กันยายน 7, 2020 In คำพิพากษา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1970/2559-ค่าเสียหายในกรณีละเมิดเครื่องหมายการค้า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1970/2559
ส่งเสริมตุลาการ
	คู่กรณี
โจทก์   
	บริษัท ป. เคมีเทค จำกัด
จำเลย  
	นายอภิเชฐ ทุ่งอ่วน
-
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง	
	ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
	มาตรา 142 (5)
	ข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย 
	พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 
	มาตรา 67
	พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและ
	วิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ
	พ.ศ. 2539 
	มาตรา 45
-
ข้อมูลย่อ
    	เครื่องหมายการค้าของจำเลยประกอบด้วยภาพประดิษฐ์รูปสุนัขยืน
และคำว่า "หมาแดง" ที่ด้านล่างของรูปสุนัข ส่วนเครื่องหมายการค้าของโจทก์
มีทั้งที่เป็นภาพประดิษฐ์รูปสุนัขนั่งและมีคำว่า "ตราสุนัข" หรือ RED DOG"
หรือ "หมาแดง ป. เคมีเทค" อยู่ด้านล่าง และที่มีเฉพาะคำว่า "หมาแดง"
เครื่องหมายการค้าของทั้งโจทก์และจำเลยจึงต่างมีภาพประดิษฐ์รูปสุนัขและ
คำว่า "หมาแดง" เป็นสาระสำคัญและเป็นลักษณะเด่นของเครื่องหมาย และ
เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบในส่วนภาพประดิษฐ์รูปสุนัขเห็นได้ว่าภาพประดิษฐ์
รูปสุนัขของโจทก์และจำเลยมีรูปร่างลักษณะใกล้เคียงกัน โดยมีหูตั้ง ปากแหลม
ขาหน้ายาวเช่นเดียวกัน รูปสุนัขหันหน้าไปในทางเดียวกัน แม้ภาพประดิษฐ์
รูปสุนัขของจำเลยจะเป็นรูปสุนัขยืน ส่วนภาพประดิษฐ์รูปสุนัขของโจทก์
เป็นรูปสุนัขนั่งก็ตาม แต่เครื่องหมายการค้างของจำเลยมีคำว่า "หมาแดง" และ
เครื่องหมายการค้าของโจทก์มีคำว่า "หมาแดง" "ตราสุนัข" หรือ RED DOG" หรือ
"หมาแดง ป. เคมีเทค" ประกอบอยู่ด้วย เครื่องหมายการค้าของทั้งโจทก์และ
จำเลยจึงอาจเรียกขานได้เช่นเดียวกันว่า ตราสุนัข หรือ ตราหมา หรือ ตราหมาแดง
เมื่อเครื่องหมายการค้าของจำเลยจดทะเบียนไว้เพื่อใช้กับสินค้าจำพวกที่ 31
รายการสินค้า เมล็ดพันธุ์พืช ส่วนเครื่องหมายการค้าของโจทก์จดทะเบียนไว้
เพื่อใช้กับสินค้าจำพวกที่ 1 และที่ 5 รายการสินค้า ยาฆ่าวัชพืช ยากำจัดศัตรูพืช
สารกำจัดวัชพืช ปุ๋ยเคมี สารกำจัดศัตรูพืช เป็นต้น จึงเป็นสินค้าต่างจำพวกกัน
มีลักษณะอย่างเดียวกัน เพราะรายการสินค้ามีลักษณะเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน
โดยเป็นสินค้าที่ใช้ในทางการเกษตรเหมือนกัน กลุ่มผู้ใช้สินค้าเป็นเกษตรกร
เช่นเดียวกัน การวางจำหน่ายก็อยู่ในร้านขายผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรเหมือนกัน
หากผู้ใช้สินค้าไม่ได้พิจารณาเครื่องหมายการค้าโดยละเอียดหรือไม่ได้นำ
เครื่องหมายการค้านั้นมาพิจารณาเปรียบเทียบกัน หรือใช้แต่เสียงเรียกขานของ
เครื่องหมายการค้าในการเลือกสินค้า  โดยไม่ได้สังเกตลักษณะของ
เครื่องหมายการค้าโดยตรงแล้ว อาจเกิดความสับสนในการแยกแยะเจ้าของ
สินค้าได้
     	โจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ครั้งแรกเมื่อปี 2542
ส่วนจำเลยจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยครั้งแรกเมื่อปี 2547
ซึ่งเป็นระยะเวลาหลังจากที่โจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์แล้ว
หลายปี ย่อมเป็นไปได้ว่าสาธารณชนรวมทั้งจำเลยรู้จักและคุ้นเคยกับ
เครื่องหมายการค้าของโจทก์แล้ว เมื่อเห็นเครื่องหมายการค้าของจำเลย
สาธารณชนอาจนึกถึงเชื่อมโยงไปถึงเครื่องหมายการค้าของโจทก์และสับสน
หรือหลงผิดได้ว่าสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของจำเลยเกี่ยวข้องกับโจทก์
เครื่องหมายการค้าของจำเลยและของโจทก์จึงเป็นเครื่องหมายการค้าคล้ายกัน
จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้า
หรือแหล่งกำเนิดของสินค้า เมื่อโจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์
และใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวมาก่อนจำเลย โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะใช้
เครื่องหมายการค้าขอโจทก์นั้นได้ จำเลยไม่มีสิทธินำเครื่องหมายการค้าของ
จำเลยซึ่งคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ดังกล่าวไปขอจดทะเบียน
เครื่องหมายการค้า การที่จำเลยนำเครื่องหมายการค้าที่คล้ายกับเครื่องหมาย
การค้าของโจทก์ไปขอจดทะเบียนและใช้กับสินค้าของจำเลยที่มีลักษณะ
อย่างเดียวกันกับสินค้าของโจทก์นำออกจำหน่ายต่อสาธารณชน ย่อมเป็น
การละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ประกอบกับพฤติการณ์ที่ว่า
จำเลยอยู่ในวงการค้าขายสินค้าประเภทเดียวกับโจทก์ แสดงให้เห็นว่าจำเลย
น่าจะรู้ถึงการมีอยู่ของเครื่องหมายการค้าและสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้า
ดังกล่าวของโจทก์ที่มีอยู่ในวงการสินค้าเกี่ยวกับเกษตรกรรมก่อนจำเลย
ยื่นคำขอจดทะเบียนแล้ว ทั้งเครื่องหมายการค้าที่จำเลยขอจดทะเบียนก็คล้าย
กับของโจทก์จนยากที่จะเป็นไปโดยบังเอิญ น่าเชื่อว่าจำเลยเลียนและดัดแปลง
เครื่องหมายการค้าที่ยื่นขอจดทะเบียนมาจากเครื่องหมายการค้าของโจทก์
การขอจดทะเบียนของจำเลยโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์จึงเป็นไปโดย
ไม่สุจริต โจทก์จึงมีสิทธิดีกว่าจำเลย แม้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าจะรับ
จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้จำเลยก็เป็นกรณีที่เกิดจากการที่จำเลย
ขอจดทะเบียนโดยไม่สุจริต โจทก์จึงมีสิทธิขอให้ห้ามจำเลยใช้เครื่องหมายการค้า
ของจำเลยและเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้
    	พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 67 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า
ภายในห้าปีนับแต่วันที่นายทะเบียนมีคำสั่งให้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าใด
ตามมาตรา 40 ผู้มีส่วนได้เสียอาจร้องขอต่อศาลให้สั่งเพิกถอนการจดทะเบียน
เครื่องหมายการค้านั้นได้ หากแสดงได้ว่าตนมีสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้น
ดีกว่าผู้ซึ่งได้จดทะเบียนเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้น ดังนั้นการร้องขอ
หรือฟ้องให้ศาลเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งสองเครื่องหมาย
ของจำเลยจึงต้องกระทำภายในห้าปีนับแต่วันที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้า
มีคำสั่งให้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งสองเครื่องหมาย เมื่อเครื่องหมาย
การค้าทะเบียนเลขที่ ค204838 และเลขที่ ค212584 ของจำเลย นายทะเบียน
เครื่องหมายการค้ามีคำสั่งให้จดทะเบียนเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2547 และ
18 มกราคม 2548 ตามลำดับ โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 
2554 เกินกว่าห้าปีนับแต่วันที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งให้
จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งสองเครื่องหมายแล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งสองเครื่องหมายของ
จำเลยคดีนี้ ปัญหานี้แม้จำเลยมิได้ยกขึ้นอุทธรณ์แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมาย
อันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สิน
ทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธี
พิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539
มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา  142 (5)
-
รายละเอียด
     	โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหาย 50,000,000 บาท และ
ค่าเสียหายวันละ 20,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยจะเลิกใช้ชื่อ
และเครื่องหมายการค้า "ตราหมาแดง" แก่โจทก์ กับให้เพิกถอนเครื่องหมายการค้า
ทะเบียนเลขที่ ค204838 และเครื่องหมายการค้าเลขที่ ค212584 
ของจำเลย หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดง
เจตนาของจำเลย โดยให้จำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมดภายในสามสิบวันนับแต่
วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด ห้ามจำเลยใช้ชื่อและเครื่องหมายการค้าโดยมีคำว่า
"หมาแดง" ประกอบกับสินค้าและผลิตภัณฑ์ใด ๆ  ของจำเลย และให้จำเลยเก็บวัสดุ
สิ่งพิมพ์ ป้ายโฆษณาที่ปรากฏชื่อและเครื่องหมายการค้าดังกล่าว และมิให้มีการ
จำหน่ายในท้องตลาดอีกต่อไปภายในกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่มีคำพิพากษา
หรือคดีถึงที่สุด
     	จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
     	ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศพิพากษาให้เพิกถอน
เครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค204838 และเลขที่ ค212584 ของจำเลย ห้ามจำเลย
ใช่ชื่อและเครื่องหมายการค้าโดยมีคำว่า "ตราหมาแดง" ประกอบซื้อสินค้าและผลิตภัณฑ์ใด ๆ
ของจำเลย และให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 730,000 บาท คำขอของโจทก์
นอกจากนี้ให้ยก กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ
20,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี
     	จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
     	ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า
ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้เป็นยุติว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าภาพประดิษฐ์
รูปสุนัขนั่งและมีอักษรบรรยายใต้รูปสุนัขประกอบคำว่า "หมายแดง" หรือ "ตราสุนัข" 
หรือ "หมายแดง ป.เคมีเทค" หรือ RED DOG" อย่างใดอย่างหนึ่งสำหรับสินค้าจำพวกต่าง ๆ
ในประเทศไทยรวม 10 เครื่องหมาย โดยได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ จำเลย
เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้ารูปสุนัขยืนและมีคำว่า "หมาแดง" ใต้รูปสุนัขดังกล่าว
โดยจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ตามทะเบียนเลขที่  204838  ซึ่งนายทะเบียน
เครื่องหมายการค้ามีคำสั่งให้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม
2547 และเครื่องหมายการค้ารูปสุนัขยืนและมีคำว่า "หมาแดง"  ประกอบฉลากสินค้า
โดยจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ตามทะเบียนเลขที่ 212584 ซึ่งนายทะเบียน
เครื่องหมายการค้ามีคำสั่งให้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเมื่อวันที่ 18 มกราคม
2548 
     	มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อแรกว่า จำเลยละเมิด
เครื่องหมายการค้าของโจทก์หรือไม่ ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า เครื่องหมายการค้าทะเบียน
เลขที่ ค204838 และ ค 212584 ของจำเลยไม่คล้ายกับเครื่องหมายการค้า
ของโจทก์จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของสินค้า
หรือแหล่งกำเนิดของสินค้านั้น  เห็นว่า เมื่อพิจารณาภาพรวมเครื่องหมายการค้าของ
จำเลยและโจทก์แล้วปรากฏว่า เครื่องหมายการค้าของจำเลยประกอบด้วยภาพประดิษฐ์
รูปสุนัขยืน และคำว่า "หมาแดง" ที่ด้านล่างของรูปสุนัข ส่วนเครื่องหมายการค้าของโจทก์
มีทั้งที่เป็นภาพประดิษฐ์รูปสุนัขนั่งและมีคำว่า "ตราสุนัข" หรือ RED DOG" หรือ 
"หมาแดง ป. เคมีเทค" อยู่ด้านล่าง และที่มีเฉพาะคำว่า "หมาแดง" เครื่องหมายการค้า
ของทั้งโจทก์และจำเลยจึงต่างมีภาพประดิษฐ์รูปสุนัขและคำว่า "หมาแดง" เป็นสาระสำคัญ
และเป็นลักษณะเด่นของเครื่องหมาย และเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบในส่วนภาพประดิษฐ์
รูปสุนัขเห็นได้ว่าภาพประดิษฐ์รูปสุนัขของโจทก์และจำเลยมีรูปร่างลักษณะใกล้เคียงกัน 
โดยมีหูตั้ง ปากแหลม ขาหน้ายาวเช่นเดียวกัน รูปสุนัขหันหน้าไปในทางเดียวกัน 
แม้ภาพประดิษฐ์รูปสุนัขของจำเลยจะเป็นรูปสุนัขยืน ส่วนภาพประดิษฐ์รูปสุนัข
ของโจทก์เป็นรูปสุนัขนั่งก็ตาม แต่เครื่องหมายการค้างของจำเลยมีคำว่า "หมาแดง"
และเครื่องหมายการค้าของโจทก์มีคำว่า "หมาแดง" "ตราสุนัข" หรือ RED DOG" หรือ
"หมาแดง ป. เคมีเทค" ประกอบอยู่ด้วย เครื่องหมายการค้าของทั้งโจทก์และจำเลย
จึงอาจเรียกขานได้เช่นเดียวกันว่า ตราสุนัข หรือ ตราหมา หรือ ตราหมาแดง
เมื่อเครื่องหมายการค้าของจำเลยจดทะเบียนไว้เพื่อใช้กับสินค้าจำพวกที่ 31
รายการสินค้า เมล็ดพันธุ์พืช ส่วนเครื่องหมายการค้าของโจทก์จดทะเบียนไว้เพื่อใช้
กับสินค้าจำพวกที่ 1 และที่ 5 รายการสินค้า ยาฆ่าวัชพืช ยากำจัดศัตรูพืช สารกำจัด
วัชพืช ปุ๋ยเคมี สารกำจัดศัตรูพืช เป็นต้น จึงเป็นสินค้าต่างจำพวกกันมีลักษณะ
อย่างเดียวกัน  เพราะรายการสินค้ามีลักษณะเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันโดยเป็นสินค้าที่ใช้
ในทางการเกษตรเหมือนกัน กลุ่มผู้ใช้สินค้าเป็นเกษตรกรเช่นเดียวกัน การวางจำหน่าย
ก็อยู่ในร้านขายผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรเหมือนกัน หากผู้ใช้สินค้าไม่ได้พิจารณา
เครื่องหมายการค้าโดยละเอียดหรือไม่ได้นำเครื่องหมายการค้านั้นมาพิจารณา
เปรียบเทียบกัน หรือใช้แต่เสียงเรียกขานของเครื่องหมายการค้าในการเลือกสินค้า
โดยไม่ได้สังเกตลักษณะของเครื่องหมายการค้าโดยตรงแล้ว อาจเกิดความสับสน
ในการแยกแยะเจ้าของสินค้าได้ ซึ่งในเรื่องนี้โจทก์มีนายพีระพงษ์ ผู้รับมอบอำนาจ
โจทก์เบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นว่า โจทก์ได้ลงทุน
โฆษณาสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์โดยเป็นผู้สนับสนุนการแข่งขัน
กีฬามวยซึ่งมีการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ที่ใช้ชื่อว่า มวยรอบยาฆ่าหญ้า ตราหมาแดง
ตั้งแต่ปี 2545 จนถึงปัจจุบัน ตามภาพถ่ายการจัดมวยรอบยาฆ่าหญ้า  ตราหมาแดง
ในปี 2546 ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่จำเลยจะนำเครื่องหมายการค้าของจำเลยไปจดทะเบียน
ในปี 2547 โดยในการจัดมวยรอบยาฆ่าหญ้า ตราหมาแดง โจทก์ได้ให้ลูกค้าที่ใช้
ผลิตภัณฑ์ของโจทก์ส่งบัตรชิงโชคเพื่อจับรางวัล โดยในบัตรชิงโชคนั้นลูกค้าของโจทก์
ต้องกรอกรายการในช่องผลิตภัณฑ์ของโจทก์ที่ใช้ ตามตัวอย่างบัตรชิงโชค ซึ่งมีลูกค้า
เป็นจำนวนมากที่กรอกเพียงคำว่า หมาแดง ในช่องชื่อผลิตภัณฑ์ที่ใช้  ทั้งยังปรากฏว่า
มีลูกค้าบางรายส่งบัตรชิงโชคโดยเข้าใจผิดว่าผลิตภัณฑ์ของจำเลยเป็นผลิตภัณฑ์
ของโจทก์  โดยระบุในบัตรชิงโชคของโจทก์ว่าผลิตภัณฑ์ที่ใช้คือ เมล็ดข้าวโพด
ตราหมาแดง ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของจำเลย สอดคล้องกับที่จำเลยรับในอุทธรณ์ว่า
เครื่องหมายการค้าของโจทก์สาธารณชนทั่วไปอาจเรียกขานได้ว่า หมาแดง หรือ
ป.เคมีเทค หรือ หมาแดง ป.เคมีเทค เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์จดทะเบียน
เครื่องหมายการค้าของโจทก์ครั้งแรกเมื่อปี 2542 ส่วนจำเลยจดทะเบียน
เครื่องหมายการค้าของจำเลยครั้งแรกเมื่อปี 2547 ซึ่งเป็นระยะเวลาหลังจากที่โจทก์
จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์แล้วหลายปี ย่อมเป็นไปได้ว่าสาธารณชน
รวมทั้งจำเลยรู้จักและคุ้นเคยกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์แล้ว เมื่อเห็นเครื่องหมาย
การค้าของจำเลย สาธารณชนอาจนึกถึงเชื่อมโยงไปถึงเครื่องหมายการค้าของโจทก์
และสับสนหรือหลงผิดได้ว่าสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของจำเลยเกี่ยวข้องกับ
โจทก์ เครื่องหมายการค้าของจำเลยและของโจทก์จึงเป็นเครื่องหมายการค้าคล้ายกัน
จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือ
แหล่งกำเนิดของสินค้า เมื่อโจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์และ
ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวมาก่อนจำเลย โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะใช้เครื่องหมายการค้า
ของโจทก์นั้นได้ จำเลยไม่มีสิทธินำเครื่องหมายการค้าของจำเลยซึ่งคล้ายกับ
เครื่องหมายการค้าของโจทก์ดังกล่าวไปขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า การที่
จำเลยนำเครื่องหมายการค้าที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไปขอจดทะเบียน
และใช้กับสินค้าของจำเลยที่มีลักษณะอย่างเดียวกันกับสินค้าของโจทก์นำออกจำหน่าย
ต่อสาธารณชน ย่อมเป็นการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ประกอบกับ
พฤติการณ์ที่ว่าจำเลยอยู่ในวงการค้าขายสินค้าประเภทเดียวกับโจทก์ แสดงให้เห็นว่า
จำเลยน่าจะรู้ถึงการมีอยู่ของเครื่องหมายการค้าและสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้า
ดังกล่าวของโจทก์ที่มีอยู่ในวงการสินค้าเกี่ยวกับเกษตรกรรมก่อนจำเลยยื่นคำขอ
จดทะเบียนแล้ว  ทั้งเครื่องหมายการค้าที่จำเลยขอจดทะเบียนก็คล้ายกับของโจทก์
จนยากที่จะเป็นไปโดยบังเอิญ  น่าเชื่อว่าจำเลยเลียนและดัดแปลงเครื่องหมายการค้า
ที่ยื่นขอจดทะเบียนมาจากเครื่องหมายการค้าของโจทก์  การขอจดทะเบียนของจำเลย
โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์จึงเป็นไปโดยไม่สุจริต โจทก์จึงมีสิทธิดีกว่าจำเลย 
แม้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าจะรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้จำเลย
ก็เป็นกรณีที่เกิดจากการที่จำเลยขอจดทะเบียนโดยไม่สุจริต  โจทก์จึงมีสิทธิขอให้
ห้ามจำเลยใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลยและเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้
อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
     	ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อต่อมามีว่า จำเลยต้องรับผิด
ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า แม้โจทก์จะนำสืบไม่ได้ว่าได้รับ
ความเสียหายตามที่เรียกร้องไว้ แต่การที่จำเลยละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้า
ของโจทก์โดยอาศัยแอบอิงนำเครื่องหมายการค้าของโจทก์ซึ่งโจทก์ได้ลงทุนโฆษณา
ประชาสัมพันธ์เครื่องหมายการค้าของโจทก์โดยใช้งบประมาณจำนวนมากมาใช้
เพื่อผลประโยชน์ในทางการค้าของจำเลย ย่อมทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ซึ่งศาล
อาจกำหนดค่าเสียหายให้ได้ตามสมควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด
คดีนี้โจทก์เรียกร้องให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 50,000,000 บาท และค่าเสียหาย
วันละ 20,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะเลิกใช้ชื่อ
และเครื่องหมายการค้าตราหมาแดง การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้า
ระหว่างประเทศกลางกำหนดให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 730,000 บาท
จึงนับว่าเหมาะสมแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
     	ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อต่อมามีว่า กรณีมีเหตุเพิกถอน
การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค204838 และ ค212584 ของ
จำเลยหรือไม่ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ
เห็นสมควรวินิจฉัยก่อนว่า โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า
ตามทะเบียนเลขที่ ค204838 และ ค212584 ภายในกำหนดระยะเวลา 5 ปี นับแต่
วันที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งให้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าว
ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 67 หรือไม่ เห็นว่า
พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 67 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า
ภายในห้าปีนับแต่วันที่นายทะเบียนมีคำสั่งให้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าใด
ตามมาตรา 40 ผู้มีส่วนได้เสียอาจร้องขอต่อศาลให้สั่งเพิกถอนการจดทะเบียน
เครื่องหมายการค้านั้นได้ หากแสดงได้ว่าตนมีสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้นดีกว่า
ผู้ซึ่งได้จดทะเบียนเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้น  ดังนั้นการร้องขอหรือฟ้องให้ศาล
เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งสองเครื่องหมายของจำเลยจึงต้อง
กระทำภายในห้าปีนับแต่วันที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งให้จดทะเบียน
เครื่องหมายการค้าทั้งสองเครื่องหมาย เมื่อเครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค204838
และเลขที่ ค212584 ของจำเลย นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งให้จดทะเบียน
เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2547 และ 18 มกราคม 2548 ตามลำดับ โจทก์ฟ้องคดีนี้
เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2554 เกินกว่าห้าปีนับแต่วันที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้า
มีคำสั่งให้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งสองเครื่องหมายแล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งสองเครื่องหมายของจำเลยคดีนี้ 
ปัญหานี้แม้จำเลยมิได้ยกขึ้นอุทธรณ์แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบ
เรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ
มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและ
การค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่าง
ประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 45 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา  142 (5) กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของจำเลยอีกต่อไปเนื่องจาก
ไม่อาจทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลง
     	พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่เพิกถอนเครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค204838
และ ค 212584 ของจำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สิน
ทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
-
(ฉัตรไชย จันทร์พรายศรี - นวลน้อย ผลทวี - อนันต์ วงษ์ประภารัตน์)
องค์คณะผู้ตัดสิน

Leave a Reply