กันยายน 7, 2020 In อธิบายกฏหมาย

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา-อธิบายนิยามศัพท์

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา-นิยามศัพท์
-
อธิบายนิยามศัพท์
-
	ภาค 1
	ข้อความเบื้องต้น
	ลักษณะ 1
	หลักทั่วไป

*ศาล (court) 
	-หมายความถึง  ศาลยุติธรรมหรือผู้พิพากษา ซึ่งมีอำนาจทำการอันเกี่ยวกับคดีอาญา
	-ศาลยุติธรรม (Court of justice) คือ สถานที่ที่ใช้เป็นที่ทำการเกี่ยวกับคดีอาญา
	-ผู้พิพากษา (judge) คือตัวบุคคลที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับคดีอาญา
	
*ผู้ต้องหา (accused)
	-หมายความถึง  บุคคลผู้ถูกหาว่าได้กระทำความผิด  แต่ยังมิได้ถูกฟ้องต่อศาล
	-การกล่าวหาว่าบุคคลใดกระทำความผิดต้องเป็นการกล่าวหาต่อเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ตามกฎหมาย 
	ผู้ถูกกล่าวหาจึงจะตกเป็นผู้ต้องหา
	-ฎีกา 1341/2509 เมื่อมีผู้ไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนกล่าวหาว่าจำเลยบุกรุกที่ดิน จำเลยย่อม
	ตกอยู่ในฐานะเป็นผู้ต้องหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 2(2) แล้ว
	
*จำเลย (accused)
	-หมายความถึง  บุคคลซึ่งถูกฟ้องยังศาลแล้วโดยข้อหาว่าได้กระทำความผิด
	-ฎีกา 1440/2493 คดีที่อัยการเป็นโจทก์เมื่อยื่นฟ้องก็ถือว่าผู้ถูกฟ้องตกเป็นจำเลยทันที ผิดกับคดีที่ราษฎร
	เป็นโจทก์ ผู้ถูกฟ้องไม่เป็นจำเลยจนกว่าศาลจะประทับฟ้อง	

*ผู้เสียหาย (injured person)
	-หมายความถึง  บุคคลผู้ได้รับความเสียหาย เนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง รวมทั้งบุคคลอื่น
	ที่มีอำนาจจัดการแทนได้  ดั่งบัญญัติไว้ใน มาตรา 4 ,5 และ 6
	-ผู้เสียหาย ตามมาตรา 2(4) แยกได้ เป็น 2 ประเภท คือ 1.ผู้เสียหายโดยตรง  2.ผู้มีอำนาจจัดการแทน 
	ตามมาตรา 4, 5 และ 6
	-ผู้เสียหายโดยตรง หรือ ผู้เสียหายที่แท้จริง หมายถึง 
	1) เกิดการกระทำความผิดอาญาฐานใดฐานหนึ่งแก่บุคคลนั้น 
	2) บุคคลนั้นได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดอาญาฐานใดฐานหนึ่งนั้น 
	3) บุคคลนั้นเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย ซึ่งหมายความว่า ต้องเป็นผู้เสียหายที่ไม่มีส่วนร่วมในการกระทำผิด
	หรือไม่มีส่วนก่อหรือยินยอมให้เกิดความผิดนั้นๆ
	-ฎีกาที่ 7238/2549 ความผิดฐานพรากผู้เยาว์โดยผู้เยาว์ไม่เต็มใจไปด้วยเพื่อการอนาจารตาม ป.อ. 
	มาตรา 318 วรรคสาม ตามฟ้องก็ดี ความผิดฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจารโดยผู้เยาว์เต็มใจไปด้วย
	ตามมาตรา 319 วรรคแรก ที่พิจารณาได้ความก็ดี มีองค์ประกอบความผิดร่วมกันประการหนึ่งว่า 
	“ผู้ใดพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแล..” 
	ซึ่งจะเห็นได้ว่าวัตถุแห่งการกระทำความผิดกฎหมายทั้งสองมาตรานี้ที่กฎหมายมุ่งคุ้มครอง คือ 
	อำนาจปกครองของบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลนั่นเอง มิใช่ตัวผู้เยาว์ผู้ถูกพรากดังนั้น 
	ผู้เสียหายคือบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดทั้งสองมาตรานี้ตาม
	มาตรา 2 (4) แห่ง ป.วิ.อ. จึงได้แก่บิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ตูแลผู้เยาว์ทั้งสองในขณะที่จำเลย
	ทั้งสามกับพวกร่วมกันกระทำความผิด หาใช่ตัวผู้เยาว์คือโจทก์ร่วมทั้งสองไม่ 
	-ผู้มีอำนาจจัดการแทน ได้แก่
	1) ผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหาย ตามมาตรา 4 คือ ในคดีอาญาซึ่งผู้เสียหายเป็นหญิงมีสามี หญิงนั้น
	มีสิทธิฟ้องคดีได้เองโดยมิต้องได้รับอนุญาต ของสามีก่อน และภายใต้บังคับแห่งมาตรา 5 (2)   สามีมีสิทธิ
	ฟ้องคดีอาญาแทนภริยาได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตโดยชัดแจ้งจากภริยา   	
	2) ผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหาย ตามมาตรา 5 คือ 
		1)  ผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาล เฉพาะแต่ในความผิดซึ่งได้กระทำต่อผู้เยาว์หรือ
		ผู้ไร้ความสามารถซึ่งอยู่ในความดูแล
		2)  ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยา เฉพาะแต่ในความผิดอาญา  ซึ่งผู้เสียหาย
		ถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้
		3) ผู้จัดการหรือผู้แทนอื่นๆ ของนิติบุคคล เฉพาะความผิดซึ่งกระทำลงแก่นิติบุคคลนั้น
	3) ผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหาย(ผู้แทนเฉพาะคดี) ตามมาตรา 6 คือ ในคดีอาญาซึ่งผู้เสียหาย
	เป็นผู้เยาว์ไม่มีผู้แทนโดยชอบธรรม หรือเป็นผู้วิกลจริตหรือคนไร้ความสามารถไม่มีผู้อนุบาล หรือ
	ซึ่งผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาลไม่สามารถจะทำการตามหน้าที่โดยเหตุหนึ่งเหตุใด รวมทั้ง
	มีผลประโยชน์ขัดกันกับผู้เยาว์หรือคนไร้ความสามารถนั้น ๆ ญาติของผู้นั้นหรือผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้อง
	อาจร้องต่อศาลขอให้ตั้งเขาเป็นผู้แทนเฉพาะคดีได้ เมื่อได้ไต่สวนแล้วให้ศาลตั้งผู้ร้องหรือบุคคลอื่น 
	ซึ่งยินยอมตามที่เห็นสมควรเป็นผู้แทนเฉพาะคดี เมื่อไม่มีบุคคลใดเป็นผู้แทนให้ศาลตั้งพนักงานฝ่ายปกครอง
	เป็นผู้แทน และห้ามมิให้เรียกค่าธรรมเนียมในเรื่องขอตั้งเป็นผู้แทนเฉพาะคดี
	-ผู้เสียหาย หมายความรวมทั้งบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล
	
*พนักงานอัยการ ( prosecuting attorney, public prosecutor )
	-หมายความถึง  เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลทั้งนี้ จะเป็นข้าราชการในกรมอัยการหรือ
	เจ้าพนักงานอื่นผู้มีอำนาจเช่นนั้นก็ได้
	
*พนักงานสอบสวน ( inquiry official )
	-หมายความถึง  เจ้าพนักงานซึ่งกฎหมายให้มีอำนาจและหน้าที่ทำการสอบสวน
	
*คำร้องทุกข์ (petition)
	-หมายความถึง การที่ผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ 
	ว่ามีผู้กระทำความผิดขึ้น จะรู้ตัวผู้กระทำความผิดหรือไม่ก็ตามซึ่งกระทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย  
	และการกล่าวหาเช่นนั้นได้กล่าวโดยมีเจตนาจะให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ
	-หากกล่าวหาโดยไม่มีเจตนาจะให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษ เช่น แจ้งความไว้เพื่อเป็นหลักฐาน 
	ย่อมไม่เป็นคำร้องทุกข์แต่เป็นคำกล่าวโทษได้
	-ฎีกาที่ 214/2487 คำแจ้งความของผู้เสียหายที่แจ้งต่อเจ้าพนักงานว่าไม่ประสงค์ให้สอบสวนเป็นรูปคดีและ
	แจ้งเพื่อให้รับทราบเป็นหลักฐานเท่านั้น นั้นไม่เป็นคำร้องทุกข์ตามกฎหมาย
	-การจดบันทึกคำร้องทุกข์ในคดีที่ผู้เสียหายเป็นเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี กฎหมายให้นำ มาตรา 133 ทวิ 
	วรรคหนึ่ง วรรคสองและวรรคสาม มาใช้บังคับด้วย
	-มาตรา 133 ทวิ วรรคหนึ่ง
	ในคดีความผิดเกี่ยวกับเพศ ความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกายอันมิใช่ความผิดที่เกิดจากการชุลมุนต่อสู้ 
	ความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพ ความผิดฐานกรรโชก ชิงทรัพย์และปล้นทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา 
	ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี ความผิดตามกฎหมาย
	ว่าด้วยมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้าหญิงและเด็ก ความผิดตามกฎหมายว่าด้วย
	สถานบริการ หรือคดีความผิดอื่นที่มีอัตราโทษจำคุก ซึ่งผู้เสียหายหรือพยานที่เป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปี
	ร้องขอ การถามปากคำผู้เสียหายหรือพยานที่เป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปี ให้พนักงานสอบสวน
	แยกกระทำเป็นส่วนสัดในสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับเด็ก และให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ 
	บุคคลที่เด็กร้องขอ และพนักงานอัยการร่วมอยู่ด้วยในการถามปากคำเด็กนั้นและในกรณีที่นักจิตวิทยา
	หรือนักสังคมสงเคราะห์เห็นว่าการถามปากคำเด็กคนใดหรือคำถามใด อาจจะมีผลกระทบกระเทือน
	ต่อจิตใจเด็กอย่างรุนแรง ให้พนักงานสอบสวนถามผ่านนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์
	เป็นการเฉพาะตามประเด็นคำถามของพนักงานสอบสวน โดยมิให้เด็กได้ยินคำถามของพนักงานสอบสวน
	และห้ามมิให้ถามเด็กซ้ำซ้อนหลายครั้งโดยไม่มีเหตุอันสมควร
	-มาตรา 133 ทวิ วรรคสอง
	ให้เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่จะต้องแจ้งให้นักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์บุคคลที่เด็กร้องขอ
	และพนักงานอัยการทราบ รวมทั้งแจ้งให้ผู้เสียหายหรือพยานที่เป็นเด็กทราบถึงสิทธิตามวรรคหนึ่งด้วย
	-มาตรา 133 ทวิ วรรคสาม
	นักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ หรือพนักงานอัยการที่เข้าร่วมในการถามปากคำอาจถูกผู้เสียหาย
	หรือพยานซึ่งเป็นเด็กตั้งรังเกียจได้ หากมีกรณีดังกล่าวให้เปลี่ยนตัวผู้นั้น
	-แต่หากมีเหตุจำเป็น ไม่อาจหาหรือรอนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์บุคคลที่เด็กร้องขอและ
	พนักงานอัยการได้และเด็กไม่ประสงค์จะให้มีหรือรอบุคคลดังกล่าวต่อไป ให้ผู้รับคำร้องทุกข์บันทึกเหตุ
	ดังกล่าวไว้ในบันทึกคำร้องทุกข์ด้วย
	
*คำกล่าวโทษ (accuse)
	-หมายความถึง  การที่บุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่ผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ว่ามีบุคคลรู้ตัวหรือไม่ก็ดี 
	ได้กระทำความผิดอย่างหนึ่งขึ้น
	
*หมายอาญา
	-หมายความถึง  หนังสือบงการซึ่งออกตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้  สั่งให้เจ้าหน้าที่ทำการจับ  
	ขัง  จำคุก  หรือปล่อยผู้ต้องหา  จำเลยหรือนักโทษ หรือให้ทำการค้น รวมทั้งสำเนาหมายจับหรือหมายค้น 
	อันได้รับรองว่าถูกต้อง และคำบอกกล่าวทางโทรเลข ว่าได้ออกหมายจับหรือหมายค้นแล้ว ตลอดจน
	สำเนาหมายจับหรือหมายค้นที่ได้ส่งทางโทรสารสื่ออีเลคโทรนิคส์ หรือสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศ
	ประเภทอื่น ทั้งนี้ ตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 77
	-หนังสือบงการ หมายถึง หนังสือที่ออกคำสั่งให้ปฏิบัติและต้องปฏิบัติตามนั้น
	-หมายอาญา มี 5 ประเภท ได้แก่ 	1.หมายจับ     warrant of arrest
				2.หมายขัง      warrant of detain
				3.หมายจำคุก  warrant of  imprison
				4.หมายปล่อย  warrant of release
				5.หมายค้น      warrant of search 

*การสืบสวน (investigation)
	-หมายความถึง  การแสวงหาข้อเท็จจริงและหลักฐานซึ่งพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจได้ปฏิบัติไป
	ตามอำนาจและหน้าที่  เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนและเพื่อที่จะทราบรายละเอียดแห่งความผิด
	
*การสอบสวน  (investigation)
	-หมายความถึง  การรวบรวมพยานหลักฐาน  และการดำเนินการทั้งหลายอื่นตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ 
	ซึ่งพนักงานสอบสวนได้ทำไปเกี่ยวกับความผิดที่กล่าวหา เพื่อที่จะทราบข้อเท็จจริง หรือพิสูจน์ความผิดและ
	เพื่อจะเอาตัวผู้กระทำผิดมาฟ้องลงโทษ
	-ฎีกา 2699/2516 การจับกุมกับการสอบสวนเป็นการดำเนินการคนละตอนกันเมื่อการสอบสวนได้ดำเนินไป
	โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ถึงแม้การจับกุมจะมิชอบด้วยกฎหมาย.ก็เป็นเรื่องที่จะว่ากล่าวกันอีกส่วนหนึ่งต่างหาก
	หาทำให้กระทบกระเทือนถึงการฟ้องคดีอาญาไม่
	
*การไต่สวนมูลฟ้อง  (preliminary examination )
	-หมายความถึง  กระบวนไต่สวนของศาลเพื่อวินิจฉัยถึงมูลคดีซึ่งจำเลยต้องหา
	-การไต่สวนมูลฟ้องของศาลนั้นเป็นการพิจารณาในเบื้องต้นว่าคดีที่โจทก์นำมาฟ้องนั้นมีมูลหรือไม่ 
	หากมีมูลศาลก็จะประทับฟ้องไว้พิจารณาต่อไป
	
*ที่รโหฐาน (privacy)
	-หมายความถึง  ที่ต่างๆ ซึ่งมิใช่ที่สาธารณสถานดั่งบัญญัติไว้ในกฎหมายลักษณะอาญา
	-สาธารณสถาน ตามประมวลกฎหมายอาญา หมายถึง สถานที่ใดๆ ซึ่งประชาชนมีความชอบธรรมที่จะเข้าไปได้
	-ที่รโหฐาน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จึงไม่ใช่ที่ที่ประชาชนทั่วไปมีความชอบธรรมที่จะเข้าไปได้ 
	-ที่รโหฐาน จึงหมายถึงที่ส่วนตัวเฉพาะบุคคล ที่ประชาชนทั่วไปไม่มีความชอบธรรมที่จะเข้าไปได้ เช่น บ้านที่อยู่อาศัย
	
*โจทก์ (plaintiff , complainant)
	-หมายความถึง  พนักงานอัยการ หรือผู้เสียหายซึ่งฟ้องคดีอาญาต่อศาลหรือทั้งคู่ในเมื่อพนักงานอัยการและ
	ผู้เสียหายเป็นโจทก์ร่วมกัน
	-สามารถแยกผู้ที่เป็นโจทก์ในคดีอาญา ได้ดังนี้ คือ
		1.พนักงานอัยการ
		2.ผู้เสียหาย(หมายความรวมถึงผู้รับมอบอำนาจของผู้เสียหายด้วย)
		3.พนักงานอัยการและผู้เสียหาย เป็นโจทก์ร่วมกัน
	
*คู่ความ (litigants in a lawsuit)
	-หมายความถึง  โจทก์ฝ่ายหนึ่งและจำเลยอีกฝ่ายหนึ่ง
	-ฎีกา 502/2523 เมื่อโจทก์ได้มอบหมายให้ผู้ใดเป็นตัวแทนโจทก์ในการดำเนินคดีอาญาแล้ว
	ผู้นั้นมีฐานะเป็นคู่ความในคดีในนามของโจทก์.ย่อมมีอำนาจตามกฎหมายที่จะลงชื่อเป็นโจทก์
	ในฟ้องเรียงหรือแต่งคำฟ้องและลงลายมือชื่อเป็นผู้เรียงฟ้องได้ หาเป็นการขัดต่อ พ.ร.บ.ทนายความฯ
	ม.36ไม่.ผู้รับมอบอำนาจให้ฟ้องคดีแทนโจทก์ลงชื่อเป็นผู้เรียงมาในฟ้องฟ้องของโจทก์จึงเป็นฟ้องที่สมบูรณ์
	ตาม ป.วิ.อ.ม.158(7) จะยกฟ้องโจทก์เพราะเหตุนี้หาได้ไม่
	
*พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ (administration officer , police)
	-หมายความถึง  เจ้าพนักงานซึ่งกฎหมายให้มีอำนาจและหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน
	ให้รวมทั้งพัศดี  เจ้าพนักงานกรมสรรพสามิต  กรมศุลกากร  กรมเจ้าท่า  พนักงานตรวจคนเข้าเมืองและ
	เจ้าพนักงานอื่นๆ ในเมื่อทำการอันเกี่ยวกับการจับกุม ปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมาย ซึ่งตนมีหน้าที่
	ต้องจับกุมหรือปราบปราม
	
*พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่
	-หมายความถึง  เจ้าพนักงาน ดังต่อไปนี้
		(ก)  ปลัดกระทรวงมหาดไทย
		(ข)  รองปลัดกระทรวงมหาดไทย
		(ค)  ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย
		(ฆ)  ผู้ช่วยปลัดกระทรวงมหาดไทย
		(ง)  อธิบดีกรมการปกครอง
		(จ)  รองอธิบดีกรมการปกครอง
		(ฉ)  ผู้อำนวยการกองการสอบสวนและนิติการกรมการปกครอง
		(ช)  หัวหน้าฝ่ายและหัวหน้างานในกองการสอบสวนและนิติการกรมการปกครอง
		(ซ)  ผู้ตรวจราชการกรมการปกครอง
		(ฌ)  ผู้ว่าราชการจังหวัด  (governor of a province)
		(ญ)  รองผู้ว่าราชการจังหวัด
		(ฎ)  ปลัดจังหวัด
		(ฏ)  นายอำเภอ
		(ฐ)  ปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ
		(ฑ)  อธิบดีกรมตำรวจ
		(ฒ)  รองอธิบดีกรมตำรวจ
		(ณ)  ผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ
		(ด)  ผู้บัญชาการตำรวจ
		(ต)  รองผู้บัญชาการตำรวจ
		(ถ)  ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจ
		(ท)  ผู้บังคับการตำรวจ
		(ธ)  รองผู้บังคับการตำรวจ
		(น)  หัวหน้าตำรวจภูธรจังหวัด
		(บ)  รองหัวหน้าตำรวจภูธรจังหวัด
		(ป)  ผู้กำกับการตำรวจ
		(ผ)  ผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดเขต
		(ฝ)  รองผู้กำกับการตำรวจ
		(พ)  รองผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดเขต
		(ฟ)  สารวัตรใหญ่ตำรวจ
		(ภ)  สารวัตรตำรวจ
		(ม)  ผู้บังคับกองตำรวจ
		(ย)  หัวหน้าสถานีตำรวจ ซึ่งมียศตั้งแต่ชั้นนายร้อยตำรวจตรี  หรือเทียบเท่านายร้อยตำรวจตรีขึ้นไป
		(ร)  หัวหน้ากิ่งสถานีตำรวจซึ่งมียศตั้งแต่ชั้นนายร้อยตำรวจตรี  หรือเทียบเท่านายร้อยตำรวจตรีขึ้นไป
		ทั้งนี้  หมายความรวมถึงผู้รักษาการแทนเจ้าพนักงานดังกล่าวแล้ว  แต่ผู้รักษาการแทนเจ้าพนักงาน
	ใน (ม) (ย) และ (ร)  ต้องมียศตั้งแต่ชั้นนายร้อยตำรวจตรีหรือเทียบเท่านายร้อยตำรวจตรีขึ้นไปด้วย
	
*สิ่งของ  (thing)
	- หมายความถึง  สังหาริมทรัพย์ใดซึ่งอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีอาญาได้ ให้รวมทั้งจดหมายโทรเลข
	และเอกสารอย่างอื่นๆ
	
*ถ้อยคำสำนวน
	- หมายความถึง  หนังสือใดที่ศาลจดเป็นหลักฐานแห่งรายละเอียดทั้งหลายในการดำเนินคดีอาญาในศาลนั้น
	
*บันทึก
	- หมายความถึง  หนังสือใดที่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจดไว้เป็นหลักฐานในการสอบสวนความผิดอาญา 
	รวมทั้งบันทึกคำร้องทุกข์และคำกล่าวโทษด้วย

*ควบคุม
	- หมายถึง การคุมหรือกักขังผู้ถูกจับโดยพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจในระหว่างสืบสวนและสอบสวน
	
*ขัง  detain 
	-หมายความถึง  การกักขังจำเลยหรือผู้ต้องหาโดยศาล
	-เป็นอำนาจของศาลโดยเฉพาะ

*ผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหาย (มาตรา 5)
	-ผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาล หมายถึง ผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาลที่ศาลแต่งตั้งตามกฎหมาย
	-ผู้บุพการี หมายถึง บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย ทวด ของผู้เสียหาย ถือตามสายโลหิต
	-ผู้สืบสันดาน หมายถึง ลูก หลาน เหลน ลื่น ของผู้เสียหาย โดยถือตามสายโลหิต (บุตรบุญธรรมไม่เป็น
	ผู้สืบสันดานตามมาตรานี้)
	-สามีหรือภริยา หมายถึง  สามีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย (จดทะเบียนสมรส)

*ผู้แทนเฉพาะคดี (มาตรา 6)
	-เป็นกรณีที่ในคดีอาญาซึ่งผู้เสียหายเป็นผู้เยาว์ไม่มีผู้แทนโดยชอบธรรม หรือเป็นผู้วิกลจริตหรือ
	คนไร้ความสามารถไม่มีผู้อนุบาล หรือซึ่งผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาลไม่สามารถจะทำการ
	ตามหน้าที่โดยเหตุหนึ่งเหตุใด รวมทั้งมีผลประโยชน์ขัดกันกับผู้เยาว์ หรือคนไร้ความสามารถนั้น ๆ 
	ญาติของผู้นั้นหรือผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้องสามารถร้องต่อศาลขอให้ตั้งเขาเป็นผู้แทนเฉพาะคดีได้
	เมื่อศาลได้ไต่สวนแล้วให้ศาลตั้งผู้ร้องหรือบุคคลอื่น ซึ่งยินยอมตามที่เห็นสมควรเป็นผู้แทนเฉพาะคดี 
	หรือหากไม่มีบุคคลใดเป็นผู้แทน	ให้ศาลตั้งพนักงานฝ่ายปกครองเป็นผู้แทน และกฎหมายห้ามมิให้เรียก
	ค่าธรรมเนียมในเรื่องขอตั้งเป็นผู้แทนเฉพาะคดี

*ล่าม (interpreter) (มาตรา 13)
	-ล่ามตามมาตรา 13 นั้น มีอยู่ 2 กรณี คือ
	1.กรณีต้องแปลภาษาไทยท้องถิ่นหรือภาษาถิ่นหรือภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทย หรือ
	ต้องแปลภาษาไทยเป็นภาษาไทยท้องถิ่นหรือภาษาถิ่น หรือภาษาต่างประเทศ
	2.กรณีต้องแปลภาษามือ (กรณีที่ผู้เสียหาย ผู้ต้องหา จำเลย หรือพยานไม่สามารถพูดหรือได้ยิน )
	-ล่ามต้องแปลให้ถูกต้อง ต้องสาบานหรือปฏิญาณตนว่าจะทำหน้าที่โดยสุจริตใจ จะไม่เพิ่มเติม
	หรือตัดทอนสิ่งที่แปลและล่ามต้องลงลายมือชื่อในคำแปลนั้น
	-กฎหมายไม่ได้กำหนดว่าผู้ที่จะมาเป็นล่ามให้นั้นจะต้องมีใบอนุญาติให้เป็นล่าม
	-ฎีกา 5476/2537 การที่ล่ามแปลคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยโดยมิได้สาบานหรือปฏิญาณตน
	ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 13 มีผลทำให้คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลย
	ไม่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานยันจำเลยในชั้นพิจารณาได้เท่านั้นไม่ทำให้การสอบสวนคดีนี้เป็นการ
	ไม่ชอบ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
	-ฎีกา 1187/2539 ที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยเป็นคนไทยแต่ไม่รู้ภาษาไทยเพียงพอและขณะศาลชั้นต้น
	สอบคำให้การจำเลยไม่มีล่ามช่วยแปลนั้นศาลชั้นต้น ได้ไต่สวนปัญหานี้ตามคำสั่งของศาลฎีกาแล้ว
	ปรากฏว่าจำเลยสามารถพูดและเข้าใจภาษาไทยสามารถตอบคำถามทนายจำเลยโจทก์
	และศาลเป็นภาษาไทยโดยมิต้องใช้ล่ามแปลดังนั้นเมื่อจำเลยให้การรับสารภาพโดยเข้าใจสภาพแห่งข้อหา
	และคำฟ้องแล้วกระบวนพิจารณา	ที่ศาลชั้นต้นสอบคำให้การจำเลยบันทึกคำให้การรับสารภาพของจำเลย
	ไว้จึงเป็นกระบวนพิจารณาที่ชอบไม่ชอบเหตุที่จะให้ดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่

*ผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้วิกลจริต (มาตรา 14)
	-ในระหว่างทำการสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณา ถ้ามีเหตุควรเชื่อว่าผู้ต้องหาหรือ
	จำเลยเป็นผู้วิกลจริต และไม่สามารถต่อสู้คดีได้ ให้พนักงานสอบสวนหรือศาลแล้วแต่กรณี สั่งให้พนักงานแพทย์
	ตรวจผู้นั้น เสร็จแล้วให้เรียกพนักงานแพทย์ผู้นั้นมาให้ถ้อยคำ หรือให้การว่าตรวจได้ผลประการใด
	-กรณีที่พนักงานสอบสวน หรือศาลเห็นว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้วิกลจริตและไม่สามารถต่อสู้คดีได้  
	ให้งดการสอบสวนไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณาไว้ จนกว่าผู้นั้นหายวิกลจริตหรือสามารถจะต่อสู้คดีได้ 
	และให้มีอำนาจส่งตัวผู้นั้นไปยังโรงพยาบาลโรคจิตหรือมอบให้แก่ผู้อนุบาล ข้าหลวงประจำจังหวัด
	หรือผู้อื่นที่เต็มใจรับไปดูแลรักษาก็ได้ตามแต่จะเห็นสมควร
	-ศาลจะสั่งจำหน่ายคดีเสียชั่วคราวก็ได้
	-ฎีกา 65/2542 การมีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยไม่สามารถต่อสู้คดีได้ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 14 นั้น 
	จะต้องปรากฏว่า จำเลยเป็นผู้วิกลจริต หรือมีสติวิปลาส ในทำนองเป็นคนบ้า จำเลยมีอาชีพค้าขาย
	สามารถลงลายมือชื่อได้ถูกต้องเรียบร้อยสวยงาม สามารถเป็นเจ้าบ้าน ทำการเปลี่ยนชื่อและมีบุตรได้ตามปกติ 
	พฤติการณ์แสดงว่ามิใช่คนวิกลจริตที่ไม่สามารถต่อสู้คดีได้ แม้หากจำเลยเป็นโรคจิตพวกจิตเภท
	อันเป็นที่รู้กันทั่วไปว่าเป็นแต่เพียงโรคทางจิตชนิดหนึ่งที่ทำให้ความคิดและบุคลิกภาพผิดปกติไป 
	ก็เป็นคนละอย่างกับคนวิกลจริต
	-ฎีกา 2594/2542 ข้อเท็จจริงหรือเหตุที่ทำให้ศาลเชื่อหรือสงสัยว่าจำเลยเป็นผู้วิกลจริตและไม่สามารถ
	ต่อสู้คดีได้นั้น อาจเป็นเพราะศาลสังเกต เห็นจากอากัปกิริยาของจำเลยเอง หรือมีผู้เสนอข้อเท็จจริง
	ให้ศาลทราบก็ได้ ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มิได้พิจารณาคำร้องของ ธ. น้องจำเลยที่อ้างว่า
	จำเลยวิกลจริตและไม่สามารถต่อสู่คดีได้ในขณะที่คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น 
	จึงเป็นการที่ศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์และพิพากษาลงโทษจำเลยโดยไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนของ 
	ป.วิ.อ. มาตรา 14 ก่อน ไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา ปัญหานี้เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน 
	แม้ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ จำเลยก็ยกขึ้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคสอง 
	ประกอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 15 และศาลฎีกามีอำนาจตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2) ประกอบด้วยมาตรา 225 
	สั่งให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ให้ถูกต้องต่อไปได้

*การนำ ป.วิ.แพ่ง มาใช้บังคับ (มาตรา 15)
	-หากวิธีพิจารณาข้อใดที่ ป.วิ.อาญา ไม่ได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ก็ให้นำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.แพ่ง
	มาใช้บังคับเท่าที่พอจะใช้บังคับได้ เช่น เรื่องฟ้องซ้อนนำมาใช้ในคดีอาญาด้วย, ส่วนเรื่องการร้องสอด
	ไม่นำมาใช้ในคดีอาญาเพราะในคดีอาญามีบทบัญญัติเรื่องการเข้าเป็นโจทก์ร่วม ตามมาตรา 30 ไว้แล้ว 
	จึงไม่นำ ป.วิ.แพ่ง มาใช้

Leave a Reply