กันยายน 7, 2020 In อธิบายกฏหมาย

อธิบายกฎหมายคุ้มครองแรงงาน-การไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง(มาตรา 119(1) )

คำอธิบายกฎหมายคุ้มครองแรงงาน-การไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง
-
           *การไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย (พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119)
 -
           มาตรา 119 นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใด
 ดังต่อไปนี้
           (1) ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง
           (2) จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
           (3) ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
           (4) ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมาย
 และเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรง นายจ้างไม่จำเป็นต้อง
 ตักเตือน
           หนังสือเตือนให้มีผลบังคับได้ไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ลูกจ้างได้กระทำผิด
           (5) ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตามโดยไม่มี
 เหตุอันสมควร
           (6) ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก
           ในกรณี (6) ถ้าเป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษต้องเป็นกรณีที่เป็น
 เหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
           การเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยตามวรรคหนึ่ง ถ้านายจ้างไม่ได้ระบุข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุที่
 เลิกจ้างไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างหรือไม่ได้แจ้งเหตุที่เลิกจ้างให้ลูกจ้างทราบในขณะที่เลิกจ้าง
 นายจ้างจะยกเหตุนั้นขึ้นอ้างในภายหลังไม่ได้
           *มาตรา 119 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551
 -
           ข้อสังเกต
           เมื่อนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง นายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ ลูกจ้างนั้น เว้นแต่
 มีเหตุดังต่อไปนี้ที่นายจ้างยกขึ้นเป็นข้ออ้างไม่จ่ายค่าชดเชยให้ กับลูกจ้างที่ทุจริตต่อหน้าที่ หรือ
 กระทําความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง ดังนั้น เหตุแห่งการเลิกจ้างที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
 ตามมาตรา 119 (1) แบ่ง ออกเป็น
           - ทุจริตต่อหน้าที่ คือ การประพฤติชั่ว โกง ไม่ซื่อสัตย์ ไม่ซื่อตรง
 -
 -
 กรณีศึกษาจากคำพิพากษาศาลฎีกา
 -
 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1374/2557
           จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องมาจากโจทก์หยิบโทรศัพท์เคลื่อนที่
 ของลูกค้าที่ธนาคาร ท. ซึ่งอยู่ที่ชั้นล่างของอาคารจำเลยไปโดยไม่ได้
 แจ้งให้ธนาคารดังกล่าวทราบและปิดโทรศัพท์เคลื่อนที่เพื่อป้องกันการ
 ติดตามของเจ้าของ รวมทั้งพยายามบอกขายโทรศัพท์เคลื่อนที่แก่ผู้อื่น
 ถือว่าโจทก์มีเจตนาเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยทุจริตอันเป็นความผิด
 ฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา เป็นการประพฤติชั่วอย่าง
 ร้ายแรง แม้เป็นการกระทำต่อผู้อื่นที่มิใช่ลูกค้าหรือผู้มาติดต่องานกับ
 จำเลยและมิได้เกิดในสถานที่ทำงาน แต่ก็ยังคงเป็นความผิดอาญา หา
 เป็นเหตุให้โจทก์หลุดพ้นจากการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงไม่ อีกทั้ง
 การประพฤติชั่วนั้นมิได้หมายถึงเฉพาะความประพฤติในขณะปฏิบัติ
 หน้าที่เท่านั้น ย่อมหมายความรวมถึงความประพฤติที่พึงต้องปฏิบัติ
 โดยทั่วไปด้วย การกระทำของโจทก์เป็นการไม่รักษาเกียรติยศชื่อเสียง
 ของจำเลยตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการว่าจ้างและการทำงาน
 บทที่ 6 วินัยและการลงโทษทางวินัยข้อ 5 เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับ
 เกี่ยวกับการทำงานอย่างร้ายแรงที่เลิกจ้างโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมาย
 และเป็นธรรม แล้ว
 -
 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3405/2552
           ตามข้อบังคับการรถไฟแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 3.5 ว่าด้วย
 ระเบียบวินัยและการลงโทษพนักงานขอการรถไฟแห่งประเทศไทย
 ลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2537 ข้อ 4 กำหนดว่าการไล่ออกจะกระทำได้ เมื่อพนักงาน
 ผู้ใดกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ดังต่อไปนี้ (ก) ทุจริตต่อหน้าที่...(ฉ) ประพฤติ
 ชั่วอย่างร้ายแรง การที่โจทก์ทราบดีอยู่แล้วว่า นายณรงค์กับนายวีรพรรณ ผู้ใต้บังคับ
 บัญชาของโจทก์ไม่ได้รับทราบคำสั่งอนุญาตให้หยุดพักผ่อนประจำปีและบุคคล
 ทั้งสองยังคงปฏิบัติหน้าที่ในวันที่มีสิทธิหยุดพักผ่อนดังกล่าว แต่โจทก์ได้เบิกจ่ายเงิน
 ให้บุคคลภายนอกที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจ้างเพื่อให้มาปฏิบัติหน้าที่แทนโดยบุคคล
 ภายนอกไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญาจ้างจริง การกระทำของโจทก์ดังกล่าวเป็นการ
 ประพฤติชั่ว โกง ไม่ซื่อตรง อันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่แล้ว ไม่ว่าความเสียหายที่จำเลย
 ที่ 1 ได้รับจะมีจำนวนมากหรือน้อยเพียงใด และจำเลยที่ 1 มีสิทธิลงโทษไล่โจทก์
 ออกจากงานตามข้อบังคับดังกล่าวข้างต้นได้
 -
 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3407/2552
           โจทก์ใช้คอมพิวเตอร์ส่วนตัวต่อพ่วงกับอุปกรณ์ของจำเลยใน
 เวลาทำงานเพื่อทำการค้ากับบุคคลภายนอก นอกจากจะเป็นการ
 แสวงหาประโยชน์อันมิชอบจากการใช้กระแสไฟฟ้า โทรศัพท์และ
 อุปกรณ์ของจำเลยแล้วยังเป็นการเบียดบังเวลาทำงานของจำเลยอีก
 ด้วย ย่อมทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย เมื่อจำเลยตักเตือนและ
 สั่งห้ามแล้ว โจทก์ยังกระทำเช่นนั้นอีกจนต้องมีการตักเตือนเช่นนั้นถึง
 5 ครั้งย่อมถือได้ว่าโจทก์ละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งเช่นว่านั้นเป็นอาจิณ
 และเป็นการกระทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้
 ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต จำเลยจึงชอบที่จะเลิกจ้างโจทก์ได้ทันที
 โดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอก
 กล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583
 ประกอบพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17
 วรรคท้าย และตามพฤติการณ์การกระทำของโจทก์ดังกล่าว ยังยากแก่
 การบังคับบัญชา หากจ้างโจทก์ทำงานต่อไปก็มีแต่จะทำให้จำเลยได้
 รับความเสียหายมากขึ้น จำเลยย่อมมีเหตุผลที่จะไม่ไว้วางใจให้โจทก์
 ทำงานต่อไป ถือได้ว่าเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุอันสมควร จึงเป็นการ
 เลิกจ้างที่เป็นธรรม จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่
 ไม่เป็นธรรมให้แก่โจทก์
 -
 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8417/2551
           พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฯ มิได้ให้ความหมายคำว่า “ทุจริต”ไว้ และมิได้ใช้คำว่า
 “โดยทุจริต” ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.อ. มาตรา 1 (1) จึงต้องให้ความหมายว่า “ทุจริต”
 ตามพจนานุกรม คือความประพฤติชั่ว โกงไม่ซื่อตรง เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในการ
 สอบสวนนั้นโจทก์แจ้งว่าโจทก์ได้รับกล้องที่เป็นของสมนาคุณมาจริงแล้วนำไปไว้ในที่
 เก็บสินค้าของจำเลยยังมิได้นำออกใช้ แต่เมื่อตรวจดูหน่วยความจำที่บันทึกภาพถ่ายใน
 กล้องปรากฏว่ามีภาพอยู่จำนวน 26 ภาพ เป็นภาพถ่ายที่โจทก์บันทึกไว้เป็นการส่วนตัว
 โจทก์จึงยอมรับว่าเอากล้องดังกล่าวไปใช้จริง การที่โจทก์ยอมรับว่าเอากล้องดังกล่าว
 ไปใช้แล้วจึงเป็นเพราะโจทก์จำนนต่อหลักฐานนั่นเอง ทั้งไม่อาจถือได้ว่าเป็นการ
 นำไปใช้โดยถือวิสาสะ เพราะหากโจทก์คิดว่าโจทก์มีสิทธิจะนำไปใช้ได้โจทก์ก็น่าจะ
 ยอมรับว่าเอาไว้ใช้แล้วจริงตั้งแต่ต้นไม่น่าจะต้องให้ตรวจดูหน่วยความจำที่กล้อง
 บันทึกไว้เสียก่อน เมื่อปรากฏว่ามีภาพถ่ายที่โจทก์บันทึกไว้เป็นการส่วนตัวโจทก์จึง
 เพิ่งจะยอมรับว่ากล้องดังกล่าวเป็นของสมนาคุณที่จำเลยได้มาและมีไว้เพื่อให้
 พนักงานของจำเลยจับรางวัลในงานวันขึ้นปีใหม่ การที่โจทก์ไม่แจ้งให้จำเลยทราบว่า
 ได้กล้องดังกล่าวมา ทั้งยังนำไปใช้โดยพลการ เมื่อมีการสอบสวนก็ยังไม่ยอมรับว่าเอา
 ไปใช้แล้วจนต้องมีการตรวจสอบหาความจริงจากหน่วยความจำที่กล้องบันทึกไว้ด้วย
 เช่นนี้ การกระทำของโจทก์จึงเป็นการประพฤติไม่ซื่อตรงอันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่
 จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.
 คุ้มครองแรงงานฯ.มาตรา 119 (1) ทั้งยังเป็นการกระทำอันไม่เหมาะสมแก่การปฏิบัติ
 หน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตจำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอก
 กล่าวล่วงหน้าตาม ป.พ.พ. มาตรา 583 จำเลยไม่จำต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าว
 ล่วงหน้าให้แก่โจทก์ ทั้งการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ในกรณีนี้เป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุสมควร
 ที่จะเลิกจ้างได้ จึงมิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายจากการ
 เลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมให้แก่โจทก์
 -
 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10332/2550
           แม้หนังสือบอกเลิกสัญญาจ้าง ระบุเหตุผลที่เลิกจ้างไว้ประการหนึ่งว่า
 โจทก์ไม่ได้มาทำงานในวันที่ 22 และ 26 มีนาคม 2547 แต่ได้ลงบันทึกข้อมูล
 ของบริษัทจำเลยว่าโจทก์มาทำงานในวันดังกล่าว ทำให้จำเลยต้องจ่ายค่าอาหาร
 ให้โจทก์วันละ 10 บาท รวม 2 วัน เป็นเงิน 20 บาท อันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่
 ในวันที่ 22 และ 26 มีนาคม 2547 ซึ่งไม่ตรงกับที่ศาลแรงงานกลางฟัง
 ข้อเท็จจริงว่าโจทก์ไม่มาทำงานในวันที่ 24 มีนาคม 2547 แต่โจทก์แก้ไข
 ข้อมูลว่ามาทำงานในวันดังกล่าว ทำให้โจทก์ได้รับประโยชน์เป็นเบี้ยขยันเดือนละ
 300บาทและค่าอาหารวันละ10บาทอันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ในวันที่24มีนาคม
 2547 ซึ่งเป็นการทุจริตต่อหน้าที่คนละวันกัน แต่ก็เป็นการระบุเรื่องโจทก์ทุจริต
 ต่อหน้าที่เป็นเหตุผลให้จำเลยเลิกจ้างโจทก์ไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างแล้ว
 เพียงแต่ระบุวันที่โจทก์ทุจริตต่อหน้าที่ผิดพลาดไปซึ่งเป็นรายละเอียดเท่านั้น
 จำเลยย่อมยกเหตุผลที่โจทก์ทุจริตต่อหน้าที่ขึ้นต่อสู้เพื่อไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยได้
 -

Leave a Reply