กุมภาพันธ์ 7, 2020 In พระราชบัญญัติ

พระราชบัญญัติการศึกษาพระปริยัติธรรม พ.ศ. 2562

พระราชบัญญัติการศึกษาพระปริยัติธรรม พ.ศ. 2562
-
	สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร
	ให้ไว้ ณ วันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2562
	เป็นปีที่ 4 ในรัชกาลปัจจุบัน
	สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ
ให้ประกาศว่า
	โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการศึกษาพระปริยัติธรรม
	จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของ
สภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้
	มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติการศึกษาพระปริยัติธรรม
พ.ศ. 2562”
	มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา
เป็นต้นไป
	มาตรา 3 ให้ยกเลิก
	(1) พระราชบัญญัติกำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนา พ.ศ. 2527
	(2) พระราชบัญญัติกำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2540
	มาตรา 4 ในพระราชบัญญัตินี้
	“การศึกษาพระปริยัติธรรม” หมายความว่า การศึกษาหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา
ที่ปรากฏในพระไตรปิฎก
	“วัด” หมายความว่า วัดตามกฎหมายว่าด้วยคณะสงฆ์
	“สถานศึกษาพระปริยัติธรรม” หมายความว่า สำนักเรียน สำนักศาสนศึกษา หรือโรงเรียน
	“สำนักเรียน” หมายความว่า สถานศึกษาที่วัดจัดการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลีสนามหลวง
หรือแผนกธรรมสนามหลวง ที่มหาเถรสมาคมประกาศจัดตั้ง
	“สำนักศาสนศึกษา” หมายความว่า สถานศึกษาที่วัดจัดการศึกษาพระปริยัติธรรม
แผนกบาลีสนามหลวง หรือแผนกธรรมสนามหลวง ไม่ว่าจะจัดการศึกษาในรูปแบบของศูนย์การเรียน
สำนักศาสนศึกษาวัด สำนักศาสนศึกษาประจำตำบล หรือสำนักศาสนศึกษาประจำอำเภอ
	“โรงเรียน” หมายความว่า สถานศึกษาที่วัดจัดการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา
	“สำนักงาน” หมายความว่า สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
	“ผู้อำนวยการ” หมายความว่า ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
	“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการการศึกษาพระปริยัติธรรม
	มาตรา 5 การจัดการศึกษาพระปริยัติธรรมมีวัตถุประสงค์ ดังต่อไปนี้
	(1) เพื่อให้การศึกษาพระปริยัติธรรมเป็นไปตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาที่ปรากฏใน
พระไตรปิฎก โบราณราชประเพณี และสอดคล้องกับมาตรฐานการศึกษาของชาติ
	(2) เพื่อให้พระภิกษุและสามเณรมีการนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนามาใช้ให้เกิดการพัฒนา
จิตใจและปัญญา และมีการรักษาพระธรรมวินัยให้เป็นไปอย่างถูกต้องดีงามโดยเคร่งครัด เป็นที่เลื่อมใส
ศรัทธาแก่พุทธศาสนิกชนทั่วไป
	(3) เพื่อให้พุทธศาสนิกชนนาหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาไปประยุกต์ใช้ในการดำรงชีวิตได้
อย่างถูกต้อง
	มาตรา 6 การศึกษาพระปริยัติธรรมมีสามแผนก ดังต่อไปนี้
	(1) การศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกบาลีสนามหลวง เป็นการศึกษาพระพุทธศาสนา
ภาคภาษาบาลี
	(2) การศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกธรรมสนามหลวง เป็นการศึกษาพระพุทธศาสนา
ภาคภาษาไทย
	(3) การศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา เป็นการศึกษาพระพุทธศาสนา
ทั้งแผนกบาลีสนามหลวงและแผนกธรรมสนามหลวง ควบคู่กับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานของ
กระทรวงศึกษาธิการ
	การศึกษาพระปริยัติธรรมตาม (1) (2) และ (3) อาจศึกษาโดยใช้ภาษาอื่นในการจัด
การศึกษาด้วยก็ได้
	มาตรา 7 เพื่อประโยชน์ต่อการส่งเสริมการศึกษาพระปริยัติธรรมให้บรรลุวัตถุประสงค์
ตามมาตรา 5 ให้สำนักงานโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการจัดทำแผนการศึกษาพระปริยัติธรรม
และมาตรฐานสถานศึกษาพระปริยัติธรรม และแผนงบประมาณเพื่อการจัดการศึกษาพระปริยัติธรรม
เสนอต่อมหาเถรสมาคมพิจารณาให้ความเห็นชอบ
	เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามแผนการศึกษาพระปริยัติธรรมตามวรรคหนึ่ง ให้รัฐอุดหนุน
งบประมาณสำหรับการจัดการศึกษาพระปริยัติธรรมตามความเหมาะสมและจำเป็น
	มาตรา 8 ให้มีคณะกรรมการการศึกษาพระปริยัติธรรมคณะหนึ่ง ประกอบด้วย
	(1) ประธานกรรมการรูปหนึ่ง ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งโดยความเห็นชอบของ
มหาเถรสมาคม
	(2) รัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นรองประธานกรรมการ
	(3) กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ แม่กองบาลีสนามหลวง แม่กองธรรมสนามหลวง
ประธานกรรมการการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ
ราชวิทยาลัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เลขาธิการ ก.พ.
เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา ผู้อำนวยการ
สำนักงบประมาณ และเลขาธิการ ก.ค.ศ.
	(4) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนหกรูปหรือคน ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้ง
โดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม
	ให้ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเป็นกรรมการและเลขานุการ และให้
ผู้อำนวยการกองพุทธศาสนศึกษา เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
	มาตรา 9 ประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา 8 (4) มีวาระ
การดำรงตำแหน่งคราวละสามปี และอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้
	เมื่อครบกำหนดตามวาระในวรรคหนึ่ง หากยังมิได้มีการแต่งตั้งประธานกรรมการหรือกรรมการ
ผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา 8 (4) ขึ้นใหม่ ให้ประธานกรรมการหรือกรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่ง
ตามวาระนั้นอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าประธานกรรมการหรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
ตามมาตรา 8 (4) ซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่
	มาตรา 10 นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา 9 ประธานกรรมการและ
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา 8 (4) พ้นจากตำแหน่งเมื่อ
	(1) ตายหรือมรณภาพ
	(2) ลาออก
	(3) พ้นจากความเป็นพระภิกษุ
	(4) สมเด็จพระสังฆราชมีพระบัญชาให้ออกโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม
	(5) เป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
	(6) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
	(7) ถูกจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก
	มาตรา 11 ในกรณีที่ประธานกรรมการหรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา 8 (4)
พ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระ ให้ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่
ของประธานกรรมการหรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งตนแทน เว้นแต่วาระเหลืออยู่ไม่ถึงเก้าสิบวัน
จะไม่แต่งตั้งประธานกรรมการหรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิแทนก็ได้
	ในกรณีที่ประธานกรรมการหรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา 8 (4) พ้นจากตำแหน่ง
ก่อนครบวาระ ให้คณะกรรมการประกอบด้วยกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่เพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่า
จะมีการแต่งตั้งประธานกรรมการหรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิแทน และในกรณีที่ประธานกรรมการ
พ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระ ให้รองประธานกรรมการทำหน้าที่เป็นประธานกรรมการชั่วคราว
	มาตรา 12 คณะกรรมการมีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้
	(1) กำหนดนโยบาย แผนการจัดการศึกษาพระปริยัติธรรมและมาตรฐานสถานศึกษา
พระปริยัติธรรม ควบคุมดูแลและกำกับการจัดการศึกษาพระปริยัติธรรมให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์
ตามมาตรา 5
	(2) กำหนดมาตรฐานการศึกษาพระปริยัติธรรมและการประกันคุณภาพการศึกษา
	(3) อนุมัติหลักสูตรการศึกษาพระปริยัติธรรม ทั้งนี้ สำหรับหลักสูตรการศึกษาพระปริยัติธรรม
แผนกบาลีสนามหลวง และการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกธรรมสนามหลวง ต้องเป็นไปโดยความเห็นชอบ
ของมหาเถรสมาคม สำหรับการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ให้เป็นไปตามหลักสูตร
การศึกษาขั้นพื้นฐานของกระทรวงศึกษาธิการและตามที่มหาเถรสมาคมกำหนด
	(4) กำหนดพื้นความรู้ คุณสมบัติ หลักเกณฑ์การเข้าศึกษา และเงื่อนไขในการสำเร็จการศึกษา
	(5) อนุมัติให้ปริญญาและประกาศนียบัตร
	(6) กำหนดหน้าที่และอำนาจและหลักเกณฑ์การบริหารงานของแม่กองบาลีสนามหลวง
แม่กองธรรมสนามหลวง และประธานกรรมการการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา
	(7) กำหนดมาตรฐานกลางการบริหารงานบุคคลสำหรับผู้ปฏิบัติงานตามมาตรา 18 เกี่ยวกับ
การกำหนดตำแหน่ง อัตรากาลัง เงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง เงินวิทยฐานะ เงินค่าตอบแทน ค่าจ้าง
สวัสดิการ และสิทธิประโยชน์อื่น การสรรหา การบรรจุ การแต่งตั้ง การพัฒนา การพ้นจากตำแหน่ง
การรักษาวินัย การดำเนินการทางวินัย การร้องทุกข์ การอุทธรณ์ และการลงโทษ ทั้งนี้ ในส่วน
ที่เกี่ยวกับการกำหนดเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง เงินวิทยฐานะ เงินค่าตอบแทน ค่าจ้าง สวัสดิการ
และสิทธิประโยชน์อื่น ต้องได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง
	(8) ออกข้อบังคับ ระเบียบ หรือประกาศเกี่ยวกับการจัดตั้งสถานศึกษาพระปริยัติธรรม
โครงสร้างการบริหารงาน การจัดการศึกษาพระปริยัติธรรมและสถานศึกษาพระปริยัติธรรม
	(9) ออกระเบียบเกี่ยวกับการบริหารและจัดการการเงิน การพัสดุ และทรัพย์สินของ
สถานศึกษาพระปริยัติธรรม รวมทั้งการบัญชีและการจำหน่ายทรัพย์สินจากบัญชีเป็นสูญ
	(10) ออกระเบียบเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ตรวจสอบภายใน
	(11) ออกข้อบังคับ ระเบียบ หรือประกาศเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
	(12) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานเพื่อปฏิบัติการตามที่ได้รับมอบหมาย
	(13) จัดทำรายงานผลการดำเนินงานเสนอต่อมหาเถรสมาคมเพื่อทราบ
	(14) กระทำการอื่นใดที่จำเป็นหรือต่อเนื่องเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการจัดการศึกษา
พระปริยัติธรรม หรือตามที่มหาเถรสมาคมมอบหมาย
	มาตรา 13 การประชุมคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของ
จำนวนกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม
	ให้ประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม ถ้าประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจ
ปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม ถ้ารองประธานกรรมการไม่มาประชุม
หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการรูปหนึ่งทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุม
	การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการรูปหนึ่งหรือคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่ง
ในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
คณะกรรมการต้องมีการประชุมอย่างน้อยปีละสี่ครั้ง
	มาตรา 14 ให้สำนักงานเป็นหน่วยงานกลางในการส่งเสริม สนับสนุน ประสานงานการศึกษา
พระปริยัติธรรม และเป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการ มีหน้าที่ด้านงานธุรการและสนับสนุน
งานวิชาการให้แก่คณะกรรมการ รวมทั้งมีหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติ และปฏิบัติหน้าที่ตามที่คณะกรรมการ
มอบหมาย
	มาตรา 15 ในการบริหารงานการศึกษาพระปริยัติธรรมตามมาตรา 6 (1) (2) และ (3)
ให้มีแม่กองบาลีสนามหลวง แม่กองธรรมสนามหลวง และประธานกรรมการการศึกษาพระปริยัติธรรม
แผนกสามัญศึกษา แล้วแต่กรณี ที่มหาเถรสมาคมแต่งตั้งทำหน้าที่เป็นผู้รับผิดชอบงานการจัดการศึกษา
พระปริยัติธรรมแต่ละแผนก
	มาตรา 16 ให้วัดมีสิทธิจัดตั้งสถานศึกษาพระปริยัติธรรมได้ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ
กำหนด
	สถานศึกษาพระปริยัติธรรมที่วัดจัดตั้งขึ้นตามวรรคหนึ่ง ให้จัดการศึกษาตามวัตถุประสงค์
ในมาตรา 5 และต้องคำนึงถึง
	(1) การให้การศึกษาวิชาการทางพระพุทธศาสนาเพื่อความเป็นเลิศที่เปี่ยมด้วยปัญญาพุทธธรรม
	(2) การส่งเสริมความรู้และความเข้าใจในคุณค่าแห่งหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา
	(3) การผลิตผู้เรียนให้มีคุณธรรมนำความรู้ เป็นศาสนทายาทที่ดีของพระพุทธศาสนา
สำนึกในความเป็นคนไทย มีความรักและผูกพันต่อท้องถิ่น
	(4) มาตรฐานการศึกษาของชาติและวิธีการดำเนินงานของการจัดการศึกษาตามกฎหมาย
ว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ
	มาตรา 17 สถานศึกษาพระปริยัติธรรมต้องมุ่งปลูกฝังให้ผู้เรียนมีคุณลักษณะ ดังต่อไปนี้
	(1) เป็นศาสนทายาทที่ดีของพระพุทธศาสนาและพลเมืองที่ดีของสังคม
	(2) มีความรู้และทักษะในวิชาการทางพระพุทธศาสนา
	(3) มีนิสัยใฝ่หาความรู้ ปฏิบัติตามข้อบังคับ ระเบียบและวินัยสงฆ์
	(4) มีสุขภาพดีทั้งร่างกายและจิตใจ
	(5) รู้จักบำรุงรักษาศาสนสมบัติ อนุรักษ์ และเสริมสร้างสภาพแวดล้อม
	(6) มีความภูมิใจความเป็นสมณะ จงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์
	(7) มีความคิดสร้างสรรค์ และส่งเสริมสนับสนุนแนวทางปฏิบัติให้เกิดความเจริญแก่ชุมชน
สังคม และพระพุทธศาสนา
	มาตรา 18 ในสถานศึกษาพระปริยัติธรรมให้มีผู้ปฏิบัติงานสองประเภท ดังต่อไปนี้
	(1) ประเภทผู้ปฏิบัติงานสอน ได้แก่ ครูสอนพระปริยัติธรรม และครูโรงเรียนพระปริยัติธรรม
แผนกสามัญศึกษา
	(2) ประเภทผู้สนับสนุนการศึกษา ได้แก่ บุคลากรทางการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา
ผู้ปฏิบัติหน้าที่ด้านวิชาการ ซึ่งทำหน้าที่ให้บริการหรือปฏิบัติงานเกี่ยวกับการจัดกระบวนการการเรียน
การสอน การนิเทศก์ และการบริหารการศึกษาในสถานศึกษาพระปริยัติธรรม ได้แก่ ผู้ปฏิบัติหน้าที่
บรรณารักษ์ ผู้ปฏิบัติหน้าที่งานแนะแนว ผู้ปฏิบัติหน้าที่เทคโนโลยีการศึกษา ผู้ปฏิบัติหน้าที่
งานทะเบียนวัดผล ผู้ปฏิบัติหน้าที่บริหารงานทั่วไป หรือผู้ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่คณะกรรมการกำหนด
	มาตรา 19 ให้สถานศึกษาพระปริยัติธรรมจัดให้มีการจัดทำบัญชีตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ
กำหนด และต้องจัดให้มีการตรวจสอบภายในเกี่ยวกับการเงิน การบัญชี และการพัสดุของสถานศึกษา
พระปริยัติธรรม ตลอดจนรายงานผลการตรวจสอบต่อคณะกรรมการอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง
	ในการตรวจสอบภายใน ให้มีผู้ปฏิบัติงานของสถานศึกษาพระปริยัติธรรมทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบ
ภายในโดยเฉพาะ ทั้งนี้ ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด
	มาตรา 20 ให้สถานศึกษาพระปริยัติธรรมจัดให้มีการประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้ปฏิบัติงาน
ในสถานศึกษาพระปริยัติธรรมตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่คณะกรรมการกำหนด
	มาตรา 21 ให้การศึกษาพระปริยัติธรรมที่ได้จัดให้แก่สามเณรซึ่งเป็นเด็กตามกฎหมาย
ว่าด้วยการศึกษาภาคบังคับและมีพื้นความรู้ไม่ต่ำกว่าระดับประถมศึกษาปีที่หกหรือเทียบเท่า ซึ่งได้ศึกษา
วิชาสามัญเพิ่มเติมตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานตามกฎหมายว่าด้วย
การศึกษาแห่งชาติกำหนดโดยคำแนะนำของมหาเถรสมาคม เป็นการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดังต่อไปนี้
	(1) แผนกธรรมสนามหลวง ชั้นนักธรรมเอก เป็นการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น
	(2) แผนกบาลีสนามหลวง ชั้นเปรียญธรรมสามประโยค เป็นการศึกษาในระดับมัธยมศึกษา
ตอนปลาย
	มาตรา 22 ให้ผู้เรียนที่พ้นการศึกษาภาคบังคับซึ่งได้สำเร็จการศึกษาพระปริยัติธรรม
แผนกธรรมสนามหลวง และแผนกบาลีสนามหลวง มีวิทยฐานะ ดังต่อไปนี้
	(1) แผนกธรรมสนามหลวง ชั้นนักธรรมเอก มีวิทยฐานะระดับมัธยมศึกษาตอนต้น
	(2) แผนกบาลีสนามหลวง ชั้นเปรียญธรรมสามประโยค มีวิทยฐานะระดับมัธยมศึกษา
ตอนปลาย
	มาตรา 23 ให้การศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ที่ได้จัดให้แก่พระภิกษุและ
สามเณรเป็นการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นหรือระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย แล้วแต่กรณี
	มาตรา 24 ให้ผู้สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรพระปริยัติธรรม แผนกธรรมและแผนกบาลี
สนามหลวง ชั้นเปรียญธรรมเก้าประโยค มีวิทยฐานะระดับปริญญาตรี เรียกว่า “เปรียญธรรมเก้าประโยค”
ใช้อักษรย่อว่า “ป.ธ. 9”
	ในกรณีที่ผู้สำเร็จการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกบาลีสนามหลวงชั้นใด ได้ทำการศึกษาเพิ่มเติม
ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด ให้ผู้นั้นมีวิทยฐานะระดับใด ๆ โดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม
และตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการการอุดมศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติกำหนด
	มาตรา 25 ภายใต้บังคับมาตรา 21 มาตรา 22 มาตรา 23 และมาตรา 24
ให้ผู้สำเร็จการศึกษาได้รับประกาศนียบัตร ปริญญา และหนังสือรับรองการศึกษาหรือกิจกรรมเกี่ยวกับ
การเรียนการสอนแก่ผู้สำเร็จการศึกษาพระปริยัติธรรมได้ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการ
กำหนด
	มาตรา 26 คณะกรรมการอาจกำหนดให้มีเครื่องหมายวิทยฐานะและการใช้เครื่องหมาย
วิทยฐานะของผู้สำเร็จการศึกษาได้
	เครื่องหมายวิทยฐานะตามวรรคหนึ่ง ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
	มาตรา 27 สถานศึกษาพระปริยัติธรรมอาจกำหนดให้มีตรา เครื่องหมาย หรือสัญลักษณ์
และการใช้ตรา เครื่องหมาย หรือสัญลักษณ์ของสถานศึกษาพระปริยัติธรรมได้
	ตรา เครื่องหมาย หรือสัญลักษณ์ตามวรรคหนึ่ง ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
	มาตรา 28 ผู้ใดใช้เครื่องหมายวิทยฐานะ ตรา เครื่องหมาย หรือสัญลักษณ์ของสถานศึกษา
พระปริยัติธรรมโดยไม่มีสิทธิจะใช้ หรือแสดงด้วยประการใด ๆ ว่าตนมีประกาศนียบัตร ปริญญา หรือ
ตำแหน่งของสถานศึกษาพระปริยัติธรรมโดยที่ตนไม่มีสิทธิ ถ้าได้กระทำเพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่า
ตนมีสิทธิจะใช้หรือมีวิทยฐานะหรือตำแหน่งเช่นนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกิน
ห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
	มาตรา 29 ให้ผู้มีวิทยฐานะชั้นปริญญาตรีตามกฎหมายว่าด้วยการกำหนดวิทยฐานะ
ผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนา มีวิทยฐานะระดับปริญญาตรีตามพระราชบัญญัตินี้
	ให้ถือว่าผู้ที่อยู่ในระหว่างการศึกษาหลักสูตรพระปริยัติธรรม แผนกธรรมและแผนกบาลีสนามหลวง
ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เป็นผู้เรียนตามพระราชบัญญัตินี้
	มาตรา 30 ให้แม่กองบาลีสนามหลวง แม่กองธรรมสนามหลวง และประธานกรรมการ
การศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
เป็นแม่กองบาลีสนามหลวง แม่กองธรรมสนามหลวง หรือประธานกรรมการการศึกษาพระปริยัติธรรม
แผนกสามัญศึกษา ตามพระราชบัญญัตินี้ แล้วแต่กรณี
	มาตรา 31 ให้สำนักเรียนและสำนักศาสนศึกษาตามประกาศมหาเถรสมาคม ว่าด้วย
การจัดการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกธรรมและแผนกบาลี พ.ศ. 2555 และโรงเรียนตามประกาศ
มหาเถรสมาคม ว่าด้วยโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา พ.ศ. 2553 ที่ได้รับอนุญาต
ให้จัดตั้งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เป็นสถานศึกษาพระปริยัติธรรมตามพระราชบัญญัตินี้
	มาตรา 32 ในระหว่างที่ยังมิได้ออกกฎ ข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง มติ และประกาศ
เพื่อปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ ให้นำกฎ ข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง มติ และประกาศมหาเถรสมาคม
ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาพระปริยัติธรรมมาใช้บังคับโดยอนุโลมเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้
	มาตรา 33 ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
-
	ผู้รับสนองพระราชโองการ
	พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
	นายกรัฐมนตรี
-
หมายเหตุ :- 
	เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่โบราณราชประเพณี สถาบัน
พระพุทธศาสนามีบทบาทสำคัญในการจัดการศึกษาของชาติมาโดยตลอด ซึ่งคณะสงฆ์ได้ดำเนินการ
จัดการศึกษาพระปริยัติธรรมอันเป็นส่วนเฉพาะของการศึกษาของคณะสงฆ์ควบคู่กันไปกับการศึกษาวิชาสามัญ
ดังนั้น เพื่อให้การจัดการศึกษาพระปริยัติธรรมได้รับการสนับสนุนส่งเสริมด้วยดีจากภาครัฐ และสามาร ถ
บริหารจัดการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ ตอบสนองนโยบายการจัดการศึกษาของคณะสงฆ์และของชาติ
ได้เป็นอย่างดี จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
-
เล่ม 136 ตอนที่ 50 ก ราชกิจจานุเบกษา 16 เมษายน 2562

Leave a Reply