กฎหมายลิขสิทธิ์-พึงรู้-ควรทำ

กฎหมายลิขสิทธิ์-พึงรู้-ควรทำ
-
บทความกฎหมายจากเว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
-
	เนื่องด้วยในปัจจุบันมีการนำข้อมูลการบริหารสิทธิและมาตรการทางเทคโนโลยีมาใช้ในการคุ้มครอง
งานอันมีลิขสิทธิ์หรือสิทธิของนักแสดง สมควรกำหนดให้มีการคุ้มครองข้อมูลการบริหารสิทธิและมาตรการทาง
เทคโนโลยี รวมทั้งกำหนดข้อยกเว้นการกระทำละเมิดลิขสิทธิ์และสิทธิของนักแสดงเพิ่มขึ้น อีกทั้งสมควร
กำหนดให้ ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้กระทำการละเมิดลิขสิทธิ์หรือสิทธิของนักแสดง ซึ่งทำให้งานอันมีลิขสิทธิ์หรือ
สิทธิของนักแสดงเข้าถึงโดยสาธารณชนได้อย่างแพร่หลาย ต้องจ่ายค่าเสียหายเพิ่มขึ้น และสมควรกำหนดให้ศาล
มีอำนาจสั่งริบหรือสั่งทำลายสิ่งที่ใช้ในการกระทำความผิดและสิ่งที่ได้ทำขึ้นหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรอัน
เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์หรือสิทธิของนักแสดงได้ด้วย จึงได้มีการตราพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 
ขึ้น โดยนำลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 132 ตอนที่ 6 ก เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2558 และมีผลบังคับใช้
ตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคม 2558 เป็นต้นไป

	พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 จะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อน “Digital Economy” 
ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่จะอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศหรืออินเทอร์เน็ตในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
ของประเทศ โดยหวังว่าผลจากกฎหมายฉบับนี้จะช่วยให้นโยบาย Digital Economy เติบโตได้อย่างยั่งยืน

	กฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดถึง “ข้อมูลการบริหารสิทธิ” ซึ่งเป็นข้อมูลที่บ่งชี้ถึงผู้สร้างสรรค์ งานสร้าง
สรรค์ นักแสดง การแสดง เจ้าของลิขสิทธิ์ หรือระยะเวลาและเงื่อนไขการใช้งานอันมีลิขสิทธิ์ ตลอดจนตัวเลข 
หรือรหัสแทนข้อมูลดังกล่าว โดยข้อมูลเช่นว่านี้ติดอยู่หรือปรากฏเกี่ยวข้องกับงานอันมีลิขสิทธิ์หรือสิ่งบันทึกการ
แสดง เช่น ในรูปภาพมีชื่อเจ้าของลิขสิทธิ์หรือมีลายน้ำปรากฏอยู่ หากมีการลบหรือเปลี่ยนแปลง ก็จะถือว่าเป็น
การละเมิดข้อมูลการบริหารสิทธิ

	นอกจากนี้ กฎหมายฉบับนี้ยังได้กำหนดถึง “มาตรการทางเทคโนโลยี” ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ออกแบบ
มาเพื่อป้องกันการทำซ้ำหรือควบคุมการเข้าถึงงานอันมีลิขสิทธิ์หรือสิ่งบันทึกการแสดง โดยเทคโนโลยีเช่นว่านี้ 
ได้นำมาใช้กับงานอันมีลิขสิทธิ์หรือสิ่งบันทึกการแสดงนั้นอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น เจ้าของลิขสิทธิ์มีการตั้งรหัส
ในการเข้าฟังเพลงต่างๆ ผ่านทางอินเทอร์เน็ต ผู้ใดอยากฟังเพลงหรือดาวน์โหลดเพลงนั้น จะต้องจ่ายเงินเพื่อให้ได้
รหัสในการเข้าฟังเพลงหรือดาวน์โหลดเพลง แต่หากผู้ใดไม่อยากเสียเงินและใช้วิธีการ Hack เข้าไปฟังเพลงหรือ
ดาวน์โหลดเพลงนั้นฟรีๆ ก็จะถือว่าเป็นการละเมิดมาตรการทางเทคโนโลยี

	ทั้งนี้ ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 10,000 – 100,000 บาท แต่หากเป็นการกระทำเพื่อ
การค้า ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือน – 2 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 – 400,000 บาท หรือทั้ง
จำทั้งปรับ และให้ริบสิ่งของละเมิดลิขสิทธิ์ หรือศาลอาจสั่งให้ทำลาย โดยผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย
ในการทำลายเอง

	กฎหมายฉบับนี้มีสาระสำคัญโดยสรุปได้ 8 ประเด็น ดังนี้

	1. คุ้มครองข้อมูลการบริหารสิทธิเพื่อส่งเสริมการเผยแพร่งานอันมีลิขสิทธิ์และคุ้มครองสิทธิ ในข้อมูล
ที่เจ้าของลิขสิทธิ์ใช้บริหารจัดการสิทธิของตนไม่ให้ผู้อื่นมาลบหรือเปลี่ยนแปลงโดยไม่ชอบ เช่น การลบข้อมูล
เกี่ยวกับชื่อเจ้าของลิขสิทธิ์ ชื่อผู้สร้างสรรค์ ชื่อนักแสดง โดยหากผู้ใดลบหรือเปลี่ยนแปลงข้อมูลดังกล่าว ถือว่ามี
ความผิดฐานละเมิดข้อมูลการบริหารสิทธิ

	2. คุ้มครองมาตรการทางเทคโนโลยีที่เจ้าของลิขสิทธิ์นำมาใช้ปกป้องงานอันมีลิขสิทธิ์ของตน เพื่อ
ป้องกันการทำซ้ำหรือการเข้าถึงงานอันมีลิขสิทธิ์ เช่น รหัสผ่าน (Password) ที่เจ้าของลิขสิทธิ์นำมาใช้ ในการ
ควบคุมการเข้าถึงงานอันมีลิขสิทธิ์ของตนที่อยู่บนอินเทอร์เน็ต โดยหากผู้ใดทำลายมาตรการทางเทคโนโลยี
ดังกล่าว โดยเจ้าของลิขสิทธิ์ไม่ยินยอม ถือว่ามีความผิดฐานละเมิดมาตรการทางเทคโนโลยี

	3. กำหนดข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์การทำซ้ำชั่วคราว (Exception for Temporary Reproduction) 
เพื่อกำหนดให้ชัดเจนว่าการทำซ้ำชั่วคราวโดยความจำเป็นของเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อการเรียกดูงาน อันมีลิขสิทธิ์
ไม่ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ เนื่องจากการดูภาพยนตร์หรือฟังเพลงจากเครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องคอมพิวเตอร์จำ
เป็นต้องมีการทำซ้ำงานเพลงหรือภาพยนตร์ดังกล่าวไว้ในหน่วยความจำ (RAM) ทุกครั้ง ด้วยความจำเป็นทาง
เทคนิคดังกล่าว ทำให้ทุกครั้งที่มีการใช้งานอันมีลิขสิทธิ์จากเครื่องคอมพิวเตอร์ ผู้ใช้งานจะต้องทำซ้ำงานด้วยเสมอ 
การทำซ้ำลักษณะนี้เป็นการทำซ้ำชั่วคราวที่ไม่ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์

	4. เพิ่มเติมเรื่องการกำหนดข้อจำกัดความรับผิดของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (Liability Limitation of 
ISP) เพื่อให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต เช่น เจ้าของเว็บไซต์ Youtube ไม่ต้องเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องละเมิดลิขสิทธิ์ 
โดยให้เจ้าของลิขสิทธิ์สามารถร้องขอให้ศาลสั่งให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเอาไฟล์ละเมิดลิขสิทธิ์ออกจากเว็บไซต์ 
ซึ่งเจ้าของลิขสิทธิ์จะต้องแสดงหลักฐานต่างๆ ต่อศาลอย่างเพียงพอ และเมื่อศาลได้มีคำสั่งให้เอาไฟล์ละเมิดออก
จากเว็บไซต์แล้ว และเจ้าของเว็บไซต์ดำเนินการตามคำสั่งศาล เจ้าของเว็บไซต์ไม่ต้องรับผิดเกี่ยวกับ การกระทำที่
อ้างว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ดังกล่าว

	5. เพิ่มข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์กรณีการจำหน่ายต้นฉบับหรือสำเนางานอันมีลิขสิทธิ์ โดยนำหลัก
การระงับไปซึ่งสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา (Exhaustion of Rights) มากำหนดให้ชัดเจนว่า การขายงานอันมี
ลิขสิทธิ์มือสองสามารถทำได้โดยไม่ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ เช่น การขายภาพเขียน หนังสือ ซีดีเพลง ซีดี
ภาพยนตร์ อย่างไรก็ดี หากเป็นการขายซีดีภาพยนตร์จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วย ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ด้วย 
มิฉะนั้น แม้ไม่ผิดตามกฎหมายว่าด้วยลิขสิทธิ์ แต่อาจมีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยภาพยนตร์และวีดิทัศน์ได้

	6. เพิ่มเติมเรื่องสิทธิทางศีลธรรมของนักแสดง (Moral Right) เพื่อเพิ่มสิทธิให้นักแสดงมีสิทธิทาง
ศีลธรรมเท่าเทียมกับสิทธิทางศีลธรรมของผู้สร้างสรรค์งานอันมีลิขสิทธิ์ โดยนักแสดงมีสิทธิระบุชื่อตนในการ
แสดง ที่ตนได้แสดง และห้ามไม่ให้ผู้ใดกระทำต่อการแสดงของตนจนทำให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงหรือ
เกียรติคุณ

	7. เพิ่มบทบัญญัติเรื่องค่าเสียหายในเชิงลงโทษ (Punitive Damages) โดยกำหนดให้ ศาลมีอำนาจสั่งให้
ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์หรือสิทธิของนักแสดงจ่ายค่าเสียหายเพิ่มขึ้นไม่เกินสองเท่าของค่าเสียหาย ในกรณีที่ปรากฏหลัก
ฐานชัดแจ้งว่ามีการกระทำโดยจงใจหรือมีเจตนาให้งานอันมีลิขสิทธิ์หรือสิทธิของนักแสดงสามารถเข้าถึงโดย
สาธารณชนได้อย่างแพร่หลาย

	8. กำหนดให้ศาลมีอำนาจสั่งริบหรือทำลายสิ่งที่ได้ใช้ในการกระทำละเมิด และสิ่งที่ได้ทำขึ้น หรือนำ
เข้ามาในราชอาณาจักรอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์หรือสิทธิของนักแสดง

	ในปัจจุบันจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับมีการบังคับใช้พระราช
บัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2558 และเพื่อไม่ให้เป็นการขัดต่อข้อกำหนดตาม
กฎหมายฉบับนี้ ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตควรเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นในการนำภาพหรือข้อมูลต่างๆ มาใช้ เช่น เมื่อ
ผู้ใช้โซเซียลมีเดียนำภาพหรือข้อมูลต่างๆ มาแชร์หรือโพสต์ จะต้องมีการอ้างอิงแหล่งที่มา และชื่อเจ้าของลิขสิทธิ์
นั้นอย่างชัดเจน เช่นนี้ก็จะถือว่าไม่มีความผิด ส่วนผู้ประกอบธุรกิจ e-Commerce เมื่อมีการนำภาพหรือข้อมูลต่างๆ 
ของผู้อื่นมาใช้ จะต้องมีการอ้างอิงแหล่งที่มาและขออนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์นั้นเสียก่อน มิฉะนั้น อาจเข้า
ข่ายกระทำความผิด เนื่องจากมีการนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์โดยไม่ได้รับอนุญาต

	แม้จะทราบแล้วว่า จะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ แต่จะเป็นการดีกว่าหรือไม่ หากผู้
ใช้อินเทอร์เน็ตพึงเคารพสิทธิ์ในเจ้าของผลงาน ไม่ทำการลบแก้ไขหรือดัดแปลงผลงาน รวมทั้งนำภาพหรือข้อมูล
ต่างๆ ไปแชร์หรือโพสต์ด้วยจิตสำนึกที่ดี

	ข้อมูลอ้างอิง :
	1) ราชกิจจานุเบกษา. พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๘. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : 
https://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2558/A/006/7.PDF. (วันที่ค้นข้อมูล : 28 กันยายน 2558).

	2) กรมทรัพย์สินทางปัญญา. กฎหมายลิขสิทธิ์ช่วยขับเคลื่อน “Digital Economy” คุ้มครองผู้สร้างสรรค์
งาน บนอินเตอร์เน็ต กำหนดโทษการละเมิด 10,000 – 400,000 หรือทั้งจำทั้งปรับ. [ออนไลน์]. (วันที่ค้นข้อมูล : 
28 กันยายน 2558)
-
Source: https://www.etcommission.go.th/article-other-topic-license.html

Leave a Reply