กันยายน 7, 2020 In คำพิพากษา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1666/2562-กระทำไปเพราะถูกหลอกลวงถือไม่ได้ว่ามีส่วนร่วมในการกระทำความผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1666/2562
กองผู้ช่วยฯ
	คู่กรณี
โจทก์
	นาง ว.
จำเลย
	นาย ป.
-
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
        	ประมวลกฎหมายอาญา 
	มาตรา 143
        	ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 
	มาตรา 2 (4)
-
ข้อมูลย่อ
    	พยานหลักฐานโจทก์ฟังได้ว่า จำเลยเป็นฝ่ายไปเรียกเงินจากโจทก์เพื่อเป็นการตอบแทน
ในการไปวิ่งเต้นให้สามีโจทก์ได้รับพระราชทานอภัยโทษ หลังจากมอบเงินให้จำเลย จำเลยไม่
สามารถดำเนินการให้สามีโจทก์ได้รับพระราชทานอภัยโทษได้ เมื่อโจทก์ทวงถามจำเลยก็บ่ายเบี่ยงและ
ไม่ยอมคืนเงินให้ แสดงว่าจำเลยไม่มีเจตนาที่จะวิ่งเต้นให้สามีโจทก์ได้รับพระราชทานอภัยโทษหรือ
รู้อยู่แล้วว่าไม่สามารถวิ่งเต้นกรณีดังกล่าวได้ อันเป็นการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือหลองลวงโจทก์ 
ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นพิเศษ จึงเป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้อง
คดีในข้อหานี้ได้ และกรณีฟังไม่ได้ว่าโจทก์มีเจตนาตั้งแต่แรกจะวิ่งเต้นให้สามีโจทก์ได้รับพระราช
ทานอภัยโทษ แต่โจทก์กระทำไปเพราะถูกจำเลยหลอกลวง ถือไม่ได้ว่าโจทก์มีส่วนร่วมในการกระทำ
ความผิด โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยมีสิทธินำคดีมาฟ้องได้
    	(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 1/2562)
-
รายละเอียด
    	โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 143
    	ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
    	จำเลยให้การปฏิเสธ
    	ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 143 จำคุก 3 ปี 
ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา 
มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี
    	จำเลยอุทธรณ์
    	ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน
    	จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกา
ในปัญหาข้อเท็จจริง
    	ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติโดยคู่ความไม่ได้โต้แย้งกันในชั้นฎีกาว่า โจทก์
กับจำเลยเป็นญาติกัน จำเลยเคยประกอบอาชีพเป็นทนายความ โจทก์ตกลงให้จำเลยติดต่อทำเรื่องขอทูล
เกล้าฯ ถวายฎีกาขอรับพระราชทานอภัยโทษให้แก่นายสอน สามีโจทก์ ซึ่งเป็นนักโทษเด็ดขาดในคดีที่
ศาลฎีกาพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกตลอดชีวิต โดยตกลงกันในราคา 250,000 บาท แต่หลังจากโจทก์มอบ
เงินให้จำเลยไปแล้วนายสอนก็ยังไม่ได้ออกจากเรือนจำ
    	มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า 
ข้อนำสืบของจำเลยไม่สมเหตุสมผล กล่าวคือ จำเลยอ้างว่าโจทก์เป็นฝ่ายขอให้จำเลยช่วยเหลือวิ่งเต้น
ขอพระราชทานอภัยโทษให้แก่สามีโจทก์ แต่จำเลยไม่ทราบวิธีการ จึงสอบถามเพื่อนทนายความด้วยกัน
จนสามารถรู้จักนายอุดร ซึ่งจะเป็นผู้วิ่งเต้น ซึ่งเป็นข้ออ้างที่ไม่น่าเชื่อถือเพราะไม่มีเหตุผลที่จำเลยจะ
ต้องไปขวนขวายหาผู้ที่จะไปวิ่งเต้นช่วยเหลือโจทก์โดยที่ไม่ได้ค่าตอบแทนเพราะจำเลยเองไม่รู้ช่องทาง 
นอกจากนี้ ในวันจ่ายเงินให้กัน จำเลยก็ไปกับภริยา และบุคคลที่อ้างว่าเป็นเลขาของนายอุดร โดยจำเลย
อ้างว่าเมื่อรับเงินจากทางนางสุภาแล้ว จำเลยมอบเงินให้บุคคลดังกล่าวไป ทำนองว่าจำเลยไม่ได้รับเงิน
จากโจทก์ ซึ่งไม่สมเหตุสมผลหลายประการ ประการแรก เหตุใดในวันรับเงินจำเลยจึงพาภริยาของ
จำเลยไป เพราะหากจำเลยไม่ใช่เป็นผู้รับเงินเองซึ่งเป็นเงินจำนวนมาก ไม่มีเหตุผลที่จำเลยจะต้องพา
ภริยาไปด้วย เชื่อว่าเหตุที่จำเลยพาภริยาไปด้วยในวันนั้นเพราะเป็นเงินจำนวนมาก จึงต้องพาภริยามา
ช่วยดูแล ประการที่สอง เหตุใดนางสุภาต้องมอบเงินให้แก่จำเลยแล้วให้จำเลยมอบเงินให้แก่เลขาของ
นายอุดร แทนที่จะให้นางสุภามอบเงินแก่เลขาของนายอุดรโดยตรง เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะหากจะ
ให้นางสุภามอบเงินแก่เลขาของนายอุดรโดยตรงเชื่อว่าโจทก์คงไม่ยินยอมเพราะโจทก์อาจอ้างว่าโจทก์
ตกลงกับจำเลยจึงต้องมอบเงินให้แก่จำเลย การที่จำเลยรับเงินจากนางสุภาแล้วมอบให้แก่เลขาของนาย
อุดร น่าจะเป็นเรื่องแสร้งทำเพื่อให้โจทก์เห็นว่าจำเลยไม่ได้เป็นผู้รับเงิน หากวิ่งเต้นไม่สำเร็จ โจทก์จะ
มาทวงเงินจากจำเลยไม่ได้ ซึ่งบุคคลที่อ้างว่าเป็นเลขาของนายอุดร จำเลยก็ไม่ได้ระบุว่าเป็นใคร ข้อนำ
สืบของจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง พยานหลักฐานโจทก์ฟังได้ว่า จำเลยเป็นฝ่ายไปเรียกเงินจากโจทก์ 
เพื่อเป็นการตอบแทนในการไปวิ่งเต้นให้สามีโจทก์ได้รับพระราชทานอภัยโทษ ได้ความจากพยาน
หลักฐานโจทก์ว่า หลังจากมอบเงินให้จำเลย จำเลยไม่สามารถดำเนินการให้สามีโจทก์ได้รับพระราช
ทานอภัยโทษได้ เมื่อโจทก์ทวงถามจำเลยก็บ่ายเบี่ยงและไม่ยอมคืนเงินให้ แสดงว่าจำเลยไม่มีเจตนาที่
จะวิ่งเต้นให้สามีโจทก์ได้รับพระราชทานอภัยโทษหรือรู้อยู่แล้วว่าไม่สามารถวิ่งเต้นกรณีดังกล่าวได้ อัน
เป็นการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือหลอกลวงโจทก์ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า ตามข้อ
เท็จจริงที่ได้ความถือว่า โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นพิเศษ จึงเป็นผู้เสียหาย มีอำนาจฟ้องคดีในข้อหานี้
ได้ และกรณีฟังไม่ได้ว่าโจทก์มีเจตนาตั้งแต่แรกจะวิ่งเต้นให้สามีโจทก์ได้รับพระราชทานอภัยโทษ แต่
โจทก์กระทำไปเพราะถูกจำเลยหลอกลวง ถือไม่ได้ว่าโจทก์มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด โจทก์จึง
เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยมีสิทธินำคดีมาฟ้องได้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
    	มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อมาว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำ
พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 หรือไม่ เห็นว่า โจทก์มีตัวโจทก์ นางสุภา และนางอาภรณ์เบิกความทำนอง
เดียวกันว่า จำเลยบอกโจทก์ว่า จำเลยรู้จักคนที่สามารถวิ่งเต้นทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาให้นายสอนได้รับพระ
ราชทานอภัยโทษได้และจำเลยเรียกเงินจากโจทก์จำนวน 250,000 บาท ไป พยานโจทก์ทั้งสามปากเบิก
ความถึงเหตุการณ์เดียวกันสอดคล้องต้องกันไม่ปรากฏข้อพิรุธดังวินิจฉัยมาแล้ว โจทก์และจำเลยเป็น
ญาติกัน ไม่มีเหตุระแวงสงสัยว่าพยานโจทก์จะแกล้งปรักปรำจำเลย เชื่อว่าพยานโจทก์เบิกความไปตาม
ความเป็นจริง จำเลยเป็นบุคคลเพียงคนเดียวที่เชื่อมโยงระหว่างโจทก์กับบุคคลที่มารับเงินไป ข้ออ้าง
ของจำเลยที่ว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับบุคคลที่ดำเนินการยื่นเรื่องขอพระราชทานอภัยโทษให้นายสอนจึงไม่
น่าเชื่อถือและไม่อาจรับฟังหักล้างพยานโจทก์ได้ พยานหลักฐานของโจทก์รับฟังได้หนักแน่นว่าจำเลย
เรียกเงินจากโจทก์เป็นการตอบแทนในการที่จะจูงใจเจ้าพนักงานโดยวิธีอันทุจริตหรือผิดกฎหมายให้
กระทำการในหน้าที่อันเป็นคุณแก่โจทก์ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมาย
อาญา มาตรา 143 ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
    	มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายว่ามีเหตุกำหนดโทษสถานเบาหรือ
รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยหรือไม่ เห็นว่า การกระทำของจำเลยนอกจากจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิด
เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมไทยว่ามีการทุจริตแล้ว ยังกระทบกระเทือนความน่าเชื่อถือของสถาบัน
พระมหากษัตริย์ การกระทำของจำเลยเป็นความผิดร้ายแรง ไม่ยำเกรงต่อกฎหมายบ้านเมือง ไม่มีเหตุที่
ศาลฎีกาจะกำหนดโทษให้เบากว่านี้และไม่มีเหตุที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย ฎีกาของจำเลยฟัง
ไม่ขึ้น
    	พิพากษายืน
-
(นิพันธ์ ช่วยสกุล-อธิคม อินทุภูติ-ยงยุทธ แสงรุ่งเรือง)
องค์คณะผู้ตัดสิน

Leave a Reply