กันยายน 7, 2020 In คำพิพากษา

คำพิพากษาฎีกาที่ 2795/2560-ผลของบรรยายฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาฎีกาที่ 2795/2560
ส่งเสริมตุลาการ
	คู่กรณี
โจทก์
	บริษัทเอดูวัง จำกัด
จำเลย  
	นายชาติชัย อุดมกิจมงคล กับพวก
-
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง	
	ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
	มาตรา 158 (5)	บรรยายฟ้อง 
	พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและ
        วิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 
	มาตรา 26
	พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 
	มาตรา 27 (1) (2), มาตรา 31 (1) (2), มาตรา 69 วรรคสอง, มาตรา 70 วรรคสอง
-
ข้อมูลย่อ
      	โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามในความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ 
พ.ศ. 2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 (1) และ (2) คือ
ร่วมกันทำซ้ำ ดัดแปลง หรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานอันมีลิขสิทธิ์เพื่อ
การค้า และความตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 70 วรรคสอง
ประกอบมาตรา 31 (1) และ (2) คือ ร่วมขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขาย หรือ
เผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อ
หากำไรในทางการค้า โดยจำเลยทั้งสามรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่างานใด
ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น องค์ประกอบของความผิดที่สำคัญ
ของทั้งสองมาตราดังกล่าวต้องเป็นการกระทำต่องานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่น
ซึ่งต้องเป็นงานสร้างสรรค์ที่กฎหมายลิขสิทธิ์ให้ความคุ้งครอง โดยได้มา
ตามเงื่อนไขของกฎหมาย และต้องอยู่ในอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ด้วย
เพราะลิขสิทธิ์เป็นสิทธิที่ได้รับความคุ้มครองภายในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น
หลังจากพ้นกำหนดอายุแห่งการคุ้มครองแล้ว งานอันมีลิขสิทธิ์จะตกเป็นงาน
ที่สาธารณชนสามารถใช้ประโยชน์จากงานนั้นได้โดยไม่เป็นความผิด
งานอันมีลิขสิทธิ์จึงต้องอยู่ในอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามกฎหมาย
การที่จะรู้ว่างานอันมีลิขสิทธิ์ใดยังอยู่ในอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์หรือไม่
ต้องปรากฏว่าขณะเกิดเหตุยังอยู่ในอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ การกล่าวถึง
ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการได้มาและอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์จึงเป็น
องค์ประกอบของความผิดที่เป็นสาระสำคัญซึ่งโจทก์ต้องบรรยายมาในฟ้อง
มิใช่เป็นเพียงรายละเอียดเล็กน้อย และไม่อาจจะนำเอาข้อสันนิษฐานต่างๆ
มาใช้ได้หรืออนุมานเอาเองว่างานของโจทก์ยังอยู่ในอายุแห่งการคุ้มครอง
ของลิขสิทธิ์
      	ฟ้องโจทก์ไม่ได้บรรยายให้ปรากฏว่าบริษัท อ. ได้ลิขสิทธิ์โดยการ
สร้างสรรค์งานขึ้นเองหรือบุคคลใดเป็นผู้สร้างสรรค์ และมีการสร้างสรรค์
งานขึ้นเมื่อใด หรือมีการโฆษณางานหรือไม่ หากมีการโฆษณางาน ได้มีการ
โฆษณางานครั้งแรกเมื่อใด ทำให้ไม่อาจทราบได้ว่าในขณะเกิดเหตุคดีนี้งาน
ตามฟ้องยังคงอยู่ในอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้
ใช้สิทธิจากบริษัท อ. หรือไม่ จึงเป็นฟ้องที่ขาดองค์ประกอบของความผิด
ฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 96 
วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 (1) และ (2) และมาตรา 70 วรรคสอง
ประกอบมาตรา 31 (1) และ (2) อันเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้ง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดี
ทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 26
ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)
-
รายละเอียด
      	โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537
มาตรา 15, 27, 30, 31, 69, 70 และ 76 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และ 91
      	ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า
เมื่อโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าบริษัทเอดูวัง จำกัด ซึ่งเป็นนิติบุคคลได้ลิขสิทธิ์ใน
การสร้างสรรค์งานดังกล่าวเมื่อใด หรือมีการโฆษณางานหรือไม่ หากมีการโฆษณา
งานบริษัทได้มีการโฆษณางานครั้งแรกเมื่อใด จึงไม่มีข้อเท็จจริงในส่วนที่แสดง
ให้เห็นว่าลิขสิทธิ์ดังกล่าวอยู่ในอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามมาตรา 19
แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 หรือไม่ จึงเป็นฟ้องที่บรรยายการ
กระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยทั้งสามกระทำผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ 
พ.ศ. 2537 มาตรา 27 (1) (2) และมาตรา 31 (1) (2) ไม่ครบถ้วน ไม่ชอบด้วย
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ
และวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 
มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5)
พิพากษายกฟ้อง
       	โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
       	ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์ชอบด้วยพระราชบัญญัติ
จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดี
ทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 26 ประกอบ
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) หรือไม่ โจทก์บรรยาย
ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2550 โจทก์ซื้อลิขสิทธิ์เกี่ยวกับหลักสูตรและ
แบบเรียนอันเป็นงานวรรณกรรมจากบริษัทเอดูวัง จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์
การซื้อขายลิขสิทธิ์ดังกล่าวเจ้าของลิขสิทธิ์ได้ทำสัญญาอนุญาตให้โจทก์ใช้สิทธิ
เด็ดขาดแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย โดยเจ้าของลิขสิทธิ์ไม่มีสิทธิที่จะใช้งาน
หรือใช้สิทธิในลิขสิทธิ์ของตนอีกในประเทศไทย โจทก์จึงเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ใน
งานวรรณกรรมตามฟ้อง เมื่อระหว่างวันที่ 18 กรกฎาคม 2558 จนถึงวันที่
21 กรกฎาคม 2558 จำเลยทั้งสามละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ และขอให้ลงโทษ
ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 15, 27, 30, 31, 69, 70 และ
76 เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิ แต่สำหรับ
เจ้าของลิขสิทธิ์ขึ้นเองหรือบุคคลใดเป็นผู้สร้างสรรค์ และมีการสร้างสรรค์งานขึ้นเมื่อใด
หรือมีการโฆษณางานครั้งแรกเมื่อใด โจทก์มิได้บรรยายฟ้อง เมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้อง
ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามในความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 
มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 (1) และ (2) คือ ร่วมกันทำซ้ำ ดัดแปลง 
หรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานอันมีลิขสิทธิ์เพื่อการค้า และความตาม
พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (1) 
และ (2) คือ ร่วมขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขาย หรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานที่
ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อหากำไรในทางการค้า โดยจำเลยทั้งสาม
รู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่างานใดได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น องค์ประกอบ
ของความผิดที่สำคัญของทั้งสองมาตราดังกล่าวต้องเป็นการกระทำต่องานอันมีลิขสิทธิ์
ของผู้อื่นซึ่งต้องเป็นงานสร้างสรรค์ที่กฎหมายลิขสิทธิ์ให้ความคุ้งครอง โดยได้มาตาม
เงื่อนไขของกฎหมาย และต้องอยู่ในอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ด้วย เพราะลิขสิทธิ์
เป็นสิทธิที่ได้รับความคุ้มครองภายในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น หลังจากพ้นกำหนดอายุ
แห่งการคุ้มครองแล้ว งานอันมีลิขสิทธิ์จะตกเป็นงานที่สาธารณชนสามารถใช้ประโยชน์
จากงานนั้นได้โดยไม่เป็นความผิด งานอันมีลิขสิทธิ์จึงต้องอยู่ในอายุแห่งการ
คุ้มครองลิขสิทธิ์ตามกฎหมาย การที่จะรู้ว่างานอันมีลิขสิทธิ์ใดยังอยู่ในอายุแห่งการ
คุ้มครองลิขสิทธิ์หรือไม่ต้องปรากฏว่าขณะเกิดเหตุยังอยู่ในอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ 
การกล่าวถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการได้มาและอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์จึงเป็น
องค์ประกอบของความผิดที่เป็นสาระสำคัญซึ่งโจทก์ต้องบรรยายมาในฟ้อง มิใช่
เป็นเพียงรายละเอียดเล็กน้อย และไม่อาจจะนำเอาข้อสันนิษฐานต่างๆ มาใช้ได้
หรืออนุมานเอาเองว่างานของโจทก์ยังอยู่ในอายุแห่งการคุ้มครองของลิขสิทธิ์
เมื่อฟ้องโจทก์ไม่ได้บรรยายให้ปรากฏว่าบริษัทเอดูวัง จำกัด ได้ลิขสิทธิ์โดยการ
สร้างสรรค์งานขึ้นเองหรือบุคคลใดเป็นผู้สร้างสรรค์ และมีการสร้างสรรค์
งานขึ้นเมื่อใด หรือมีการโฆษณางานหรือไม่ หากมีการโฆษณางาน ได้มีการ
โฆษณางานครั้งแรกเมื่อใด ทำให้ไม่อาจทราบได้ว่าในขณะเกิดเหตุคดีนี้งานตาม
ฟ้องยังคงอยู่ในอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิจาก
บริษัทเอดูวัง จำกัด หรือไม่ จึงเป็นฟ้องที่ขาดองค์ประกอบของความผิดฐาน
ละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 69 วรรคสอง 
ประกอบมาตรา 27 (1) และ (2) และมาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (1) 
และ (2) อันเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญา
และการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่าง
ประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 
มาตรา 158 (5) ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง
พิพากษายกฟ้อง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ
เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
      	พิพากษายืน
-
(ภัทรศักดิ์  วรรณแสง - ปริญญา ดีผดุง - โสภณ บางยี่ขัน)
องค์คณะผู้ตัดสิน

Leave a Reply