คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 169/2562
กองผู้ช่วยฯ
คู่กรณี
โจทก์
พนักงานอัยการจังหวัดนครปฐม
โจทก์ร่วม
นางสาว จ.
จำเลย
นาย ด.
-
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 15, 195, 225
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 225 วรรคหนึ่ง, 252
พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522
มาตรา 78, 160 วรรคสอง
-
ข้อมูลย่อ
การที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยขับรถในทางก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลแล้วไม่หยุดรถให้การ
ช่วยเหลือและแสดงตัวต่อเจ้าพนักงานเป็นเหตุให้บุคคลนั้นถึงแก่ความตาย ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก
พ.ศ.2522 โจทก์ร่วมไม่ใช่ผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดฐานนี้โดยตรง จึงไม่ใช่ผู้เสีย
หายตามกฎหมายและไม่มีสิทธิอุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดตาม พ.ร.บ. ดังกล่าวได้ และเมื่อ
โจทก์มิได้บรรยายฟ้องอ้างเหตุว่าการที่จำเลยไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือตามสมควร ไม่แสดงตัวและไม่
แจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันทีอันเป็นการไม่ปฏิบัติตามมาตรา 78 แห่ง พ.ร.บ.จราจรทาง
บกฯ นั้น เป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตาย คดีจึงไม่อาจลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา
160 วรรคสอง ได้ และปัญหานี้แม้คู่ความจะมิได้อุทธรณ์ฎีกา แต่เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย
ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ส่วนที่จำเลย
ฎีกาว่า ขณะเกิดเหตุ รถจำเลยแล่นอยู่ในช่องเดินรถที่ 1 มิได้วิ่งคร่อมช่องเดินรถที่ 1 และที่ 2 การที่รถ
จำเลยเฉี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์ของผู้ตาย ผู้ตายจึงมีส่วนประมาทอยู่ด้วย ทำนองว่าจำเลยมิได้กระทำ
ความผิดตามฟ้องนั้น เป็นข้อเท็จจริงที่ยกขึ้นใหม่และขัดแย้งกับคำให้การรับสารภาพของจำเลย จึงเป็น
ข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ.
มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 252 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
-
รายละเอียด
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 78,
157, 160 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 291
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยาน จำเลยขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับ
สารภาพ
ระหว่างพิจารณา นางสาวจันทร์เพ็ญ มารดาของผู้ตาย ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ศาล
ชั้นต้นอนุญาตเฉพาะข้อหากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ส่วนข้อหาอื่น โจทก์ร่วม
ไม่เป็นผู้เสียหายจึงไม่อนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 (เดิม) พระราช
บัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 78 วรรคหนึ่ง, 157, 160 วรรคสอง การกระทำของจำเลย
เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 91 ฐานขับรถในทางก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลแล้วไม่หยุดรถให้การช่วยเหลือและแสดงตัว
ต่อเจ้าพนักงานเป็นเหตุให้บุคคลนั้นถึงแก่ความตาย ลงโทษจำคุก 6 เดือน และปรับ 10,000 บาท ฐานขับ
รถโดยประมาทอันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินกับฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึง
แก่ความตาย การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษ
ฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวล
กฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 ปี และปรับ 10,000 บาท รวมจำคุก 2 ปี 6 เดือน และปรับ 20,000 บาท
จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตาม
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี 3 เดือน และปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอไว้มีกำหนด 2
ปี ให้คุมความประพฤติของจำเลยโดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อเจ้าพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือน ต่อ
ครั้งภายใน 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมาย
อาญา มาตรา 29, 30
โจทก์ร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ลงโทษปรับ ไม่คุมความประพฤติ และไม่รอการลง
โทษ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาใน
ปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สำหรับความผิดฐานขับรถในทางก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลแล้วไม่
หยุดรถให้การช่วยเหลือและแสดงตัวต่อเจ้าพนักงานเป็นเหตุให้บุคคลนั้นถึงแก่ความตาย ตามพระราช
บัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 โจทก์ร่วมไม่ใช่ผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดฐานนี้
โดยตรง จึงไม่ใช่ผู้เสียหายตามกฎหมาย จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำคุกโดยไม่รอการลงโทษให้
แก่จำเลยในความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าวได้ ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ร่วม
และศาลอุทธรณ์ภาค 7 รับพิจารณาในข้อหานี้โดยพิพากษาเป็นไม่รอการลงโทษจำคุกแก่จำเลยนั้น จึงไม่
ชอบด้วยบทกฎหมายดังกล่าว และเมื่อโจทก์มิได้บรรยายฟ้องอ้างเหตุว่าการที่จำเลยไม่หยุดรถให้ความช่วย
เหลือตามสมควร ไม่แสดงตัวและไม่แจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันทีอันเป็นการไม่ปฏิบัติ
ตามมาตรา 78 วรรคหนึ่ง ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 นั้น เป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่
ความตาย คดีจึงไม่อาจลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 160 วรรคสอง ได้
ปัญหาดังกล่าว แม้คู่ความจะมิได้อุทธรณ์ฎีกา แต่เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจ
ยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา
225 ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า ขณะเกิดเหตุ รถจำเลยแล่นอยู่ในช่องเดินรถที่ 1 มิได้วิ่งคร่อมช่องเดินรถที่ 1 และที่
2 การที่รถจำเลยเฉี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์ของผู้ตาย ผู้ตายจึงมีส่วนประมาทอยู่ด้วย ทำนองว่าจำเลยมิได้
กระทำความผิดตามฟ้องนั้น เห็นว่า เป็นข้อเท็จจริงที่ยกขึ้นใหม่ในชั้นฎีกาและขัดแย้งกับคำให้การรับ
สารภาพของจำเลย จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 ต้อง
ห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 252 ที่แก้ไข
ใหม่ ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่ามีเหตุสมควรลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษ
จำคุกแก่จำเลยในความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายหรือไม่ เห็นว่า จำเลย
ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ร่วมแล้ว 80,000 บาท อีกทั้งภายหลังศาลอุทธรณ์ภาค 7 มีคำพิพากษา บริษัท
รับประกันภัยวางเงินชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ร่วมเป็นเงิน 565,000 บาท รวมถึงจำเลยวางเงินชดใช้ค่า
เสียหายเพิ่มเติมให้แก่โจทก์ร่วมอีก 40,000 บาท นับว่าจำเลยรู้สำนึกในการกระทำความผิดและพยายาม
บรรเทาผลร้ายแห่งความผิดของตนตามสมควร เมื่อปรากฏว่า จำเลยมีอาชีพการงานเป็นหลักแหล่ง และมี
ภาระต้องเลี้ยงดูบุคคลในครอบครัว การให้โอกาสจำเลยได้กลับตนเป็นพลเมืองดี และได้ประกอบสัมมา
ชีพต่อไปน่าจะเป็นผลดีและเป็นประโยชน์แก่จำเลยและสังคมมากกว่าการลงโทษจำคุกจำเลยไปเสียทีเดียว
กรณีจึงเห็นสมควรรอการลงโทษให้แก่จำเลย แต่เพื่อให้จำเลยหลาบจำ เห็นสมควรลงโทษปรับอีกสถาน
หนึ่งและคุมความประพฤติของจำเลยไว้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ลงโทษฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้
ผู้อื่นถึงแก่ความตายหลังลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี นั้นเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว แต่ที่ใช้
ดุลพินิจไม่รอการลงโทษให้จำเลยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 (เดิม) พระราช
บัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 78 วรรคหนึ่ง, 157, 160 วรรคหนึ่ง การกระทำของจำเลย
เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 91 ฐานขับรถในทางก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลแล้วไม่หยุดรถให้การช่วยเหลือและแสดงตัว
ต่อเจ้าพนักงาน ลงโทษจำคุก 3 เดือน และปรับ 10,000 บาท ฐานขับรถโดยประมาทอันอาจเกิดอันตราย
แก่บุคคลหรือทรัพย์สินกับฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ให้ลงโทษฐานกระทำ
โดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 90 จำคุก 2 ปี และปรับ 20,000 บาท รวมจำคุก 2 ปี 3 เดือน และปรับ 30,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง
ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี 1 เดือน 15 วัน และปรับ 15,000 บาท โทษจำคุกให้รอ
การลงโทษไว้ 3 ปี นับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟัง และคุมความประพฤติของจำเลยมี
กำหนด 2 ปี โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือน ต่อครั้ง ภายในกำหนดดังกล่าว
กับให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควร
มีกำหนด 20 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 (ที่แก้ไขใหม่) หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้
จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 (ที่แก้ไขใหม่)
-
(โสภณ บางยี่ขัน - รังสรรค์ กุลาเลิศ - บุญไทย อิศราประทีปรัตน์)
องค์คณะผู้ตัดสิน
Leave a Reply