กันยายน 7, 2020 In คำพิพากษา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3863/2560-ขาดอายุความสิทธิเรียกร้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3863/2560
ส่งเสริมตุลาการ
	คู่กรณี
โจทก์  
	ห้างหุ้นส่วนจำกัด ฟง เถียน
จำเลย  
	บริษัทที.เอส. ไลน์ จำกัด หรือสายการเดินเรือที.เอส ไลน์
-
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
	พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534
	มาตรา 40, มาตรา 46
-
ข้อมูลย่อ
	จำเลยในฐานะผู้ขนส่งจะต้องรับผิดต่อการที่สินค้าที่ขนส่งเสียหาย
โดยเหตุแห่งการเสียหายเกิดขึ้นในระหว่างที่สินค้าอยู่ในความดูแลของ
จำเลย โจทก์ซึ่งเป็นผู้ใช้สิทธิเรียกร้องต่อจำเลยเพื่อให้รับผิดจะต้องฟ้อง
บังคับตามสิทธิเรียกร้องภายใน 1 ปี นับแต่วันที่จำเลยได้ส่งมอบสินค้า ตาม
พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 46
	ตามใบตราส่งเป็นการขนส่งภายใต้ข้อตกลงการรับและส่งมอบสินค้า
แบบ " FCL/FCL" ซึ่งหมายถึงที่ต้นทางผู้ตราส่งเป็นผู้นำตู้สินค้าที่ได้รับจาก
ผู้ขนส่งไปบรรจุสินค้าเข้าตู้ ปิดผนึกตู้ แล้วส่งมอบตู้สินค้าแก่ผู้ขนส่ง และที่
ปลายทางผู้รับตราส่งจะรับมอบตู้สินค้าเพื่อขนถ่ายสินค้าออกจากตู้สินค้าเอง
นอกจากนี้ตามใบตราส่งดังกล่าวยังระบุสถานที่ขนถ่ายสินค้าขึ้นจากเรือ
(Place of Discharge) และสถานที่ส่งมอบสินค้า (Place of Delivery) ว่า
เขตบริหารพิเศษฮ่องกง (Hong Kong) ที่เดียวกัน ส่วนในช่องสถานที่ปลายทาง
(Final Destination) ไม่มีการระบุไว้ ดังนั้น หน้าที่ขนส่งสินค้าตามสัญญา
รับขนของทางทะเลของจำเลยที่ทำกับโจทก์จึงถือว่าสิ้นสุดลงเมื่อจำเลย
ได้ส่งมอบสินค้าที่ท่าเรือเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ซึ่งจำเลยก็ได้ส่งมอบ
ตู้สินค้าดังกล่าวที่ท่าเรือเขตบริหารพิเศษฮ่องกงตั้งแต่วันที่ 14 เมษายน 
2555 กรณีจึงถือได้ว่าจำเลยได้ส่งมอบของที่ขนส่งแล้วตามมาตรา 40 (3)
ทั้งนี้ แม้จะมีการระบุในใบตราส่งด้วยว่า " in transit to Shenzhen, People's
Republic of China" ซึ่งอาจเข้าใจว่าสินค้าจะได้รับการขนส่งต่อไปยังเมือง
เชินเจิ้น ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน แต่ไม่ปรากฏว่าการขนส่งต่อไป
ดังกล่าวเป็นหน้าที่ของจำเลย แม้ผู้ร้องรับตราส่งซึ่งอยู่ที่เมืองเชินเจิ้นได้รับตู้สินค้า
เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2555 ก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยได้ส่งมอบสินค้าให้แก่
ผู้รับตราส่งในวันที่ 27 เมษายน 2555 ตามมาตรา 40 (1) อายุความ
แห่งสิทธิเรียกร้องในคดีนี้จึงครบกำหนด 1 ปี ในวันที่ 14 เมษายน
2556 เมื่อโจทก์ฟ้องในวันที่ 29 เมษายน 2556 สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้อง
ของโจทก์จึงขาดอายุความแล้ว
-
รายละเอียด
	โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 43,674.93 ดอลลาร์สหรัฐ
พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 40,612.32 ดอลลาร์สหรัฐ
นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
	จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
	ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง
ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
	โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
	ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า
ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยไม่โต้แย้งกันในชั้นอุทธรณ์รับฟังได้ในเบื้องต้นว่า
โจทก์ขายสินค้าทุเรียนสดจำนวน 948 กล่อง ให้แก่บริษัทเชินเจิ้น แดร์-สโตน
อินดัสเทรียล จำกัด ผู้ซื้อซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองเชินเจิ้น ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน
โจทก์ว่าจ้างจำเลยให้ขนส่งสินค้าจากท่าเรือแหลมฉบังไปส่งมอบแก่ผู้ซื้อ สินค้า
ได้รับการบรรจุในตู้สินค้าชนิดที่มีเครื่องปรับอากาศ หมายเลข "TRIU8387497" ที่
จำเลยเป็นผู้จัดหาด้วยข้อตกลงการรับมอบและส่งมอบตู้สินค้าที่ต้นทางและ
ปลายทางแบบ "FCL/FCL" จำเลยได้รับมอบตู้สินค้าไว้เพื่อการขนส่งและออกใบตราส่ง
เป็นหลักฐาน ตู้สินค้าถูกบรรทุกลงเรือทีเอส แหลมฉบัง จำเลยได้ส่งมอบตู้สินค้า
ดังกล่าวที่ท่าเรือเขตบริหารพิเศษฮ่องกงเมื่อวันที่ 14 เมษายน 2555 ผู้ซื้อซึ่งอยู่
ที่เมืองเชินเจิ้นและเป็นผู้รับตราส่งได้รับตู้สินค้าเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2555
แต่เมื่อผู้รับตราส่งเปิดตู้สินค้าพบว่าสินค้าทุเรียนสดเน่าเสียหายทั้งหมด
	คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้อง
ของโจทก์ขาดอายุความ 1 ปี ตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534
มาตรา 46 หรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยมีหน้าที่ต้องส่งมอบสินค้าให้แก่
ผู้รับตราส่งที่ปลายทางเมืองเชินเจิ้น ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน อายุความ
เริ่มนับตั้งแต่วันที่ 27 เมษายน 2555 อันเป็นวันที่ผู้รับตราส่งได้รับสินค้าและ
ครบกำหนด 1 ปี ในวันที่ 27 เมษายน 2556 ตามพระราชบัญญัติการรับขนของ
ทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 46 ประกอบมาตรา 40 (1) แต่วันที่ 27 เมษายน
2556 ตรงกับวันเสาร์อันเป็นวันหยุดทำการงาน โจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 27 เมษายน
2556 อันเป็นวันเปิดทำงานวันแรก สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์จึงยัง
ไม่ขาดอายุความ เห็นว่า พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534
มาตรา 46 บัญญัติว่า "ภายใต้บังคับมาตรา 47 และมาตรา 48 สิทธิเรียกร้องเอา
ค่าเสียหายเพื่อการสูญหาย เสียหาย หรือส่งมอบชักช้าแห่งของที่รับขนตาม
สัญญารับขนของทางทะเล ถ้าไม่ได้ฟ้องคดีต่อศาลหรือเสนอข้อพิพาทให้
อนุญาโตตุลาการชี้ขาดภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ผู้ขนส่งได้ส่งมอบของ หรือถ้าไม่มี
การส่งมอบนับแต่วันที่ล่วงเลยกำหนดส่งมอบตามมาตรา 41 (1) หรือนับแต่วันที่
ล่วงเลยกำหนดเวลาอันสมควรตามมาตรา 41 (2) ให้เป็นอันขาดอายุความ"
ดังนั้น เมื่อมีกรณีที่จำเลยในฐานะผู้ขนส่งจะต้องรับผิดต่อการที่สินค้าที่ขนส่ง
เสียหายโดยโจทก์กล่าวอ้างว่า เหตุแห่งการเสียหายเกิดขึ้นในระหว่างที่สินค้าอยู่ใน
ความดูแลของจำเลย โจทก์ซึ่งเป็นผู้ใช้สิทธิเรียกร้องต่อจำเลยเพื่อให้รับผิดจะต้อง
ฟ้องบังคับตามสิทธิเรียกร้องภายใน 1 ปี นับแต่วันที่จำเลยได้ส่งมอบสินค้า 
ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏตามใบตราส่งเป็นการขนส่งภายใต้ข้อตกลงการรับและส่งมอบ
สินค้าแบบ " FCL/FCL" ซึ่งหมายถึงที่ต้นทางผู้ตราส่งเป็นผู้นำตู้สินค้าที่ได้รับจาก
ผู้ขนส่งไปบรรจุสินค้าเข้าตู้ ปิดผนึกตู้ แล้วส่งมอบตู้สินค้าแก่ผู้ขนส่ง และที่
ปลายทางผู้รับตราส่งจะรับมอบตู้สินค้าเพื่อขนถ่ายสินค้าออกจากตู้สินค้าเอง
นอกจากนี้ตามใบตราส่งดังกล่าวยังระบุสถานที่ขนถ่ายสินค้าขึ้นจากเรือ (Place of
Discharge) และสถานที่ส่งมอบสินค้า (Place of Delivery) ว่า เขตบริหารพิเศษ
ฮ่องกง (Hong Kong) ที่เดียวกัน ส่วนในช่องสถานที่ปลายทาง (Final Destination) 
ไม่มีการระบุไว้ ดังนั้น หน้าที่ขนส่งสินค้าตามสัญญารับขนของทางทะเลของจำเลย
ที่ทำกับโจทก์จึงถือว่าสิ้นสุดลงเมื่อจำเลยได้ส่งมอบสินค้าที่ท่าเรือเขตบริหารพิเศษ
ฮ่องกง ซึ่งจำเลยก็ได้ส่งมอบตู้สินค้าดังกล่าวที่ท่าเรือเขตบริหารพิเศษฮ่องกงตั้งแต่
วันที่ 14 เมษายน 2555 กรณีจึงถือได้ว่าจำเลยได้ส่งมอบของที่ขนส่งแล้วตาม
มาตรา 40 (3) ทั้งนี้ แม้จะมีการระบุในใบตราส่งด้วยว่า " in transit to Shenzhen, 
People's Republic of China" ซึ่งอาจเข้าใจว่าสินค้าจะได้รับการขนส่งต่อไปยัง
เมืองเซินเจิ้น ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน แต่ข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของ
โจทก์ไม่ปรากฏว่าการขนส่งต่อไปดังกล่าวเป็นหน้าที่ของจำเลย เหตุนี้แม้โจทก์
จะนำสืบว่า ผู้รับตราส่งซึ่งอยู่ที่เมืองเชินเจิ้นได้รับตู้สินค้าเมื่อวันที่ 27 เมษายน
2555 ก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยได้ส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้รับตราส่งในวันที่ 27 เมษายน
2555 ตามมาตรา 40 (1) ตามที่โจทก์กล่าวอ้าง อายุความแห่งสิทธิเรียกร้องใน
คดีนี้จึงครบกำหนด 1 ปี ในวันที่ 14 เมษายน 2556 เมื่อโจทก์ฟ้องในวันที่ 
29 เมษายน 2556 สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์จึงขาดอายุความแล้ว
ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว
อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น อุทธรณ์ข้ออื่น ๆ ของโจทก์ไม่จำต้องวินิจฉัย
อีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง
	พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
-
(สุวัฒน์ วรรธนะหทัย - นวลน้อย ผลทวี - ไมตรี สุเทพากุล)
องค์คณะผู้ตัดสิน

Leave a Reply