กันยายน 7, 2020 In อธิบายกฏหมาย

อธิบายกฎหมายคุ้มครองแรงงาน-การไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างตามมาตรา 119(2)

คำอธิบายกฎหมายคุ้มครองแรงงาน-การไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างตามมาตรา 119 (2)
-
           *การไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย (พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 (2))
 -
           มาตรา 119 นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใด
 ดังต่อไปนี้
           (1) ...........................................................
           (2) จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
 -
 -
 กรณีศึกษาจากคำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง
 -
           ข้อสังเกต          
           กรณีถือว่าจงใจทําให้นายจ้างได้รับความเสียหาย เช่น
 -
           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2156/2525
           โจทก์เป็นหัวหน้าคนงานควบคุมการขนย้ายมีหน้าที่ต้องคอยบังคับบัญชาดูแล
 ให้คนงานทำงานให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างอันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ที่ถูกที่ควร และมิให้เกิด
 ความเสียหายแก่จำเลย แต่โจทก์กลับเรียกคนงานซึ่งกำลังทำงานให้จำเลยเข้าไปในห้องพัก
 คนงานโดยไม่ยอมให้ออกมาทำงาน ทั้ง ๆ ที่ยังมีงานที่คนงานจะต้องทำอีกมาก จนจำเลย
 ต้องจัดคนงานอื่นมาทำงานแทนการกระทำของโจทก์จึงถือได้ว่าเป็นการจงใจ ทำให้
 นายจ้างได้รับความเสียหายซึ่งจำเลยย่อมเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์
 ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 47(2) และการกระทำ
 ดังกล่าวถือได้ด้วยว่าโจทก์ละทิ้งหน้าที่อันเป็นเหตุให้จำเลยเลิกจ้างได้โดยไม่ต้อง
 บอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583
 -
 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 239/2545
           โจทก์เป็นลูกจ้างของบริษัท อ. ตำแหน่งสุดท้ายเป็นที่ปรึกษาอาวุโส ต่อมาโจทก์ได้จด
 ทะเบียนตั้งบริษัท ค. ซึ่งมีวัตถุประสงค์เช่นเดียวกับนายจ้าง อันมีลักษณะเป็นการแข่งขันกับกิจการ
 ของนายจ้างแม้ไม่ปรากฏว่าบริษัทที่โจทก์ก่อตั้งได้แย่งลูกค้าของนายจ้างหรือมีลูกค้าไปใช้บริการ
 ของบริษัทโจทก์ก็ตาม ก็ต้องถือว่าเป็นการจูงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายแล้ว นายจ้างมี
 สิทธิเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามพระราช
 บัญญัติ คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 (2) และมาตรา 67 แก่โจทก์ แม้ พ. ผู้ลงนามใน
 หนังสือเลิกจ้างในฐานะผู้จัดการทั่วไปของบริษัทนายจ้างและ จ. ซึ่งเป็นผู้จัดการฝ่ายขายและ
 บริการธุรกิจของบริษัทนายจ้าง จะได้ร่วมกันตั้งบริษัทอื่นซึ่งมีกิจการอันมีลักษณะเป็นการแข่งขันกับ
 กิจการของนายจ้างเช่นเดียวกับโจทก์ ก็เป็นเรื่องที่นายจ้างจะไปว่ากล่าวแก่บุคคลทั้งสองเองมิได้มี
 ผลทำให้การกระทำของโจทก์ไม่เป็นการจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย          
 -
 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7045/2546
           พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119(2) มีความมุ่งหมาย
 ที่จะให้สิทธิแก่นายจ้างสามารถลงโทษลูกจ้างที่ตั้งใจหรือมีเจตนากระทำการโดยรู้ว่าการ
 กระทำของตนจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้างเท่านั้น มิได้มุ่งเน้นที่ความเสียหาย
 ว่าได้เกิดขึ้นจริงหรือไม่ เพียงใด ซึ่งแตกต่างจากกรณีกระทำโดยประมาทเลินเล่อหรือ
 ไม่ตั้งใจตามมาตรา 119(3) ที่มีเงื่อนไขว่า ความเสียหายที่นายจ้างได้รับจะต้องถึงขั้น
 เสียหายอย่างร้ายแรง นายจ้างจึงจะมีสิทธิเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ฉะนั้น
 ไม่ว่าการกระทำของโจทก์จะทำให้จำเลยได้รับความเสียหายแล้วหรือไม่ จึงมิใช่ข้อสาระ
 สำคัญที่จะนำมาเป็นหลักในการวินิจฉัย
 -
 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1649/2552
           การที่โจทก์บางคนซึ่งไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการผลิตชิ้นงาน
 หยุดงานเข้าร่วมชุมนุมกับลูกจ้างที่มีหน้าที่ดังกล่าวด้วย เป็นเรื่องที่
 โจทก์ดังกล่าวสามารถรู้สำนึกและคาดหมายถึงผลของการกระทำของ
 ตนกับพวกได้อย่างชัดเจนอยู่แล้วว่าจะส่งผลกระทบกระเทือนต่อ
 กิจการของจำเลยและทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย ต้องถือว่าโจทก์
 ทั้งหมดรวมกันจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย ที่ศาลแรงงาน
 กลางวินิจฉัยโดยภาพรวมว่าโจทก์ทั้งสิบหกคนทั้งที่มีหน้าที่และไม่มี
 หน้าที่เกี่ยวข้องกับการผลิตชิ้นงานตามแผนการผลิตได้ละทิ้งหน้าที่
 ไม่ไปปฏิบัติงานอันเป็นการจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย ซึ่ง
 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบหกได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามพระราช-
 บัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 (2) จึงชอบแล้ว
 -
 -
 กรณีไม่ถือว่าเป็นการจงใจทําให้นายจ้างได้รับความเสียหาย เช่น
 -
 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4554/2540
           แม้ข้อบังคับของจำเลยจะระบุให้ถือการทุจริต ฉ้อโกง ยักยอก ปลอมแปลงเอกสาร
 หรือการกระทำความผิดโดยเจตนาซึ่งเกี่ยวกับหน้าที่ที่บริษัทจำเลยมอบหมายและการ
 ช่วยเหลือ ซ่อนเร้น ปิดบังอำพรางการกระทำผิดของตนเองหรือเพื่อนร่วมงานอันอาจทำให้
 เกิดความเสียหายแก่บริษัทเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ก็หามีผลว่าการกระทำเช่น
 นั้นจะเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงทุกกรณีไปไม่ การกระทำใดจะเป็นความผิดวินัยอย่าง
 ร้ายแรงหรือไม่จักต้องพิจารณาพฤติการณ์ความเป็นจริงเป็นกรณีไป โจทก์ที่ 1 ดำรง
 ตำแหน่งหัวหน้างานตรวจแมลง โจทก์ที่ 2 ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยหัวหน้างานตรวจแมลง
 มีหน้าที่ตรวจเช็คผลิตภัณฑ์ซึ่งลูกจ้างจำเลยทำขึ้น ดังนั้น แม้โจทก์ทั้งสองทราบว่าลูกจ้าง
 จำเลยรับงานซึ่งมีลักษณะประเภทและชนิดเดียวกับงานที่จำเลยผลิตจากบุคคลภายนอกไป
 ทำทั้งที่โรงงานและที่บ้าน แต่โจทก์ทั้งสองไม่แจ้งให้จำเลยทราบซึ่งเป็นการปิดบังอำพราง
 การกระทำผิดของเพื่อนร่วมงานอันอาจทำให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยตามข้อบังคับเกี่ยว
 กับการทำงาน ก็เป็นเพียงการฝ่าฝืนข้อบังคับที่ไม่เป็นความผิดร้ายแรง ทั้งไม่เป็นการ
 ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายแต่อย่างใดเมื่อจำเลยเลิกจ้าง
 โจทก์ทั้งสองจึงต้องจ่ายค่าชดเชย
 -
 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8241/2544
           โจทก์อนุญาตให้รถยนต์ที่มีเลขทะเบียนไม่ตรงกับใบสั่งจ่ายน้ำมันเข้าไปเติมน้ำมันใน
 บริษัทจำเลยและออกใบผ่านยามไม่ตรงกับความจริง ซึ่งปฏิบัติกันเป็นปกติเพราะไม่มีระเบียบ
 ปฏิบัติที่ชัดเจนไม่ปรากฏว่าโจทก์ทุจริตหรือมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับการกระทำดังกล่าว จำเลยก็
 เรียกเก็บเงินในภายหลังได้ตามปกติ จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์จงใจทำให้นายจ้างเสียหายตามพระราช
 บัญญัติ คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 (2) จำเลยเลิกจ้างโจทก์ จึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่
 โจทก์ แต่การกระทำดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ว่า “ไม่
 ปกปิดข้อเท็จจริงอันอาจเป็นเหตุให้บริษัทฯ ได้รับความเสียหาย ทำหลักฐานหรือรายงานหรือให้ข้อ
 ความเป็นเท็จแก่บริษัทฯ“ จำเลยจึงมีสิทธิไล่โจทก์ออกจากงานได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและ
 จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583
 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติ คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรคท้าย
 -
 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 902/2545
           กรณีลูกจ้างจงใจให้นายจ้างได้รับความเสียหายอันจะเป็นเหตุให้
 นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามมาตรา 119 (2) แห่ง พ.ร.บ.
 คุ้มครองแรงงานฯ หมายถึง ลูกจ้างกระทำได้โดยตั้งใจให้เกิดความเสียหายโดยรู้ถึง
 ผลเสียหายที่จะเกิดขึ้นแก่นายจ้างด้วย การที่พนักงานแผนกซ่อมบำรุงไปรายงาน
 โจทก์ซึ่งเป็นหัวหน้างานว่าเครื่องเติมอากาศบ่อบำบัดน้ำเสียมีเสียงดังผิดปกติ แต่
 โจทก์ไม่พูดอะไรและไม่ได้ไปดู ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการตั้งใจให้เกิดความเสียหายแก่
 นายจ้าง จึงไม่เป็นการจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย เมื่อจำเลยเลิกจ้างจึง
 ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ แต่การกระทำดังกล่าวของโจทก์เป็นการละเลยต่อ
 หน้าที่การงานอันเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับซึ่งโจทก์มีหน้าที่ต้องรับ
 ผิดชอบโดยเคร่งครัด ถือว่าเป็นการกระทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่
 ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยมิต้อง
 บอกกล่าวล่วงหน้าตาม ป.พ.พ. มาตรา 583 ประกอบด้วย พ.ร.บ. คุ้มครอง
 แรงงานฯ มาตรา 17 วรรคท้าย
 -

Leave a Reply