ผู้รับจ้างใช้สัมภาระด้วยความระมัดระวัง
และประหยัดอย่าให้เปลืองเสียเปล่าเมื่อทำการงานสำเร็จแล้ว  มีสัมภาระเหลืออยู่  ก็ให้คืนแก่ผู้ว่าจ้าง
	มาตรา 591 ถ้าความชำรุดบกพร่องหรือความชักช้าในการที่ทำนั้นเกิดขึ้นเพราะสภาพแห่งสัมภาระ
ซึ่งผู้ว่าจ้างส่งให้ก็ดี เพราะคำสั่งของผู้ว่าจ้างก็ดี ท่านว่าผู้รับจ้างไม่ต้องรับผิด เว้นแต่จะได้รู้อยู่แล้ว
ว่าสัมภาระนั้นไม่เหมาะ หรือว่าคำสั่งนั้นไม่ถูกต้อง และมิได้บอกกล่าวตักเตือน
	มาตรา 592 ผู้รับจ้างจำต้องยอมให้ผู้ว่าจ้างหรือตัวแทนของผู้ว่าจ้างตรวจตราการงานได้ตลอดเวลา
ที่ทำอยู่นั้น
	มาตรา 593 ถ้าผู้รับจ้างไม่เริ่มทำการในเวลาอันควร หรือทำการชักช้าฝ่าฝืนข้อกำหนดแห่งสัญญาก็
ดี  หรือทำการชักช้าโดยปราศจากความผิดของผู้ว่าจ้าง จนอาจคาดหมายล่วงหน้าได้ว่าการนั้น
จะไม่สำเร็จภายในกำหนดเวลาที่ได้ตกลงกันไว้ก็ดี ผู้ว่าจ้างชอบที่จะเลิกสัญญาเสียได้  มิพักต้อง
รอคอยให้ถึงกำหนดส่งมอบของนั้นเลย
	มาตรา 594 ถ้าในระหว่างเวลาที่ทำการอยู่นั้นเป็นวิสัยจะคาดหมายล่วงหน้าได้แน่นอนว่า การที่ทำ
นั้นจะสำเร็จอย่างบกพร่อง หรือจะเป็นไปในทางอันฝ่าฝืนข้อสัญญา เพราะความผิดของผู้รับจ้าง
ไซร้ ผู้ว่าจ้างจะบอกกล่าวให้ผู้รับจ้างแก้ไขสิ่งที่บกพร่องให้คืนดี หรือทำการให้เป็นไปตามสัญญา
ภายในเวลาอันสมควรซึ่งกำหนดให้ในคำบอกกล่าวนั้นก็ได้ ถ้าและคลาดกำหนดนั้นไป ท่านว่าผู้
ว่าจ้างชอบที่จะเอาการนั้นให้บุคคลภายนอกซ่อมแซมหรือทำต่อไปได้ ซึ่งผู้รับจ้างจะต้องเสี่ยง
ความเสียหายและออกค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น
	มาตรา 595 ถ้าผู้รับจ้างเป็นผู้จัดหาสัมภาระไซร้ ความรับผิดของผู้รับจ้างในการบกพร่องนั้น ท่านให้
บังคับด้วยบทแห่งประมวลกฎหมายนี้ลักษณะซื้อขาย
	มาตรา 596 ถ้าผู้รับจ้างส่งมอบการที่ทำไม่ทันเวลาที่ได้กำหนดไว้ในสัญญาก็ดี หรือถ้าไม่ได้กำหนด
เวลาไว้ในสัญญาเมื่อล่วงพ้นเวลาอันควรแก่เหตุก็ดี ผู้ว่าจ้างชอบที่จะได้ลดสินจ้างลง หรือถ้า
สาระสำคัญแห่งสัญญาอยู่ที่เวลา ก็ชอบที่จะเลิกสัญญาได้
	มาตรา 597 ถ้าผู้ว่าจ้างยอมรับมอบการที่ทำนั้นแล้วโดยมิได้อิดเอื้อน ผู้รับจ้างก็ไม่ต้องรับผิดเพื่อการที่
ส่งมอบเนิ่นช้า
	มาตรา 598 ถ้าผู้ว่าจ้างยอมรับมอบการที่ทำนั้นแล้วทั้งชำรุดบกพร่องมิได้อิดเอื้อนโดยแสดงออกชัด
หรือโดยปริยาย  ผู้รับจ้างก็ไม่ต้องรับผิด เว้นแต่ความชำรุดบกพร่องนั้นเป็นเช่นจะไม่พึงพบได้ใน
ขณะเมื่อรับมอบ หรือผู้รับจ้างได้ปิดบังความนั้นเสีย
	มาตรา 599 ในกรณีที่ส่งมอบเนิ่นช้าไปก็ดี หรือส่งมอบการที่ทำชำรุดบกพร่องก็ดี  ท่านว่าผู้ว่าจ้าง
ชอบที่จะยึดหน่วงสินจ้างไว้ได้ เว้นแต่ผู้รับจ้างจะให้ประกันตามสมควร
	มาตรา 600 ถ้ามิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญาไซร้ ท่านว่าผู้รับจ้างจะต้องรับผิดเพื่อการที่ชำรุด
บกพร่องเพียงแต่ที่ปรากฏขึ้นภายในปีหนึ่งนับแต่วันส่งมอบ หรือที่ปรากฏขึ้นภายในห้าปีถ้าการที่ทำ
นั้นเป็นสิ่งปลูกสร้างกับพื้นดิน นอกจากเรือนโรงทำด้วยเครื่องไม้
	แต่ข้อจำกัดนี้ท่านมิให้ใช้บังคับเมื่อปรากฏว่าผู้รับจ้างได้ปิดบังความชำรุดบกพร่องนั้น
	มาตรา 601 ท่านห้ามมิให้ฟ้องผู้รับจ้างเมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่วันการชำรุดบกพร่องได้ปรากฏขึ้น
	มาตรา 602 อันสินจ้างนั้น พึงใช้ให้เมื่อรับมอบการที่ทำ
	ถ้าการที่ทำนั้นมีกำหนดว่าจะส่งรับกันเป็นส่วนๆ และได้ระบุจำนวนสินจ้างไว้เป็นส่วนๆ
ไซร้ ท่านว่าพึงใช้สินจ้างเพื่อการแต่ละส่วนในเวลารับเอาส่วนนั้น
	มาตรา 603 ถ้าผู้รับจ้างเป็นผู้จัดหาสัมภาระ และการที่จ้างทำนั้นพังทลายหรือบุบสลายลงก่อนได้ส่ง
มอบกันถูกต้องไซร้ ท่านว่าความวินาศอันนั้นตกเป็นพับแก่ผู้รับจ้าง หากความวินาศนั้นมิได้เป็น
เพราะการกระทำของผู้ว่าจ้าง
	ในกรณีเช่นว่านี้ สินจ้างก็เป็นอันไม่ต้องใช้
	มาตรา 604 ถ้าผู้ว่าจ้างเป็นผู้จัดหาสัมภาระ  และการที่จ้างทำนั้นพังทลายหรือบุบสลายลงก่อนได้
ส่งมอบกันถูกต้องไซร้ ท่านว่าความวินาศนั้นตกเป็นพับแก่ผู้ว่าจ้าง หากความวินาศนั้นมิได้เป็น
เพราะการกระทำของผู้รับจ้าง
	ในกรณีเช่นว่านี้ สินจ้างก็เป็นอันไม่ต้องใช้ เว้นแต่ความวินาศนั้นเป็นเพราะการกระทำ
ของผู้ว่าจ้าง
	มาตรา 605 ถ้าการที่จ้างยังทำไม่แล้วเสร็จอยู่ตราบใด ผู้ว่าจ้างอาจบอกเลิกสัญญาได้เมื่อเสียค่า
สินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับจ้างเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ อันเกิดแต่การเลิกสัญญานั้น
	มาตรา 606 ถ้าสาระสำคัญแห่งสัญญาอยู่ที่ความรู้ความสามารถของตัวผู้รับจ้างและผู้รับจ้างตายก็
ดี หรือตกเป็นผู้ไม่สามารถทำการที่รับจ้างนั้นต่อไปได้ด้วยมิใช่เพราะความผิดของตนก็ดี ท่านว่า
สัญญานั้นย่อมเป็นอันสิ้นลง
	ถ้าและการส่วนที่ได้ทำขึ้นแล้วนั้นเป็นประโยชน์แก่ผู้ว่าจ้างไซร้ ท่านว่าผู้ว่าจ้างจำต้อง
รับเอาไว้และใช้สินจ้างตามสมควรแก่ส่วนนั้นๆ
	มาตรา 607 ผู้รับจ้างจะเอาการที่รับจ้างทั้งหมดหรือแบ่งการแต่บางส่วนไปให้ผู้รับจ้างช่วงทำอีกทอด
หนึ่งก็ได้ เว้นแต่สาระสำคัญแห่งสัญญานั้นจะอยู่ที่ความรู้ความสามารถของตัวผู้รับจ้าง แต่ผู้รับจ้าง
คงต้องรับผิดเพื่อความประพฤติหรือความผิดอย่างใดๆ ของผู้รับจ้างช่วง

	ลักษณะ 8
	รับขน

	มาตรา 608 อันว่าผู้ขนส่งภายในความหมายแห่งกฎหมายลักษณะนี้ คือบุคคลผู้รับขนส่งของหรือ
คนโดยสารเพื่อบำเหน็จเป็นทางค้าปกติของตน
	มาตรา 609 การรับขนของหรือคนโดยสารในหน้าที่ของกรมรถไฟหลวงแห่งกรุงสยาม และการขน
ไปรษณีย์ภัณฑ์ในหน้าที่กรมไปรษณีย์โทรเลขนั้น ท่านให้บังคับตามกฎหมายและกฎข้อบังคับ
สำหรับทบวงการนั้นๆ
	รับขนของทางทะเล ท่านให้บังคับตามกฎหมายและกฎข้อบังคับว่าด้วยการนั้น

	หมวด 1
	รับขนของ

	มาตรา 610 อันบุคคลผู้ทำความตกลงกับผู้ขนส่งเพื่อให้ขนของส่งไปนั้น เรียกว่า ผู้ส่งหรือผู้ตราส่ง
	บุคคลผู้ซึ่งเขาส่งของไปถึงนั้น เรียกว่า ผู้รับตราส่ง
	บำเหน็จอันจะต้องจ่ายให้เพื่อการขนส่งของนั้น เรียกว่า ค่าระวางพาหนะ
	มาตรา 611 อันว่าอุปกรณ์แห่งค่าระวางพาหนะนั้น ได้แก่ค่าใช้จ่ายอย่างใดๆ ตามจารีตประเพณี
อันผู้ขนส่งได้เสียไปโดยควรในระหว่างขนส่ง
	มาตรา 612 ถ้าผู้ขนส่งเรียกเอาใบกำกับของ ผู้ส่งต้องทำให้
	ใบกำกับของนั้นต้องแสดงรายการต่อไปนี้  คือ
	(1) สภาพและน้ำหนัก หรือขนาดแห่งของที่ส่ง กับสภาพจำนวน และเครื่องหมายแห่งหีบห่อ
	(2) ตำบลที่กำหนดให้ส่ง
	(3) ชื่อหรือยี่ห้อ และสำนักของผู้รับตราส่ง
	(4) ตำบลและวันที่ออกใบกำกับของนั้น
	อนึ่ง ใบกำกับของนั้นต้องลงลายมือชื่อผู้ส่งเป็นสำคัญ
	มาตรา 613 ถ้าผู้ส่งเรียกเอาใบตราส่ง  ผู้ขนส่งก็ต้องทำให้
	ใบตราส่งนั้นต้องแสดงรายการต่อไปนี้ คือ
	(1) รายการดั่งกล่าวไว้ใน มาตรา 612 อนุมาตรา 1 , 2 และ 3
	(2) ชื่อหรือยี่ห้อของผู้ส่ง
	(3) จำนวนค่าระวางพาหนะ
	(4) ตำบลและวันที่ออกใบตราส่ง
	อนึ่ง  ใบตราส่งนั้นต้องลงลายมือชื่อผู้ขนส่งเป็นสำคัญ
	มาตรา 614 แม้ว่าใบตราส่งจะได้ออกให้แก่บุคคลผู้ใดโดยนามก็ตาม ท่านว่าย่อมสลักหลังโอนให้กัน
ได้ เว้นแต่จะมีข้อห้ามการสลักหลังไว้
	มาตรา 615 ถ้าได้ทำใบตราส่งให้แก่กัน  ท่านว่าของนั้นจะรับมอบเอาไปได้ต่อเมื่อเวนคืนใบตราส่ง
หรือเมื่อผู้รับตราส่งให้ประกันตามควร
	มาตรา 616 ผู้ขนส่งจะต้องรับผิดในการที่ของอันเขาได้มอบหมายแก่ตนนั้นสูญหายหรือบุบสลาย
หรือส่งมอบชักช้า เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการสูญหายหรือบุบสลายหรือชักช้านั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัย
หรือเกิดแต่สภาพแห่งของนั้นเอง หรือเกิดเพราะความผิดของผู้ส่งหรือผู้รับตราส่ง
	มาตรา 617 ผู้ขนส่งจะต้องรับผิดในการที่ของสูญหายหรือบุบสลายหรือส่งชักช้า อันเกิดแต่ความผิด
ของผู้ขนส่งคนอื่นหรือบุคคลอื่นซึ่งตนหากได้มอบหมายของนั้นไปอีกทอดหนึ่ง
	มาตรา 618 ถ้าของนั้นได้ส่งไปโดยมีผู้ขนส่งหลายคนหลายทอด ท่านว่าผู้ขนส่งทั้งนั้นจะต้องรับผิด
ร่วมกันในการสูญหาย บุบสลาย หรือส่งชักช้า
	มาตรา 619 ถ้าของเป็นสภาพอันจะก่อให้เกิดอันตรายได้ หรือเป็นสภาพเกลือกจะก่อให้เกิดเสียหาย
แก่บุคคลหรือทรัพย์สินไซร้  ผู้ส่งต้องแสดงสภาพแห่งของนั้นไว้ก่อนทำสัญญา ถ้ามิได้ทำเช่นนั้น
ผู้ส่งจะต้องรับผิดในการเสียหายไม่ว่าอย่างใดๆ อันเกิดแต่ของนั้น
	มาตรา 620 ผู้ขนส่งไม่ต้องรับผิดในเงินทองตรา ธนบัตร ธนาคารบัตร ตั๋วเงิน พันธบัตร ใบหุ้น ใบหุ้น
กู้  ประทวนสินค้า อัญมณี  และของมีค่าอย่างอื่นๆ หากมิได้รับบอกราคาหรือสภาพแห่งของไว้
ในขณะที่ส่งมอบแก่ตน
	แต่ถ้าของนั้นได้บอกราคา ท่านว่าความรับผิดของผู้ขนส่งก็ย่อมจำกัดเพียงไม่เกินราคาที่บอก
	มาตรา 621 ค่าสินไหมทดแทนในการส่งมอบของชักช้านั้น ท่านห้ามมิให้คิดเกินกว่าจำนวนเช่นจะ
พึงกำหนดให้ในเหตุของสูญหายสิ้นเชิง
	มาตรา 622 ของถึงเมื่อใด  ผู้ขนส่งต้องบอกกล่าวแก่ผู้รับตราส่ง
	มาตรา 623 ความรับผิดของผู้ขนส่งย่อมสุดสิ้นลงในเมื่อผู้รับตราส่งได้รับเอาของไว้แล้วโดยไม่อิด
เอื้อน และได้ใช้ค่าระวางพาหนะกับทั้งอุปกรณ์เสร็จแล้ว
	แต่ความที่กล่าวนี้ท่านมิให้ใช้บังคับในกรณีที่ของสูญหาย หรือบุบสลายเห็นไม่ได้แต่
สภาพภายนอกแห่งของนั้น หากว่าได้บอกกล่าวความสูญหายหรือบุบสลายแก่ผู้ขนส่งภายใน
แปดวันนับแต่วันส่งมอบ
	อนึ่ง บทบัญญัติทั้งหลายนี้ท่านมิให้ใช้บังคับในกรณีที่มีการทุจริตหรือประมาทเลินเล่อ
อย่างร้ายแรงอันจะปรับเอาเป็นความผิดของผู้ขนส่งได้
	มาตรา 624 ในข้อความรับผิดของผู้ขนส่งในการที่ของสูญหายหรือบุบสลายหรือส่งชักช้านั้น ท่าน
ห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนดปีหนึ่งนับแต่ส่งมอบ หรือปีหนึ่งนับแต่วันที่ควรจะได้ส่งมอบ  เว้นแต่
ในกรณีที่มีการทุจริต
	มาตรา 625 ใบรับ ใบตราส่ง หรือเอกสารอื่นๆทำนองนั้นก็ดี ซึ่งผู้ขนส่งออกให้แก่ผู้ส่งนั้น ถ้ามีข้อความ
ยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งประการใด ท่านว่าความนั้นเป็นโมฆะ เว้นแต่ผู้ส่งจะได้
แสดงความตกลงด้วยชัดแจ้งในการยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดเช่นว่านั้น
	มาตรา 626 ตราบใดของยังอยู่ในมือผู้ส่ง ตราบนั้นผู้ส่ง หรือถ้าได้ทำใบตราส่ง ผู้ทรงใบตราส่งนั้น
อาจจะให้ผู้ขนส่งงดการส่งของนั้นไป หรือให้ส่งกลับคืน หรือให้จัดการแก่ของนั้นเป็นอย่างอื่น
ประการใดก็ได้
	ในเหตุเช่นนี้ผู้ขนส่งชอบที่จะได้รับเงินค่าระวางพาหนะตามส่วนแห่งระยะทางที่ได้จัดการ
ขนส่งไปแล้ว กับทั้งค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ต้องเสียไปเพราะเหตุที่บอกงด หรือเพราะส่งของกลับคืน
หรือเพราะจัดการเป็นประการอื่นนั้น
	มาตรา 627 เมื่อของถึงตำบลที่กำหนดให้ส่งและผู้รับตราส่งได้เรียกให้ส่งมอบแล้ว ท่านว่าแต่นั้นไป
สิทธิทั้งหลายของผู้ส่งอันเกิดแต่สัญญารับขนนั้นย่อมตกไปได้แก่ผู้รับตราส่ง
	มาตรา 628 ถ้าว่าของสูญหายไปเพราะเหตุสุดวิสัย ท่านว่าผู้ขนส่งไม่มีสิทธิจะได้เงินค่าระวางพาหนะ
ถ้าและได้รับไปไว้ก่อนแล้วเท่าใด ต้องส่งคืนจงสิ้น
	มาตรา 629 ถ้าผู้ขนส่งคนใดส่งมอบของเสียแต่ก่อนได้รับค่าระวางพาหนะและอุปกรณ์ไซร้ ท่านว่า
ผู้ขนส่งคนนั้นยังคงต้องรับผิดต่อผู้ขนส่งก่อนๆ ตนเพื่อค่าระวางพาหนะและอุปกรณ์ซึ่งยังค้างชำระ
แก่เขา
	มาตรา 630 ผู้ขนส่งชอบที่จะยึดหน่วงเอาของไว้ก่อนได้ตามที่จำเป็นเพื่อประกันการใช้เงินค่าระวาง
พาหนะและอุปกรณ์
	มาตรา 631 ถ้าหาตัวผู้รับตราส่งไม่พบก็ดี  หรือถ้าผู้รับตราส่งบอกปัดไม่ยอมรับมอบของก็ดี ผู้ขนส่ง
ต้องบอกกล่าวไปยังผู้ส่งทันที และถามเอาคำสั่งของผู้ส่ง
	ถ้าหากว่าพฤติการณ์ขัดขวางไม่สามารถจะทำได้ดั่งนี้ก็ดีหรือถ้าผู้ส่งละเลยเสียไม่ส่งคำ
สั่งมาในเวลาอันควรก็ดี หรือส่งมาเป็นคำสั่งอันไม่อาจปฏิบัติให้เป็นไปได้ก็ดี  ท่านว่าผู้ขนส่งมี
อำนาจที่จะเอาของไปฝากไว้ ณ สำนักงานฝากทรัพย์ได้
	ถ้าของนั้นเป็นลหุภัณฑ์ของสดเสียได้ และการหน่วงช้าไว้ย่อมเป็นการเสี่ยงความเสียหาย
ก็ดี  หรือถ้าราคาของนั้นดูไม่น่าจะคุ้มค่าระวางพาหนะและอุปกรณ์ก็ดี ผู้ขนส่งจะเอาของนั้นออก
ขายทอดตลาดเสียก็ได้
	อนึ่ง การเอาของไปฝากหรือเอาออกขายทอดตลาดเช่นว่านั้น ผู้ขนส่งต้องบอกกล่าวแก่
ผู้ส่งหรือผู้รับตราส่งมิให้ชักช้า เว้นแต่ไม่สามารถจะทำได้  ถ้าและผู้ขนส่งละเลยเสียไม่บอกกล่าว
ไซร้ ท่านว่าจะต้องรับผิดใช้ค่าเสียหาย
	มาตรา 632 เมื่อเอาของออกขายทอดตลาดแล้วได้เงินจำนวนสุทธิเท่าใด ให้ผู้ขนส่งหักเอาไว้เป็นเงิน
ค่าระวางพาหนะและค่าอุปกรณ์ ถ้าและยังมีเงินเหลืออยู่อีกเท่าใดต้องส่งมอบให้แก่บุคคลผู้ควรที่
จะได้เงินนั้นโดยพลัน
	มาตรา 633 ถ้าของนั้นได้ขนส่งไปโดยมีผู้ขนส่งหลายคนหลายทอด ท่านว่าผู้ขนส่งทอดหลังที่สุด
อาจใช้สิทธิดั่งกล่าวไว้ใน มาตรา 630 , 631 , 632 นั้น  ในการเรียกค่าระวางพาหนะและอุปกรณ์
อันค้างชำระแก่ผู้ขนส่งทั่วทุกคนได้

	หมวด 2
	รับขนคนโดยสาร

	มาตรา 634 ผู้ขนส่งจะต้องรับผิดต่อคนโดยสารในความเสียหายอันเกิดแก่ตัวเขา หรือในความเสื่อม
เสียอย่างใดๆ อันเป็นผลโดยตรงแต่การที่ต้องชักช้าในการขนส่ง เว้นแต่การเสียหายหรือชักช้านั้น
เกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือเกิดแต่ความผิดของคนโดยสารนั้นเอง
	มาตรา 635 เครื่องเดินทางหากได้มอบหมายแก่ผู้ขนส่งทันเวลา ท่านว่าต้องส่งมอบในขณะคนโดยสาร
ถึง
	มาตรา 636 ถ้าคนโดยสารไม่รับมอบเครื่องเดินทางของตนภายในเวลาเดือนหนึ่งนับแต่วันเครื่องเดิน
ทางนั้นถึงไซร้ ผู้ขนส่งอาจเอาออกขายทอดตลาดเสียได้
	ถ้าเครื่องเดินทางนั้นมีสภาพเป็นของสดของเสียได้  ผู้ขนส่งอาจเอาออกขายทอดตลาดได้
เมื่อของนั้นถึงแล้วรออยู่ล่วงเวลากว่ายี่สิบสี่ชั่วโมง
	บทบัญญัติใน มาตรา 632 นั้น ท่านให้ใช้บังคับแก่คดีดั่งว่านี้ด้วยอนุโลมตามควร
	มาตรา 637 สิทธิและความรับผิดของผู้ขนส่งเพื่อเครื่องเดินทางอันได้มอบหมายแก่ผู้ขนส่งนั้น
แม้ผู้ขนส่งจะมิได้คิดเอาค่าขนส่งต่างหากก็ตาม ท่านให้บังคับตามความใน หมวด 1
	มาตรา 638 ผู้ขนส่งไม่ต้องรับผิดในเครื่องเดินทางซึ่งตนมิได้รับมอบหมาย  เว้นแต่เมื่อเครื่องเดินทาง
นั้นสูญหายหรือบุบสลายไปเพราะความผิดของผู้ขนส่งหรือลูกจ้างของผู้ขนส่ง
	มาตรา 639 ตั๋ว ใบรับ หรือเอกสารอื่นทำนองเช่นว่านี้ อันผู้ขนส่งได้ส่งมอบแก่คนโดยสารนั้น หากมี
ข้อความยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งอย่างใดๆ  ท่านว่าข้อความนั้นเป็นโมฆะ เว้นแต่
คนโดยสารจะได้ตกลงด้วยชัดแจ้งในการยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดเช่นนั้น

	ลักษณะ 9
	ยืม
	หมวด 1
	ยืมใช้คงรูป

	มาตรา 640 อันว่ายืมใช้คงรูปนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้ให้ยืม ให้บุคคลอีกคนหนึ่ง
เรียกว่าผู้ยืม ใช้สอยทรัพย์สินสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เปล่า และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินนั้น เมื่อได้ใช้
สอยเสร็จแล้ว
	มาตรา 641 การให้ยืมใช้คงรูปนั้น ท่านว่าย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินซึ่งให้ยืม
	มาตรา 642 ค่าฤชาธรรมเนียมในการทำสัญญาก็ดี  ค่าส่งมอบและค่าส่งคืนทรัพย์สินซึ่งยืมก็ดี
ย่อมตกแก่ผู้ยืมเป็นผู้เสีย
	มาตรา 643 ทรัพย์สินซึ่งยืมนั้นถ้าผู้ยืมเอาไปใช้การอย่างอื่นนอกจากการอันเป็นปกติแก่ทรัพย์สินนั้น
หรือนอกจากการอันปรากฏในสัญญาก็ดี เอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอยก็ดี เอาไปไว้นานกว่าที่
ควรจะเอาไว้ก็ดี ท่านว่าผู้ยืมจะต้องรับผิดในเหตุทรัพย์สินนั้นสูญหายหรือบุบสลายไปอย่างหนึ่ง
อย่างใด แม้ถึงจะเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไรๆ ทรัพย์สินนั้นก็คงจะต้อง
สูญหายหรือบุบสลายอยู่นั่นเอง
	มาตรา 644 ผู้ยืมจำต้องสงวนทรัพย์สินซึ่งยืมไปเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงสงวนทรัพย์สินของตนเอง
	มาตรา 645 ในกรณีทั้งหลายดั่งกล่าวไว้ใน มาตรา 643 นั้นก็ดี หรือถ้าผู้ยืมประพฤติฝ่าฝืนต่อความใน
มาตรา 644 ก็ดี ผู้ให้ยืมจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้
	มาตรา 646 ถ้ามิได้กำหนดเวลากันไว้ ท่านให้คืนทรัพย์สินที่ยืมเมื่อผู้ยืมได้ใช้สอยทรัพย์สินนั้นเสร็จ
แล้วตามการอันปรากฏในสัญญา  แต่ผู้ให้ยืมจะเรียกคืนก่อนนั้นก็ได้เมื่อเวลาได้ล่วงไปพอแก่การ
ที่ผู้ยืมจะได้ใช้สอยทรัพย์สินนั้นเสร็จแล้ว
	ถ้าเวลาก็มิได้กำหนดกันไว้  ทั้งในสัญญาก็ไม่ปรากฏว่ายืมไปใช้เพื่อการใดไซร้  ท่านว่า
ผู้ให้ยืมจะเรียกของคืนเมื่อไรก็ได้
	มาตรา 647 ค่าใช้จ่ายอันเป็นปกติแก่การบำรุงรักษาทรัพย์สินซึ่งยืมนั้นผู้ยืมต้องเป็นผู้เสีย
	มาตรา 648 อันการยืมใช้คงรูปย่อมระงับสิ้นไปด้วยมรณะแห่งผู้ยืม
	มาตรา 649 ในข้อความรับผิดเพื่อเสียค่าทดแทนอันเกี่ยวกับการยืมใช้คงรูปนั้น ท่านห้ามมิให้ฟ้อง
เมื่อพ้นเวลาหกเดือนนับแต่วันสิ้นสัญญา

	หมวด 2
	ยืมใช้สิ้นเปลือง

	มาตรา 650 อันว่ายืมใช้สิ้นเปลืองนั้น  คือสัญญาซึ่งผู้ให้ยืมโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินชนิดใช้ไปสิ้นไป
นั้นเป็นปริมาณมีกำหนดให้ไปแก่ผู้ยืม และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินเป็นประเภท ชนิด และ
ปริมาณเช่นเดียวกันให้แทนทรัพย์สินซึ่งให้ยืมนั้น
	สัญญานี้ย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ยืม
	มาตรา 651 ค่าฤชาธรรมเนียมในการทำสัญญาก็ดี ค่าส่งมอบและส่งคืนทรัพย์สินซึ่งยืมก็ดี ย่อมตกแก่
ผู้ยืมเป็นผู้เสีย
	มาตรา 652 ถ้าในสัญญาไม่มีกำหนดเวลาให้คืนทรัพย์สินซึ่งยืมไป ผู้ให้ยืมจะบอกกล่าวแก่ผู้ยืมให้
คืนทรัพย์สินภายในเวลาอันควร ซึ่งกำหนดให้ในคำบอกกล่าวนั้นก็ได้
	มาตรา 653 การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใด
อย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่
	ในการกู้ยืมเงินมีหลักฐานเป็นหนังสือนั้น ท่านว่าจะนำสืบการใช้เงินได้ต่อเมื่อมีหลักฐาน
เป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดง หรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้น
ได้เวนคืนแล้ว หรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว
	“วรรหนึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
(ฉบับที่ 14) พ.ศ.2548”
	มาตรา 654 ท่านห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละสิบห้าต่อปี ถ้าในสัญญากำหนดดอกเบี้ยเกินกว่านั้น
ก็ให้ลดลงมาเป็นร้อยละสิบห้าต่อปี
	มาตรา 655 ท่านห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยในดอกเบี้ยที่ค้างชำระ แต่ทว่าเมื่อดอกเบี้ยค้างชำระไม่น้อย
กว่าปีหนึ่ง คู่สัญญากู้ยืมจะตกลงกันให้เอาดอกเบี้ยนั้นทบเข้ากับต้นเงินแล้วให้คิดดอกเบี้ยใน
จำนวนเงินที่ทบเข้ากันนั้นก็ได้  แต่การตกลงเช่นนั้นต้องทำเป็นหนังสือ
	ส่วนประเพณีการค้าขายที่คำนวณดอกทบต้นในบัญชีเดินสะพัดก็ดี ในการค้าขายอย่าง
อื่นทำนองเช่นว่านี้ก็ดี หาอยู่ในบังคับแห่งบทบัญญัติซึ่งกล่าวมาในวรรคก่อนนั้นไม่
	มาตรา 656 ถ้าทำสัญญากู้ยืมเงินกัน  และผู้กู้ยืมยอมรับเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินอย่างอื่นแทน
จำนวนเงินนั้นไซร้ ท่านให้คิดเป็นหนี้เงินค้างชำระโดยจำนวนเท่ากับราคาท้องตลาดแห่งสิ่งของ
หรือทรัพย์สินนั้นในเวลาและ ณ สถานที่ส่งมอบ
	ถ้าทำสัญญากู้ยืมเงินกัน และผู้ให้กู้ยืมยอมรับเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินอย่างอื่นเป็นการ
ชำระหนี้แทนเงินที่กู้ยืมไซร้ หนี้อันระงับไปเพราะการชำระเช่นนั้น  ท่านให้คิดเป็นจำนวนเท่ากับ
ราคาท้องตลาดแห่งสิ่งของหรือทรัพย์สินนั้นในเวลาและ ณ สถานที่ส่งมอบ
	ความตกลงกันอย่างใดๆ ขัดกับข้อความดั่งกล่าวมานี้ ท่านว่าเป็นโมฆะ

	ลักษณะ 10
	ฝากทรัพย์
	หมวด 1
	บทเบ็ดเสร็จทั่วไป

	มาตรา 657 อันว่าฝากทรัพย์นั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้ฝาก ส่งมอบทรัพย์สินให้แก่
บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้รับฝากและผู้รับฝากตกลงว่าจะเก็บรักษาทรัพย์สินนั้นไว้ในอารักขาแห่ง
ตน แล้วจะคืนให้
	มาตรา 658 ถ้าโดยพฤติการณ์พึงคาดหมายได้ว่าเขารับฝากทรัพย์ก็เพื่อจะได้รับบำเหน็จค่าฝากทรัพย์
เท่านั้นไซร้ ท่านให้ถือว่าเป็นอันได้ตกลงกันแล้วโดยปริยายว่ามีบำเหน็จเช่นนั้น
	มาตรา 659 ถ้าการรับฝากทรัพย์เป็นการทำให้เปล่าไม่มีบำเหน็จไซร้ ท่านว่าผู้รับฝากจำต้องใช้ความ
ระมัดระวังสงวนทรัพย์สินซึ่งฝากนั้นเหมือนเช่นเคยประพฤติในกิจการของตนเอง
	ถ้าการรับฝากทรัพย์นั้นมีบำเหน็จค่าฝาก ท่านว่าผู้รับฝากจำต้องใช้ความระมัดระวัง
และใช้ฝีมือเพื่อสงวนทรัพย์สินนั้นเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงประพฤติโดยพฤติการณ์ดั่งนั้น  ทั้งนี้
ย่อมรวมทั้งการใช้ฝีมืออันพิเศษเฉพาะการในที่จะพึงใช้ฝีมือเช่นนั้นด้วย
	ถ้าและผู้รับฝากเป็นผู้มีวิชาชีพเฉพาะกิจการค้าขายหรืออาชีวะอย่างหนึ่งอย่างใด  ก็จำ
ต้องใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเท่าที่เป็นธรรมดาจะต้องใช้และสมควรจะต้องใช้ในกิจการค้า
ขายหรืออาชีวะอย่างนั้น
	มาตรา 660 ถ้าผู้ฝากมิได้อนุญาต และผู้รับฝากเอาทรัพย์สินซึ่งฝากนั้นออกใช้สอยเอง หรือเอาไปให้
บุคคลภายนอกใช้สอย หรือให้บุคคลภายนอกเก็บรักษาไซร้  ท่านว่าผู้รับฝากจะต้องรับผิดเมื่อ
ทรัพย์สินซึ่งฝากนั้นสูญหายหรือบุบสลายอย่างหนึ่งอย่างใด แม้ถึงจะเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย เว้นแต่
จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไรๆ ทรัพย์สินนั้นก็คงจะต้องสูญหายหรือบุบสลายอยู่นั่นเอง
	มาตรา 661 ถ้าบุคคลภายนอกอ้างว่ามีสิทธิเหนือทรัพย์สินซึ่งฝากและยื่นฟ้องผู้รับฝากก็ดี หรือยึด
ทรัพย์สินนั้นก็ดี ผู้รับฝากต้องรับบอกกล่าวแก่ผู้ฝากโดยพลัน
	มาตรา 662 ถ้าได้กำหนดเวลากันไว้ว่าจะพึงคืนทรัพย์สินซึ่งฝากนั้นเมื่อไร ท่านว่าผู้รับฝากไม่มีสิทธิ
จะคืนทรัพย์สินก่อนถึงเวลากำหนด เว้นแต่ในเหตุจำเป็นอันมิอาจจะก้าวล่วงเสียได้
	มาตรา 663 ถึงแม้ว่าคู่สัญญาจะกำหนดเวลาไว้ว่าจะพึงคืนทรัพย์สินซึ่งฝากนั้นเมื่อไรก็ตาม ถ้าว่า
ผู้ฝากจะเรียกคืนในเวลาใดๆ ผู้รับฝากก็ต้องคืนให้
	มาตรา 664 ถ้าคู่สัญญาไม่ได้กำหนดเวลาไว้ว่าจะพึงคืนทรัพย์สินซึ่งฝากนั้นเมื่อไรไซร้ ผู้รับฝากอาจ
คืนทรัพย์สินนั้นได้ทุกเมื่อ
	มาตรา 665 ผู้รับฝากจำต้องคืนทรัพย์สินซึ่งรับฝากไว้นั้นให้แก่ผู้ฝากหรือทรัพย์สินนั้นฝากในนามของผู้
ใด คืนให้แก่ผู้นั้น หรือผู้รับฝากได้รับคำสั่งโดยชอบให้คืนทรัพย์สินนั้นไปแก่ผู้ใด คืนให้แก่ผู้นั้น
	แต่หากผู้ฝากทรัพย์ตาย ท่านให้คืนทรัพย์สินนั้นให้แก่ทายาท
	มาตรา 666 เมื่อคืนทรัพย์  ถ้ามีดอกผลเกิดแต่ทรัพย์สินซึ่งฝากนั้นเท่าใด ผู้รับฝากจำต้องส่งมอบ
พร้อมไปกับทรัพย์สินนั้นด้วย
	มาตรา 667 ค่าคืนทรัพย์สินซึ่งฝากนั้น  ย่อมตกแก่ผู้ฝากเป็นผู้เสีย
	มาตรา 668 ค่าใช้จ่ายใดอันควรแก่การบำรุงรักษาทรัพย์สินซึ่งฝากนั้นๆ  ผู้ฝากจำต้องชดใช้ให้แก่
ผู้รับฝาก เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้ โดยสัญญาฝากทรัพย์ว่าผู้รับฝากจะต้องออกเงินค่าใช้จ่ายนั้นเอง
	มาตรา 669 ถ้าไม่ได้กำหนดเวลาไว้ในสัญญา หรือไม่มีกำหนดโดยจารีตประเพณีว่าบำเหน็จค่าฝาก
ทรัพย์นั้นจะพึงชำระเมื่อไรไซร้ ท่านให้ชำระเมื่อคืนทรัพย์สินซึ่งฝาก ถ้าได้กำหนดเวลากันไว้เป็น
ระยะอย่างไร  ก็พึงชำระเมื่อสิ้นระยะเวลานั้นทุกคราวไป
	มาตรา 670 ผู้รับฝากชอบที่จะยึดหน่วงเอาทรัพย์สินซึ่งฝากนั้นไว้ได้ จนกว่าจะได้รับเงินบรรดาที่ค้าง
ชำระแก่ตนเกี่ยวด้วยการฝากทรัพย์นั้น
	มาตรา 671 ในข้อความรับผิดเพื่อใช้เงินบำเหน็จค่าฝากทรัพย์ก็ดี ชดใช้เงินค่าใช้จ่ายก็ดี ใช้ค่าสินไหม
ทดแทนเกี่ยวแก่การฝากทรัพย์ก็ดี ท่านห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นเวลาหกเดือนนับแต่วันสิ้นสัญญา

	หมวด 2
	วิธีเฉพาะการฝากเงิน

	มาตรา 672 ถ้าฝากเงิน  ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้รับฝากไม่พึงต้องส่งคืนเป็นเงินทองตราอันเดียว
กันกับที่ฝาก แต่จะต้องคืนเงินให้ครบจำนวน
	อนึ่ง ผู้รับฝากจะเอาเงินซึ่งฝากนั้นออกใช้ก็ได้  แต่หากจำต้องคืนเงินให้ครบจำนวนเท่านั้น
แม้ว่าเงินซึ่งฝากนั้นจะได้สูญหายไปด้วยเหตุสุดวิสัยก็ตาม  ผู้รับฝากก็จำต้องคืนเงินเป็นจำนวนดั่งว่านั้น
	มาตรา 673 เมื่อใดผู้รับฝากจำต้องคืนเงินแต่เพียงเท่าจำนวนที่ฝาก ผู้ฝากจะเรียกถอนเงินคืนก่อน
ถึงเวลาที่ได้ตกลงกันไว้ไม่ได้  หรือฝ่ายผู้รับฝากจะส่งคืนเงินก่อนถึงกำหนดเวลานั้นก็ไม่ได้ดุจกัน

	หมวด 3
	วิธีเฉพาะสำหรับเจ้าสำนักโรงแรม

	มาตรา 674 เจ้าสำนัก โรงแรม หรือโฮเต็ล หรือสถานที่อื่นทำนองเช่นว่านั้น จะต้องรับผิดเพื่อความ
สูญหายหรือบุบสลายอย่างใดๆ อันเกิดแก่ทรัพย์สินซึ่งคนเดินทางหรือแขกอาศัย หากได้พามา
	มาตรา 675 เจ้าสำนักต้องรับผิดในการที่ทรัพย์สินของคนเดินทาง หรือแขกอาศัยสูญหายหรือบุบสลาย
ไปอย่างใดๆ แม้ถึงว่าความสูญหายหรือบุบสลายนั้นจะเกิดขึ้นเพราะผู้คนไปมาเข้าออก ณ โรงแรม
โฮเต็ล หรือสถานที่เช่นนั้น ก็คงต้องรับผิด
	ความรับผิดนี้ ถ้าเกี่ยวด้วยเงินทองตรา ธนบัตร ตั๋วเงิน พันธบัตร ใบหุ้น ใบหุ้นกู้ ประทวน
สินค้า อัญมณี หรือของมีค่าอื่นๆ ให้จำกัดไว้เพียงห้าพันบาท เว้นแต่จะได้ฝากของมีค่าเช่นนี้
ไว้แก่เจ้าสำนักและได้บอกราคาแห่งของนั้นชัดแจ้ง
	แต่เจ้าสำนักไม่ต้องรับผิดเพื่อความสูญหายหรือบุบสลายอันเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือ
แต่สภาพแห่งทรัพย์สินนั้น หรือแต่ความผิดของคนเดินทางหรือแขกอาศัยผู้นั้นเอง หรือบริวาร
ของเขา หรือบุคคลซึ่งเขาได้ต้อนรับ
	“วรรคสองแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
(ฉบับที่ 14) พ.ศ.2548”
	มาตรา 676 ทรัพย์สินซึ่งมิได้นำฝากบอกราคาชัดแจ้งนั้น  เมื่อพบเห็นว่าสูญหายหรือบุบสลายขึ้น
คนเดินทางหรือแขกอาศัยต้องแจ้งความนั้นต่อเจ้าสำนัก โรงแรม โฮเต็ล หรือสถานที่เช่นนั้นทันที
มิฉะนั้นท่านว่าเจ้าสำนักย่อมพ้นจากความรับผิดดั่งบัญญัติไว้ใน มาตรา 674 และ 675
	มาตรา 677 ถ้ามีคำแจ้งความปิดไว้ในโรงแรม โฮเต็ล หรือสถานที่อื่นทำนองเช่นว่านี้  เป็นข้อความ
ยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดของเจ้าสำนักไซร้  ท่านว่าความนั้นเป็นโมฆะ เว้นแต่คนเดินทางหรือ
แขกอาศัยจะได้ตกลงด้วยชัดแจ้งในการยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดดั่งว่านั้น
	มาตรา 678 ในข้อความรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อทรัพย์สินของคนเดินทางหรือของแขกอาศัย
สูญหายหรือบุบสลายนั้น ท่านห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นเวลาหกเดือนนับแต่วันที่คนเดินทางหรือแขก
อาศัยออกไปจากสถานที่นั้น
	มาตรา 679 เจ้าสำนักชอบที่จะยึดหน่วงเครื่องเดินทางหรือทรัพย์สินอย่างอื่นของคนเดินทางหรือ
แขกอาศัยอันเอาไว้ในโรงแรม โฮเต็ล หรือสถานที่เช่นนั้นได้จนกว่าจะได้รับใช้เงินบรรดาที่ค้าง
ชำระแก่ตน เพื่อการพักอาศัยและการอื่นๆ อันได้ทำให้แก่คนเดินทางหรือแขกอาศัยตามที่เขาพึง
ต้องการนั้น  รวมทั้งการชดใช้เงินทั้งหลายที่ได้ออกแทนไปด้วย
	เจ้าสำนักจะเอาทรัพย์สินที่ได้ยึดหน่วงไว้เช่นว่านั้นออกขายทอดตลาดแล้วหักเอาเงินใช้
จำนวนที่ค้างชำระแก่ตน รวมทั้งค่าฤชาธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายในการขายทอดตลาดนั้นจากเงินที่
ขายทรัพย์สินนั้นก็ได้  แต่ท่านมิให้เจ้าสำนักใช้สิทธิดั่งว่านี้ จนเมื่อ
	(1) ทรัพย์สินนั้นตกอยู่แก่ตนเป็นเวลานานถึงหกสัปดาห์ยังมิได้รับชำระหนี้สิน และ
	(2) อย่างน้อยเดือนหนึ่งก่อนวันขายทอดตลาด ซึ่งได้ประกาศโฆษณาในหนังสือพิมพ์
ประจำท้องถิ่นฉบับหนึ่งแจ้งความจำนงที่จะขายทรัพย์สิน บอกลักษณะแห่งทรัพย์สินที่จะขาย
โดยย่อ กับถ้ารู้ชื่อเจ้าของก็บอกด้วย
	เมื่อขายทอดตลาดหักใช้หนี้ดั่งกล่าวแล้ว มีเงินเหลืออยู่อีกเท่าใดต้องคืนให้แก่เจ้าของ
หรือฝากไว้ ณ สำนักงานฝากทรัพย์ตามบทบัญญัติใน มาตรา 331 และ 333

	ลักษณะ 11
	ค้ำประกัน
	หมวด 1
	บทเบ็ดเสร็จทั่วไป

	มาตรา 680 อันว่าค้ำประกันนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่งเรียกว่าผู้ค้ำประกัน ผูกพันตน
ต่อเจ้าหนี้คนหนึ่งเพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น
	อนึ่ง สัญญาค้ำประกันนั้น  ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือ
ชื่อผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญ  ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่
	มาตรา 681 อันค้ำประกันนั้นจะมีได้แต่เฉพาะเพื่อหนี้อันสมบูรณ์
	ความในวรรคหนึ่ง มิให้ใช้บังคับแก่กรณีผู้ค้ำประกันซึ่งเป็นนิติบุคคลและยินยอมเข้าผูกพันตน
เพื่อรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมหรือในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วม ในกรณีเช่นนั้นผู้ค้ำประกันซึ่งเป็นนิติบุคคลนั้น
ย่อมไม่มีสิทธิดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 688 มาตรา 689 และมาตรา 690
	หนี้ในอนาคตหรือหนี้มีเงื่อนไขจะประกันไว้เพื่อเหตุการณ์ซึ่งหนี้นั้นอาจเป็นผลได้จริงก็ประกันได้
แต่ต้องระบุวัตถุประสงค์ในการก่อหนี้รายที่ค้ำประกัน ลักษณะของมูลหนี้ จำนวนเงินสูงสุดที่ค้ำประกัน
และระยะเวลาในการก่อหนี้ที่จะค้ำประกัน เว้นแต่เป็นการค้ำประกันเพื่อกิจการเนื่องกันไปหลายคราว
ตามมาตรา 699 จะไม่ระบุระยะเวลาดังกล่าวก็ได้
	สัญญาค้ำประกันต้องระบุหนี้หรือสัญญาที่ค้ำประกันไว้โดยชัดแจ้ง และผู้ค้ำประกันย่อมรับผิด
เฉพาะหนี้หรือสัญญาที่ระบุไว้เท่านั้น
	หนี้อันเกิดแต่สัญญาซึ่งไม่ผูกพันลูกหนี้เพราะทำด้วยความสำคัญผิดหรือเพราะเป็นผู้ไร้
ความสามารถนั้นก็อาจจะมีประกันอย่างสมบูรณ์ได้ ถ้าหากว่าผู้ค้ำประกันรู้เหตุสำคัญผิด
หรือไร้ความสามารถนั้นในขณะที่เข้าทำสัญญาผูกพันตน
*มาตรา 681 วรรคสอง เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
(ฉบับที่ 21) พ.ศ. 2558
	มาตรา 681/1 ข้อตกลงใดที่กำหนดให้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดอย่างเดียวกับลูกหนี้ร่วมหรือ
ในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วม ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ
*มาตรา 681 และมาตรา 681/1 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
(ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557

	มาตรา 682 ท่านว่าบุคคลจะยอมเข้าเป็นผู้รับเรือน  คือเป็นประกันของผู้ค้ำประกันอีกชั้นหนึ่งก็เป็นได้
	ถ้าบุคคลหลายคนยอมตนเข้าเป็นผู้ค้ำประกันในหนี้รายเดียวกันไซร้ ท่านว่าผู้ค้ำประกัน
เหล่านั้นมีความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกัน แม้ถึงว่ามิได้เข้ารับค้ำประกันรวมกัน
	มาตรา 683 ค้ำประกันอย่างไม่มีจำกัดนั้นย่อมคุ้มถึงดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทนซึ่งลูกหนี้ค้างชำระ
ตลอดจนค่าภารติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้นด้วย
	มาตรา 684 ผู้ค้ำประกันประกันย่อมรับผิดเพื่อค่าฤชาธรรมเนียมความซึ่งลูกหนี้ต้องใช้ให้แก่เจ้าหนี้
แต่ถ้าโจทก์ฟ้องคดีโดยมิได้เรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้นั้นก่อนไซร้ ท่านว่าผู้ค้ำประกันหาต้องรับผิด
เพื่อใช้ค่าฤชาธรรมเนียมเช่นนั้นไม่
	มาตรา 685 เมื่อบังคับตามสัญญาค้ำประกันนั้น ผู้ค้ำประกันไม่ชำระหนี้ทั้งหมดของลูกหนี้ รวมทั้ง
ดอกเบี้ย ค่าสินไหมทดแทน และอุปกรณ์ด้วยไซร้ หนี้ยังเหลืออยู่เท่าใด ท่านว่าลูกหนี้ยังคงรับผิด
ต่อเจ้าหนี้ในส่วนที่เหลือนั้น
	มาตรา 685/1 บรรดาข้อตกลงเกี่ยวกับการค้ำประกันที่แตกต่างไปจากมาตรา 681 วรรคหนึ่ง
วรรคสอง และวรรคสาม มาตรา 686 มาตรา 694 มาตรา 698 และมาตรา 699 เป็นโมฆะ
*มาตรา 685/1 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
(ฉบับที่ 21) พ.ศ. 2558

	หมวด 2
	ผลก่อนชำระหนี้

	มาตรา 686 เมื่อลูกหนี้ผิดนัด ให้เจ้าหนี้มีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันภายในหกสิบวัน
นับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด และไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใดเจ้าหนี้จะเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ก่อนที่
หนังสือบอกกล่าวจะไปถึงผู้ค้ำประกันมิได้ แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ค้ำประกันที่จะชำระหนี้เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ
ในกรณีที่เจ้าหนี้มิได้มีหนังสือบอกกล่าวภายในกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้น
จากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้น
บรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง
	เมื่อเจ้าหนี้มีสิทธิเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้หรือผู้ค้ำประกันมีสิทธิชำระหนี้ได้ตามวรรคหนึ่ง
ผู้ค้ำประกันอาจชำระหนี้ทั้งหมดหรือใช้สิทธิชำระหนี้ตามเงื่อนไขและวิธีการในการชำระหนี้ที่ลูกหนี้มีอยู่กับ
เจ้าหนี้ก่อนการผิดนัดชำระหนี้ ทั้งนี้ เฉพาะในส่วนที่ตนต้องรับผิดก็ได้ และให้นำความในมาตรา 701
วรรคสองมาใช้บังคับโดยอนุโลม
	ในระหว่างที่ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ตามเงื่อนไขและวิธีการในการชำระหนี้ของลูกหนี้ตามวรรคสาม
เจ้าหนี้จะเรียกดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเพราะเหตุที่ลูกหนี้ผิดนัดในระหว่างนั้นมิได้
	การชำระหนี้ของผู้ค้ำประกันตามมาตรานี้ ไม่กระทบกระเทือนสิทธิของผู้ค้ำประกันตามมาตรา 693
*มาตรา 686 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557
	มาตรา 687 ผู้ค้ำประกันไม่จำต้องชำระหนี้ก่อนถึงเวลากำหนดที่จะชำระ แม้ถึงว่าลูกหนี้จะไม่อาจ
ถือเอาซึ่งประโยชน์แห่งเงื่อนเวลาเริ่มต้นหรือเวลาสุดสิ้นได้ต่อไปแล้ว
	มาตรา 688 เมื่อเจ้าหนี้ทวงให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้  ผู้ค้ำประกันจะขอให้เรียกลูกหนี้ชำระก่อนก็ได้
เว้นแต่ลูกหนี้จะถูกศาลพิพากษาให้เป็นคนล้มละลายเสียแล้ว หรือไม่ปรากฏว่าลูกหนี้ไปอยู่แห่งใด
ในพระราชอาณาเขต
	มาตรา 689 ถึงแม้จะได้เรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ดั่งกล่าวมาในมาตราก่อนนั้นแล้วก็ตาม ถ้าผู้ค้ำประกัน
พิสูจน์ได้ว่าลูกหนี้นั้นมีทางที่จะชำระหนี้ได้  และการที่จะบังคับให้ลูกหนี้ชำระหนี้นั้นจะไม่เป็นการ
ยากไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้จะต้องบังคับการชำระหนี้รายนั้นเอาจากทรัพย์สินของลูกหนี้ก่อน
	มาตรา 690 ถ้าเจ้าหนี้มีทรัพย์ของลูกหนี้ยึดถือไว้เป็นประกันไซร้ เมื่อผู้ค้ำประกันร้องขอ ท่านว่าเจ้าหนี้
จะต้องให้ชำระหนี้เอาจากทรัพย์ซึ่งเป็นประกันนั้นก่อน
	มาตรา 691 ในกรณีที่เจ้าหนี้ตกลงกับลูกหนี้ อันมีผลเป็นการลดจำนวนหนี้ที่มีการค้ำประกัน
รวมทั้งดอกเบี้ย ค่าสินไหมทดแทน หรือค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้น ให้เจ้าหนี้มีหนังสือ
แจ้งให้ผู้ค้ำประกันทราบถึงข้อตกลงดังกล่าวภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ตกลงกันนั้น ถ้าลูกหนี้ได้ชำระหนี้
ตามที่ได้ลดแล้วก็ดี ลูกหนี้ชำระหนี้ตามที่ได้ลดไม่ครบถ้วนแต่ผู้ค้ำประกันได้ชำระหนี้ส่วนที่เหลือนั้นแล้วก็ดี
หรือลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ตามที่ได้ลดแต่ผู้ค้ำประกันได้ชำระหนี้ตามที่ได้ลดนั้นแล้วก็ดี ให้ผู้ค้ำประกัน
เป็นอันหลุดพ้นจากการค้ำประกัน ในการชำระหนี้ของผู้ค้ำประกันดังกล่าว ผู้ค้ำประกันมีสิทธิชำระหนี้ได้
แม้จะล่วงเลยกำหนดเวลาชำระหนี้ตามที่ได้ลดแต่ต้องไม่เกินหกสิบวันนับแต่วันที่ครบกำหนดเวลาชำระหนี้ดังกล่าว
ในกรณีที่เจ้าหนี้มีหนังสือแจ้งให้ผู้ค้ำประกันทราบถึงข้อตกลงดังกล่าวเมื่อล่วงเลยกำหนดเวลาชำระหนี้
ตามที่ได้ลดแล้ว ให้ผู้ค้ำประกันมีสิทธิชำระหนี้ได้ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่เจ้าหนี้มีหนังสือแจ้งให้ผู้ค้ำประกัน
ทราบถึงข้อตกลงนั้น ทั้งนี้ ข้อตกลงที่ทำขึ้นภายหลังที่ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้แล้ว หากในข้อตกลงนั้น
มีการขยายเวลาชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ มิให้ถือว่าเป็นการผ่อนเวลาตามมาตรา 700
*มาตรา 691 แก้ไขโดย พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 21) พ.ศ. 2558
	มาตรา 692 อายุความสะดุดหยุดลงเป็นโทษแก่ลูกหนี้นั้น ย่อมเป็นโทษแก่ผู้ค้ำประกันด้วย

	หมวด 3
	ผลภายหลังชำระหนี้

	มาตรา 693 ผู้ค้ำประกันซึ่งได้ชำระหนี้แล้ว ย่อมมีสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาจากลูกหนี้เพื่อต้นเงิน กับดอกเบี้ย
และเพื่อการที่ต้องสูญหายหรือเสียหายไปอย่างใดๆ เพราะการค้ำประกันนั้น
	อนึ่ง ผู้ค้ำประกันย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้บรรดามีเหนือลูกหนี้ด้วย
	มาตรา 694 นอกจากข้อต่อสู้ซึ่งผู้ค้ำประกันมีต่อเจ้าหนี้นั้น ท่านว่าผู้ค้ำประกันยังอาจยกข้อต่อสู้
ทั้งหลายซึ่งลูกหนี้มีต่อเจ้าหนี้ขึ้นต่อสู้ได้ด้วย
	มาตรา 695 ผู้ค้ำประกันซึ่งละเลยไม่ยกข้อต่อสู้ของลูกหนี้ขึ้นต่อสู้เจ้าหนี้นั้น ท่านว่าย่อมสิ้นสิทธิที่จะ
ไล่เบี้ยเอาแก่ลูกหนี้เพียงเท่าที่ไม่ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้รู้ว่ามีข้อต่อสู้เช่น
นั้นและที่ไม่รู้นั้นมิได้เป็นเพราะความผิดของตนด้วย
	มาตรา 696 ผู้ค้ำประกันไม่มีสิทธิจะไล่เบี้ยเอาแก่ลูกหนี้ได้  ถ้าว่าตนได้ชำระหนี้แทนไปโดยมิได้บอก
ลูกหนี้ และลูกหนี้ยังมิรู้ความมาชำระหนี้ซ้ำอีก
	ในกรณีเช่นว่านี้ ผู้ค้ำประกันก็ได้แต่เพียงจะฟ้องเจ้าหนี้เพื่อคืนลาภมิควรได้เท่านั้น
	มาตรา 697 ถ้าเพราะการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งของเจ้าหนี้เองเป็นเหตุให้ผู้ค้ำประกันไม่อาจเข้ารับ
ช่วงได้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนในสิทธิก็ดีจำนองก็ดี จำนำก็ดี และบุริมสิทธิอันได้ให้ไว้แก่เจ้าหนี้แต่
ก่อนหรือในขณะทำสัญญาค้ำประกันเพื่อชำระหนี้นั้น ท่านว่าผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับ
ผิดเพียงเท่าที่ตนต้องเสียหายเพราะการนั้น

	หมวด 4
	ความระงับสิ้นไปแห่งการค้ำประกัน

	มาตรา 698 อันผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดในขณะเมื่อหนี้ของลูกหนี้ระงับสิ้นไปไม่ว่า
เพราะเหตุใด
	มาตรา 699 การค้ำประกันเพื่อกิจการเนื่องกันไปหลายคราวไม่มีจำกัดเวลาเป็นคุณแก่เจ้าหนี้นั้น
ท่านว่าผู้ค้ำประกันอาจเลิกเสียเพื่อคราวอันเป็นอนาคตได้ โดยบอกกล่าวความประสงค์นั้นแก่เจ้าหนี้
	ในกรณีเช่นนี้  ท่านว่าผู้ค้ำประกันไม่ต้องรับผิดในกิจการที่ลูกหนี้กระทำลงภายหลังคำ
บอกกล่าวนั้นได้ไปถึงเจ้าหนี้
	มาตรา 700 ถ้าค้ำประกันหนี้อันจะต้องชำระ ณ เวลามีกำหนดแน่นอนและเจ้าหนี้ยอมผ่อน
เวลาให้แก่ลูกหนี้ ผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิด เว้นแต่ผู้ค้ำประกันจะได้ตกลงด้วยใน
การผ่อนเวลานั้น
	ข้อตกลงที่ผู้ค้ำประกันทำไว้ล่วงหน้าก่อนเจ้าหนี้ผ่อนเวลาอันมีผลเป็นการยินยอมให้เจ้าหนี้ผ่อนเวลา
ข้อตกลงนั้นใช้บังคับมิได้
	ความในวรรคสอง มิให้ใช้บังคับแก่กรณีผู้ค้ำประกันซึ่งเป็นสถาบันการเงินหรือค้ำประกันเพื่อสินจ้าง
เป็นปกติธุระ
*มาตรา 700 แก้ไขโดย พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557
*มาตรา 700 วรรคสาม แก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
(ฉบับที่ 21) พ.ศ. 2558
	มาตรา 701 ผู้ค้ำประกันจะขอชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตั้งแต่เมื่อถึงกำหนดชำระก็ได้
	ถ้าเจ้าหนี้ไม่ยอมรับชำระหนี้  ผู้ค้ำประกันก็เป็นอันหลุดพ้นจากความรับผิด

	ลักษณะ 12
	จำนอง
	หมวด 1
	บทเบ็ดเสร็จทั่วไป

	มาตรา 702 อันว่าจำนองนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้จำนอง  เอาทรัพย์สินตราไว้แก่
บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้รับจำนองเป็นประกันการชำระหนี้โดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับ
จำนอง
	ผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญ  มิพักต้อง
พิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือหาไม่
	มาตรา 703 อันอสังหาริมทรัพย์นั้นอาจจำนองได้ไม่ว่าประเภทใดๆ
	สังหาริมทรัพย์อันจะกล่าวต่อไปนี้ก็อาจจำนองได้ดุจกัน หากว่าได้จดทะเบียนไว้แล้ว
ตามกฎหมาย  คือ
	(1) เรือมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป
	(2) แพ
	(3) สัตว์พาหนะ
	(4) สังหาริมทรัพย์อื่นๆ ซึ่งกฎหมายหากบัญญัติไว้ให้จดทะเบียนเฉพาะการ
	“(1) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
(ฉบับที่ 14) พ.ศ.2548”
	มาตรา 704 สัญญาจำนองต้องระบุทรัพย์สินซึ่งจำนอง
	มาตรา 705 การจำนองทรัพย์สินนั้น นอกจากผู้เป็นเจ้าของในขณะนั้นแล้ว ท่านว่าใครอื่นจะจำนอง
หาได้ไม่
	มาตรา 706 บุคคลมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินแต่ภายในบังคับเงื่อนไขเช่นใด จะจำนองทรัพย์สินนั้นได้
แต่ภายในบังคับเงื่อนไขเช่นนั้น
	มาตรา 707 บทบัญญัติ มาตรา 681 ว่าด้วยค้ำประกันนั้น ท่านให้ใช้ได้ในการจำนอง อนุโลมตามควร
	มาตรา 708 สัญญาจำนองนั้นต้องมีจำนวนเงินระบุไว้เป็นเรือนเงินไทยเป็นจำนวนแน่ตรงตัว หรือ
จำนวนขั้นสูงสุดที่ได้เอาทรัพย์สินจำนองนั้นเป็นตราไว้เป็นประกัน
	มาตรา 709 บุคคลคนหนึ่งจะจำนองทรัพย์สินของตนไว้เพื่อประกันหนี้อันบุคคลอื่นจะต้องชำระ
ก็ให้ทำได้
	มาตรา 710 ทรัพย์สินหลายสิ่งมีเจ้าของคนเดียวหรือหลายคนจะจำนองเพื่อประกันการชำระหนี้แต่
รายหนึ่งรายเดียว ท่านก็ให้ทำได้
	และในการนี้คู่สัญญาจะตกลงกันดั่งต่อไปนี้ก็ได้  คือว่า
	(1) ให้ผู้รับจำนองใช้สิทธิบังคับเอาแก่ทรัพย์สินซึ่งจำนองตามลำดับอันระบุไว้
	(2) ให้ถือเอาทรัพย์สินแต่ละสิ่งเป็นประกันหนี้เฉพาะแต่ส่วนหนึ่งส่วนใดที่ระบุไว้
	มาตรา 711 การที่จะตกลงกันไว้เสียแต่ก่อนเวลาหนี้ถึงกำหนดชำระเป็นข้อความอย่างใดอย่างหนึ่งว่า
ถ้าไม่ชำระหนี้ ให้ผู้รับจำนองเข้าเป็นเจ้าของทรัพย์สินซึ่งจำนอง หรือว่าให้จัดการแก่ทรัพย์สินนั้น
เป็นประการอื่นอย่างใด นอกจากตามบทบัญญัติทั้งหลายว่าด้วยการบังคับจำนองนั้นไซร้  ข้อตกลง
เช่นนั้นท่านว่าไม่สมบูรณ์
	มาตรา 712 แม้ถึงว่ามีข้อสัญญาเป็นอย่างอื่นก็ตาม  ทรัพย์สินซึ่งจำนองไว้แก่บุคคลคนหนึ่งนั้น
ท่านว่าจะเอาไปจำนองแก่บุคคลอีกคนหนึ่งในระหว่างเวลาที่สัญญาก่อนยังมีอายุอยู่ก็ได้
	มาตรา 713 ถ้ามิได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญาจำนอง ท่านว่าผู้จำนองจะชำระหนี้ล้างจำนอง
เป็นงวดๆ ก็ได้
	มาตรา 714 อันสัญญาจำนองนั้น ท่านว่าต้องเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่
	มาตรา 714/1 บรรดาข้อตกลงเกี่ยวกับการจำนองที่แตกต่างไปจากมาตรา 728 มาตรา 729
และมาตรา 735 เป็นโมฆะ
*มาตรา 714/1 แก้ไขโดย พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557

	หมวด 2
	สิทธิจำนองครอบเพียงใด

	มาตรา 715 ทรัพย์สินซึ่งจำนองย่อมเป็นประกันเพื่อการชำระหนี้กับทั้งค่าอุปกรณ์ต่อไปนี้ด้วย คือ
	(1)  ดอกเบี้ย
	(2)  ค่าสินไหมทดแทนในการไม่ชำระหนี้
	(3)  ค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับจำนอง
	มาตรา 716 จำนองย่อมครอบไปถึงบรรดาทรัพย์สินซึ่งจำนองหมดทุกสิ่งแม้จะได้ชำระหนี้แล้วบางส่วน
	มาตรา 717 แม้ว่าทรัพย์สินซึ่งจำนองจะแบ่งออกเป็นหลายส่วนก็ตาม ท่านว่าจำนองก็ยังคงครอบ
ไปถึงส่วนเหล่านั้นหมดทุกส่วนด้วยกันอยู่นั่นเอง
	ถึงกระนั้นก็ดี ถ้าผู้รับจำนองยินยอมด้วย ท่านว่าจะโอนทรัพย์สินส่วนหนึ่งส่วนใดไป
ปลอดจากจำนองก็ให้ทำได้ แต่ความยินยอมดั่งว่านี้หากมิได้จดทะเบียน  ท่านว่าจะยกเอาขึ้น
เป็นข้อต่อสู้แก่บุคคลภายนอกหาได้ไม่
	มาตรา 718 จำนองย่อมครอบไปถึงทรัพย์ทั้งปวงอันติดพันอยู่กับทรัพย์สินซึ่งจำนอง แต่ต้องอยู่ภายใน
บังคับซึ่งท่านจำกัดไว้ในสามมาตราต่อไปนี้
	มาตรา 719 จำนองที่ดินไม่ครอบไปถึงเรือนโรงอันผู้จำนองปลูกสร้างลงในที่ดินภายหลังวันจำนอง
เว้นแต่จะมีข้อความกล่าวไว้โดยเฉพาะในสัญญาว่าให้ครอบไปถึง
	แต่กระนั้นก็ดี ผู้รับจำนองจะให้ขายเรือนโรงนั้นรวมไปกับที่ดินด้วยก็ได้  แต่ผู้รับจำนอง
อาจใช้บุริมสิทธิของตนได้เพียงแก่ราคาที่ดินเท่านั้น
	มาตรา 720 จำนองเรือนโรงหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นซึ่งได้ทำขึ้นไว้บนดินหรือใต้ดินในที่ดินอันเป็น
ของคนอื่นเขานั้นย่อมไม่ครอบไปถึงที่ดินนั้นด้วย  ฉันใดกลับกันก็ฉันนั้น
	มาตรา 721 จำนองไม่ครอบไปถึงดอกผลแห่งทรัพย์สินซึ่งจำนอง  เว้นแต่ในเมื่อผู้รับจำนองได้บอก
กล่าวแก่ผู้จำนองหรือผู้รับโอนแล้วว่าตนจำนงจะบังคับจำนอง

	หมวด 3
	สิทธิและหน้าที่ของผู้รับจำนองและผู้จำนอง

	มาตรา 722 ถ้าทรัพย์สินได้จำนองแล้ว และภายหลังที่จดทะเบียนจำนองมีจดทะเบียนภารจำยอม
หรือทรัพยสิทธิอย่างอื่นโดยผู้รับจำนองมิได้ยินยอมด้วยไซร้ ท่านว่าสิทธิจำนองย่อมเป็นใหญ่กว่า
ภารจำยอมหรือทรัพย์สิทธิอย่างอื่นนั้น หากว่าเป็นที่เสื่อมเสียแก่สิทธิของผู้รับจำนองในเวลาบังคับ
จำนอง ก็ให้ลบสิทธิที่กล่าวหลังนั้นเสียจากทะเบียน
	มาตรา 723 ถ้าทรัพย์สินซึ่งจำนองบุบสลาย  หรือถ้าทรัพย์สินซึ่งจำนองแต่สิ่งใดสิ่งหนึ่งสูญหายหรือ
บุบสลาย  เป็นเหตุให้ไม่เพียงพอแก่การประกันไซร้  ท่านว่าผู้รับจำนองจะบังคับจำนองเสียในทันที
ก็ได้ เว้นแต่เมื่อเหตุนั้นมิได้เป็นเพราะความผิดของผู้จำนองและผู้จำนองก็เสนอจะจำนองทรัพย์สิน
อื่นแทนให้มีราคาเพียงพอหรือเสนอจะรับซ่อมแซมแก้ไขความบุบสลายนั้นภายในเวลาอันสมควรแก่เหตุ
	มาตรา 724 ผู้จำนองใดได้จำนองทรัพย์สินของตนไว้เพื่อประกันหนี้อันบุคคลอื่นจะต้องชำระแล้ว
และเข้าชำระหนี้เสียเองแทนลูกหนี้เพื่อจะปัดป้องมิให้ต้องบังคับจำนอง ท่านว่าผู้จำนองนั้นชอบ
ที่จะได้รับเงินใช้คืนจากลูกหนี้ตามจำนวนที่ตนได้ชำระไป
	ถ้าว่าต้องบังคับจำนอง ท่านว่าผู้จำนองชอบที่จะได้รับเงินใช้คืนจากลูกหนี้ตามจำนวน
ซึ่งผู้รับจำนองจะได้รับใช้หนี้จากการบังคับจำนองนั้น
	มาตรา 725 เมื่อบุคคลสองคนหรือกว่านั้นต่างได้จำนองทรัพย์สินแห่งตนเพื่อประกันหนี้แต่รายหนึ่ง
รายเดียวอันบุคคลอื่นจะต้องชำระและมิได้ระบุลำดับไว้ไซร้  ท่านว่าผู้จำนองซึ่งได้เป็นผู้ชำระหนี้
หรือเป็นเจ้าของทรัพย์สินซึ่งต้องบังคับจำนองนั้นหามีสิทธิจะไล่เบี้ยเอาแก่ผู้จำนองอื่นๆ ต่อไปได้ไม่
	มาตรา 726 เมื่อบุคคลหลายคนต่างได้จำนองทรัพย์สินแห่งตนเพื่อประกันหนี้แต่รายหนึ่งรายเดียว
อันบุคคลอื่นจะต้องชำระและได้ระบุลำดับไว้ด้วยไซร้ ท่านว่าการที่ผู้รับจำนองยอมปลดหนี้ให้แก่
ผู้จำนองคนหนึ่งนั้น ย่อมทำให้ผู้จำนองคนหลังๆ ได้หลุดพ้นด้วย เพียงขนาดที่เขาต้องรับความ
เสียหายแต่การนั้น
	มาตรา 727 ถ้าบุคคลคนเดียวจำนองทรัพย์สินแห่งตนเพื่อประกันหนี้อันบุคคลอื่นจะต้องชำระ  ท่าน
ให้ใช้บทบัญญัติ มาตรา 697 , 700 และ  701  ว่าด้วยค้ำประกันนั้นบังคับอนุโลมตามควร
-
“มาตรา 727 ให้นำบทบัญญัติมาตรา 691 มาตรา 697 มาตรา 700 และมาตรา 701
มาใช้บังคับกับกรณีที่บุคคลจำนองทรัพย์สินเพื่อประกันหนี้อันบุคคลอื่นจะต้องชำระด้วยโดยอนุโลม”
	มาตรา 11 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา 727/1 ของหมวด 3 สิทธิและหน้าที่ของ
ผู้รับจำนองและผู้จำนอง ของลักษณะ 12 จำนอง ของบรรพ 3 เอกเทศสัญญา แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและ
พาณิชย์
	ข้อตกลงใดอันมีผลให้ผู้จำนองรับผิดเกินที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง หรือให้ผู้จำนองรับผิดอย่าง
ผู้ค้ำประกัน ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ ไม่ว่าข้อตกลงนั้นจะมีอยู่ในสัญญาจำนองหรือทำเป็นข้อตกลงต่างหาก
	ทั้งนี้ เว้นแต่เป็นกรณีที่นิติบุคคลเป็นลูกหนี้และบุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการตามกฎหมายหรือบุคคลที่มี
อำนาจควบคุมการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้นเป็นผู้จำนองทรัพย์สินของตนไว้เพื่อประกันหนี้นั้นของนิติบุคคล
และผู้จำนองได้ทำสัญญาค้ำประกันไว้เป็นสัญญาต่างหาก
*มาตรา 727 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557
*มาตรา 727/1 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 21) พ.ศ. 2558
-
	หมวด 4
	การบังคับจำนอง
-
	มาตรา 728 เมื่อจะบังคับจำนองนั้น ผู้รับจำนองต้องมีหนังสือบอกกล่าวไปยังลูกหนี้ก่อนว่า
ให้ชำระหนี้ภายในเวลาอันสมควรซึ่งต้องไม่น้อยกว่าหกสิบวันนับแต่วันที่ลูกหนี้ได้รับคำบอกกล่าวนั้น
ถ้าและลูกหนี้ละเลยเสียไม่ปฏิบัติตามคำบอกกล่าว ผู้รับจำนองจะฟ้องคดีต่อศาลเพื่อให้พิพากษา
สั่งให้ยึดทรัพย์สินซึ่งจำนองและให้ขายทอดตลาดก็ได้
	ในกรณีตามวรรคหนึ่ง ถ้าเป็นกรณีผู้จำนองซึ่งจำนองทรัพย์สินของตนไว้เพื่อประกันหนี้อันบุคคลอื่น
ต้องชำระ ผู้รับจำนองต้องส่งหนังสือบอกกล่าวดังกล่าวให้ผู้จำนองทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่
ส่งหนังสือแจ้งให้ลูกหนี้ทราบ ถ้าผู้รับจำนองมิได้ดำเนินการภายในกำหนดเวลาสิบห้าวันนั้น ให้ผู้จำนอง
เช่นว่านั้นหลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทนซึ่งลูกหนี้ค้างชำระ ตลอดจนค่าภาระ
ติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้นบรรดาที่เกิดขึ้นนับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลาสิบห้าวันดังกล่าว
*มาตรา 728 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
(ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557
	มาตรา 729 ในการบังคับจำนองตามมาตรา 728 ถ้าไม่มีการจำนองรายอื่นหรือบุริมสิทธิอื่น
อันได้จดทะเบียนไว้เหนือทรัพย์สินอันเดียวกันนี้ ผู้รับจำนองจะฟ้องคดีต่อศาลเพื่อเรียกเอาทรัพย์จำนองหลุด
ภายในบังคับแห่งเงื่อนไขดังจะกล่าวต่อไปนี้แทนการขายทอดตลาดก็ได้
	(1) ลูกหนี้ได้ขาดส่งดอกเบี้ยมาแล้วเป็นเวลาถึงห้าปี และ
	(2) ผู้รับจำนองแสดงให้เป็นที่พอใจแก่ศาลว่าราคาทรัพย์สินนั้นน้อยกว่าจำนวนเงินอันค้างชำระ
*มาตรา 729 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
(ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557
	มาตรา 729/1 เวลาใด ๆ หลังจากที่หนี้ถึงกำหนดชำระ ถ้าไม่มีการจำนองรายอื่นหรือ
บุริมสิทธิอื่นอันได้จดทะเบียนไว้เหนือทรัพย์สินอันเดียวกันนี้ ผู้จำนองมีสิทธิแจ้งเป็นหนังสือไปยัง
ผู้รับจำนองเพื่อให้ผู้รับจำนองดำเนินการให้มีการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จำนองโดยไม่ต้องฟ้องเป็นคดีต่อศาล
โดยผู้รับจำนองต้องดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จำนองภายในเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งนั้น
ทั้งนี้ ให้ถือว่าหนังสือแจ้งของผู้จำนองเป็นหนังสือยินยอมให้ขายทอดตลาด
	ในกรณีที่ผู้รับจำนองไม่ได้ดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จำนองภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้
ในวรรคหนึ่ง ให้ผู้จำนองพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทนซึ่งลูกหนี้ค้างชำระ
ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้นบรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังวันที่พ้นกำหนดเวลาดังกล่าว
	เมื่อผู้รับจำนองขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จำนองได้เงินสุทธิจำนวนเท่าใด ผู้รับจำนองต้องจัดสรร
ชำระหนี้และอุปกรณ์ให้เสร็จสิ้นไป ถ้ายังมีเงินเหลือก็ต้องส่งคืนให้แก่ผู้จำนอง หรือแก่บุคคลผู้ควรจะได้เงินนั้น
แต่ถ้าได้เงินน้อยกว่าจำนวนที่ค้างชำระ ให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 733 และในกรณีที่ผู้จำนอง
เป็นบุคคลซึ่งจำนองทรัพย์สินเพื่อประกันหนี้อันบุคคลอื่นจะต้องชำระ ผู้จำนองย่อมรับผิดเพียงเท่าที่
มาตรา 727/1 กำหนดไว้
*มาตรา 729/1 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
(ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557
	มาตรา 730 เมื่อทรัพย์สินอันหนึ่งอันเดียวได้จำนองแก่ผู้รับจำนองหลายคนด้วยกัน ท่านให้ถือลำดับ
ผู้รับจำนองเรียงตามวันและเวลาจดทะเบียน และผู้รับจำนองคนก่อนจักได้รับใช้หนี้ก่อนผู้รับจำนองคนหลัง
	มาตรา 731 อันผู้รับจำนองคนหลังจะบังคับตามสิทธิของตนให้เสียหายแก่ผู้รับจำนองคนก่อนนั้น
ท่านว่าหาอาจทำไม่ได้
	มาตรา 732 ทรัพย์สินซึ่งจำนองขายทอดตลาดได้เงินเป็นจำนวนสุทธิเท่าใด ท่านให้จัดใช้แก่ผู้รับ
จำนองเรียงตามลำดับ และถ้ายังมีเงินเหลืออยู่อีก ก็ให้ส่งมอบแก่ผู้จำนอง
	มาตรา 733 ถ้าเอาทรัพย์จำนองหลุด และราคาทรัพย์สินนั้นมีประมาณต่ำกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระ
กันอยู่ก็ดี  หรือถ้าเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองออกขายทอดตลาดใช้หนี้ได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่า
จำนวนเงินที่ค้างชำระกันอยู่นั้นก็ดี เงินยังขาดจำนวนอยู่เท่าใด ลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดในเงินนั้น
	**แก้ไขโดย มาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
(ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2478 (รจ. เล่ม 52 ตอนที่ 42 วันที่ 29 กันยายน 2478)
	มาตรา 734 ถ้าจำนองทรัพย์สินหลายสิ่งเพื่อประกันหนี้แต่รายหนึ่งรายเดียวและมิได้ระบุลำดับไว้ไซร้
ท่านว่าผู้รับจำนองจะใช้สิทธิของตนบังคับแก่ทรัพย์สินนั้นๆ ทั้งหมด หรือแต่เพียงบางสิ่งก็ได้
แต่ท่านห้ามมิให้ทำเช่นนั้นแก่ทรัพย์สินมากสิ่งกว่าที่จำเป็นเพื่อใช้หนี้ตามสิทธิแห่งตน
	ถ้าผู้รับจำนองใช้สิทธิของตนบังคับแก่ทรัพย์สินทั้งหมดพร้อมกัน ท่านให้แบ่งภาระแห่ง
หนี้นั้นกระจายไปตามส่วนราคาแห่งทรัพย์สินนั้นๆ เว้นแต่ในกรณีที่ได้ระบุจำนวนเงินจำนองไว้
เฉพาะทรัพย์สินแต่ละสิ่งๆ เป็นจำนวนเท่าใด ท่านให้แบ่งกระจายไปตามจำนวนเงินจำนองที่ระบุ
ไว้เฉพาะทรัพย์สิ่งนั้นๆ
	แต่ถ้าผู้รับจำนองใช้สิทธิของตนบังคับแก่ทรัพย์สินอันใดอันหนึ่งแต่เพียงสิ่งเดียวไซร้  ผู้
รับจำนองจะให้ชำระหนี้อันเป็นส่วนของตนทั้งหมดจากทรัพย์สินอันนั้นก็ได้ ในกรณีเช่นนั้น ท่าน
ให้ถือว่าผู้รับจำนองคนถัดไปโดยลำดับย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้รับจำนองคนก่อนและจะเข้าบังคับ
จำนองแทนที่คนก่อนก็ได้แต่เพียงเท่าจำนวนซึ่งผู้รับจำนองคนก่อนจะพึงได้รับจากทรัพย์สินอื่นๆ
ตามบทบัญญัติดั่งกล่าวมาในวรรคก่อนนั้น
	มาตรา 735 เมื่อผู้รับจำนองคนใดจะบังคับจำนองเอาแก่ผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนอง
ผู้รับจำนองต้องมีจดหมายบอกกล่าวแก่ผู้รับโอนล่วงหน้าเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่าหกสิบวันก่อน
จึงจะบังคับจำนองได้
*มาตรา 735 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
(ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557

	หมวด 5
	สิทธิและหน้าที่ของผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนอง

	มาตรา 736 ผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองจะไถ่ถอนจำนองก็ได้   ถ้าหากมิได้เป็นตัวลูกหนี้
หรือผู้ค้ำประกัน หรือเป็นทายาทของลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกัน
	มาตรา 737 มาตรา 737 ผู้รับโอนจะไถ่ถอนจำนองเมื่อใดก็ได้ แต่ถ้าผู้รับจำนองได้บอกกล่าวว่าจะบังคับจำนอง
ผู้รับโอนต้องไถ่ถอนจำนองภายในหกสิบวันนับแต่วันรับคำบอกกล่าว
*มาตรา 737 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
(ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557
	มาตรา 738 ผู้รับโอนซึ่งประสงค์จะไถ่ถอนจำนองต้องบอกกล่าวความประสงค์นั้นแก่ผู้เป็นลูกหนี้ชั้น
ต้น  และต้องส่งคำเสนอไปยังบรรดาเจ้าหนี้ที่ได้จดทะเบียน ไม่ว่าในทางจำนองหรือประการอื่นว่า
จะรับใช้เงินให้เป็นจำนวนอันสมควรกับราคาทรัพย์สินนั้น
	คำเสนอนั้นให้แจ้งข้อความทั้งหลายต่อไปนี้ คือ
	(1)  ตำแหน่งแหล่งที่และลักษณะแห่งทรัพย์สินซึ่งจำนอง
	(2)  วันซึ่งโอนกรรมสิทธิ์
	(3)  ชื่อเจ้าของเดิม
	(4)  ชื่อและภูมิลำเนาของผู้รับโอน
	(5)  จำนวนเงินที่เสนอว่าจะใช้
	(6)  คำนวณยอดจำนวนเงินที่ค้างชำระแก่เจ้าหนี้คนหนึ่งๆ รวมทั้งอุปกรณ์และจำนวนเงิน
ที่จะจัดเป็นส่วนใช้แก่บรรดาเจ้าหนี้ตามลำดับกัน
	อนึ่ง ให้คัดสำเนารายงานจดทะเบียนของเจ้าพนักงานในเรื่องทรัพย์สินซึ่งจำนองนั้น
อันเจ้าพนักงานรับรองว่าเป็นสำเนาถูกถ้วนสอดส่งไปด้วย
	มาตรา 739 ถ้าเจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดไม่ยอมรับคำเสนอ  เจ้าหนี้คนนั้นต้องฟ้องคดีต่อศาลภายใน
เดือนหนึ่งนับแต่วันมีคำเสนอเพื่อให้ศาลพิพากษาสั่งขายทอดตลาดทรัพย์สินซึ่งจำนองนั้น แต่ว่า
เจ้าหนี้นั้นจะต้องปฏิบัติการดั่งจะกล่าวต่อไปนี้ด้วย คือ
	(1)  ออกเงินทดรองค่าฤชาธรรมเนียมการขายทอดตลาด
	(2)  ต้องเข้าสู้ราคาเอง  หรือแต่งคนเข้าสู้ราคาเป็นจำนวนเงินสูงกว่าที่ผู้รับโอนเสนอจะใช้
	(3)  บอกกล่าวการที่ตนไม่ยอมนั้นให้ผู้รับโอนและเจ้าหนี้คนอื่นๆ บรรดาได้จดทะเบียน
กับทั้งเจ้าของทรัพย์คนก่อนและลูกหนี้ชั้นต้นทราบด้วย
	มาตรา 740 ถ้าขายทอดตลาดได้เงินจำนวนสุทธิล้ำจำนวนเงินที่ผู้รับโอนเสนอว่าจะใช้ ท่านให้
ผู้รับโอนเป็นผู้ออกใช้ค่าฤชาธรรมเนียม ในการขายทอดตลาดถ้าได้ไม่ถึงล้ำจำนวน  ท่านให้เจ้าหนี้ผู้ร้องขอ
ให้ขายทอดตลาดเป็นผู้ออก
	มาตรา 741 เมื่อเจ้าหนี้ทั้งหลายได้สนองรับคำเสนอทั่วทุกคนแล้วโดยแสดงออกชัดหรือ
โดยปริยายก็ดี ท่านว่าจำนองหรือบุริมสิทธิก็เป็นอันไถ่ถอนได้ด้วยผู้รับโอนใช้เงินหรือวางเงินตามจำนวน
ที่เสนอจะใช้แทนการชำระหนี้
	มาตรา 742 ถ้าการบังคับจำนองก็ดี ถอนจำนองก็ดี เป็นเหตุให้ทรัพย์สินซึ่งจำนองหลุดมือไปจาก
บุคคลผู้ได้ทรัพย์สินนั้นไว้แต่ก่อนไซร้  ท่านว่าการที่ทรัพย์สินหลุดมือไปเช่นนั้นหามีผลย้อนหลังไม่
และบุริมสิทธิทั้งหลายของเจ้าหนี้แห่งผู้ที่ทรัพย์หลุดมือไปอันมีอยู่เหนือทรัพย์สินและได้จดทะเบียน
ไว้นั้น  ก็ย่อมเข้าอยู่ในลำดับหลังบุริมสิทธิอันเจ้าหนี้ของผู้จำนอง หรือเจ้าของคนก่อนได้จดทะเบียนไว้
	ในกรณีเช่นนี้ ถ้าสิทธิใดๆ อันมีอยู่เหนือทรัพย์สินซึ่งจำนองเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่บุคคล
ผู้ได้ทรัพย์สินซึ่งจำนองไว้แต่ก่อนได้ระงับไปแล้วด้วยเกลื่อนกลืนกันในขณะที่ได้ทรัพย์สินนั้นมาไซร้
สิทธินั้นท่านให้กลับคืนมาเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่บุคคลผู้นั้นได้อีกในเมื่อทรัพย์สินซึ่งจำนองกลับ
หลุดมือไป
	มาตรา 743 ถ้าผู้รับโอนได้ทำให้ทรัพย์สินซึ่งจำนองเสื่อมราคาลงเพราะการกระทำหรือความ
ประมาทเลินเล่อแห่งตนเป็นเหตุให้เจ้าหนี้ทั้งหลายผู้มีสิทธิจำนองหรือบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินนั้นต้องเสีย
หายไซร้  ท่านว่าผู้รับโอนจะต้องรับผิดเพื่อความเสียหายนั้น อย่างไรก็ดี อันผู้รับโอนจะเรียกเอาเงิน
จำนวนใดๆ ซึ่งตนได้ออกไป  หรือเรียกให้ชดใช้ค่าใช้จ่ายที่ตนได้ทำให้ทรัพย์สินดีขึ้นนั้น ท่านว่าหา
อาจจะเรียกได้ไม่  เว้นแต่ที่เป็นการทำให้ทรัพย์สินนั้นงอกราคาขึ้น และจะเรียกได้เพียงเท่าจำนวน
ราคาที่งอกขึ้นเมื่อขายทอดตลาดเท่านั้น

	หมวด 6
	ความระงับสิ้นไปแห่งสัญญาจำนอง

	มาตรา 744 อันจำนองย่อมระงับสิ้นไป
	(1) เมื่อหนี้ที่ประกันระงับสิ้นไปด้วยเหตุประการอื่นใดมิใช่เหตุอายุความ
	(2) เมื่อปลดจำนองให้แก่ผู้จำนองด้วยหนังสือเป็นสำคัญ
	(3) เมื่อผู้จำนองหลุดพ้น
	(4) เมื่อถอนจำนอง
	(5) เมื่อขายทอดตลาดทรัพย์สินซึ่งจำนองตามคำสั่งศาลอันเนื่องมาแต่การบังคับจำนอง
หรือถอนจำนอง หรือเมื่อมีการขายทอดตลาดทรัพย์สินตามมาตรา 729/1
	(6) เมื่อเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองนั้นหลุด
*มาตรา 744 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
(ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557
	มาตรา 745 ผู้รับจำนองจะบังคับจำนองแม้เมื่อหนี้ที่ประกันนั้นขาดอายุความแล้วก็ได้ 
แต่จะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเกินกว่าห้าปีไม่ได้
	มาตรา 746 การชำระหนี้ไม่ว่าครั้งใดๆ สิ้นเชิงหรือแต่บางส่วนก็ดี การระงับหนี้อย่างใดๆ ก็ดี 
การตกลงกันแก้ไขเปลี่ยนแปลงจำนองหรือหนี้อันจำนองเป็นประกันนั้นเป็นประการใดก็ดี ท่านว่าต้องนำ
ความไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในเมื่อมีคำร้องขอของผู้มีส่วนได้เสีย  มิฉะนั้นท่านห้าม
มิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอก

	ลักษณะ 13
	จำนำ
	หมวด 1
	บทเบ็ดเสร็จทั่วไป

	มาตรา 747 อันว่าจำนำนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้จำนำ ส่งมอบสังหาริมทรัพย์สิ่งหนึ่ง
ให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง  เรียกว่าผู้รับจำนำ เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้
	มาตรา 748 การจำนำนั้นย่อมเป็นประกันเพื่อการชำระหนี้  กับทั้งค่าอุปกรณ์ต่อไปนี้ด้วย คือ
	(1)  ดอกเบี้ย
	(2)  ค่าสินไหมทดแทนในการไม่ชำระหนี้
	(3)  ค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับจำนำ
	(4)  ค่าใช้จ่ายเพื่อรักษาทรัพย์สินซึ่งจำนำ
	(5)  ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่ความชำรุดบกพร่องแห่งทรัพย์สิน
จำนำซึ่งไม่เห็นประจักษ์
	มาตรา 749 คู่สัญญาจำนำจะตกลงกันให้บุคคลภายนอกเป็นผู้เก็บรักษาทรัพย์สินจำนำไว้ก็ได้
	มาตรา 750 ถ้าทรัพย์สินที่จำนำเป็นสิทธิซึ่งมีตราสาร  และมิได้ส่งมอบตราสารนั้นให้แก่ผู้รับจำนำ
ทั้งมิได้บอกกล่าวเป็นหนังสือแจ้งการจำนำแก่ลูกหนี้แห่งสิทธินั้นด้วยไซร้ ท่านว่าการจำนำย่อมเป็นโมฆะ
	มาตรา 751 ถ้าจำนำตราสารชนิดออกให้แก่บุคคลเพื่อเขาสั่ง  ท่านห้ามมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคล
ภายนอก เว้นแต่จะได้สลักหลังไว้ที่ตราสารให้ปรากฏการจำนำเช่นนั้น
	อนึ่ง ในการนี้ไม่จำเป็นต้องบอกกล่าวแก่ลูกหนี้แห่งตราสาร
	มาตรา 752 ถ้าจำนำตราสารชนิดออกให้แก่บุคคลโดยนามและจะโอนกันด้วยสลักหลังไม่ได้  ท่านว่า
ต้องจดข้อความแสดงการจำนำไว้ให้ปรากฏในตราสารนั้นเอง และท่านห้ามมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้
ลูกหนี้แห่งตราสารหรือบุคคลภายนอก  เว้นแต่จะได้บอกกล่าวการจำนำนั้นให้ทราบถึงลูกหนี้แห่งตราสาร
	มาตรา 753 ถ้าจำนำใบหุ้น  หรือใบหุ้นกู้ชนิดระบุชื่อ ท่านห้ามมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บริษัทหรือ
บุคคลภายนอก เว้นแต่จะได้จดลงทะเบียนการจำนำนั้นไว้ในสมุดของบริษัท ตามบทบัญญัติทั้ง
หลายใน ลักษณะ 22 ว่าด้วยการโอนหุ้นหรือหุ้นกู้
	มาตรา 754 ถ้าสิทธิซึ่งจำนำนั้นถึงกำหนดชำระก่อนหนี้ซึ่งประกันไว้นั้นไซร้ ท่านว่าลูกหนี้แห่งสิทธิ
ต้องส่งมอบทรัพย์สินอันเป็นวัตถุแห่งสิทธิให้แก่ผู้รับจำนำ  และทรัพย์สินนั้นก็กลายเป็นของจำนำ
แทนสิทธิซึ่งจำนำ
	ถ้าสิทธิซึ่งจำนำนั้นเป็นมูลหนี้ซึ่งต้องชำระเป็นเงิน และถึงกำหนดชำระก่อนหนี้ซึ่ง
ประกันไว้นั้นไซร้ ท่านว่าต้องใช้เงินให้แก่ผู้รับจำนำและผู้จำนำร่วมกัน ถ้าและเขาทั้งสองนั้นไม่
ปรองดองตกลงกันได้  ท่านว่าแต่ละคนชอบที่จะเรียกให้วางเงินจำนวนนั้นไว้ ณ สำนักงานฝาก
ทรัพย์ได้เพื่อประโยชน์อันร่วมกัน
	มาตรา 755 ถ้าจำนำสิทธิ  ท่านห้ามมิให้ทำสิทธินั้นให้สิ้นไป หรือแก้ไขสิทธินั้นให้เสียหายแก่ผู้รับจำนำ
โดยผู้รับจำนำมิได้ยินยอมด้วย
	มาตรา 756 การที่จะตกลงกันไว้เสียแต่ก่อนเวลาหนี้ถึงกำหนดชำระเป็นข้อความอย่างใดอย่างหนึ่ง
ว่า ถ้าไม่ชำระหนี้  ให้ผู้รับจำนำเข้าเป็นเจ้าของทรัพย์สินจำนำ  หรือให้จัดการแก่ทรัพย์สินนั้นเป็น
ประการอื่นนอกจากตามบทบัญญัติทั้งหลายว่าด้วยการบังคับจำนำนั้นไซร้ ข้อตกลงเช่นนั้นท่านว่า
ไม่สมบูรณ์
	มาตรา 757 บทบัญญัติทั้งหลายใน ลักษณะ 13 นี้ ท่านให้ใช้บังคับแก่สัญญาจำนำที่ทำกับผู้ตั้งโรง
รับจำนำโดยอนุญาตรัฐบาลแต่เพียงที่ไม่ขัดกับกฎหมาย หรือข้อบังคับว่าด้วยโรงจำนำ

	หมวด 2
	สิทธิและหน้าที่ของผู้จำนำและผู้รับจำนำ

	มาตรา 758 ผู้รับจำนำชอบที่จะยึดของจำนำไว้ได้ทั้งหมดจนกว่าจะได้รับชำระหนี้และค่าอุปกรณ์
ครบถ้วน
	มาตรา 759 ผู้รับจำนำจำต้องรักษาทรัพย์สินจำนำไว้ให้ปลอดภัยและต้องสงวนทรัพย์สินจำนำนั้น
เช่นอย่างวิญญูชนจะพึงสงวนทรัพย์สินของตนเอง
	มาตรา 760 ถ้าผู้รับจำนำเอาทรัพย์สินซึ่งจำนำออกใช้เอง หรือเอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอย  หรือ
เก็บรักษาโดยผู้จำนำมิได้ยินยอมด้วยไซร้ ท่านว่าผู้รับจำนำจะต้องรับผิดเพื่อทรัพย์สินจำนำนั้น
สูญหาย หรือบุบสลายไปอย่างใดๆ แม้ทั้งเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไรๆ ก็
คงจะต้องสูญหาย หรือบุบสลายอยู่นั่นเอง
	มาตรา 761 ถ้ามิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญา หากมีดอกผลนิตินัยงอกจากทรัพย์สินนั้นอย่าง
ไร  ท่านให้ผู้รับจำนำจัดสรรใช้เป็นค่าดอกเบี้ยอันค้างชำระแก่ตน และถ้าไม่มีดอกเบี้ยค้างชำระ
ท่านให้จัดสรรใช้ต้นเงินแห่งหนี้อันได้จำนำทรัพย์สินเป็นประกันนั้น
	มาตรา 762 ค่าใช้จ่ายใดๆ อันควรแก่การบำรุงรักษาทรัพย์สินจำนำนั้น ผู้จำนำจำต้องชดใช้ให้แก่ผู้รับ
จำนำ เว้นแต่จะได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญา
	มาตรา 763 ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีดั่งจะกล่าวต่อไปนี้เมื่อพ้นหกเดือนนับแต่วันส่งคืน หรือขายทอด
ตลาดทรัพย์สินจำนำ คือ
	(1)  ฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความบุบสลาย อันผู้รับจำนำก่อให้เกิดแก่ทรัพย์สินจำนำ
	(2)  ฟ้องเรียกให้ชดใช้ค่าใช้จ่ายเพื่อการบำรุงรักษาทรัพย์สินจำนำ
	(3)  ฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแก่ผู้รับจำนำ เพราะความชำรุด
บกพร่องในทรัพย์สินจำนำซึ่งไม่เห็นประจักษ์

	หมวด 3
	การบังคับจำนำ

	มาตรา 764 เมื่อจะบังคับจำนำ ผู้รับจำนำต้องบอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังลูกหนี้ก่อนว่าให้ชำระหนี้
และอุปกรณ์ภายในเวลาอันควรซึ่งกำหนดให้ในคำบอกกล่าวนั้น
	ถ้าลูกหนี้ละเลยไม่ปฏิบัติตามคำบอกกล่าว  ผู้รับจำนำชอบที่จะเอาทรัพย์สินซึ่งจำนำ
ออกขายได้ แต่ต้องขายทอดตลาด
	อนึ่ง ผู้รับจำนำต้องมีจดหมายบอกกล่าวไปยังผู้จำนำบอกเวลาและสถานที่ซึ่งจะขาย
ทอดตลาดด้วย
	มาตรา 765 ถ้าไม่สามารถจะบอกกล่าวก่อนได้  ผู้รับจำนำจะเอาทรัพย์สินจำนำออกขายทอดตลาด
เสียในเมื่อหนี้ค้างชำระมาล่วงเวลาเดือนหนึ่งแล้วก็ให้ทำได้
	มาตรา 766 ถ้าจำนำตั๋วเงิน  ท่านให้ผู้รับจำนำเก็บเรียกเงินตามตั๋วเงินนั้นในวันถึงกำหนด ไม่จำเป็น
ต้องบอกกล่าวก่อน
	มาตรา 767 เมื่อบังคับจำนำได้เงินจำนวนสุทธิเท่าใด   ท่านว่าผู้รับจำนำต้องจัดสรรชำระหนี้และ
อุปกรณ์เพื่อให้เสร็จสิ้นไป และถ้ายังมีเงินเหลือก็ต้องส่งคืนให้แก่ผู้จำนำ หรือแก่บุคคลผู้ควรจะได้เงินนั้น
	ถ้าได้เงินน้อยกว่าจำนวนค้างชำระ  ท่านว่าลูกหนี้ก็ยังคงต้องรับใช้ในส่วนที่ขาดอยู่นั้น
	มาตรา 768 ถ้าจำนำทรัพย์สินหลายสิ่งเพื่อประกันหนี้แต่รายหนึ่งรายเดียว ท่านว่าผู้รับจำนำจะเลือก
เอาทรัพย์สินสิ่งหนึ่งสิ่งใดออกขายก็ได้ แต่จะขายจนเกินกว่าที่จำเป็นเพื่อใช้เงินตามสิทธิแห่งตนนั้นหาได้ไม่

	หมวด 4
	ความระงับสิ้นไปแห่งการจำนำ

	มาตรา 769 อันจำนำย่อมระงับสิ้นไป
	(1)  เมื่อหนี้ซึ่งจำนำเป็นประกันอยู่นั้นระงับสิ้นไปเพราะเหตุประการอื่น  มิใช่เพราะ
อายุความ หรือ
	(2)  เมื่อผู้รับจำนำยอมให้ทรัพย์สินจำนำกลับคืนไปสู่ครอบครองของผู้จำนำ

	ลักษณะ 14
	เก็บของในคลังสินค้า
	หมวด 1
	บทเบ็ดเสร็จทั่วไป

	มาตรา 770 อันว่านายคลังสินค้านั้น  คือบุคคลผู้รับทำการเก็บรักษาสินค้าเพื่อบำเหน็จเป็นทางค้า
ปกติของตน
	มาตรา 771 บทบัญญัติทั้งหลายในประมวลกฎหมายนี้อันว่าด้วยฝากทรัพย์นั้น ท่านให้นำมาใช้บังคับ
แก่การเก็บของในคลังสินค้าด้วยเพียงเท่าที่ไม่ขัดกับบทบัญญัติในลักษณะนี้
	มาตรา 772 บทบัญญัติ มาตรา 616 , 619, 623, 625, 630, 631 และ 632 อันว่าด้วยการรับขนนั้น
ท่านให้นำมาใช้บังคับแก่การเก็บของในคลังสินค้า อนุโลมตามควรแก่บท
	มาตรา 773 นายคลังสินค้าจำต้องยอมให้ผู้ทรงใบรับของคลังสินค้าหรือผู้ทรงประทวนสินค้าตรวจ
สินค้าและเอาตัวอย่างไปได้ในเวลาอันควรระหว่างเวลาทำงานทุกเมื่อ
	มาตรา 774 นายคลังสินค้าจะเรียกให้ผู้ฝากถอนสินค้าไปก่อนสิ้นระยะเวลาที่ตกลงกันไว้นั้น ท่านว่า
หาอาจทำได้ไม่  ถ้าไม่มีกำหนดเวลาส่งคืนสินค้า นายคลังสินค้าจะส่งคืนได้ต่อเมื่อบอกกล่าวให้
ผู้ฝากทราบล่วงหน้าเดือนหนึ่ง แต่ท่านมิให้ผู้ฝากต้องถูกบังคับให้ถอนสินค้าไปก่อนเวลาล่วงแล้ว
สองเดือน นับแต่วันที่ได้ส่งมอบฝากไว้

	หมวด 2
	ใบรับของคลังสินค้าและประทวนสินค้า

	มาตรา 775 ถ้าผู้ฝากต้องการไซร้  นายคลังสินค้าต้องส่งมอบเอกสารซึ่งเอาออกจากทะเบียนมีต้นขั้ว
เฉพาะการอันมีใบรับของคลังสินค้าฉบับหนึ่ง และประทวนสินค้าฉบับหนึ่งให้แก่ผู้ฝาก
	มาตรา 776 อันใบรับของคลังสินค้านั้น  ย่อมให้สิทธิแก่ผู้ฝากที่จะสลักหลังโอนกรรมสิทธิ์ในสินค้าไป
เป็นของผู้อื่นได้
	มาตรา 777 อันประทวนสินค้านั้น  ย่อมให้สิทธิแก่ผู้ฝากที่จะสลักหลังจำนำสินค้าซึ่งจดแจ้งไว้ใน
ประทวนได้โดยไม่ต้องส่งมอบสินค้านั้นแก่ผู้รับสลักหลัง
	แต่ว่าเมื่อผู้ฝากประสงค์จะจำนำสินค้า ต้องแยกประทวนออกเสียจากใบรับของคลังสินค้า
และส่งมอบประทวนนั้นให้แก่ผู้รับสลักหลัง
	มาตรา 778 ใบรับของคลังสินค้าและประทวนสินค้าต้องมีเลขลำดับตรงกันกับเลขในต้นขั้ว  และ
ลงลายมือชื่อของนายคลังสินค้า
	อนึ่ง ใบรับของคลังสินค้าและประทวนสินค้านั้น  ท่านให้มีรายละเอียดดั่งกล่าวต่อไปนี้ คือ
	(1)  ชื่อหรือยี่ห้อ และสำนักของผู้ฝาก
	(2)  ที่ตั้งคลังสินค้า
	(3)  ค่าบำเหน็จสำหรับเก็บรักษา
	(4)  สภาพของสินค้าที่เก็บรักษา และน้ำหนักหรือขนาดแห่งสินค้านั้น กับทั้งสภาพ
จำนวน และเครื่องหมายหีบห่อ
	(5)  สถานที่และวันออกใบรับของคลังสินค้าและประทวนสินค้านั้น
	(6)  ถ้าได้กำหนดกันไว้ว่าให้เก็บสินค้าไว้ชั่วเวลาเท่าใดให้แจ้งกำหนดนั้นด้วย
	(7)  ถ้าของที่เก็บรักษามีประกันภัย  ให้แสดงจำนวนเงินที่ประกันภัย กำหนดเวลาที่
ประกันภัย และชื่อหรือยี่ห้อของผู้รับประกันภัยด้วย
	อนึ่ง นายคลังสินค้าต้องจดรายละเอียดทั้งนี้ลงไว้ในต้นขั้วด้วย
	มาตรา 779 อันใบรับของคลังสินค้าก็ดี ประทวนสินค้าก็ดี ท่านว่าหาอาจออกให้หรือสลักหลังให้แก่
ผู้ถือได้ไม่
	มาตรา 780 เมื่อใดผู้ฝากสลักหลังประทวนสินค้าให้แก่ผู้รับจำนำคู่สัญญาต้องจดแจ้งการที่สลักหลัง
นั้นลงไว้ในใบรับของคลังสินค้าด้วย
	ถ้ามิได้จดแจ้งไว้ดั่งนั้น ท่านว่าการจำนำนั้นหาอาจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ผู้ซื้อสินค้าสืบไปได้
นั้นได้ไม่
	มาตรา 781 เมื่อประทวนสินค้าได้สลักหลังและส่งมอบแก่ผู้รับจำนำแล้ว ให้ผู้ฝากกับผู้รับจำนำจดลง
ไว้ในประทวนสินค้าเป็นสำคัญว่าได้จดข้อความตามที่บัญญัติในมาตราก่อนไว้ในใบรับของคลัง
สินค้าแล้ว
	มาตรา 782 เมื่อใดผู้ฝากจำนำสินค้าและส่งมอบประทวนสินค้าแก่ผู้รับสลักหลังแล้ว  ผู้รับสลักหลัง
เช่นนั้นต้องมีจดหมายบอกกล่าวแก่นายคลังสินค้าให้ทราบจำนวนหนี้ซึ่งจำนำสินค้านั้นเป็นประกัน
ทั้งจำนวนดอกเบี้ยและวันอันหนี้นั้นจะถึงกำหนดชำระ  เมื่อนายคลังสินค้าได้รับคำบอกกล่าว
เช่นนั้นแล้ว  ต้องจดรายการทั้งนั้นลงในต้นขั้ว
	ถ้าและมิได้จดในต้นขั้วเช่นนั้น  ท่านว่าการจำนำนั้นหาอาจจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้เจ้าหนี้
ทั้งหลายของผู้ฝากได้ไม่
	มาตรา 783 ผู้ทรงเอกสารอันมีทั้งใบรับของคลังสินค้าและประทวนสินค้านั้น จะให้นายคลังสินค้า
แยกสินค้าที่เก็บรักษาไว้ออกเป็นหลายส่วนและให้ส่งมอบเอกสารแก่ตนส่วนละใบก็ได้ ในกรณี
เช่นนี้ผู้ทรงเอกสารต้องคืนเอกสารเดิมแก่นายคลังสินค้า
	อนึ่ง ค่าใช้จ่ายในการแยกสินค้าและการส่งมอบเอกสารใหม่นั้น ผู้ทรงเอกสารต้องรับใช้
	มาตรา 784 กรรมสิทธิ์ในสินค้าที่เก็บรักษาไว้นั้น ท่านว่าอาจโอนได้แต่ด้วยสลักหลังใบรับของคลัง
สินค้าเท่านั้น
	มาตรา 785 สินค้าซึ่งเก็บรักษาไว้นั้นอาจจำนำได้แต่ด้วยสลักหลังประทวนสินค้า เมื่อประทวนสินค้า
ได้สลักหลังแล้ว สินค้านั้นจะจำนำแก่ผู้อื่นอีกชั้นหนึ่งด้วยสลักหลังใบรับของคลังสินค้าอย่างเดียว
กับสลักหลังประทวนสินค้านั้นก็ได้
	มาตรา 786 ตราบใดสินค้าที่เก็บรักษาไว้ไม่ได้จำนำ  ท่านว่าจะโอนใบรับของคลังสินค้าและประทวน
สินค้าไปต่างหากจากกันไม่ได้อยู่ตราบนั้น
	มาตรา 787 ในการสลักหลังลงในประทวนสินค้าครั้งแรกนั้น ต้องจดแจ้งจำนวนหนี้ที่จำนำสินค้าเป็น
ประกัน  ทั้งจำนวนดอกเบี้ยที่จะต้องชำระ และวันที่หนี้จะถึงกำหนดชำระด้วย
	มาตรา 788 อันสินค้าที่เก็บรักษาไว้ในคลังนั้น จะรับเอาไปได้แต่เมื่อเวนคืนใบรับของคลังสินค้า
	มาตรา 789 ถ้าได้แยกประทวนสินค้าออกสลักหลังจำนำแล้ว  จะรับเอาสินค้าได้แต่เมื่อเวนคืนทั้งใบรับ
ของคลังสินค้าและประทวนสินค้า
	แต่ว่าผู้ทรงใบรับของคลังสินค้าอาจให้คืนสินค้าแก่ตนได้ในเวลาใดๆ  เมื่อวางเงินแก่
นายคลังสินค้าเต็มจำนวนหนี้ซึ่งลงไว้ในประทวนสินค้า กับทั้งดอกเบี้ยจนถึงวันกำหนดชำระหนี้
นั้นด้วย
	อนึ่ง จำนวนเงินที่วางเช่นนี้ นายคลังสินค้าต้องชำระแก่ผู้ทรงประทวนสินค้าเมื่อเขาเวน
คืนประทวนนั้น
	มาตรา 790 ถ้าหนี้ซึ่งสินค้าจำนำเป็นประกันมิได้ชำระเมื่อวันถึงกำหนดไซร้ ผู้ทรงประทวนสินค้าเมื่อ
ได้ยื่นคำคัดค้านตามระเบียบแล้ว ชอบที่จะให้นายคลังสินค้าขายทอดตลาดสินค้านั้นได้  แต่ท่าน
ห้ามมิให้ขายทอดตลาดก่อนแปดวันนับแต่วันคัดค้าน
	มาตรา 791 ผู้ทรงประทวนสินค้าต้องมีจดหมายบอกกล่าวให้ผู้ฝากทราบเวลาและสถานที่จะขาย
ทอดตลาด
	มาตรา 792 นายคลังสินค้าต้องหักเงินที่ค้างชำระแก่ตนเนื่องด้วยการเก็บรักษาสินค้านั้นจากจำนวน
เงินสุทธิที่ขายทอดตลาดได้ และเมื่อผู้ทรงประทวนสินค้านำประทวนมาเวนคืน  ต้องเอาเงินที่เหลือ
นั้นให้ตามจำนวนที่ค้างชำระแก่เขา
	ถ้ามีเงินเหลือเท่าใด ต้องใช้แก่ผู้รับจำนำคนหลังเมื่อเขาเวนคืนใบรับของคลังสินค้า
หรือถ้าไม่มีผู้รับจำนำคนหลังหรือผู้รับจำนำคนหลังได้รับชำระหนี้แล้ว  ก็ให้ชำระเงินที่เหลืออยู่นั้น
แก่ผู้ทรงใบรับของคลังสินค้า	
	มาตรา 793 ถ้าจำนวนเงินสุทธิที่ขายทอดตลาดได้ไม่พอชำระหนี้แก่ผู้ทรงประทวนสินค้าไซร้ นายคลัง
สินค้าต้องคืนประทวนสินค้าแก่เขา กับจดบอกจำนวนเงินที่ได้ชำระลงไว้ในประทวนสินค้านั้นแล้ว
จดลงไว้ในสมุดบัญชีของตนด้วย
	มาตรา 794 ผู้ทรงประทวนสินค้ามีสิทธิจะไล่เบี้ยเอาจำนวนเงินที่ยังค้างชำระนั้นแก่ผู้สลักหลังคน
ก่อนๆ ทั้งหมดหรือแต่คนใดคนหนึ่งได้  แต่ต้องได้ขายทอดตลาดภายในเดือนหนึ่งนับแต่วันคัดค้าน
	อนึ่ง  ท่านห้ามมิให้ฟ้องไล่เบี้ยเมื่อพ้นเวลาปีหนึ่งนับแต่วันขายทอดตลาด
	มาตรา 795 บทบัญญัติทั้งหลายในประมวลกฎหมายนี้อันว่าด้วยตั๋วเงินนั้น  ท่านให้ใช้ได้ถึงประทวน
สินค้าและใบรับของคลังสินค้าซึ่งได้สลักหลังอย่างประทวนสินค้านั้นด้วย เพียงที่ไม่ขัดกับบท
บัญญัติทั้งหลายในลักษณะนี้
	มาตรา 796 ถ้าเอกสารมีทั้งใบรับของคลังสินค้าและประทวนสินค้าหรือแต่อย่างหนึ่งอย่างใดสูญหาย
ไป  เมื่อผู้ทรงเอกสารนั้นๆ ให้ประกันตามสมควรแล้วจะให้นายคลังสินค้าออกให้ใหม่ก็ได้
	ในกรณีเช่นนี้ นายคลังสินค้าต้องจดหมายลงไว้ในต้นขั้วเป็นสำคัญ

	ลักษณะ 15
	ตัวแทน
	หมวด 1
	บทเบ็ดเสร็จทั่วไป

	มาตรา 797 อันว่าสัญญาตัวแทนนั้น  คือสัญญาซึ่งให้บุคคลคนหนึ่งเรียกว่าตัวแทน มีอำนาจทำการ
แทนบุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าตัวการและตกลงจะทำการดั่งนั้น
	อันความเป็นตัวแทนนั้นจะเป็นโดยตั้งแต่งแสดงออกชัดหรือโดยปริยายก็ย่อมได้
	มาตรา 798 กิจการอันใดท่านบังคับไว้โดยกฎหมายว่าต้องทำเป็นหนังสือ การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการ
อันนั้นก็ต้องทำเป็นหนังสือด้วย
	กิจการอันใดท่านบังคับไว้ว่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอัน
นั้นก็ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือด้วย
	มาตรา 799 ตัวการคนใดใช้บุคคลผู้ไร้ความสามารถเป็นตัวแทน ท่านว่าตัวการคนนั้นย่อมต้องผูกพัน
ในกิจการที่ตัวแทนกระทำ
	มาตรา 800 ถ้าตัวแทนได้รับมอบอำนาจแต่เฉพาะการ  ท่านว่าจะทำการแทนตัวการได้แต่เพียงในสิ่งที่
จำเป็นเพื่อให้กิจอันเขาได้มอบหมายแก่ตนนั้นสำเร็จลุล่วงไป
	มาตรา 801 ถ้าตัวแทนได้รับมอบอำนาจทั่วไป  ท่านว่าจะทำกิจใดๆ ในทางจัดการแทนตัวการก็ย่อม
ทำได้ทุกอย่าง
	แต่การเช่นอย่างจะกล่าวต่อไปนี้  ท่านว่าหาอาจจะทำได้ไม่ คือ
	(1)  ขายหรือจำนองอสังหาริมทรัพย์
	(2)  ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์กว่าสามปีขึ้นไป
	(3)  ให้
	(4)  ประนีประนอมยอมความ
	(5)  ยื่นฟ้องต่อศาล
	(6)  มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการพิจารณา
	มาตรา 802 ในเหตุฉุกเฉิน  เพื่อจะป้องกันมิให้ตัวการต้องเสียหาย  ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าตัว
แทนจะทำการใดๆ เช่นอย่างวิญญูชนจะพึงกระทำ ก็ย่อมมีอำนาจจะทำได้ทั้งสิ้น
	มาตรา 803 ตัวแทนไม่มีสิทธิจะได้รับบำเหน็จ  เว้นแต่จะได้มีข้อตกลงกันไว้ในสัญญาว่ามีบำเหน็จ
หรือทางการที่คู่สัญญาประพฤติต่อกันนั้นเป็นปริยายว่ามีบำเหน็จ หรือเคยเป็นธรรมเนียมมี
บำเหน็จ
	มาตรา 804 ถ้าในสัญญาอันเดียว  ตัวการคนเดียวตั้งตัวแทนหลายคนเพื่อแก่การอันเดียวกันไซร้
ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าตัวแทนจะต่างคนต่างทำการนั้นๆ แยกกันไม่ได้
	มาตรา 805 ตัวแทนนั้น  เมื่อไม่ได้รับความยินยอมของตัวการ จะเข้าทำนิติกรรมอันใดในนามของ
ตัวการทำกับตนเองในนามของตนเองหรือในฐานเป็นตัวแทนของบุคคลภายนอกหาได้ไม่ เว้นแต่
นิติกรรมนั้นมีเฉพาะแต่การชำระหนี้
	มาตรา 806 ตัวการซึ่งมิได้เปิดเผยชื่อจะกลับแสดงตนให้ปรากฏและเข้ารับเอาสัญญาใดๆ ซึ่งตัว
แทนได้ทำไว้แทนตนก็ได้  แต่ถ้าตัวการผู้ใดได้ยอมให้ตัวแทนของตนทำการออกหน้าเป็นตัวการ
ไซร้ ท่านว่าตัวการผู้นั้นหาอาจจะทำให้เสื่อมเสียถึงสิทธิของบุคคลภายนอกอันเขามีต่อตัวแทน
และเขาขวนขวายได้มาแต่ก่อนที่รู้ว่าเป็นตัวแทนนั้นได้ไม่

	หมวด 2
	หน้าที่และความรับของตัวแทนต่อตัวการ

	มาตรา 807 ตัวแทนต้องทำการตามคำสั่งแสดงออกชัดหรือโดยปริยายของตัวการ เมื่อไม่มีคำสั่งเช่น
นั้น  ก็ต้องดำเนินตามทางที่เคยทำกันมาในกิจการค้าขายอันเขาให้ตนทำอยู่นั้น
	อนึ่ง บทบัญญัติ มาตรา 659 ว่าด้วยการฝากทรัพย์นั้น  ท่านให้นำมาใช้ด้วยโดยอนุโลมตามควร
	มาตรา 808 ตัวแทนต้องทำการด้วยตนเอง เว้นแต่จะมีอำนาจใช้ตัวแทนช่วงทำการได้
	มาตรา 809 เมื่อตัวการมีประสงค์จะทราบความเป็นไปของการที่ได้มอบหมายแก่ตัวแทนนั้นในเวลา
ใดๆ ซึ่งสมควรแก่เหตุ  ตัวแทนก็ต้องแจ้งให้ตัวการทราบ  อนึ่ง เมื่อการเป็นตัวแทนนั้นสิ้นสุดลง
แล้ว ตัวแทนต้องแถลงบัญชีด้วย
	มาตรา 810 เงินและทรัพย์สินอย่างอื่นบรรดาที่ตัวแทนได้รับไว้เกี่ยวด้วยการเป็นตัวแทนนั้น ท่านว่า
ตัวแทนต้องส่งให้แก่ตัวการจงสิ้น
	อนึ่ง สิทธิทั้งหลายซึ่งตัวแทนขวนขวายได้มาในนามของตนเอง แต่โดยฐานที่ทำการแทน
ตัวการนั้น  ตัวแทนก็ต้องโอนให้แก่ตัวการจงสิ้น
	มาตรา 811 ถ้าตัวแทนเอาเงินซึ่งควรจะได้ส่งแก่ตัวการ  หรือซึ่งควรจะใช้ในกิจของตัวการนั้นไปใช้
สอยเป็นประโยชน์ตนเสีย ท่านว่าตัวแทนต้องเสียดอกเบี้ยในเงินนั้นนับแต่วันที่ได้เอาไปใช้
	มาตรา 812 ถ้ามีความเสียหายเกิดขึ้นอย่างใดๆ เพราะความประมาทเลินเล่อของตัวแทนก็ดี เพราะ
ไม่ทำการเป็นตัวแทนก็ดี หรือเพราะทำการโดยปราศจากอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจก็ดี ท่านว่า
ตัวแทนจะต้องรับผิด
	มาตรา 813 ตัวแทนผู้ใดตั้งตัวแทนช่วงตามที่ตัวการระบุตัวให้ตั้ง  ท่านว่าตัวแทนผู้นั้นจะต้องรับผิด
แต่เพียงในกรณีที่ตนได้รู้ว่าตัวแทนช่วงนั้นเป็นผู้ที่ไม่เหมาะแก่การหรือเป็นผู้ที่ไม่สมควรไว้วางใจ
แล้ว และมิได้แจ้งความนั้นให้ตัวการทราบ  หรือมิได้เลิกถอนตัวแทนช่วงนั้นเสียเอง
	มาตรา 814 ตัวแทนช่วงย่อมรับผิดโดยตรงต่อตัวการฉันใด  กลับกันก็ฉันนั้น

	หมวด 3
	หน้าที่ความรับผิดของตัวการต่อตัวแทน

	มาตรา 815 ถ้าตัวแทนมีประสงค์ไซร้  ตัวการต้องจ่ายเงินทดรองให้แก่ตัวแทนตามจำนวนที่จำเป็น
เพื่อทำการอันมอบหมายแก่ตัวแทนนั้น
	มาตรา 816 ถ้าในการจัดทำกิจการอันเขามอบหมายแก่ตนนั้น  ตัวแทนได้ออกเงินทดรองหรือออก
เงินค่าใช้จ่ายไป  ซึ่งพิเคราะห์ตามเหตุควรนับว่าเป็นการจำเป็นได้ไซร้ ท่านว่าตัวแทนจะเรียกเอา
เงินชดใช้จากตัวการ รวมทั้งดอกเบี้ยนับแต่วันที่ได้ออกเงินไปนั้นด้วยก็ได้
	ถ้าในการจัดทำกิจการอันเขามอบหมายแก่ตนนั้น  ตัวแทนต้องรับภาระเป็นหนี้ขึ้นอย่าง
หนึ่งอย่างใด  ซึ่งพิเคราะห์ตามเหตุควรนับว่าเป็นการจำเป็นได้ไซร้ ท่านว่าตัวแทนจะเรียกให้ตัวการ
ชำระหนี้แทนตนก็ได้  หรือถ้ายังไม่ถึงเวลากำหนดชำระหนี้  จะให้ตัวการให้ประกันอันสมควรก็ได้
	ถ้าในการจัดทำกิจการอันเขามอบหมายแก่ตนนั้น  เป็นเหตุให้ตัวแทนต้องเสียหาย
อย่างหนึ่งอย่างใด มิใช่เป็นเพราะความผิดของตนเองไซร้  ท่านว่าตัวแทนจะเรียกเอาค่าสินไหม
ทดแทนจากตัวการก็ได้
	มาตรา 817 ในกรณีที่มีบำเหน็จตัวแทน  ถ้าไม่มีข้อสัญญาตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น  ท่านว่าบำเหน็จ
นั้นพึงจ่ายให้ต่อเมื่อการเป็นตัวแทนได้สุดสิ้นลงแล้ว
	มาตรา 818 การในหน้าที่ตัวแทนส่วนใด  ตัวแทนได้ทำมิชอบในส่วนนั้น  ท่านว่าตัวแทนไม่มีสิทธิจะ
ได้บำเหน็จ
	มาตรา 819 ตัวแทนชอบที่จะยึดหน่วงทรัพย์สินอย่างใดๆ ของตัวการอันตกอยู่ในความครอบครอง
ของตนเพราะเป็นตัวแทนนั้นเอาไว้ได้จนกว่าจะได้รับเงินบรรดาค้างชำระแก่ตนเพราะการเป็นตัวแทน

	หมวด 4
	ความรับผิดของตัวการและตัวแทนต่อบุคคลภายนอก

	มาตรา 820 ตัวการย่อมมีความผูกพันต่อบุคคลภายนอกในกิจการทั้งหลายอันตัวแทนหรือตัวแทน
ช่วงได้ทำไปภายในขอบอำนาจแห่งฐานตัวแทน
	มาตรา 821 บุคคลผู้ใดเชิดบุคคลอีกคนหนึ่งออกแสดงเป็นตัวแทนของตนก็ดี รู้แล้วยอมให้บุคคลอีก
คนหนึ่งเชิดตัวเขาเองออกแสดงเป็นตัวแทนของตนก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดต่อบุคคล
ภายนอกผู้สุจริตเสมือนว่าบุคคลอีกคนหนึ่งนั้นเป็นตัวแทนของตน
	มาตรา 822 ถ้าตัวแทนทำการอันใดเกินอำนาจตัวแทน  แต่ทางปฏิบัติของตัวการทำให้บุคคลภายนอก
มีมูลเหตุอันสมควรจะเชื่อว่าการอันนั้นอยู่ภายในขอบอำนาจของตัวแทนไซร้ ท่านให้ใช้บทบัญญัติ
มาตราก่อนนี้เป็นบทบังคับ แล้วแต่กรณี
	มาตรา 823 ถ้าตัวแทนกระทำการอันใดอันหนึ่งโดยปราศจากอำนาจก็ดี  หรือทำนอกทำเหนือขอบ
อำนาจก็ดี ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันตัวการเว้นแต่ตัวการจะให้สัตยาบันแก่การนั้น
	ถ้าตัวการไม่ให้สัตยาบัน  ท่านว่าตัวแทนย่อมต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกโดยลำพังตน
เอง เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าบุคคลภายนอกนั้นได้รู้อยู่ว่าตนทำการโดยปราศจากอำนาจ หรือทำ
นอกเหนือขอบอำนาจ
	มาตรา 824 ตัวแทนคนใดทำสัญญาแทนตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศ และมีภูมิลำเนาในต่างประเทศ
ท่านว่าตัวแทนคนนั้นจะต้องรับผิดตามสัญญานั้นแต่ลำพังตนเอง  แม้ทั้งชื่อของตัวการจะได้เปิด
เผยแล้ว เว้นแต่ข้อความแห่งสัญญาจะแย้งกันกับความรับผิดของตัวแทน
	มาตรา 825 ถ้าตัวแทนเข้าทำสัญญากับบุคคลภายนอกโดยเห็นแก่อามิสสินจ้างเป็นทรัพย์สินอย่าง
ใดๆ หรือประโยชน์อย่างอื่นอันบุคคลภายนอกได้ให้เป็นลาภส่วนตัวก็ดี หรือให้คำมั่นว่าจะให้ก็ดี
ท่านว่าตัวการหาต้องผูกพันในสัญญาซึ่งตัวแทนของตนได้ทำนั้นไม่เว้นแต่ตัวการจะได้ยินยอมด้วย

	หมวด 5
	ความระงับสิ้นไปแห่งสัญญาตัวแทน

	มาตรา 826 อันสัญญาตัวแทนย่อมระงับสิ้นไปด้วยตัวการถอนตัวแทนหรือด้วยตัวแทนบอกเลิกเป็น
ตัวแทน
	อนึ่ง สัญญาตัวแทนย่อมระงับสิ้นไป เมื่อคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตายหรือตกเป็นผู้ไร้
ความสามารถ หรือล้มละลาย เว้นแต่จะปรากฏว่าขัดกับข้อสัญญาหรือสภาพแห่งกิจการนั้น
	มาตรา 827 ตัวการจะถอนตัวแทน  และตัวแทนจะบอกเลิกเป็นตัวแทนเสียในเวลาใดๆ ก็ได้ทุกเมื่อ
	คู่สัญญาฝ่ายซึ่งถอนตัวแทนหรือบอกเลิกเป็นตัวแทนในเวลาที่ไม่สะดวกแก่อีกฝ่ายหนึ่ง
จะต้องรับผิดต่อคู่สัญญาฝ่ายนั้นในความเสียหายอย่างใดๆ อันเกิดแต่การนั้น เว้นแต่ในกรณีที่
เป็นความจำเป็นอันมิอาจจะก้าวล่วงเสียได้
	มาตรา 828 เมื่อสัญญาตัวแทนระงับสิ้นไปเพราะตัวการตายก็ดี  ตัวการตกเป็นผู้ไร้ความสามารถ
หรือล้มละลายก็ดี ท่านว่าตัวแทนต้องจัดการอันสมควรทุกอย่างเพื่อจะปกปักรักษาประโยชน์อัน
เขาได้มอบหมายแก่ตนไป จนกว่าทายาทหรือผู้แทนของตัวการจะอาจเข้าปกปักรักษาประโยชน์นั้นๆ ได้
	มาตรา 829 เมื่อสัญญาตัวแทนระงับสิ้นไปเพราะตัวแทนตายก็ดี ตัวแทนตกเป็นผู้ไร้ความสามารถ
หรือล้มละลายก็ดี ท่านว่าทายาทหรือบุคคลผู้รับหน้าที่ดูแลทรัพย์มรดกของตัวแทนโดยชอบด้วย
กฎหมายต้องบอกกล่าวแก่ตัวการและจัดการเพื่อปกปักรักษาประโยชน์ของตัวการไปตามสมควร
แก่พฤติการณ์จนกว่าตัวการอาจเข้าปกปักรักษาประโยชน์นั้นๆ ได้
	มาตรา 830 อันเหตุที่ทำให้สัญญาตัวแทนระงับสิ้นไปนั้น  จะเกิดแต่ตัวการหรือตัวแทนก็ตาม ท่านห้าม
มิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง จนกว่าจะได้บอกกล่าวเหตุนั้นๆ ไปยังคู่สัญญาฝ่ายนั้น
แล้ว หรือจนกว่าคู่สัญญาฝ่ายนั้นจะได้ทราบเหตุแล้ว
	มาตรา 831 อันความระงับสิ้นไปแห่งสัญญาตัวแทนนั้น ท่านห้ามมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภาย
นอกผู้ทำการโดยสุจริต เว้นแต่บุคคลภายนอกหากไม่ทราบความนั้นเพราะความประมาทเลินเล่อ
ของตนเอง
	มาตรา 832 ในเมื่อสัญญาตัวแทนระงับสิ้นไป  ตัวการชอบที่จะเรียกให้เวนคืนหนังสือมอบอำนาจ
อย่างใดๆ อันได้ให้ไว้แก่ตัวแทนนั้นได้

	หมวด 6
	ตัวแทนค้าต่าง

	มาตรา 833 อันว่าตัวแทนค้าต่าง  คือบุคคลซึ่งในทางค้าขายของเขาย่อมทำการซื้อ หรือขายทรัพย์สิน
หรือรับจัดทำกิจการค้าขายอย่างอื่นในนามของตนเองต่างตัวการ
	มาตรา 834 ถ้ามิได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น ท่านว่าตัวแทนค้าต่างชอบที่จะได้รับบำเหน็จโดยอัตรา
ตามธรรมเนียมเพื่อกิจการค้าขายอันตนได้จัดการให้ตกลงไปนั้นทุกรายไป
	มาตรา 835 บทบัญญัติทั้งหลายแห่งประมวลกฎหมายนี้อันว่าด้วยตัวแทนนั้น  ท่านให้ใช้บังคับถึง
ตัวแทนค้าต่างด้วยเพียงที่ไม่ขัดกับบทบัญญัติในหมวดนี้
	มาตรา 836 บุคคลผู้ไร้ความสามารถหาอาจจะทำการเป็นตัวแทนค้าต่างได้ไม่  เว้นแต่จะได้รับอำนาจ
โดยชอบให้ทำได้
	มาตรา 837 ในการที่ตัวแทนค้าต่างทำการขายหรือซื้อหรือจัดทำกิจการค้าขายอย่างอื่นต่างตัวการ
นั้น ท่านว่าตัวแทนค้าต่างย่อมได้ซึ่งสิทธิอันมีต่อคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งในกิจการเช่นนั้น  และตัว
แทนค้าต่างย่อมเป็นผู้ต้องผูกพันต่อคู่สัญญาฝ่ายนั้นด้วย
	มาตรา 838 ถ้าคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งไม่ชำระหนี้ไซร้ ท่านว่าตัวแทนค้าต่างหาต้องรับผิดต่อตัวการ
เพื่อชำระหนี้นั้นเองไม่  เว้นแต่จะได้มีข้อกำหนดในสัญญาหรือมีปริยายแต่ทางการที่ตัวการกับ
ตัวแทนประพฤติต่อกัน หรือมีธรรมเนียมในท้องถิ่นว่าจะต้องรับผิดถึงเพียงนั้น
	อนึ่ง  ตัวแทนค้าต่างคนใดเข้ารับประกันการปฏิบัติตามสัญญาโดยนัยดั่งกล่าวมาใน
วรรคก่อนนั้นไซร้ ท่านว่าตัวแทนคนนั้นชื่อว่าเป็นตัวแทนฐานประกัน ชอบที่จะได้รับบำเหน็จพิเศษ
	มาตรา 839 ถ้าตัวแทนค้าต่างได้ทำการขายเป็นราคาต่ำไปกว่าที่ตัวการกำหนด  หรือทำการซื้อเป็น
ราคาสูงไปกว่าที่ตัวการกำหนดไซร้ หากว่าตัวแทนรับใช้เศษที่ขาดเกินนั้นแล้ว ท่านว่าการขาย
หรือการซื้ออันนั้น  ตัวการก็ต้องรับขายรับซื้อ
	มาตรา 840 ถ้าตัวแทนค้าต่างได้ทำการขายได้ราคาสูงกว่าที่ตัวการกำหนด หรือทำการซื้อได้ราคา
ต่ำกว่าที่ตัวการกำหนดไซร้ ท่านว่าตัวแทนหาอาจจะถือเอาเป็นประโยชน์ของตนได้ไม่ ต้องคิดให้
แก่ตัวการ
	มาตรา 841 ตัวแทนค้าต่างทำการไปอย่างไรบ้าง  ท่านให้แถลงรายงานแก่ตัวการ  และเมื่อได้ทำ
การค้าเสร็จลงแล้ว  ก็ให้แจ้งแก่ตัวการทราบมิให้ชักช้า
	มาตรา 842 เมื่อใดเขามอบหมายทรัพย์สินไว้แก่ตัวแทนค้าต่าง  ท่านให้นำบทบัญญัติทั้งหลายแห่ง
ประมวลกฎหมายนี้ลักษณะฝากทรัพย์มาใช้บังคับอนุโลมตามควร
	อนึ่ง ในกรณีที่เป็นความจำเป็นอันมิก้าวล่วงเสียได้  ท่านว่าตัวแทนค้าต่างจะจัดการแก่
ทรัพย์สินนั้นตามวิธีการดั่งบัญญัติไว้ใน มาตรา 631  ว่าด้วยรับขนนั้นก็ได้
	มาตรา 843 ตัวแทนค้าต่างคนใดได้รับคำสั่งให้ขายหรือซื้อทรัพย์สินอันมีรายการขานราคาของสถาน
แลกเปลี่ยน  ท่านว่าตัวแทนคนนั้นจะเป็นผู้ซื้อหรือผู้ขายเองก็ได้ เว้นแต่จะมีข้อห้ามไว้ชัดแจ้งโดย
สัญญา  ในกรณีเช่นนั้น ราคาอันจะพึงใช้เงินแก่กัน  ก็พึงกำหนดตามรายการขานราคาทรัพย์สินนั้น
ณ สถานแลกเปลี่ยนในเวลาเมื่อตัวแทนค้าต่างให้คำบอกกล่าวว่าตนเป็นผู้ซื้อหรือผู้ขาย
	เมื่อตัวการรับคำบอกกล่าวเช่นนั้น  ถ้าไม่บอกปัดเสียในทันที ท่านให้ถือว่าตัวการเป็น
อันได้สนองรับการนั้นแล้ว
	อนึ่ง แม้ในกรณีเช่นนั้น  ตัวแทนค้าต่างจะคิดเอาบำเหน็จก็ย่อมคิดได้
	มาตรา 844 ในระหว่างตัวการกับตัวแทนค้าต่าง  ท่านให้ถือว่ากิจการอันตัวแทนได้ทำให้ตกลงไปนั้น
ย่อมมีผลเสมือนดั่งว่าได้ทำให้ตกลงไปในนามของตัวการโดยตรง

	ลักษณะ 16
	นายหน้า
	
	มาตรา 845 บุคคลผู้ใดตกลงจะให้ค่าบำเหน็จแก่นายหน้าเพื่อที่ชี้ช่องให้ได้เข้าทำสัญญาก็ดี จัดการ
ให้ได้ทำสัญญากันก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดใช้ค่าบำเหน็จก็ต่อเมื่อสัญญานั้นได้ทำกัน
สำเร็จเนื่องแต่ผลแห่งการที่นายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการนั้น ถ้าสัญญาที่ได้ทำกันไว้นั้นมีเงื่อนไข
เป็นเงื่อนบังคับก่อนไซร้ ท่านว่าจะเรียกร้องบำเหน็จค่านายหน้ายังหาได้ไม่  จนกว่าเงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้ว
	นายหน้ามีสิทธิจะได้รับชดใช้ค่าใช้จ่ายที่ได้เสียไปก็ต่อเมื่อได้ตกลงกันไว้เช่นนั้น  ความข้อ
นี้ท่านให้ใช้บังคับแม้ถึงว่าสัญญาจะมิได้ทำกันสำเร็จ
	มาตรา 846 ถ้ากิจการอันได้มอบหมายแก่นายหน้านั้น โดยพฤติการณ์เป็นที่คาดหมายได้ว่าย่อมทำให้
แต่เพื่อจะเอาค่าบำเหน็จไซร้ ท่านให้ถือว่าได้ตกลงกันโดยปริยายว่ามีค่าบำเหน็จนายหน้า
	ค่าบำเหน็จนั้นถ้ามิได้กำหนดจำนวนกันไว้  ท่านให้ถือว่าได้ตกลงกันเป็นจำนวนตามธรรมเนียม
	มาตรา 847 ถ้านายหน้าทำการให้แก่บุคคลภายนอกด้วยก็ดี หรือได้รับคำมั่นแต่บุคคลภายนอกเช่น
นั้นว่าจะให้ค่าบำเหน็จอันไม่ควรแก่นายหน้าผู้กระทำการโดยสุจริตก็ดี เป็นการฝ่าฝืนต่อการที่ตน
เข้ารับทำหน้าที่ไซร้  ท่านว่านายหน้าหามีสิทธิจะได้รับค่าบำเหน็จ หรือรับชดใช้ค่าใช้จ่ายที่ได้เสียไปไม่
	มาตรา 848 ตัวนายหน้าไม่ต้องรับผิดไปถึงการชำระหนี้ตามสัญญาซึ่งได้ทำต่อกันเพราะตนเป็นสื่อ
เว้นแต่จะมิได้บอกชื่อของฝ่ายหนึ่งให้รู้ถึงอีกฝ่ายหนึ่ง
	มาตรา 849 การรับเงินหรือรับชำระหนี้อันจะพึงชำระตามสัญญานั้น ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า
นายหน้าย่อมไม่มีอำนาจที่จะรับแทนผู้เป็นคู่สัญญา

	ลักษณะ 17
	ประนีประนอมยอมความ

	มาตรา 850 อันว่าประนีประนอมยอมความนั้น  คือสัญญาซึ่งผู้เป็นคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายระงับข้อ
พิพาทอันใดอันหนึ่งซึ่งมีอยู่หรือจะมีขึ้นนั้นให้เสร็จไปเสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน
	มาตรา 851 อันสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น  ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง
ลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิด หรือลายมือชื่อตัวแทนของฝ่ายนั้นเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้
บังคับคดีหาได้ไม่
	มาตรา 852 ผลของสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น ย่อมทำให้การเรียกร้องซึ่งแต่ละฝ่ายได้ยอม
สละนั้นระงับสิ้นไป และทำให้แต่ละฝ่ายได้สิทธิตามที่แสดงในสัญญานั้นว่าเป็นของตน

	ลักษณะ 18
	การพนัน และขันต่อ

	มาตรา 853 อันการพนันหรือขันต่อนั้น  ท่านว่าก่อให้เกิดหนี้ไม่ สิ่งที่ได้ให้กันไปในการพนันหรือขันต่อก็
จะทวงคืนไม่ได้ เพราะเหตุหามูลหนี้อย่างหนึ่งอย่างใดมิได้
	ข้อบัญญัติที่กล่าวนี้ท่านให้ใช้ตลอดถึงข้อตกลงเป็นมูลหนี้อย่างหนึ่งอย่างใดอันฝ่ายข้าง
เสียพนันขันต่อหากทำให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งเพื่อจะใช้หนี้เงินพนันหรือขันต่อนั้นด้วย
	มาตรา 854 อันการออกสลากกินแบ่งก็ดี ออกสลากกินรวบก็ดี ท่านว่าเป็นสัญญาอันจะผูกพันต่อ
เมื่อรัฐบาลได้ให้อำนาจ หรือให้สัตยาบันแก่การนั้นเฉพาะราย นอกนั้นท่านให้บังคับตามบทบัญญัติ
มาตรา 853
	มาตรา 855 ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติ มาตรา 312 และ 916 ตั๋วเงินหรือเอกสารอย่างอื่นทุกฉบับ
ซึ่งออกให้เต็มจำนวน  หรือแต่โดยส่วนเพื่อแทนเงินใดๆ อันได้แต่ชนะพนัน หรือขันต่อก็ดี  ออกให้
เพื่อใช้เงินที่ยืมมาใช้ในการพนันหรือขันต่อเช่นว่านั้นก็ดี ท่านว่าไม่สมบูรณ์
	เพื่อประโยชน์แห่งบทบัญญัตินี้เงินรายใดให้ยืมแก่บุคคลกำลังเล่นการพนันหรือขันต่อ
ในเวลา หรือ ณ สถานที่เล่นเช่นนั้น ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า เงินนั้นได้ให้ยืมไปเพื่อเล่นการพนัน
หรือขันต่อ

	ลักษณะ 19
	บัญชีเดินสะพัด

	มาตรา 856 อันว่าสัญญาบัญชีเดินสะพัดนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลสองคนตกลงกันว่าสืบแต่นั้นไป
หรือในชั่วเวลากำหนดอันใดอันหนึ่งให้ตัดทอนบัญชีหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนอันเกิดขึ้นแต่กิจการ
ในระหว่างเขาทั้งสองนั้นหักกลบลบกัน  และคงชำระแต่ส่วนที่เป็นจำนวนคงเหลือโดยดุลภาค
	มาตรา 857 การนำตั๋วเงินลงเป็นรายการในบัญชีเดินสะพัดนั้น ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าได้ลงด้วย
เงื่อนไขว่าจะมีผู้ชำระเงินตามตั๋วนั้น ถ้าและตั๋วนั้นมิได้ชำระเงินไซร้ จะเพิกถอนรายการอันนั้นเสียก็ได้
	มาตรา 858 ถ้าคู่สัญญามิได้กำหนดกันไว้ว่าให้หักทอนบัญชีโดยระยะเวลาอย่างไรไซร้ ท่านให้ถือ
เอาเป็นกำหนดหกเดือน
	มาตรา 859 คู่สัญญาฝ่ายใดจะบอกเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัด และให้หักทอนบัญชีกันเสียในเวลา
ใดๆ ก็ได้ ถ้าไม่มีอะไรปรากฏเป็นข้อขัดกับที่กล่าวมานี้
	มาตรา 860 เงินส่วนที่ผิดกันอยู่นั้น  ถ้ายังมิได้ชำระ ท่านให้คิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่หักทอนบัญชี
เสร็จเป็นต้นไป

	ลักษณะ 20
	ประกันภัย
	หมวด 1
	บทเบ็ดเสร็จทั่วไป

	 มาตรา 861 อันว่าสัญญาประกันภัยนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทน
หรือใช้เงินจำนวนหนึ่งให้  ในกรณีวินาศภัยหากมีขึ้น หรือในเหตุอย่างอื่นในอนาคตดั่งได้ระบุไว้
ในสัญญา และในการนี้บุคคลอีกคนหนึ่งตกลงจะส่งเงินซึ่งเรียกว่า  เบี้ยประกันภัย
	มาตรา 862 ตามข้อความในลักษณะนี้
	คำว่า "ผู้รับประกันภัย" ท่านหมายความว่า คู่สัญญาฝ่ายซึ่งตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทน
หรือใช้เงินจำนวนหนึ่งให้
	คำว่า "ผู้เอาประกันภัย" ท่านหมายความว่า  คู่สัญญาฝ่ายซึ่งตกลงจะส่งเบี้ยประกันภัย
	คำว่า "ผู้รับประโยชน์"  ท่านหมายความว่า  บุคคลผู้จะพึงได้รับค่าสินไหมทดแทน หรือรับ
จำนวนเงินใช้ให้
	อนึ่ง ผู้เอาประกันภัยและผู้รับประโยชน์นั้น  จะเป็นบุคคลคนหนึ่งคนเดียวกันก็ได้
	มาตรา 863 อันสัญญาประกันภัยนั้น  ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้นั้นไซร้
ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด
	มาตรา 864 เมื่อคู่สัญญาประกันภัยยกเอาภัยใดโดยเฉพาะขึ้นเป็นข้อพิจารณาในการวางกำหนด
จำนวนเบี้ยประกันภัยและภัยเช่นนั้นสิ้นไปหามีไม่แล้ว ท่านว่าภายหน้าแต่นั้นไปผู้เอาประกันภัย
ชอบที่จะได้ลดเบี้ยประกันภัยลงตามส่วน
	มาตรา 865 ถ้าในเวลาทำสัญญาประกันภัย ผู้เอาประกันภัยก็ดี หรือในกรณีประกันชีวิต บุคคลอันการ
ใช้เงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของเขานั้นก็ดี  รู้อยู่แล้วละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริง
ซึ่งอาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัยให้เรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นอีก หรือให้บอกปัดไม่ยอมทำสัญญา
หรือว่ารู้อยู่แล้วแถลงข้อความนั้นเป็นความเท็จไซร้ ท่านว่าสัญญานั้นเป็นโมฆียะ
	ถ้ามิได้ใช้สิทธิบอกล้างภายในกำหนดเดือนหนึ่งนับแต่วันที่ผู้รับประกันภัยทราบมูลอันจะ
บอกล้างได้ก็ดี หรือมิได้ใช้สิทธินั้นภายในกำหนดห้าปีนับแต่วันทำสัญญาก็ดี ท่านว่าสิทธินั้นเป็นอัน
ระงับสิ้นไป
	มาตรา 866 ถ้าผู้รับประกันภัยได้รู้ข้อความจริงดั่งกล่าวใน มาตรา 865 นั้นก็ดี หรือรู้ว่าข้อแถลง
ความเป็นความเท็จก็ดี หรือควรจะได้รู้เช่นนั้นหากใช้ความระมัดระวังดั่งจะพึงคาดหมายได้แต่
วิญญูชนก็ดี ท่านให้ฟังว่าสัญญานั้นเป็นอันสมบูรณ์
	มาตรา 867 อันสัญญาประกันภัยนั้น  ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อ
ฝ่ายที่ต้องรับผิดหรือลายมือชื่อตัวแทนของฝ่ายนั้นเป็นสำคัญ   ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่
	ให้ส่งมอบกรมธรรม์ประกันภัยอันมีเนื้อความต้องตามสัญญานั้นแก่ผู้เอาประกันภัย
ฉบับหนึ่ง
	กรมธรรม์ประกันภัยต้องลงลายมือของผู้รับประกันภัยและมีรายการดั่งต่อไปนี้
	(1)  วัตถุที่เอาประกันภัย
	(2)  ภัยใดซึ่งผู้รับประกันภัยรับเสี่ยง
	(3)  ราคาแห่งมูลประกันภัย ถ้าหากได้กำหนดกันไว้
	(4)  จำนวนเงินซึ่งเอาประกันภัย
	(5)  จำนวนเบี้ยประกันภัย และวิธีส่งเบี้ยประกันภัย
	(6)  ถ้าหากสัญญาประกันภัยมีกำหนดเวลา ต้องลงเวลาเริ่มต้น และเวลาสิ้นสุดไว้ด้วย
	(7)  ชื่อหรือยี่ห้อของผู้รับประกันภัย
	(8)  ชื่อหรือยี่ห้อของผู้เอาประกันภัย
	(9)  ชื่อของผู้รับประโยชน์ ถ้าจะพึงมี
	(10)  วันทำสัญญาประกันภัย
	(11)  สถานที่และวันที่ได้ทำกรมธรรม์ประกันภัย
	มาตรา 868 อันสัญญาประกันภัยทะเล ท่านให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายทะเล

	หมวด 2
	ประกันวินาศภัย
	ส่วนที่ 1
	บทเบ็ดเสร็จทั่วไป

	มาตรา 869 อันคำว่า "วินาศภัย" ในหมวดนี้  ท่านหมายรวมเอาความเสียหายอย่างใดๆ บรรดาซึ่ง
จะพึงประมาณเป็นเงินได้
	มาตรา 870 ถ้าได้ทำสัญญาประกันภัยเป็นสองรายหรือกว่านั้นพร้อมกันเพื่อความวินาศภัยอันเดียว
กัน  และจำนวนเงินซึ่งเอาประกันภัยรวมกันทั้งหมดนั้นท่วมจำนวนที่วินาศจริงไซร้ ท่านว่าผู้รับ
ประโยชน์ชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพียงเสมอจำนวนวินาศจริงเท่านั้น  ผู้รับประกันภัยแต่
ละคนต้องใช้เงินจำนวนวินาศจริงแบ่งตามส่วนมากน้อยที่ตนได้รับประกันภัยไว้
	อันสัญญาประกันภัยทั้งหลาย  ถ้าลงวันเดียวกัน ท่านให้ถือว่าได้ทำพร้อมกัน
	ถ้าได้ทำสัญญาประกันภัยเป็นสองรายหรือกว่านั้นสืบเนื่องเป็นลำดับกัน  ท่านว่าผู้รับ
ประกันภัยคนแรกจะต้องรับผิดเพื่อความวินาศภัยก่อน  ถ้าและจำนวนเงินซึ่งผู้รับประกันภัยคนแรก
ได้ใช้นั้นยังไม่คุ้มจำนวนวินาศภัยไซร้ ผู้รับประกันภัยคนถัดไปก็ต้องรับผิดในส่วนที่ยังขาดอยู่นั้น
ต่อๆ กันไปจนกว่าจะคุ้มวินาศ
	มาตรา 871 ถ้าได้ทำสัญญาประกันภัยเป็นสองรายหรือกว่านั้นพร้อมกันก็ดี หรือสืบเนื่องเป็นลำดับ
กันก็ดี ท่านว่าการที่ยอมสละสิทธิอันมีต่อผู้รับประกันภัยรายหนึ่งนั้น  ไม่กระทบกระทั่งถึงสิทธิ
และหน้าที่ของผู้รับประกันภัยรายอื่นๆ
	มาตรา 872 ก่อนเริ่มเสี่ยงภัย  ผู้เอาประกันภัยจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้  แต่ผู้รับประกันภัยชอบที่
จะได้เบี้ยประกันภัยกึ่งจำนวน
	มาตรา 873 ถ้าในระหว่างอายุสัญญาประกันภัยนั้น มูลประกันภัยได้ลดน้อยถอยลงไปหนักไซร้
ท่านว่าผู้เอาประกันภัยชอบที่จะได้ลดจำนวนเงินซึ่งเอาประกันภัยไว้ และลดจำนวนเงินเบี้ยประกันภัย
	การลดจำนวนเบี้ยประกันนั้น ให้เป็นผลต่อในอนาคต
	มาตรา 874 ถ้าคู่สัญญาได้กำหนดราคาแห่งมูลประกันภัยไว้  ผู้รับประกันภัยชอบที่จะได้ลดจำนวน
ค่าสินไหมทดแทนก็แต่เมื่อพิสูจน์ได้ว่าราคาแห่งมูลประกันภัยตามที่ได้ตกลงกันไว้นั้นเป็นจำนวน
สูงเกินไปหนัก และคืนจำนวนเบี้ยประกันภัยให้ตามส่วน กับทั้งดอกเบี้ยด้วย
	มาตรา 875 ถ้าวัตถุอันได้ประกันภัยไว้นั้น เปลี่ยนมือไปจากผู้เอาประกันภัยโดยพินัยกรรมก็ดี หรือ
โดยบัญญัติกฎหมายก็ดี ท่านว่าสิทธิอันมีอยู่ในสัญญาประกันภัยก็ย่อมโอนตามไปด้วย
	ถ้าในสัญญามิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น  เมื่อผู้เอาประกันภัยโอนวัตถุที่เอาประกันภัย
และบอกกล่าวการโอนไปยังผู้รับประกันภัยไซร้ ท่านว่าสิทธิอันมีอยู่ในสัญญาประกันภัยนั้นย่อม
โอนตามไปด้วย  อนึ่ง ถ้าในการโอนเช่นนี้ช่องแห่งภัยเปลี่ยนแปลงไปหรือเพิ่มขึ้นหนักไซร้ ท่านว่า
สัญญาประกันภัยนั้นกลายเป็นโมฆะ
	มาตรา 876 ถ้าผู้รับประกันภัยต้องคำพิพากษาให้เป็นคนล้มละลาย ผู้เอาประกันภัยจะเรียกให้หา
ประกันอันสมควรให้แก่ตนก็ได้ หรือจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้
	ถ้าผู้เอาประกันภัยต้องคำพิพากษาให้เป็นคนล้มละลาย ท่านให้ใช้วิธีเดียวกันนี้บังคับ
ตามควรแก่เรื่อง แต่กระนั้นก็ดี  ถ้าเบี้ยประกันภัยได้ส่งแล้วเต็มจำนวนเพื่ออายุประกันเป็นระยะ
เวลามากน้อยเท่าใดไซร้ ท่านห้ามมิให้ผู้รับประกันภัยบอกเลิกสัญญาก่อนระยะเวลานั้นสุดลง
	มาตรา 877 ผู้รับประกันภัยจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนดั่งจะกล่าวต่อไปนี้ คือ
	(1)  เพื่อจำนวนวินาศภัยอันแท้จริง
	(2)  เพื่อความบุบสลายอันเกิดแก่ทรัพย์สินซึ่งได้เอาประกันภัยไว้ เพราะได้จัดการตาม
สมควรเพื่อป้องปัดความวินาศภัย
	(3)  เพื่อบรรดาค่าใช้จ่ายอันสมควรซึ่งได้เสียไปเพื่อรักษาทรัพย์สินซึ่งเอาประกันภัยไว้นั้น
มิให้วินาศ
	อันจำนวนวินาศจริงนั้น ท่านให้ตีราคา ณ สถานที่และในเวลาซึ่งเหตุวินาศภัยนั้นได้เกิด
ขึ้น อนึ่ง  จำนวนเงินซึ่งได้เอาประกันภัยไว้นั้น ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นหลักประมาณอัน
ถูกต้องในการตีราคาเช่นว่านั้น
	ท่านห้ามมิให้คิดค่าสินไหมทดแทนเกินไปกว่าจำนวนเงินซึ่งเอาประกันภัยไว้
	มาตรา 878 ค่าใช้จ่ายในการตีราคาวินาศภัยนั้น  ท่านว่าผู้รับประกันภัยต้องเป็นผู้ออกใช้
	มาตรา 879 ผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิดในเมื่อความวินาศภัยหรือเหตุอื่นซึ่งได้ระบุไว้ในสัญญานั้น
ได้เกิดขึ้นเพราะความทุจริต หรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์
	ผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิดในความวินาศภัยอันเป็นผลโดยตรงมาแต่ความไม่สม
ประกอบในเนื้อแห่งวัตถุที่เอาประกันภัย เว้นแต่จะได้ตกลงกันเป็นอย่างอื่น
	มาตรา 880 ถ้าความวินาศภัยนั้นได้เกิดขึ้นเพราะการกระทำของบุคคลภายนอกไซร้ ผู้รับประกันภัย
ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปเป็นจำนวนเพียงใด  ผู้รับประกันภัยย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอา
ประกันภัยและของผู้รับประโยชน์ซึ่งมีต่อบุคคลภายนอกเพียงนั้น
	ถ้าผู้รับประกันภัยได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปแต่เพียงบางส่วนไซร้   ท่านห้ามมิให้
ผู้รับประกันภัยนั้นใช้สิทธิของตนให้เสื่อมเสียสิทธิของผู้เอาประกันภัย หรือผู้รับประโยชน์  ในการที่
เขาจะเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนจากบุคคลภายนอกเพื่อเศษแห่งจำนวนวินาศนั้น
	มาตรา 881 ถ้าความวินาศเกิดขึ้นเพราะภัยมีขึ้นดั่งผู้รับประกันภัยตกลงประกันภัยไว้ไซร้  เมื่อผู้เอา
ประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ทราบความวินาศนั้นแล้ว  ต้องบอกกล่าวแก่ผู้รับประกันภัยโดยไม่ชักช้า
	ถ้ามิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติที่กล่าวมาในวรรคก่อน  ผู้รับประกันภัยอาจเรียกร้องค่า
สินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ อันเกิดแต่การนั้นได้  เว้นแต่อีกฝ่ายหนึ่งจะพิสูจน์ได้
ว่าไม่สามารถที่จะปฏิบัติได้
	มาตรา 882 ในการเรียกให้ใช้ค่าสินไหมทดแทน  ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดเวลาสองปีนับ
แต่วันวินาศภัย
	ในการเรียกให้ใช้หรือให้คืนเบี้ยประกันภัย  ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นเวลาสองปีนับ
แต่วันซึ่งสิทธิจะเรียกให้ใช้หรือคืนเบี้ยประกันภัยถึงกำหนด

	ส่วนที่ 2
	วิธีเฉพาะการประกันภัยในการรับขน

	มาตรา 883 อันสัญญาประกันภัยในการรับขนนั้น  ย่อมคุ้มถึงความวินาศภัยทุกอย่างซึ่งอาจเกิดแก่
ของที่ขนส่งในระหว่างเวลาตั้งแต่ผู้ขนส่งได้รับของไป จนได้ส่งมอบของนั้นแก่ผู้รับตราส่ง  และ
จำนวนค่าสินไหมทดแทนนั้น  ย่อมกำหนดตามที่ของซึ่งขนส่งนั้นจะได้มีราคาเมื่อถึงตำบลอันกำหนดให้ส่ง
	มาตรา 884 ถ้าของซึ่งขนส่งนั้นได้เอาประกันภัยเมื่ออยู่ในระหว่างส่งเดินทางไป  ท่านให้คิดมูล
ประกันภัยในของนั้นนับรวมทั้งราคาของ ณ สถานที่และในเวลาที่ผู้ขนส่งได้รับของ และให้เพิ่มค่า
ระวางส่งของไปยังสถานที่ส่งมอบแก่ผู้รับตราส่ง กับทั้งค่าใช้จ่ายอื่นๆ เนื่องด้วยการส่งของไปนั้น
เข้าด้วย
	กำไรอันจะพึงได้ในเวลาเมื่อส่งมอบของนั้น ย่อมจะคิดรวมเข้าเป็นมูลประกันภัยได้ต่อเมื่อ
ได้มีข้อตกลงกันไว้เช่นนั้นชัดแจ้ง
	มาตรา 885 อันสัญญาประกันภัยในการรับขนนั้น  ถึงแม้การขนส่งจะต้องสะดุดหยุดลงชั่วขณะหรือ
จะต้องเปลี่ยนทางหรือเปลี่ยนวิธีขนส่งอย่างหนึ่งอย่างใดโดยเหตุจำเป็นในระหว่างส่งเดินทางก็ดี
ท่านว่าสัญญานั้นก็ย่อมคงเป็นอันสมบูรณ์อยู่ เว้นแต่จะได้ระบุไว้ในสัญญาเป็นอย่างอื่น
	มาตรา 886 อันกรมธรรม์ประกันภัยในการรับขนนั้น นอกจากที่ได้ระบุไว้แล้วใน มาตรา 867 ต้องมี
รายการเพิ่มขึ้นอีกดั่งจะกล่าวต่อไปนี้ คือ
	(1)  ระบุทางและวิธีขนส่ง
	(2)  ชื่อหรือยี่ห้อของผู้ขนส่ง
	(3)  สถานที่ซึ่งกำหนดให้รับและส่งมอบของ
	(4)  กำหนดระยะเวลาขนส่ง ตามแต่มี

	ส่วนที่ 3
	ประกันภัยค้ำจุน

	มาตรา 887 อันว่าประกันภัยค้ำจุนนั้น  คือสัญญาประกันภัยซึ่งผู้รับประกันภัยตกลงว่าจะใช้ค่าสินไหม
ทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัย เพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลอีกคนหนึ่งและซึ่งผู้เอา
ประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ
	บุคคลผู้ต้องเสียหายชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนตามที่ตนควรจะได้นั้นจากผู้รับ
ประกันภัยโดยตรง  แต่ค่าสินไหมทดแทนเช่นว่านี้หาอาจจะคิดเกินไปกว่าจำนวนอันผู้รับประกันภัย
จะพึงต้องใช้ตามสัญญานั้นได้ไม่  ในคดีระหว่างบุคคลผู้ต้องเสียหายกับผู้รับประกันภัยนั้น ท่านให้
ผู้ต้องเสียหายเรียกตัวผู้เอาประกันภัยเข้ามาในคดีด้วย
	อนึ่ง  ผู้รับประกันภัยนั้นแม้จะได้ส่งค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยแล้ว  ก็ยังหา
หลุดพ้นจากความรับผิดต่อบุคคลผู้ต้องเสียหายนั้นไม่  เว้นแต่ตนจะพิสูจน์ได้ว่าสินไหมทดแทนนั้น
ผู้เอาประกันภัยได้ใช้ให้แก่ผู้ต้องเสียหายแล้ว
	มาตรา 888 ถ้าค่าสินไหมทดแทนอันผู้รับประกันภัยได้ใช้ไปโดยคำพิพากษานั้นยังไม่คุ้มค่าวินาศภัย
เต็มจำนวนไซร้ ท่านว่าผู้เอาประกันภัยก็ยังคงต้องรับใช้จำนวนที่ยังขาด เว้นไว้แต่บุคคลผู้ต้องเสีย
หายจะได้ละเลยเสียไม่เรียกตัวผู้เอาประกันภัยเข้ามาสู่คดีด้วยดั่งกล่าวไว้ในมาตราก่อน

	หมวด 3
	ประกันชีวิต

	มาตรา 889 ในสัญญาประกันชีวิตนั้น การใช้จำนวนเงินย่อมอาศัยความทรงชีพ หรือมรณะของ
บุคคลคนหนึ่ง
	มาตรา 890 จำนวนเงินอันจะพึงใช้นั้น จะชำระเป็นเงินจำนวนเดียวหรือเป็นเงินรายปีก็ได้ สุดแล้ว
แต่จะตกลงกันระหว่างคู่สัญญา
	มาตรา 891 แม้ในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยมิได้เป็นผู้รับประโยชน์เองก็ดี ผู้เอาประกันภัยย่อมมีสิทธิที่
จะโอนประโยชน์แห่งสัญญานั้นให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งได้ เว้นแต่จะได้ส่งมอบกรมธรรม์ประกันภัย
ให้แก่ผู้รับประโยชน์ไปแล้ว และผู้รับประโยชน์ได้บอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังผู้รับประกันภัยแล้ว
ว่าตนจำนงจะถือเอาประโยชน์แห่งสัญญานั้น
	ถ้ากรมธรรม์ประกันภัยได้ทำเป็นรูปให้ใช้เงินตามเขาสั่งแล้ว ท่านให้นำบทบัญญัติ
มาตรา 309 มาใช้บังคับ
	มาตรา 892 ในกรณีบอกล้างสัญญาตามความใน มาตรา 865  ผู้รับประกันภัยต้องคืนค่าไถ่ถอน
กรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัย หรือทายาทของผู้นั้น
	มาตรา 893 การใช้เงินอาศัยเหตุความทรงชีพ  หรือมรณะของบุคคลผู้ใด แม้ได้แถลงอายุของบุคคล
ผู้นั้นได้คลาดเคลื่อนไม่ถูกต้องเป็นเหตุให้ได้กำหนดจำนวนเบี้ยประกันภัยไว้ต่ำไซร้ ท่านให้ลด
จำนวนเงินอันผู้รับประกันภัยจะพึงต้องใช้นั้นลงตามส่วน
	แต่ถ้าผู้รับประกันภัยพิสูจน์ได้ว่า ในขณะที่ทำสัญญานั้นอายุที่ถูกต้องแท้จริงอยู่นอกจำกัด
อัตราตามทางค้าปกติของเขาแล้ว ท่านว่าสัญญานั้นเป็นโมฆียะ
	มาตรา 894 ผู้เอาประกันภัยชอบที่จะบอกเลิกสัญญาประกันภัยเสียในเวลาใดๆ  ก็ได้ด้วยการงดไม่ส่ง
เบี้ยประกันภัยต่อไป  ถ้าและได้ส่งเบี้ยประกันภัยมาแล้วอย่างน้อยสามปีไซร้ ท่านว่าผู้เอาประกันภัย
ชอบที่จะได้รับเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์ประกันภัย หรือรับกรมธรรม์ใช้เงินสำเร็จจากผู้รับประกันภัย
	มาตรา 895 เมื่อใดจะต้องใช้จำนวนเงินในเหตุมรณะของบุคคลคนหนึ่งคนใด ท่านว่าผู้รับประกันภัย
จำต้องใช้เงินนั้นในเมื่อมรณภัยอันนั้นเกิดขึ้น เว้นแต่
	(1)  บุคคลผู้นั้นได้กระทำอัตวินิบาตด้วยใจสมัครภายในปีหนึ่งนับแต่วันทำสัญญา หรือ
	(2)  บุคคลผู้นั้นถูกผู้รับประโยชน์ฆ่าตายโดยเจตนา
	ในกรณีที่ 2 นี้   ท่านว่าผู้รับประกันภัยจำต้องใช้เงินค่าไถ่ถอนกรมธรรม์ให้แก่ผู้เอา
ประกันภัย หรือให้แก่ทายาทของผู้นั้น
	มาตรา 896 ถ้ามรณภัยเกิดขึ้นเพราะความผิดของบุคคลภายนอก ผู้รับประกันภัยหาอาจจะเรียกเอา
ค่าสินไหมทดแทนจากบุคคลภายนอกนั้นได้ไม่ แต่สิทธิของฝ่ายทายาทแห่งผู้มรณะในอันจะได้ค่า
สินไหมทดแทนจากบุคคลภายนอกนั้นหาสูญสิ้นไปด้วยไม่ แม้ทั้งจำนวนเงินอันพึงจะใช้ตามสัญญา
ประกันชีวิตนั้น  จะหวนกลับมาได้แก่ตนด้วย
	มาตรา 897 ถ้าผู้เอาประกันภัยได้เอาประกันภัยไว้โดยกำหนดว่าเมื่อตนถึงซึ่งความมรณะ  ให้ใช้เงิน
แก่ทายาททั้งหลายของตนโดยมิได้เจาะจงระบุชื่อผู้หนึ่งผู้ใดไว้ไซร้  จำนวนเงินอันจะพึงใช้นั้น
ท่านให้ฟังเอาเป็นสินทรัพย์ส่วนหนึ่งแห่งกองมรดกของผู้เอาประกันภัย ซึ่งเจ้าหนี้จะเอาใช้หนี้ได้
	ถ้าได้เอาประกันภัยไว้โดยกำหนดว่าให้ใช้เงินแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจง
ท่านว่าเฉพาะแต่จำนวนเงินเบี้ยประกันภัยซึ่งผู้เอาประกันภัยได้ส่งไปแล้วเท่านั้น จักเป็นสินทรัพย์
ส่วนหนึ่งแห่งกองมรดกของผู้เอาประกันภัยอันเจ้าหนี้จะเอาใช้หนี้ได้

	ลักษณะ 21
	ตั๋วเงิน
	หมวด 1
	บทเบ็ดเสร็จทั่วไป

	มาตรา 898 อันตั๋วเงินตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้มีสามประเภทๆ หนึ่งคือ ตั๋วแลกเงิน
ประเภทหนึ่งคือตั๋วสัญญาใช้เงิน ประเภทหนึ่งคือเช็ค
	มาตรา 899 ข้อความอันใดซึ่งมิได้มีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายลักษณะนี้ ถ้าเขียนลงในตั๋วเงิน
ท่านว่าข้อความอันนั้นหาเป็นผลอย่างหนึ่งอย่างใดแก่ตั๋วเงินนั้นไม่
	มาตรา 900 บุคคลผู้ลงลายมือชื่อของตนในตั๋วเงินย่อมจะต้องรับผิดตามเนื้อความในตั๋วเงินนั้น
	ถ้าลงเพียงแต่เครื่องหมายอย่างหนึ่งอย่างใด เช่น แกงได หรือลายพิมพ์นิ้วมือ  อ้างเอา
เป็นลายมือชื่อในตั๋วเงินไซร้  แม้ถึงว่าจะมีพยานลงชื่อรับรองก็ตาม ท่านว่าหาให้ผลเป็นลงลายมือ
ชื่อในตั๋วเงินนั้นไม่
	มาตรา 901 ถ้าบุคคลคนใดลงลายมือชื่อของตนในตั๋วเงิน  และมิได้เขียนแถลงว่ากระทำการแทน
บุคคลอีกคนหนึ่งไซร้ ท่านว่าบุคคลคนนั้นย่อมเป็นผู้รับผิดตามความในตั๋วเงินนั้น
	มาตรา 902 ถ้าตั๋วเงินลงลายมือชื่อของบุคคลหลายคน  มีทั้งบุคคลซึ่งไม่อาจจะเป็นคู่สัญญาแห่ง
ตั๋วเงินนั้นได้เลย  หรือเป็นได้แต่ไม่เต็มผลไซร้ ท่านว่าการนี้ย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงความรับผิดของ
บุคคลอื่นๆ  นอกนั้น ซึ่งคงต้องรับผิดตามตั๋วเงิน
	มาตรา 903 ในการใช้เงินตามตั๋วเงิน  ท่านมิให้ให้วันผ่อน
	มาตรา 904 อันผู้ทรงนั้น  หมายความว่า  บุคคลผู้มีตั๋วเงินไว้ในครอบครองโดยฐานเป็นผู้รับเงิน หรือ
เป็นผู้รับสลักหลัง  ถ้าและเป็นตั๋วเงินสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือๆ ก็นับว่าเป็นผู้ทรงเหมือนกัน
	มาตรา 905 ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติ มาตรา 1008 บุคคลผู้ได้ตั๋วเงินไว้ในครอบครอง ถ้าแสดงให้
ปรากฏสิทธิด้วยการสลักหลังไม่ขาดสาย แม้ถึงว่าการสลักหลังรายที่สุดจะเป็นสลักหลังลอยก็ตาม
ท่านให้ถือว่าเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย  เมื่อใดรายการสลักหลังลอยมีสลักหลังรายอื่นตาม
หลังไปอีก  ท่านให้ถือว่าบุคคลผู้ที่ลงลายมือชื่อในการสลักหลังรายที่สุดนั้น เป็นผู้ได้ซึ่งตั๋วเงินด้วย
การสลักหลังลอย อนึ่ง คำสลักหลังเมื่อขีดฆ่าเสียแล้ว  ท่านให้ถือว่าเสมือนว่ามิได้มีเลย
	ถ้าบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดปราศจากตั๋วเงินไปจากครอบครอง ท่านว่าผู้ทรงซึ่งแสดงให้ปรากฏ
สิทธิของตนในตั๋วตามวิธีการดั่งกล่าวมาในวรรคก่อนนั้น  หาจำต้องสละตั๋วเงินไม่ เว้นแต่จะได้มา
โดยทุจริต หรือได้มาด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
	อนึ่ง ข้อความในวรรคก่อนนี้ ให้ใช้บังคับตลอดถึงผู้ทรงตั๋วเงินสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือด้วย
	มาตรา 906 คำว่าคู่สัญญาคนก่อนๆ นั้น  รวมทั้งผู้สั่งจ่ายหรือผู้ออกตั๋วเงิน และผู้สลักหลังคนก่อนๆด้วย
	มาตรา 907 เมื่อใดไม่มีที่ในตั๋วเงินซึ่งจะสลักหลังได้ต่อไปไซร้ ท่านอนุญาตให้เอากระดาษแผ่นหนึ่ง
ผนึกต่อเข้ากับตั๋วเงินเรียกว่าใบประจำต่อ  นับเป็นส่วนหนึ่งแห่งตั๋วเงินนั้น
	การสลักหลังในใบประจำต่อครั้งแรก ต้องเขียนคาบบนตั๋วเงินเดิมบ้าง บนใบประจำต่อบ้าง

	หมวด 2
	ตั๋วแลกเงิน
	ส่วนที่ 1
	การออกและการสลักหลังตั๋วเงิน

	มาตรา 908 อันว่าตั๋วแลกเงินนั้น  คือหนังสือตราสาร ซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้สั่งจ่าย สั่งบุคคลอีก
คนหนึ่งเรียกว่าผู้จ่าย ให้ใช้เงินจำนวนหนึ่งแก่บุคคลคนหนึ่ง หรือให้ใช้ตามคำสั่งของบุคคลคน
หนึ่งซึ่งเรียกว่าผู้รับเงิน
	มาตรา 909 อันตั๋วแลกเงินนั้น  ต้องมีรายการดั่งกล่าวต่อไปนี้ คือ
	(1)  คำบอกชื่อว่าเป็นตั๋วแลกเงิน
	(2)  คำสั่งอันปราศจากเงื่อนไขให้จ่ายเงินเป็นจำนวนแน่นอน
	(3)  ชื่อ หรือยี่ห้อผู้จ่าย
	(4)  วันถึงกำหนดใช้เงิน
	(5)  สถานที่ใช้เงิน
	(6)  ชื่อ หรือยี่ห้อผู้รับเงิน หรือคำจดแจ้งว่าให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ
	(7)  วันและสถานที่ออกตั๋วเงิน
	(8)  ลายมือชื่อผู้สั่งจ่าย
	มาตรา 910 ตราสารอันมีรายการขาดตกบกพร่องไปจากที่ท่านระบุบังคับไว้ในมาตราก่อนนี้ ย่อมไม่
สมบูรณ์เป็นตั๋วแลกเงิน  เว้นแต่กรณีดั่งจะกล่าวดังต่อไปนี้ คือ
	ตั๋วแลกเงินซึ่งไม่ระบุเวลาใช้เงิน ท่านให้ถือว่าพึงใช้เงินเมื่อได้เห็น
	ถ้าสถานที่ใช้เงินมิได้แถลงไว้ในตั๋วแลกเงิน  ท่านให้ถือเอาภูมิลำเนาของผู้จ่ายเป็น
สถานที่ใช้เงิน
	ถ้าตั๋วแลกเงินไม่แสดงให้ปรากฏสถานที่ออกตั๋ว  ท่านให้ถือว่าตั๋วเงินนั้นได้ออก ณ
ภูมิลำเนาของผู้สั่งจ่าย
	ถ้ามิได้ลงวันออกตั๋ว  ท่านว่าผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายคนหนึ่งคนใดทำการโดยสุจริต
จะจดวันตามที่ถูกต้องแท้จริงลงก็ได้
	มาตรา 911 ผู้สั่งจ่ายจะเขียนข้อความกำหนดลงไว้ว่าจำนวนเงินอันจะพึงใช้นั้นให้คิดดอกเบี้ยด้วยก็ได้
และในกรณีเช่นนั้น ถ้ามิได้กล่าวลงไว้เป็นอย่างอื่น  ท่านว่าดอกเบี้ยย่อมคิดแต่วันที่ลงในตั๋วเงิน
	มาตรา 912 อันตั๋วแลกเงินนั้น  จะออกสั่งให้ใช้เงินตามคำสั่งของผู้สั่งจ่ายก็ได้
	อนึ่ง จะสั่งจ่ายเอาจากตัวผู้สั่งจ่ายเอง หรือสั่งจ่ายเพื่อบุคคลภายนอกก็ได้
	มาตรา 913 อันวันถึงกำหนดของตั๋วแลกเงินนั้น ท่านว่าย่อมเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งดั่งกล่าวต่อไปนี้ คือ
	(1)  ในวันใดวันหนึ่งที่กำหนดไว้ หรือ
	(2)  เมื่อสิ้นระยะเวลาอันกำหนดไว้นับแต่วันที่ลงในตั๋วนั้น หรือ
	(3)  เมื่อทวงถาม หรือเมื่อได้เห็น หรือ
	(4)  เมื่อสิ้นระยะเวลาอันกำหนดไว้นับแต่ได้เห็น
	มาตรา 914 บุคคลผู้สั่งจ่ายหรือสลักหลังตั๋วแลกเงินย่อมเป็นอันสัญญาว่า เมื่อตั๋วนั้นได้นำยื่นโดย
ชอบแล้วจะมีผู้รับรองและใช้เงินตามเนื้อความแห่งตั๋ว ถ้าและตั๋วแลกเงินนั้นเขาไม่เชื่อถือโดยไม่
ยอมรับรองก็ดี หรือไม่ยอมจ่ายเงินก็ดี ผู้สั่งจ่ายหรือผู้สลักหลังก็จะใช้เงินแก่ผู้ทรง หรือแก่ผู้สลักหลัง
คนหลังซึ่งต้องถูกบังคับให้ใช้เงินตามตั๋วนั้น ถ้าหากว่าได้ทำถูกต้องตามวิธีการในข้อไม่รับรองหรือ
ไม่จ่ายเงินนั้นแล้ว
	มาตรา 915 ผู้สั่งจ่ายตั๋วแลกเงินและผู้สลักหลังคนใดๆ ก็ดี  จะจดข้อกำหนดซึ่งจะกล่าวต่อไปนี้ ลงไว้
ชัดแจ้งในตั๋วนั้นก็ได้ คือ
	(1) ข้อกำหนดลบล้างหรือจำกัดความรับผิดของตนเองต่อผู้ทรงตั๋วเงิน
	(2) ข้อกำหนดยอมลดละให้แก่ผู้ทรงตั๋วเงินซึ่งหน้าที่ทั้งหลายอันผู้ทรงจะพึงต้องมีแก่ตน
บางอย่างหรือทั้งหมด
	มาตรา 916 บุคคลทั้งหลายผู้ถูกฟ้องในมูลตั๋วแลกเงินหาอาจจะต่อสู้ผู้ทรงด้วยข้อต่อสู้อันอาศัย
ความเกี่ยวพันกันเฉพาะบุคคลระหว่างตนกับผู้สั่งจ่ายหรือกับผู้ทรงคนก่อนๆ นั้นได้ไม่  เว้นแต่
การโอนจะได้มีขึ้นด้วยคบคิดกันฉ้อฉล
	มาตรา 917 อันตั๋วแลกเงินทุกฉบับ  ถึงแม้ว่าจะมิใช่สั่งจ่ายให้แก่บุคคลเพื่อเขาสั่งก็ตาม ท่านว่าย่อม
โอนให้กันได้ด้วยสลักหลังและส่งมอบ
	เมื่อผู้สั่งจ่ายเขียนลงในด้านหน้าแห่งตั๋วแลกเงินว่า "เปลี่ยนมือไม่ได้" ดั่งนี้ก็ดี  หรือเขียน
คำอื่นอันได้ความเป็นทำนองเช่นเดียวกันนั้นก็ดี ท่านว่าตั๋วเงินนั้นย่อมจะโอนให้กันได้แต่โดยรูปการ
และด้วยผลอย่างการโอนสามัญ
	อนึ่ง ตั๋วเงินจะสลักหลังให้แก่ผู้จ่ายก็ได้ ไม่ว่าผู้จ่ายจะได้รับรองตั๋วนั้นหรือไม่ หรือจะ
สลักหลังให้แก่ผู้สั่งจ่าย หรือให้แก่คู่สัญญาฝ่ายอื่นใดแห่งตั๋วเงินนั้นก็ได้ ส่วนบุคคลทั้งหลายเหล่านี้
ก็ย่อมจะสลักหลังตั๋วเงินนั้นต่อไปอีกได้
	มาตรา 918 ตั๋วแลกเงินอันสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือนั้น  ท่านว่าย่อมโอนไปเพียงด้วยส่งมอบให้กัน
	มาตรา 919 คำสลักหลังนั้นต้องเขียนลงในตั๋วแลกเงินหรือใบประจำต่อ และต้องลงลายมือชื่อผู้สลักหลัง
	การสลักหลังย่อมสมบูรณ์แม้ทั้งมิได้ระบุชื่อผู้รับประโยชน์ไว้ด้วย หรือแม้ผู้สลักหลังจะมิ
ได้กระทำอะไรยิ่งไปกว่าลงลายมือชื่อของตนที่ด้านหลังตั๋วแลกเงินหรือที่ใบประจำต่อ  ก็ย่อมฟังเป็น
สมบูรณ์ดุจกัน  การสลักหลังเช่นนี้ ท่านเรียกว่า "สลักหลังลอย"
	มาตรา 920 อันการสลักหลังย่อมโอนไปซึ่งบรรดาสิทธิอันเกิดแต่ตั๋วแลกเงิน
	ถ้าสลักหลังลอย ผู้ทรงจะปฏิบัติดั่งกล่าวต่อไปนี้ประการหนึ่งประการใดก็ได้  คือ
	(1)  กรอกความลงในที่ว่างด้วยเขียนชื่อของตนเองหรือชื่อบุคคลอื่นผู้ใดผู้หนึ่ง
	(2)  สลักหลังตั๋วเงินต่อไปอีกเป็นสลักหลังลอย หรือสลักหลังให้แก่บุคคลอื่นผู้ใดผู้หนึ่ง
	(3)  โอนตั๋วเงินนั้นให้ไปแก่บุคคลภายนอกโดยไม่กรอกความลงในที่ว่าง และไม่สลักหลัง
อย่างหนึ่งอย่างใด
	มาตรา 921 การสลักหลังตั๋วแลกเงินซึ่งสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือนั้น ย่อมเป็นเพียงประกัน (อาวัล) สำหรับ
ผู้สั่งจ่าย
	มาตรา 922 การสลักหลังนั้นต้องให้เป็นข้อความอันปราศจากเงื่อนไข ถ้าและวางเงื่อนไขบังคับลงไว้
อย่างใด ท่านให้ถือเสมือนว่าข้อเงื่อนไขนั้นมิได้เขียนลงไว้เลย
	อนึ่ง การสลักหลังโอนแต่บางส่วน ท่านว่าเป็นโมฆะ
	มาตรา 923 ผู้สลักหลังคนใดระบุข้อความห้ามสลักหลังสืบไปลงไว้แล้ว  ผู้สลักหลังคนนั้นย่อมไม่ต้อง
รับผิดต่อบุคคลอันเขาสลักหลังตั๋วแลกเงินนั้นให้ไปในภายหลัง
	มาตรา 924 ถ้าตั๋วแลกเงินสลักหลังต่อเมื่อสิ้นเวลาเพื่อคัดค้านการไม่รับรอง หรือการไม่ใช้เงินนั้น
แล้วไซร้  ท่านว่าผู้รับสลักหลังย่อมได้ไปซึ่งสิทธิแห่งการรับรองตามแต่มีต่อผู้จ่าย  กับสิทธิไล่เบี้ย
เอาแก่บรรดาผู้ซึ่งสลักหลังตั๋วเงินนั้นภายหลังที่สิ้นเวลาเช่นนั้น
	แต่ถ้าตั๋วเงินนั้นได้มีคัดค้านการไม่รับรองหรือการไม่ใช้เงินมาแต่ก่อนสลักหลังแล้วไซร้
ท่านว่าผู้รับสลักหลังย่อมได้ไปแต่เพียงสิทธิของผู้ซึ่งสลักหลังให้แก่ตนอันมีต่อผู้รับรอง ต่อผู้สั่งจ่าย
และต่อบรรดาผู้ที่สลักหลังตั๋วเงินนั้นมาก่อนย้อนขึ้นไปจนถึงเวลาคัดค้านเท่านั้น
	มาตรา 925 เมื่อใดความที่สลักหลังมีข้อกำหนดว่า "ราคาอยู่ที่เรียกเก็บ" ก็ดี  "เพื่อเรียกเก็บ" ก็ดี " ใน
ฐานจัดการแทน" ก็ดี  หรือความสำนวนอื่นใดอันเป็นปริยายว่าตัวแทนไซร้ ท่านว่าผู้ทรงตั๋วแลกเงิน
จะใช้สิทธิทั้งปวงอันเกิดแต่ตั๋วเงินนั้นก็ย่อมได้ทั้งสิ้น แต่ว่าจะสลักหลังได้เพียงในฐานะเป็นตัวแทน
	ในกรณีเช่นนี้ คู่สัญญาทั้งหลายซึ่งต้องรับผิดอาจจะต่อสู้ผู้ทรงได้แต่เพียงด้วยข้อต่อสู้อัน
จะพึงใช้ได้ต่อผู้สลักหลังเท่านั้น
	มาตรา 926 เมื่อใดความที่สลักหลังมีข้อกำหนดว่า "ราคาเป็นประกัน" ก็ดี  "ราคาเป็นจำนำ" ก็ดี
หรือข้อกำหนดอย่างอื่นใดอันเป็นปริยายว่าจำนำไซร้  ท่านว่าผู้ทรงตั๋วแลกเงินจะใช้สิทธิทั้งปวง
อันเกิดแต่ตั๋วนั้นก็ย่อมได้ทั้งสิ้น แต่ถ้าผู้ทรงสลักหลังตั๋วนั้น ท่านว่าการสลักหลังย่อมใช้ได้เพียงใน
ฐานเป็นคำสลักหลังของตัวแทน
	คู่สัญญาทั้งหลายซึ่งต้องรับผิด หาอาจจะต่อสู้ผู้ทรงด้วยข้อต่อสู้อันอาศัยความเกี่ยวพัน
เฉพาะบุคคลระหว่างตนกับผู้สลักหลังนั้นได้ไม่ เว้นแต่การสลักหลังจะได้มีขึ้นด้วยคบคิดกันฉ้อฉล

	ส่วนที่ 2
	การรับรอง

	มาตรา 927 อันตั๋วแลกเงินนั้นจะนำไปยื่นแก่ผู้จ่าย ณ ที่อยู่ของผู้จ่ายเพื่อให้รับรองเมื่อไรๆ ก็ได้จนกว่า
จะถึงเวลากำหนดใช้เงิน และผู้ทรงจะเป็นผู้ยื่นหรือเพียงแต่ผู้ที่ได้ตั๋วนั้นไว้ในครอบครองจะเป็นผู้นำ
ไปยื่นก็ได้
	ในตั๋วแลกเงินนั้น ผู้สั่งจ่ายจะลงข้อกำหนดไว้ว่าให้นำยื่นเพื่อรับรองโดยกำหนดเวลาจำกัด
ไว้ให้ยื่น หรือไม่กำหนดเวลาก็ได้
	ผู้สั่งจ่ายจะห้ามการนำตั๋วแลกเงินยื่นเพื่อรับรองก็ได้ เว้นแต่ในกรณีที่เป็นตั๋วเงินอันได้ออก
สั่งให้ใช้เงินเฉพาะ ณ สถานที่อื่นใดอันมิใช่ภูมิลำเนาของผู้จ่าย  หรือได้ออกสั่งให้ใช้เงินในเวลาใด
เวลาหนึ่งนับแต่ได้เห็น
	อนึ่ง ผู้สั่งจ่ายจะลงข้อกำหนดไว้ว่ายังมิให้นำตั๋วยื่นเพื่อให้รับรองก่อนถึงกำหนดวันใด
วันหนึ่งก็ได้
	ผู้สลักหลังทุกคนจะลงข้อกำหนดไว้ว่า ให้นำตั๋วเงินยื่นเพื่อรับรองโดยกำหนดเวลาจำกัด
ไว้ให้ยื่น หรือไม่กำหนดเวลาก็ได้ เว้นแต่ผู้สั่งจ่ายจะได้ห้ามการรับรอง
	มาตรา 928 ผู้ทรงตั๋วแลกเงินอันสั่งให้ใช้เงินเมื่อสิ้นระยะเวลากำหนดอย่างใดอย่างหนึ่งนับแต่ได้เห็น
นั้น  ต้องนำตั๋วเงินยื่นเพื่อให้รับรองภายในหกเดือนนับแต่วันที่ลงในตั๋วเงิน  หรือภายในเวลาช้าเร็ว
กว่านั้นตามแต่ผู้สั่งจ่ายจะได้ระบุไว้
	มาตรา 929 ภายในบังคับบทบัญญัติ มาตรา 927 ผู้ทรงตั๋วแลกเงินมีสิทธิที่จะยื่นตั๋วเงินแก่ผู้จ่ายได้
ในทันใดเพื่อให้รับรอง  ถ้าและเขาไม่รับรองภายในเวลายี่สิบสี่ชั่วโมงไซร้  ผู้ทรงก็มีสิทธิที่จะคัดค้าน
	มาตรา 930 ในการยื่นตั๋วแลกเงินเพื่อให้เขารับรองนั้น ผู้ทรงไม่จำต้องปล่อยตั๋วนั้นให้ไว้ในมือผู้จ่าย
	อนึ่ง ผู้จ่ายจะเรียกให้ยื่นตั๋วแลกเงินอีกเป็นครั้งที่สองในวันรุ่งขึ้นแต่วันที่ยื่นครั้งแรกนั้นก็ได้
ท่านห้ามมิให้คู่กรณีที่มีส่วนได้เสียยกเอาการที่มิได้อนุวรรตน์ตามคำเรียกอันนี้ขึ้นเป็นข้อต่อสู้
เว้นแต่การเรียกนั้นได้ระบุไว้ในคำคัดค้าน
	มาตรา 931 การรับรองนั้นพึงกระทำด้วยเขียนลงไว้ในด้านหน้าแห่งตั๋วแลกเงินเป็นถ้อยคำสำนวนว่า
"รับรองแล้ว" หรือความอย่างอื่นทำนองเช่นเดียวกันนั้น และลงลายมือชื่อของผู้จ่าย อนึ่ง แต่เพียง
ลายมือชื่อของผู้จ่ายลงไว้ในด้านหน้าแห่งตั๋วแลกเงิน  ท่านก็จัดว่าเป็นคำรับรองแล้ว
	มาตรา 932 ตั๋วแลกเงินฉบับใดเขียนสั่งให้ใช้เงินในกำหนดระยะเวลาอย่างใดอย่างหนึ่งนับแต่วันที่ลง
ในตั๋วเงินนั้น แต่หากมิได้ลงวันไว้ก็ดี หรือตั๋วเงินฉบับใดสั่งให้ใช้เงินในกำหนดระยะเวลาอย่างใด
อย่างหนึ่งนับแต่ได้เห็น แต่หากคำรับรองตั๋วนั้นมิได้ลงวันไว้ก็ดีตั๋วแลกเงินเช่นว่ามานี้  ท่านว่าผู้ทรง
จะจดวันออกตั๋ว หรือวันรับรองลงตามที่แท้จริงก็ได้ แล้วพึงให้ใช้เงินตามนั้น
	อนึ่ง ท่านบัญญัติไว้ว่า ในกรณีที่ผู้ทรงทำการโดยสุจริต แต่ลงวันคลาดเคลื่อนไปด้วย
สำคัญผิด  และในกรณีลงวันผิดทุกสถาน หากว่าในภายหลังตั๋วเงินนั้นตกไปยังมือผู้ทรงโดยชอบ
ด้วยกฎหมายแล้ว  ตั๋วเงินจะเสียไปเพราะเหตุนั้นก็หาไม่  ท่านให้คงเป็นตั๋วเงินที่ใช้ได้ และพึงใช้เงิน
กันเสมือนดั่งว่าวันที่ได้จดลงนั้นเป็นวันที่ถูกต้องแท้จริง
	มาตรา 933 ถ้าการรับรองมิได้ลงวัน  ท่านให้ถือเอาวันสุดท้ายแห่งระยะเวลาอันกำหนดไว้เพื่อรับ
รองนั้นเป็นวันรับรอง
	มาตรา 934 ถ้าผู้จ่ายเขียนคำรับรองลงในตั๋วแลกเงินแล้ว  แต่หากกลับขีดฆ่าเสียก่อนตั๋วเงินนั้นหลุด
พ้นไปจากมือตนไซร้  ท่านให้ถือเป็นอันว่าได้บอกปัดไม่รับรอง  แต่ถ้าผู้จ่ายได้แจ้งความเป็นหนังสือ
ไปยังผู้ทรง  หรือคู่สัญญาฝ่ายอื่นซึ่งได้ลงนามในตั๋วเงินว่าตนรับรองตั๋วเงินนั้นก่อนแล้ว  จึ่งมาขีดฆ่า
คำรับรองต่อภายหลังไซร้  ท่านว่าผู้จ่ายก็คงต้องผูกพันอยู่ตามเนื้อความที่ตนได้เขียนรับรองนั้นเอง
	มาตรา 935 อันการรับรองนั้นย่อมมีได้สองสถาน  คือรับรองตลอดไปหรือรับรองเบี่ยงบ่าย
	การรับรองตลอดไป คือยอมตกลงโดยไม่แก้แย้งคำสั่งของผู้สั่งจ่ายแต่อย่างหนึ่งอย่างใดเลย
	ส่วนการรับรองเบี่ยงบ่ายนั้น  กล่าวเป็นเนื้อความทำผลแห่งตั๋วเงินให้แผกไปจากที่เขียนสั่งไว้
	กล่าวโดยเฉพาะก็คือว่า  ถ้าคำรับรองมีเงื่อนไขก็ดี หรือรับรองแต่เพียงบางส่วนก็ดี
ท่านว่าเป็นรับรองเบี่ยงบ่าย
	มาตรา 936 คำรับรองเบี่ยงบ่ายนั้น  ผู้ทรงตั๋วแลกเงินจะบอกปัดเสียก็ได้  และถ้าไม่ได้คำรับรองอันไม่
เบี่ยงบ่าย  จะถือเอาตั๋วเงินนั้นเป็นอันขาดความเชื่อถือรับรองก็ได้
	ถ้าผู้ทรงรับเอาคำรับรองเบี่ยงบ่าย  และผู้สั่งจ่ายหรือผู้สลักหลังมิได้ให้อำนาจแก่ผู้ทรง
โดยแสดงออกชัดหรือโดยปริยายให้รับเอาคำรับรองเบี่ยงบ่ายเช่นนั้นก็ดี หรือไม่ยินยอมด้วยใน
ภายหลังก็ดี ท่านว่าผู้สั่งจ่ายหรือผู้สลักหลังนั้นๆ ย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดตามตั๋วเงินนั้น  แต่
บทบัญญัติทั้งนี้ท่านมิให้ใช้ไปถึงการรับรองแต่บางส่วนซึ่งได้บอกกล่าวก่อนแล้วโดยชอบ
	ถ้าผู้สั่งจ่ายหรือผู้สลักหลังตั๋วเงินรับคำบอกกล่าวการรับรองเบี่ยงบ่ายแล้วไม่โต้แย้งไปยัง
ผู้ทรงภายในเวลาอันสมควร  ท่านให้ถือว่าผู้สั่งจ่ายหรือผู้สลักหลังนั้นเป็นอันได้ยินยอมด้วยกับการ
นั้นแล้ว
	มาตรา 937 ผู้จ่ายได้ทำการรับรองตั๋วแลกเงินแล้วย่อมต้องผูกพันในอันจะจ่ายเงินจำนวนที่รับรอง
ตามเนื้อความแห่งคำรับรองของตน

	ส่วนที่ 3
	อาวัล

	มาตรา 938 ตั๋วแลกเงินจะมีผู้ค้ำประกันรับประกันการใช้เงินทั้งจำนวนหรือแต่บางส่วนก็ได้ ซึ่งท่าน
เรียกว่า "อาวัล"
	อันอาวัลนั้นบุคคลภายนอกคนใดคนหนึ่งจะเป็นผู้รับหรือแม้คู่สัญญาแห่งตั๋วเงินนั้นฝ่าย
ใดฝ่ายหนึ่งจะเป็นผู้รับก็ได้
	มาตรา 939 อันการรับอาวัลย่อมทำให้กันด้วยเขียนลงในตั๋วแลกเงินนั้นเอง หรือที่ใบประจำต่อ
	ในการนี้พึงใช้ถ้อยคำสำนวนว่า "ใช้ได้เป็นอาวัล" หรือสำนวนอื่นใดทำนองเดียวกันนั้น
และลงลายมือชื่อผู้รับอาวัล
	อนึ่ง เพียงแต่ลงลายมือชื่อของผู้รับอาวัลในด้านหน้าแห่งตั๋วเงิน  ท่านก็จัดว่าเป็นคำรับ
อาวัลแล้ว  เว้นแต่ในกรณีที่เป็นลายมือชื่อของผู้จ่าย หรือผู้สั่งจ่าย
	ในคำรับอาวัลต้องระบุว่ารับประกันผู้ใด  หากมิได้ระบุ ท่านให้ถือว่ารับประกันผู้สั่งจ่าย
	มาตรา 940 ผู้รับอาวัลย่อมต้องผูกพันเป็นอย่างเดียวกันกับบุคคลซึ่งตนประกัน
	แม้ถึงว่าความรับผิดใช้เงินอันผู้รับอาวัลได้ประกันอยู่นั้น จะตกเป็นใช้ไม่ได้ด้วยเหตุใดๆ
นอกจากเพราะทำผิดแบบระเบียบ ท่านว่าข้อที่สัญญารับอาวัลนั้นก็ยังคงสมบูรณ์
	เมื่อผู้รับอาวัลได้ใช้เงินไปตามตั๋วแลกเงินแล้ว  ย่อมได้สิทธิในอันจะไล่เบี้ยเอาแก่บุคคล
ซึ่งตนได้ประกันไว้ กับทั้งบุคคลทั้งหลายผู้รับผิดแทนตัวผู้นั้น

	ส่วนที่ 4
	การใช้เงิน

	มาตรา 941 อันตั๋วแลกเงินนั้น  ย่อมจะพึงใช้เงินในวันถึงกำหนด และถึงกำหนดวันใด  ผู้ทรงต้องนำ
ตั๋วเงินไปยื่นเพื่อให้ใช้เงินในวันนั้น
	มาตรา 942 อันจะบังคับให้ผู้ทรงตั๋วแลกเงินรับเงินใช้ก่อนตั๋วเงินถึงกำหนดนั้น  ท่านว่าหาอาจจะทำ
ได้ไม่
	อนึ่ง ผู้จ่ายคนใดใช้เงินไปแต่ก่อนเวลาตั๋วเงินถึงกำหนด  ท่านว่าย่อมทำเช่นนั้นด้วยเสี่ยงเคราะห์
ของตนเอง
	มาตรา 943 อันการถึงกำหนดแห่งตั๋วแลกเงินซึ่งสั่งให้ใช้เงินเมื่อสิ้นระยะเวลาอันใดอันหนึ่งนับแต่วัน
ได้เห็นนั้น  ท่านให้กำหนดนับแต่วันรับรองหรือวันคัดค้าน
	ถ้าไม่มีคำคัดค้าน และคำรับรองมิได้ลงวัน  ท่านให้ถือว่าผู้รับรองได้ให้คำรับรองนั้นใน
วันท้ายแห่งกำหนดเวลาซึ่งจำกัดไว้ตามกฎหมาย หรือตามสัญญาเพื่อการยื่นตั๋วนั้น
	มาตรา 944 อันตั๋วแลกเงินซึ่งให้ใช้เงินเมื่อได้เห็นนั้น  ท่านว่าย่อมจะพึงใช้เงินในวันเมื่อยื่นตั๋ว ทั้งนี้
ต้องยื่นให้ใช้เงินภายในกำหนดเวลาซึ่งบังคับไว้เพื่อการยื่นให้รับรองตั๋วเงินชนิดให้ใช้เงินในเวลาใด
เวลาหนึ่งภายหลังได้เห็นนั้น
	มาตรา 945 การใช้เงินจะเรียกเอาได้ต่อเมื่อเวนตั๋วแลกเงินให้  ผู้ใช้เงินจะให้ผู้ทรงลงลายมือชื่อรับ
เงินในตั๋วเงินนั้นก็ได้
	มาตรา 946 อันตั๋วแลกเงินนั้น  ถ้าเขาจะใช้เงินให้แต่เพียงบางส่วน ท่านว่าผู้ทรงจะบอกปัดเสียไม่
ยอมรับเอาก็ได้
	ถ้าและรับเอาเงินที่เขาใช้แต่เพียงบางส่วน  ผู้ทรงต้องบันทึกข้อความนั้นลงไว้ในตั๋วเงิน
และส่งมอบใบรับให้แก่ผู้ใช้เงิน
	มาตรา 947 ถ้าตั๋วแลกเงินมิได้ยื่นเพื่อให้ใช้เงินในวันถึงกำหนดไซร้ ท่านว่าผู้รับรองจะเปลื้องตนให้
พ้นจากความรับผิดโดยวางจำนวนเงินที่ค้างชำระตามตั๋วนั้นไว้ก็ได้
	มาตรา 948 ถ้าผู้ทรงตั๋วแลกเงินยอมผ่อนเวลาให้แก่ผู้จ่ายไซร้  ท่านว่าผู้ทรงสิ้นสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาแก่
ผู้เป็นคู่สัญญาคนก่อนๆ ซึ่งมิได้ตกลงในการผ่อนเวลานั้น
	มาตรา 949 ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติ มาตรา 1009 บุคคลผู้ใช้เงินในเวลาถึงกำหนดย่อมเป็นอัน
หลุดพ้นจากความรับผิด  เว้นแต่ตนจะได้ทำการฉ้อฉลหรือมีความประมาท เลินเล่ออย่างร้ายแรง
อนึ่งบุคคลซึ่งกล่าวนี้จำต้องพิสูจน์ให้เห็นจริงว่าได้มีการสลักหลังติดต่อกันเรียบร้อยไม่ขาดสาย
แต่ไม่จำต้องพิสูจน์ลายมือชื่อของเหล่าผู้สลักหลัง

	ส่วนที่ 5
	การสอดเข้าแก้หน้า

	มาตรา 950 ผู้สั่งจ่ายหรือผู้สลักหลังจะระบุบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดไว้ก็ได้ว่าเป็นผู้จะรับรอง หรือใช้เงินยาม
ประสงค์ ณ สถานที่ใช้เงิน
	ภายในเงื่อนบังคับดั่งจะกล่าวต่อไปข้างหน้า บุคคลผู้หนึ่งผู้ใดจะรับรองหรือใช้เงินตาม
ตั๋วแลกเงินในฐานเป็นผู้สอดเข้าแก้หน้าบุคคลใดผู้ลงลายมือชื่อในตั๋วนั้นก็ได้
	ผู้สอดเข้าแก้หน้านั้นจะเป็นบุคคลภายนอกก็ได้ แม้จะเป็นผู้จ่ายหรือบุคคลซึ่งต้องรับผิด
โดยตั๋วเงินนั้นอยู่แล้วก็ได้  ห้ามแต่ผู้รับรองเท่านั้น
	ผู้สอดเข้าแก้หน้าจำต้องให้คำบอกกล่าวโดยไม่ชักช้าเพื่อให้คู่สัญญาฝ่ายซึ่งตนเข้าแก้หน้า
นั้นทราบการที่ตนเข้าแก้หน้า

	(1)  การรับรองเพื่อแก้หน้า

	มาตรา 951 การรับรองด้วยสอดเข้าแก้หน้า  ย่อมมีได้ในบรรดากรณีซึ่งผู้ทรงมีสิทธิไล่เบี้ยได้ก่อนถึง
กำหนดตามตั๋วเงินอันเป็นตั๋วสามารถจะรับรองได้
	การรับรองด้วยสอดเข้าแก้หน้านั้น ผู้ทรงจะบอกปัดเสียก็ได้  แม้ถึงว่าบุคคลผู้ซึ่งบ่งไว้ว่า
จะเป็นผู้รับรอง  หรือใช้เงินยามประสงค์นั้น จะเป็นผู้เสนอเข้ารับรองก็บอกปัดได้
	ถ้าผู้ทรงยอมให้เข้ารับรองแล้ว  ผู้ทรงย่อมเสียสิทธิไล่เบี้ยก่อนถึงกำหนดเอาแก่คู่สัญญา
ทั้งหลายซึ่งต้องรับผิดต่อตน
	มาตรา 952 อันการรับรองด้วยสอดเข้าแก้หน้านั้น  ย่อมทำด้วยเขียนระบุความลงบนตั๋วแลกเงิน
และลงลายมือชื่อของผู้สอดเข้าแก้หน้าเป็นสำคัญ อนึ่ง ต้องระบุลงไว้ว่าการรับรองนั้นทำให้เพื่อผู้ใด
ถ้ามิได้ระบุไว้เช่นนั้น ท่านให้ถือว่าทำให้เพื่อผู้สั่งจ่าย
	มาตรา 953 ผู้รับรองด้วยสอดเข้าแก้หน้าย่อมต้องรับผิดต่อผู้ทรงตั๋วเงินนั้น และรับผิดต่อผู้สลักหลัง
ทั้งหลายภายหลังคู่สัญญาฝ่ายซึ่งตนเข้าแก้หน้าอย่างเดียวกันกับที่คู่สัญญาฝ่ายนั้นต้องรับผิดอยู่เอง
	(2)  การใช้เงินเพื่อแก้หน้า
	มาตรา 954 อันการใช้เงินเพื่อแก้หน้าย่อมมีได้ในบรรดากรณีซึ่งผู้ทรงมีสิทธิไล่เบี้ยเมื่อตั๋วเงินถึง
กำหนดหรือก่อนถึงกำหนด
	การใช้เงินนั้น ท่านว่าอย่างช้าที่สุดต้องทำในวันรุ่งขึ้นแต่วันท้ายแห่งกำหนดเวลาซึ่งจำกัด
อนุญาตไว้ให้ทำคำคัดค้านการไม่ใช้เงิน
	มาตรา 955 ถ้าตั๋วแลกเงินได้รับรองเพื่อแก้หน้าแล้วก็ดี หรือได้มีตัวบุคคลระบุว่าเป็นผู้จะใช้เงิน
ยามประสงค์แล้วก็ดี ผู้ทรงต้องยื่นตั๋วเงินนั้นต่อบุคคลนั้นๆ ณ สถานที่ใช้เงินและถ้าจำเป็นก็ต้องจัด
การทำคำคัดค้านการไม่ใช้เงินอย่างช้าที่สุดในวันรุ่งขึ้นแต่วันท้ายแห่งกำหนดเวลาอันจำกัดไว้
เพื่อทำคำคัดค้าน
	ถ้าไม่คัดค้านภายในกำหนดเวลานั้น ท่านว่าคู่สัญญาฝ่ายที่ได้ระบุตัวผู้ใช้เงินยาม
ประสงค์  หรือคู่สัญญาฝ่ายซึ่งได้มีผู้รับรองตั๋วเงินให้แล้วนั้น  กับทั้งบรรดาผู้สลักหลังในภายหลัง
ย่อมเป็นอันหลุดพ้นจากความรับผิด
	มาตรา 956 การใช้เงินเพื่อแก้หน้านั้น  ใช้เพื่อคู่สัญญาฝ่ายใดต้องใช้จงเต็มจำนวนอันคู่สัญญา
ฝ่ายนั้นจะต้องใช้  เว้นแต่ค่าชักส่วนลดดั่งบัญญัติไว้ใน มาตรา 968 (4)
	ผู้ทรงคนใดบอกปัดไม่ยอมรับเงินอันเขาใช้ให้  ท่านว่าผู้ทรงคนนั้นย่อมเสียสิทธิในอันจะ
ไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลทั้งหลายเหล่านั้น ซึ่งพอที่จะได้หลุดพ้นจากความรับผิดเพราะการใช้เงินนั้น
	มาตรา 957 การใช้เงินเพื่อแก้หน้าต้องทำให้เป็นหลักฐานด้วยใบรับเขียนลงในตั๋วแลกเงิน  
ระบุความว่าได้ใช้เงินเพื่อบุคคลผู้ใด  ถ้ามิได้ระบุตัวไว้ดั่งนั้นท่านให้ถือว่าการใช้เงินนั้นได้ทำไปเพื่อผู้สั่งจ่าย
	ตั๋วแลกเงินกับทั้งคำคัดค้านหากว่าได้ทำคัดค้าน  ต้องส่งให้แก่บุคคลผู้ใช้เงินเพื่อแก้หน้า
	มาตรา 958 บุคคลผู้ใช้เงินเพื่อแก้หน้าย่อมรับช่วงสิทธิทั้งปวงของผู้ทรงอันมีต่อคู่สัญญาฝ่ายซึ่งตน
ได้ใช้เงินแทนไป และต่อคู่สัญญาทั้งหลายผู้ต้องรับผิดต่อคู่สัญญาฝ่ายนั้นแต่หาอาจจะสลักหลัง
ตั๋วแลกเงินนั้นอีกต่อไปได้ไม่
	อนึ่ง บรรดาผู้ซึ่งสลักหลังภายหลังคู่สัญญาฝ่ายซึ่งเขาได้ใช้เงินแทนไปนั้นย่อมหลุดพ้น
จากความรับผิด
	ในกรณีแข่งกันเข้าใช้เงินเพื่อแก้หน้า  ท่านว่าการใช้เงินรายใดจะให้ผลปลดหนี้มากราย
ที่สุด พึงนิยมเอารายนั้นเป็นดียิ่ง
	ถ้าไม่ดำเนินตามวิธีดั่งกล่าวนี้  ท่านว่าผู้ใช้เงินทั้งที่รู้เช่นนั้นย่อมเสียสิทธิในอันที่จะไล่เบี้ย
เอาแก่บุคคลทั้งหลาย ซึ่งพอที่จะได้หลุดพ้นจากความรับผิด

	ส่วนที่ 6
	สิทธิไล่เบี้ยเพราะเขาไม่รับรองหรือไม่ใช้เงิน

	มาตรา 959 ผู้ทรงตั๋วแลกเงินจะใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่บรรดาผู้สลักหลังผู้สั่งจ่าย และบุคคลอื่นๆ ซึ่ง
ต้องรับผิดตามตั๋วเงินนั้นก็ได้  คือ
	(ก)  ไล่เบี้ยได้เมื่อตั๋วเงินถึงกำหนด  ในกรณีไม่ใช้เงิน
	(ข)  ไล่เบี้ยได้แม้ทั้งตั๋วเงินยังไม่ถึงกำหนด  ในกรณีดั่งจะกล่าวต่อไปนี้  คือ
	(1) ถ้าเขาบอกปัดไม่รับรองตั๋วเงิน
	(2) ถ้าผู้จ่ายหากจะได้รับรองหรือไม่ก็ตาม ตกเป็นคนล้มละลาย หรือได้งดเว้น
การใช้หนี้ แม้การงดเว้นใช้หนี้นั้นจะมิได้มีคำพิพากษาเป็นหลักฐานก็ตาม หรือถ้าผู้จ่ายถูกยึดทรัพย์
และการยึดทรัพย์นั้นไร้ผล
	(3) ถ้าผู้สั่งจ่ายตั๋วเงินชนิดไม่จำเป็นต้องให้ผู้ใดรับรองนั้น  ตกเป็นคนล้มละลาย
	มาตรา 960 การที่ตั๋วแลกเงินขาดรับรองหรือขาดใช้เงินนั้น  ต้องทำให้เป็นหลักฐานตามแบบระเบียบ
ด้วยเอกสารฉบับหนึ่ง เรียกว่าคำคัดค้าน
	คำคัดค้านการไม่ใช้เงินต้องทำในวัน ซึ่งจะพึงใช้เงินตามตั๋วนั้น  หรือวันใดวันหนึ่งภายใน
สามวันต่อแต่นั้นไป
	คำคัดค้านการไม่รับรองต้องทำภายในจำกัดเวลาซึ่งกำหนดไว้เพื่อการยื่นตั๋วเงินให้เขา
รับรอง  หรือภายในสามวันต่อแต่นั้นไป
	เมื่อมีคำคัดค้านการไม่รับรองขึ้นแล้ว  ก็เป็นอันไม่ต้องยื่นเพื่อให้ใช้เงิน และไม่ต้องทำ
คำคัดค้านการไม่ใช้เงิน
	ในกรณีทั้งหลายซึ่งกล่าวไว้ใน มาตรา 959 (ข) (2) นั้น  ท่านว่าผู้ทรงยังหาอาจจะใช้
สิทธิไล่เบี้ยได้ไม่  จนกว่าจะได้ยื่นตั๋วเงินให้ผู้จ่ายใช้เงินและได้ทำคำคัดค้านขึ้นแล้ว
	ในกรณีทั้งหลายดั่งกล่าวไว้ใน มาตรา 959 ข) (3) นั้น  ท่านว่าถ้าเอาคำพิพากษาซึ่งสั่ง
ให้ผู้สั่งจ่ายเป็นคนล้มละลายออกแสดง ก็เป็นการเพียงพอที่จะทำให้ผู้ทรงสามารถใช้สิทธิไล่เบี้ยได้
	มาตรา 961 คำคัดค้านนั้นให้นายอำเภอ  หรือผู้ทำการแทนนายอำเภอหรือทนายความผู้ได้รับ
อนุญาตเพื่อการนี้เป็นผู้ทำ
	เสนาบดีกระทรวงยุติธรรมมีอำนาจออกกฎข้อบังคับเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามบท
บัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้อันว่าด้วยการออกใบอนุญาต  และการทำคำคัดค้าน รวมทั้ง
กำหนดอัตราค่าฤชาธรรมเนียมอันเกี่ยวกับการนั้น
	มาตรา 962 ในคำคัดค้านนั้นนอกจากชื่อ ตำแหน่ง  และลายมือชื่อของผู้ทำ ต้องมีสำเนาตั๋วเงินกับ
รายการสลักหลังทั้งหมดตรงถ้อยตรงคำกับระบุความดั่งจะกล่าวต่อไปนี้ คือ
	(1)  ชื่อ หรือยี่ห้อของบุคคลผู้คัดค้านและผู้ถูกคัดค้าน
	(2)  มูล หรือเหตุที่ต้องทำคำคัดค้านตั๋วเงิน การทวงถามและคำตอบถ้ามี หรือข้อที่ว่า
หาตัวผู้จ่ายหรือผู้รับรองไม่พบ
	(3)  ถ้ามีการรับรอง หรือใช้เงินเพื่อแก้หน้า ให้แถลงลักษณะแห่งการเข้าแก้หน้าทั้งชื่อ
หรือยี่ห้อของผู้รับรองหรือผู้ใช้เงินเพื่อแก้หน้า และชื่อบุคคลซึ่งเขาเข้าแก้หน้านั้นด้วย
	(4) สถานที่และวันทำคำคัดค้าน
	ให้ผู้ทำคำคัดค้านส่งมอบคำคัดค้านแก่ผู้ร้องขอให้ทำ  และให้ผู้ทำคำคัดค้านรีบส่งคำ
บอกกล่าวการคัดค้านนั้นไปยังผู้ถูกคัดค้าน ถ้าทราบภูมิลำเนาก็ให้ส่งโดยจดหมายลงทะเบียน
ไปรษณีย์ หรือส่งมอบไว้ ณ ภูมิลำเนาของผู้นั้นก็ได้  ถ้าไม่ทราบภูมิลำเนาก็ให้ปิดสำเนาคำคัดค้าน
ไว้ยังที่ซึ่งเห็นได้ง่าย ณ ที่ว่าการอำเภอประจำท้องที่อันผู้ถูกคัดค้านมีถิ่นที่อยู่ครั้งหลังที่สุด
	มาตรา 963 ผู้ทรงต้องให้คำบอกกล่าวการที่เขาไม่รับรองตั๋วแลกเงินหรือไม่ใช้เงินนั้นไปยังผู้สลักหลัง
ถัดตนขึ้นไป  กับทั้งผู้สั่งจ่ายด้วยภายในเวลาสี่วันต่อจากวันคัดค้าน หรือต่อจากวันยื่นตั๋ว ในกรณี
ที่มีข้อกำหนดว่า "ไม่จำต้องมีคำคัดค้าน"
	ผู้สลักหลังทุกๆ คนต้องให้คำบอกกล่าวไปยังผู้สลักหลังถัดตนขึ้นไปภายในสองวัน ให้
ทราบคำบอกกล่าวอันตนได้รับจดแจ้งให้ทราบชื่อและสำนักของผู้ที่ได้ให้คำบอกกล่าวมาก่อนๆ
นั้นด้วย  ทำเช่นนี้ติดต่อกันไปโดยลำดับจนกระทั่งถึงผู้สั่งจ่าย อนึ่ง จำกัดเวลาซึ่งกล่าวมานั้น
ท่านนับแต่เมื่อคนหนึ่งๆ ได้รับคำบอกกล่าวแต่คนก่อน
	ถ้าผู้สลักหลังคนหนึ่งคนใดมิได้ระบุสำนักของตนไว้ก็ดี หรือได้ระบุแต่อ่านไม่ได้ความก็ดี
ท่านว่าสุดแต่คำบอกกล่าวได้ส่งไปยังผู้สลักหลังคนก่อนก็เป็นอันพอแล้ว
	บุคคลผู้จะต้องให้คำบอกกล่าว  จะทำคำบอกกล่าวเป็นรูปอย่างใดก็ได้ทั้งสิ้น แม้เพียง
แต่ด้วยส่งตั๋วแลกเงินคืนก็ใช้ได้ อนึ่ง ต้องพิสูจน์ได้ว่าได้ส่งคำบอกกล่าวภายในเวลากำหนด
	ถ้าส่งคำบอกกล่าวเป็นหนังสือจดทะเบียนไปรษณีย์  หากว่าหนังสือนั้นได้ส่งไปรษณีย์
ภายในเวลากำหนดดั่งกล่าวมานั้นไซร้ ท่านให้ถือว่าคำบอกกล่าวเป็นอันได้ส่งภายในจำกัดเวลา
บังคับแล้ว
	บุคคลซึ่งมิได้ให้คำบอกกล่าวภายในจำกัดเวลาดั่งได้ว่ามานั้นหาเสียสิทธิไล่เบี้ยไม่  แต่
จะต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ อันเกิดแต่ความประมาทเลินเล่อของตน  แต่ท่านมิให้
คิดค่าสินไหมทดแทนเกินกว่าจำนวนในตั๋วแลกเงิน
	มาตรา 964 ด้วยข้อกำหนดเขียนลงไว้ว่า "ไม่จำต้องมีคำคัดค้าน" ก็ดี  "ไม่มีคัดค้าน" ก็ดี หรือสำนวน
อื่นใดทำนองนั้นก็ดี   ผู้สั่งจ่ายหรือผู้สลักหลังจะยอมปลดเปลื้องผู้ทรงจากการทำคำคัดค้านการ
ไม่รับรอง หรือการไม่ใช้เงินก็ได้ เพื่อตนจะได้ใช้สิทธิไล่เบี้ย
	ข้อกำหนดอันนี้  ย่อมไม่ปลดผู้ทรงให้พ้นจากหน้าที่นำตั๋วเงินยื่นภายในเวลากำหนด
หรือจากหน้าที่ให้คำบอกกล่าวตั๋วเงินขาดความเชื่อถือแก่ผู้สลักหลังคนก่อนหรือผู้สั่งจ่าย อนึ่ง
หน้าที่นำสืบว่าไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามกำหนดเวลาจำกัดนั้น  ย่อมตกอยู่แก่บุคคลผู้แสวงจะใช้
ความข้อนั้นเป็นข้อต่อสู้ผู้ทรงตั๋วแลกเงิน
	ข้อกำหนดอันนี้ ถ้าผู้สั่งจ่ายเป็นผู้เขียนลงไปแล้ว  ย่อมเป็นผลตลอดถึงคู่สัญญาทั้งปวง
บรรดาที่ได้ลงลายมือชื่อในตั๋วเงินนั้น  ถ้าและทั้งมีข้อกำหนดดั่งนี้แล้ว  ผู้ทรงยังขืนทำคำคัดค้านไซร้
ท่านว่าผู้ทรงต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเพื่อการนั้น  หากว่าข้อกำหนดนั้น ผู้สลักหลังเป็นผู้เขียนลง
และถ้ามีคำคัดค้านทำขึ้นไซร้  ท่านว่าค่าใช้จ่ายในการคัดค้านนั้นอาจจะเรียกเอาใช้ได้จากคู่สัญญา
อื่นๆ บรรดาที่ได้ลงลายมือชื่อในตั๋วแลกเงินนั้น
	มาตรา 965 ในกรณีตั๋วเงินภายในประเทศ  ถ้าผู้จ่ายบันทึกลงไว้ในตั๋วแลกเงินเป็นข้อความบอกปัด
ไม่รับรองหรือไม่ยอมใช้เงิน  ทั้งลงวันที่บอกปัดลงลายมือชื่อไว้ด้วยแล้ว ท่านว่าคำคัดค้านนั้นก็
เป็นอันไม่จำเป็นต้องทำ และผู้ทรงต้องส่งคำบอกกล่าวขาดความเชื่อถือไปยังบุคคลซึ่งตนจำนง
จะไล่เบี้ยภายในสี่วันต่อจากวันเขาบอกปัดไม่รับรองนั้น
	มาตรา 966 คำบอกกล่าวขาดความเชื่อถือในกรณีไม่รับรองหรือไม่ใช้เงินนั้น ต้องมีรายการ คือวันที่
ลงในตั๋วแลกเงิน ชื่อหรือยี่ห้อของผู้สั่งจ่ายและของผู้จ่าย จำนวนเงินในตั๋วเงิน วันถึงกำหนดใช้เงิน
ชื่อหรือยี่ห้อและสำนักของผู้ทรงตั๋วเงิน  วันที่คัดค้านหรือวันที่บอกปัดไม่รับรองหรือไม่ใช้เงิน  กับ
ข้อความว่าเขาไม่รับรองหรือไม่ใช้เงินตามตั๋วเงินนั้น
	มาตรา 967 เรื่องตั๋วแลกเงินนั้น บรรดาบุคคลผู้สั่งจ่ายก็ดี รับรองก็ดีสลักหลังก็ดี หรือรับประกันด้วย
อาวัลก็ดี  ย่อมต้องร่วมกันรับผิดต่อผู้ทรง
	ผู้ทรงย่อมมีสิทธิว่ากล่าวเอาความแก่บรรดาบุคคลเหล่านี้เรียงตัว หรือรวมกันก็ได้ โดยมิ
พักต้องดำเนินตามลำดับที่คนเหล่านั้นมาต้องผูกพัน
	สิทธิเช่นเดียวกันนี้  ย่อมมีแก่บุคคลทุกคนซึ่งได้ลงลายมือชื่อในตั๋วเงินและเข้าถือเอา
ตั๋วเงินนั้น  ในการที่จะใช้บังคับเอาแก่ผู้ที่มีความผูกพันอยู่แล้วก่อนตน  การว่ากล่าวเอาความแก่
คู่สัญญาคนหนึ่ง  ซึ่งต้องรับผิดย่อมไม่ตัดหนทางที่จะว่ากล่าวเอาความแก่คู่สัญญาคนอื่นๆ
แม้ทั้งจะเป็นฝ่ายอยู่ในลำดับภายหลังบุคคลที่ได้ว่ากล่าวเอาความมาก่อน
	มาตรา 968 ผู้ทรงจะเรียกร้องเอาเงินใช้จากบุคคลซึ่งตนใช้สิทธิไล่เบี้ยนั้นก็ได้ คือ
	(1)  จำนวนเงินในตั๋วแลกเงินซึ่งเขาไม่รับรองหรือไม่ใช้กับทั้งดอกเบี้ยด้วย หากว่ามีข้อ
กำหนดไว้ว่าให้คิดดอกเบี้ย
	(2)  ดอกเบี้ยอัตราร้อยละห้าต่อปีนับแต่วันถึงกำหนด
	(3)  ค่าใช้จ่ายในการคัดค้าน และในการส่งคำบอกกล่าวของผู้ทรงไปยังผู้สลักหลังถัด
จากตนขึ้นไปและผู้สั่งจ่าย กับทั้งค่าใช้จ่ายอื่นๆ
	(4) ค่าชักส่วนลดซึ่งถ้าไม่มีข้อตกลงกันไว้ ท่านให้คิดร้อยละ 1/6  ในต้นเงินอันจะพึงใช้
ตามตั๋วเงิน และไม่ว่ากรณีจะเป็นอย่างไร ท่านมิให้คิดสูงกว่าอัตรานี้
	ถ้าใช้สิทธิไล่เบี้ยก่อนถึงกำหนด  ท่านให้หักลดจำนวนเงินในตั๋วเงินลงให้ร้อยละห้า
	มาตรา 969 คู่สัญญาฝ่ายซึ่งเข้าถือเอาและใช้เงินตามตั๋วแลกเงินอาจจะเรียกเอาเงินใช้จากคู่สัญญา
ทั้งหลายซึ่งต้องรับผิดต่อตนได้ คือ
	(1)  เงินเต็มจำนวนซึ่งตนได้ใช้ไป
	(2)  ดอกเบี้ยในจำนวนเงินนั้น คิดอัตราร้อยละห้าต่อปีนับแต่วันที่ได้ใช้เงินไป
	(3)  ค่าใช้จ่ายต่างๆ อันตนต้องออกไป
	(4)  ค่าชักส่วนลดจากต้นเงินจำนวนในตั๋วแลกเงินตามที่กำหนดไว้ใน มาตรา 968
อนุมาตรา (4)
	มาตรา 970 คู่สัญญาทุกฝ่ายซึ่งต้องรับผิดและถูกไล่เบี้ย หรืออยู่ในฐานะจะถูกไล่เบี้ยได้นั้น อาจจะ
ใช้เงินแล้วเรียกให้เขาสละตั๋วเงินให้แก่ตนได้  รวมทั้งคำคัดค้านและบัญชีรับเงินด้วย
	ผู้สลักหลังทุกคนซึ่งเข้าถือและใช้เงินตามตั๋วแลกเงินแล้วจะขีดฆ่าคำสลักหลังของตนเอง
และของเหล่าผู้สลักหลังภายหลังตนนั้นเสียก็ได้
	มาตรา 971 ผู้สั่งจ่ายก็ดี ผู้รับรองก็ดี ผู้สลักหลังคนก่อนก็ดี  ซึ่งเขาสลักหลังหรือโอนตั๋วแลกเงินให้อีก
ทอดหนึ่งนั้น  หามีสิทธิจะไล่เบี้ยเอาแก่คู่สัญญาฝ่ายซึ่งตนย่อมต้องรับผิดต่อเขาอยู่ก่อนแล้วตามตั๋วเงินนั้นได้ไม่
	มาตรา 972 ในกรณีใช้สิทธิไล่เบี้ยภายหลังการรับรองแต่บางส่วน  ท่านว่าคู่สัญญาฝ่ายซึ่งใช้เงินอัน
เป็นจำนวนเขาไม่รับรองนั้น อาจจะเรียกให้จดระบุความที่ใช้เงินนี้ลงไว้ในตั๋วเงิน  และเรียกให้ทำ
ใบรับให้แก่ตนได้  อนึ่ง ผู้ทรงตั๋วเงินต้องให้สำเนาตั๋วเงินอันรับรองว่าถูกต้องแก่คู่สัญญาฝ่ายนั้น
พร้อมทั้งคำคัดค้านด้วย เพื่อให้เขาสามารถใช้สิทธิไล่เบี้ยในภายหลังได้สืบไป
	มาตรา 973 เมื่อกำหนดเวลาจำกัดซึ่งจะกล่าวต่อไปนี้ได้ล่วงพ้นไปแล้ว คือ
	(1)  กำหนดเวลาสำหรับยื่นตั๋วแลกเงินชนิดให้ใช้เงินเมื่อได้เห็น หรือในระยะเวลาอย่างใด
อย่างหนึ่งภายหลังได้เห็น
	(2)  กำหนดเวลาสำหรับทำคำคัดค้านการไม่รับรอง หรือการไม่ใช้เงิน
	(3)  กำหนดเวลาสำหรับยื่นตั๋วเพื่อให้ใช้เงิน ในกรณีที่มีข้อกำหนดว่า "ไม่จำต้องมีคำคัดค้าน"
	ท่านว่าผู้ทรงย่อมสิ้นสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาแก่เหล่าผู้สลักหลัง  ผู้สั่งจ่าย  และคู่สัญญาอื่นๆ
ผู้ต้องรับผิด  เว้นแต่ผู้รับรอง
	อนึ่ง ถ้าไม่ยื่นตั๋วแลกเงินเพื่อให้เขารับรองภายในเวลาจำกัดดั่งผู้สั่งจ่ายได้กำหนดไว้
ท่านว่าผู้ทรงย่อมเสียสิทธิที่จะไล่เบี้ยทั้งเพื่อการที่เขาไม่ใช้เงิน และเพื่อการที่เขาไม่รับรอง เว้นแต่
จะปรากฏจากข้อกำหนดว่า  ผู้สั่งจ่ายหมายเพียงแต่จะปลดตนเองให้พ้นจากประกันการรับรอง
	ถ้าข้อกำหนดจำกัดเวลายื่นตั๋วแลกเงินนั้นมีอยู่ที่คำสลักหลัง ท่านว่าเฉพาะแต่ผู้สลักหลัง
เท่านั้นจะอาจเอาประโยชน์ในข้อกำหนดนั้นได้
	มาตรา 974 การยื่นตั๋วแลกเงินก็ดี การทำคำคัดค้านก็ดี  ถ้ามีเหตุนำเป็นอันมิอาจก้าวล่วงเสียได้มา
ขัดขวางมิให้ทำได้ภายในกำหนดเวลาจำกัดสำหรับการนั้นไซร้  ท่านให้ยืดกำหนดเวลาออกไปอีกได้
	เหตุจำเป็นอันมิอาจก้าวล่วงเสียได้ดั่งว่ามานั้น ผู้ทรงต้องบอกกล่าวแก่ผู้สลักหลังคนถัด
ตนขึ้นไปโดยไม่ชักช้า และคำบอกกล่าวนั้นต้องเขียนระบุลงในตั๋วเงิน หรือใบประจำต่อ  ต้องลงวัน
และลงลายมือชื่อของผู้ทรง  การอื่นๆ นอกจากที่กล่าวนี้ ท่านให้บังคับตามบทบัญญัติ มาตรา 963
	เมื่อเหตุจำเป็นอันมิอาจก้าวล่วงเสียได้นั้นสุดสิ้นลงแล้ว  ผู้ทรงต้องยื่นตั๋วเงินให้เขารับรอง
หรือใช้เงินโดยไม่ชักช้า  และถ้าจำเป็นก็ทำคำคัดค้านขึ้น
	ถ้าเหตุจำเป็นอันมิอาจก้าวล่วงเสียได้นั้น  ยังคงมีอยู่ต่อไปจนเป็นเวลากว่าสามสิบวัน
ภายหลังตั๋วเงินถึงกำหนดไซร้  ท่านว่าจะใช้สิทธิไล่เบี้ยก็ได้ และถ้าเช่นนั้นการยื่นตั๋วเงินก็ดี การทำ
คำคัดค้านก็ดี  เป็นอันไม่จำเป็นต้องทำ
	ในส่วนตั๋วเงินชนิดที่ให้ใช้เงินเมื่อได้เห็น  หรือให้ใช้เงินในระยะเวลาอย่างหนึ่งอย่างใด
ภายหลังได้เห็นนั้น  กำหนดสามสิบวันเช่นว่ามานี้ ท่านให้นับแต่วันที่ผู้ทรงได้ให้คำบอกกล่าว
เหตุจำเป็นอันมิอาจก้าวล่วงเสียได้นั้นแก่ผู้สลักหลังถัดตนขึ้นไป และถึงแม้ว่าจะเป็นการก่อนล่วง
กำหนดเวลายื่นตั๋วเงิน  ก็ให้นับเช่นนั้น

	ส่วนที่ 7
	ตั๋วแลกเงินเป็นสำรับ

	มาตรา 975 อันตั๋วแลกเงินนั้น นอกจากชนิดที่สั่งจ่ายแก่ผู้ถือแล้วจะออกไปเป็นคู่ฉีกความต้องกัน
สองฉบับหรือกว่านั้นก็อาจจะออกได้
	คู่ฉีกเหล่านี้ต้องมีหมายลำดับลงไว้ในตัวตราสารนั้นเอง มิฉะนั้นคู่ฉีกแต่ละฉบับย่อมใช้ได้
เป็นตั๋วแลกเงินฉบับหนึ่งๆ แยกเป็นตั๋วเงินต่างฉบับกัน
	บุคคลทุกคนซึ่งเป็นผู้ทรงตั๋วเงินอันมิได้ระบุว่าได้ออกเป็นตั๋วเดี่ยวนั้นจะเรียกให้ส่งมอบ
คู่ฉีกสองฉบับหรือกว่านั้นแก่ตนก็ได้ โดยยอมให้คิดค่าใช้จ่ายเอาแก่ตน  ในการนี้ผู้ทรงต้องว่ากล่าว
ไปยังผู้สลักหลังคนถัดตนขึ้นไป และผู้สลักหลังคนนั้นก็จำต้องช่วยผู้ทรงว่ากล่าวไปยังผู้ที่สลักหลัง
ให้แก่ตนต่อไปอีกสืบเนื่องกันไปเช่นนี้ตลอดสายจนกระทั่งถึงผู้สั่งจ่าย  อนึ่ง ผู้สลักหลังทั้งหลายจำ
ต้องเขียนคำสลักหลังของตนเป็นความเดียวกันลงในฉบับคู่ฉีกใหม่แห่งตั๋วสำรับนั้นอีกด้วย
	มาตรา 976 ถ้าผู้ทรงตั๋วแลกเงินสำรับหนึ่งสลักหลังคู่ฉีกสองฉบับหรือกว่านั้นให้แก่บุคคลต่างคนกัน
ท่านว่าผู้ทรงย่อมต้องรับผิดตามคู่ฉีกเช่นว่านั้นทุกๆ ฉบับ และผู้สลักหลังภายหลังผู้ทรงทุกๆ คน
ก็ต้องรับผิดตามคู่ฉีกอันตนเองได้สลักลงไปนั้นเสมือนดั่งว่าคู่ฉีกที่ว่านั้นแยกเป็นตั๋วเงินต่างฉบับกัน
	มาตรา 977 ถ้าคู่ฉีกสองฉบับหรือกว่านั้นในสำรับหนึ่งได้เปลี่ยนมือไปยังผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย
ต่างคนกันไซร้  ในระหว่างผู้ทรงเหล่านั้นด้วยกัน คนใดได้ไปเป็นสิทธิก่อน ท่านให้ถือว่าคนนั้นเป็น
เจ้าของอันแท้จริงแห่งตั๋วเงินนั้น  แต่ความใดๆ ในบทมาตรานี้ไม่กระทบกระทั่งถึงสิทธิของบุคคล
ผู้ทำการโดยชอบด้วยกฎหมายรับรองหรือใช้เงินไปตามคู่ฉีกฉบับซึ่งเขายื่นแก่ตนก่อน
	มาตรา 978 คำรับรองนั้นจะเขียนลงในคู่ฉีกฉบับใดก็ได้  และจะต้องเขียนลงในคู่ฉีกแต่เพียงฉบับเดียว
เท่านั้น
	ถ้าผู้จ่ายรับรองลงไปกว่าฉบับหนึ่ง และคู่ฉีกซึ่งรับรองเช่นนั้นตกไปถึงมือผู้ทรงโดยชอบ
ด้วยกฎหมายต่างคนกันไซร้ ท่านว่าผู้จ่ายจะต้องรับผิดตามคู่ฉีกนั้นๆ ทุกฉบับ  เสมือนดั่งว่าแยก
เป็นตั๋วเงินต่างฉบับกัน
	มาตรา 979 ถ้าผู้รับรองตั๋วเงินซึ่งออกเป็นสำรับใช้เงินไปโดยมิได้เรียกให้ส่งมอบคู่ฉีกฉบับซึ่งมีคำรับ
รองของตนนั้นให้แก่ตน และในเวลาตั๋วเงินถึงกำหนด คู่ฉีกฉบับนั้นไปตกอยู่ในมือผู้ทรงโดยชอบ
ด้วยกฎหมายคนใดคนหนึ่งไซร้ ท่านว่าผู้รับรองจะต้องรับผิดต่อผู้ทรงคู่ฉีกฉบับนั้น
	มาตรา 980 ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติทั้งหลายซึ่งกล่าวมาก่อนนั้น ถ้าคู่ฉีกฉบับใดแห่งตั๋วเงินออก
เป็นสำรับได้หลุดพ้นไปด้วยการใช้เงิน หรือประการอื่นฉบับหนึ่งแล้ว ท่านว่าตั๋วเงินทั้งสำรับก็ย่อม
หลุดพ้นไปตามกัน
	มาตรา 981 คู่สัญญาซึ่งส่งคู่ฉีกฉบับหนึ่งไปให้เขารับรองต้องเขียนแถลงลงในคู่ฉีกฉบับอื่นว่าคู่ฉีก
ฉบับโน้นอยู่ในมือบุคคลชื่อไร ส่วนบุคคลคนนั้นก็จำต้องสละตั๋วให้แก่ผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย
แห่งคู่ฉีกฉบับอื่นนั้น
	ถ้าบุคคลคนนั้นบอกปัดไม่ยอมให้ ท่านว่าผู้ทรงยังจะใช้สิทธิไล่เบี้ยไม่ได้จนกว่าจะได้ทำ
คัดค้านระบุความดั่งต่อไปนี้ คือ
	(1)  ว่าคู่ฉีกฉบับซึ่งได้ส่งไปเพื่อรับรองนั้น เขาไม่สละให้แก่ตนเมื่อทวงถาม
	(2) ว่าไม่สามารถจะให้เขารับรอง หรือใช้เงินด้วยคู่ฉีกฉบับอื่นได้

	หมวด 3
	ตั๋วสัญญาใช้เงิน

	มาตรา 982 อันว่าตั๋วสัญญาใช้เงินนั้น  คือหนังสือตราสารซึ่งบุคคลคนหนึ่ง  เรียกว่าผู้ออกตั๋ว ให้คำมั่น
สัญญาว่าจะใช้เงินจำนวนหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง หรือใช้ให้ตามคำสั่งของบุคคลอีกคนหนึ่ง
เรียกว่าผู้รับเงิน
	มาตรา 983 ตั๋วสัญญาใช้เงินนั้น  ต้องมีรายการดั่งจะกล่าวต่อไปนี้ คือ
	(1)  คำบอกชื่อว่าเป็นตั๋วสัญญาใช้เงิน
	(2)  คำมั่นสัญญาอันปราศจากเงื่อนไขว่าจะใช้เงินเป็นจำนวนแน่นอน
	(3)  วันถึงกำหนดใช้เงิน
	(4)  สถานที่ใช้เงิน
	(5)  ชื่อ หรือยี่ห้อของผู้รับเงิน
	(6)  วันและสถานที่ออกตั๋วสัญญาใช้เงิน
	(7)  ลายมือชื่อผู้ออกตั๋ว
	มาตรา 984 ตราสารอันมีรายการขาดตกบกพร่องไปจากที่ท่านระบุบังคับไว้ในมาตราก่อนนี้ ย่อมไม่
สมบูรณ์เป็นตั๋วสัญญาใช้เงิน  เว้นแต่ในกรณีดั่งจะกล่าวต่อไปนี้ คือ
	ตั๋วสัญญาใช้เงินซึ่งไม่ระบุเวลาใช้เงิน  ท่านให้ถือว่าพึงใช้เงินเมื่อได้เห็น
	ถ้าสถานที่ใช้เงินมิได้แถลงไว้ในตั๋วสัญญาใช้เงิน  ท่านให้ถือเอาภูมิลำเนาของผู้ออก
ตราสารนั้นเป็นสถานที่ใช้เงิน
	ถ้าตั๋วสัญญาใช้เงินไม่ระบุสถานที่ออกตั๋ว  ท่านให้ถือว่าตั๋วนั้นได้ออก  ณ ภูมิลำเนาของ
ผู้ออกตั๋ว
	ถ้ามิได้ลงวันออกตั๋ว  ท่านว่าผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายคนหนึ่งคนใดทำการโดยสุจริต
จะจดวันตามที่ถูกต้องแท้จริงลงก็ได้
	มาตรา 985 บทบัญญัติทั้งหลายใน หมวด 2 ว่าด้วยตั๋วแลกเงินดั่งจะกล่าวต่อไปนี้ ท่านให้ยกมาบังคับ
ในเรื่องตั๋วสัญญาใช้เงินเพียงเท่าที่ไม่ขัดกับสภาพแห่งตราสารชนิดนี้ คือ บท มาตรา 911 ,913,
916, 917, 919, 920, 922 ถึง 926, 938 ถึง 947, 949, 950, 954 ถึง 959, 967 ถึง 971
	ถ้าเป็นตั๋วสัญญาใช้เงินที่ออกมาแต่ต่างประเทศ ท่านให้นำบทบัญญัติต่อไปนี้มาใช้บังคับ
ด้วย คือบท มาตรา 960 ถึง 964, 973, 974
	มาตรา 986 ผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินย่อมต้องผูกพันเป็นอย่างเดียวกันกับผู้รับรองตั๋วแลกเงิน
	ตั๋วสัญญาใช้เงินซึ่งให้ใช้เงินในเวลาใดเวลาหนึ่งภายหลังได้เห็นนั้น  ต้องนำยื่นให้ผู้ออกตั๋ว
จดรับรู้ภายในจำกัดเวลาดั่งกำหนดไว้ใน มาตรา 928 กำหนดเวลานี้ให้นับแต่วันจดรับรู้ซึ่งลงลาย
มือชื่อผู้ออกตั๋ว ถ้าผู้ออกตั๋วบอกปัดไม่ยอมจดรับรู้และลงวันไซร้ การที่เขาบอกปัดเช่นนี้  ท่านว่าต้อง
ทำให้เป็นหลักฐานขึ้นด้วยคำคัดค้าน  และวันคัดค้านนั้นให้ถือเป็นวันเริ่มต้นในการนับกำหนดเวลา
แต่ได้เห็น

	หมวด 4
	เช็ค

	มาตรา 987 อันว่าเช็คนั้น  คือหนังสือตราสารซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า ผู้สั่งจ่าย  สั่งธนาคารให้ใช้เงิน
จำนวนหนึ่งเมื่อทวงถามให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง  หรือให้ใช้ตามคำสั่งของบุคคลอีกคนหนึ่ง
อันเรียกว่า ผู้รับเงิน
	มาตรา 988 อันเช็คนั้น ต้องมีรายการดั่งกล่าวต่อไปนี้ คือ
	(1)  คำบอกชื่อว่าเป็นเช็ค
	(2)  คำสั่งอันปราศจากเงื่อนไขให้ใช้เงินเป็นจำนวนแน่นอน
	(3)  ชื่อ หรือยี่ห้อและสำนักของธนาคาร
	(4)  ชื่อ หรือยี่ห้อของผู้รับเงิน  หรือคำจดแจ้งว่าให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ
	(5)  สถานที่ใช้เงิน
	(6)  วันและสถานที่ออกเช็ค
	(7)   ลายมือชื่อผู้สั่งจ่าย
	มาตรา 989 บทบัญญัติทั้งหลายใน หมวด 2 อันว่าด้วยตั๋วแลกเงินดั่งจะกล่าวต่อไปนี้ ท่านให้ยกมา
บังคับในเรื่องเช็คเพียงเท่าที่ไม่ขัดกับสภาพแห่งตราสารชนิดนี้ คือบท มาตรา 910 , 914 ถึง 923,
925, 926, 938 ถึง 940, 945, 946, 959, 967, 971
	ถ้าเป็นเช็คที่ออกมาแต่ต่างประเทศ ท่านให้นำบทบัญญัติดั่งต่อไปนี้มาใช้บังคับด้วย
คือบท มาตรา 924, 960 ถึง 964, 973 ถึง 977, 980
	มาตรา 990 ผู้ทรงเช็คต้องยื่นเช็คแก่ธนาคารเพื่อให้ใช้เงิน  คือว่าถ้าเป็นเช็คให้ใช้เงินในเมืองเดียวกัน
กับที่ออกเช็ค ต้องยื่นภายในเดือนหนึ่งนับแต่วันออกเช็คนั้น ถ้าเป็นเช็คให้ใช้เงินที่อื่น ต้องยื่นภายใน
สามเดือน  ถ้ามิฉะนั้นท่านว่าผู้ทรงสิ้นสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาแก่ผู้สลักหลังทั้งปวง  ทั้งเสียสิทธิอันมีต่อ
ผู้สั่งจ่ายด้วยเพียงเท่าที่จะเกิดความเสียหายอย่างหนึ่งอย่างใดแก่ผู้สั่งจ่ายเพราะการที่ละเลยเสียไม่
ยื่นเช็คนั้น
	อนึ่ง ผู้ทรงเช็คซึ่งผู้สั่งจ่ายหลุดพ้นจากความรับผิดไปแล้วนั้น  ท่านให้รับช่วงสิทธิของ
ผู้สั่งจ่ายคนนั้นอันมีต่อธนาคาร
	มาตรา 991 ธนาคารจำต้องใช้เงินตามเช็คซึ่งผู้เคยค้ากับธนาคารได้ออกเบิกเงินแก่ตน เว้นแต่ในกรณี
ดั่งกล่าวต่อไปนี้  คือ
	(1)  ไม่มีเงินในบัญชีของผู้เคยค้าคนนั้นเป็นเจ้าหนี้พอจะจ่ายตามเช็คนั้น  หรือ
	(2)  เช็คนั้นยื่นเพื่อให้ใช้เงินเมื่อพ้นเวลาหกเดือนนับแต่วันออกเช็ค  หรือ
	(3)  ได้มีคำบอกกล่าวว่าเช็คนั้นหายหรือถูกลักไป
	มาตรา 992 หน้าที่และอำนาจของธนาคารซึ่งจะใช้เงินตามเช็คอันเบิกแก่ตนนั้น  ท่านว่าเป็นอันสุดสิ้น
ไปเมื่อกรณีเป็นดั่งจะกล่าวต่อไปนี้ คือ
	(1)  มีคำบอกห้ามการใช้เงิน
	(2)  รู้ว่าผู้สั่งจ่ายตาย
	(3)  รู้ว่าศาลได้มีคำสั่งรักษาทรัพย์ชั่วคราว หรือคำสั่งให้ผู้สั่งจ่ายเป็นคนล้มละลาย หรือ
ได้มีประกาศโฆษณาคำสั่งเช่นนั้น
	มาตรา 993 ถ้าธนาคารเขียนข้อความลงลายมือชื่อบนเช็ค เช่น คำว่า "ใช้ได้" หรือ "ใช้เงินได้" หรือ
คำใดๆ อันแสดงผลอย่างเดียวกัน  ท่านว่าธนาคารต้องผูกพันในฐานเป็นลูกหนี้ชั้นต้นในอันจะ
ต้องใช้เงินแก่ผู้ทรงตามเช็คนั้น
	ถ้าผู้ทรงเช็คเป็นผู้จัดการให้ธนาคารลงข้อความรับรองดั่งว่านั้น ท่านว่าผู้สั่งจ่ายและ
ผู้สลักหลังทั้งปวงเป็นอันหลุดพ้นจากความรับผิดตามเช็คนั้น
	ถ้าธนาคารลงข้อความรับรองดั่งนั้นโดยคำขอร้องของผู้สั่งจ่าย  ท่านว่าผู้สั่งจ่ายและปวง
ผู้สลักหลังก็หาหลุดพ้นไปไม่
	มาตรา 994 ถ้าในเช็คมีเส้นขนานคู่ขีดขวางไว้ข้างด้านหน้า กับมีหรือไม่มีคำว่า "และบริษัท" หรือคำย่อ
อย่างใดๆ แห่งข้อความนี้อยู่ในระหว่างเส้นทั้งสองนั้นไซร้  เช็คนั้นชื่อว่าเป็นเช็คขีดคร่อมทั่วไปและ
จะใช้เงินตามเช็คนั้นได้แต่เฉพาะให้แก่ธนาคารเท่านั้น
	ถ้าในระหว่างเส้นทั้งสองนั้นกรอกชื่อธนาคารอันหนึ่งอันใดลงไว้โดยเฉพาะ เช็คเช่นนั้น
ชื่อว่าเป็นเช็คขีดคร่อมเฉพาะ และจะใช้เงินตามเช็คนั้นได้เฉพาะให้แก่ธนาคารอันนั้น
	มาตรา 995 (1)  เช็คไม่มีขีดคร่อม  ผู้สั่งจ่ายหรือผู้ทรงคนใดคนหนึ่งจะเรียกขีดคร่อมเสียก็ได้ และจะ
ทำเป็นขีดคร่อมทั่วไปหรือขีดคร่อมเฉพาะก็ได้
	(2)  เช็คขีดคร่อมทั่วไป  ผู้ทรงจะทำให้เป็นขีดคร่อมเฉพาะเสียก็ได้
	(3)  เช็คขีดคร่อมทั่วไปก็ดี  ขีดคร่อมเฉพาะก็ดี  ผู้ทรงจะเติมคำลงว่า "ห้ามเปลี่ยนมือ" ก็ได้
	(4)  เช็คขีดคร่อมเฉพาะให้แก่ธนาคารใด  ธนาคารนั้นจะซ้ำขีดคร่อมเฉพาะให้ไปแก่
ธนาคารอื่นเพื่อเรียกเก็บเงินก็ได้
	(5) เช็คไม่มีขีดคร่อมก็ดี  เช็คขีดคร่อมทั่วไปก็ดี  ส่งไปยังธนาคารใด เพื่อให้เรียกเก็บเงิน
ธนาคารนั้นจะลงขีดคร่อมเฉพาะให้แก่ตนเองก็ได้
	มาตรา 996 การขีดคร่อมเช็คตามที่อนุญาตไว้ในมาตราก่อนนั้น  ท่านว่าเป็นส่วนสำคัญอันหนึ่งของ
เช็ค ใครจะลบล้างย่อมไม่เป็นการชอบด้วยกฎหมาย
	มาตรา 997 เช็คขีดคร่อมเฉพาะให้แก่ธนาคารกว่าธนาคารหนึ่งขึ้นไปเมื่อนำเบิกเอาแก่ธนาคารใด
ท่านให้ธนาคารนั้นบอกปัดเสียอย่าใช้เงินให้ เว้นแต่ที่ขีดคร่อมให้แก่ธนาคารในฐานเป็นตัวแทน
เรียกเก็บเงิน
	ธนาคารใดซึ่งเขานำเช็คเบิกขืนใช้เงินไปตามเช็คที่ขีดคร่อมอย่างว่ามานั้นก็ดี  ใช้เงิน
ตามเช็คอันเขาขีดคร่อมทั่วไปเป็นประการอื่นนอกจากใช้ให้แก่ธนาคารอันใดอันหนึ่งก็ดี  ใช้เงิน
ตามเช็คอันเขาขีดคร่อมเฉพาะเป็นประการอื่นนอกจากใช้ให้แก่ธนาคารซึ่งเขาเจาะจงขีดคร่อมให้
โดยเฉพาะ  หรือแก่ธนาคารตัวแทนเรียกเก็บเงินของธนาคารนั้นก็ดี  ท่านว่าธนาคารซึ่งใช้เงินไป
ดั่งกล่าวนี้จะต้องรับผิดต่อผู้เป็นเจ้าของอันแท้จริงแห่งเช็คนั้นในการที่เขาต้องเสียหายอย่างใดๆ
เพราะการที่ตนใช้เงินไปตามเช็คดั่งนั้น
	แต่หากเช็คใดเขานำยื่นเพื่อให้ใช้เงิน และเมื่อยื่นไม่ปรากฏว่าเป็นเช็คขีดคร่อมก็ดี หรือ
ไม่ปรากฏว่ามีรอยขีดคร่อมอันได้ลบล้าง  หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมเป็นประการอื่นนอกจาก
ที่อนุญาตไว้โดยกฏหมายก็ดี เช็คเช่นนี้ ถ้าธนาคารใดใช้เงินไปโดยสุจริต  และปราศจากประมาท
เลินเล่อ  ท่านว่าธนาคารนั้นไม่ต้องรับผิดหรือต้องมีหน้าที่รับใช้เงินอย่างใดๆ
	มาตรา 998 ธนาคารใดซึ่งเขานำเช็คขีดคร่อมเบิกเงินใช้เงินไปตามเช็คนั้นโดยสุจริตและปราศจาก
ประมาทเลินเล่อ  กล่าวคือว่าถ้าเป็นเช็คขีดคร่อมทั่วไปก็ใช้เงินให้แก่ธนาคารอันใดอันหนึ่ง  ถ้าเป็น
เช็คขีดคร่อมเฉพาะก็ใช้ให้แก่ธนาคารซึ่งเขาเจาะจงขีดคร่อมให้  โดยเฉพาะหรือใช้ให้แก่ธนาคาร
ตัวแทนเรียกเก็บเงินของธนาคารนั้นไซร้ ท่านว่าธนาคารซึ่งใช้เงินไปตามเช็คนั้นฝ่ายหนึ่ง  กับถ้าเช็ค
ตกไปถึงมือผู้รับเงินแล้ว ผู้สั่งจ่ายอีกฝ่ายหนึ่งต่างมีสิทธิเป็นอย่างเดียวกัน และเข้าอยู่ในฐานอัน
เดียวกันเสมือนดั่งว่าเช็คนั้นได้ใช้เงินให้แก่ผู้เป็นเจ้าของอันแท้จริงแล้ว
	มาตรา 999 บุคคลใดได้เช็คขีดคร่อมของเขามาซึ่งมีคำว่า "ห้ามเปลี่ยนมือ" ท่านว่าบุคคลนั้นไม่มีสิทธิ
ในเช็คนั้นยิ่งไปกว่า  และไม่สามารถให้สิทธิในเช็คนั้นต่อไปได้ดีกว่าสิทธิของบุคคลอันตนได้เช็คของเขามา
	มาตรา 1000 ธนาคารใดได้รับเงินไว้เพื่อผู้เคยค้าของตนโดยสุจริตและปราศจากประมาทเลินเล่อ  
อันเป็นเงินเขาใช้ให้ตามเช็คขีดคร่อมทั่วไปก็ดี  ขีดคร่อมเฉพาะให้แก่ตนก็ดี  หากปรากฏว่าผู้เคยค้า
นั้นไม่มีสิทธิหรือมีสิทธิเพียงอย่างบกพร่องในเช็คนั้นไซร้ ท่านว่าเพียงแต่เหตุที่ได้รับเงินไว้  หาทำ
ให้ธนาคารนั้นต้องรับผิดต่อผู้เป็นเจ้าของอันแท้จริงแห่งเช็คนั้นแต่อย่างหนึ่งอย่างใดไม่

	หมวด 5
	อายุความ

	มาตรา 1001 ในคดีฟ้องผู้รับรองตั๋วแลกเงินก็ดี ผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินก็ดี  ท่านห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้น
เวลาสามปีนับแต่วันตั๋วนั้นๆ ถึงกำหนดใช้เงิน
	มาตรา 1002 ในคดีที่ผู้ทรงตั๋วเงินฟ้องผู้สลักหลังและผู้สั่งจ่าย  ท่านห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นเวลาปีหนึ่ง
นับแต่วันที่ได้ลงในคำคัดค้านซึ่งได้ทำขึ้นภายในเวลาอันถูกต้องตามกำหนด หรือนับแต่วันตั๋วเงิน
ถึงกำหนด  ในกรณีที่มีข้อกำหนดไว้ว่า "ไม่จำต้องมีคำคัดค้าน"
	มาตรา 1003 ในคดีผู้สลักหลังทั้งหลายฟ้องไล่เบี้ยกันเองและไล่เบี้ยเอาแก่ผู้สั่งจ่ายแห่งตั๋วเงิน ท่านห้าม
มิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นเวลาหกเดือนนับแต่วันที่ผู้สลักหลังเข้าถือเอาตั๋วเงินและใช้เงิน หรือนับแต่วันที่
ผู้สลักหลังนั้นเองถูกฟ้อง
	มาตรา 1004 เมื่ออายุความสะดุดหยุดลงเพราะการอันหนึ่งอันใดซึ่งกระทำแก่คู่สัญญาแห่งตั๋วเงิน
ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ท่านว่าย่อมมีผลสะดุดหยุดลงเพียงแต่แก่คู่สัญญาฝ่ายนั้น
	มาตรา 1005 ถ้าตั๋วเงินได้ทำขึ้นหรือได้โอนหรือสลักหลังไปแล้วในมูลหนี้อันหนึ่งอันใด และสิทธิตาม
ตั๋วเงินนั้นมาสูญสิ้นไปเพราะอายุความก็ดี หรือเพราะละเว้นไม่ดำเนินการให้ต้องตามวิธีใดๆ อันจะ
พึงต้องทำก็ดี ท่านว่าหนี้เดิมนั้นก็ยังคงมีอยู่ตามหลักกฎหมายอันแพร่หลายทั่วไปเท่าที่ลูกหนี้มิได้
ต้องเสียหายแต่การนั้น เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น

	หมวด 6
	ตั๋วเงินปลอม ตั๋วเงินถูกลัก และตั๋วเงินหาย

	มาตรา 1006 การที่ลายมือชื่ออันหนึ่งในตั๋วเงินเป็นลายมือปลอม  ย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงความ
สมบูรณ์แห่งลายมือชื่ออื่นๆ ในตั๋วเงินนั้น
	มาตรา 1007 ถ้าข้อความในตั๋วเงินใด หรือในคำรับรองตั๋วเงินรายใด มีผู้แก้ไขเปลี่ยนแปลงในข้อสำคัญ
โดยที่คู่สัญญาทั้งปวงผู้ต้องรับผิดตามตั๋วเงินมิได้ยินยอมด้วยหมดทุกคนไซร้ ท่านว่าตั๋วเงินนั้นก็เป็น
อันเสีย เว้นแต่ยังคงใช้ได้ต่อคู่สัญญาซึ่งเป็นผู้ทำการแก้ไข เปลี่ยนแปลงนั้น หรือได้ยินยอมด้วยกับ
การแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้น  กับทั้งผู้สลักหลังในภายหลัง
	แต่หากตั๋วเงินใดได้มีผู้แก้ไขเปลี่ยนแปลงในข้อสำคัญแต่ความเปลี่ยนแปลงนั้นไม่
ประจักษ์  และตั๋วเงินนั้นตกอยู่ในมือผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายไซร้ ท่านว่าผู้ทรงคนนั้นจะเอา
ประโยชน์จากตั๋วเงินนั้นก็ได้ เสมือนดั่งว่ามิได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเลย  และจะบังคับการใช้เงิน
ตามเนื้อความเดิมแห่งตั๋วนั้นก็ได้
	กล่าวโดยเฉพาะ  การแก้ไขเปลี่ยนแปลงเช่นจะกล่าวต่อไปนี้ ท่านถือว่าเป็นการแก้ไข
เปลี่ยนแปลงในข้อสำคัญ  คือการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างใดๆ แก่วันที่ลง จำนวนเงินอันจะพึงใช้
เวลาใช้เงิน สถานที่ใช้เงิน กับทั้งเมื่อตั๋วเงินเขารับรองไว้ทั่วไปไม่เจาะจงสถานที่ใช้เงิน  ไปเติมความ
ระบุสถานที่ใช้เงินเข้าโดยที่ผู้รับรองมิได้ยินยอมด้วย
	มาตรา 1008 ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติทั้งหลายในประมวลกฎหมายนี้  เมื่อใดลายมือชื่อในตั๋วเงิน
เป็นลายมือปลอมก็ดี  เป็นลายมือชื่อลงไว้โดยที่บุคคลซึ่งอ้างเอาเป็นเจ้าของลายมือชื่อนั้นมิได้มอบ
อำนาจให้ลงก็ดี ท่านว่าลายมือชื่อปลอมหรือลงปราศจากอำนาจเช่นนั้นเป็นอันใช้ไม่ได้เลย ใครจะ
อ้างอิงอาศัยแสวงสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อยึดหน่วงตั๋วเงินไว้ก็ดี เพื่อทำให้ตั๋วนั้นหลุดพ้นก็ดี หรือ
เพื่อบังคับการใช้เงินเอาแก่คู่สัญญาแห่งตั๋วนั้นคนใดคนหนึ่งก็ดี ท่านว่าไม่อาจจะทำได้เป็นอันขาด
เว้นแต่คู่สัญญาฝ่ายซึ่งจะพึงถูกยึดหน่วงหรือถูกบังคับใช้เงินนั้นจะอยู่ในฐานเป็นผู้ต้องตัดบทมิให้
ยกข้อลายมือชื่อปลอม  หรือข้อลงลายมือชื่อปราศจากอำนาจนั้นขึ้นเป็นข้อต่อสู้
	แต่ข้อความใดๆ อันกล่าวมาในมาตรานี้  ท่านมิให้กระทบกระทั่งถึงการให้สัตยาบันแก่
ลายมือชื่อซึ่งลงไว้โดยปราศจากอำนาจ แต่หากไม่ถึงแก่เป็นลายมือปลอม
	มาตรา 1009 ถ้ามีผู้นำตั๋วเงินชนิดจะพึงใช้เงินตามเขาสั่งเมื่อทวงถามมาเบิกต่อธนาคารใด และธนาคาร
นั้นได้ใช้เงินให้ไปตามทางค้าปกติโดยสุจริตและปราศจากประมาทเลินเล่อไซร้ ท่านว่าธนาคารไม่มี
หน้าที่จะต้องนำสืบว่าการสลักหลังของผู้รับเงิน หรือการสลักหลังในภายหลังรายใดๆ ได้ทำไปด้วย
อาศัยรับมอบอำนาจแต่บุคคลซึ่งอ้างเอาเป็นเจ้าของคำสลักหลังนั้น  และถึงแม้ว่ารายการสลักหลัง
นั้นจะเป็นสลักหลังปลอมหรือปราศจากอำนาจก็ตาม ท่านให้ถือว่าธนาคารได้ใช้เงินไปถูกระเบียบ
	มาตรา 1010 เมื่อผู้ทรงตั๋วเงินซึ่งหายหรือถูกลักทราบเหตุแล้วในทันใดนั้นต้องบอกกล่าวเป็นหนังสือ
ไปยังผู้ออกตั๋วเงิน ผู้จ่าย  ผู้สมอ้างยามประสงค์  ผู้รับรองเพื่อแก้หน้า  และผู้รับอาวัล  ตามแต่มี
เพื่อให้บอกปัดไม่ใช้เงินตามตั๋วเงินนั้น
	มาตรา 1011 ถ้าตั๋วเงินหายไปแต่ก่อนเวลาล่วงเลยกำหนดใช้เงิน ท่านว่าบุคคลซึ่งได้เป็นผู้ทรงตั๋วเงิน
นั้นจะร้องขอไปยังผู้สั่งจ่ายให้ให้ตั๋วเงินเป็นเนื้อความเดียวกันแก่ตนใหม่อีกฉบับหนึ่งก็ได้ และใน
การนี้ถ้าเขาประสงค์ก็วางประกันให้ไว้แก่ผู้สั่งจ่ายเพื่อไว้ทดแทนที่เขาหากจะต้องเสียหายแก่ผู้หนึ่ง
ผู้ใดในกรณีที่ตั๋วเงินซึ่งว่าหายนั้นจะกลับหาได้
	อนึ่ง ผู้สั่งจ่ายรับคำขอร้องดั่งว่ามานั้นแล้ว หากบอกปัดไม่ยอมให้ตั๋วเงินคู่ฉบับเช่นนั้น
อาจจะถูกบังคับให้ออกให้ก็ได้

	ลักษณะ 22
	หุ้นส่วนและบริษัท
	หมวด 1
	บทเบ็ดเสร็จทั่วไป

	มาตรา 1012 อันว่าสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป
ตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการร่วมกันด้วยประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้แต่กิจการที่ทำนั้น
	มาตรา 1013 อันห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้น ท่านกำหนดเป็นสามประเภท  คือ
	(1)  ห้างหุ้นส่วนสามัญ
	(2)  ห้างหุ้นส่วนจำกัด
	(3)  บริษัทจำกัด
	มาตรา 1014 บรรดาสำนักงานสำหรับจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนและบริษัททั้งหลายนั้น ให้เสนาบดีเจ้า
กระทรวงซึ่งบัญชาการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนและบริษัทเป็นผู้ออกกฎข้อบังคับจัดตั้งขึ้น
	มาตรา 1015 ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทเมื่อได้จดทะเบียนตามบัญญัติแห่งลักษณะนี้แล้ว ท่านจัดว่าเป็น
นิติบุคคลต่างหากจากผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นทั้งหลายซึ่งรวมเข้ากันเป็นห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้น
	มาตรา 1016 การจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท การแก้ไขข้อความที่ได้จดทะเบียนไว้
ในภายหลัง และการจดทะเบียนอย่างอื่นตามที่ลักษณะ 22 หุ้นส่วนและบริษัท กำหนดให้จดทะเบียน
ให้จดทะเบียนต่อนายทะเบียน ณ สำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทตามที่รัฐมนตรีเจ้ากระทรวง
ประกาศกำหนด
	*มาตรา 1016 แก้ไขโดยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 21/2560
	มาตรา 1017 ถ้าข้อความที่จะจดทะเบียน  หรือประกาศโฆษณาเกิดขึ้นในต่างประเทศไซร้ ท่านให้นับ
กำหนดเวลาสำหรับการจดทะเบียนหรือประกาศโฆษณาข้อความนั้นตั้งแต่เวลา เมื่อคำบอกกล่าว
การนั้นมาถึงตำบลที่จะจดทะเบียน หรือตำบลที่จะประกาศโฆษณานั้นเป็นต้นไป
	มาตรา 1018 ในการจดทะเบียน ท่านให้เสียค่าธรรมเนียมตามกฎข้อบังคับซึ่งเสนาบดีเจ้ากระทรวงตั้งไว้
	มาตรา 1019 ถ้าคำขอจดทะเบียนหรือเอกสารซึ่งต้องจดทะเบียนไม่มีรายการบริบูรณ์ตามที่บังคับไว้
ในลักษณะนี้ว่าให้จดแจ้งก็ดี  หรือถ้ารายการอันใดซึ่งจดแจ้งในคำขอ หรือในเอกสารนั้นขัดกับ
กฎหมายก็ดี  หรือถ้าเอกสารใดซึ่งกำหนดไว้ว่าให้ส่งด้วยกันกับคำขอจดทะเบียนยังขาดอยู่มิได้ส่ง
ให้ครบก็ดี หรือถ้าไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขข้ออื่นซึ่งกฎหมายบังคับไว้ก็ดี นายทะเบียนจะไม่ยอมรับ
จดทะเบียนก็ได้  จนกว่าคำขอจดทะเบียนหรือเอกสารนั้นจะได้ทำให้บริบูรณ์  หรือแก้ไขให้ถูกต้อง
หรือได้ส่งเอกสารซึ่งกำหนดไว้นั้นครบทุกสิ่งอัน  หรือได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อนั้นแล้ว
	มาตรา 1020 บุคคลทุกคนเมื่อได้เสียค่าธรรมเนียมตามที่กำหนดในกฎกระทรวงแล้ว
ชอบที่จะตรวจเอกสารซึ่งนายทะเบียนเก็บรักษาไว้ได้ หรือจะขอให้คัดสำเนาหรือเนื้อความในเอกสาร
ฉบับใด ๆ พร้อมด้วยคำรับรองว่าถูกต้องมอบให้ก็ได้
	ผู้มีส่วนได้เสียของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทใด ๆ เมื่อได้เสียค่าธรรมเนียมตามที่กำหนดใน
กฎกระทรวงแล้ว ชอบที่จะขอให้นายทะเบียนทำใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท
นั้นให้ก็ได้”
	*มาตรา 1020 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 18) 
พ.ศ. 2551
	มาตรา 1020/1 ให้รัฐมนตรีเจ้ากระทรวงมีอำนาจออกกฎกระทรวงลดหรือยกเว้น
ค่าธรรมเนียมที่ออกตามมาตรา ๑๐๑๘ และมาตรา ๑๐๒
	*มาตรา 1020/1 เพิ่มความโดยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 21/2560	 
	มาตรา 1021 นายทะเบียนทุกคนจะต้องแต่งย่อรายการซึ่งได้ลงทะเบียนส่งไปลงพิมพ์โฆษณาใน
หนังสือราชกิจจานุเบกษาเป็นคราวๆ  ตามแบบซึ่งเสนาบดีเจ้ากระทรวงจะได้กำหนดให้
	มาตรา 1022 เมื่อได้พิมพ์โฆษณาดั่งนั้นแล้ว ท่านให้ถือว่าบรรดาเอกสารและข้อความซึ่งลงทะเบียนอัน
ได้กล่าวถึงในย่อรายการนั้นเป็นอันรู้แก่บุคคลทั้งปวงไม่เลือกว่าเป็นผู้เกี่ยวข้องด้วยห้างหุ้นส่วน หรือ
ด้วยบริษัทนั้น  หรือที่ไม่เกี่ยวข้อง
	มาตรา 1023 ผู้เป็นหุ้นส่วนก็ดี ห้างหุ้นส่วนก็ดี หรือบริษัทก็ดื จะถือเอาประโยชน์แก่
บุคคลภายนอกเพราะเหตุที่มีสัญญาหรือเอกสาร หรือข้อความอันบังคับให้จดทะเบียนตามลักษณะนี้
ยังไม่ได้ จนกว่าจะได้จดทะเบียนแล้ว แต่ฝ่ายบุคคลภายนอกจะถือเอาประโยชน์เช่นว่านั้นได้
	แต่ถึงกระนั้นก็ดี ผู้เป็นหุ้นส่วน ผู้ถือหุ้น ห้างหุ้นส่วน หรือบริษัทซึ่งได้รับชำระหนี้ก่อน
จดทะเบียนนั้นย่อมไม่จำต้องคืน
	“มาตรา 1023/1 ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทจะยกมาตรา 1023 ขึ้นต่อสู้บุคคลภายนอก
ผู้สุจริตเพื่อไม่ให้ต้องรับผิดโดยอ้างว่าผู้เป็นหุ้นส่วน ห้างหุ้นส่วน บริษัทหรือกรรมการไม่มีอำนาจ
กระทำการมิได้”
*มาตรา 1023, มาตรา 1023/1 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่ง
และพาณิชย์ (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2551
	มาตรา 1024 ในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกันก็ดี หรือในระหว่างผู้ถือหุ้นด้วยกันก็ดี  ในระหว่างผู้เป็น
หุ้นส่วนกับห้างหุ้นส่วนก็ดี  ในระหว่างผู้ถือหุ้นกับบริษัทก็ดี ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บรรดา
สมุดบัญชีเอกสารของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทหรือของผู้ชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทใดๆ นั้น
ย่อมเป็นพยานหลักฐานอันถูกต้องตามข้อความที่ได้บันทึกไว้ในนั้นทุกประการ

	หมวด 2
	ห้างหุ้นส่วนสามัญ
	ส่วนที่ 1
	บทวิเคราะห์

	มาตรา 1025 อันว่าห้างหุ้นส่วนสามัญนั้น  คือห้างหุ้นส่วนประเภทซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนหมดทุกคนต้องรับผิด
ร่วมกันเพื่อหนี้ทั้งปวงของหุ้นส่วนโดยไม่มีจำกัด

	ส่วนที่ 2
	ความเกี่ยวพันระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกันเอง

	มาตรา 1026 ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนต้องมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดมาลงหุ้นด้วยในห้างหุ้นส่วน
	สิ่งที่นำมาลงหุ้นด้วยนั้น  จะเป็นเงินหรือทรัพย์สินสิ่งอื่นหรือลงแรงงานก็ได้
	มาตรา 1027 ในเมื่อมีกรณีเป็นข้อสงสัย ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าสิ่งซึ่งนำมาลงหุ้นด้วยกันนั้นมีค่า
เท่ากัน
	มาตรา 1028 ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดได้ลงแต่แรงงานของตนเข้าเป็นหุ้นและในสัญญาเข้าหุ้นส่วนมิได้
ตีราคาค่าแรงไว้ ท่านให้คำนวณส่วนกำไรของผู้ที่เป็นหุ้นส่วนด้วยลงแรงงานเช่นนั้นเสมอด้วยส่วน
ถัวเฉลี่ยของผู้เป็นหุ้นส่วน ซึ่งได้ลงเงินหรือลงทรัพย์สินเข้าหุ้นในการนั้น
	มาตรา 1029 ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งเอาทรัพย์สินมาให้ใช้เป็นการลงหุ้นด้วยไซร้  ความเกี่ยวพัน
ระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนคนนั้นกับห้างหุ้นส่วนในเรื่องส่งมอบและซ่อมแซมก็ดี ความรับผิดเพื่อชำรุด
บกพร่องก็ดี ความรับผิดเพื่อการรอนสิทธิก็ดี ข้อยกเว้นความรับผิดก็ดี ท่านให้บังคับตามบทบัญญัติ
แห่งประมวลกฎหมายนี้ ว่าด้วยเช่าทรัพย์
	มาตรา 1030 ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งให้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินอันใดอันหนึ่งเป็นการลงหุ้นด้วยไซร้
ความเกี่ยวพันระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนคนนั้นกับห้างหุ้นส่วนในเรื่องส่งมอบและซ่อมแซมก็ดี
ความรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องก็ดี ความรับผิดเพื่อความรอนสิทธิก็ดี ข้อยกเว้นความรับผิดก็ดี
ท่านให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยซื้อขาย
	มาตรา 1031 ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดละเลยไม่ส่งมอบส่วนลงหุ้นของตนเสียเลย ท่านว่าต้องส่งคำบอก
กล่าวเป็นจดหมายจดทะเบียนไปรษณีย์ไปยังผู้เป็นหุ้นส่วนคนนั้นให้ส่งมอบส่วนลงหุ้นของตนมา
ภายในเวลาอันสมควร  มิฉะนั้นผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่นๆ จะลงเนื้อเห็นพร้อมกัน หรือโดยเสียงข้างมาก
ด้วยกันสุดแต่ข้อสัญญา ให้เอาผู้เป็นหุ้นส่วนคนนั้นออกเสียได้
	มาตรา 1032 ห้ามมิให้เปลี่ยนแปลงข้อสัญญาเดิมแห่งห้างหุ้นส่วน หรือประเภทแห่งกิจการ นอกจาก
ด้วยความยินยอมของผู้เป็นหุ้นส่วนหมดด้วยกันทุกคน  เว้นแต่จะมีข้อตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น
	มาตรา 1033 ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนมิได้ตกลงกันไว้ในกระบวนจัดการห้างหุ้นส่วนไซร้ ท่านว่าผู้เป็นหุ้นส่วน
ย่อมจัดการห้างหุ้นส่วนนั้นได้ทุกคน แต่ผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งคนใดจะเข้าทำสัญญาอันใดซึ่งผู้เป็น
หุ้นส่วนอีกคนหนึ่งทักท้วงนั้นไม่ได้
	ในกรณีเช่นนี้  ท่านให้ถือว่าผู้เป็นหุ้นส่วนย่อมเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการทุกคน
	มาตรา 1034 ถ้าได้ตกลงกันไว้ว่าการงานของห้างหุ้นส่วนนั้นจักให้เป็นไปตามเสียงข้างมากแห่งผู้เป็น
หุ้นส่วนไซร้ ท่านให้ผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งมีเสียงเป็นคะแนนหนึ่ง  โดยไม่ต้องคำนึงถึงจำนวนที่ลง
หุ้นด้วยมากหรือน้อย
	มาตรา 1035 ถ้าได้ตกลงกันไว้ว่าจะให้ผู้เป็นหุ้นส่วนหลายคนจัดการห้างหุ้นส่วนไซร้ หุ้นส่วนผู้จัดการ
แต่ละคนจะจัดการห้างหุ้นส่วนนั้นก็ได้ แต่หุ้นส่วนผู้จัดการคนหนึ่งคนใดจะทำการอันใดซึ่งหุ้นส่วน
ผู้จัดการอีกคนหนึ่งทักท้วงนั้นไม่ได้
	มาตรา 1036 อันหุ้นส่วนผู้จัดการนั้น  จะเอาออกจากตำแหน่งได้ต่อเมื่อผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหลายอื่น
ยินยอมพร้อมกัน  เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น
	มาตรา 1037 ถึงแม้ว่าผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหลายได้ตกลงให้ผู้เป็นหุ้นส่วนคนเดียวหรือหลายคนเป็นผู้จัดการ
ห้างหุ้นส่วนก็ดี  ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนนอกจากผู้จัดการย่อมมีสิทธิที่จะไต่ถามถึงการงานของ
ห้างหุ้นส่วนที่จัดอยู่นั้นได้ทุกเมื่อ และมีสิทธิที่จะตรวจและคัดสำเนา สมุด บัญชี และเอกสารใดๆ
ของห้างหุ้นส่วนได้ด้วย
	มาตรา 1038 ห้ามมิให้ผู้เป็นหุ้นส่วนประกอบกิจการอย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งมีสภาพดุจเดียวกัน และ
เป็นการแข่งขันกับกิจการของห้างหุ้นส่วนนั้น ไม่ว่าทำเพื่อประโยชน์ตนหรือประโยชน์ผู้อื่น โดยมิได้
รับความยินยอมของผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่นๆ
	ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดทำการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรานี้ไซร้ ผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่นๆ ชอบ
ที่จะเรียกเอาผลกำไรซึ่งผู้นั้นหาได้ทั้งหมด หรือเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อการที่ห้างหุ้นส่วนได้
รับความเสียหายเพราะเหตุนั้น แต่ท่านห้ามมิให้ฟ้องเรียกเมื่อพ้นเวลาปีหนึ่งนับแต่วันทำการฝ่าฝืน
	มาตรา 1039 ผู้เป็นหุ้นส่วนจำต้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วนด้วยความระมัดระวังให้มากเสมือนกับ
จัดการงานของตนเองฉะนั้น
	มาตรา 1040 ห้ามมิให้ชักนำเอาบุคคลผู้อื่นเข้ามาเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนโดยมิได้รับความยินยอม
ของผู้เป็นหุ้นส่วนหมดด้วยกันทุกคน เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น
	 มาตรา 1041
	ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งโอนส่วนกำไรของตนในห้างหุ้นส่วนทั้งหมดก็ดี หรือแต่
บางส่วนก็ดี ให้แก่บุคคลภายนอกโดยมิได้รับความยินยอมของผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหลายอื่นไซร้ ท่านว่า
บุคคลภายนอกนั้นจะกลายเป็นเข้าหุ้นส่วนด้วยก็หามิได้
	มาตรา 1042 ความเกี่ยวพันระหว่างหุ้นส่วนผู้จัดการกับผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหลายอื่นนั้น ท่านให้บังคับ
ด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยตัวแทน
	มาตรา 1043 ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนอันมิได้เป็นผู้จัดการเอื้อมเข้ามาจัดการงานของห้างหุ้นส่วนก็ดี หรือ
ผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งเป็นผู้จัดการกระทำล่วงขอบอำนาจของตนก็ดี ท่านให้บังคับด้วยบทบัญญัติ
แห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยจัดการงานนอกสั่ง
	มาตรา 1044 อันส่วนกำไรก็ดี ส่วนขาดทุนก็ดี ของผู้เป็นหุ้นส่วนทุกๆคนนั้น ยอมเป็นไปตามส่วนที่ลงหุ้น
	มาตรา 1045 ถ้าหุ้นส่วนของผู้ใดได้กำหนดแต่เพียงข้างฝ่ายกำไรว่าจะแบ่งเอาเท่าไร  หรือกำหนดแต่
เพียงข้างขาดทุนว่าจะยอมขาดเท่าไรฉะนี้ไซร้ ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าหุ้นส่วนของผู้นั้นมีส่วน
กำไร และส่วนขาดทุนเป็นอย่างเดียวกัน
	มาตรา 1046 ผู้เป็นหุ้นส่วนไม่ว่าคนหนึ่งคนใดหามีสิทธิจะได้รับบำเหน็จเพื่อที่ได้จัดการงานของห้าง
หุ้นส่วนนั้นไม่ เว้นแต่จะได้มีความตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น
	มาตรา 1047 ถ้าชื่อของผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งออกจากหุ้นส่วนไปแล้วยังคงใช้เรียกขานติดเป็นชื่อห้างหุ้นส่วน
อยู่  ท่านว่าผู้เป็นหุ้นส่วนนั้นชอบที่จะเรียกให้งดใช้ชื่อของตนเสียได้
	มาตรา 1048 ผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งจะเรียกเอาส่วนของตนจากหุ้นส่วนอื่นๆ แม้ในกิจการค้าขายอันใดซึ่ง
ไม่ปรากฏชื่อของตนก็ได้

	ส่วนที่ 3
	ความเกี่ยวพันระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนกับบุคคลภายนอก

	มาตรา 1049 ผู้เป็นหุ้นส่วนจะถือเอาสิทธิใดๆ แก่บุคคลภายนอกในกิจการค้าขายซึ่งไม่ปรากฏชื่อของ
ตนนั้นหาได้ไม่
	มาตรา 1050 การใดๆ อันผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งได้จัดทำไปในทางที่เป็นธรรมดาการค้าขายของ
ห้างหุ้นส่วนนั้น ท่านว่าผู้เป็นหุ้นส่วนหมดทุกคนย่อมมีความผูกพันในการนั้นๆ ด้วย  และจะต้อง
รับผิดร่วมกันโดยไม่จำกัดจำนวนในการชำระหนี้อันได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะจัดการไปเช่นนั้น
	มาตรา 1051 ผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งออกจากหุ้นส่วนไปแล้วยังคงต้องรับผิดในหนี้ซึ่งห้างหุ้นส่วนได้ก่อให้
เกิดขึ้นที่ตนได้ออกจากหุ้นส่วนไป
	มาตรา 1052 บุคคลผู้เข้าเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนย่อมต้องรับผิดในหนี้ใดๆ ซึ่งห้างหุ้นส่วนได้ก่อให้
เกิดขึ้นก่อนที่ตนเข้ามาเป็นหุ้นส่วนด้วย
	มาตรา 1053 ห้างหุ้นส่วนซึ่งมิได้จดทะเบียนนั้น ถึงแม้จะมีข้อจำกัดอำนาจของหุ้นส่วนคนหนึ่งในการ
ที่จะผูกพันผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่นๆ   ท่านว่าข้อจำกัดเช่นนั้นก็หามีผลถึงบุคคลภายนอกไม่
	มาตรา 1054 บุคคลใดแสดงตนว่าเป็นหุ้นส่วนด้วยวาจาก็ดี ด้วยลายลักษณ์อักษรก็ดี ด้วยกิริยาก็ดี
ด้วยยินยอมให้เขาใช้ชื่อตนเป็นชื่อห้างหุ้นส่วนก็ดี หรือรู้แล้วไม่คัดค้านปล่อยให้เขาแสดงว่าตน
เป็นหุ้นส่วนก็ดี ท่านว่าบุคคลนั้นย่อมต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วน
เสมือนเป็นหุ้นส่วน
	ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งคนใดตายไปแล้ว  และห้างหุ้นส่วนนั้นยังคงค้าต่อไปในชื่อเดิม
ของห้าง ท่านว่าเหตุเพียงที่คงใช้ชื่อเดิมนั้นก็ดี  หรือใช้ชื่อของหุ้นส่วนผู้ตายควบอยู่ด้วยก็ดี หาทำ
ให้ความรับผิดมีแก่กองทรัพย์มรดกของผู้ตายเพื่อหนี้ใดๆ อันห้างหุ้นส่วนได้ก่อให้เกิดขึ้นภายหลัง
มรณะนั้นไม่

	ส่วนที่ 4
	การเลิกและชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนสามัญ

	มาตรา 1055 ห้างหุ้นส่วนสามัญย่อมเลิกกันด้วยเหตุดั่งกล่าวต่อไปนี้
	(1)  ถ้าในสัญญาทำไว้มีกำหนดกรณีอันใดเป็นเหตุที่จะเลิกกัน เมื่อมีกรณีนั้น
	(2)  ถ้าสัญญาทำไว้เฉพาะกำหนดกาลใด เมื่อสิ้นกำหนดกาลนั้น
	(3)  ถ้าสัญญาทำไว้เฉพาะเพื่อทำกิจการอย่างหนึ่งอย่างใดแต่อย่างเดียว เมื่อเสร็จการนั้น
	(4)  เมื่อผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งให้คำบอกกล่าวแก่ผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่นๆ ตามกำหนด
ดั่งบัญญัติไว้ใน มาตรา 1056
	(5)  เมื่อผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งตาย หรือล้มละลายหรือตกเป็นผู้ไร้ความสามารถ
	มาตรา 1056 ถ้าห้างหุ้นส่วนได้ตั้งขึ้นไม่มีกำหนดกาลอย่างหนึ่งอย่างใดเป็นยุติ ท่านว่าจะเลิกได้ต่อ
เมื่อผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งบอกเลิกเมื่อสิ้นรอบปีในทางบัญชีเงินของห้างหุ้นส่วนนั้น และ
ผู้เป็นหุ้นส่วนนั้นต้องบอกกล่าวความจำนงจะเลิกล่วงหน้าไม่น้อยกว่าหกเดือน	
	มาตรา 1057 ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดร้องขอเมื่อมีกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดั่งจะกล่าวต่อไปนี้ ศาลอาจ
สั่งให้ห้างหุ้นส่วนสามัญเลิกกันเสียก็ได้ คือ
	(1)  เมื่อผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งนอกจากผู้ร้องฟ้องนั้น ล่วงละเมิดบทบังคับใดๆ อัน
เป็นข้อสาระสำคัญซึ่งสัญญาหุ้นส่วนกำหนดไว้แก่ตนโดยจงใจ หรือเลินเล่ออย่างร้ายแรง
	(2)  เมื่อกิจการของห้างหุ้นส่วนนั้นจะทำไปก็มีแต่ขาดทุนอย่างเดียว และไม่มีหวังจะ
กลับฟื้นตัวได้อีก
	(3)  เมื่อมีเหตุอื่นใดๆ ทำให้ห้างหุ้นส่วนนั้นเหลือวิสัยที่จะดำรงคงอยู่ต่อไปได้
	มาตรา 1058 เมื่อเหตุอันใดอันหนึ่งเกิดขึ้นเกี่ยวด้วยผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งซึ่งตามความใน มาตรา 1057
หรือ มาตรา 1067 เป็นเหตุให้ผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหลายนอกนั้นมีสิทธิจะเรียกให้เลิกห้างหุ้นส่วนได้ไซร้
ในเมื่อผู้เป็นหุ้นส่วนเหล่านั้นยื่นคำร้อง ท่านว่าศาลจะสั่งให้กำจัดหุ้นส่วนผู้ต้นเหตุนั้นออกเสียจาก
ห้างหุ้นส่วนแทนสั่งให้เลิกห้างหุ้นส่วนก็ได้
	ในการแบ่งทรัพย์สินระหว่างห้างหุ้นส่วนกับผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งถูกกำจัดนั้น ท่านให้ตีราคา
ทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนตามราคาที่เป็นอยู่ในเวลาแรกยื่นคำร้องขอให้กำจัด
	มาตรา 1059 ถ้าเมื่อสิ้นกำหนดกาลซึ่งได้ตกลงกันไว้ และผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหลายหรือผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่ง
เคยได้จัดการอยู่ในระหว่างกำหนดนั้นยังคงดำเนินการค้าของห้างหุ้นส่วนอยู่ต่อไปโดยมิได้ชำระ
บัญชี หรือชำระเงินกันให้เสร็จไปไซร้ ท่านให้ถือว่าผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งปวงได้ตกลงคงทำการเป็นหุ้น
ส่วนกันสืบไปโดยไม่มีกำหนดกาล
	มาตรา 1060 ในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งกล่าวไว้ใน มาตรา 1055 อนุมาตรา (4) หรือ อนุมาตรา (5)
นั้น  ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนที่ยังอยู่รับซื้อหุ้นของผู้ที่ออกจากหุ้นส่วนไปไซร้  ท่านว่าสัญญาหุ้นส่วนนั้นก็
ยังคงใช้ได้ต่อไปในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนที่ยังอยู่ด้วยกัน
	มาตรา 1061 เมื่อห้างหุ้นส่วนเลิกกันแล้วก็ให้จัดการชำระบัญชี เว้นแต่จะได้ตกลงกันให้จัดการทรัพย์
สินโดยวิธีอื่นในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกัน หรือว่าห้างหุ้นส่วนนั้นศาลได้พิพากษาให้ล้มละลาย
	ถ้าการเลิกห้างหุ้นส่วนนั้นได้เป็นไปโดยที่เจ้าหนี้เฉพาะตัวของผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่ง
ได้ให้คำบอกกล่าวก็ดี  หรือโดยที่ผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งล้มละลายก็ดี  ท่านว่าจะงดการชำระ
บัญชีเสียได้ต่อเมื่อเจ้าหนี้คนนั้น หรือเจ้าพนักงานรักษาทรัพย์ยินยอมด้วย
	การชำระบัญชีนั้น  ให้ผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมดด้วยกันจัดทำหรือให้บุคคลอื่นซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วน
ได้ตั้งแต่งขึ้นนั้นเป็นผู้จัดทำ
	การตั้งแต่งผู้ชำระบัญชี  ให้วินิจฉัยชี้ขาดโดยคะแนนเสียงข้างมากของผู้เป็นหุ้นส่วน
	มาตรา 1062 การชำระบัญชี ให้ทำโดยลำดับดั่งนี้  คือ
	(1)  ให้ชำระหนี้ทั้งหลายซึ่งค้างชำระแก่บุคคลภายนอก
	(2)  ให้ชดใช้เงินทดรองและค่าใช้จ่ายซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนได้ออกของตนไปเพื่อจัดการค้า
ของห้าง
	(3)  ให้คืนทุนทรัพย์ซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนแต่ละคนได้ลงเป็นหุ้น
	ถ้ายังมีทรัพย์เหลืออยู่อีกเท่าไร  ก็ให้เฉลี่ยแจกเป็นกำไรในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วน
	มาตรา 1063 ถ้าเมื่อได้ชำระหนี้ซึ่งค้างชำระแก่บุคคลภายนอก และชดใช้เงินทดรองและค่าใช้จ่ายแล้ว
สินทรัพย์ที่ยังอยู่ไม่พอจะคืนแก่ผู้เป็นหุ้นส่วนให้ครบจำนวนที่ลงหุ้นไซร้  ส่วนที่ขาดนี้คือขาดทุน
ซึ่งต้องคิดเฉลี่ยช่วยกันขาด

	ส่วนที่ 5
	การจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนสามัญ

	มาตรา 1064 อันห้างหุ้นส่วนสามัญนั้นจะจดทะเบียนก็ได้
	การจดทะเบียนนั้นท่านบังคับให้มีรายการดั่งนี้  คือ
	(1)  ชื่อห้างหุ้นส่วน
	(2)  วัตถุที่ประสงค์ของห้างหุ้นส่วน
	(3)  ที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่ และสาขาทั้งปวง
	(4)  ชื่อและที่สำนัก กับทั้งอาชีวะของผู้เป็นหุ้นส่วนทุกๆ คน ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดมีชื่อ
ยี่ห้อ ก็ให้ลงทะเบียนทั้งชื่อและยี่ห้อด้วย
	(5)  ชื่อหุ้นส่วนผู้จัดการ ในเมื่อได้ตั้งแต่งให้เป็นผู้จัดการแต่เพียงบางคน
	(6)  ถ้ามีข้อจำกัดอำนาจของหุ้นส่วนผู้จัดการประการใดให้ลงไว้ด้วย
	(7)  ตราซึ่งใช้เป็นสำคัญของห้างหุ้นส่วน
	ข้อความซึ่งลงทะเบียนนั้นจะลงรายการอื่นๆอีกอันคู่สัญญาเห็นสมควรจะให้ประชาชน
ทราบด้วยก็ได้
	การลงทะเบียนนั้น ต้องลงลายมือชื่อของผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน และต้องประทับตราของ
ห้างหุ้นส่วนนั้นด้วย
	ให้พนักงานทะเบียนทำใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนส่งมอบให้แก่ห้างหุ้นส่วนนั้น
ฉบับหนึ่ง
	" มาตรา 1064/1 หุ้นส่วนผู้จัดการคนใดในห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนจะลาออกจากตำแหน่งให้ยื่น
ใบลาออกต่อหุ้นส่วนผู้จัดการอื่นคนหนึ่งคนใด การลาออกมีผลนับแต่วันที่ใบลาออกไปถึงหุ้นส่วนผู้จัด
การอื่นนั้น
	ในกรณีที่ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนมีหุ้นส่วนผู้จัดการคนเดียว ให้หุ้นส่วนผู้จัดการที่จะลาออก
จากตำแหน่งแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งคนใดทราบเพื่อนัดประชุมและพิจารณาตั้งผู้จัด
การคนใหม่ พร้อมกับแนบใบลาออกไปด้วย การลาออกมีผลนับแต่วันที่ใบลาออกไปถึงหุ้นส่วนคนนั้น
	หุ้นส่วนผู้จัดการซึ่งลาออกตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง จะแจ้งการลาออกของตนให้นาย
ทะเบียนทราบด้วยก็ได้
	"มาตรา 1064/2 เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงหุ้นส่วนผู้จัดการ ให้ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนนำความไป
จดทะเบียนภายในสิบสี่วันนับแต่วันที่มีการเปลี่ยนแปลง"
	"มาตรา 1064/1-2 เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
(ฉบับที่ 15) พ.ศ. 2549
	มาตรา 1065 ผู้เป็นหุ้นส่วนอาจถือเอาประโยชน์แก่บุคคลภายนอกในบรรดาสิทธิอันห้างหุ้นส่วนจด
ทะเบียนนั้นได้มา  แม้ในกิจการซึ่งไม่ปรากฏชื่อของตน
	มาตรา 1066 ห้ามมิให้ผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งคนใดในห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนประกอบกิจการอย่างหนึ่ง
อย่างใดอันมีสภาพเป็นอย่างเดียวกัน และเป็นการแข่งขันกับกิจการของห้างหุ้นส่วนนั้น  ไม่ว่าทำ
เพื่อประโยชน์ตนหรือเพื่อประโยชน์ผู้อื่น  หรือไปเข้าเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วน
อื่น ซึ่งประกอบกิจการอันมีสภาพเป็นอย่างเดียวกัน  และแข่งขันกับกิจการของห้างหุ้นส่วน
จดทะเบียนนั้น เว้นไว้แต่จะได้รับคำยินยอมของผู้เป็นหุ้นส่วนอื่นทั้งหมด
	แต่ข้อห้ามเช่นว่ามานี้  ท่านว่าจะไม่พึงใช้ได้ ถ้าหากผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหลายได้รู้อยู่แล้ว
ในเวลาเมื่อลงทะเบียนห้างหุ้นส่วนนั้นว่า ผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งได้ทำกิจการ  หรือเข้าเป็นหุ้นส่วน
อยู่ในห้างหุ้นส่วนอื่นอันมีวัตถุที่ประสงค์อย่างเดียวกัน และในสัญญาเข้าหุ้นส่วนที่ทำไว้ต่อกันนั้น
ก็ไม่ได้บังคับให้ถอนตัวออก
	มาตรา 1067 ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดกระทำฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติในมาตราก่อนนี้ไซร้ ท่านว่าห้างหุ้นส่วน
ซึ่งจดทะเบียนนั้น ชอบที่จะเรียกเอาผลกำไรอันผู้นั้นหาได้ทั้งหมด หรือเรียกเอาค่าสินไหมทดแทน
เพื่อความเสียหายซึ่งห้างหุ้นส่วนได้รับเพราะเหตุนั้น
	แต่ทั้งนี้ท่านห้ามมิให้ฟ้องเรียกเมื่อพ้นเวลาปีหนึ่งนับแต่วันทำการฝ่าฝืน
	อนึ่ง บทบัญญัติมาตรานี้ไม่ลบล้างสิทธิของผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหลายนอกนั้น ในอันจะเรียก
ให้เลิกห้างหุ้นส่วน
	มาตรา 1068 ความรับผิดของผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนอันเกี่ยวแก่หนี้ซึ่งห้างหุ้นส่วนได้
ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่ตนออกจากหุ้นส่วนนั้น ย่อมมีจำกัดเพียงสองปีนับแต่เมื่อออกจากหุ้นส่วน
	มาตรา 1069 นอกจากในกรณีทั้งหลายที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 1055 ท่านว่าห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน
ย่อมเลิกกันเมื่อห้างหุ้นส่วนนั้นล้มละลาย
	มาตรา 1070 เมื่อใดห้างหุ้นส่วนซึ่งจดทะเบียนผิดนัดชำระหนี้ เมื่อนั้นเจ้าหนี้ของห้างหุ้นส่วนนั้นชอบที่
จะเรียกให้ชำระหนี้เอาแต่ผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งก็ได้
	มาตรา 1071 ในกรณีที่กล่าวไว้ใน มาตรา 1070 นั้น  ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนนำพิสูจน์ได้ว่า
	(1) สินทรัพย์ของห้างหุ้นส่วนยังมีพอที่จะชำระหนี้ได้ทั้งหมดหรือบางส่วน และ
	(2) การที่จะบังคับเอาแก่ห้างหุ้นส่วนนั้นไม่เป็นการยากฉะนี้ไซร้
	ศาลจะบังคับให้เอาสินทรัพย์ของห้างหุ้นส่วนนั้นชำระหนี้ก่อนก็ได้  สุดแต่ศาลจะเห็นสมควร
	มาตรา 1072 ถ้าห้างหุ้นส่วนซึ่งจดทะเบียนยังมิได้เลิกกันตราบใด  เจ้าหนี้ของผู้เป็นหุ้นส่วนเฉพาะตัว
ย่อมใช้สิทธิได้แต่เพียงในผลกำไร หรือเงินซึ่งห้างหุ้นส่วนค้างชำระแก่ผู้เป็นหุ้นส่วนคนนั้นเท่านั้น
ถ้าห้างหุ้นส่วนนั้นเลิกกันแล้ว  เจ้าหนี้ย่อมใช้สิทธิได้ตลอดจนถึงหุ้นของผู้เป็นหุ้นส่วนคนนั้นอันมี
ในสินทรัพย์ของห้างหุ้นส่วน

	ส่วนที่ 6
	การควบห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนเข้ากัน

	มาตรา 1073 ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนห้างหนึ่งจะควบเข้าเป็นอันเดียวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนอีก
ห้างหนึ่งก็ได้  โดยความยินยอมของผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมด เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น
	มาตรา 1074 เมื่อห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนห้างใดปลงใจจะควบเข้ากันกับห้างอื่น  ห้างหุ้นส่วนนั้นต้อง
โฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่นั้นสองครั้งเป็นอย่างน้อย และส่งคำบอกกล่าวความประสงค์ที่จะ
ควบเข้ากันนั้นแก่บรรดาผู้ซึ่งห้างหุ้นส่วนรู้ว่าเป็นเจ้าหนี้ และขอให้เจ้าหนี้ผู้มีข้อคัดค้านอย่างหนึ่ง
อย่างใดในการที่จะทำนั้นส่งคำคัดค้านไปภายในสามเดือนนับแต่วันบอกกล่าว
	ถ้าไม่มีใครคัดค้านภายในกำหนดเวลาเช่นว่านั้น ก็ให้พึงถือว่าไม่มีคัดค้าน
	ถ้ามีคัดค้านไซร้ ท่านมิให้ห้างหุ้นส่วนจัดการควบเข้ากัน เว้นแต่จะได้ใช้หนี้ที่เรียกร้อง
หรือให้ประกันเพื่อหนี้นั้นแล้ว
	มาตรา 1075 เมื่อห้างได้ควบเข้ากันแล้ว ต่างห้างก็ต่างมีหน้าที่จะต้องนำความนั้นไปจดลงทะเบียน
ว่าได้ควบเข้ากันเป็นห้างหุ้นส่วนขึ้นใหม่
	มาตรา 1076 ห้างหุ้นส่วนใหม่นี้ย่อมได้ไปทั้งสิทธิ ทั้งต้องอยู่ในความรับผิดของห้างหุ้นส่วนเดิมที่ได้ควบ
เข้ากันนั้นทั้งสิ้น

	หมวด 3
	ห้างหุ้นส่วนจำกัด

	มาตรา 1077 อันห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้น  คือ ห้างหุ้นส่วนประเภทหนึ่ง  ซึ่งมีผู้เป็นหุ้นส่วนสองจำพวก
ดั่งจะกล่าวต่อไปนี้ คือ
	(1)  ผู้เป็นหุ้นส่วนคนเดียวหรือหลายคนซึ่งมีจำกัดความรับผิดเพียงไม่เกินจำนวนเงินที่
ตนรับจะลงหุ้นในห้างหุ้นส่วนนั้นจำพวกหนึ่ง และ
	(2)  ผู้เป็นหุ้นส่วนคนเดียวหรือหลายคนซึ่งต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ของห้างหุ้น
ส่วนไม่มีจำกัดจำนวนอีกจำพวกหนึ่ง
	มาตรา 1078 อันห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้น ท่านบังคับว่าต้องจดทะเบียน
	การลงทะเบียนนั้นต้องมีรายการดั่งต่อไปนี้ คือ
	(1)  ชื่อห้างหุ้นส่วน
	(2)  ข้อแถลงความว่าเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด และวัตถุที่ประสงค์ของห้างหุ้นส่วนนั้น
	(3)  ที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่ และสำนักงานสาขาทั้งปวง
	(4)  ชื่อ ยี่ห้อ สำนัก และอาชีวะของผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด และจำนวน
เงินซึ่งเขาเหล่านั้นได้ลงหุ้นด้วยในห้างหุ้นส่วน
	(5)  ชื่อ ยี่ห้อ สำนัก และอาชีวะของผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด
	(6)  ชื่อหุ้นส่วนผู้จัดการ
	(7)  ถ้ามีข้อจำกัดอำนาจหุ้นส่วนผู้จัดการอันจะผูกพันห้างหุ้นส่วนนั้นประการใด ให้ลง
ไว้ด้วย
	ข้อความซึ่งลงทะเบียนนั้น จะลงรายการอื่นๆ อีกอันคู่สัญญาเห็นสมควรจะให้ประชาชน
ทราบด้วยก็ได้
	การลงทะเบียนนั้น ต้องลงลายมือชื่อของผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน และต้องประทับตราของ
ห้างหุ้นส่วนนั้นด้วย
	ให้พนักงานทะเบียนทำใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนส่งมอบให้แก่ห้างหุ้นส่วนนั้น
ฉบับหนึ่ง
	"มาตรา 1078/1 หุ้นส่วนผู้จัดการคนใดจะลาออกจากตำแหน่ง ให้ยื่นใบลาออกต่อหุ้นส่วนผู้จัด
การคนหนึ่งคนใด การลาออกมีผลนับแต่วันที่ใบลาออกไปถึงหุ้นส่วนผู้จัดการอื่นนั้น
	ในกรณีที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดมีหุ้นส่วนผู้จัดการคนเดียว ให้หุ้นส่วนผู้จัดการที่จะลาออกจาก
ตำแหน่งแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งคนใดทราบเพื่อนัดประชุมและพิจารณาตั้งหุ้นส่วนผู้
จัดการคนใหม่ พร้อมกับแนบใบลาออกไปด้วย การลาออกมีผลนับแต่วันที่ใบลาออกไปถึงหุ้นส่วนผู้นั้น
	หุ้นส่วนผู้จัดการซึ่งลาออกตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง จะแจ้งการลาออกของตนให้นาย
ทะเบียนทราบด้วยก็ได้
	"มาตรา 1078/2 เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงหุ้นส่วนผู้จัดการ ให้ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนนำความไป
จดทะเบียนภายในสิบสี่วันนับแต่วันที่มีการเปลี่ยนแปลง"
	“มาตรา 1078/1-2 เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
(ฉบับที่ 15) พ.ศ. 2549
	มาตรา 1079 อันห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้น  ถ้ายังมิได้จดทะเบียนอยู่ตราบใด ท่านให้ถือว่าเป็นห้างหุ้นส่วน
สามัญซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมดย่อมต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนโดยไม่มีจำกัด
จำนวนจนกว่าจะได้จดทะเบียน
	มาตรา 1080 บทบัญญัติว่าด้วยห้างหุ้นส่วนสามัญข้อใดๆ หากมิได้ยกเว้นหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงไป
โดยบทบัญญัติแห่ง หมวด 3 นี้  ท่านให้นำมาใช้บังคับแก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดด้วย
	ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดนั้นมีอยู่หลายคนด้วยกัน  ท่านให้ใช้บท
บัญญัติสำหรับห้างหุ้นส่วนสามัญเป็นวิธีบังคับในความเกี่ยวพันระหว่างคนเหล่านั้นเอง และ
ความเกี่ยวพันระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนเหล่านั้นกับห้างหุ้นส่วน
	มาตรา 1081 ห้ามมิให้เอาชื่อของผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดมาเรียกขานระคนเป็นชื่อห้าง
	มาตรา 1082 ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดคนใดยินยอมโดยแสดงออกชัดหรือโดย
ปริยายให้ใช้ชื่อของตนระคนเป็นชื่อห้างไซร้ ท่านว่าผู้เป็นหุ้นส่วนคนนั้นจะต้องรับผิดต่อบุคคล
ภายนอกเสมือนดั่งว่าเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดฉะนั้น
	แต่ในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนกันเองนั้น ความรับผิดของผู้เป็นหุ้นส่วนเช่นนี้ ท่านให้คง
บังคับตามสัญญาหุ้นส่วน
	มาตรา 1083 การลงหุ้นของผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดนั้น ท่านว่าต้องให้ลงเป็นเงินหรือ
ทรัพย์สินอย่างอื่นๆ
	มาตรา 1084 ห้ามมิให้แบ่งเงินปันผลหรือดอกเบี้ยให้แก่ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด นอกจาก
ผลกำไรซึ่งห้างหุ้นส่วนทำมาค้าได้
	ถ้าทุนของห้างหุ้นส่วนลดน้อยลงไปเพราะถ้าขายขาดทุน ท่านห้ามมิให้แบ่งเงินปันผล
หรือดอกเบี้ยให้แก่ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดจนกว่าทุนซึ่งขาดไปนั้นจะได้คืนมาเต็ม
จำนวนเดิม
	แต่ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดคนใดได้รับเงินปันผลหรือดอกเบี้ยไปแล้ว
โดยสุจริต ท่านว่าหาอาจจะบังคับให้เขาคืนเงินนั้นได้ไม่
	มาตรา 1085 ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดได้แสดงด้วยจดหมายหรือใบแจ้งความหรือ
ด้วยวิธีอย่างอื่นให้บุคคลภายนอกทราบว่าตนได้ลงหุ้นไว้มากกว่าจำนวนซึ่งได้จดทะเบียนเพียงใด
ท่านว่าผู้นั้นจะต้องรับผิดเท่าถึงจำนวนเพียงนั้น
	มาตรา 1086 ข้อซึ่งตกลงกันในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหลายเพื่อจะเปลี่ยนแปลงประเภททรัพย์สินที่
ลงหุ้น  หรือเพื่อจะลดจำนวนลงหุ้นแห่งผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดคนหนึ่งคนใดนั้น
ท่านว่ายังไม่เป็นผลแก่บุคคลภายนอกจนกว่าจะได้จดทะเบียน
	เมื่อได้จดทะเบียนแล้วไซร้ ข้อตกลงนั้นๆ ก็ย่อมมีผลแต่เพียงเฉพาะแก่หนี้อันห้างหุ้นส่วน
ได้ก่อให้เกิดขึ้นภายหลังเวลาที่ได้จดทะเบียนแล้วเท่านั้น
	มาตรา 1087 อันห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้น  ท่านว่าต้องให้แต่เฉพาะผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับ
ผิดเท่านั้นเป็นผู้จัดการ
	มาตรา 1088 ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดผู้ใดได้เข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของ
ห้างหุ้นส่วน ท่านว่าผู้นั้นจะต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ทั้งหลายของห้างหุ้นส่วนนั้นโดยไม่จำกัด
จำนวน
	แต่การออกความเห็นและแนะนำก็ดี  ออกเสียงเป็นคะแนนนับในการตั้งและถอดถอน
ผู้จัดการตามกรณีที่มีบังคับไว้ในสัญญาหุ้นส่วนนั้นก็ดี  ท่านหานับว่าเป็นสอดเข้าเกี่ยวข้องจัดการ
งานของห้างหุ้นส่วนนั้นไม่
	มาตรา 1089 ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดนั้น จะตั้งให้เป็นผู้ชำระบัญชีของห้างหุ้นส่วนก็ได้
	มาตรา 1090 ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดจะประกอบการค้าขายอย่างใดๆ เพื่อประโยชน์
ตนหรือเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกก็ได้ แม้ว่าการงานเช่นนั้นจะมีสภาพเป็นอย่างเดียวกันกับ
การค้าขายของห้างหุ้นส่วนก็ไม่ห้าม
	มาตรา 1091 ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดจะโอนหุ้นของตนปราศจากความยินยอมของผู้
เป็นหุ้นส่วนอื่นๆ  ก็โอนได้
	มาตรา 1092 การที่ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดตายก็ดี ล้มละลาย หรือตกเป็นคนไร้ความ
สามารถก็ดี  หาเป็นเหตุให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดต้องเลิกกันไม่  เว้นแต่จะได้มีข้อสัญญากันไว้เป็น
อย่างอื่น
	มาตรา 1093 ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดผู้ใดตาย ท่านว่าทายาทของผู้นั้นย่อมเข้าเป็น
หุ้นส่วนแทนที่ผู้ตาย เว้นแต่จะได้มีข้อสัญญากันไว้เป็นอย่างอื่น
	มาตรา 1094 ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดผู้ใดล้มละลาย ท่านว่าต้องเอาหุ้นของผู้นั้นใน
ห้างหุ้นส่วนออกขายเป็นสินทรัพย์ในกองล้มละลาย
	มาตรา 1095 ตราบใดห้างหุ้นส่วนจำกัดยังมิได้เลิกกัน  ตราบนั้นเจ้าหนี้ของห้างย่อมไม่มีสิทธิจะฟ้อง
ร้องผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดได้
	แต่เมื่อห้างหุ้นส่วนนั้นได้เลิกกันแล้ว เจ้าหนี้ของห้างมีสิทธิฟ้องร้องผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวก
จำกัดความรับผิดได้เพียงจำนวนดังนี้ คือ
	(1)  จำนวนลงหุ้นของผู้เป็นหุ้นส่วนเท่าที่ยังค้างส่งแก่ห้างหุ้นส่วน
	(2)  จำนวนลงหุ้นเท่าที่ผู้เป็นหุ้นส่วนได้ถอนไปจากสินทรัพย์ของห้างหุ้นส่วน
	(3)  จำนวนเงินปันผลและดอกเบี้ยซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนได้รับไปแล้วโดยทุจริตและฝ่าฝืนต่อบท
มาตรา 1084.

	หมวด 4
	บริษัทจำกัด
	ส่วนที่ 1
	สภาพและการตั้งบริษัทจำกัด

	มาตรา 1096 อันว่าบริษัทจำกัดนั้น คือ บริษัทประเภทซึ่งตั้งขึ้นด้วยแบ่งทุนเป็นหุ้นมีมูลค่าเท่าๆ กัน
โดยผู้ถือหุ้นต่างรับผิดจำกัดเพียงไม่เกินจำนวนเงินที่ตนยังส่งใช้ไม่ครบมูลค่าของหุ้นที่ตนถือ
	**แก้ไขโดย มาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
(ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2535 (รจ. เล่ม 109 ตอนที่ 43 วันที่ 8 เมษายน 2535)
	"มาตรา 1096 ทวิ (ยกเลิกโดย มาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวล
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2535 (รจ. เล่ม 109 ตอนที่ 43 วันที่ 8 เมษายน 2535)
	มาตรา 1097 บุคคลใด ๆ ตั้งแต่สามคนขึ้นไปจะเริ่มก่อการและตั้งเป็นบริษัทจำกัดก็ได้ โดยเข้าชื่อกัน
ทำหนังสือบริคณห์สนธิ และกระทำการอย่างอื่นตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้
	*แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 18)
พ.ศ. 2551
	มาตรา 1098 หนังสือบริคณห์สนธินั้นต้องมีรายการดั่งต่อไปนี้  คือ
	(1)  ชื่อบริษัทอันคิดจะตั้งขึ้น ซึ่งต้องมีคำว่า "จำกัด" ไว้ปลายชื่อนั้นด้วยเสมอไป
	(2)  ที่สำนักงานของบริษัทซึ่งบอกทะเบียนนั้นจะตั้งอยู่ ณ ที่ใดในพระ ราชอาณาเขต
	(3)  วัตถุที่ประสงค์ทั้งหลายของบริษัท
	(4)  ถ้อยคำสำแดงว่า  ความรับผิดของผู้ถือหุ้นจะมีจำกัด
	(5)  จำนวนทุนเรือนหุ้นซึ่งบริษัทคิดกำหนดจะจดทะเบียนแบ่งออกเป็นหุ้นมีมูลค่า
กำหนดหุ้นละเท่าไร
	(6)  ชื่อ สำนัก อาชีวะ และลายมือชื่อของบรรดาผู้เริ่มก่อการ ทั้งจำนวนหุ้นซึ่งต่างคน
ต่างเข้าชื่อซื้อไว้คนละเท่าใด
	มาตรา 1099 หนังสือบริคณห์สนธินั้น ท่านให้ทำเป็นต้นฉบับไว้ไม่น้อยกว่าสองฉบับ และให้ลงลาย
มือชื่อของบรรดาผู้เริ่มก่อการ และลายมือชื่อทั้งปวงนั้นให้มีพยานลงชื่อรับรองด้วยสองคน
	หนังสือบริคณห์สนธิซึ่งได้ทำนั้น ท่านบังคับให้นำฉบับหนึ่งไปจดทะเบียนและมอบไว้ ณ
หอทะเบียนในส่วนพระราชอาณาเขตซึ่งบ่งไว้ว่าจะบอกทะเบียนตั้งสำนักงานของบริษัทนั้น
	มาตรา 1100 ผู้เริ่มก่อการทุกคนต้องลงชื่อซื้อหุ้นๆ หนึ่งเป็นอย่างน้อย
	มาตรา 1101 บุคคลซึ่งเป็นกรรมการของบริษัทจำกัดจะรับผิดโดยไม่จำกัดก็ได้ ถ้ากรณีเป็นเช่นนั้นไซร้
ท่านว่าต้องจดแถลงความรับผิดเช่นนั้นลงไว้ในหนังสือบริคณห์สนธิด้วย
	อันความรับผิดโดยไม่จำกัดของผู้เป็นกรรมการนั้น ย่อมถึงที่สุดเมื่อล่วงเวลาสองปีนับแต่
วันที่ตัวเขาออกจากตำแหน่งกรรมการ
	มาตรา 1102 ห้ามมิให้ชี้ชวนประชาชนให้ซื้อหุ้น
	**แก้ไขโดย มาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
(ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2521 (รจ. เล่ม 95 ตอนที่ 149 วันที่ 25 ธันวาคม 2521)
	มาตรา 1103 (ยกเลิก)
	**ยกเลิกโดย มาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
(ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2521 (รจ. เล่ม 95 ตอนที่ 149 วันที่ 25 ธันวาคม 2521)
	มาตรา 1104 จำนวนหุ้นทั้งหมดซึ่งบริษัทคิดจะจดทะเบียนนั้น  ต้องมีผู้เข้าชื่อซื้อหรือออกให้กันเสร็จ
ก่อนการจดทะเบียนของบริษัท
	มาตรา 1105 อันหุ้นนั้น  ท่านห้ามมิให้ออกโดยราคาต่ำไปกว่ามูลค่าของหุ้นที่ตั้งไว้
	การออกหุ้นโดยราคาสูงกว่ามูลค่าของหุ้นที่ตั้งไว้นั้น หากว่าหนังสือบริคณห์สนธิให้
อำนาจไว้ ก็ให้ออกได้ และในกรณีเช่นนั้น ต้องส่งใช้จำนวนที่ล้ำมูลค่าพร้อมกันไปกับการส่งใช้
เงินคราวแรก
	อนึ่ง เงินส่งใช้ค่าหุ้นคราวแรกนั้น ต้องมิให้น้อยกว่าร้อยละยี่สิบห้าแห่งมูลค่าของหุ้นที่
ตั้งไว้
	มาตรา 1106 การที่เข้าชื่อซื้อหุ้นนั้น ย่อมผูกพันผู้เข้าชื่อโดยเงื่อนไขว่าถ้าบริษัทตั้งขึ้นแล้ว จะใช้
จำนวนเงินค่าหุ้นนั้นๆ ให้แก่บริษัทตามหนังสือชี้ชวนและข้อบังคับของบริษัท
	มาตรา 1107 เมื่อหุ้นชนิดซึ่งจะต้องลงเงินนั้นได้มีผู้เข้าชื่อซื้อหมดแล้ว ผู้เริ่มก่อการต้องนัดบรรดา
ผู้เข้าชื่อซื้อหุ้นมาประชุมกันเป็นการประชุมใหญ่โดยไม่ชักช้า ประชุมอันนี้ให้เรียกว่าประชุมตั้ง
บริษัท
	อนึ่ง ให้ผู้เริ่มก่อการส่งรายงานการตั้งบริษัทมีคำรับรองของตนว่าถูกต้อง และมีข้อความที่
เกี่ยวแก่กิจการอันจะพึงกระทำในที่ประชุมตั้งบริษัททุกๆ ข้อตามความในมาตราต่อไปนี้ไปยังผู้เข้า
ชื่อซื้อหุ้นทุกคนอย่างน้อยเจ็ดวันก่อนวันนัดประชุม
	เมื่อได้ส่งรายงานตั้งบริษัทแก่ผู้เข้าชื่อซื้อหุ้นแล้ว ผู้เริ่มก่อการต้องจัดส่งสำเนารายงาน
อันมีคำรับรองว่าถูกต้องตามที่บังคับไว้ในมาตรานี้ไปยังนายทะเบียนบริษัทโดยพลัน
	อนึ่ง  ให้ผู้เริ่มก่อการจัดให้มีบัญชีแถลงรายชื่อ ฐานะ และสำนักของผู้เข้าชื่อซื้อหุ้นกับ
จำนวนหุ้นซึ่งต่างคนได้ลงชื่อซื้อไว้เพื่อเสนอต่อที่ประชุมนั้นด้วย
	บทบัญญัติทั้งหลายแห่ง มาตรา 1176 ,1187,1188, 1189,1191,1192 และ 1195 นั้น
ท่านให้นำมาใช้บังคับแก่การประชุมตั้งบริษัทด้วยโดยอนุโลม
	มาตรา 1108 กิจการอันจะพึงทำในที่ประชุมตั้งบริษัทนั้น คือ
	(1)  ทำความตกลงตั้งข้อบังคับต่าง ๆ ของบริษัท ทั้งนี้ อาจกำหนดวิธีการแก้ไขปัญหาหรือ
ข้อขัดแย้งที่ไม่สามารถหาข้อยุติระหว่างกรรมการหรือผู้ถือหุ้นไว้ด้วยก็ได้
	(2)  ให้สัตยาบันแก่บรรดาสัญญาซึ่งผู้เริ่มก่อการได้ทำไว้ และค่าใช้จ่ายอย่างหนึ่งอย่างใด
ซึ่งเขาต้องออกไปในการเริ่มก่อบริษัท
	(3)  วางกำหนดจำนวนเงินซึ่งจะให้แก่ผู้เริ่มก่อการ ถ้าหากมีเจตนาว่าจะให้
	(4)  วางกำหนดจำนวนหุ้นบุริมสิทธิ ทั้งกำหนดสภาพและบุริมสิทธิแห่งหุ้นนั้นๆ ว่าเป็น
สถานใดเพียงใดถ้าหากจะมีหุ้นเช่นนั้นในบริษัท
	(5)  วางกำหนดจำนวนหุ้นสามัญ หรือหุ้นบุริมสิทธิซึ่งออกให้เหมือนหนึ่งว่าได้ใช้เต็มค่า
แล้ว  หรือได้ใช้แต่บางส่วนแล้วเพราะใช้ให้ด้วยอย่างอื่นนอกจากตัวเงินและกำหนดว่าเพียงใดซึ่ง
จะถือว่าเอาเป็นว่าได้ใช้เงินแล้ว ถ้าหากจะมีหุ้นเช่นนั้นในบริษัท
	ให้แถลงในที่ประชุมโดยเฉพาะว่าซึ่งจะออกหุ้นสามัญหรือหุ้นบุริมสิทธิให้เหมือนหนึ่งว่า
ได้ใช้เงินแล้วเช่นนั้น เพื่อแทนคุณแรงงาน หรือตอบแทนทรัพย์สินอย่างใด ให้พรรณนาจงชัดเจน
ทุกประการ
	(6)  เลือกตั้งกรรมการและพนักงานสอบบัญชีอันเป็นชุดแรกของบริษัท และวางกำหนด
อำนาจของคนเหล่านี้ด้วย
	*มาตรา 1108 (1) แก้ไขโดยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 21/2560
	มาตรา 1109 ผู้เริ่มก่อการหรือผู้เข้าชื่อซื้อหุ้นจะออกเสียงลงคะแนนไม่ได้  ถ้าตนมีส่วนได้เสียโดยพิเศษ
ในปัญหาที่ยกขึ้นวินิจฉัยนั้น
	อนึ่ง มติของที่ประชุมตั้งบริษัทย่อมไม่สมบูรณ์ เว้นแต่ที่ประชุมจะได้ลงมติโดยเสียงข้าง
มากอันมีคะแนนของผู้เข้าชื่อซื้อหุ้นรวมกันไม่น้อยกว่ากึ่งจำนวนผู้เข้าชื่อซื้อหุ้นทั้งหมดซึ่งมีสิทธิ
ลงคะแนนได้ และคิดตามจำนวนหุ้นรวมกันไม่น้อยกว่ากึ่งจำนวนหุ้นของผู้ถือหุ้นนั้นๆ ทั้งหมด
ด้วยกัน
	มาตรา 1110 เมื่อได้ประชุมตั้งบริษัทแล้ว  ให้ผู้เริ่มก่อการบริษัทมอบการทั้งปวงให้แก่กรรมการของ
บริษัท
	เมื่อกรรมการได้รับการแล้ว ก็ให้ลงมือจัดการเรียกให้ผู้เริ่มก่อการและผู้เข้าชื่อซื้อหุ้นทั้ง
หลายใช้เงินในหุ้นซึ่งจะต้องใช้เป็นตัวเงิน เรียกหุ้นหนึ่งไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบห้าตามที่ได้กำหนด
ไว้ในหนังสือชี้ชวนบอกกล่าวป่าวร้อง หรือหนังสือชวนให้ซื้อหุ้น
	มาตรา 1111 เมื่อจำนวนเงินซึ่งว่าไว้ใน มาตรา 1110 ได้ใช้เสร็จแล้ว กรรมการต้องไปขอจดทะเบียน
บริษัทนั้น
	คำขอและข้อความที่ลงในทะเบียนนั้น ให้ระบุรายการตามที่ได้ตกลงกันในที่ประชุมตั้ง
บริษัท ดั่งต่อไปนี้คือ
	(1)  จำนวนหุ้นทั้งสิ้นซึ่งได้มีผู้เข้าชื่อซื้อ หรือได้จัดออกให้แล้ว แยกให้ปรากฏว่าเป็น
ชนิดหุ้นสามัญเท่าใดหุ้นบุริมสิทธิเท่าใด
	(2)  จำนวนหุ้นสามัญหรือหุ้นบุริมสิทธิ ซึ่งออกให้เหมือนหนึ่งว่าได้ใช้เต็มค่าแล้ว หรือได้
ใช้แต่บางส่วนแล้ว นอกจากที่ใช้เป็นตัวเงิน และหุ้นที่ได้ใช้แต่บางส่วนนั้น ให้บอกว่าได้ใช้แล้ว
เพียงใด
	(3)  จำนวนเงินที่ได้ใช้แล้วหุ้นละเท่าใด
	(4)  จำนวนเงินที่ได้รับไว้เป็นค่าหุ้นรวมทั้งสิ้นเท่าใด
	(5)  ชื่อ อาชีวะ และที่สำนักของกรรมการทุกคน
	(6)  ถ้าให้กรรมการต่างมีอำนาจจัดการของบริษัทได้โดยลำพังตัว ให้แสดงอำนาจของ
กรรมการนั้นๆ ว่าคนใดมีเพียงใด และบอกจำนวนหรือชื่อกรรมการซึ่งจะลงชื่อเป็นสำคัญผูกพัน
บริษัทได้นั้นด้วย
	(7)  ถ้าตั้งบริษัทขึ้นชั่วกาลกำหนดอันหนึ่ง ให้บอกกาลกำหนดอันนั้นด้วย
	(8)  ที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่และสาขาทั้งปวง
	การลงทะเบียนจะมีรายการอย่างอื่นซึ่งกรรมการเห็นสมควรจะให้ทราบแก่ประชาชนก็
ลงได้
	ในการขอจดทะเบียนนั้น ถ้าได้ทำข้อบังคับของบริษัทไว้ประการใดบ้าง  ต้องส่งสำเนา
ข้อบังคับนั้นๆ ไปด้วย  กับทั้งสำเนารายงานการประชุมตั้งบริษัท  หนังสือทั้งสองนี้กรรมการต้อง
ลงลายมือชื่อรับรองคนหนึ่งเป็นอย่างน้อย
	*ยกเลิกวรรคห้าของมาตรา 1111 โดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่ง
และพาณิชย์ (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2551
	ให้พนักงานทะเบียนทำใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนส่งมอบให้แก่บริษัทฉบับหนึ่ง
	“มาตรา 1111/1 ในการจัดตั้งบริษัท ถ้าได้ดำเนินการครบทุกขั้นตอนดังต่อไปนี้ภายใน
วันเดียวกับวันที่ผู้เริ่มก่อการจัดทำหนังสือบริคณห์สนธิ กรรมการจะขอจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิ
และจดทะเบียนบริษัทไปพร้อมกันภายในวันเดียวกันก็ได้
	(1) จัดให้มีผู้เข้าชื่อซื้อหุ้นครบตามจำนวนหุ้นทั้งหมดที่บริษัทจะจดทะเบียน
	(2) ประชุมจัดตั้งบริษัทเพื่อพิจารณากิจการต่าง ๆ ตามมาตรา 1108 โดยมีผู้เริ่มก่อการและ
ผู้เข้าชื่อซื้อหุ้นทุกคนเข้าร่วมประชุม และผู้เริ่มก่อการและผู้เข้าชื่อซื้อหุ้นทุกคนให้ความเห็นชอบ
ในกิจการที่ได้ประชุมกันนั้น
	(3) ผู้เริ่มก่อการได้มอบกิจการทั้งปวงให้แก่กรรมการ
	(4) กรรมการได้เรียกให้ผู้เข้าชื่อซื้อหุ้นใช้เงินค่าหุ้นตามมาตรา 1110 วรรคสอง และเงินค่าหุ้น
ดังกล่าวได้ใช้เสร็จแล้ว”
	“มาตรา 1111/1 เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
(ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2551
	มาตรา 1112 ถ้าการจดทะเบียนมิได้ทำภายในสามเดือนนับแต่ประชุมตั้งบริษัทไซร้ ท่านว่าบริษัทนั้น
เป็นอันไม่ได้ตั้งขึ้น  และบรรดาเงินที่ได้รับไว้จากผู้เข้าชื่อซื้อหุ้นนั้นต้องใช้คืนเต็มจำนวนมิให้ลดเลย
	ถ้ามีจำนวนเงินเช่นว่านั้นค้างอยู่มิได้คืนในสามเดือนภายหลังการประชุมตั้งบริษัทไซร้
ท่านว่ากรรมการของบริษัทต้องรับผิดร่วมกันที่จะใช้ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยคิดตั้งแต่เวลาสิ้น
กำหนดสามเดือนนั้น
	แต่ถ้ากรรมการคนใดพิสูจน์ได้ว่า  การที่เงินขาดหรือที่ใช้คืนช้าไปมิได้เป็นเพราะความผิด
ของตนไซร้ กรรมการคนนั้นก็ไม่ต้องรับผิดในการใช้ต้นเงินหรือดอกเบี้ย
	มาตรา 1113 ผู้เริ่มก่อการบริษัทต้องรับผิดร่วมกันและโดยไม่จำกัดในบรรดาหนี้และการจ่ายเงินซึ่งที่
ประชุมตั้งบริษัทมิได้อนุมัติ และแม้จะได้มีอนุมัติก็ยังคงต้องรับผิดอยู่เช่นนั้นไปจนกว่าจะได้จด
ทะเบียนบริษัท
	มาตรา 1114 เมื่อบริษัทได้จดทะเบียนแล้ว  ผู้เข้าชื่อซื้อหุ้นจะร้องฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนการที่ตนได้
เข้าชื่อซื้อโดยยกเหตุว่าสำคัญผิด หรือต้องข่มขู่ หรือถูกลวงล่อฉ้อฉลนั้น ท่านว่าหาอาจทำได้ไม่
	มาตรา 1115 ถ้าหากว่าชื่อบริษัทซึ่งตั้งไว้ในหนังสือบริคณห์สนธิพ้องกับชื่อบริษัทอื่นซึ่งได้จดทะเบียน
แล้วก็ดี  หรือพ้องกับชื่อซึ่งตั้งไว้ในหนังสือบริคณห์สนธิฉบับอื่นอันได้จดทะเบียนแล้วก็ดี  หรือ
คล้ายคลึงกับชื่อเช่นกล่าวนั้นจนน่าจะลวงให้มหาชนหลงไปได้ก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้ที่มีส่วนได้เสีย
คนหนึ่งคนใดจะฟ้องเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เริ่มก่อการบริษัทก็ได้ และจะร้องขอให้ศาลสั่ง
บังคับให้เปลี่ยนชื่อนั้นเสียใหม่ก็ได้
	เมื่อศาลมีคำสั่งเช่นนั้นแล้ว ก็ต้องบอกชื่อซึ่งเปลี่ยนใหม่นั้นจดลงทะเบียนแทนชื่อเก่า
และต้องแก้ใบสำคัญการจดทะเบียนด้วยตามกันไป
	มาตรา 1116 บุคคลผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งประสงค์จะได้สำเนาหนังสือบริคณห์สนธิและข้อบังคับ
บรรดามีในบริษัทหนึ่งบริษัทใด ก็ชอบที่จะเรียกได้จากบริษัทนั้น ในการนี้บริษัทจะเรียกเอาเงิน
ไม่เกินฉบับละสิบบาทก็ได้
	“แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
(ฉบับที่ 14) พ.ศ.2548”

	ส่วนที่ 2
	หุ้นและผู้ถือหุ้น

	มาตรา 1117 มูลค่าของหุ้นๆ หนึ่งนั้น  มิให้ต่ำกว่าห้าบาท
	**แก้ไขโดย มาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2477 (ฉบับที่ 2 ) (รจ. เล่ม 52 ตอนที่ 3 วันที่ 21 เมษายน 2478)
	มาตรา 1118 อันหุ้นนั้น ท่านว่าจะแบ่งแยกหาได้ไม่ ถ้าบุคคลมีจำนวนแต่สองคนขึ้นไปถือหุ้นๆเดียวร่วม
กัน ท่านว่าต้องตั้งให้คนใดคนหนึ่งในจำนวนนั้นแต่คนเดียวเป็นผู้ใช้สิทธิในฐานเป็นผู้ถือหุ้น
	อนึ่ง บุคคลทั้งหลายซึ่งถือหุ้นๆ เดียวร่วมกัน  ต้องร่วมกันรับผิดต่อบริษัทในการส่งใช้
มูลค่าของหุ้น
	มาตรา 1119 หุ้นทุกๆ หุ้นจำต้องให้ใช้เป็นเงินจนเต็มค่า เว้นแต่หุ้นซึ่งออกตามบทบัญญัติ มาตรา 1108
อนุมาตรา (5) หรือ  มาตรา 1221
	ในการใช้เงินเป็นค่าหุ้นนั้น  ผู้ถือหุ้นจะหักหนี้กับบริษัทหาได้ไม่
	มาตรา 1120 บรรดาเงินค่าหุ้นซึ่งยังจะต้องส่งอีกนั้น  กรรมการจะเรียกให้ผู้ถือหุ้นส่งใช้เสียเมื่อใดก็ได้
เว้นแต่ที่ประชุมใหญ่จะได้วินิจฉัยเป็นอย่างอื่น
	มาตรา 1121 การเรียกเงินค่าหุ้นแต่ละคราวนั้น  ท่านบังคับว่าให้ส่งคำบอกกล่าวล่วงหน้าไม่ต่ำกว่า
ยี่สิบเอ็ดวันด้วยจดหมายส่งลงทะเบียนไปรษณีย์และผู้ถือหุ้นทุกคนจะต้องใช้เงินตามจำนวนที่
เรียกนั้น สุดแต่กรรมการจะได้กำหนดไปว่าให้ส่งไปยังผู้ใด ณ ที่ใด และเวลาใด
	มาตรา 1122 ถ้าและเงินอันจะพึงส่งใช้เป็นค่าหุ้นตามเรียกนั้น  ผู้ถือหุ้นคนใดมิได้ส่งใช้ตามวัน
กำหนดไซร้  ผู้นั้นจำต้องเสียดอกเบี้ยนับแต่วันที่กำหนดให้ส่งใช้จนถึงวันที่ได้ส่งเสร็จ
	มาตรา 1123 ถ้าผู้ถือหุ้นคนใดละเลยไม่ส่งใช้เงินที่เรียกค่าหุ้นตามวันกำหนด  กรรมการจะส่งคำบอก
กล่าวด้วยจดหมายส่งลงทะเบียนไปรษณีย์ไปยังผู้นั้นให้ส่งใช้เงินที่เรียกกับทั้งดอกเบี้ยด้วยก็ได้
	ในคำบอกกล่าวอันนี้  ให้กำหนดเวลาไปพอสมควรเพื่อให้ใช้เงินที่เรียกกับทั้งดอกเบี้ย
และต้องบอกไปด้วยว่าให้ส่งใช้ ณ สถานที่ใด อนึ่ง ในคำบอกกล่าวนั้นจะแจ้งไปด้วยก็ได้ว่าถ้าไม่
ใช้เงินตามเรียก หุ้นนั้นอาจจะถูกริบ
	มาตรา 1124 ถ้าในคำบอกกล่าวมีข้อแถลงความถึงการริบหุ้นด้วยแล้ว หากเงินค่าหุ้นที่เรียกกับทั้ง
ดอกเบี้ย ยังคงค้างชำระอยู่ตราบใดกรรมการจะบอกริบหุ้นนั้นๆ เมื่อใดก็ได้
	มาตรา 1125 หุ้นซึ่งริบแล้วนั้นให้เอาออกขายทอดตลาดโดยไม่ชักช้า ได้จำนวนเงินเท่าใด ให้เอาหักใช้
ค่าหุ้นที่เรียกกับดอกเบี้ยค้างชำระ ถ้ายังมีเงินเหลือเท่าใดต้องส่งคืนให้แก่ผู้ถือหุ้นนั้น
	มาตรา 1126 แม้ว่าวิธีการริบหุ้นขายหุ้นจะไม่ถูกต้องด้วยระเบียบก็ดี ท่านว่าหาเหตุให้สิทธิของผู้ซื้อหุ้น
ซึ่งริบนั้นเสื่อมเสียไปอย่างไรไม่
	มาตรา 1127 ให้บริษัททำใบหุ้น คือใบสำคัญสำหรับหุ้นใบหนึ่งหรือหลายใบ มอบให้เป็นคู่มือแก่ผู้ถือหุ้น
จงทุกๆ คน
	เมื่อมอบใบหุ้นนั้น จะเรียกค่าธรรมเนียมก็ได้ สุดแต่กรรมการจะกำหนด แต่มิให้เกินสิบบาท
	“วรรคสองแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
(ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2548”
	มาตรา 1128 ในใบหุ้นทุก ๆ ใบให้กรรมการอย่างน้อยหนึ่งคนลงลายมือชื่อเป็นสำคัญ
	ในใบหุ้นนั้นต้องมีข้อความต่อไปนี้ คือ
	(1)  ชื่อบริษัท
	(2)  เลขหมายหุ้นที่กล่าวถึงในใบหุ้นนั้น
	(3)  มูลค่าหุ้นหนึ่งเป็นเงินเท่าใด
	(4)  ถ้าและเป็นหุ้นที่ยังไม่ได้ใช้เงินเสร็จ ให้จดลงว่าได้ใช้เงินค่าหุ้น แล้วหุ้นละเท่าใด
	(5)  ชื่อผู้ถือหุ้น  หรือคำแถลงว่าได้ออกใบหุ้นนั้นให้แก่ผู้ถือ
	*มาตรา 1128 วรรคหนึ่ง แก้ไขโดยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 21/2560
	มาตรา 1129 อันว่าหุ้นนั้นย่อมโอนกันได้โดยมิต้องได้รับความยินยอมของบริษัท  เว้นแต่เมื่อเป็นหุ้น
ชนิดระบุชื่อลงในใบหุ้นซึ่งมีข้อบังคับของบริษัทกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น
	การโอนหุ้นชนิดระบุชื่อลงในใบหุ้นนั้น ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อของผู้โอน
กับผู้รับโอน  มีพยานคนหนึ่งเป็นอย่างน้อยลงชื่อรับรองลายมือนั้นๆ ด้วยแล้ว ท่านว่าเป็นโมฆะ
อนึ่ง  ตราสารอันนั้นต้องแถลงเลขหมายของหุ้นซึ่งโอนกันนั้นด้วย
	การโอนเช่นนี้จะนำมาใช้แก่บริษัทหรือบุคคลภายนอกไม่ได้ จนกว่าจะได้จดแจ้งการโอน
ทั้งชื่อและสำนักของผู้รับโอนนั้นลงในทะเบียนผู้ถือหุ้น
	มาตรา 1130 หุ้นใดเงินที่เรียกค่าหุ้นยังค้างชำระอยู่  หุ้นนั้นบริษัทจะไม่ยอมรับจดทะเบียนให้โอนก็ได้
	มาตรา 1131 ในระหว่างสิบสี่วันก่อนการประชุมใหญ่สามัญ บริษัทจะปิดสมุดทะเบียนพักการโอนหุ้น
เสียก็ได้
	มาตรา 1132 ในเหตุบางอย่างเช่นผู้ถือหุ้นตายก็ดีหรือล้มละลายก็ดี อันเป็นเหตุให้บุคคลอื่นเป็นผู้มีสิทธิ
จะได้หุ้นขึ้นนั้น หากว่าบุคคลนั้นนำใบหุ้นมาเวนคืน เมื่อเป็นวิสัยจะทำได้  ทั้งได้นำหลักฐานอัน
สมควรมาแสดงด้วยแล้ว ก็ให้บริษัทรับบุคคลนั้นลงทะเบียนเป็นผู้ถือหุ้นสืบไป
	มาตรา 1133 หุ้นซึ่งโอนกันนั้น ถ้าเป็นหุ้นอันยังมิได้ส่งเงินใช้เต็มจำนวนค่าหุ้น ท่านว่าผู้โอนยังคงต้อง
รับผิดในจำนวนเงินที่ยังมิได้ส่งใช้ให้ครบถ้วนนั้น  แต่ว่า
	(1)  ผู้โอนไม่ต้องรับผิดในหนี้อันหนึ่งอันใดของบริษัทซึ่งได้ก่อให้เกิดขึ้นภายหลังโอน
	(2)  ผู้โอนไม่ต้องรับผิดออกส่วนใช้หนี้ เว้นแต่ความปรากฏขึ้นแก่ศาลว่าบรรดาผู้ที่ยังถือ
หุ้นของบริษัทอยู่นั้นไม่สามารถออกส่วนใช้หนี้อันเขาจะพึงต้องออกใช้นั้นได้
	ในข้อความรับผิดเช่นว่ามานั้น ท่านห้ามมิให้ฟ้องผู้โอน เมื่อพ้นสองปีนับแต่ได้จดแจ้ง
การโอนนั้นลงในทะเบียนผู้ถือหุ้น
	มาตรา 1134 ใบหุ้นออกให้แก่ผู้ถือนั้น  จะออกได้ก็แต่เมื่อมีข้อบังคับของบริษัทอนุญาตไว้ และจะออก
ให้ได้แต่เฉพาะเพื่อหุ้นซึ่งได้ใช้เต็มค่าแล้ว ในกรณีเช่นว่านี้ผู้ทรงใบหุ้นชนิดระบุชื่อย่อมมีสิทธิจะได้
รับใบหุ้นชนิดออกให้แก่ผู้ถือ  เมื่อเวนคืนใบหุ้นชนิดระบุชื่อนั้นให้ขีดฆ่าเสีย
	มาตรา 1135 หุ้นชนิดที่มีใบหุ้นออกให้แก่ผู้ถือนั้น ย่อมโอนกันได้เพียงด้วยส่งมอบใบหุ้นแก่กัน
	มาตรา 1136 ผู้ทรงใบหุ้นชนิดออกให้แก่ผู้ถือย่อมมีสิทธิจะมาขอเปลี่ยนเอาใบหุ้นชนิดระบุชื่อได้ เมื่อ
เวนคืนใบหุ้นฉบับออกให้แก่ผู้ถือนั้นให้ขีดฆ่าเสีย
	มาตรา 1137 ถ้าข้อบังคับของบริษัทมีกำหนดไว้เป็นองค์คุณอันหนึ่งสำหรับผู้จะเป็นกรรมการว่าจำจะ
ต้องเป็นผู้ถือหุ้นเป็นจำนวนเท่าหนึ่งเท่าใดไซร้  หุ้นเช่นนี้ท่านว่าต้องเป็นหุ้นชนิดระบุชื่อ
	มาตรา 1138 บริษัทจำกัดต้องมีสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นมีรายการดั่งต่อไปนี้  คือ
	(1)  ชื่อและสำนัก กับอาชีวะ ถ้าว่ามีของผู้ถือหุ้น ข้อแถลงเรื่องหุ้นของผู้ถือหุ้นคนหนึ่งๆ
แยกหุ้นออกตามเลขหมายและจำนวนเงินที่ได้ใช้แล้ว  หรือที่ได้ตกลงกันให้ถือว่าเป็นอันได้ใช้แล้ว
ในหุ้นของผู้ถือหุ้นคนหนึ่งๆ
	(2)  วันเดือนปีซึ่งได้ลงทะเบียนบุคคลผู้หนึ่งๆ เป็นผู้ถือหุ้น
	(3)  วันเดือนปีซึ่งบุคคลคนใดคนหนึ่งขาดจากเป็นผู้ถือหุ้น
	(4)  เลขหมายใบหุ้นและวันที่ลงในใบหุ้นชนิดออกให้แก่ผู้ถือ และเลขหมายของหุ้นซึ่ง
ได้ลงไว้ในใบหุ้นนั้นๆ
	(5)  วันที่ได้ขีดฆ่าใบหุ้นชนิดระบุชื่อ หรือชนิดออกให้แก่ผู้ถือ
	มาตรา 1139 สมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นเริ่มแต่วันจดทะเบียนบริษัทนั้น ให้รักษาไว้ ณ สำนักงานของบริษัท
แห่งที่ได้บอกทะเบียนไว้  สมุดทะเบียนนี้ให้เปิดให้แก่ผู้ถือหุ้นทั้งหลายดูได้ในระหว่างเวลาทำการ
โดยไม่เรียกค่าธรรมเนียมอย่างหนึ่งอย่างใด แต่กรรมการจะจำกัดเวลาลงไว้อย่างไรพอสมควรก็ได้
หากไม่น้อยกว่าวันละสองชั่วโมง
	ให้เป็นหน้าที่ของกรรมการที่จะส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ที่ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ทั้งหมดใน
เวลาที่ประชุม และรายชื่อผู้ที่ขาดจากเป็นผู้ถือหุ้นจำเดิมแต่วันประชุมสามัญครั้งที่แล้วมานั้นไป
ยังนายทะเบียนอย่างน้อยปีละครั้ง  และมิให้ช้ากว่าวันที่สิบสี่นับแต่การประชุมสามัญ บัญชีราย
ชื่อนี้ให้มีรายการบรรดาที่ระบุไว้ในมาตราก่อนนั้นทุกประการ
	มาตรา 1140 ผู้ถือหุ้นชอบที่จะเรียกให้ส่งสอบสำเนาทะเบียนเช่นว่านั้นหรือแต่ตอนหนึ่งตอนใดแก่ตนได้
เมื่อเสียค่าสำเนาแต่ไม่เกินหน้าละห้าบาท
	“แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
(ฉบับที่ 14) พ.ศ.2548”
	มาตรา 1141 สมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นนั้น ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นพยานหลักฐานอันถูกต้องใน
ข้อกระทงความบรรดาที่กฎหมายบังคับ หรือให้อำนาจให้เอาลงในทะเบียนนั้น
	มาตรา 1142 ถ้าบริษัทได้ออกหุ้นบุริมสิทธิไปแล้ว ได้กำหนดไว้ว่าบุริมสิทธิจะมีแก่หุ้นนั้นๆ เป็นอย่างไร
ท่านห้ามมิให้แก้ไขอีกเลย
	มาตรา 1143 ห้ามมิให้บริษัทจำกัดเป็นเจ้าของถือหุ้นของตนเอง  หรือรับจำนำหุ้นของตนเอง

	ส่วนที่ 3
	วิธีจัดการบริษัทจำกัด
	1.  บทเบ็ดเสร็จทั่วไป

	มาตรา 1144 บรรดาบริษัทจำกัด ให้มีกรรมการคนหนึ่งหรือหลายคนด้วยกันจัดการตามข้อบังคับของ
บริษัท และอยู่ในความครอบงำของที่ประชุมใหญ่แห่งผู้ถือหุ้นทั้งปวง
	มาตรา 1145 จำเดิมแต่ได้จดทะเบียนบริษัทแล้ว ท่านห้ามมิให้ตั้งข้อบังคับขึ้นใหม่ หรือเพิ่มเติม
เปลี่ยนแปลงข้อบังคับหรือข้อความในหนังสือบริคณห์สนธิแต่อย่างหนึ่งอย่างใด เว้นแต่จะได้มี
การลงมติพิเศษ
	มาตรา 1146 บรรดาข้อบังคับอันได้ตั้งขึ้นใหม่ หรือได้เพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงนั้น เป็นหน้าที่ของบริษัทที่
จะจัดให้ไปจดทะเบียนภายในกำหนดสิบสี่วันนับแต่วันที่ได้มีการลงมติพิเศษ
	มาตรา 1147 (ยกเลิก)
	"ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 18)
พ.ศ. 2551
	มาตรา 1148 บรรดาบริษัทจำกัด ต้องมีสำนักงานบอกทะเบียนไว้แห่งหนึ่งซึ่งธุรการติดต่อและคำบอก
กล่าวทั้งปวงจะส่งถึงบริษัทได้ ณ ที่นั้น
	คำบอกกล่าวสถานที่ตั้งแห่งสำนักงานที่ได้บอกทะเบียนไว้ก็ดี หรือเปลี่ยนย้ายสถานที่ก็ดี
ให้ส่งแก่นายทะเบียนบริษัท และให้นายทะเบียนจดข้อความนั้นลงในทะเบียน
	มาตรา 1149 ตราบใดหุ้นทั้งหลายยังมิได้ชำระเงินเต็มจำนวน ท่านว่าตราบนั้นบริษัทจะลงพิมพ์หรือ
แสดงจำนวนต้นทุนของบริษัทในหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใด เช่น ในคำบอกกล่าวป่าวร้องก็ดี
ในตั๋วเงินและบัญชีสิ่งของก็ดี ในจดหมายก็ดี ต้องแสดงไว้ให้ชัดเจนด้วยในที่เดียวกันว่าจำนวน
เงินต้นทุนได้ชำระแล้วเพียงกี่ส่วน

	2.  กรรมการ

	มาตรา 1150 ผู้เป็นกรรมการจะพึงมีจำนวนมากน้อยเท่าใดและจะพึงได้บำเหน็จเท่าใด ให้สุดแล้วแต่
ที่ประชุมใหญ่จะกำหนด
	มาตรา 1151 อันผู้เป็นกรรมการนั้น  เฉพาะแต่ที่ประชุมใหญ่เท่านั้นอาจจะตั้งหรือถอนได้
	มาตรา 1152 ในเมื่อมีการประชุมสามัญครั้งแรกภายหลังแต่จดทะเบียนบริษัทก็ดี และในเมื่อมีการ
ประชุมสามัญครั้งแรกในปีทุกๆ ปีต่อไปก็ดี  ผู้เป็นกรรมการต้องออกจากตำแหน่งโดยจำนวนหนึ่ง
ในสามเป็นอัตรา  ถ้าและจำนวนกรรมการจะแบ่งออกให้ตรงเป็นส่วนสามไม่ได้ ให้ออกโดย
จำนวนใกล้ที่สุดกับส่วนหนึ่งในสาม
	มาตรา 1153 ตัวกรรมการที่จะต้องออกจากตำแหน่งในปีแรก และปีที่สองภายหลังจดทะเบียนบริษัทนั้น
ถ้ากรรมการมิได้ตกลงกันไว้เองเป็นวิธีอื่นไซร้ ก็ให้จับสลากกัน  ส่วนปีหลังๆ ต่อไปให้ กรรมการคนที่
ได้อยู่ในตำแหน่งนานที่สุดนั้นเป็นผู้ต้องออก
	กรรมการผู้ออกไปนั้นจะเลือกเข้ารับตำแหน่งอีกก็ได้
	"มาตรา 1153/1  กรรมการคนใดจะลาออกจากตำแหน่ง ให้ยื่นใบลาออกต่อบริษัท การลาออกมี
ผลนับแต่วันที่ใบลาออกไปถึงบริษัท
	กรรมการซึ่งลาออกตามวรรคหนึ่ง จะแจ้งการลาออกของตนให้นายทะเบียนทราบด้วยก็ได้"
	"มาตรา 1153/1 เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
(ฉบับที่ 15) พ.ศ. 2549
	มาตรา 1154 ถ้ากรรมการคนใดล้มละลาย หรือตกเป็นผู้ไร้ความสามารถไซร้  ท่านว่ากรรมการคนนั้น
เป็นอันขาดจากตำแหน่ง
	มาตรา 1155 ถ้าตำแหน่งว่างลงในสภากรรมการเพราะเหตุอื่นนอกจากถึงคราวออกตามเวรไซร้ ท่านว่า
กรรมการจะเลือกผู้อื่นตั้งขึ้นใหม่ให้เต็มที่ว่างก็ได้  แต่บุคคลที่ได้เป็นกรรมการใหม่เช่นนั้นให้มีเวลา
อยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่ากำหนดเวลาที่กรรมการผู้ออกไปนั้นชอบที่จะอยู่ได้
	มาตรา 1156 ถ้าที่ประชุมใหญ่ถอนกรรมการผู้หนึ่งออกก่อนครบกาลกำหนดของเขา และตั้งคนอื่นขึ้นไว้
แทนที่ไซร้ ท่านว่าบุคคลที่เป็นกรรมการใหม่นั้นให้อยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่ากำหนดเวลาที่กรรมการ
ผู้ถูกถอนนั้นชอบที่จะอยู่ได้
	มาตรา 1157 เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงกรรมการ ให้บริษัทนำความไปจดทะเบียนภายในสิบสี่วัน
นับแต่วันที่มีการเปลี่ยนแปลง
	"เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 15)
พ.ศ. 2549
	มาตรา 1158 นอกจากจะมีข้อบังคับของบริษัทไว้เป็นอย่างอื่น  ท่านว่ากรรมการมีอำนาจดั่งพรรณนา
ไว้ในหกมาตราต่อไปนี้
	มาตรา 1159 ในจำนวนกรรมการนั้น  แม้ตำแหน่งจะว่างไปบ้างกรรมการที่มีตัวอยู่ก็ย่อมทำกิจการได้
แต่ถ้าในเวลาใดจำนวนกรรมการลดน้อยลงกว่าจำนวนอันจำเป็นที่จะเป็นองค์ประชุมได้ตลอดเวลา
เช่นนั้น กรรมการที่มีตัวอยู่ย่อมทำกิจการได้เฉพาะแต่ในเรื่องที่จะเพิ่มกรรมการขึ้นให้ครบจำนวน
หรือนัดเรียกประชุมใหญ่ของบริษัทเท่านั้น จะกระทำกิจการอย่างอื่นไม่ได้
	มาตรา 1160 กรรมการจะวางกำหนดไว้ก็ได้ว่า  จำนวนกรรมการเข้าประชุมกี่คนจึ่งจะเป็นองค์ประชุม
ทำกิจการได้ ถ้าและมิได้กำหนดไว้ดั่งนั้นไซร้ (เมื่อจำนวนกรรมการเกินกว่าสามคน) ท่านว่าต้องมี
กรรมการเข้าประชุมสามคนจึ่งจะเป็นองค์ประชุมได้
	มาตรา 1161 ข้อปรึกษาซึ่งเกิดเป็นปัญหาในที่ประชุมกรรมการนั้นให้ชี้ขาดตัดสินเอาเสียงข้างมากเป็น
ใหญ่  ถ้าและคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ผู้เป็นประธานเป็นผู้ออกเสียงชี้ขาด
	มาตรา 1162 กรรมการคนหนึ่งคนใดจะนัดเรียกให้ประชุมกรรมการเมื่อใดก็ได้
	มาตรา 1163 กรรมการจะเลือกกรรมการคนหนึ่งขึ้นเป็นประธานที่ประชุม และจะกำหนดเวลาว่าให้อยู่
ในตำแหน่งเพียงใดก็ได้  แต่ถ้าหากมิได้เลือกกันไว้เช่นนั้น  หรือผู้เป็นประธานไม่มาประชุมตามเวลา
ที่ได้นัดหมายไซร้  กรรมการที่มาประชุมนั้นจะเลือกกันคนหนึ่งขึ้นเป็นประธานในการประชุมเช่นนั้นก็ได้
	มาตรา 1164 กรรมการจะมอบอำนาจอย่างหนึ่งอย่างใดของตนให้แก่ ผู้จัดการ หรือให้แก่อนุกรรมการ
ซึ่งตั้งขึ้นจากผู้ที่เป็นกรรมการด้วยกันก็ได้  ในการใช้อำนาจซึ่งได้มอบหมายเช่นนั้น  ผู้จัดการทุกคน
หรืออนุกรรมการทุกคนต้องทำตามคำสั่งหรือข้อบังคับซึ่งกรรมการทั้งหลายได้กำหนดให้ทุกอย่าง
ทุกประการ
	มาตรา 1165 ถ้าการมอบอำนาจมิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นไซร้ ข้อปรึกษาซึ่งเกิดเป็นปัญหาขึ้นในที่
ประชุมอนุกรรมการทั้งหลายให้ตัดสินเอาเสียงข้างมากเป็นใหญ่ ถ้าและคะแนนเสียงเท่ากันให้ผู้
เป็นประธานชี้ขาด
	มาตรา 1166 บรรดาการซึ่งกรรมการคนหนึ่งได้ทำไปแม้ในภายหลังความปรากฏว่าการตั้งแต่งกรรมการ
คนนั้นมีข้อบกพร่องอยู่บ้างก็ดี หรือเป็นผู้บกพร่องด้วยองค์คุณควรแก่ตำแหน่งกรรมการก็ดี  ท่านว่า
การที่ได้ทำนั้นย่อมสมบูรณ์เสมือนดั่งว่าบุคคลผู้นั้นได้รับการแต่งตั้งโดยถูกต้อง  และบริบูรณ์ด้วย
องค์คุณของกรรมการ
	มาตรา 1167 ความเกี่ยวพันกันในระหว่างกรรมการและบริษัท และบุคคลภายนอกนั้น ท่านให้บังคับ
ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยตัวแทน
	มาตรา 1168 ในอันที่จะประกอบกิจการของบริษัทนั้น กรรมการต้องใช้ความเอื้อเฟื้อสอดส่องอย่าง
บุคคลค้าขายผู้ประกอบด้วยความระมัดระวัง
	ว่าโดยเฉพาะ  กรรมการต้องรับผิดชอบร่วมกันในประการต่างๆ ดั่งจะกล่าวต่อไปนี้  คือ
	(1)  การใช้เงินค่าหุ้นนั้นได้ใช้กันจริง
	(2)  จัดให้มีและรักษาไว้ให้เรียบร้อย  ซึ่งบรรดาสมุดบัญชีและเอกสารที่กฎหมาย
กำหนดไว้
	(3)  การแจกเงินปันผลหรือดอกเบี้ยให้เป็นไปโดยถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดไว้
	(4)  บังคับการให้เป็นไปโดยถูกต้องตามมติของที่ประชุมใหญ่
	อนึ่ง  ท่านห้ามมิให้ผู้เป็นกรรมการประกอบการค้าขายใดๆ อันมีสภาพเป็นอย่างเดียวกัน
และเป็นการแข่งขันกับการค้าขายของบริษัทนั้น ไม่ว่าทำเพื่อประโยชน์ตนหรือเพื่อประโยชน์ผู้อื่น
หรือไปเข้าหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดในห้างค้าขายอื่นซึ่งประกอบกิจการมีสภาพเป็นอย่าง
เดียวกัน และแข่งขันกับกิจการของบริษัทโดยมิได้รับความยินยอมของที่ประชุมใหญ่ของผู้ถือหุ้น
	บทบัญญัติที่กล่าวมาข้างบนนี้ให้ใช้บังคับตลอดถึงบุคคลซึ่งเป็นผู้แทนของกรรมการด้วย
	มาตรา 1169 ถ้ากรรมการทำให้เกิดเสียหายแก่บริษัท บริษัทจะฟ้องร้องเรียกเอาสินไหมทดแทนแก่
กรรมการก็ได้ หรือในกรณีที่บริษัทไม่ยอมฟ้องร้อง ผู้ถือหุ้นคนหนึ่งคนใดจะเอาคดีนั้นขึ้นว่าก็ได้
	อนึ่ง การเรียกร้องเช่นนี้  เจ้าหนี้ของบริษัทจะเป็นผู้เรียกบังคับก็ได้เท่าที่เจ้าหนี้ยังคงมี
สิทธิเรียกร้องแก่บริษัทอยู่
	มาตรา 1170 เมื่อการซึ่งกรรมการคนใดได้ทำไปได้รับอนุมัติของที่ประชุมใหญ่แล้ว  ท่านว่ากรรมการ
คนนั้นไม่ต้องรับผิดในการนั้นต่อผู้ถือหุ้นซึ่งได้ให้อนุมัติหรือต่อบริษัทอีกต่อไป
	ท่านห้ามมิให้ผู้ถือหุ้นซึ่งมิได้ให้อนุมัติด้วยนั้นฟ้องคดีเมื่อพ้นเวลาหกเดือนนับแต่วันที่
ประชุมใหญ่ให้อนุมัติแก่การเช่นว่านั้น

	3.  ประชุมใหญ่

	มาตรา 1171 ให้มีการประชุมผู้ถือหุ้นทั่วไปเป็นประชุมใหญ่ภายในหกเดือนนับแต่วันที่ได้จดทะเบียน
บริษัท  และต่อนั้นไปก็ให้มีการประชุมเช่นนี้ครั้งหนึ่งเป็นอย่างน้อยทุกระยะเวลาสิบสองเดือน
	การประชุมเช่นนี้เรียกว่าประชุมสามัญ
	การประชุมใหญ่คราวอื่นบรรดามีนอกจากนี้เรียกว่าประชุมวิสามัญ
	มาตรา 1172 กรรมการจะเรียกประชุมวิสามัญเมื่อใดก็ได้สุดแต่จะเห็นสมควร
	ถ้าบริษัทขาดทุนลงถึงกึ่งจำนวนต้นทุน กรรมการต้องเรียกประชุมวิสามัญทันทีเพื่อแจ้งให้
ผู้ถือหุ้นทราบการที่ขาดทุนนั้น
	มาตรา 1173 การประชุมวิสามัญจะต้องนัดเรียกให้มีขึ้นในเมื่อผู้ถือหุ้นมีจำนวนหุ้นรวมกันไม่น้อยกว่า
หนึ่งในห้าแห่งจำนวนหุ้นของบริษัทได้เข้าชื่อกันทำหนังสือร้องขอให้เรียกประชุมเช่นนั้น  ในหนังสือ
ร้องขอนั้นต้องระบุว่าประสงค์ให้เรียกประชุมเพื่อการใด
	มาตรา 1174 เมื่อผู้ถือหุ้นยื่นคำร้องขอให้เรียกประชุมวิสามัญดั่งได้กล่าวมาในมาตราก่อนนี้แล้ว 
ให้กรรมการเรียกประชุมโดยพลัน
	ถ้าและกรรมการมิได้เรียกประชุมภายในสามสิบวันนับแต่วันยื่นคำร้องไซร้  ผู้ถือหุ้นทั้ง
หลายซึ่งเป็นผู้ร้อง หรือผู้ถือหุ้นคนอื่นๆ รวมกันได้จำนวนดั่งบังคับไว้นั้นจะเรียกประชุมเองก็ได้
	มาตรา 1175 คำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่ให้ลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่
อย่างน้อยหนึ่งคราวก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน และส่งทางไปรษณีย์ตอบรับไปยังผู้ถือหุ้น
ทุกคนที่มีชื่อในทะเบียนของบริษัทก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน เว้นแต่เป็นคำบอกกล่าว
เรียกประชุมใหญ่เพื่อลงมติพิเศษ ให้กระทำการดังว่านั้นก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่าสิบสี่วัน
	คำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่นั้น ให้ระบุสถานที่ วัน เวลา และสภาพแห่งกิจการที่จะได้
ประชุมปรึกษากัน และในกรณีที่เป็นคำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่เพื่อลงมติพิเศษให้ระบุข้อความที่จะ
นำเสนอให้ลงมติด้วย
	*แก้ไขโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 18)
พ.ศ. 2551
	มาตรา 1176 ผู้ถือหุ้นทั่วทุกคนมีสิทธิจะเข้าประชุมในที่ประชุมใหญ่ได้เสมอ ไม่ว่าจะเป็นประชุมชนิดใด
คราวใด
	มาตรา 1177 วิธีดั่งบัญญัติไว้ในมาตราต่อๆ ไปนี้  ท่านให้ใช้บังคับแก่การประชุมใหญ่ เว้นแต่จะมี
ข้อบังคับของบริษัทกำหนดไว้เป็นข้อความขัดกัน
	มาตรา 1178 ในการประชุมใหญ่ ถ้าไม่มีผู้ถือหุ้นมาเข้าประชุมรวมกันแทนหุ้นได้ถึงจำนวนหนึ่งในสี่
แห่งทุนของบริษัทเป็นอย่างน้อยแล้ว  ท่านว่าที่ประชุมอันนั้นจะปรึกษากิจการอันใดหาได้ไม่
	มาตรา 1179 การประชุมใหญ่เรียกนัดเวลาใด เมื่อล่วงเวลานัดนั้นไปแล้วถึงชั่วโมงหนึ่ง จำนวนผู้ถือหุ้น
ซึ่งมาเข้าประชุมยังไม่ครบถ้วนเป็นองค์ประชุมดั่งบัญญัติไว้ใน มาตรา 1178 นั้นไซร้  หากว่า
การประชุมใหญ่นั้นได้เรียกนัดเพราะผู้ถือหุ้นร้องขอ ท่านให้เลิกประชุม
	ถ้าการประชุมใหญ่นั้นมิใช่ชนิดซึ่งเรียกนัดเพราะผู้ถือหุ้นร้องขอไซร้ ท่านให้เรียกนัดใหม่
อีกคราวหนึ่งภายในสิบสี่วัน และการประชุมใหญ่ครั้งหลังนี้ท่านไม่บังคับว่าจำต้องครบองค์ประชุม
	มาตรา 1180 ในการประชุมผู้ถือหุ้นทั่วไปเป็นประชุมใหญ่ทุกๆ ครั้ง ให้ผู้เป็นประธานในสภากรรมการ
นั่งเป็นประธาน
	ถ้าประธานกรรมการเช่นว่านี้ไม่มีตัวก็ดี หรือไม่มาเข้าประชุมจนล่วงเวลานัดไปแล้ว
สิบห้านาทีก็ดี ให้ผู้ถือหุ้นทั้งหลายซึ่งอยู่ในที่นั้นเลือกผู้ถือหุ้นคนหนึ่งในจำนวนซึ่งมาประชุมขึ้นนั่ง
เป็นประธาน
	มาตรา 1181 ผู้นั่งเป็นประธานจะเลื่อนการประชุมใหญ่ใดๆ ไปเวลาอื่นโดยความยินยอมของที่ประชุม
ก็ได้ แต่ในที่ประชุมซึ่งได้เลื่อนมานั้น ท่านมิให้ปรึกษากิจการอันใดนอกไปจากที่ค้างมาแต่
วันประชุมก่อน
	มาตรา 1182 ในการลงคะแนนโดยวิธีชูมือนั้น ท่านให้นับว่าผู้ถือหุ้นทุกคนที่มาประชุมเอง หรือมอบ
ฉันทะให้ผู้อื่นมาประชุมแทนมีเสียงหนึ่งเป็นคะแนน แต่ในการลงคะแนนลับ ท่านให้นับว่าผู้ถือหุ้น
ทุกคนมีคะแนนเสียง  เสียงหนึ่งต่อหุ้นหนึ่งที่ตนถือ
	มาตรา 1183 ถ้ามีข้อบังคับของบริษัทวางเป็นกำหนดไว้ว่าต่อเมื่อผู้ถือหุ้นเป็นผู้มีหุ้นแต่จำนวนเท่าใด
ขึ้นไปจึ่งให้ออกเสียงเป็นคะแนนได้ไซร้  ท่านว่าผู้ถือหุ้นทั้งหลายซึ่งไม่มีหุ้นถึงจำนวนเท่านั้นย่อม
มีสิทธิที่จะเข้ารวมกันให้ได้จำนวนหุ้นดั่งกล่าว แล้วตั้งคนหนึ่งในพวกของตนให้เป็นผู้รับฉันทะ
ออกเสียงแทนในการประชุมใหญ่ใดๆ ได้
	มาตรา 1184 ผู้ถือหุ้นคนใดยังมิได้ชำระเงินค่าหุ้นซึ่งบริษัทได้เรียกเอาแต่ตนให้เสร็จสิ้น ท่านว่าผู้ถือหุ้น
คนนั้นไม่มีสิทธิออกเสียงเป็นคะแนน
	มาตรา 1185 ผู้ถือหุ้นคนใดมีส่วนได้เสียเป็นพิเศษในข้ออันใดซึ่งที่ประชุมจะลงมติ ท่านห้ามมิให้
ผู้ถือหุ้นคนนั้นออกเสียงลงคะแนนด้วยในข้อนั้น
	มาตรา 1186 ผู้ทรงใบหุ้นชนิดออกให้แก่ผู้ถือหาอาจออกเสียงเป็นคะแนนได้ไม่ เว้นแต่จะได้นำใบหุ้น
ของตนนั้นมาวางไว้แก่บริษัทแต่ก่อนเวลาประชุม
	มาตรา 1187 ผู้ถือหุ้นทุกคนจะมอบฉันทะให้ผู้อื่นออกเสียงแทนตนก็ได้ แต่การมอบฉันทะเช่นนี้ต้อง
ทำเป็นหนังสือ
	มาตรา 1188 หนังสือตั้งผู้รับฉันทะนั้น ให้ลงวันและลงลายมือชื่อผู้ถือหุ้น และให้มีรายการดั่งต่อไปนี้ คือ
	(1)  จำนวนหุ้นซึ่งผู้มอบฉันทะนั้นถืออยู่
	(2)  ชื่อผู้รับฉันทะ
	(3)  ตั้งผู้รับมอบฉันทะนั้นเพื่อการประชุมครั้งคราวใดหรือตั้งไว้ชั่วระยะเวลาเพียงใด
	มาตรา 1189 อันหนังสือตั้งผู้รับฉันทะนั้น ถ้าผู้มีชื่อรับฉันทะประสงค์จะออกเสียงในการประชุมครั้งใด
ต้องนำไปวางต่อผู้เป็นประธานแต่เมื่อเริ่ม  หรือก่อนเริ่มประชุมครั้งนั้น
	มาตรา 1190 ในการประชุมใหญ่ใดๆ ข้อมติอันเสนอให้ลงคะแนน  ท่านให้ตัดสินด้วยวิธีชูมือ เว้นแต่
เมื่อก่อนหรือในเวลาที่แสดงผลแห่งการชูมือนั้น จะได้มีผู้ถือหุ้นสองคนเป็นอย่างน้อยติดใจร้องขอ
ให้ลงคะแนนลับ
	มาตรา 1191 ในการประชุมใหญ่ใดๆ เมื่อผู้เป็นประธานแสดงว่ามติอันใดนับคะแนนชูมือเป็นอันว่าได้
หรือตกก็ดี  และได้จดลงไว้ในสมุดรายงานประชุมของบริษัทดั่งนั้นแล้ว ท่านให้ถือเป็นหลักฐาน
เพียงพอที่จะฟังได้ตามนั้น
	ถ้ามีผู้ติดใจร้องขอให้ลงคะแนนลับไซร้ ท่านให้ถือว่าผลแห่งคะแนนลับนั้นเป็นมติของที่ประชุม
	มาตรา 1192 ถ้ามีผู้ติดใจร้องขอโดยชอบให้ลงคะแนนลับ การลงคะแนนเช่นนั้นจะทำด้วยวิธีใดสุด
แล้วแต่ผู้เป็นประธานจะสั่ง
	มาตรา 1193 ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน จะเป็นในการชูมือก็ดี หรือในการลงคะแนนลับก็ดี ให้ผู้เป็น
ประธานในที่ประชุมมีคะแนนอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
	มาตรา 1194 การใดที่กฎหมายกำหนดให้ต้องทำโดยมติพิเศษ ที่ประชุมใหญ่ต้องลงมติ
ในเรื่องนั้นโดยคะแนนเสียงข้างมากไม่ต่ำกว่าสามในสี่ของจำนวนเสียงทั้งหมดของผู้ถือหุ้นที่มาประชุม
และมีสิทธิออกเสียงลงคะแนน
*แก้ไขโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2551
	มาตรา 1195 

	การประชุมใหญ่นั้นถ้าได้นัดเรียก หรือได้ประชุมกัน หรือได้ลงมติฝ่าฝืนบทบัญญัติใน
ลักษณะนี้ก็ดีหรือฝ่าฝืนข้อบังคับของบริษัทก็ดี เมื่อกรรมการหรือผู้ถือหุ้นคนหนึ่งคนใดร้องขึ้นแล้ว
ให้ศาลเพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่อันผิดระเบียบนั้นเสีย แต่ต้องร้องขอภายในกำหนดเดือนหนึ่ง
นับแต่วันลงมตินั้น

	4.  บัญชีงบดุล

	มาตรา 1196 อันบัญชีงบดุลนั้น ท่านว่าต้องทำอย่างน้อยครั้งหนึ่งทุกรอบสิบสองเดือน คือเมื่อเวลา
สุดรอบสิบสองเดือนอันจัดว่าเป็นขวบปีในทางบัญชีเงินของบริษัทนั้น
	อนึ่ง งบดุลต้องมีรายการย่อแสดงจำนวนสินทรัพย์และหนี้สินของบริษัทกับทั้งบัญชีกำไร
และขาดทุน
	มาตรา 1197 งบดุลนั้นต้องจัดให้มีผู้สอบบัญชีคนหนึ่งหรือหลายคนตรวจสอบแล้วนำเสนอเพื่ออนุมัติ
ในที่ประชุมใหญ่ภายในสี่เดือนนับแต่วันที่ลงในงบดุลนั้น
	อนึ่ง ให้ส่งสำเนางบดุลไปยังบุคคลทุกคนบรรดามีชื่อในทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัทแต่ก่อน
วันนัดประชุมใหญ่ล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามวัน
	นอกจากนั้นให้มีสำเนางบดุลเปิดเผยไว้ในสำนักงานของบริษัทในระหว่างเวลาเช่นว่านั้น
เพื่อให้ผู้ทรงใบหุ้นชนิดออกให้แก่ผู้ถือนั้นตรวจดูได้ด้วย
	มาตรา 1198 ในเมื่อเสนองบดุล  กรรมการต้องเสนอรายงานต่อที่ประชุมใหญ่แสดงว่าภายในรอบปี
ซึ่งพิจารณากันอยู่นั้น  การงานของบริษัทได้จัดทำไปเป็นประการใด
	มาตรา 1199 บุคคลใดประสงค์จะได้สำเนางบดุลฉบับหลังที่สุดจากบริษัทใดๆ ก็ชอบที่จะซื้อเอาได้โดย
ราคาไม่เกินฉบับละยี่สิบบาท
	ให้เป็นหน้าที่ของกรรมการที่จะส่งสำเนางบดุลทุกฉบับไปยังนายทะเบียนไม่ช้ากว่าเดือนหนึ่ง
นับแต่วันซึ่งงบดุลนั้นได้รับอนุมัติในที่ประชุมใหญ่
	“วรรคหนึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
(ฉบับที่ 14) พ.ศ.2548”
	มาตรา 1200 การแจกเงินปันผลนั้น ต้องคิดตามส่วนจำนวน ซึ่งผู้ถือหุ้นได้ส่งเงินแล้วในหุ้นหนึ่งๆ
เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นในเรื่องหุ้นบุริมสิทธิ
	มาตรา 1201 ห้ามมิให้ประกาศอนุญาตเงินปันผล นอกจากโดยมติของที่ประชุมใหญ่
	กรรมการอาจจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลให้แก่ผู้ถือหุ้นได้เป็นครั้งเป็นคราว ในเมื่อปรากฏ
แก่กรรมการว่าบริษัทมีกำไรสมควรพอที่จะที่เช่นนั้น
	ห้ามมิให้จ่ายเงินปันผลจากเงินประเภทอื่นนอกจากเงินกำไร ถ้าหากบริษัทขาดทุน ห้าม
มิให้จ่ายเงินปันผลจนกว่าจะได้แก้ไขให้หายขาดทุนเช่นนั้น
	การจ่ายเงินปันผลนั้นให้กระทำภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ที่ประชุมใหญ่หรือกรรมการลงมติ
แล้วแต่กรณี
	*มาตรา 1201 วรรคสี่ เพิ่มความโดยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 21/2560
	มาตรา 1202 ทุกคราวที่แจกเงินปันผล  บริษัทต้องจัดสรรเงินไว้เป็นทุนสำรองอย่างน้อยหนึ่งในยี่สิบส่วน
ของจำนวนผลกำไรซึ่งบริษัททำมาหาได้จากกิจการของบริษัทจนกว่าทุนสำรองนั้นจะมีจำนวนถึง
หนึ่งในสิบของจำนวนทุนของบริษัทหรือมากกว่านั้น แล้วแต่จะได้ตกลงกำหนดไว้ในข้อบังคับของบริษัท
	ถ้าได้ออกหุ้นโดยคิดเอาราคาเกินกว่าที่ปรากฏในใบหุ้นเท่าใด จำนวนที่คิดเกินนี้ท่านให้
บวกทบเข้าในทุนสำรองจนกว่าทุนสำรองจะมีจำนวนเท่าถึงที่กำหนดไว้ในวรรคก่อน
	มาตรา 1203 ถ้าจ่ายเงินปันผลไปโดยฝ่าฝืนความในมาตราทั้งสองซึ่งกล่าวมาไซร้  เจ้าหนี้ทั้งหลาย
ของบริษัทชอบที่จะเรียกเอาเงินจำนวนซึ่งได้แจกไปคืนมายังบริษัทได้ แต่ว่าถ้าผู้ถือหุ้นคนใดได้
รับเงินปันผลไปแล้วโดยสุจริต ท่านว่าจะกลับบังคับให้เขาจำคืนนั้นหาได้ไม่
	มาตรา 1204 การบอกกล่าวว่าจะปันผลอย่างใด ๆ อันได้อนุญาตให้จ่ายนั้น ให้บริษัทมี
จดหมายบอกกล่าวไปยังตัวผู้ถือหุ้นที่ปรากฏชื่ออยู่ในทะเบียนผู้ถือหุ้นทุกคน แต่ในกรณีที่บริษัทมีหุ้น
ชนิดที่มีใบหุ้นออกให้แก่ผู้ถือ ให้โฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่อย่างน้อยหนึ่งคราวด้วย
*แก้ไขโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2551
	มาตรา 1205 เงินปันผลนั้น แม้จะค้างจ่ายอยู่ ท่านว่าหาอาจจะคิดเอาดอกเบี้ยแก่บริษัทได้ไม่

	6.  สมุดและบัญชี

	มาตรา 1206 กรรมการต้องจัดให้ถือบัญชีซึ่งกล่าวต่อไปนี้ไว้ให้ถูกถ้วนจริงๆ คือ
	(1)  จำนวนเงินที่บริษัทได้รับและได้จ่าย ทั้งรายการอันเป็นเหตุให้รับหรือจ่ายเงินทุกรายไป
	(2)  สินทรัพย์และหนี้สินของบริษัท
	มาตรา 1207 กรรมการต้องจัดให้จดบันทึกรายงานการประชุมและข้อมติทั้งหมดของที่ประชุมผู้ถือหุ้น
และของที่ประชุมกรรมการลงไว้ในสมุดโดยถูกต้อง   สมุดนี้ให้เก็บรักษาไว้ ณ สำนักงานที่ได้จด
ทะเบียนของบริษัท บันทึกเช่นนั้นอย่างหนึ่งอย่างใดเมื่อได้ลงลายมือชื่อของผู้เป็นประธานแห่ง
การประชุมซึ่งได้ลงมติหรือซึ่งได้ดำเนินการงานประชุมก็ดี  หรือได้ลงลายมือชื่อของผู้เป็นประธาน
แห่งการประชุมถัดจากครั้งนั้นมาก็ดี  ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นหลักฐานอันถูกต้องแห่งข้อ
ความที่ได้จดบันทึกลงในสมุดนั้นๆ  และให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าการลงมติและการดำเนินของที่
ประชุมอันได้จดบันทึกไว้นั้นได้เป็นไปโดยชอบ
	ผู้ถือหุ้นคนใดจะขอตรวจเอกสารดั่งกล่าวมาข้างต้นในเวลาใดเวลาหนึ่งระหว่างเวลา
ทำการงานก็ได้

	ส่วนที่ 4
	การสอบบัญชี

	มาตรา 1208 ผู้สอบบัญชีนั้น จะเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทก็ได้ แต่บุคคลผู้มีส่วนได้เสียในการงานที่บริษัท
ทำโดยสถานอื่นอย่างหนึ่งอย่างใด นอกจากเป็นแต่ผู้ถือหุ้นในบริษัทเท่านั้นแล้ว ท่านว่าจะเลือกเอา
มาเป็นตำแหน่งผู้สอบบัญชีหาได้ไม่  กรรมการก็ดี หรือผู้อื่นซึ่งเป็นตัวแทนหรือเป็นลูกจ้างของบริษัท
ก็ดี  เวลาอยู่ในตำแหน่งนั้นๆ ก็จะเลือกเอามาเป็นตำแหน่งผู้สอบบัญชีของบริษัทหาได้ไม่
	มาตรา 1209 ผู้สอบบัญชีนั้น  ให้ที่ประชุมสามัญเลือกตั้งทุกปี
	ผู้สอบบัญชีคนซึ่งออกไปนั้นจะเลือกกลับเข้ารับตำแหน่งอีกก็ได้
	มาตรา 1210 ผู้สอบบัญชีควรจะได้สินจ้างเท่าใด ให้ที่ประชุมใหญ่กำหนด
	มาตรา 1211 ถ้ามีตำแหน่งว่างลงในจำนวนผู้สอบบัญชี ให้กรรมการนัดเรียกประชุมวิสามัญเพื่อให้
เลือกตั้งขึ้นใหม่ให้ครบจำนวน
	มาตรา 1212 ถ้ามิได้เลือกตั้งผู้สอบบัญชีโดยวิธีดั่งกล่าวมา เมื่อผู้ถือหุ้นไม่น้อยกว่าห้าคนร้องขอ ก็ให้
ศาลตั้งผู้สอบบัญชีประจำปีนั้น  และกำหนดสินจ้างให้ด้วย
	มาตรา 1213 ให้ผู้สอบบัญชีทุกคนเข้าตรวจสอบสรรพสมุดและบัญชีของบริษัทในเวลาอันสมควรได้
ทุกเมื่อ และในการอันเกี่ยวด้วยสมุดและบัญชีเช่นนั้น ให้ไต่ถามสอบสวนกรรมการ หรือผู้อื่นๆ
ซึ่งเป็นตัวแทน  หรือเป็นลูกจ้างของบริษัทได้ไม่ว่าคนหนึ่งคนใด
	มาตรา 1214 ผู้สอบบัญชีต้องทำรายงานว่าด้วยงบดุลและบัญชียื่นต่อที่ประชุมสามัญ
	ผู้สอบบัญชีต้องแถลงในรายงานเช่นนั้นด้วยว่าตนเห็นว่างบดุลได้ทำโดยถูกถ้วนควรฟังว่า
สำแดงให้เห็นการงานของบริษัทที่เป็นอยู่ตามจริง และถูกต้องหรือไม่

	ส่วนที่ 5
	การตรวจ

	มาตรา 1215 เมื่อผู้ถือหุ้นในบริษัทมีจำนวนรวมกันไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนหุ้นทั้งหมด ทำ
เรื่องราวร้องขอไซร้ให้เสนาบดีเจ้าหน้าที่ตั้งผู้ตรวจอันทรงความสามารถ  จะเป็นคนเดียวหรือ
หลายคนก็ตามไปตรวจการงานของบริษัทจำกัดนั้น และทำรายงานยื่นให้ทราบ
	ก่อนที่จะตั้งผู้ตรวจเช่นนั้น  เสนาบดีจะบังคับให้คนทั้งหลายผู้ยื่นเรื่องราววางประกัน
เพื่อรับออกเงินค่าใช้สอยในการตรวจนั้นก็ได้
	มาตรา 1216 กรรมการก็ดี  ลูกจ้างและตัวแทนของบริษัทก็ดี จำต้องส่งสรรพสมุดและเอกสารทั้งปวง
ซึ่งตนเก็บรักษาหรืออยู่ในอำนาจแห่งตนนั้นให้แก่ผู้ตรวจ
	ผู้ตรวจคนหนึ่งคนใดจะให้กรรมการ ลูกจ้าง และตัวแทนของบริษัทสาบานตัวแล้วสอบ
ถามคำให้การในเรื่องอันเนื่องด้วยการงานของบริษัทนั้นก็ได้
	มาตรา 1217 ผู้ตรวจต้องทำรายงานยื่น และรายงานนั้นจะเขียนหรือตีพิมพ์สุดแต่เสนาบดีเจ้าหน้าที่
จะบัญชา  สำเนารายงานนั้นให้เสนาบดีส่งไปยังสำนักงานบริษัทซึ่งได้จดทะเบียนไว้  กับทั้งส่งแก่
ผู้ถือหุ้นซึ่งยื่นเรื่องราวขอให้ตรวจนั้นด้วย
	มาตรา 1218 ค่าใช้สอยในการตรวจเช่นนี้  ผู้ยื่นเรื่องราวขอให้ตรวจต้องใช้ทั้งสิ้น เว้นแต่ถ้าบริษัทใน
คราวประชุมใหญ่ครั้งแรกเมื่อตรวจสำเร็จลงแล้วได้ยินยอมว่าจะจ่ายจากสินทรัพย์ของบริษัทนั้น
	มาตรา 1219 เสนาบดีเจ้าหน้าที่โดยลำพังตนเอง  จะตั้งผู้ตรวจคนเดียวหรือหลายคนให้ไปตรวจการ
ของบริษัทเพื่อทำรายงานยื่นต่อรัฐบาลก็ได้ การตั้งผู้ตรวจเช่นว่ามานี้จะพึงมีเมื่อใดสุดแล้วแต่
เสนาบดีจะเห็นสมควร

	ส่วนที่ 6
	การเพิ่มทุนและลดทุน

	มาตรา 1220 บริษัทจำกัดอาจเพิ่มทุนของบริษัทขึ้นได้ด้วยออกหุ้นใหม่โดยมติพิเศษของประชุมผู้ถือหุ้น
	มาตรา 1221 บริษัทจำกัดจะออกหุ้นใหม่ให้เสมือนหนึ่งว่าได้ใช้เต็มค่าแล้ว หรือได้ใช้แต่บางส่วนแล้ว
ด้วยอย่างอื่นนอกจากให้ใช้เป็นตัวเงินนั้นไม่ได้ เว้นแต่จะทำตามมติพิเศษของประชุมผู้ถือหุ้น
	มาตรา 1222 บรรดาหุ้นที่ออกใหม่นั้น  ต้องเสนอให้แก่ผู้ถือหุ้นทั้งหลายตามส่วนจำนวนหุ้นซึ่งเขาถืออยู่
	คำเสนอเช่นนี้ต้องทำเป็นหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ถือหุ้นทุกๆ คน ระบุจำนวนหุ้นให้
ทราบว่าผู้นั้นชอบที่จะซื้อได้กี่หุ้น และให้กำหนดวันว่าถ้าพ้นวันนั้นไป  มิได้มีคำสนองมาแล้วจะ
ถือว่าเป็นอันไม่รับซื้อ
	เมื่อวันที่กำหนดล่วงไปแล้วก็ดี หรือผู้ถือหุ้นได้บอกมาว่าไม่รับซื้อหุ้นนั้นก็ดี กรรมการจะ
เอาหุ้นเช่นนั้นขายให้แก่ผู้ถือหุ้นคนอื่นหรือจะรับซื้อไว้เองก็ได้
	**แก้ไขโดย มาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
(ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2521 (รจ. เล่ม 95 ตอนที่ 149 วันที่ 25 ธันวาคม 2521)
	มาตรา 1223 หนังสือบอกกล่าวที่เสนอให้ผู้ถือหุ้นซื้อหุ้นใหม่นั้น ต้องลงวันเดือนปีและลายมือชื่อของ
กรรมการ
	**แก้ไขโดย มาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
(ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2521 (รจ. เล่ม 95 ตอนที่ 149 วันที่ 25 ธันวาคม 2521)
	มาตรา 1224 บริษัทจำกัดจะลดทุนของบริษัทลงด้วยลดมูลค่าแต่ละหุ้นๆ ให้ต่ำลง  หรือลดจำนวนหุ้นให้
น้อยลงโดยมติพิเศษของประชุมผู้ถือหุ้นก็ได้
	มาตรา 1225 อันทุนของบริษัทนั้นจะลดลงไปให้ถึงต่ำกว่าจำนวนหนึ่งในสี่ของทุนทั้งหมดหาได้ไม่
	มาตรา 1226 เมื่อบริษัทประสงค์จะลดทุน ต้องโฆษณาความประสงค์นั้นในหนังสือพิมพ์
แห่งท้องที่อย่างน้อยหนึ่งคราว และต้องมีหนังสือบอกกล่าวไปยังบรรดาผู้ซึ่งบริษัทรู้ว่าเป็นเจ้าหนี้ของ
บริษัท บอกให้ทราบรายการซึ่งประสงค์จะลดทุนลงและขอให้เจ้าหนี้ผู้มีข้อคัดค้านอย่างหนึ่งอย่างใด
ในการลดทุนนั้น ส่งคำคัดค้านไปภายในสามสิบวันนับแต่วันที่บอกกล่าวนั้น
	ถ้าไม่มีผู้ใดคัดค้านภายในกำหนดเวลาสามสิบวัน ก็ให้พึงถือว่าไม่มีการคัดค้าน
ถ้าหากมีเจ้าหนี้คัดค้าน บริษัทจะจัดการลดทุนลงไม่ได้ จนกว่าจะได้ใช้หนี้หรือให้ประกันเพื่อ
หนี้รายนั้นแล้ว
	มาตรา 1227 ถ้ามีเจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดละเลยเสียมิได้คัดค้านในการที่บริษัทจะลดทุนลง เพราะเหตุว่า
ตนไม่ทราบความ  และเหตุที่ไม่ทราบนั้นมิได้เป็นเพราะความผิดของเจ้าหนี้คนนั้นแต่อย่างใดไซร้
ท่านว่าผู้ถือหุ้นทั้งหลายบรรดาที่ได้รับเงินคืนไปตามส่วนที่ลดหุ้นลงนั้น  ยังคงจะต้องรับผิดต่อ
เจ้าหนี้เช่นนั้นเพียงจำนวนที่ได้รับทุนคืนไปชั่วเวลาสองปีนับแต่วันที่ได้จดทะเบียนการลดทุนนั้น
	มาตรา 1228 มติพิเศษซึ่งอนุญาตให้เพิ่มทุน หรือลดทุนนั้น บริษัทต้องจดทะเบียนภายในสิบสี่วันนับแต่
วันที่ได้ลงมตินั้น

	ส่วนที่ 7
	หุ้นกู้

	มาตรา 1229 บริษัทจะออกหุ้นกู้ไม่ได้
	**แก้ไขโดย มาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
(ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2521 (รจ. เล่ม 95 ตอนที่ 149 วันที่ 25 ธันวาคม 2521)
	 มาตรา 1230  ถึง มาตรา 1235
	(ยกเลิก)
	**ยกเลิกโดย มาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
(ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2521 (รจ. เล่ม 95 ตอนที่ 149 วันที่ 25 ธันวาคม 2521)

	ส่วนที่ 8
	เลิกบริษัทจำกัด

	 มาตรา 1236 อันบริษัทจำกัดย่อมเลิกกันด้วยเหตุดั่งจะกล่าวต่อไปนี้  คือ
	(1)  ถ้าในข้อบังคับของบริษัทมีกำหนดกรณีอันใดเป็นเหตุที่จะเลิกกัน  เมื่อมีกรณีนั้น
	(2)  ถ้าบริษัทได้ตั้งขึ้นไว้เฉพาะกำหนดกาลใด เมื่อสิ้นกำหนดกาลนั้น
	(3)  ถ้าบริษัทได้ตั้งขึ้นเฉพาะเพื่อทำกิจการอย่างหนึ่งอย่างใดแต่อย่างเดียว เมื่อเสร็จ
การนั้น
	(4)  เมื่อมีมติพิเศษให้เลิก
	(5)  เมื่อบริษัทล้มละลาย
	 มาตรา 1237 นอกจากนี้ศาลอาจสั่งให้เลิกบริษัทจำกัดด้วยเหตุต่อไปนี้ คือ
	(1)  ถ้าทำผิดในการยื่นรายงานประชุมตั้งบริษัท หรือทำผิดในการประชุมตั้งบริษัท
	(2)  ถ้าบริษัทไม่เริ่มทำการภายในปีหนึ่งนับแต่วันจดทะเบียนหรือหยุดทำการปีหนึ่งเต็ม
	(3)  ถ้าการค้าของบริษัททำไปก็มีแต่ขาดทุนอย่างเดียว และไม่มีทางหวังว่าจะกลับฟื้นตัวได้
	(4)  ถ้าจำนวนผู้ถือหุ้นลดน้อยลงจนเหลือไม่ถึงสามคน
	(5) เมื่อมีเหตุอื่นใดทำให้บริษัทนั้นเหลือวิสัยที่จะดำรงคงอยู่ต่อไปได้
	แต่อย่างไรก็ดี ในกรณีทำผิดในการยื่นรายงานประชุมตั้งบริษัท หรือทำผิดในการประชุม
ตั้งบริษัท  ศาลจะสั่งให้ยื่นรายงานประชุมตั้งบริษัท  หรือให้มีการประชุมตั้งบริษัทแทนสั่งให้เลิก
บริษัทก็ได้ แล้วแต่จะเห็นควร
	*มาตรา 1237 (5) เพิ่มความโดยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 21/2560

	ส่วนที่ 9
	การควบบริษัทจำกัดเข้ากัน

	มาตรา 1238 อันบริษัทจำกัดนั้นจะควบเข้ากันมิได้ เว้นแต่จะเป็นไปโดยมติพิเศษ
	มาตรา 1239 มติพิเศษซึ่งวินิจฉัยให้ควบบริษัทจำกัดเข้ากันนั้น บริษัทต้องนำไปจดทะเบียนภายใน
สิบสี่วันนับตั้งแต่วันลงมติ
	มาตรา 1240 บริษัทต้องโฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่อย่างน้อยหนึ่งคราว และส่ง
คำบอกกล่าวไปยังบรรดาผู้ซึ่งบริษัทรู้ว่าเป็นเจ้าหนี้ของบริษัท บอกให้ทราบรายการที่ประสงค์จะควบ
บริษัทเข้ากัน และขอให้เจ้าหนี้ผู้มีข้อคัดค้านอย่างหนึ่งอย่างใดในการควบบริษัทเข้ากันนั้นส่งคำคัดค้าน
ไปภายในหกสิบวันนับแต่วันที่บอกกล่าว
	ถ้าไม่มีใครคัดค้านภายในกำหนดเวลาเช่นว่านั้น ก็ให้พึงถือว่าไม่มีคัดค้าน
	ถ้าหากมีเจ้าหนี้คัดค้าน  บริษัทจะจัดการควบเข้ากันมิได้ จนกว่าจะได้ใช้หนี้หรือได้ให้
ประกันเพื่อหนี้รายนั้น
*วรรคหนึ่งแก้ไขโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 18)
พ.ศ. 2551
	มาตรา 1241 บริษัทได้ควบเข้ากันแล้วเมื่อใด  ต่างบริษัทต้องนำความไปจดทะเบียนภายในสิบสี่วัน
นับแต่วันที่ควบเข้ากัน และบริษัทจำกัดอันได้ตั้งขึ้นใหม่ด้วยควบเข้ากันนั้น ก็ต้องจดทะเบียนเป็น
บริษัทใหม่
	มาตรา 1242 จำนวนทุนเรือนหุ้นของบริษัทใหม่นั้น ต้องเท่ากับยอดรวมจำนวนทุนเรือนหุ้นของบริษัท
เดิมอันมาควบเข้ากัน
	มาตรา 1243 บริษัทใหม่นี้ย่อมได้ไปทั้งสิทธิและความรับผิดบรรดามีอยู่แก่บริษัทเดิมอันได้มาควบเข้า
กันนั้นทั้งสิ้น

	ส่วนที่ 10
	หนังสือบอกกล่าว

	มาตรา 1244 อันหนังสือบอกกล่าวซึ่งบริษัทจะพึงส่งถึงผู้ถือหุ้นนั้น ถ้าว่าได้ส่งมอบให้แล้วถึงตัวก็ดี
หรือส่งไปโดยทางไปรษณีย์สลักหลังถึงสำนักอาศัยของผู้ถือหุ้นดั่งที่ปรากฏในทะเบียนของบริษัท
แล้วก็ดี  ท่านให้ถือว่าเป็นอันได้ส่งชอบแล้ว
	มาตรา 1245 หนังสือบอกกล่าวใดๆ เมื่อได้ส่งโดยทางไปรษณีย์สลักหลังถูกต้องแล้ว ท่านให้ถือว่า
เป็นอันได้ส่งถึงมือผู้รับในเวลาที่หนังสือเช่นนั้นจะควรไปถึงได้ตามทางการปกติแห่งไปรษณีย์

	ส่วนที่ 11
	การถอนทะเบียนบริษัทร้าง

	มาตรา 1246 (ยกเลิก)
	"ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 18)
พ.ศ. 2551
	ส่วนที่ 12
	การแปรสภาพห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนและห้างหุ้นส่วนจำกัดเป็นบริษัทจำกัด

	"มาตรา 1246/1ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนหรือห้างหุ้นส่วนจำกัดที่มีผู้เป็นหุ้นส่วนตั้งแต่
สามคนขึ้นไปอาจแปรสภาพเป็นบริษัทจำกัดได้ โดยความยินยอมของผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนและดำเนินการ
ดังต่อไปนี้
	(1) แจ้งความยินยอมของผู้เป็นหุ้นส่วนที่จะให้แปรสภาพห้างหุ้นส่วนเป็นบริษัทจำกัด
เป็นหนังสือต่อนายทะเบียนภายในสิบสี่วันนับแต่วันที่ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนให้ความยินยอม
	(2) ประกาศโฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่อย่างน้อยหนึ่งคราว และมีหนังสือบอกกล่าว
ไปยังบรรดาผู้ซึ่งรู้ว่าเป็นเจ้าหนี้ของห้างหุ้นส่วนบอกให้ทราบรายการที่ประสงค์จะแปรสภาพ
ห้างหุ้นส่วนเป็นบริษัท และขอให้เจ้าหนี้ผู้มีข้อคัดค้านอย่างหนึ่งอย่างใดในการแปรสภาพเป็นบริษัท
จำกัดนั้น ส่งคำคัดค้านไปภายในสามสิบวันนับแต่วันที่บอกกล่าวนั้น
	ถ้ามีการคัดค้าน ห้างหุ้นส่วนนั้นจะแปรสภาพมิได้จนกว่าจะได้ชำระหนี้หรือให้ประกันเพื่อ
หนี้นั้นแล้ว
	"มาตรา 1246/2ในกรณีไม่มีการคัดค้านหรือมีการคัดค้านแต่ห้างหุ้นส่วนได้ชำระหนี้หรือ
ให้ประกันเพื่อหนี้นั้นแล้ว ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนต้องประชุมเพื่อให้ความยินยอมและดำเนินการในเรื่อง
ดังต่อไปนี้
	(1) จัดทำหนังสือบริคณห์สนธิและข้อบังคับของบริษัท (ถ้ามี)
	(2) กำหนดจำนวนทุนเรือนหุ้นของบริษัท ซึ่งต้องเท่ากับส่วนลงหุ้นของผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน
ในห้างหุ้นส่วน และกำหนดจำนวนหุ้นของบริษัทที่จะตกได้แก่หุ้นส่วนแต่ละคน
	(3) กำหนดจำนวนเงินที่ได้ใช้แล้วในแต่ละหุ้น ซึ่งต้องไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบห้าแห่งมูลค่า
ของหุ้นแต่ละหุ้นที่ตั้งไว้
	(4) กำหนดจำนวนหุ้นสามัญหรือหุ้นบุริมสิทธิ รวมทั้งกำหนดสภาพและบุริมสิทธิของหุ้น
ซึ่งจะออกและจัดสรรหุ้นให้แก่ผู้เป็นหุ้นส่วน
	(5) แต่งตั้งกรรมการและกำหนดอำนาจของกรรมการ
	(6) แต่งตั้งผู้สอบบัญชี
	(7) ดำเนินการในเรื่องอื่น ๆ ที่จำเป็นในการแปรสภาพ
	ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับบริษัทจำกัดว่าด้วยการนั้น ๆ มาใช้
บังคับโดยอนุโลม
	"มาตรา 1246/3หุ้นส่วนผู้จัดการเดิมต้องส่งมอบกิจการ ทรัพย์สิน บัญชีเอกสารและ
หลักฐานต่าง ๆ ของห้างหุ้นส่วนให้แก่คณะกรรมการบริษัท ภายในสิบสี่วันนับแต่วันที่ผู้เป็นหุ้นส่วน
ได้ให้ความยินยอมและดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ ตามมาตรา 1246/2 เสร็จสิ้นแล้ว
	ในกรณีที่ผู้เป็นหุ้นส่วนยังไม่ได้ชำระเงินค่าหุ้นหรือชำระเงินค่าหุ้นไม่ครบร้อยละยี่สิบห้า
ของมูลค่าหุ้น หรือยังไม่ได้โอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สิน หรือทำเอกสารหลักฐานการใช้สิทธิต่าง ๆ
ให้แก่คณะกรรมการ ให้คณะกรรมการบริษัทมีหนังสือแจ้งให้ผู้เป็นหุ้นส่วนชำระเงินค่าหุ้น โอนกรรมสิทธิ์
หรือทำเอกสารหลักฐานการใช้สิทธิต่าง ๆ แล้วแต่กรณี ให้แก่คณะกรรมการภายในสามสิบวันนับแต่
วันที่ได้รับหนังสือแจ้ง
	"มาตรา 1246/4 คณะกรรมการบริษัทต้องขอจดทะเบียนการแปรสภาพเป็นบริษัทจำกัดต่อ
นายทะเบียน ภายในสิบสี่วันนับแต่วันที่ได้ดำเนินการตามมาตรา 1246/3 ครบถ้วนแล้ว
	ในการขอจดทะเบียนแปรสภาพเป็นบริษัทจำกัด คณะกรรมการต้องยื่นรายงานการประชุม
ที่ผู้เป็นหุ้นส่วนได้ร่วมกันพิจารณาให้ความยินยอมและดำเนินการแปรสภาพห้างหุ้นส่วนเป็น
บริษัทจำกัดตามมาตรา 1246/2 หนังสือบริคณห์สนธิ ข้อบังคับ และบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น พร้อมกับ
การขอจดทะเบียนด้วย
	"มาตรา 1246/5เมื่อนายทะเบียนได้รับจดทะเบียนการแปรสภาพห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน
หรือห้างหุ้นส่วนจำกัดเป็นบริษัทจำกัดแล้ว ให้ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน หรือห้างหุ้นส่วนจำกัดเดิม
หมดสภาพการเป็นห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนหรือห้างหุ้นส่วนจำกัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
และให้นายทะเบียนหมายเหตุไว้ในทะเบียน
	"มาตรา 1246/6เมื่อห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนหรือห้างหุ้นส่วนจำกัดได้จดทะเบียนแปรสภาพ
เป็นบริษัทจำกัดแล้ว บริษัทย่อมได้ไปทั้งทรัพย์สิน หนี้ สิทธิ และความรับผิดของห้างหุ้นส่วน
จดทะเบียนหรือห้างหุ้นส่วนจำกัดเดิมทั้งหมด
	"มาตรา 1246/7เมื่อจดทะเบียนแปรสภาพเป็นบริษัทจำกัดแล้ว หากบริษั ทไม่ สาม ารถ
ชำระหนี้ที่รับมาจากห้างหุ้นส่วนที่แปรสภาพได้ ให้เจ้าหนี้บังคับชำระหนี้เอาจากผู้เป็นหุ้นส่วน
ในห้างหุ้นส่วนที่แปรสภาพได้ตามที่ผู้เป็นหุ้นส่วนจะต้องรับผิดในหนี้ของห้างหุ้นส่วน”
**มาตรา 1246/1-7เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและ
พาณิชย์ (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2551
	มาตรา 1247 การชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน หรือห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือบริษัทจำกัดซึ่ง
ล้มละลายนั้น  ให้จัดทำไปตามบทกฎหมายลักษณะล้มละลายที่คงใช้อยู่ตามแต่จะทำได้
	รัฐมนตรีเจ้าหน้าที่จะออกกฎกระทรวงว่าด้วยการชำระบัญชี ห้างหุ้นส่วนและบริษัท
และกำหนดอัตราค่าฤชาธรรมเนียมก็ออกได้
	**แก้ไขโดย มาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
พ.ศ. 2479 (รจ. เล่ม 53 ตอนที่ 45 วันที่ 22 พฤศจิกายน 2479)
	มาตรา 1248 เมื่อกล่าวถึงประชุมใหญ่ในหมวดนี้  ท่านหมายความดั่งต่อไปนี้  คือ
	(1)  ถ้าเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนและห้างหุ้นส่วนจำกัด ก็คือการประชุมหุ้นส่วน
ทั้งปวงซึ่งอาศัยคะแนนเสียงข้างมากเป็นใหญ่ในการวินิจฉัย
	(2)  ถ้าเกี่ยวกับบริษัทจำกัด  ก็คือการประชุมใหญ่ตามที่ได้บัญญัติไว้ใน มาตรา 1171
	มาตรา 1249 ห้างหุ้นส่วนก็ดี บริษัทก็ดี แม้จะได้เลิกกันแล้ว  ก็ให้พึงถือว่ายังคงตั้งอยู่ตราบ
เท่าเวลาที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชี
	มาตรา 1250 หน้าที่ของผู้ชำระบัญชี คือ ชำระสะสางการงานของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้น
ให้เสร็จไปกับจัดการใช้หนี้เงินและแจกจำหน่ายสินทรัพย์ของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้น
	มาตรา 1251 ห้างหุ้นส่วนก็ดี บริษัทก็ดี ในเมื่อเลิกกันเพราะเหตุอื่นนอกจากล้มละลาย หุ้นส่วน
ผู้จัดการห้างหรือกรรมการของบริษัทย่อมเข้าเป็นผู้ชำระบัญชี เว้นไว้แต่ข้อสัญญาของห้าง หรือข้อบังคับของ
บริษัทจะมีกำหนดไว้เป็นสถานอื่น
	ถ้าไม่มีผู้ชำระบัญชีดั่งว่ามานี้และเมื่อพนักงานอัยการหรือบุคคลอื่นผู้มีส่วนได้เสีย
ในการนี้ร้องขอ  ท่านให้ศาลตั้งผู้ชำระบัญชี
	มาตรา 1252 หุ้นส่วนผู้จัดการ หรือกรรมการบริษัทมีอำนาจโดยตำแหน่งเดิมฉันใด เมื่อเป็นผู้ชำระ
บัญชีก็ยังคงมีอำนาจอยู่ฉันนั้น
	มาตรา 1253 ภายในสิบสี่วันนับแต่ได้เลิกห้างเลิกบริษัท หรือถ้าศาลได้ตั้งผู้ชำระบัญชีนับแต่วันที่
ศาลตั้ง  ผู้ชำระบัญชีต้องกระทำดั่งจะกล่าวต่อไปนี้  คือ
	(1) บอกกล่าวแก่ประชาชนโดยประกาศโฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่อย่างน้อย
หนึ่งคราวว่าห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นได้เลิกกันแล้วและให้ผู้เป็นเจ้าหนี้ทั้งหลายยื่นคำทวงหนี้แก่
ผู้ชำระบัญชี
	(2)  ส่งคำบอกกล่าวอย่างเดียวกันเป็นจดหมายลงทะเบียนไปรษณีย์ไปยังเจ้าหนี้ทั้ง
หลายทุกๆ คนบรรดามีชื่อปรากฏในสมุดบัญชี หรือเอกสารของห้างหรือบริษัทนั้น
*(1) แก้ไขโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2551
	มาตรา 1254 การเลิกหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้น  ผู้ชำระบัญชีต้องนำบอกให้จดทะเบียนภายในสิบสี่วัน
นับแต่วันที่เลิกกัน และในการนี้ต้องระบุชื่อผู้ชำระบัญชีทุกๆ คนให้จดลงทะเบียนไว้ด้วย
	มาตรา 1255 ผู้ชำระบัญชีต้องทำงบดุลขึ้นโดยเร็วที่สุดที่เป็นวิสัยจะทำได้ ส่งให้ผู้สอบบัญชี
ตรวจสอบลงสำคัญว่าถูกต้อง แล้วต้องเรียกประชุมใหญ่
	มาตรา 1256 ธุรการอันที่ประชุมใหญ่จะพึงทำนั้น  คือ
	(1)  รับรองให้หุ้นส่วนผู้จัดการหรือกรรมการบริษัทคงเป็นผู้ชำระบัญชีต่อไป หรือเลือกตั้ง
ผู้ชำระบัญชีใหม่ขึ้นแทนที่  และ
	(2)  อนุมัติบัญชีงบดุล
	อนึ่ง ที่ประชุมใหญ่จะสั่งให้ผู้ชำระบัญชีทำบัญชีตีราคาทรัพย์สิน หรือให้ทำการใดๆ ก็ได้
สุดแต่ที่ประชุมจะเห็นสมควร เพื่อชำระสะสางกิจการของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทให้เสร็จไป
	มาตรา 1257 ผู้ชำระบัญชีซึ่งมิใช่เป็นขึ้นเพราะศาลตั้งนั้น ท่านว่าจะถอนเสียจากตำแหน่ง และ
ตั้งผู้อื่นแทนที่ก็ได้ ในเมื่อผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหลายออกเสียงเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน หรือที่ประชุมใหญ่ของ
ผู้ถือหุ้นได้ลงมติดั่งนั้น  แต่ศาลย่อมสั่งถอนผู้ชำระบัญชีจากตำแหน่งและตั้งผู้อื่นแทนที่ได้ ไม่เลือก
ว่าจะเป็นผู้ชำระบัญชีซึ่งศาลตั้งหรือมิใช่ศาลตั้ง ในเมื่อมีคำร้องขอของผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างคนใด
คนหนึ่งหรือของผู้ถือหุ้นในบริษัทมีหุ้นรวมกันนับได้ถึงหนึ่งในยี่สิบแห่งทุนของบริษัทโดยจำนวน
ที่ส่งใช้เงินเข้าทุนแล้วนั้น
	มาตรา 1258 เมื่อมีการเปลี่ยนตัวผู้ชำระบัญชีใหม่ครั้งใด  ผู้ชำระบัญชีต้องนำความจดทะเบียน
ภายในสิบสี่วันนับแต่วันที่ได้เปลี่ยนตัวกันนั้น
	มาตรา 1259 ผู้ชำระบัญชีทั้งหลายย่อมมีอำนาจดั่งจะกล่าวต่อไปนี้  คือ
	(1)  แก้ต่างว่าต่างในนามของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทในอรรถคดีพิพาทอันเป็นแพ่งหรือ
อาญาทั้งปวง และทำประนีประนอมยอมความ
	(2)  ดำเนินกิจการของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทตามแต่จำเป็นเพื่อการชำระสะสางกิจการ
ให้เสร็จไปด้วยดี
	(3)  ขายทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท
	(4)  ทำการอย่างอื่นๆ ตามแต่จำเป็น เพื่อชำระบัญชีให้เสร็จไปด้วยดี
	มาตรา 1260 ข้อจำกัดอำนาจของผู้ชำระบัญชีอย่างใดๆ จะอ้างเป็นสมบูรณ์ต่อบุคคลภายนอก
หาได้ไม่
	มาตรา 1261 ถ้ามีผู้ชำระบัญชีหลายคน  การใดๆ ที่ผู้ชำระบัญชีกระทำย่อมไม่เป็นอันสมบูรณ์ 
นอกจากผู้ชำระบัญชีทั้งหลายจะได้ทำร่วมกัน เว้นแต่ที่ประชุมใหญ่หรือศาลจะได้กำหนดอำนาจไว้
เป็นอย่างอื่นในเวลาตั้งผู้ชำระบัญชี
	มาตรา 1262 ถ้ามีมติของที่ประชุมใหญ่หรือคำบังคับของศาลให้อำนาจผู้ชำระบัญชีให้ทำการ
แยกกันได้ท่านว่าต้องนำความจดทะเบียนภายในสิบสี่วันนับแต่วันลงมติหรือออกคำบังคับนั้น
	มาตรา 1263 ค่าธรรมเนียม ค่าภารติดพัน และค่าใช้จ่ายซึ่งต้องเสียโดยควรในการชำระบัญชีนั้น
ท่านว่าผู้ชำระบัญชีต้องจัดการใช้ก่อนหนี้เงินรายอื่นๆ
	มาตรา 1264 ถ้าเจ้าหนี้คนใดมิได้มาทวงถามให้ใช้หนี้  ผู้ชำระบัญชีต้องวางเงินเท่าจำนวนหนี้
นั้นตามบทแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยวางทรัพย์สินแทนชำระหนี้
	มาตรา 1265 ผู้ชำระบัญชีจะเรียกให้ผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นส่งใช้เงินลงหุ้นอันเป็นส่วนยัง
ค้างชำระอยู่นั้นก็ได้ และเงินที่ค้างชำระนี้ถึงแม้จะได้ตกลงกันไว้ก่อนโดยสัญญาเข้าหุ้นส่วน หรือโดยข้อบังคับ
ของบริษัทว่าจะได้เรียกต่อภายหลังก็ตาม เมื่อเรียกเช่นนี้แล้ว ท่านว่าต้องส่งใช้ทันที
	มาตรา 1266 ถ้าผู้ชำระบัญชีมาพิจารณาเห็นว่า  เมื่อเงินลงทุนหรือเงินค่าหุ้นได้ใช้เสร็จหมดแล้ว 
สินทรัพย์ก็ยังไม่พอกับหนี้สินไซร้ ผู้ชำระบัญชีต้องร้องขอต่อศาลทันที เพื่อให้ออกคำสั่งว่าห้างหุ้น
ส่วนหรือบริษัทนั้นล้มละลาย
	มาตรา 1267 ผู้ชำระบัญชีต้องทำรายงานยื่นไว้ ณ หอทะเบียนทุกระยะสามเดือนครั้งหนึ่งว่าได้จัดการ
ไปอย่างใดบ้าง แสดงให้เห็นความเป็นไปของบัญชีที่ชำระอยู่นั้น และรายงานนี้ให้เปิดเผยแก่
ผู้เป็นหุ้นส่วนและผู้ถือหุ้น และเจ้าหนี้ทั้งหลายตรวจดูได้โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม
	มาตรา 1268 ถ้าการชำระบัญชีนั้นยังคงทำอยู่โดยกาลกว่าปีหนึ่งขึ้นไป  ผู้ชำระบัญชีต้องเรียกประชุม
ใหญ่ในเวลาสิ้นปีทุกปีนับแต่เริ่มทำการชำระบัญชี และต้องทำรายงานยื่นที่ประชุมว่าได้จัดการไป
อย่างไรบ้าง ทั้งแถลงให้ทราบความเป็นไปแห่งบัญชีโดยละเอียด
	มาตรา 1269 อันทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนหรือของบริษัทนั้น จะแบ่งคืนให้แก่ผู้เป็นหุ้นส่วน หรือผู้ถือหุ้น
ได้แต่เพียงเท่าที่ไม่ต้องเอาไว้ใช้ในการชำระหนี้ของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทเท่านั้น
	มาตรา 1270 เมื่อการชำระบัญชีกิจการของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทสำเร็จลง ผู้ชำระบัญชีต้องทำรายงาน
การชำระบัญชีแสดงว่าการชำระบัญชีนั้นได้ดำเนินไปอย่างใด และได้จัดการทรัพย์สินของ
ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นไปประการใด แล้วให้เรียกประชุมใหญ่เพื่อเสนอรายงานนั้น และชี้แจง
กิจการต่อที่ประชุม
	เมื่อที่ประชุมใหญ่ได้ให้อนุมัติรายงานนั้นแล้ว ผู้ชำระบัญชีต้องนำข้อความที่ได้ประชุม
กันนั้นไปจดทะเบียนภายในสิบสี่วันนับแต่วันประชุม เมื่อได้จดทะเบียนแล้วดั่งนี้ให้ถือว่าเป็นที่สุด
แห่งการชำระบัญชี
	มาตรา 1271 เมื่อเสร็จการชำระบัญชีแล้ว  ท่านให้มอบบรรดาสมุด และบัญชี และเอกสารทั้งหลาย
ของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทซึ่งได้ชำระบัญชีนั้นไว้แก่นายทะเบียนภายในกำหนดสิบสี่วันดั่งกล่าว
ไว้ในมาตราก่อน และให้นายทะเบียนรักษาสมุด และบัญชี และเอกสารเหล่านั้นไว้สิบปีนับแต่วัน
ถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชี
	สมุด และบัญชี และเอกสารเหล่านี้ให้เปิดให้แก่บรรดาบุคคลผู้มีส่วนได้เสียตรวจดูได้
โดยไม่เรียกค่าธรรมเนียมอย่างหนึ่งอย่างใด
	มาตรา 1272 ในคดีฟ้องเรียกหนี้สินซึ่งห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทหรือผู้เป็นหุ้นส่วน  หรือผู้ถือหุ้น  หรือ
ผู้ชำระบัญชีเป็นลูกหนี้อยู่ในฐานเช่นนั้น ท่านห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนดสองปีนับแต่วันถึงที่สุด
แห่งการชำระบัญชี
	มาตรา 1273 บทบัญญัติแห่ง มาตรา 1172 ถึง มาตรา 1193  กับ มาตรา 1195  มาตรา 1207  เหล่านี้
ท่านให้ใช้บังคับแก่การประชุมใหญ่ซึ่งมีขึ้นในระหว่างชำระบัญชีด้วยโดยอนุโลม

	“หมวด 6
	การถอนทะเบียนห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัด และบริษัทจำกัดร้าง

	"มาตรา 1273/1 เมื่อใดนายทะเบียนมีมูลเหตุอันควรเชื่อว่าห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน
ห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือบริษัทจำกัดใด มิได้ทำการค้าขายหรือประกอบการงานแล้ว ให้นายทะเบียน
มีหนังสือส่งทางไปรษณีย์ตอบรับไปยังห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท เพื่อสอบถามว่ายังทำการค้าขายหรือ
ประกอบการงานอยู่หรือไม่ และแจ้งว่าหากมิได้รับคำตอบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ส่งหนังสือ
จะได้โฆษณาในหนังสือพิมพ์เพื่อขีดชื่อห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นออกเสียจากทะเบียน
	ถ้านายทะเบียนได้รับคำตอบจากห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นว่า ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทมิได้ทำ
การค้าขายหรือประกอบการงานแล้วหรือมิได้รับคำตอบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ส่งหนังสือ
ให้นายทะเบียนโฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่อย่างน้อยหนึ่งคราวและส่งหนังสือบอกกล่าวทาง
ไปรษณีย์ตอบรับไปยังห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทว่า เมื่อพ้นเวลาเก้าสิบวันนับแต่วันที่ส่งหนังสือบอกกล่าว
ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นจะถูกขีดชื่อออกจากทะเบียน เว้นแต่จะแสดงเหตุให้เห็นเป็นอย่างอื่น
	"มาตรา 1273/2 ในกรณีที่ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทเลิกกันแล้วและอยู่ระหว่างการชำระบัญชี
หากนายทะเบียนมีมูลเหตุอันควรเชื่อว่าไม่มีตัวผู้ชำระบัญชีทำการอยู่ หรือการงานของห้างหุ้นส่วนหรือ
บริษัทได้ชำระสะสางตลอดแล้ว แต่ผู้ชำระบัญชีมิได้ทำรายงานการชำระบัญชี หรือมิได้ยื่นจดทะเบียน
เสร็จการชำระบัญชีต่อนายทะเบียน ให้นายทะเบียนมีหนังสือส่งทางไปรษณีย์ตอบรับไปยังห้างหุ้นส่วน
หรือบริษัท และผู้ชำระบัญชี ณ สถานที่อันปรากฏเป็นสำนักงานสุดท้าย แจ้งให้ดำเนินการเพื่อให้มี
ตัวผู้ชำระบัญชี หรือยื่นรายงานการชำระบัญชี หรือจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี แล้วแต่กรณี และ
แจ้งว่าหากมิได้ดำเนินการดังกล่าวภายในระยะเวลาหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่ส่งหนังสือนั้นแล้ว
จะได้โฆษณาในหนังสือพิมพ์เพื่อขีดชื่อห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นออกเสียจากทะเบียน
	ถ้าห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท หรือผู้ชำระบัญชีมิได้ดำเนินการภายในกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง
ให้นายทะเบียนโฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่อย่างน้อยหนึ่งคราว และส่งหนังสือบอกกล่าวทาง
ไปรษณีย์ตอบรับไปยังห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทและผู้ชำระบัญชีว่าเมื่อพ้นกำหนดเวลาเก้าสิบวันนับแต่
วันที่ส่งหนังสือบอกกล่าว ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นจะถูกขีดชื่อออกจากทะเบียน เว้นแต่จะแสดงเหตุ
ให้เห็นเป็นอย่างอื่น
	"มาตรา 1273/3 เมื่อสิ้นกำหนดเวลาตามที่แจ้งในหนังสือบอกกล่าวตามมาตรา 1273/1
หรือมาตรา 1273/2 แล้ว และห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท หรือผู้ชำระบัญชีมิได้แสดงเหตุให้เห็นเป็น
อย่างอื่น นายทะเบียนจะขีดชื่อห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นออกเสียจากทะเบียนก็ได้ ในการนี้
ให้ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นสิ้นสภาพนิติบุคคลตั้งแต่เมื่อนายทะเบียนขีดชื่อห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทออก
เสียจากทะเบียน แต่ความรับผิดของหุ้นส่วนผู้จัดการ ผู้เป็นหุ้นส่วน กรรมการ ผู้จัดการ และผู้ถือหุ้น
มีอยู่เท่าไรก็ให้คงมีอยู่อย่างนั้นและพึงเรียกบังคับได้เสมือนห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นยังมิได้สิ้นสภาพ
นิติบุคคล
	"มาตรา 1273/4 ถ้าห้างหุ้นส่วน ผู้เป็นหุ้นส่วน บริษัท ผู้ถือหุ้น หรือเจ้าหนี้ใด ๆ ของ
ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นรู้สึกว่าต้องเสียหายโดยไม่เป็นธรรมเพราะการที่ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทถูก
ขีดชื่อออกจากทะเบียน เมื่อห้างหุ้นส่วน ผู้เป็นหุ้นส่วน บริษัท ผู้ถือหุ้นหรือเจ้าหนี้ยื่นคำร้องต่อศาล
และศาลพิจารณาได้ความเป็นที่พอใจว่าในขณะที่ขีดชื่อห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทออกจากทะเบียน
ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทยังทำการค้าขายหรือยังประกอบการงานอยู่ หรือเห็นเป็นการยุติธรรมในการที่
จะให้ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทได้กลับคืนสู่ทะเบียนก็ดี ศาลจะสั่งให้จดชื่อห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทกลับคืน
เข้าสู่ทะเบียนก็ได้ และให้ถือว่าห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นยังคงอยู่ตลอดมาเสมือนมิได้มีการขีดชื่อ
ออกเลย โดยศาลจะสั่งและวางข้อกำหนดไว้เป็นประการใด ๆ ตามที่เห็นเป็นการยุติธรรมด้วยก็ได้
เพื่อให้ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทและบรรดาบุคคลอื่น ๆ กลับคืนสู่ฐานะอันใกล้ที่สุดกับฐานะเดิมเสมือน
ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นมิได้ถูกขีดชื่อออกจากทะเบียนเลย
	การร้องขอให้ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทกลับคืนสู่ทะเบียน ห้ามมิให้ร้องขอเมื่อพ้นกำหนดสิบปี
นับแต่วันที่นายทะเบียนขีดชื่อห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทออกจากทะเบียน”
*หมวด 6 มาตรา 1273/1 มาตรา 1273/2 มาตรา 1273/3 และมาตรา 1273/4 ในลักษณะ 22 หุ้นส่วนและบริษัท
เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2551

	ลักษณะ 23
	สมาคม

	มาตรา 1274 ถึง มาตรา 1297  (ยกเลิก)
	**ยกเลิกโดย มาตรา 3 (2) แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติ บรรพ 1 แห่งประมวล
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2535 (รจ. เล่ม 109 ตอนที่ 42 วันที่ 8 เมษายน 2535)

Leave a Reply