กันยายน 7, 2020 In คำพิพากษา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 188/2563-คดีต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 188/2563
กองผู้ช่วยฯ
-
	คู่กรณี
โจทก์
	นางสาว จ.
จำเลย
	นาย ด.
-
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
	ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 
	มาตรา 224
	ประมวลกฎหมายอาญา 
	มาตรา 300
	พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 
	มาตรา 4, มาตรา 22, มาตรา 22 ทวิ 
-
ข้อมูลย่อ
	คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 300 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง 
ต้องห้ามโจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความ
อาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 22 เว้นแต่โจทก์ต้องยื่นคำร้องพร้อมกับคำฟ้องอุทธรณ์ต่อ
ศาลชั้นต้นขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้น
ต้นพิเคราะห์เห็นว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลอุทธรณ์และอนุญาตให้
อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 
มาตรา 22 ทวิ และ ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคท้าย ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธี
พิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4
	โจทก์มิได้ยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้น
อนุญาตให้อุทธรณ์มาพร้อมกับคำฟ้องอุทธรณ์ ดังนี้ การที่ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อใน
คำพิพากษาศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคำฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์ว่า "รับอุทธรณ์ของโจทก์ สำเนาให้
จำเลยทราบ การส่งไม่มีผู้รับโดยชอบให้ปิด" เพียงเท่านี้ โดยไม่มีข้อความอื่นใดที่พอจะให้เข้าใจ
ว่าเป็นการอนุญาตให้อุทธรณ์ตามมาตรา 22 ทวิ จึงฟังไม่ได้ว่าผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อ
ในคำพิพากษาศาลชั้นต้นได้อนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง อุทธรณ์ของโจทก์ซึ่ง
เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง จึงไม่เป็นอุทธรณ์ที่จะรับไว้พิจารณาตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาล
แขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 22
-
รายละเอียด
	โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300
	ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง
	โจทก์อุทธรณ์
	ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกอุทธรณ์โจทก์
	โจทก์ฎีกา
	ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า อุทธรณ์ของโจทก์
ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โดยวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า แม้
โจทก์จะมีบันทึกข้อตกลงว่า เหตุประมาทเกิดจากจำเลย แต่ข้อเท็จจริงดังกล่าวยังไม่ยุติ เมื่อ
พิจารณาแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุประกอบภาพถ่ายที่ทนายจำเลยนำมาถามค้าน พบว่า 
บริเวณที่เกิดเหตุเป็นช่องทางเดินรถที่ 3 ซึ่งเป็นช่องทางเดินรถ ซึ่งอยู่ติดกับเกาะกลางถนนแสดง
ให้เห็นว่า ผู้เสียหายขับขี่รถจักรยานไม่ชิดช่องทางด้านซ้าย ซึ่งเป็นการไม่ปฏิบัติตามพระราช
บัญญัติจราจรทางบก จึงเชื่อว่า ผู้เสียหายมีส่วนประมาท จึงไม่เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย โจทก์
ไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ว่า พยานหลักฐานที่โจทก์นำมาแสดงต่อศาลสามารถพิสูจน์ได้ว่า 
จำเลยกระทำความผิด และการรับฟังพยานหลักฐานของศาลเป็นการรับฟังข้อเท็จจริงที่ไม่ถูก
ต้องไม่ครบถ้วน เป็นการรับฟังพยานหลักฐานเฉพาะที่เป็นโทษต่อโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย 
อุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นการอุทธรณ์โต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น
ที่ฟังว่าผู้เสียหายมีส่วนประมาท ซึ่งผู้เสียหายมีส่วนประมาทหรือไม่เป็นข้อเท็จจริงที่จะต้องนำ
สืบ จึงเป็นการอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานอันเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ต้อง
ห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ
.2499 มาตรา 22 เว้นแต่ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นพิเคราะห์เห็น
ว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลอุทธรณ์และอนุญาตให้อุทธรณ์ ตามพระ
ราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 22 ทวิ ซึ่ง
ขั้นตอนในการที่จะปฏิบัติเข้าข้อยกเว้นดังกล่าวมิได้มีบทบัญญัติวางหลักเกณฑ์ไว้โดยเฉพาะใน
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 จึงต้องนำบท
บัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคท้าย มาใช้บังคับ
โดยอนุโลม ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง 
พ.ศ.2499 มาตรา 4 กล่าวคือ โจทก์ต้องยื่นคำร้องพร้อมกับคำฟ้องอุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้นขอให้
ผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นอนุญาต
ให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้ เมื่อพิจารณาเอกสารท้ายฎีกาของโจทก์ หมายเลข 1 ซึ่ง
เป็นคำร้องที่โจทก์อ้างว่า โจทก์ขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้น
อนุญาตให้อุทธรณ์แล้ว พบว่า ตราประทับของศาลชั้นต้นระบุวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2560 เวลา 
13.10 นาฬิกา แต่ตราประทับของศาลชั้นต้นที่ปรากฏในคำฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์ ระบุวันที่ 
23 กุมภาพันธ์ 2560 เวลา 11.15 นาฬิกา อันเป็นข้อบ่งชี้ให้เห็นชัดว่า โจทก์มิได้ยื่นคำร้องขอให้
ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้อุทธรณ์มาพร้อมกับคำฟ้อง
อุทธรณ์ ดังนี้ การที่ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคำฟ้อง
อุทธรณ์ของโจทก์เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2560 ว่า "รับอุทธรณ์ของโจทก์ สำเนาให้จำเลยทราบ 
การส่งไม่มีผู้รับโดยชอบให้ปิด" เพียงเท่านี้ โดยไม่มีข้อความอื่นใดที่พอจะให้เข้าใจว่าเป็นการ
อนุญาตให้อุทธรณ์ตามมาตรา 22 ทวิ กรณีจึงฟังไม่ได้ว่า ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อใน
คำพิพากษาศาลชั้นต้นได้อนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง อุทธรณ์ของโจทก์ซึ่ง
เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง จึงไม่เป็นอุทธรณ์ที่จะรับไว้พิจารณาตามพระราชบัญญัติจัดตั้ง
ศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 22 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 
พิพากษาให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์เสียนั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น เมื่ออุทธรณ์ของ
โจทก์ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว กรณีจึงไม่จำต้อง
วินิจฉัยฎีกาของโจทก์ที่ว่า คดีโจทก์มีมูลหรือไม่ เพราะไม่มีผลเปลี่ยนแปลงคำพิพากษา
	พิพากษายืน
-
(ภาวนา สุคันธวณิช-ภานุวัฒน์ ศุภะพันธุ์-วินัย เรืองศรี)
องค์คณะผู้ตัดสิน

Leave a Reply