กันยายน 7, 2020 In อธิบายกฏหมาย

อธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์-นิติกรรม

อธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์-นิติกรรม
-
ความหมายของนิติกรรม
ลักษณะของนิติกรรมที่มีผลเป็นโมฆะ
ลักษณะของนิติกรรมที่มีผลเป็นโมฆียะ
-
           ลักษณะ 4
           *นิติกรรม
           หมวด 1
           บทเบ็ดเสร็จทั่วไป
 
 *มาตรา 149
           นิติกรรม หมายความว่า การใดๆ อันทำลงโดยชอบด้วยกฎหมายและด้วยใจสมัคร มุ่ง
 โดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลเพื่อจะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ
           อธิบาย
           -นิติกรรม คือ การกระทำของบุคคลโดยชอบด้วยกฎหมาย กระทำด้วยความสมัครใจและ
 มุ่งต่อผลในกฎหมายที่จะเกิดขึ้นอันได้แก่ การเคลื่อนไหวแห่งสิทธิ มีการก่อสิทธิ เปลี่ยนแปลงสิทธิ
 โอนสิทธิ สงวนสิทธิหรือระงับซึ่งสิทธิ เช่น การทำสัญญาซื้อขาย, สัญญากู้เงิน, สัญญาจ้างแรงงาน,
 สัญญาให้ เป็นต้น
           -ฎีกา 3582/2538
           การท้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีในศาลที่คู่ความตกลงกันให้ศาลวินิจฉัย
 ชี้ขาดในประเด็นที่คู่ความท้ากันเป็นข้อแพ้ชนะมิได้มุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคล
 เพื่อจะก่อเปลี่ยนแปลงโอนสงวนหรือระงับซึ่งสิทธิตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
 มาตรา 149 จึงไม่เป็นนิติกรรมที่อยู่ในบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
           -ประเภทของนิติกรรม ได้แก่
           1. *นิติกรรมฝ่ายเดียว คือ นิติกรรมซึ่งเกิดขึ้นโดยการแสดงเจตนาของบุคคลฝ่ายหนึ่งฝ่ายเดียว
 และมีผลตามกฎหมาย เช่น คำมั่นโฆษณาจะให้รางวัล, การรับสภาพหนี้, การผ่อนเวลาชำระหนี้ให้ลูกหนี้
 การทำพินัยกรรม เป็นต้น
           2. นิติกรรมสองฝ่าย (*นิติกรรมหลายฝ่าย) คือ นิติกรรมซึ่งเกิดขึ้นโดยการแสดงเจตนาของบุคคล
 ตั้งแต่สองฝ่ายขึ้นไปและทุกฝ่ายต้องตกลงยินยอมระหว่างกันกล่าวคือฝ่ายหนึ่งแสดงเจตนาทำเป็นคำเสนอ
 แล้วอีกฝ่ายหนึ่งแสดงเป็นเจตนาเป็นคำสนอง เมื่อคำเสนอและคำสนองถูกต้องตรงกันจึงเกิดมีนิติกรรมสองฝ่าย
 ขึ้น เช่น สัญญาซื้อขาย, สัญญากู้ยืม, สัญญาแลกเปลี่ยน, สัญญาจำนำ เป็นต้น
           
 *มาตรา 150
           การใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายเป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัด
 ต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การนั้นเป็นโมฆะ
           อธิบาย
           -นิติกรรมที่มีผลเป็นโมฆะ ได้แก่
           1.นิติกรรมที่เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เช่น ซื้อขายที่ดินที่กฎหมายห้ามโอนขาย
           2.นิติกรรมเป็นการพ้นวิสัย เช่น ทำการซื้อขายม้าสีเผือก แต่ขณะทำการซื้อขายม้าได้ตาย
 ไปก่อนแล้ว จึงพ้นวิสัยที่จะซื้อขายกันได้
           3.นิติกรรมเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เช่น ทำสัญญา
 ตกลงเป็นเมียน้อย
           -ฎีกา 191/2539
           ข้อตกลงตามสัญญาจ้างว่าความที่ให้โจทก์เป็นทนายความของจำเลยในคดีฟ้องขับไล่
 โดยจำเลยจะชำระค่าจ้างให้แก่โจทก์เมื่อคดีถึงที่สุดและจำเลยเป็นฝ่ายชนะคดีกับให้โจทก์ออกเงินทดรอง
 เป็นค่าขึ้นศาล ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายต่างๆในระหว่างดำเนินคดีไปก่อนจนกว่าคดีจะถึงที่สุด
 ถ้าจำเลยไม่ได้รับที่ดินพิพาทคืน โจทก์จะไม่ได้รับค่าจ้าง มีลักษณะเป็นการหาประโยชน์ จากการที่ผู้อื่น
 เป็นความกัน เป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
 ตกเป็นโมฆะ
           -ฎีกา 569/2547
           โจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยตั้งแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน 2538 นับถึงวันที่ 17 มีนาคม 2544
 ที่มีการทำสัญญาจ้างงานใหม่ โจทก์ทำงานติดต่อกันมาถึง 5 ปีเศษ สัญญาจ้างใหม่ระหว่างโจทก์กับจำเลย
 กำหนดว่าเมื่อสัญญาสิ้นสุดลงโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชย ทั้งที่ก่อนหน้านั้นโจทก์เป็นลูกจ้างที่มีสิทธิ
 ได้รับค่าชดเชยอยู่แล้ว สัญญาดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ที่จะหลีกเลี่ยงไม่จ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้าง
 ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 118 อันเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนจึงตกเป็นโมฆะ
 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 150
           -ฎีกา 847/2538
           พระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2517 มาตรา26,44ห้ามมิให้เจ้าของที่ดินที่อยู่ในเขต
 โครงการจัดรูปที่ดินซึ่งได้มี พ.ร.ฎ.ออกใช้บังคับตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 24,25 แล้วจำหน่ายจ่ายโอนสิทธิ
 ในที่ดินนับตั้งแต่วันที่ได้มีประกาศของรัฐมนตรีจนถึงวันครบกำหนดห้าปีนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแสดงสิทธิ
 ในที่ดินโจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสองตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทและได้ส่งมอบการครอบครอง
 ที่ดินพิพาทให้แก่กันในระหว่างระยะเวลาดังกล่าวเป็นการทำสัญญาที่มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย
 จึงเป็นโมฆะโจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสองต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมจำเลยทั้งสองไม่มีหน้าที่จะต้องไปยื่นคำร้องขอ
 อนุญาตโอนที่ดินเป็นหนังสือจากคณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลางการที่จำเลยทั้งสองไม่ไปยื่นคำร้องขออนุญาต
 ดังกล่าวจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองผิดสัญญา
 
 *มาตรา 151
           การใดเป็นการแตกต่างกับบทบัญญัติของกฎหมาย ถ้ามิใช่กฎหมายอันเกี่ยวกับความ
 สงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การนั้นไม่เป็นโมฆะ
           อธิบาย
           -นิติกรรมใดที่เป็นการแตกต่างกับบทบัญญัติของกฎหมาย หากบทบัญญัติของกฎหมายนั้น
 ไม่ใช่กฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน นิติกรรมนั้นๆ ไม่เป็นโมฆะ
 เช่น กฎหมายซื้อขาย มาตรา 457 กำหนดให้ค่าฤชาธรรมเนียมในการทำสัญญาซื้อขายนั้น ผู้ซื้อผู้ขายพึงออกใช้
 เท่ากันทั้งสองฝ่าย แต่คู่สัญญาอาจกำหนดให้ผู้ขายเป็นผู้ออกแต่เพียงผู้เดียวได้ ไม่เป็นโมฆะ
           -ฎีกา 1496/2548
           การที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์โดยมีข้อความระบุว่าแม้สัญญาต้องเลิกกัน
 ผู้เช่าซื้อตกลงที่จะชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระก่อนเลิกสัญญาจนครบถ้วนแก่เจ้าของจนถึงวันที่เจ้าของ
 ได้รถยนต์คืน หรือวันบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ ข้อสัญญาเช่นว่านี้ จึงเป็นข้อตกลงที่แตกต่างกับบทบัญญัติ
 ของกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยเรื่องเช่าซื้อ แต่ก็มิใช่เป็นบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย
 ของประชาชนย่อมมีผลใช้บังคับแก่กันได้ ไม่เป็นโมฆะตาม ป.พ.พ.มาตรา 151
           -ฎีกา 3767/2547
           ข้อตกลงตามสัญญาเช่าตึกแถวที่กำหนดว่า ถ้าผู้เช่าประพฤติผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใดหรือ
 กระทำผิดวัตถุประสงค์ข้อหนึ่งข้อใดผู้เช่ายอมให้ผู้ให้เช่าบอกเลิกสัญญาได้ทันที ถือว่าไม่เป็นการแตกต่าง
 กับบทบัญญัติของกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ไม่ตกเป็นโมฆะ
 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 151 เมื่อจำเลยผิดสัญญาไม่ชำระค่าเช่าให้แก่โจทก์ โจทก์จึง
 บอกเลิกสัญญาเช่าได้ทันทีโดยไม่ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติมาตรา 560 วรรคลอง          
 
 *มาตรา 152
           การใดมิได้ทำให้ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายบังคับไว้ การนั้นเป็นโมฆะ
           อธิบาย
           -นิติกรรมที่ไม่ได้ทำให้ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายบังคับไว้ นิติกรรมนั้นเป็นโมฆะ
 เช่น การจำนอง, การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์, การขายฝาก เป็นต้น
           -นิติกรรมที่ไม่มีแบบ เช่น การกู้ยืมเงิน, การจ้างทำของ, การซื้อขายสังหาริมทรัพย์ธรรมดา เป็นต้น
           -ฎีกา 4764/2533
           ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่ามีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เมื่อที่ดินพิพาทเป็นอสังหาริมทรัพย์
 และคู่สัญญาเจตนาที่จะทำสัญญาขายฝากโดยทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่อคู่สัญญา
 มิได้ทำให้ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายบังคับไว้ สัญญาขายฝากที่ทำกันเองจึงเป็นโมฆะจำเลยผู้ซื้อฝากจะอ้างสิทธิ
 การได้มาซึ่งการครอบครองโดยนิติกรรมการขายฝากนั้นไม่ได้ การที่จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทเป็นการ
 ครอบครองแทนผู้ขายฝาก จำเลยจึงไม่ได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท เมื่อสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทของ
 ผู้ขายฝากถูกถอนคืนการให้ตกเป็นของโจทก์ จำเลยจึงต้องคืนที่ดินพิพาทแก่โจทก์
 
 *มาตรา 153
           การใดมิได้เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยความสามารถของบุคคล การนั้น
 เป็นโมฆียะ
           อธิบาย
           -นิติกรรมใดที่ไม่ได้เป็นไปตามกฎหมายเรื่องความสามารถของบุคคล นิติกรรมนั้นเป็นโมฆียะ
           -ความสามารถของบุคคลในการทำนิติกรรมสัญญา โดยปกติบุคคลย่อมมีความสามารถในการทำนิติกรรม
 สัญญาได้ แต่ก็มีข้อยกเว้นที่กฎหมายกำหนดให้บุคคลบางประเภทมีความสามารถในการทำนิติกรรมสัญญาที่จำกัด
 เช่น ผู้เยาว์, คนไร้ความสามารถ, คนเสมือนไร้ความสามารถ และบุคคลล้มละลาย
           -ผู้เยาว์จะทำนิติกรรมใดๆ ต้องได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน การใดๆ
 ที่ผู้เยาว์ได้ทำลงปราศจากความยินยอมเช่นว่านั้นเป็นโมฆียะ เว้นแต่จะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น (ป.พ.พ.ม.21)
 นิติกรรมที่ผู้เยาว์สามารถทำเองได้เฉพาะตัว ได้แก่ นิติกรรมที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ.ม.22,23,24,25
           -การใดๆ อันบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้กระทำลง การนั้นเป็นโมฆียะ(ป.พ.พ.ม.29)
           -คนเสมือนไร้ความสามารถนั้นต้องได้รับความยินยอมของผู้พิทักษ์ก่อนแล้วจึงจะทำการบางอย่างได้
 (ป.พ.พ.ม.34)
           -ฎีกา 3496/2537
           ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1574 ได้บัญญัติไว้เฉพาะในกรณีที่ผู้ใช้อำนาจปกครอง
 ของผู้เยาว์ทำนิติกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์จะต้องได้รับอนุญาตจากศาลเสียก่อนแต่เมื่อโจทก์ซึ่งเป็น
 ผู้เยาว์เป็นผู้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยทั้งสองเองบิดาโจทก์เพียงแต่ลงลายมือชื่อในฐานะพยาน
 เท่านั้นจึงไม่ต้องได้รับอนุญาตจากศาลและถือได้ว่าบิดาโจทก์ซึ่งเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมให้ความยินยอมแล้ว
 สัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวจึงสมบูรณ์มีผลใช้บังคับได้

Leave a Reply